Sunday, 20 April 2025
LITE

9 เมษายน พ.ศ. 2528 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ในขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 71 พรรษา และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมพรรษาได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี 

โดยอัญเชิญพระบรมศพถวายพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ ประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลจำหลักลายประดับรัตนชาติภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสวรรคตเป็นต้นไป นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานที่ราชการต่าง ๆ ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน และให้ข้าราชการไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วันอีกด้วย

สำหรับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ออกแบบโดย นายประเวศ ลิมปรังษี โดยใช้พระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการออกแบบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงแนวทางการออกแบบว่า “ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติย ราชประเพณี และสมพระเกียรติยศพระบรมศพ อีกประการหนึ่ง ฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนักจะเป็นการลำบาก แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งทรงเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์”

พระเมรุมาศ เป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณสำหรับองค์พระเมรุมาศนั้น ส่วนหลังคาประกอบด้วยมุขทิศและเครื่องยอด ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษทองย่นฉลุสาบสี หน้าบันประดับพระนามาภิไธยย่อ ร.พ. องค์พระเมรุเป็นอาคารโถง ตกแต่งด้วยม่านผาตาด มีฉากบังเพลิง ผนังภายนอกประดับลายกระดาษทองย่นฉลุลายสีแบบลงยา ผนังภายในใช้สีชมพูเป็นพื้นส่วนฐานทักษิณมีบันได 4 ทิศ ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา ในท่านั่งบนแท่นเสาพนักลูกกรงระเบียงโดยรอบ ตามคติไตรภูมิตามแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 จึงมีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง หลังจากนั้น จึงมีการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานองค์ซ้าย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเชิญพระราชสรีรางคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

8 เมษายน พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนากระทรวงกลาโหม

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2430 นับแต่นั้นจึงถือเป็นวันแห่งการเปิดศักราชใหม่ของกิจการทหารไทยยุคใหม่ โดยในวันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า ประกาศจัดการทหารเพื่อสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า หรือศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบัน 

โดยมีพระราชประสงค์ที่จะรวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกภาพและศักยภาพในการบังคับบัญชาและบริหารจัดการทหารให้มีรูปแบบเป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มต้นและเป็นก้าวแรกแห่งกิจการทหารไทยที่ทันสมัย ถือเป็นนวัตกรรมของกิจการทหารไทยตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา นอกจากนี้ยังได้ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมถือเป็นสถาบันหลักในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคง และสร้างเสริมพระเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงสืบสานพระศาสนาตลอดจนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ และดำเนินกิจกรรมโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกลาโหมดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และปฏิบัติงานในความรับผิดชอบบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือดูแลประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำลังพลของกระทรวงกลาโหมทุกนายต่างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยยึดถือประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงกลาโหม ได้มีการพัฒนาความพร้อมให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในภาพรวม คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข”

7 เมษายน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี

วันนี้ เมื่อ 128 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยประเทศ รวมเวลา 7 เดือน

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 การเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ เรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกจาก ท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 และในการนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์โดยสมเด็จพระนางเจ้าได้ถูกเรียกขานพระนามในยุคนั้นว่า สมเด็จรีเจนท์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้คือการได้เข้าเฝ้า ฯ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมกับฉายพระรูปเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรปและนอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบแทนที่พระเจ้าซาร์เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามเมื่อ พ.ศ. 2433 โดยมีบรรดาพระราชโอรสที่เจริญพระชนมายุแล้วรวมถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ร่วมเดินทางไปด้วย

พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จนิวัตพระนครพร้อมกับพระราชทานพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2440 รวมเวลาที่เสด็จประพาสทั้งสิ้น 253 วันหลังจากนั้นพระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของไทย

๖ เมษายน วันจักรี วันที่ ร. 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขี้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี 

ความสำคัญของวันจักรี

วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี 

อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม 

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป

๕ เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

- สร้อยพระนาม ‘สิริ’ มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สร้อยพระนาม ‘วัฒนา’ มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา
- พระนาม ‘อุบลรัตน์’ มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า ‘เป้’ อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่’ ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า ‘พี่หญิง’

พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

4 เมษายน พ.ศ. 2492 วันก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)” พันธมิตรทางทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจสหภาพโซเวียต

เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2492 ได้มีการรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ และโปรตุเกส โดยร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty) เพื่อก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO)” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2492

วัตถุประสงค์เริ่มแรกก่อตั้ง คือจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหาร ในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

โดยปัจจุบัน “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation : NATO)” มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 32 ประเทศ (ล่าสุดคือ ประเทศสวีเดน - 7 มีนาคม 2567)

3 เมษายน พ.ศ. 2516 โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น โดย ‘มาร์ติน คูเปอร์’ วิศวกรของ Motorola

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ (mobile or cell phone) คือ อุปกรณ์สำคัญในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก ซึ่งบางคนแทบจะขาดอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้เลย

แต่รู้หรือไม่ว่า โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น โดย มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) วิศวกรและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โมโตโตลา (Motorola) มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973)

คูเปอร์ ได้ทดลองใช้โทรศัพท์มือถือโมโตโรลา DynaTAC ซึ่งเป็นต้นแบบ โทรไปหา โจเอล เอ็งเจล (Joel Engel) หัวหน้านักวิจัยของบริษัท AT&T และ Bell Labs ก่อนที่โทรศัพท์มือถือ Motorola DynaTAC 8000X จะออกวางจำหน่ายในปี 2526 

ไดนาแทค ของ คูเปอร์ จึงเป็นโทรศัพท์มือถือที่ปฏิวัติโลกแห่งการสื่อสารในยุคนั้น

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498

ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ

เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ

พ.ศ. 2520 ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง คะแนนเฉลี่ย 3.98

ระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระดับปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด

ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”

เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอัจฉริยภาพด้านภาษา ด้านดนตรี และด้านพระราชนิพนธ์

ด้านพระราชกรณียกิจ ทรงมุ่งมั่นพัฒนา ในทุกๆ ด้าน อาทิ ด้านการศึกษา ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ด้านการพัฒนาสังคมและการพัฒนาห้องสมุดและการรู้หนังสือ ด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการสาธารณสุข และด้านศาสนา

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

✨ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล

✨ประจำวันที่ 1 เมษายน 2568

รางวัลที่ 1 รางวัลละ 6,000,000 บาท
669687

รางวัลเลขหน้า 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท
635  760

รางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท
180  666

รางวัลเลขท้าย 2 ตัว รางวัลละ 2,000 บาท
36

รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท
669686  669688

รางวัลที่ 2 จำนวน 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท
055440  120441  032218  317176  903895

รางวัลที่ 3 จำนวน 10 รางวัล รางวัลละ 80,000 บาท
115898  677417  976075  863114  430077  
968267  898356  699092  617158  269444  

รางวัลที่ 4 จำนวน 50 รางวัล รางวัลละ 40,000 บาท
947528  179643  344000  914197  720039  
744799  592546  658419  689814  235692  
001477  585929  057527  874164  741507  
384674  798376  465015  811292  264282  
378835  783654  367741  704849  121573  
585110  367601  325749  594199  804468  
861456  910964  821017  108857  196802  
781735  922149  250447  360695  552715  
920845  541755  248088  370842  169205  
607488  720557  760916  564540  438967  

1 เมษายน ของทุกปี 'วันเลิกทาส' ครบรอบ 120 ปี ที่ไทยไม่มี ทาส ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5

1 เมษายน ของทุกปี ถูกประกาศให้เป็น 'วันเลิกทาส' เพื่อย้อนระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5 ที่ทำให้ไทย ไม่มีทาส มา 120 ปี

ประวัติความเป็นมา “วันเลิกทาส”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประมาณว่า ไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลง ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัว เมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปี เป็นทาสอีก

เมื่อถึงปี 2448 ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว

ราคาทาส
อายุทาส (ปี)    ชาย                หญิง
แรกเกิด          5 บาท            4 บาท
7- 8               8 ตำลึง           7 ตำลึง
10                 4 บาท             3 บาท 

ทาส มี 7 ประเภท (ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา)
-ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัว หรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน และทาสชนิดนี้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยคือนางสายทอง ซึ่งขายตัวให้กับนางศรีประจันนั่นเอง
-ทาสในเรือนเบี้ย เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้ 
-ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป 
-ทาสท่านให้ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น 
-ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ในกรณีที่บุคคลนั้น เกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้น ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ 
-ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส .
-ทาสเชลย ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้ 

การพ้นจากความเป็นทาส

-โดยการหาเงินมาไถ่ถอน
-การบวชเป็นสงฆ์โดยได้รับความยินยอมจากนายทาส
-ไปการสงครามและถูกจับเป็นเชลย หลังจากนั้น สามารถหลบหนีออกมาได้
-แต่งงานกับนายทาสหรือลูกหลานของนายทาส
-ไปแจ้งทางการว่านายทาสเป็นกบฏ และผลสืบสวนออกมาว่าเป็นจริง
-การประกาศไถ่ถอนจากพระมหากษัตริย์ ในช่วงของการเลิกทาส ปี 2448 ได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 (พ.ศ. 2448) 

ดังนั้น ทุกวันที่ 1 เม.ย. ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันเลิกทาส” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้มีการเลิกทาสนับแต่นั้นมา ไทยจึงเป็น ‘ไท’ จนถึงทุกวันนี้
 

'แจ็คสัน หวัง' ติดต่อ 'หนุ่ม กรรชัย' ขอมอบเงิน 3.5 ล้านบาท ร่วมช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวเมืองไทย

(31 มี.ค. 68) เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งศิลปินต่างประเทศที่ผูกพันกับเมืองไทยมากๆ สำหรับ 'แจ็คสัน หวัง' หรือ 'แจ็คสัน GOT7' ที่เราจะเห็น 'แจ็คสัน' นั้นเดินทางมาทำงาน รวมถึงมาเที่ยวที่ประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดที่ประเทศไทยนั้นประสบกับภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว ศิลปินคนดัง 'แจ็คสัน หวัง' ก็ไม่นิ่งนอนใจได้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือคนไทยด้วย

โดยผู้ประกาศข่าวชื่อดัง 'หนุ่ม' กรรชัย กำเนิดพลอย ได้เปิดเผยกลางรายการดังโหนกระแสว่า 'แจ็คสัน หวัง' ประสานมาทางผมแล้วก็จะมีการโอนเงินมา 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 3.5 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเรื่องของแผ่นดินไหว เดี๋ยวจะแบ่งทั้งหมดเป็น 3 มูลนิธิ มี มูลนิธิเพื่อนพึ่งภาฯ ยากยาก, กัน จอมพลัง และอีกหนึ่งส่วนจะดูก่อน แล้วจะแจ้งไปทางแจ็คสันไป บอกและขอบคุณแทนคนไทยนะครับ ที่มีน้ำใจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ก็ต้องขอบคุณจริงๆ ครับ" 

สำหรับ 'แจ็คสัน หวัง' มีกำหนดการที่จะมาร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่เมืองไทย พร้อมกับสมาชิก GOT7 แบบพร้อมหน้าอีกครั้ง ใน 2025 GOT7 CONCERT in BANGKOK วันที่ 2-3 พฤษภาคมนี้ ที่ราชมังคลากีฬาสถานด้วย

31 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงบ้านเมืองทั้งในด้านการศาสนา การศึกษาและอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในรัชกาลของพระองค์ ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศรับชาวยุโรปอย่างกว้างขวาง อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย การค้าขายกับอังกฤษรุ่งเรืองมาก บางคราวมีเรือสินค้าเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 50 ลำ และทางสหรัฐอเมริกาได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาสอนศาสนา และนำเอาวิชาการแพทย์แผนใหม่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ และสอนภาษาอังกฤษให้คนไทย ผู้ที่ควรได้รับเกียรติในผลงานนี้ คือ หมอบรัดเลย์ทรงโปรดให้มีประกาศห้ามนำฝิ่นเข้ามาขายในประเทศ และให้เก็บฝิ่นที่มีอยู่ในประเทศ นำไปเผาทั้งหมด ด้านพระศาสนา ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา สร้างวัดใหม่ 9 วัด บูรณะวัดเก่า 60 วัด โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระนอนใหญ่ที่วัดโพธิ์

ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตล่วงเลยมา 43 ปี พระองค์ก็ยังได้โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 'เงินถุงแดง' ไว้เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดิน และเงินจำนวนนี้สามารถใช้กอบกู้เอกราชในดินแดนบางส่วนและรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ได้จนทุกวันนี้ ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลจึงพร้อมใจกันประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หน้าวัดราชนัดดาราม ในปี พ.ศ.2541 ทางราชการได้มีการถวายพระราชสมัญญาว่า 'พระมหาเจษฎาราชเจ้า'

วันที่ 30 มีนาคม ตรงกับ ‘วันแพทย์แห่งชาติ’ เพื่อเป็นเกียรติแก่แพทย์ บุคลากรการแพทย์

วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี นับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับ ‘วันแพทย์แห่งชาติ’ โดยวันดังกล่าวนั้นมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1933 โดย ดร. Charles B. Almond และ Eudora Brown Almond ภรรยาของเขา ตั้งใจที่จะก่อตั้งวันดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่แพทย์และบุคลากรในแวดวงทางการแพทย์ทุกคน

ต่อมาในปี 1990 วันดังกล่าวก็ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเริ่มแพร่หลายไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

โดย ‘วันแพทย์แห่งชาติ’ จึงถือเป็นวันสำคัญที่ผู้คนจำนวนมากต่างรู้สึกขอบคุณในความทุ่มเท ความเสียสละ และระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เหล่าแพทย์ได้ทำเอาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

29 มีนาคม พ.ศ.2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

29 มีนาคม พ.ศ. 2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง 
2

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา

และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 73 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 คือวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 

คนไทยผ่านน้ำตาแห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่มานับหลายครั้งหลายครา เช่นเดียวกับครั้งที่หัวใจปวงชนชาวไทยต้องแหลกสลาย เมื่อรับทราบข่าวร้ายเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แบบปัจจุบันทันด่วน

ไม่มีใครได้เตรียมตัวเตรียมใจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในพระชนมายุเพียง 20 ย่าง 21 พระชันษา ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

ทั้ง ๆ ที่ทรงตั้งพระทัยเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวร และจะทรงรับการบรมราชาภิเษก หลังจากที่ทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยการสิ้นพระชนม์นั้น เกิดขึ้นก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันเดียวกันนั้นเอง รัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

จากนั้น ก็ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จากนั้นมีกำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ระหว่างนั้น ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2493 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษก (จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง)

โดยเฉพาะวันพระถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 น้ำตาของคนไทยได้ท่วมแผ่นดิน!

เมื่อทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อยสมบูรณ์ วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น

หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานทองกลาง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

กระทั่งวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม 

สำหรับ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้น มีดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงประสูติกาลเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

พระองค์มีพระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้..

28 มีนาคม พ.ศ. 2524 สลัดอากาศยึดเครื่องบินอินโดนีเซีย ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินดอนเมือง

ย้อนกลับไปช่วงเย็นวันที่ 28 มีนาคม 2524 เกิดเหตุระทึกขึ้นที่สนามบินดินเมือง เมื่อหอบังคับการบิน ได้รับการติดต่อจากกัปตันสายการบินการูด้า ของประเทศอินโดนีเซีย ถูกสลัดอากาศยึดเครื่อง จะขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินดอนเมือง แม้จะพยายามเจรจาแต่ไม่เป็นผล เครื่องบินของสลัดอากาศลงจอดที่ดอนเมืองได้สำเร็จ

เมื่อเครื่องลงจอดถึงพื้น ชุดคอมมานโดของไทยก็วางกำลังล้อมเครื่องบินทันที ก่อนจะเจรจากันจนทราบว่า สลัดอากาศที่เข้าใจกันตอนแรกว่ามี 7 คน มีข้อเรียกร้อง 3 ประการ
1. ปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในอินโดนีเซีย จำนวน 20 คน
2. จัดส่งนักบินมาดอนเมือง เพื่อบินไปศรีลังกา
3. ต้องปล่อยนักโทษภายใน 28 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะระเบิดเครื่องบิน

ทางการข่าวของเจ้าหน้าที่ ทราบว่าสลัดอากาศมีกันทั้งหมด 7 คน อาวุธปืนกลมือและระเบิด ส่วนผู้โดยสารบนเครื่องมี 37 คน ขึ้นเครื่องที่จาการ์ตา และ 14 คน ขึ้นที่ ปาเล็มบัง ซึ่งเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ร้องขอทางการไทย อย่าใช้ความรุนแรง แต่ พลโท เบนนี โบคานี อธิบดีกรมประมวลข่าวกลางอินโดนีเซีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดมือปราบ เดินทางมาพร้อมกับหน่วยคอมมานโดแม่นปืนของอินโดนีเซียอีก 20 นาย

การเจรจาระหว่างอินโดนีเซียกับสลัดอากาศเริ่มมีบรรยากาศที่ดีขึ้น เมื่ออินโดนีเซียมีท่าทีอ่อนลงคล้ายจะทำตามข้อเรียกร้องของสลัดอากาศ แต่ทางการไทย มองว่าเป็นเพียงการเจรจายื้อเวลาเท่านั้น เพราะมีข้อมูลแล้วว่า ประเทศศรีลังกา ไม่ต้อนรับสลัดอากาศกลุ่มนี้ ซึ่งตลอดการเจรจา มีคนคอยนำอาหารและเสบียงไปส่งที่เครื่องบินเป็นระยะ โดยสลัดอากาศใช้ให้แอร์โฮสเตสเป็นคนออกมารับ แน่นอนว่าคนเหล่านั้นมีท่าทีที่หวาดกลัวชัดเจน

เวลาประมาณ 11.10 น. วันที่ 29 มีนาคม 2524 ผู้โดยสารชาวอังกฤษคนหนึ่ง เปิดประตูที่ใช้รับส่งอาหารเพื่อหลบหนีออกมา ก่อนจะวิ่งสุดแรงเกิดมายังพุ่มไม้ด้านข้าง แล้วหนีรอดออกมาได้ ก่อนมาทราบภายหลังว่าเป็น นายโรเบิร์ต เวนไรท์ อายุ 27 ปี ให้ข้อมูลว่า สลัดอากาศมีเพียง 5 คน ไม่ใช่ 7 คน และคนเหล่านั้นทะเลาะกันบ่อยครั้ง จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. เสียงปืนดังขึ้น มีชายชาวอเมริกันร่วงลงมาจากเครื่องบิน เจ้าหน้าที่เร่งนำส่งโรงพยาบาล เพื่อว่าถูกยิงเพราะพยายามจะหลบหนี นั่นจึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลไทย ยอมให้กองกำลังคอมมานโดของอินโดนีเซียชุดสำคัญ เข้ามาในประเทศ เพราะชาวอเมริกันถูกยิง หลังจากนั้นจึงเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างไทยและอินโดนีเซียเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารทั้ง 49 ชีวิต

เข้าสู่ค่ำคืนของวันที่ 30 ต่อเนื่อง 31 มีนาคม 2524 หน่วยคอมมานโดไทยกับอินโดนีเซีย นำกำลังเข้าปฏิบัติการ ย่องเงียบไปยังท้ายเครื่องบิน หน่วยกล้าตายของอินโดนีเซีย ลุยเข้าไปในเครื่องบิน เสียงปืนรัวดังขึ้นสนั่นหวั่นไหว เพียงไม่กี่อึดใจ ประตูด้านข้างก็เปิดออก หน่วยคอมมานโดชุดแรงยังคงตบเท้า กรูเข้าไปในเครื่องบิน ส่วนอีกชุดที่อยู่รอบนอก ตีวงบีบเข้ามาเป็นระยะ เพื่อคอยรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด จังหวะนั้นเอง พบชายคนหนึ่งกระโดดลงมาจากเครื่องบิน ก่อนจะถูกยิงทันที พบว่าเป็นสลัดอากาศ ส่วนอีกคนพยายามจะวิ่งหลบหนี ก็โดนเจ้าหน้าที่จับกุมเอาไว้ได้ ด้วยเวลาประมาณ 6 นาที เจ้าหน้าที่ก็สามารถยึดเครื่องบินกลับคืนมาได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน คือสลัดอากาศ กัปตันเครื่องบิน และคอมมานโดอินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 3 คน เสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ สลัดอากาศเสียชีวิตทั้งหมด 4 คน โดนจับ 1 คน ส่วนผู้โดยสารรอดชีวิตทั้งหมด แต่สุดท้าย สลัดอากาศอีกคนก็รอดมาได้เพียง 1 ปีเท่านั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top