Friday, 3 May 2024
LITE

'ตู่ นพพล' ปลื้ม!! ได้ร่วมถ่ายทอดบททหารกล้าปกป้องแผ่นดินไทย การแสดงละครประกอบเพลง รำลึกเหตุการณ์ ร.ศ.112 ตอน ปราการเวลา

(1 มี.ค.67) นักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมืออย่าง ตู่-นพพล โกมารชุน ที่เมื่อรับงานแสดงให้เห็นหน้าจอเมื่อใดก็สร้างความประทับใจให้แฟนละครมาตลอด ล่าสุดตอบตกลงรับงานแสดงนอกจออีกครั้งในรอบหลายปี ในฐานะนักแสดงนำในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการทางด้านประวัติศาสตร์ การแสดงแสงเสียงสื่อผสมในรูปแบบมิวสิคัล รำลึกเหตุการณ์ ร.ศ.112 ตอน ปราการเวลา The Theatre จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดสมุทรปราการ

งานนี้เจ้าตัวปลาบปลื้มใจที่ได้รับบทบาทเป็นตัวแทนทหารปกป้องแผ่นดินไทย โดย ตู่ นพพล เปิดเผยว่า “ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากๆ ครับที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับตัวละครที่ผมเล่นจะเกิดขึ้นในร.ศ. 112 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หลายๆ คนรู้จักกับวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 

ผมรับบทเป็นตัวแทนทหารไทยที่ได้เข้าร่วมการรบ เพื่อปกป้องไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใด ซึ่งเรารักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ได้ด้วยพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และความเสียสละของทหารปี ร.ศ. 112 จนมีสมุทรปราการทุกวันนี้ ผ่านการแสดงละครประกอบเพลง ปราการเวลา The Theatre เรามีโชว์การแสดงถึง 5 องก์ ซึ่งแต่ ละองก์ จะนำเสนอเรื่องราวเต็มครบรสชาติครับ ผมขอเชิญชวนชาวสมุทรปราการ และพี่น้องที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงมาเข้าชมกันเยอะๆ นะครับ งานนี้เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 14-17 มีนาคมนี้ เวลา 18.00น. เป็นต้นไป ณ ป้อมพระจุล จอมเกล้า แล้วเจอกันนะครับ”

1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จฯ ‘ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา’ จังหวัดน่าน ตามติดโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นที่ให้ ‘กินดี-อยู่ดี’

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ​สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีนายโชติ ตาชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ นางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ นายฐิติพันธ์ จูจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ นายนิทรรศ เวชวินิจ  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จังหวัดน่านเฝ้าฯ รับเสด็จ

โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่คณะทำงานศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ และโอกาสนี้นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปลูกป่าร่วมกับไม้เศรษฐกิจแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ โรงเรียน-บ้านสบปืน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และโครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่บ้านสบปืน การแก้ปัญหาสารพิษ และการปรับพื้นที่นาขั้นบันได บ้านห้วยกานต์ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

อย่างไรก็ตาม บ่อเกลือเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีอาชีพหลัก คือ การปลูกข้าวไร่และการหาของป่า เนื่องด้วยพื้นที่เพาะปลูกอยู่ตามไหล่เขาลาดชัน อีกทั้งยังทําไร่หมุนเวียนต้องถางและเผาป่า ส่งผลให้ป่าไม้ ดิน และน้ำเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคและไม่มีอาชีพเสริมที่จะสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังประสบปัญหาสุขภาพอนามัย มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต

จนเมื่อปีพ.ศ. 2542 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น ณ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีพระราชประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค ยกระดับรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมของชุมชน

'เอวา' พาชม 'งานพระบรมสารีริกธาตุ' ที่คุณพ่อเป็น 'ผู้ร่วมจัด-ประสานงานหลัก' งานประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่รวมใจชาวพุทธมากกว่า 4 แสนคน

(29 ก.พ.67) จากงานพิธีอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ จากอินเดีย มาที่สนามหลวง ซึ่งเปิดสักการะ 24 ก.พ.-3 มี.ค. 67 ด้านน้องเอวา หรือ เอวา ปวรวรรณ ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านช่องติ๊กต็อก @sunflowava พาชมงานพระบรมสารีริกธาตุที่มีคุณพ่อซึ่งก็คือ นายสุภชัย วีระภุชงค์ เป็นผู้ร่วมจัดและประสานงานทั้งหมด โดยระบุว่า…

“วันนี้จะมารีวิวงานพระบรมสารีริกธาตุที่คุณพ่อเป็นคนจัด ซึ่งต้องบอกก่อนว่างานนี้เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราเลยก็ว่าได้ โดยที่คุณพ่อนั้นเป็นผู้ประสานงานทั้งหมด เริ่มจากอย่างแรกก็จะมีการสวดพุทธมนต์ไหว้พระกัน โดยทางพี่เนสก็เริ่มสวดได้แล้วและเอวาก็สวดได้แบบไม่ต้องดูหนังสือเลยเช่นกัน ซึ่งพี่เนสก็มาช่วยดูแลงานของคุณพ่อด้วย…

แต่จะบอกว่าคนจํานวนเยอะมาก ๆ อย่างวันนี้ที่มาก็มีผู้เข้าไปร่วมสักการะแล้วทั้งหมด 400,000 คน โดยอย่างแรกก็จะมีการเวียนเทียนรอบโบสถ์ที่มีพระบรมสารีริกธาตุ แล้วคุณพ่อเอวาท่านก็สนิทกับพระหลาย ๆ รูปมากเลย เอวาก็มีบุญเราโชคดีมาก ๆ ที่ได้ขึ้นไปกราบไหว้กับคุณพ่อถึงข้างบน และคุณพ่อเอวาท่านก็ได้คุยกับพระอินเดียด้วย ซึ่งก็เป็นองค์ที่ทําให้งานนี้เกิดขึ้นได้ แล้วคุณพ่อก็เป็นคนประสานงานทั้งหมด โชคดีมาก ๆ ที่พระหลายรูปท่านเอ็นดูแล้วก็รักคุณพ่อเอวา

สำหรับใครที่อยากร่วมสักการะตอนนี้มีถึงวันที่ 3 มีนาคม อยากเชิญชวนทุกคนมากันเยอะ ๆ ส่วนใครที่ดูคลิปนี้ก็อนุโมทนาสาธุร่วมกันกับบุญใหญ่ของเอวาและครอบครัว”

‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ พระราชทานสิ่งของแก่ ‘อาสาสมัครทหารพราน’ หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-ยิงปะทะ จ.นราธิวาส

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนกองร้อยทหารพราน นาวิกโยธินที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ขณะทำการลาดตระเวนบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านยะลูตง ตำบลกาเยาะมาตรี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย ดังนี้

- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐพล ชนะเกียรติ
- อาสาสมัครทหารพราน ดิฐวัฒน์ พุดหอม
- อาสาสมัครทหารพราน กฤษณะ แก้วมณี
- อาสาสมัครทหารพราน วัชรศักดิ์ ชูหอย
- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐวัฒน์ มณีพันธ์

โดยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ถือเป็นความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ’ในหลวง ร.10‘ ทรงมีพระราชดำริให้ ‘จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน’ หวังส่งมอบความรู้เบื้องต้นแก่ ‘ข้าราชการ-ประชาชน-จิตอาสา’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสุขภาพและพลานามัยของประชาชน จึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) แก่ประชาชนทั่วไป ที่โรงละคร สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า โดยมีพลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับมอบอุปกรณ์ฝึกสอนการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน จำนวน 220 ชุด ซึ่งประกอบด้วย

- หุ่นจำลองช่วยฟื้นคืนชีพผู้ใหญ่ - แบบครึ่งตัวมีไฟแสดง จำนวน 100 ชุด
- หุ่นจำลองเด็ก จำนวน 100 ชุด
- ชุดฝึกสอนการสำลัก Anti Choking ( Choking Training Vest) จำนวน 20 ชุด

จากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยแพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ส่งมอบ ซึ่งอุปกรณ์ฝึกสอนฯ ดังกล่าว บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สำหรับพระราชทานไปใช้ในกิจกรรมการฝึกอบรมการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้นให้กับ ข้าราชการ ประชาชน และจิตอาสา โดยมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการฝึกอบรม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการกองทัพไทย บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ’ในหลวง ร.10‘ พระราชทานถุงยังชีพแก่ราษฎร 35 ครอบครัว หลังประสบอัคคีภัย ณ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทาน (เครื่องครัว เครื่องนอน) ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัยบริเวณชุมชนบ้านครัวตะวันตก ซึ่งได้เกิดเหตุอัคคีภัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 00.27 น. ที่ผ่านมา ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 8 หลังคาเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 35 ครอบครัว ณ สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ในโอกาสนี้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวกับราษฎรให้ได้รับทราบ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

‘ครูเล็ก’ โพสต์ภาพคู่ ‘ลิซ่า’ เผย “เธอเป็นคนที่อบอุ่นมาก” พร้อมคอนเฟิร์มเตรียมชิมลางซีรีส์ดัง เริ่มถ่ายทำที่ไทยแล้ว

(26 ก.พ.67) เรียกว่าแฟนๆ ทั่วโลก ต่างเซอร์ไพร์ส หลัง ‘ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ เซย์เยสชิมลางงานแสดง ใน ‘The White Lotus’ ซีซัน 3 ออริจินัลซีรีส์ของ HBO ที่จะเริ่มถ่ายทำที่เกาะสมุย ภูเก็ต และกรุงเทพฯ

โดยการันตีด้วยรางวัลเอ็มมี่ สร้างสรรค์ เขียนบท และ กำกับโดย ‘ไมค์ ไวท์’ ร่วมกับทีมนักแสดง เลสลีย์ บิบบ์, แคร์รี่ คูน, ฟรานเชสกา คอร์นีย์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผย นักแสดงชาวไทยมากฝีมืออีกหลายชีวิต ที่ร่วมถ่ายทอดชีวิตจริงของมนุษย์สู่สายตาแฟนๆ ทั่วโลก อย่าง ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน, ดอม เหตระกูล และ เมธี ทับทิมทอง อีกด้วย

ขณะเดียวกัน แฟนๆ ซีรีส์ ก็ยังคงร่วมลุ้นว่า ลิซ่า และนักแสดงคนอื่นๆ จากเมืองไทยจะได้รับบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้ รวมถึงรอคอยการถ่ายทำที่ประเทศไทย

ล่าสุด ‘ครูเล็ก’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง และยังเป็นหนึ่งในนักแสดงซีรีส์เรื่องดังกล่าว ออกมาโพสต์ภาพคู่กับลิซ่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมแคปชันน่ารักว่า “เธอเป็นคนที่อบอุ่นมาก”

ทำเอาแฟนๆ ที่เห็นภาพนี้ ต่างอบอุ่นหัวใจ ที่ลิซ่าได้ร่วมงานกับปรมาจารย์ด้านการแสดง และบอกว่าใครที่ได้ร่วมงานกับลิซ่า ต่างชื่นชมและเอ็นดูในความน่ารัก

พร้อมคาดการณ์กันอีกว่า ลิซ่าเเละทีมซีรีส์ เรื่อง ‘The White Lotus season 3’ เดินทางมาถ่ายทำที่ประเทศไทยกันเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว

‘อ้น สราวุธ’ ถึง ‘แน็ก ชาลี’ จากใจคนดีงาม ถึงคนที่ดีงามอีกคน

จากกรณีที่ ‘แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์’ นักแสดงและนักร้องชื่อดังแห่งวงการบันเทิง ได้ออกมาไลฟ์สดระบายความอัดอั้นตันใจ ถึงขั้นร้องไห้ออกสื่อ เมื่อไม่นานนี้ โดยเจ้าตัวได้กล่าวว่า ตนเองช่วยคนอื่น แต่กลับโดนด่าทุกวัน ทั้งๆ ที่ทำให้คนอื่นมีความสุข

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 67 ‘อ้น-สราวุธ มาตรทอง’ นักแสดง นายแบบ และนักร้องชื่อดัง เจ้าของบทบาทมากมายในวงการบันเทิง ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านทางช่องติ๊กต็อกส่วนตัว aonsarawut929 ให้กำลังใจแก่ ‘แน็ก ชาลี’ โดยระบุว่า…

“สวัสดีครับ อ้น สราวุธครับ คลิปนี้อยากจะพูดถึงใครคนหนึ่งครับ ถ้าเกิดใครติดตามก็น่าจะรู้ว่าผมไม่ค่อยพูดถึงใครเท่าไหร่ ไม่ค่อยพูดถึงบุคคลที่ 3 เพราะรู้สึกว่ามันไม่สมควร แต่คลิปนี้ผมตั้งใจพูดถึงเด็กผู้ชายที่ชื่อ ‘แน็ก ชาลี’ ครับ

ผมได้ติดตามข่าว ได้เห็นที่เขาไลฟ์ และเขาร้องไห้ และเขาพูดถึงความสุขว่า เขาหมั่นทำให้คนอื่นมีความสุข หมั่นช่วยเหลือผู้อื่น หมั่นให้สิ่งต่างๆ แก่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น… แต่สุดท้าย สิ่งที่มันวนกลับมาหาเขา คือ เขารู้สึก ‘แห้งแล้งอยู่ข้างในใจ’ เขารู้สึกเปราะบางอยู่ในนี้

ผมก็เลยจะบอกว่า แน็กฟังพี่อ้นนะ… พี่อ้นดูแน็กมาตลอดแม้ไม่เคยได้ร่วมงานกับแน็กนะ เห็นแน็กมาตั้งแต่ภาพยนต์เรื่อง ‘แฟนฉัน’ ยังรู้สึกว่า เด็กคนนี้น่ารักจัง แล้วก็ติดตามดูงานมาตลอด แน็กเป็นหนึ่งในนักแสดงคนหนึ่งที่พี่อ้นว่ามีฝีมือมากทีเดียวนะ แล้วก็เป็นธรรมชาติมากด้วย มีช่วงหนึ่งที่แน็กหายไป พี่อ้นก็ยังคิดถึงอยู่ว่าหายไปไหน เสียดาย… แต่พอสักพักนึง แน็กกลับมาในโลกออนไลน์ โลกโซเชียล และคนก็พูดถึงความตลกโปกฮา บ้าบอนู่นนี่นั่น ซึ่งพี่อ้นชื่นชมนะ มันน่ารักดี

แต่สิ่งที่เห็นมากกว่านั้นคือ ข้างในของแน็ก ซึ่งรู้สึกว่า โอ้โห เด็กคนนี้เหมือนออกซิเจน เหมือนเป็นอากาศดีๆ ให้กับสังคม เพราะว่าการที่คนเราจะทําให้สังคมน่าอยู่ ช่วยเหลือผู้อื่น โดยที่คนอื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม มันเป็นสิ่งที่น่ารักมาก และแน็กก็เมตตากับสัตว์เลี้ยงมากๆ ซึ่งอ้นก็เลี้ยงสัตว์เหมือนกันน่ะนะครับ ก็เลยอยากจะบอกแน็กว่า หากแน็กเดินทางบ่อยๆ แม็กจะรู้ว่าเวลาที่เราขึ้นเครื่องบินนั้น เวลาที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ มันจะมีเครื่องให้ออกซิเจนตกลงมา วิธีในการใช้ก็คือ เขาให้เราสวมออกซิเจนให้ตัวเองก่อนแล้วค่อยสวมให้คนข้างๆ แน็กจําคำของพี่อ้นไว้นะ เราต้องแข็งแรง ถึงจะช่วยเหลือผู้อื่นให้แข็งแรงได้ คนรอบข้างจะรอดและมีความสุขได้ เราต้องแข็งแรง การที่แน็กช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขนั้นพี่อ้นชื่นชมมาก… แต่น้องต้องแข็งแรง รักษาตัวเองไว้ให้แข็งแรง

การดูแลคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม… แต่อย่าลืมดูแลผู้ชายที่ชื่อ ‘แน็ก ชาลี’ ด้วย อย่าลืม…

วันหนึ่งเราต้องโต ต้องเป็นผู้ใหญ่ ต้องแก่เฒ่าและจากไป แน็กรู้แล้วเรื่องนี้ ทุกอย่างจะมีช่วงเวลาในการเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนโฮมสเตย์ เหมือนบ้านพักชั่วคราว

ขอให้แน็กอยู่กับตรงนี้ อยู่กับหัวใจของตัวแน็กเอง ดูแลหัวใจของตัวเองให้ดี เมื่อเราแข็งแรง เราก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ และทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น เพราะคนอย่างแน็กนี่แหละ รักแน็กนะ พี่มองเห็นสิ่งที่แน็กทำนะ

อีกอย่างนึงที่อยากพูดมากเลย คือ การที่คนๆ นึงจะเอาตุ๊กแกมาตีขิมหรือตีระนาดได้เนี่ย มันต้องแบบที่สุดแล้วล่ะสําหรับพี่ พี่ขอคารวะ สู้ๆ นะน้อง รักนะแน็ก ถ้ามีโอกาสเราคงได้ร่วมงานกันครับ

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ในหลวง ร.10 พระราชทานสิ่งของช่วยเหลืออาสาสมัครทหารพราน หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิด จ.ยะลา

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ กันทะนิต และนางสาวมายูรี เจะตือเร๊ะ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดชุดลาดตระเวนตามแผนพิทักษ์ยะลา 623 (ฉก.ยะลา) บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ที่ 2 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 และเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

การได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ และนางสาวมายูรี อย่างหาที่สุดมิได้

ความ ‘สมดุล’ ตามรอย ‘ศาสตร์แห่งพระราชา’ ‘ปลูกชีวิต’ ด้วยพลังงานธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ

ในระหว่างที่สังคมโลกกำลังให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับภาวะเรือนกระจกในหลายๆ บริบทของสังคมทั้งในระดับโลก ประเทศ และชุมชน เพื่อจรรโลงโลกกลมๆ แห่งนี้ให้อยู่คู่มนุษยชาติได้นานๆ นั้น

ปรากฏการณ์ของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล รวมถึงลดเลิกการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อต้านทานกับภัยคุกคามจากภาวะเรือนกระจก ก็เริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นตามเช่นกัน

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือ ที่ใครหลายคนคุ้นเคยกับคำว่า ‘สมดุล’ เป็นหนึ่งในหน่วยเล็กๆ ทางสังคม ที่ออกแบบสิ่งแวดล้อมแสนสมดุลของตน ไว้ในหมวดธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การผูกรัดตนเองไว้กับวิถีแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ อัมพวา สมุทรสงคราม

‘สมดุล’ ประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ อยู่ติดริมแม่น้ำแม่กลอง มีบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นเหมือนสวนที่เปิดรับให้ทุกคนได้มาพักผ่อน แถมยังพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนได้เรียนรู้ พร้อมๆ ไปกับ คาเฟ่, อาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ต่อยอดขึ้นมาจากแนวคิด ‘อยู่อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ’

เป้าหมายของ ‘สมดุล’ ที่แม้นจะฟังดูเหมือนลมๆ ลอยๆ แต่ ‘อติคุณ ทองแตง’ ผู้ร่วมก่อตั้งสวนสมดุล ก็บอกเสมอว่า “ความสุขอย่างยั่งยืน” คือนิยามที่ ‘สมดุล’ อยากส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจไปสู่สังคมวงกว้าง

ย้อนกลับไปสักเล็กน้อย ‘อติคุณ’ เล่าว่า สวนสมดุลแห่งนี้ เกิดมาจากแรงบันดาลใจในปรัชญาของพ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านสวนออนซอน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีส่วนสำคัญในถ่ายทอดปรัชญาแห่งความสมดุลในสวนนี้ เป็นมรดกให้เขาให้นำไปสานต่อ 

โดยสาระสำคัญของปรัชญาดังกล่าว สะท้อนไปสู่ ‘การปลูกชีวิต’ โดยเฉพาะชีวิตแห่งพืชพันธุ์ให้สามารถเกื้อกูลพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยองค์ประกอบ ดิน, น้ำ, ลม และ แสงแดดที่เหมาะสม จนเกิดความสมบูรณ์ตามรูปแบบของธรรมชาติ  

มาถึงตรงนี้ รู้สึกได้ว่า ปรัชญา ดังกล่าวที่สะท้อนมาสู่จุดเริ่มต้นของ ‘สมดุล’ ช่างดูคุ้นเคย...

ใช่แล้ว!! เพราะนี่คือปรัชญาเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนตามแนวทาง ‘ศาสตร์พระราชา’

‘สมดุล’ ไม่ใช่สังคมสีเขียวที่ไร้แก่นสาร หรือแค่วาดลานแลนด์สเคปเขียวๆ ให้คนรู้สึกถึงคอนเซปต์แบบเขียวๆ ให้รู้สึกว่าอินเทรนด์ แต่ ‘สมดุล’ ถูกปัดหมุดด้วยความคิดของผู้ร่วมก่อตั้ง ที่สอดรับกับรอยต่อแห่ง ‘ศาสตร์พระราชา’ ซึ่งมิได้ปฏิเสธเทคโนโลยี เพียงแต่ไม่ยอมรับการครอบงำจากเทคโนโลยี  

นัย นี้น่าสนใจ!! เพราะ ‘สมดุล’ รู้จักการควบคุมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของการเป็นเกษตรสมดุล โดยผสานองค์ความรู้จากปรัชญาของการเกษตรไทย กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยการทำให้เกิดสมดุลของดิน, น้ำ และสิ่งแวดล้อม นั่นคือ นำเอาศาสตร์แห่งดิน, ศาสตร์แห่งน้ำ และ การเคลื่อนคล้อยของลม แสงแดด และอุณหภูมิที่เหมาะสม มาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ คล้ายเป็นนวัตกรรม...หากแต่เป็นนวัตกรรมจากรากเหง้าเกษตรไทย ที่อุดมด้วยองค์ความรู้อันหลากหลายอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สวนสมดุล ยังปฏิเสธสารเคมีทุกชนิด โดยผืนดินทุกตารางนิ้ว จะถูกปรับปรุงคุณภาพให้ปลอดภัยทั้งสารพิษ สารเคมี อย่างน้ำที่ใช้ในสวน ก็จะผ่านการกรองด้วยระบบกรองตามมาตรฐานคุณภาพที่สวนฯ กำหนดขึ้น ทำให้ ต้นไม้ พันธุ์พืช และผักทุกชนิด จึงปลอดภัยจากมวลสารที่อาจเป็นพิษภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช...ทุกสิ่งล้วน ‘ออแกนิค’ (Organic)

ในแง่ของพลังงาน สวนสมดุลแห่งนี้ ได้สมดุลด้านพลังงานผ่าน ‘พลังงานสะอาด’ (Green Energy) ด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มาเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ใช้ในทุกพื้นที่ของสวน

จากข้อมูลช่วงย้อนไปราว 5 ปีก่อน อติคุณ เล่าว่า “เราเริ่มต้นด้วยการติดตั้งแผง Transparent PV Solar Cell จำนวน 208 แผงแบบ on-Grid บนหลังคาที่จอดรถหน้าสวน มีขนาดกำลังติดตั้ง 60.14 kw สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ปีละ 88,454 Kwh หรือ 88,454 หน่วยนั่นเอง ด้วยสมการนี้เราจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 391,090.50 บาท หรือตกเดือนละ 32,590.87 บาท จึงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงในทางหนึ่ง ขณะเดียวกันยังสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซหลักและตัวการสำคัญที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนลงได้ปีละ 68.90 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ที่มีอายุกว่า 10 ปี จำนวน 1,034 ต้นต่อปี หรือเทียบเท่ากับพื้นที่ป่าสีเขียวขนาด 184 ไร่ และเทียบเท่ากับการลดการเผาถ่านหินจำนวน 30,771.90 กิโลกรัมต่อปี หรือเท่ากับการขับรถเป็นระยะทาง 244,696 กิโลเมตรต่อปี”

อติคุณ เผยอีกว่า ผลพวงจากพลังงานสะอาดที่ผลิตจากแสงอาทิตย์นี้ ได้ถูกนำไปใช้ในร้านกาแฟ ‘Agro  forestry Café’ ไม่ว่าจะในส่วนของระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟ และอุปกรณ์ประกอบการปรุงอาหารทุกชนิด เป็นการการันตีว่า ทุกเมนูกาแฟ หรือ อาหาร รวมทั้งเครื่องดื่ม น้ำดื่มต่างๆ ที่ลูกค้าได้เข้ามาใช้บริการ 

เรียกได้ว่าทุกโสตสัมผัสในบรรยากาศแห่ง สวนสมดุล ผู้คนจะมั่นใจ และสบายใจได้ว่า สิ่งแวดล้อมที่ปรากฏรายล้อมรอบพวกเขา นอกจากจะกอปรไปด้วยวัตถุดิบที่เป็นออแกนิคแล้ว ยังปราศจากมลพิษ อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย

“เราอยากให้สวนแห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยต้นทุนด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทย ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงในอาชีพ เกษตรกรไทยไม่ควรต้องอ่อนด้วย ต้อยต่ำ อีกต่อไป” นี่คืออีกหนึ่งฝันของ อติคุณ ที่ไม่ใช่แค่เนรมิต ‘สมดุล’ ขึ้นมาเป็นเพียงแค่ที่พักผ่อนหย่อนใจ

ในขณะที่สภาวะเรือนกระจกกำลังคุกคามโลกของเราอยู่ แค่ธุรกิจที่มองเห็นและหยิบจับวัฏจักรแห่ง Green มาไหลเวียนแค่ธุรกิจเดียว ยังสร้างผลลัพธ์ในการเซฟโลกของเราได้มากขนาดนี้ แล้ว ‘คุณ’ จะไม่ลองเริ่มหันมาสร้าง ‘สมดุล’ ให้กับโลกกันบ้างหน่อยหรือ?

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ ผู้ทรงพระราชกรณียกิจสำคัญ 8 ด้านเพื่อแผ่นดินสยาม

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ ถือเป็นพิธีสำคัญสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เหตุการณ์ครั้งสำคัญในอดีตถูกบันทึกลงในสื่อหลายประเภทให้คนรุ่นหลังใช้ศึกษา ในที่นี้ยกตัวอย่างด้วยการย้อนกลับไปที่ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 7

โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2469) ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลู

ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์ประมุขในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศโดยสมบูรณ์ ทุกกระบวนการในพระราชพิธีมีความหมาย และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลำดับการพระราชพิธี ตั้งแต่ขั้นการเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย

ช่วงเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ

- การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
- การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
- การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก
- การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก
- พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร
- การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ
- การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี
- การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม

รู้จัก ‘สวนสมดุล’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแห่งอัมพวา บอกทุกที่มา ‘อาหาร-พลังงาน’ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องได้รู้

บรรยากาศริมน้ำแม่กลองที่ไหลเอื่อยยามสาย ช่างดูเงียบสงบงดงามเหลือเกิน เมื่อได้เมียงมองจากพื้นที่ร่มรื่นใต้เงาไม้ของ ‘สมดุล’ (Somdul Agroforestry Home) สถานที่ที่ผสมผสานทั้งความเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ศูนย์เรียนรู้ และวนเกษตร ซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

‘สมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ เปรียบตนเองเป็นบ้านที่มีความฝันจะบาลานซ์ไลฟ์สไตล์ ระหว่างชีวิตคนเมืองกับธรรมชาติให้อยู่ตรงกลาง ผ่านการทำเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ แบบเกษตรอินทรีย์ โดยปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการบริการ อาหาร, เครื่องดื่ม, เบเกอรี ผลิตภัณฑ์แปรรูปในโซนคาเฟ่ เปิดโอกาสให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ผ่านการศึกษาภาคปฏิบัติในกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ และถ่ายทอดวิถีชีวิตองค์ความรู้ของศาสตร์วนเกษตร เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

จุดหมายปลายทางแห่งนี้ เริ่มต้นจากนักศึกษาในชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเอแบค จำนวน 6 คน ได้แก่ เอี่ยม-อติคุณ ทองแตง, เม-เมธาพร ทองแตง, อู๋-บุญชู อู๋, กันต์-กันต์ คงสินทรัพย์, ไอซ์-รังสิมันตุ์ ตันติวุฒิ และเจมส์-พงศกร โควะวินทวีวัฒน์ ซึ่งทุกคนมีความสนใจในงานด้านอนุรักษ์ และใช้พื้นที่ที่มีทำการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง จนกระทั่งมาลงตัวที่ ‘วนเกษตร’ หรือ การเกษตรบนพื้นที่ป่า ก่อนจะขยายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ก่อตั้งอธิบายว่า “ทุกการบริโภคในสมดุล ล้วนมีที่มาที่ไป ตั้งแต่กระบวนการผลิต อาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในคาเฟ่ จะถูกอธิบายว่ามาจากที่ไหนบ้าง มีความปลอดภัยอย่างไร เรามีฟาร์มเทเบิลส่วนหนึ่งที่ผลิตเอง และมีเครือข่ายเกษตรที่เรามั่นใจได้ในความปลอดภัย อาหารมีที่มาที่ไปอย่างไร อาหารส่วนหนึ่งเป็นออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี และนี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร เพราะเราเน้นเรื่องความจริงใจ ที่มาของอาหารที่จับต้องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องรู้...

“เราเน้นใช้จาน แก้ว เพราะล้างได้ ใช้กระดาษ หลอดย่อยสลายได้ รวมถึงกระป๋อง อลูมิเนียม เพราะนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยมีจุดแยกขยะและเครื่องบีบอัดกระป๋อง ส่วนพลาสติกที่จำเป็นจริงๆ จากพวกแพ็คเกจ เราต้องคัดแยก ไม่ได้ไปทิ้งขยะรวมกับขยะทั่วไป โดยแยกไปรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ใหม่ ส่วนขยะที่รีไซเคิลยากจริงๆ เราส่งไปโครงการที่ผลิตพลาสติกเพื่อแปรรูปมาทำพลังงาน”

ไม่เพียงบทบาทในการมอบความสุขให้กับผู้มาเยี่ยมเยียน ‘สมดุล’ เท่านั้น หมวกอีกใบของ ‘สมดุล’ ยังให้ความสำคัญกับการเป็น ‘พลเมืองสีเขียว’ ที่คอยช่วยเหลือชุมชนโดยรอบผ่านองค์ความรู้ที่ได้จากคอนเนกชันของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม

“เราเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่หันมาทำธุรกิจ จึงอยากทำธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน และการอนุรักษ์ เราเปิดที่นี่ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนทำอย่างไร โดยมีคอนเนกชันกับกลุ่มอนุรักษ์หลายกลุ่ม ก็นำข้อมูลมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้เรียนรู้...

“อย่างแนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหนึ่งในแกนกลางสำคัญของการขับเคลื่อน เราก็ทำในรูปแบบวนเกษตร โดยใช้ภูมิปัญญาเกษตรแบบร่องสวน ทำปุ๋ยเอง เน้นเรื่อง Zero Waste โดยใช้อาหารที่เหลือจากคาเฟ่ ขยะเศษอาหาร จะนำไปแยกน้ำ แยกกาก เอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก และมีวิธีการจัดการการแยกขยะ เพราะขยะที่ขายไม่ได้เทศบาลจะนำไปฝังกลบ เราจึงมีเป้าหมายว่าขยะจะต้องนำไปถูกฝังกลบให้น้อยที่สุด ด้วยการคัดแยกขยะ
ขยะ เน้นเรื่องที่มาและที่ไป บรรจุภัณฑ์แบบไหนให้ปลอดภัยและจัดการง่าย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เป็นต้น” 

อีกหนึ่งในไฮไลต์ที่ อติคุณ มักจะนำเสนอต่อทุกคนที่มาเยือน ‘สมดุล’ คือ การให้ผู้มาเยือนได้มาศึกษาเรียนรู้ การเลี้ยง ‘ผึ้งชันโรง’ แมลงตัวจิ๋วที่เสมือนเป็นเครื่องมือรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับ ‘ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว’ (Stingless bees) เป็นแมลงผสมเกสรจำพวกผึ้งแต่ไม่มีเหล็กไน ‘ชันโรง’ ถือเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งป่า และยังให้น้ำผึ้งได้อีกด้วย โดยน้ำผึ้งและเกสรของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพราะมีปริมาณน้อยกว่า และหายาก เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งปกติ 

ความสำคัญที่มีต่อการเกษตรของชันโรงจะช่วยผสมเกสรพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นานโดยไม่จับเกาะอะไร ทำให้กระพือปีกได้นานบินร่อนลงเก็บเกสร และดูดน้ำหวานเป็นไปอย่างนุ่มนวลไม่ทำให้กลีบดอกช้ำ ขณะเดียวกัน ‘ผึ้งชันโรง’ ยังเป็นแมลงที่สามารถต้านทานเคมีได้ต่ำ เมื่อมีผึ้งชนิดนี้ในพื้นที่ไหนมี ก็เป็นการการันตีเรื่องระบบนิเวศได้ว่า ไม่มีสารเคมี สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและดิน

หากใครที่อยากสัมผัสกับเสน่ห์แห่งวิถีธรรมชาติที่ปราศจากมลภาวะอย่างแท้จริง การเจียดเวลามา ‘สมดุล’ ชีวิตที่ ‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home ก็อาจจะทำให้คุณได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการพลิกตนให้ผู้พิทักษ์สังคมจากภัยคุกคามของภาวะเรือนกระจกได้ไม่มากก็น้อย ก็เป็นได้...

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 2’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้าง ‘ยุคทองของวรรณคดี’

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ มีพระนามเดิมว่า ‘ฉิม’ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 2 ของสยามในสมัยราชวงศ์จักรีและทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 46 ตามประวัติศาสตร์ไทย ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา

ต่อมาพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งภายหลังเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี หลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทั้ง 2 พระองค์มีพระราชโอรสร่วมกัน 3 พระองค์ พระองค์ใหญ่ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่าเจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รองลงมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 40 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ แต่ให้คงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม มิให้ขึ้นไปประทับ ณ พระราชวังบวรฯ ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบทูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่าขอให้ลูกเธอได้อาศัยในพระราชวังบวรฯ ต่อไป ทั้งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว ไม่ช้านานเท่าใดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็จะได้เสวยราชสมบัติ การย้ายวัง ควรไว้ย้ายเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังทีเดียว

ถึงปี พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า…

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติ อาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ หริสกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หรหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณ อกนิฐฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร

โดยรัชสมัยของพระองค์ทรงสงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง รัชสมัยของพระองค์เป็น ‘ยุคทองของวรรณคดี’ เนื่องจากพระองค์ทรงอุปถัมภ์กวีหลายคนในราชสำนัก และพระองค์เองก็มีชื่อเสียงในฐานะกวีและศิลปิน กวีที่โดดเด่นที่สุดในราชสำนักคือสุนทรภู่

23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ทรงสถาปนา ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ รร.ต้นแบบแห่ง ‘หลักสูตร-วิธีการสอน’ ที่เผยแพร่ไปทั่วไทย

‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 131 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

‘วีวี่ มิสแกรนด์ร้อยเอ็ด’ โร่ขอโทษ ปมแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ หลังร่วมปาร์ตี้วันเกิด ‘อิงฟ้า’ สัญญาจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้

(22 ก.พ. 67) กรณีเฟซบุ๊ก ‘ว่างจัด x นางงาม’ โพสต์ภาพหญิงแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ ถือพัดสีทอง ระบุข้อความว่า “ใส่สบงแล้วทรงพลัง มิสแกรนด์ร้อยเอ็ด ร่วมงานปาร์ตี้ วันเกิดอิงฟ้า วราหะ” ซึ่งภาพดังกล่าว มีบางส่วนที่หัวเราะขบขันกันการแต่งกายเป็นพระสงฆ์ แต่อีกฝ่ายก็ดรามาอยู่ไม่น้อยว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ซึ่งต่อมามีการลบคลิปภาพต้นฉบับออก ก่อนที่ ‘วีวี่ ฐาสุปางค์ เดชะอัครอนันต์’ มิสแกรนด์ร้อยเอ็ด 2024 ได้ออกมายกมือไหว้ขอโทษ เผยผ่านอมรินทร์ ทีวี รับผิดกับการกระทำ เพราะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย สร้างความไม่พอใจให้พี่น้องชาว จ.ร้อยเอ็ด

วีวี่เผยว่าตนขออภัยไว้ ณ ที่นี้อย่างสุดซึ้ง สัญญาว่าจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว และจะให้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ตนได้ใช้ความคิด ใช้วิจารณญาณในการที่จะทำคอนเทนต์ออกมา ครั้งนี้ตนกราบขออภัย ขอให้ผู้ใหญ่ทุกท่านให้อภัยตักเตือน สั่งสอนตน การประกวดมิสแกรนด์ในครั้งนี้ มีความตั้งใจมากที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับพี่น้องชาว จ.ร้อยเอ็ด ตนสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top