Friday, 17 May 2024
LITE

‘อ้น สราวุธ’ ถึง ‘แน็ก ชาลี’ จากใจคนดีงาม ถึงคนที่ดีงามอีกคน

จากกรณีที่ ‘แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์’ นักแสดงและนักร้องชื่อดังแห่งวงการบันเทิง ได้ออกมาไลฟ์สดระบายความอัดอั้นตันใจ ถึงขั้นร้องไห้ออกสื่อ เมื่อไม่นานนี้ โดยเจ้าตัวได้กล่าวว่า ตนเองช่วยคนอื่น แต่กลับโดนด่าทุกวัน ทั้งๆ ที่ทำให้คนอื่นมีความสุข

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 67 ‘อ้น-สราวุธ มาตรทอง’ นักแสดง นายแบบ และนักร้องชื่อดัง เจ้าของบทบาทมากมายในวงการบันเทิง ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านทางช่องติ๊กต็อกส่วนตัว aonsarawut929 ให้กำลังใจแก่ ‘แน็ก ชาลี’ โดยระบุว่า…

“สวัสดีครับ อ้น สราวุธครับ คลิปนี้อยากจะพูดถึงใครคนหนึ่งครับ ถ้าเกิดใครติดตามก็น่าจะรู้ว่าผมไม่ค่อยพูดถึงใครเท่าไหร่ ไม่ค่อยพูดถึงบุคคลที่ 3 เพราะรู้สึกว่ามันไม่สมควร แต่คลิปนี้ผมตั้งใจพูดถึงเด็กผู้ชายที่ชื่อ ‘แน็ก ชาลี’ ครับ

ผมได้ติดตามข่าว ได้เห็นที่เขาไลฟ์ และเขาร้องไห้ และเขาพูดถึงความสุขว่า เขาหมั่นทำให้คนอื่นมีความสุข หมั่นช่วยเหลือผู้อื่น หมั่นให้สิ่งต่างๆ แก่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น… แต่สุดท้าย สิ่งที่มันวนกลับมาหาเขา คือ เขารู้สึก ‘แห้งแล้งอยู่ข้างในใจ’ เขารู้สึกเปราะบางอยู่ในนี้

ผมก็เลยจะบอกว่า แน็กฟังพี่อ้นนะ… พี่อ้นดูแน็กมาตลอดแม้ไม่เคยได้ร่วมงานกับแน็กนะ เห็นแน็กมาตั้งแต่ภาพยนต์เรื่อง ‘แฟนฉัน’ ยังรู้สึกว่า เด็กคนนี้น่ารักจัง แล้วก็ติดตามดูงานมาตลอด แน็กเป็นหนึ่งในนักแสดงคนหนึ่งที่พี่อ้นว่ามีฝีมือมากทีเดียวนะ แล้วก็เป็นธรรมชาติมากด้วย มีช่วงหนึ่งที่แน็กหายไป พี่อ้นก็ยังคิดถึงอยู่ว่าหายไปไหน เสียดาย… แต่พอสักพักนึง แน็กกลับมาในโลกออนไลน์ โลกโซเชียล และคนก็พูดถึงความตลกโปกฮา บ้าบอนู่นนี่นั่น ซึ่งพี่อ้นชื่นชมนะ มันน่ารักดี

แต่สิ่งที่เห็นมากกว่านั้นคือ ข้างในของแน็ก ซึ่งรู้สึกว่า โอ้โห เด็กคนนี้เหมือนออกซิเจน เหมือนเป็นอากาศดีๆ ให้กับสังคม เพราะว่าการที่คนเราจะทําให้สังคมน่าอยู่ ช่วยเหลือผู้อื่น โดยที่คนอื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม มันเป็นสิ่งที่น่ารักมาก และแน็กก็เมตตากับสัตว์เลี้ยงมากๆ ซึ่งอ้นก็เลี้ยงสัตว์เหมือนกันน่ะนะครับ ก็เลยอยากจะบอกแน็กว่า หากแน็กเดินทางบ่อยๆ แม็กจะรู้ว่าเวลาที่เราขึ้นเครื่องบินนั้น เวลาที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ มันจะมีเครื่องให้ออกซิเจนตกลงมา วิธีในการใช้ก็คือ เขาให้เราสวมออกซิเจนให้ตัวเองก่อนแล้วค่อยสวมให้คนข้างๆ แน็กจําคำของพี่อ้นไว้นะ เราต้องแข็งแรง ถึงจะช่วยเหลือผู้อื่นให้แข็งแรงได้ คนรอบข้างจะรอดและมีความสุขได้ เราต้องแข็งแรง การที่แน็กช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขนั้นพี่อ้นชื่นชมมาก… แต่น้องต้องแข็งแรง รักษาตัวเองไว้ให้แข็งแรง

การดูแลคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม… แต่อย่าลืมดูแลผู้ชายที่ชื่อ ‘แน็ก ชาลี’ ด้วย อย่าลืม…

วันหนึ่งเราต้องโต ต้องเป็นผู้ใหญ่ ต้องแก่เฒ่าและจากไป แน็กรู้แล้วเรื่องนี้ ทุกอย่างจะมีช่วงเวลาในการเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนโฮมสเตย์ เหมือนบ้านพักชั่วคราว

ขอให้แน็กอยู่กับตรงนี้ อยู่กับหัวใจของตัวแน็กเอง ดูแลหัวใจของตัวเองให้ดี เมื่อเราแข็งแรง เราก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ และทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น เพราะคนอย่างแน็กนี่แหละ รักแน็กนะ พี่มองเห็นสิ่งที่แน็กทำนะ

อีกอย่างนึงที่อยากพูดมากเลย คือ การที่คนๆ นึงจะเอาตุ๊กแกมาตีขิมหรือตีระนาดได้เนี่ย มันต้องแบบที่สุดแล้วล่ะสําหรับพี่ พี่ขอคารวะ สู้ๆ นะน้อง รักนะแน็ก ถ้ามีโอกาสเราคงได้ร่วมงานกันครับ

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ในหลวง ร.10 พระราชทานสิ่งของช่วยเหลืออาสาสมัครทหารพราน หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิด จ.ยะลา

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ กันทะนิต และนางสาวมายูรี เจะตือเร๊ะ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดชุดลาดตระเวนตามแผนพิทักษ์ยะลา 623 (ฉก.ยะลา) บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ที่ 2 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 และเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

การได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ และนางสาวมายูรี อย่างหาที่สุดมิได้

ความ ‘สมดุล’ ตามรอย ‘ศาสตร์แห่งพระราชา’ ‘ปลูกชีวิต’ ด้วยพลังงานธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ

ในระหว่างที่สังคมโลกกำลังให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับภาวะเรือนกระจกในหลายๆ บริบทของสังคมทั้งในระดับโลก ประเทศ และชุมชน เพื่อจรรโลงโลกกลมๆ แห่งนี้ให้อยู่คู่มนุษยชาติได้นานๆ นั้น

ปรากฏการณ์ของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล รวมถึงลดเลิกการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อต้านทานกับภัยคุกคามจากภาวะเรือนกระจก ก็เริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นตามเช่นกัน

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือ ที่ใครหลายคนคุ้นเคยกับคำว่า ‘สมดุล’ เป็นหนึ่งในหน่วยเล็กๆ ทางสังคม ที่ออกแบบสิ่งแวดล้อมแสนสมดุลของตน ไว้ในหมวดธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การผูกรัดตนเองไว้กับวิถีแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ อัมพวา สมุทรสงคราม

‘สมดุล’ ประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ อยู่ติดริมแม่น้ำแม่กลอง มีบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นเหมือนสวนที่เปิดรับให้ทุกคนได้มาพักผ่อน แถมยังพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนได้เรียนรู้ พร้อมๆ ไปกับ คาเฟ่, อาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ต่อยอดขึ้นมาจากแนวคิด ‘อยู่อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ’

เป้าหมายของ ‘สมดุล’ ที่แม้นจะฟังดูเหมือนลมๆ ลอยๆ แต่ ‘อติคุณ ทองแตง’ ผู้ร่วมก่อตั้งสวนสมดุล ก็บอกเสมอว่า “ความสุขอย่างยั่งยืน” คือนิยามที่ ‘สมดุล’ อยากส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจไปสู่สังคมวงกว้าง

ย้อนกลับไปสักเล็กน้อย ‘อติคุณ’ เล่าว่า สวนสมดุลแห่งนี้ เกิดมาจากแรงบันดาลใจในปรัชญาของพ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านสวนออนซอน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีส่วนสำคัญในถ่ายทอดปรัชญาแห่งความสมดุลในสวนนี้ เป็นมรดกให้เขาให้นำไปสานต่อ 

โดยสาระสำคัญของปรัชญาดังกล่าว สะท้อนไปสู่ ‘การปลูกชีวิต’ โดยเฉพาะชีวิตแห่งพืชพันธุ์ให้สามารถเกื้อกูลพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยองค์ประกอบ ดิน, น้ำ, ลม และ แสงแดดที่เหมาะสม จนเกิดความสมบูรณ์ตามรูปแบบของธรรมชาติ  

มาถึงตรงนี้ รู้สึกได้ว่า ปรัชญา ดังกล่าวที่สะท้อนมาสู่จุดเริ่มต้นของ ‘สมดุล’ ช่างดูคุ้นเคย...

ใช่แล้ว!! เพราะนี่คือปรัชญาเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนตามแนวทาง ‘ศาสตร์พระราชา’

‘สมดุล’ ไม่ใช่สังคมสีเขียวที่ไร้แก่นสาร หรือแค่วาดลานแลนด์สเคปเขียวๆ ให้คนรู้สึกถึงคอนเซปต์แบบเขียวๆ ให้รู้สึกว่าอินเทรนด์ แต่ ‘สมดุล’ ถูกปัดหมุดด้วยความคิดของผู้ร่วมก่อตั้ง ที่สอดรับกับรอยต่อแห่ง ‘ศาสตร์พระราชา’ ซึ่งมิได้ปฏิเสธเทคโนโลยี เพียงแต่ไม่ยอมรับการครอบงำจากเทคโนโลยี  

นัย นี้น่าสนใจ!! เพราะ ‘สมดุล’ รู้จักการควบคุมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของการเป็นเกษตรสมดุล โดยผสานองค์ความรู้จากปรัชญาของการเกษตรไทย กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยการทำให้เกิดสมดุลของดิน, น้ำ และสิ่งแวดล้อม นั่นคือ นำเอาศาสตร์แห่งดิน, ศาสตร์แห่งน้ำ และ การเคลื่อนคล้อยของลม แสงแดด และอุณหภูมิที่เหมาะสม มาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ คล้ายเป็นนวัตกรรม...หากแต่เป็นนวัตกรรมจากรากเหง้าเกษตรไทย ที่อุดมด้วยองค์ความรู้อันหลากหลายอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สวนสมดุล ยังปฏิเสธสารเคมีทุกชนิด โดยผืนดินทุกตารางนิ้ว จะถูกปรับปรุงคุณภาพให้ปลอดภัยทั้งสารพิษ สารเคมี อย่างน้ำที่ใช้ในสวน ก็จะผ่านการกรองด้วยระบบกรองตามมาตรฐานคุณภาพที่สวนฯ กำหนดขึ้น ทำให้ ต้นไม้ พันธุ์พืช และผักทุกชนิด จึงปลอดภัยจากมวลสารที่อาจเป็นพิษภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช...ทุกสิ่งล้วน ‘ออแกนิค’ (Organic)

ในแง่ของพลังงาน สวนสมดุลแห่งนี้ ได้สมดุลด้านพลังงานผ่าน ‘พลังงานสะอาด’ (Green Energy) ด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มาเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ใช้ในทุกพื้นที่ของสวน

จากข้อมูลช่วงย้อนไปราว 5 ปีก่อน อติคุณ เล่าว่า “เราเริ่มต้นด้วยการติดตั้งแผง Transparent PV Solar Cell จำนวน 208 แผงแบบ on-Grid บนหลังคาที่จอดรถหน้าสวน มีขนาดกำลังติดตั้ง 60.14 kw สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ปีละ 88,454 Kwh หรือ 88,454 หน่วยนั่นเอง ด้วยสมการนี้เราจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 391,090.50 บาท หรือตกเดือนละ 32,590.87 บาท จึงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงในทางหนึ่ง ขณะเดียวกันยังสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซหลักและตัวการสำคัญที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนลงได้ปีละ 68.90 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ที่มีอายุกว่า 10 ปี จำนวน 1,034 ต้นต่อปี หรือเทียบเท่ากับพื้นที่ป่าสีเขียวขนาด 184 ไร่ และเทียบเท่ากับการลดการเผาถ่านหินจำนวน 30,771.90 กิโลกรัมต่อปี หรือเท่ากับการขับรถเป็นระยะทาง 244,696 กิโลเมตรต่อปี”

อติคุณ เผยอีกว่า ผลพวงจากพลังงานสะอาดที่ผลิตจากแสงอาทิตย์นี้ ได้ถูกนำไปใช้ในร้านกาแฟ ‘Agro  forestry Café’ ไม่ว่าจะในส่วนของระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟ และอุปกรณ์ประกอบการปรุงอาหารทุกชนิด เป็นการการันตีว่า ทุกเมนูกาแฟ หรือ อาหาร รวมทั้งเครื่องดื่ม น้ำดื่มต่างๆ ที่ลูกค้าได้เข้ามาใช้บริการ 

เรียกได้ว่าทุกโสตสัมผัสในบรรยากาศแห่ง สวนสมดุล ผู้คนจะมั่นใจ และสบายใจได้ว่า สิ่งแวดล้อมที่ปรากฏรายล้อมรอบพวกเขา นอกจากจะกอปรไปด้วยวัตถุดิบที่เป็นออแกนิคแล้ว ยังปราศจากมลพิษ อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย

“เราอยากให้สวนแห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยต้นทุนด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทย ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงในอาชีพ เกษตรกรไทยไม่ควรต้องอ่อนด้วย ต้อยต่ำ อีกต่อไป” นี่คืออีกหนึ่งฝันของ อติคุณ ที่ไม่ใช่แค่เนรมิต ‘สมดุล’ ขึ้นมาเป็นเพียงแค่ที่พักผ่อนหย่อนใจ

ในขณะที่สภาวะเรือนกระจกกำลังคุกคามโลกของเราอยู่ แค่ธุรกิจที่มองเห็นและหยิบจับวัฏจักรแห่ง Green มาไหลเวียนแค่ธุรกิจเดียว ยังสร้างผลลัพธ์ในการเซฟโลกของเราได้มากขนาดนี้ แล้ว ‘คุณ’ จะไม่ลองเริ่มหันมาสร้าง ‘สมดุล’ ให้กับโลกกันบ้างหน่อยหรือ?

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ ผู้ทรงพระราชกรณียกิจสำคัญ 8 ด้านเพื่อแผ่นดินสยาม

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ ถือเป็นพิธีสำคัญสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เหตุการณ์ครั้งสำคัญในอดีตถูกบันทึกลงในสื่อหลายประเภทให้คนรุ่นหลังใช้ศึกษา ในที่นี้ยกตัวอย่างด้วยการย้อนกลับไปที่ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 7

โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2469) ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลู

ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์ประมุขในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศโดยสมบูรณ์ ทุกกระบวนการในพระราชพิธีมีความหมาย และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลำดับการพระราชพิธี ตั้งแต่ขั้นการเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย

ช่วงเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ

- การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
- การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
- การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก
- การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก
- พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร
- การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ
- การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี
- การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม

รู้จัก ‘สวนสมดุล’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแห่งอัมพวา บอกทุกที่มา ‘อาหาร-พลังงาน’ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องได้รู้

บรรยากาศริมน้ำแม่กลองที่ไหลเอื่อยยามสาย ช่างดูเงียบสงบงดงามเหลือเกิน เมื่อได้เมียงมองจากพื้นที่ร่มรื่นใต้เงาไม้ของ ‘สมดุล’ (Somdul Agroforestry Home) สถานที่ที่ผสมผสานทั้งความเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ศูนย์เรียนรู้ และวนเกษตร ซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

‘สมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ เปรียบตนเองเป็นบ้านที่มีความฝันจะบาลานซ์ไลฟ์สไตล์ ระหว่างชีวิตคนเมืองกับธรรมชาติให้อยู่ตรงกลาง ผ่านการทำเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ แบบเกษตรอินทรีย์ โดยปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการบริการ อาหาร, เครื่องดื่ม, เบเกอรี ผลิตภัณฑ์แปรรูปในโซนคาเฟ่ เปิดโอกาสให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ผ่านการศึกษาภาคปฏิบัติในกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ และถ่ายทอดวิถีชีวิตองค์ความรู้ของศาสตร์วนเกษตร เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

จุดหมายปลายทางแห่งนี้ เริ่มต้นจากนักศึกษาในชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเอแบค จำนวน 6 คน ได้แก่ เอี่ยม-อติคุณ ทองแตง, เม-เมธาพร ทองแตง, อู๋-บุญชู อู๋, กันต์-กันต์ คงสินทรัพย์, ไอซ์-รังสิมันตุ์ ตันติวุฒิ และเจมส์-พงศกร โควะวินทวีวัฒน์ ซึ่งทุกคนมีความสนใจในงานด้านอนุรักษ์ และใช้พื้นที่ที่มีทำการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง จนกระทั่งมาลงตัวที่ ‘วนเกษตร’ หรือ การเกษตรบนพื้นที่ป่า ก่อนจะขยายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ก่อตั้งอธิบายว่า “ทุกการบริโภคในสมดุล ล้วนมีที่มาที่ไป ตั้งแต่กระบวนการผลิต อาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในคาเฟ่ จะถูกอธิบายว่ามาจากที่ไหนบ้าง มีความปลอดภัยอย่างไร เรามีฟาร์มเทเบิลส่วนหนึ่งที่ผลิตเอง และมีเครือข่ายเกษตรที่เรามั่นใจได้ในความปลอดภัย อาหารมีที่มาที่ไปอย่างไร อาหารส่วนหนึ่งเป็นออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี และนี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร เพราะเราเน้นเรื่องความจริงใจ ที่มาของอาหารที่จับต้องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องรู้...

“เราเน้นใช้จาน แก้ว เพราะล้างได้ ใช้กระดาษ หลอดย่อยสลายได้ รวมถึงกระป๋อง อลูมิเนียม เพราะนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยมีจุดแยกขยะและเครื่องบีบอัดกระป๋อง ส่วนพลาสติกที่จำเป็นจริงๆ จากพวกแพ็คเกจ เราต้องคัดแยก ไม่ได้ไปทิ้งขยะรวมกับขยะทั่วไป โดยแยกไปรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ใหม่ ส่วนขยะที่รีไซเคิลยากจริงๆ เราส่งไปโครงการที่ผลิตพลาสติกเพื่อแปรรูปมาทำพลังงาน”

ไม่เพียงบทบาทในการมอบความสุขให้กับผู้มาเยี่ยมเยียน ‘สมดุล’ เท่านั้น หมวกอีกใบของ ‘สมดุล’ ยังให้ความสำคัญกับการเป็น ‘พลเมืองสีเขียว’ ที่คอยช่วยเหลือชุมชนโดยรอบผ่านองค์ความรู้ที่ได้จากคอนเนกชันของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม

“เราเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่หันมาทำธุรกิจ จึงอยากทำธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน และการอนุรักษ์ เราเปิดที่นี่ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนทำอย่างไร โดยมีคอนเนกชันกับกลุ่มอนุรักษ์หลายกลุ่ม ก็นำข้อมูลมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้เรียนรู้...

“อย่างแนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหนึ่งในแกนกลางสำคัญของการขับเคลื่อน เราก็ทำในรูปแบบวนเกษตร โดยใช้ภูมิปัญญาเกษตรแบบร่องสวน ทำปุ๋ยเอง เน้นเรื่อง Zero Waste โดยใช้อาหารที่เหลือจากคาเฟ่ ขยะเศษอาหาร จะนำไปแยกน้ำ แยกกาก เอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก และมีวิธีการจัดการการแยกขยะ เพราะขยะที่ขายไม่ได้เทศบาลจะนำไปฝังกลบ เราจึงมีเป้าหมายว่าขยะจะต้องนำไปถูกฝังกลบให้น้อยที่สุด ด้วยการคัดแยกขยะ
ขยะ เน้นเรื่องที่มาและที่ไป บรรจุภัณฑ์แบบไหนให้ปลอดภัยและจัดการง่าย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เป็นต้น” 

อีกหนึ่งในไฮไลต์ที่ อติคุณ มักจะนำเสนอต่อทุกคนที่มาเยือน ‘สมดุล’ คือ การให้ผู้มาเยือนได้มาศึกษาเรียนรู้ การเลี้ยง ‘ผึ้งชันโรง’ แมลงตัวจิ๋วที่เสมือนเป็นเครื่องมือรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับ ‘ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว’ (Stingless bees) เป็นแมลงผสมเกสรจำพวกผึ้งแต่ไม่มีเหล็กไน ‘ชันโรง’ ถือเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งป่า และยังให้น้ำผึ้งได้อีกด้วย โดยน้ำผึ้งและเกสรของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพราะมีปริมาณน้อยกว่า และหายาก เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งปกติ 

ความสำคัญที่มีต่อการเกษตรของชันโรงจะช่วยผสมเกสรพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นานโดยไม่จับเกาะอะไร ทำให้กระพือปีกได้นานบินร่อนลงเก็บเกสร และดูดน้ำหวานเป็นไปอย่างนุ่มนวลไม่ทำให้กลีบดอกช้ำ ขณะเดียวกัน ‘ผึ้งชันโรง’ ยังเป็นแมลงที่สามารถต้านทานเคมีได้ต่ำ เมื่อมีผึ้งชนิดนี้ในพื้นที่ไหนมี ก็เป็นการการันตีเรื่องระบบนิเวศได้ว่า ไม่มีสารเคมี สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและดิน

หากใครที่อยากสัมผัสกับเสน่ห์แห่งวิถีธรรมชาติที่ปราศจากมลภาวะอย่างแท้จริง การเจียดเวลามา ‘สมดุล’ ชีวิตที่ ‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home ก็อาจจะทำให้คุณได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการพลิกตนให้ผู้พิทักษ์สังคมจากภัยคุกคามของภาวะเรือนกระจกได้ไม่มากก็น้อย ก็เป็นได้...

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 2’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้าง ‘ยุคทองของวรรณคดี’

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ มีพระนามเดิมว่า ‘ฉิม’ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 2 ของสยามในสมัยราชวงศ์จักรีและทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 46 ตามประวัติศาสตร์ไทย ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา

ต่อมาพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งภายหลังเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี หลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทั้ง 2 พระองค์มีพระราชโอรสร่วมกัน 3 พระองค์ พระองค์ใหญ่ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่าเจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รองลงมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 40 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ แต่ให้คงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม มิให้ขึ้นไปประทับ ณ พระราชวังบวรฯ ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบทูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่าขอให้ลูกเธอได้อาศัยในพระราชวังบวรฯ ต่อไป ทั้งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว ไม่ช้านานเท่าใดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็จะได้เสวยราชสมบัติ การย้ายวัง ควรไว้ย้ายเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังทีเดียว

ถึงปี พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า…

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติ อาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ หริสกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หรหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณ อกนิฐฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร

โดยรัชสมัยของพระองค์ทรงสงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง รัชสมัยของพระองค์เป็น ‘ยุคทองของวรรณคดี’ เนื่องจากพระองค์ทรงอุปถัมภ์กวีหลายคนในราชสำนัก และพระองค์เองก็มีชื่อเสียงในฐานะกวีและศิลปิน กวีที่โดดเด่นที่สุดในราชสำนักคือสุนทรภู่

23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ทรงสถาปนา ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ รร.ต้นแบบแห่ง ‘หลักสูตร-วิธีการสอน’ ที่เผยแพร่ไปทั่วไทย

‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 131 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

‘วีวี่ มิสแกรนด์ร้อยเอ็ด’ โร่ขอโทษ ปมแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ หลังร่วมปาร์ตี้วันเกิด ‘อิงฟ้า’ สัญญาจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้

(22 ก.พ. 67) กรณีเฟซบุ๊ก ‘ว่างจัด x นางงาม’ โพสต์ภาพหญิงแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ ถือพัดสีทอง ระบุข้อความว่า “ใส่สบงแล้วทรงพลัง มิสแกรนด์ร้อยเอ็ด ร่วมงานปาร์ตี้ วันเกิดอิงฟ้า วราหะ” ซึ่งภาพดังกล่าว มีบางส่วนที่หัวเราะขบขันกันการแต่งกายเป็นพระสงฆ์ แต่อีกฝ่ายก็ดรามาอยู่ไม่น้อยว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ซึ่งต่อมามีการลบคลิปภาพต้นฉบับออก ก่อนที่ ‘วีวี่ ฐาสุปางค์ เดชะอัครอนันต์’ มิสแกรนด์ร้อยเอ็ด 2024 ได้ออกมายกมือไหว้ขอโทษ เผยผ่านอมรินทร์ ทีวี รับผิดกับการกระทำ เพราะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย สร้างความไม่พอใจให้พี่น้องชาว จ.ร้อยเอ็ด

วีวี่เผยว่าตนขออภัยไว้ ณ ที่นี้อย่างสุดซึ้ง สัญญาว่าจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว และจะให้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ตนได้ใช้ความคิด ใช้วิจารณญาณในการที่จะทำคอนเทนต์ออกมา ครั้งนี้ตนกราบขออภัย ขอให้ผู้ใหญ่ทุกท่านให้อภัยตักเตือน สั่งสอนตน การประกวดมิสแกรนด์ในครั้งนี้ มีความตั้งใจมากที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับพี่น้องชาว จ.ร้อยเอ็ด ตนสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ‘รัชกาลที่ 9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จ.เชียงใหม่ ช่วยอำนวยประโยชน์ด้าน ‘ชลประทาน-ผลิตไฟฟ้า-บรรเทาอุทกภัย’

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า ‘เขื่อนแม่งัด’ ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำหรับทางเข้าเขื่อนอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร

โดยเขื่อนอเนกประสงค์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน ซึ่งการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เช่นกัน

‘ลำไย ไหทองคำ’ ประกาศรับสมัคร ‘แดนเซอร์ชายแท้’ ชาวเน็ตตาลุกวาว!! หลังการันตีรายได้สูงสุดเฉียด ‘แสน’

(21 ก.พ. 67) ทำเอาหลายๆ คนถึงกับตาโต เมื่อได้เห็นประกาศการรับสมัครแดนเซอร์ชายแท้ของ ‘ลำไย ไหทองคำ’ พร้อมรายได้ที่จะได้รับนั้นค่อนข้างสูงมาก ขนาดนักร้องรุ่นใหญ่อย่าง ‘มอส ปฏิภาณ’ ยังสนใจไปขอสมัคร โดยสาวลำไยได้โพสต์ประกาศรับสมัครว่า…  

"ลำไย ไหทองคำ รับสมัคร DANCER ชายแท้ 2 คน

>> คุณสมบัติ
- ชายแท้ อายุระหว่าง 20-35 ปี
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการเต้น
- ไลน์เต้นดี ชัดเจน แข็งแรง เต้นได้หลายแนว
- นิสัยดี มีวินัย ขยัน อดทน สู้งาน สามารถเดินทางไปงานคอนเสิร์ตได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ติดภารกิจใดๆ
- สามารถอุ้มหรือยกแดนเซอร์หญิงได้ (จะพิจารณาเป็นพิเศษ)

>> วิธีการสมัคร
- แอดไลน์ สแกน QR Code ด้านล่าง
- ส่งรูปถ่ายหน้าตรง (กล้องสด) และคลิปสเต็ปการเต้นของตนเองมาที่ไลน์ เพื่อทำการ
คัดเลือก
- ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ทางค่ายจะนัดมา Audition รอบสุดท้ายเพื่อทำการตัดสิน

(การันตีรายได้ 6x,xXX - 1xX,xXX บาท/เดือน)" 

ทำเอาเหล่าบรรดาแฟนคลับตาลุกวาวกันเป็นแถว และต่างเข้ามาคอมเมนต์ขอสมัครอย่างล้นหลาม

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ‘รัชกาลที่ 6’ ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ประกาศยกเลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455)

รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งก่อนหน้าที่จะใช้พุทธศักราชและรัตนโกสินทร์ศก ประเทศไทยเคยใช้ ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) และ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) มาก่อน

นอกจากนี้ ประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว เริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ส่วนที่ศรีลังกาและเมียนมา เริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาจึงเร็วกว่าไทย 1 ปี

‘โจอี้ ภูวศิษฐ์’ ยินดี!! ให้แฟนคลับหน้าเวทีถ่ายรูป ‘ฟรี’ ย้ำ!! ไม่ต้องแนบเงิน เพราะทุกคนเสียค่าบัตรค่าโต๊ะมาดูแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘Joey Pws’ ของ โจอี้ ภูวศิษฐ์ อนันต์พรสิริ นักร้องหนุ่มชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ถึงแฟนคลับหน้าเวที โดยเจ้าตัวยินดีให้ถ่ายรูปได้ฟรีโดยไม่ต้องให้เงิน

‘โจอี้’ ระบุข้อความว่า "ฝากแฟนๆ นะครับ ถ้าจะถ่ายรูปหน้าเวทีกับผมถ้าไม่ได้เล่นกีตาร์หรือพิณ ให้เปิดกล้องไว้แล้วยื่นมาได้เลยครับ ไม่ต้องให้เงินแลกถ่ายรูปเลยนะครับ ผมเต็มใจถ่ายให้ทุกคนแบบไม่รับตังค์ แค่ทุกคนเสียค่าบัตรค่าโต๊ะมาดูผม ผมก็ดีใจและเป็นเกียรติมากๆ แล้วครับ รักทุกคนนะครับ"

อย่างไรก็ตาม มีแฟนคลับแห่คอมเมนต์ชื่นชมศิลปินกันเป็นจำนวนมาก เช่น ศิลปินน่ารักที่สุด, นี่แหละที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของแฟนคลับ รักและจะเป็นแฟนคลับตลอดไปครับ, ศิลปินที่ไม่คิดว่าเป็นศิลปินต้องแบบนี้ครับ, น่ารักกับแฟนเพลงที่สุด, คือน่ารักแท้ อยากไปดูคอนเสิร์ตโจอี้ เป็นต้น

20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันทนายความ’ หนึ่งในสถาบันด้านกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทั่วประเทศถือเป็นวันทนายความ

วันนี้ในอดีต เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นวันที่ทนายความในขณะนั้นมีแนวความคิดริเริ่มที่ต้องการให้วิชาชีพทนายความ ควรจะมีสถาบันที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพทนายความ และเป็นอิสระควบคุมดูแลกันเอง จึงได้ประชุมกันก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขึ้น โดยจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

ต่อมาสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันใช้ความเพียรพยายามเรียกร้องและผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติทนายความเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2528 จึงประสบผลสำเร็จออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528 และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

ในวันทนายความของทุกปีสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแสดงพลังสามัคคี และแสดงความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทนายความ

19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ‘ไทย-ลาว’ หยุดยิงใน ‘สมรภูมิร่มเกล้า’ ความขัดแย้งจากข้อพิพาทเส้นแบ่งดินแดน

วันนี้เมื่อ 36 ปีก่อน ‘ไทย-ลาว’ ประกาศหยุดยิงใน ‘สมรภูมิร่มเกล้า’ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ

ความขัดแย้งระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพรานไทยและลาวหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2530 เมื่อทหารลาวได้เข้าทำลายรถแทรกเตอร์ของเอกชนไทย ทำให้คนงานเสียชีวิตหนึ่งราย ในพื้นที่ซึ่งลาวอ้างว่าอยู่ในเขตตาแสงของแขวงไชยะบุรี พร้อมระบุว่าบ้านร่มเกล้าอยู่เข้าลึกไปในเขตลาว 2 กิโลเมตร

ด้านกองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งกองกำลังหลักเข้าผลักดันกองกำลังลาวที่เข้ามายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง โดยวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า ยุทธการบ้านร่มเกล้า ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด

ทหารไทยได้รุกตอบโต้ยึดที่มั่นต่างๆ ที่ลาวครองไว้กลับมาได้เป็นส่วนมาก รวมทั้งได้ทำการโอบล้อมบริเวณตีนเนิน 1428 ไว้ได้ แต่ไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนินซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้ ซึ่งไทยต้องเสียเครื่องบินรบแบบเอฟ-5 หนึ่งลำ และโอวี-10 อีกหนึ่งลำพร้อมกับชีวิตทหารอีกนับร้อยนายในการศึกครั้งนี้

หลังการสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 นายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาวในขณะนั้น ได้ส่งสาส์นถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอให้หยุดยิง พร้อมตั้งคณะกรรมการพิสูจน์เขตแดน และติดต่อสหประชาชาติให้ช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งพล.อ.เปรมตอบรับ นำไปสู่การเจรจาและได้ข้อตกลงโดยทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เวลา 08.00 น. และถอยจากแนวปะทะฝ่ายละ 3 กิโลเมตร

18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ‘ไคลด์ ทอมบอห์’ ค้นพบ ‘ดาวพลูโต’ อดีตดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 เป็นวันค้นพบ ‘ดาวพลูโต’ อดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ของระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งถูกค้นพบโดย ‘ไคลด์ ทอมบอห์’

ดาวพลูโต (Pluto) เป็นอดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นวัตถุแถบไคเปอร์ชิ้นแรกที่ถูกค้นพบ มีขนาดใหญ่และมีมวลมากที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดาดาวเคราะห์แคระที่รู้จักในระบบสุริยะ และยังเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 และมวลมากเป็นอันดับที่ 10 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์

ดาวพลูโตมีลักษณะเหมือนกับวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน ประกอบด้วยหินและน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ มีมวลและปริมาตรประมาณ 1 ใน 6 และ 1 ใน 3 ของดวงจันทร์ตามลำดับ ซึ่งวงโคจรของดาวพลูโตมีความเยื้องศูนย์กลางมาก อยู่ที่ 4.4-7.4 พันล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ดาวพลูโตมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 32.6 หน่วยดาราศาสตร์

ดาวพลูโตมีดาวบริวารที่ 5 ดวง ได้แก่ แครอน, สติกซ์, นิกซ์, เคอร์เบอรอส และไฮดรา ซึ่งในบางครั้งดาวพลูโตและแครอนถูกจัดเป็นระบบดาวคู่ เนื่องจากจุดศูนย์กลางมวลของวงโคจรไม่ได้อยู่ในดาวดวงใดดวงหนึ่งเฉพาะ ทำให้ไอเอยูยังไม่มีการให้คำนิยามของระบบดาวเคราะห์แคระคู่อย่างเป็นทางการ และแครอนกลายเป็นดาวบริวารของดาวพลูโตอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559

ชื่อของดาวพลูโตถูกตั้งขึ้นตามชื่อของเทพเจ้าแห่งยมโลก ซึ่งถูกเสนอโดยนักเรียนหญิงวัย 11 ปีในออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2473 โดยสมาชิกทุกคนได้ลงคะแนนให้ชื่อพลูโตทั้งหมดและได้ถูกประกาศในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2473

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ชื่อดาวพลูโตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้วอลต์ ดิสนีย์ได้รับแรงบันดาลใจ โดยเขาได้เสนอชื่อเพื่อนสุนัขของมิกกี้ เมาส์ว่า พลูโต

ทั้งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ประกาศลดขั้นของดาวพลูโตให้เป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์แคระ จึงทำให้ระบบสุริยะเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวงเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top