Saturday, 11 May 2024
ECONBIZ NEWS

‘รมว.ปุ้ย’ มอบรางวัลแด่ ‘เกษตรกรชาวไร่อ้อย-ผู้ประกอบโรงงาน’ สอดรับนโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

(22 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านรางวัลที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้นโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

โดยในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล รวม 74 รางวัล ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จของทุกท่านที่ถือได้ว่าเป็นบุคคลและองค์กรต้นแบบและเชื่อมั่นว่างานในวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

สำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 9 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย…

>> 1. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น แบ่งเป็น 5 ประเภท รวม 47 รางวัล

1) รางวัลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
2) รางวัลการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
3) รางวัลการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง
5) รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย

>> 2. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น แบ่งเป็น 4 ประเภท รวม 27 รางวัล

1) รางวัลโรงงานน้ำตาลยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษมอบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น ลำดับที่ 1 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ได้แก่ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม
2) รางวัลอ้อยรักษ์โลก
3) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
4) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้ว มีตัวเลขอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 130 วัน รวม 82.16 ล้านตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57.81 ล้านตัน คิดเป็น 70.36% และอ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตัน คิดเป็น 29.64% ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (Yield) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 106.76 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.35 C.C.S. ผลผลิตอ้อยรวมลดลงจากปีก่อน 11.73 ล้านตัน คิดเป็น 12.49% ทั้งนี้ ก่อนเปิดหีบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์แนวโน้มจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 82.40 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากปีก่อน ๆ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอบคุณ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่มีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2566/67 ยังคงมีปริมาณอ้อยไฟไหม้อยู่ในระดับที่สูง ในฤดูการผลิตปีต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้วางแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลดการเผาอ้อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เช่น…

1) การนำระบบ AI มาจำแนกอ้อยเผาและอ้อยสดก่อนเข้าหีบ
2) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยสด
3) จัดหาเครื่องสางใบอ้อย
4) มาตรการทางกฎหมาย
5) ปรับปรุงการคำนวณราคาอ้อยให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพการผลิตอ้อย
6) ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อย
7) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดการเผาอ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก

“ข้อมูลจาก สอน. คาดว่าฤดูการผลิตปีต่อไป จะมีปริมาณอ้อยสดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า 240,000 ราย และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย

เปิดวิสัยทัศน์ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ ชู 5 ภารกิจสำคัญ สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าไทย

เมื่อไม่นานมานี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

ทั้งนี้ กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

‘สนพ.’ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น ‘5 แผนพลังงานชาติ’ คาด!! แล้วเสร็จ-พร้อมยื่น ครม.พิจารณาภายใน ก.ย.นี้

‘แผนพลังงานแห่งชาติ’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะกำหนดทิศทางว่า ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการพัฒนา และวางนโยบายด้านพลังงานไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเมื่อโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ‘พลังงานสะอาด’ เป็นกุญแจสำคัญที่พาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ควบคู่กับการเสริมศักยภาพเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นที่จับตามองว่า แผนพลังงานที่จะออกมาในเดือนกันยายนนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

>> 1 แผนหลัก 5 แผนรอง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ‘แผนพลังงานชาติ’ (National Energy Plan 2024) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 แผน ดังนี้ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งประเมินว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในกันยายน 2567

>> PDP 2024 เพิ่มพลังงานสะอาด

สำหรับแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ความมั่นคงของระบบ 2.ราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และ 3.สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงได้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิมของแผน PDP 2018 เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย

โดยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานโซลาร์จะมีสัดส่วนเยอะที่สุด ตามด้วยพลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล รวมถึงจะบรรจุเรื่องการใช้เทคโนโลยี อย่างการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage)

ด้าน นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับทางสมาคมพลังงานลมบ้าง ถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานลมในแผน PDP 2024 จากเดิมที่ระบุไว้ในแผน PDP 2018 ที่มีประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันก็จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 1,500 เมกะวัตต์ และกำลังรอเปิดเพิ่มอีกที่เหลือจนครบ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะความปลอดภัยที่ต้องหารือกัน

นอกจากนี้ แผน PDP ฉบับล่าสุดยังเพิ่มพลังงานทางเลือกใหม่อีก 5% อาทิ พลังงานไฮโดรเจนที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่า หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ที่หายไปจากแผน PDP 2018 ก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งตั้งกำลังผลิตไว้ประมาณ 70 เมกะวัตต์ พร้อมบรรจุเป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ในแผนฉบับใหม่นี้ด้วย

>> รักษาระดับไฟฟ้า Base Load

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ณ วันที่ 8 เมษายน 2567 พบว่า ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ไฟพีก) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 20.54 น. มีค่าเท่ากับ 34,656.4 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับไฟพีกระบบที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน มีค่าเท่ากับ 34,826.5 เมกะวัตต์ แต่ทาง สนพ.คาดว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 35,000-36,000 เมกะวัตต์

ดังนั้นกำลังผลิตของพลังงานฟอสซิลที่เป็นโรงไฟฟ้า Base Load ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงของระบบ รวมถึงรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากในช่วงกลางวันเป็นช่วงกลางคืนมากขึ้น โดยปรับลดสัดส่วนกำลังผลิตลงเหลือประมาณ 30%

“เรายังไม่สามารถระบุกำลังผลิตทั้งหมดของพลังงานหมุนเวียน เพราะไฟฟ้าที่อยู่ในระบบกับไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริงต่างกัน ประเมินว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริง 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่อยู่ในระบบ ซึ่งเราต้องผลิตให้พอดีกับความต้องการใช้ไฟให้ได้ ถ้าสมมุติว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องทำไฟฟ้าในระบบให้ได้ 30,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย

เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์ที่ไม่สามารถผลิตไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องอาศัยปัจจัยดินฟ้าอากาศ ทำให้เราต้องมาประเมินว่า ไฟฟ้าที่เราสามารถพึ่งพาได้จากพลังงานหมุนเวียนมีเท่าไหร่” นายวีรพัฒน์ กล่าว

>> จ่อเพิ่มสัดส่วน RE อีก 40%

รายงานสถิติพลังงานประเทศไทย 2566 ระบุสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ปี 2565 ว่า เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ 1.ก๊าซธรรมชาติ 114,637 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 53% 2.ลิกไนต์/ถ่านหิน 35,523 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 17% 3.การนำเข้า 35,472 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 16%

4.พลังงานหมุนเวียน 21,876 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 10% 5.พลังงานน้ำ 6,599 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 3% และ 6.น้ำมัน 1,731 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 0.8% โดยประมาณ

โดยสามารถแยกแหล่งที่มาพลังงานหมุนเวียนในระบบของการไฟฟ้าปี 2565 ดังนี้ ไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 338.73 เมกะวัตต์

ขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 2,077.71 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าพลังงานน้ำจากในประเทศอยู่ที่ 123.80 เมกะวัตต์ โดยมีแผนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งบรรจุไว้ในแผน PDP 2018 กำลังผลิตอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ ปัจจุบันติดตั้งสำเร็จแล้วที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิตรวม 45 เมกะวัตต์ ส่วนการนำเข้าพลังงานน้ำอยู่ที่ 4,461.903 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีไฟฟ้าจากพลังงานลมมีกำลังผลิตรวม 1,502.31 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์อยู่ที่ 2,917.33 เมกะวัตต์

>> ส่องพลังงานหมุนเวียนรายภาค

จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พบว่า สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 รายภูมิภาค มีความแตกต่างกันตามศักยภาพการผลิตและวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต

โดยสามารถแยกได้ดังนี้ ภาคเหนือมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 1,101.80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานโซลาร์ 48% พลังงานชีวมวล 41% พลังงานลม 5% พลังงานน้ำ 5% และพลังงานก๊าซ 1%

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตก มีกำลังผลิตรวม 2,614.87 เมกะวัตต์ ซึ่ง 72% ของกำลังผลิตรวมมาจากพลังงานโซลาร์ ส่วนพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 23% ตามด้วยพลังงานก๊าซ 3% และพลังงานน้ำ 2%

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังผลิตรวม 2,575.68 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานลมคิดเป็นสัดส่วน 50% ตามมาด้วยพลังงานชีวมวล 27% พลังงานโซลาร์ 18% พลังงานก๊าซ 4% และพลังงานน้ำ 1%

และสุดท้ายภาคใต้ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 661.53 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 48% พลังงานลม 22% พลังงานก๊าซ 22% พลังงานโซลาร์ 6% และพลังงานน้ำ 2%

ดังนั้น หากแผน PDP 2024 ต้องการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2580 นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 40% นับเป็นความท้าทายของภาคพลังงานไทยครั้งใหญ่ที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการลงทุนผลิตพลังงานหมุนเวียนในแต่ละภูมิภาคด้วย

‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ’ หนุนสองล้อไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจ ใต้โครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงครั้งที่ 3

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเดินหน้าจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ไม่นานมานี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) นำโดย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เเละอาจารย์สมมาตร ทองคำ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดงานเเถลงข่าวโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสปอร์ตคอมแพล็ค มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ร่วมกับทาง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยในปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งการจัดเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ เล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่สามารถต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสอดรับกับภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายภาครัฐ”

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในปีนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย เเละ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งในวันนี้เราได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ด้านความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ วางรากฐาน และแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย ในการจัดงานการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ที่ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดการเเข่งขันขึ้นเป็น ครั้งที่ 3 เเล้ว โดยจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นสถานที่จัดงานการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลง ซึ่งในปีนี้ได้รับความสนใจจากหลายทีมสมัครเข้าร่วมการเเข่งขัน โดยจะมีขึ้นในวันที่ 26 - 27 เมษายน นี้ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งการจัดงานเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ทางสมาคมฯ มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันการปลูกฝังเเละผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้อนสู่ตลาดโลก”

โดยในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการลงนามระหว่าง 2 ฝ่าย ได้เเก่ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้วัตถุประสงค์…

1. เพื่อการร่วมมือกันในการร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
2. เพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาสมรรถนะ กำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
3. เพื่อการร่วมมือกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วางรากฐานและแนวทางในการ

ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการนั้น ตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวนี้ มีระยะเวลา 3 ปี มีผลนับตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้

เกี่ยวกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) เป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 379 รายโดยทางสมาคมมีการกำหนดการจัดการประชุม ในทุกๆ เดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ www.evat.or.th 

'พีระพันธุ์' ลุยรื้อโครงสร้างพลังงาน ดันไอเดียรัฐบาลกำหนดราคาน้ำมันเอง ลั่น!! ตลาดโลกเป็นเรื่องของ 'ผู้ประกอบการ-รัฐบาล' ไม่ควรดึง ปชช.มาร่วมแบก

(21 เม.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศราคาน้ำมันที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการเอง ว่า ตนจะทำอย่างนั้น เมื่อไม่สามารถแยกตัวออกจากตลาดโลกได้ แต่สามารถแยกประชาชนออกจากตลาดโลกได้ ตลาดโลกจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการและรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับประชาชน นั่นคือสิ่งที่ตนตั้งเป้าไว้ ซึ่งขณะนี้มีช่องทางในการดำเนินการแล้ว และได้ประชุมอยู่ทุกสัปดาห์ จะดำเนินการได้ในรัฐบาลนี้ในช่วงที่ตนอยู่ในตำแหน่งรมว.พลังงาน

เมื่อถามว่าจะเป็นเรื่องยากหรือไม่เพราะมีกลุ่มนายทุน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ถึงจะยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะไม่มีอะไรง่ายอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือยากแต่เป็นเรื่องที่มีความตั้งใจจะทำ ดังนั้นถ้าเราตั้งใจจะทำ เรื่องยากก็เป็นเรื่องง่าย ถ้าไม่มีความตั้งใจต่อให้ง่ายแค่ไหนก็ทำไม่ได้

เมื่อถามว่าราคาน้ำมันดีเซลจะมีการตรึงราคาที่ลิตรละ 30 บาทหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นปัญหาของระบบโครงสร้างพลังงานปัจจุบัน ซึ่งตนพูดมาตั้งแต่ตอนแรกที่รับหน้าที่ว่าไม่พอใจกับระบบและโครงสร้างพลังงานเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องแก้ไข แต่ระหว่างที่แก้ไขก็ต้องยอมรับว่าเป็นโครงสร้างเดิมมาถึง 51 ปี และที่ผ่านมา 51 ปีไม่มีใครคิดจะปรับปรุงและแก้ไขเพื่อประชาชน แต่ตนเองจะลงมือทำ และกำลังทำอยู่ ซึ่งจะทำให้ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงการขยายมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาทให้ประชาชนและผู้ประกอบการหรือไม่ ว่า เดิม ก่อนรัฐบาลชุดนี้ การรักษาระดับราคาน้ำมัน ใช้กลไกหลักอยู่ 2 กลไกล ถือเป็นอำนาจของกองทุนน้ำมัน กลไก 1 คือการกำหนดเพดานภาษีสรรพสามิต และภาษีต่างๆที่จัดเก็บกับน้ำมัน ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ไม่ใช่ของกระทรวงการคลัง แต่เมื่อกำหนดเพดานแล้ว คนมีอำนาจเก็บภาษี คือกระทรวงการคลัง

ส่วนกลไกที่ 2 คือ เงินจากกองทุนน้ำมันฯ แต่เงื่อนไขของกฎหมายปัจจุบัน ไปตัดอำนาจการกำหนดเงินเพดานออก เหลือแต่เพียงอำนาจการใช้เงินกองทุน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มาแบกภาระที่เงินกองทุนน้ำมัน ทั้งๆ ที่เดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการที่กำหนดว่าควรจะปรับภาษีสรรพสามิตขึ้นลงเท่าไหร่ เมื่อถูกตัดอำนาจออกไป ทำให้เป็นภาระกองทุนน้ำมันที่ต้องใช้เงินอย่างเดียว และตอนนี้ตนเองก็กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่ และย้ำว่าจำเป็นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังร่างฯโดยไม่ต้องกลัวว่าจะร่างกฎหมายช้า ตนเองเป็นผู้ดำเนินการร่างฯเอง

เมื่อถามว่าต้องรออีกนานหรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เมื่อไปถึงขั้นสุดท้ายที่ตนได้วางแนวทางไว้ คือ รัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดราคา แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้นก็ต้องค่อยๆปรับ เพราะว่าโครงสร้างรูปแบบเดิม เป็นแบบนี้มา 51 ปีแล้ว ซึ่งไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยตนมาเริ่มเปลี่ยน และกำลังเริ่มทำเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี ที่มีมาตรการให้ผู้ค้าต้องแจ้งต้นทุน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่ผ่านมาไม่มีใครเคยรู้ต้นทุน รู้แค่เพียงขาดทุนแล้วนำเงินกองทุนฯไปชดเชยกับสิ่งไหน ซึ่งก็ไม่เคยมีใครทำ แต่ตอนนี้ตนเองทำแล้ว นี่คือสิ่งที่พยายามทำให้เห็นว่าพรรครวมไทยสร้างชาติทำงานจริง รื้อสิ่งที่ไม่ดีให้หมด ซึ่งพยายามทำอยู่

เสือปืนไว!! ‘รัฐบาลไทย’ ปรับบทบาทประเทศในเวทีโลก ขานรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ‘อินเดีย-จีน’ ใต้ผู้นำยุคที่ 3

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM 93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในหัวข้อ ‘อินเดียและจีน กับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย’ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.67 ดังนี้…

อินเดียและจีนเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสนใจเพื่อตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองประเทศก็มีแนวนโยบายและพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อินเดีย ซึ่งมีการเลือกตั้งในวันที่ 19 เมษายนนี้ และมีผู้มีสิทธิออกเสียงเกือบ 1,000 ล้านคน ถือเป็นการเลือกตั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ยังผลให้ Narendra Modi กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 อันจะสามารถสานต่อนโยบายเศรษฐกิจเดิม ซึ่งจะนำพาความสำเร็จให้แก่อินเดียได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของโลก ภายใต้นโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาล รวมถึงการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศและการเป็นมิตรกับธุรกิจภายใต้ Modi

ในขณะที่จีนภายใต้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ซึ่งเข้าสู่วาระที่ 3 เช่นกันนั้น กลับมีนโยบายที่ค่อนข้างจะตรงกันข้าม กล่าวคือ ความแข็งกร้าวและการไม่ยอมรับระเบียบที่กำหนดโดยโลกตะวันตก การแทรกแซงและความไม่เป็นมิตรกับธุรกิจเอกชน การปล่อยปละละเลยให้เกิดฟองสบู่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จนฟองสบู่แตกกลายเป็นปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน

แน่นอนว่า Supply Chain ของโลกกำลังย้ายถิ่นฐานกันขนานใหญ่ ภูมิภาคที่จะได้รับอานิสงส์สูงสุดคงไม่พ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวันนี้ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นแค่จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนประสงค์จะมาเที่ยวเท่านั้น แต่ประเทศไทยได้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่กำลังได้รับความสนใจสูงสุดจากนักธุรกิจจีนอีกด้วย 

สังเกตได้ว่าการลงทุนจากจีนกำลังหลั่งไหลเข้าไทยในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ EV และแบตเตอรี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น และในอนาคตอันใกล้ ก็เป็นไปได้สูงที่จีนจะเข้ามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ และอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะสถานบันเทิงครบวงจรที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องเตรียมรับมือกับธุรกิจจีนที่กำลังถาโถมเข้ามา เพราะการลงทุนจีนจะมีรูปแบบและลักษณะแตกต่างจากการลงทุนของญี่ปุ่นและชาติตะวันตก

ดังนั้น ภายใต้เครื่องชี้วัดหลายประการที่เริ่มบ่งบอกถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกนั้น อาจกลายเป็นโอกาสทองทางเศรษฐกิจของไทย และก็ถือเป็นข่าวดีที่ตลอด 6-7 เดือนที่ผ่านมานี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กำลังปรับเปลี่ยนบทบาทประเทศไทยในเวทีโลก เพื่ออ้าแขนรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นนี้แล้วด้วย

'ภูมิธรรม' ลุยปทุมธานีวันหยุด คุยผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ 4 จังหวัดใหญ่รอบกรุงฯ รับฟังปัญหา ช่วยกันหาทางออก เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 20 เมษายน 2567 เวลา 14.30 น. ที่ร้าน Yung 7 Lifestyle&Eatery จ.ปทุมธานี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจังหวัดปริมณฑล 4 จังหวัดใหญ่(นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี) ถึงปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือหาทางออกและส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างรายได้ให้ประเทศ ร่วมกับกลุ่ม YEC กลุ่ม Young Smart Farmer หอการค้า สภาอุตสาหกรรม MOC Biz Club และท่องเที่ยว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า 4 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ(นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี) มีลักษณะพิเศษ ทั้งความเป็นเมืองและชนบท วันนี้ตนได้เจอกับผู้ประกอบการรุ่นใหญ่ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และเจอรุ่นเยาว์ YEC  Young Smart Farmer และ MOC Biz Club ที่มีแนวคิดแบบใหม่ ซึ่งอยากให้คนรุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์เดิมรับแนวคิดใหม่มาต่อยอด เมื่อวานนี้ตนได้ให้นโยบายกับผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัดช่วยกันหาทางออก ให้เอกชนเป็นทัพหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำเงินเข้าประเทศ ส่งเสริมเอกชนให้เขาเดินหน้าได้  ทั้งเรื่องระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมต้องเชื่อมต่อกัน ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางราง สัมพันธ์กับผังเมืองสอดคล้องกับความเป็นจริงไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอนาคต

รัฐจะช่วยต้องแก้ไขกฎระเบียบให้เศรษฐกิจฐานรากโต สนับสนุนส่งเสริมให้เอกชนโตได้มากกว่านี้ ตนสนใจที่จะฟังคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของจังหวัด มีองค์ความรู้ มีแนวคิดสร้างสรรค์ เห็นความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของจังหวัด รัฐจะมาเป็นแบ็คอัพสนับสนุนเอกชนให้เป็นทัพหน้าหารายได้เข้าประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายภูมิธรรมได้ล้อมวงคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งร่วมกันแสดงความเห็นสะท้อนปัญหาในแต่ละจังหวัดปริมณฑล ร่วมกันหาทางออก ซึ่งอยากให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น จะได้ทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเติบโต ซึ่งนายภูมิธรรมรับข้อเสนอเพื่อดำเนินการส่งเสริมต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ เดินหน้า ‘อุตสาหกรรมฮาลาล’ ย้ำ!! ไทยพร้อมเรื่องวัตถุดิบ ลั่นขอเป็นเจ้าภาพ บูรณาการทั้ง ‘อาหาร-ท่องเที่ยว-สปา’ ให้เป็นระบบ

(20 เม.ย.67) จากรายการอิสรภาพแห่งความคิด ดำเนินรายการโดย สำราญ รอดเพชร เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'ไทยโพสต์' ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ 'รมว.ปุ้ย' เกี่ยวกับความมุ่งมั่น ตั้งใจของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะผลักดัน อุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้เติบโตอย่างเป็นระบบ และเจาะตลาดฮาลาลโลก โดยทางรัฐมนตรีหญิงแกร่งท่านนี้ ได้ยืนยันหนักแน่นในการจัดตั้ง 'กรมอุตสาหกรรมฮาลาล' ได้ระบุว่า ...

"วันนั้นที่เข้ามามอบนโยบาย อยากเห็นที่สุดก็คือเรื่องของอุตสาหกรรมฮาลาล อยากให้เกิดขึ้นในประเทศ สำหรับเรื่อง 'ฮาลาล' หลายคนจะนึกถึงแค่เฉพาะในประเทศมุสลิม หรือประเทศตะวันออกกลางเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ สำหรับตลาดอาหารฮาลาลในตอนนี้กำลังเติบโตใหญ่อย่างมาก และประเทศไทยของเราก็พร้อมมากเพราะประเทศไทยเรามีวัตถุดิบ เรามีแหล่งที่เป็นอุตสาหกรรม เรามีผู้ประกอบการที่มีความมั่นคง แล้วก็พร้อมที่จะทำอุตสาหกรรมพวกนี้ เพียงแต่ว่า คนที่ดูแลเรื่องอาหารฮาลาล กระจัดกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ กระทรวงต่าง ๆ 

รมว.ปุ้ย กล่าวต่อว่า "ตอนนี้ก็เลยมีการบูรณาการ และตั้งใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นเจ้าภาพหลัก โดยอยากเห็น 'กรมอุตสาหกรรมฮาลาล' เกิดขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งก็คิดว่าน่าจะทำสำเร็จได้ภายใน 2 ปี ขณะนี้เราเดินหน้า เป็น 'สำนักงานคณะกรรมการอาหารฮาลาลแห่งชาติ' ได้สำเร็จแล้ว กำลังจะผ่านคณะรัฐมนตรี กำลังจะได้งบประมาณมา และเปิดตัวได้ภายในอีกไม่กี่เดือนนี้"

รมว.ปุ้ย ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า "เรื่องฮาลาลไม่ใช่เฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย อาหาร การท่องเที่ยว สปา สุขภาพ ทั้งหมดนี้อยู่ในอุตสาหกรรมฮาลาล"

"เมื่อก่อนนี้เรื่องของอุตสาหกรรมฮาลาลนั้นไม่ค่อยจะมีใครพูดถึงกัน แต่ครั้งนี้เราจะทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่จับต้องได้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งทางนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้เห็นชอบด้วยแล้ว" รมว.ปุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

‘AIS’ จับมือ ‘Apple’ ดูแลความเสียหาย ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครอบคลุม ‘ตก-แตก-พัง-แบตเสื่อม’ เปลี่ยนอะไหล่แท้ ได้ทั่วโลก

(20 เม.ย.67) นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS เปิดเผยว่านอกเหนือจากการส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลผ่านการใช้งานบนโครงข่ายที่ดีที่สุดแล้ว AIS ยังให้ความสำคัญกับงานบริการและการดูแลลูกค้าแบบ End to End ที่ครบจบในที่เดียว อย่างการเปิดตัวนวัตกรรมการให้บริการลูกค้า AIS Care+ ที่เราได้ร่วมมือกับโบลท์เทค หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านบริการดูแลสมาร์ทโฟน (Device protection) ระดับโลก ในการให้บริการเครื่องรูปแบบใหม่ ทั้งการเปลี่ยนเครื่องหรือดูแลความเสียหายตัวเครื่อง ที่สร้างความแตกต่างเป็นรายแรกในประเทศไทย ซึ่งได้พลิกโฉมประสบการณ์ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะได้รับความสะดวกสบายและบริการที่ดีที่สุดจากการดูแลปกป้องการใช้งานสมาร์ทโฟน

สำหรับครั้งนี้บริษัทตั้งใจยกระดับสุดยอดประสบการณ์ในการดูแลลูกค้า ผ่านการทำงานร่วมกับ Apple เปิดตัวบริการใหม่ AIS Care+ with AppleCare Services สำหรับลูกค้าที่ซื้อ iPhone กับ AIS และสมัครบริการ จะได้รับการดูแลแบบคูณ 2 ทั้งจาก AIS Care+ และ AppleCare Services พร้อมแก้ Pain Point ของลูกค้าให้หมดความกังวลจากการใช้งานทั้งเรื่องเครื่องเสีย จอแตก ตกน้ำ และดูแลความเสียหายตัวเครื่องได้ไม่จำกัดครั้ง และสามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดครั้งเช่นกัน อีกทั้งยังสามารถรับความช่วยเหลือจากศูนย์บริการ Apple ทั่วโลก ด้วยราคาพิเศษสุดคุ้มที่สามารถเข้าถึงบริการที่ดีที่สุดของ AIS ได้

นายบัลเดฟ ซิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โบลท์เทค กล่าวว่า นับเป็นความร่วมมือที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราที่ได้เป็นส่วนหนึ่งเพราะ AIS และ Apple เป็นพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เราหวังว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะช่วยขยายขีดความสามารถงานบริการเพื่อดูแลปกป้องการใช้งานมือถือและสมาร์ทโฟน ด้วยการนำเสนอทางเลือก ความสะดวกสบาย ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า

สำหรับบริการ AIS Care+ with AppleCare Services เป็นบริการที่รวมทุกการดูแลแบบคูณ 2 ทั้งจาก AIS Care+ และ AppleCare Services มาไว้ด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์ความอุ่นใจและความสะดวกสบายให้ลูกค้ากับโปรแกรมที่ช่วยดูแล iPhone ที่ครอบคลุมครบวงจร ซึ่งความร่วมมือกับ Apple จะทำให้ลูกค้าได้รับความมั่นใจว่า iPhone ของลูกค้าจะได้รับการดูแล แก้ไข ซ่อมแซม ด้วยอะไหล่แท้จากช่างผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์บริการของ Apple หรือ เครื่องที่ให้บริการแลกเปลี่ยน หรือ รับเครื่องทดแทน ลูกค้าจะได้รับตัวเครื่องจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง (Apple Manufactured Guaranteed Device) รวมถึงลูกค้าจะยังได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่า อาทิ

บริการดูแลตัวเครื่องที่ครอบคลุมความเสียหายทุกด้าน มากที่สุดเท่าที่ผู้ให้บริการด้านนี้มีในตลาด โดยไม่มีข้อจำกัด อาทิ จอแตก เครื่องตกน้ำ ลำโพงดับ ไมค์ไม่ได้ยิน เครื่องเสีย รวมถึงการดูแลแบตเตอรี่คุณภาพความจุต่ำกว่า 80%

บริการเปลี่ยนเครื่องเมื่อใดก็ได้ที่อยากเปลี่ยน หรือ เครื่องเสีย แต่ไม่อยากส่งซ่อม หรือ บริการรับเครื่องทดแทนแม้ไม่มีเครื่องเดิมมาเปลี่ยน

สิทธิพิเศษในการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญของ Apple ผ่านทางแชตหรือโทรศัพท์ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

ลูกค้า AIS ที่ซื้อ iPhone ทุกรุ่น สามารถสมัครบริการ AIS Care+ with AppleCare Services เพื่อรับความพิเศษกว่าใครได้ทันทีหลังจากซื้อเครื่องใหม่ หรือภายใน 30 วัน นับจากวันที่ซื้อเครื่อง และไม่ต้องตรวจสอบตัวเครื่อง โดยบริการ AIS Care+ with AppleCare Services มีแพ็กเกจให้เลือกทั้งแบบรายเดือนหรือเหมาจ่าย 12  เดือน และดูแลต่อเนื่องนานสูงสุด 48 เดือน โดยลูกค้าสามารถสมัครบริการได้ที่ร้านเอไอเอสช้อป, ร้านเอไอเอส-เทเลวิซ, รวมถึงร้านพันธมิตรอย่าง Jaymart, TG Fone,  iStudio จาก COPPERWIRED, SPVi และ UFicon หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ais.th/service/aiscare-applecare/ 

พิเศษ สำหรับลูกค้าที่ซื้อ iPhone และสมัคร AIS Care+ ระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2566 – 20 มีนาคม 2567  สามารถเปลี่ยนมาใช้บริการแพ็กเกจใหม่ AIS Care+ with AppleCare Services เพียงยืนยันสิทธิ์ด้วยตัวเอง โดยกด *534*4# โทรออก ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567 – 30 เมษายน 2567

‘ญี่ปุ่น’ ปลื้มแรงงานไทย เตรียมเพิ่มโควตานำเข้า พร้อมเปิดช่อง ให้เปลี่ยนนายจ้างได้ เมื่อทำงานครบ 1 ปี

(20 เม.ย.67) กระทรวงแรงงาน เดินหน้าขยายตลาดแรงงานไทย ไปทำงานในต่างประเทศ โดยได้ขอให้ทางการญี่ปุ่นส่งเสริมการจ้างแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานทักษะสูง แรงงานฝีมือ แรงงานทักษะเฉพาะ พร้อมยืนยันว่าไทยจะเข้มงวดให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานประเทศญี่ปุ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะเตรียมความพร้อมให้มีทักษะด้านภาษาญี่ปุ่นสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างด้วย

ฝ่ายญี่ปุ่น ชื่นชมแรงงานไทย โดยรับปากจะพิจารณาเพิ่มโควตาการนำเข้าแรงงานในภาคท่องเที่ยว อุตสาหกรรมก่อสร้าง งานบริบาล และ Osaka expo 2025 นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องจะนำระบบพัฒนาทักษะแรงงาน SDW มาแทนระบบผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค TITP เพื่อยกระดับแรงงานไทยให้เป็นแรงงานทักษะเฉพาะ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น พำนักและทำงานในญี่ปุ่นได้นานสูงสุด 5 ปี สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้เมื่อครบ 1 ปี ช่วยให้แรงงานไทยสามารถเลือกทำงานกับนายจ้างที่มีสวัสดิการหรือรายได้มากกว่าได้

ปัจจุบัน ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่แรงงานไทยสนใจเดินทางไปทำงานมากที่สุด มีคนไทยฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคอยู่ 12,087 คน เป็นแรงงานทักษะเฉพาะ 2,875 คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top