Saturday, 11 May 2024
ECONBIZ NEWS

'เรือสำราญ' แหล่งรายได้มหาศาล ที่เดินทางมากับเรือลำยักษ์ ไทยควรเร่งสร้างท่าเรือสำราญในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ

ปัจจุบันการท่องเที่ยว โดยการโดยสารเรือสำราญขนาดใหญ่ เป็นที่นิยม ในหมู่นักเดินทางที่มีรายได้ค่อนข้างสูง และที่สำคัญประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งง่ายต่อการเชิญชวนให้สายการเดินเรือต่าง ๆ เข้ามาเปิดสาขาได้ โดยงานในเงื่อนไขที่หากเรามีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างสมบูรณ์

ซึ่งการที่เราจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ...

1. รายได้จากนักท่องเที่ยวที่ลงจากเรือสำราญมาเที่ยว (นักท่องเที่ยวที่เดิน เรือสำราญ และลงจากเรือมาเที่ยววันเดย์ทริป ตามสถานที่ต่าง ๆ) ความเหมาะสมของประเทศไทยคือประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถเข้าถึงจากเรือสำราญได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ ที่สามารถเดินทางจากท่าเรือคลองเตยได้ในระยะทางไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือแม้กระทั่งเดินทางไป อยุธยาจากท่าเรือคลองเตยก็ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงไม่เกิน 

2.รายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทาง มาใช้บริการท่าเทียบเรือสำราญ (นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ และเดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่ประเทศ ไทย เพื่อที่จะลงเรือ) เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาโดยเครื่องบินแล้วส่วนใหญ่ก็จะมีการ พักค้างคืนอย่างน้อยก็ 1 ถึง 2 คืนก่อนลงเรือ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดรายได้ในส่วนตรงนี้ และที่สำคัญการเตรียมเรือ อาหารการกินต่าง ๆ วัตถุดิบต่าง ๆ ก็ต้องโหลดจากประเทศไทย ซึ่งอันนี้ก็เป็นการกระจายรายได้ในอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน

โดยปกติแล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญ มีการ เดินทางลงมาเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของแต่ละพื้นที่ ในรูปแบบวันเดย์ทริป ซึ่งก็คือ เที่ยวในช่วงกลางวันและกลางคืนกลับไปนอนบนเรือสำราญ ดังนั้นการลงเรือสำราญ เพื่อที่จะมาเที่ยวนั้น จึงมีรูปแบบด้วยกัน สอง รูปแบบคือ...

- หนึ่ง ต่อเรือเล็ก จากเรือใหญ่เข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยว 
- สอง เรือใหญ่เข้าเทียบท่าแล้วนักท่องเที่ยว สามารถเดินขึ้นบกได้ อย่างสะดวกสบาย ซึ่ง ท่าเรือเหล่านี้เรียกว่า Port of call 

ซึ่งข้อแตกต่างในการลงเรือของทั้งสองประเภท นั่นก็คือ การต่อเรือเล็กจะได้รับความนิยมน้อยกว่า การขึ้นบกโดยตรง เพราะมีความยุ่งยากมากกว่า และนักท่องเที่ยวหลายๆ คน อาจจะไม่ชอบความยุ่งยากเหล่านี้ จึงทำให้การตัดสินใจลงมาเที่ยว น้อยลงเพราะบางคน แค่เพียงพักผ่อนอยู่บนเรือก็เพียงพอแล้ว

ดังนั้น จึงควรมีการสร้างท่าเรือสำราญในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิเช่น ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือสมุย, ท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือภูเก็ต เป็นต้น 

การที่มีท่าเรือสำราญนั้นในท่าเรือใหญ่ ๆ จะต้องมีท่าเรือแบบ Home port ซึ่งจะใช้ในการเตรียมตัวเดินทาง พร้อมการซ่อมบำรุงเบื้องต้น ส่วนแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ควรมี Port of call หรือท่าเรือจุดแวะพักระหว่างทาง

โดย Home port เปิดให้บริการ ใกล้กับสนามบิน อย่างเช่นท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือภูเก็ต เป็นต้น ส่วน Port of call จะเปิดให้บริการ ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างเช่น เกาะสมุย, เกาะพงัน, พัทยา, หัวหิน, สงขลา เป็นต้น 

ซึ่งการที่มีท่าสำหรับจอดเรือสำราญนั้น สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเพราะว่า เรือสำราญในปัจจุบันแต่ละลำสามารถบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ จำนวนหลายพันคนต่อเที่ยว ยกตัวอย่างเช่นเรือ Ovation of the Sea ของบริษัท Royal Caribbean หนึ่งลำสามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 4,500 คน ซึ่งหากเรือลำนี้เทียบท่ารับนักท่องเที่ยวขึ้นเรือ (Home port) แหลมฉบัง หรือ คลองเตย อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ย่อมจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย 18,000 คนต่อเดือน หรือ 216,000 คนต่อปี และถ้าหากมีเรือแบบนี้ 20 ลำต่อเดือน ซึ่งถ้ากระจายไปยังท่าเรือต่าง ๆ แล้วไม่ถือเยอะ แต่เราจะได้นักท่องเที่ยวจากอุตสาหกรรมนี้ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อปี 

ที่สำคัญกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง เพราะฉะนั้น เมื่อมีการแวะพัก เที่ยวตามจุดแวะพักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คลองเตย เกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า, เกาะช้าง, เกาะพีพี,  พัทยา, หัวหิน, จันทบุรี, ปัตตานี, สงขลา, นครศรีธรรมราช ย่อมจะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมหาศาล 

หวังว่าบทความนี้ จะชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ สำหรับคนที่ได้อ่านนะครับ และสักวันหนึ่ง ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของสายการเดินเรือสำราญ ที่ทุกบริษัทแวะเข้ามาท่องเที่ยว หรือใช้เป็นศูนย์กลางในการโหลดนักท่องเที่ยวลงเรือ เพื่อที่จะเดินทางไปยังท่าเรือในแต่ละประเทศต่าง ๆ ต่อไป

‘สมอ.’ คุมเข้มมาตรฐานสินค้ายอดฮิต ‘ลาบูบู้’ ต้องใช้วัสดุไม่ลามไฟ-ค่าโลหะหนักไม่เกินเกณฑ์

(30 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะยังคงดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพภายใต้ภารกิจ Quick win ของ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด และต่อเนื่องในทุกช่องทาง รวมถึงการตรวจสอบแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ต่าง ๆ เช่น อาร์ตทอย ลาบูบู้ ที่มีกระแสความนิยมและมีประเด็นของมิจฉาชีพหลอกผู้บริโภคให้จ่ายเงินแล้วไม่ส่งสินค้าให้นั้น

“กรณีนี้จริง ๆ เป็นความรับผิดชอบของหลายส่วนงาน ทั้งนี้ ในภารกิจของ สมอ.นั้น จะเป็นด้านการกำกับมาตรฐาน ซึ่งครอบคลุมการดูแลมาตรฐานของเล่นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ฉะนั้น หากสินค้า เช่น ลาบูบู้ตัวไหนระบุอายุผู้เล่นว่าเป็นของสำหรับเด็ก จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานตามที่ สมอ. กำกับ” นางรัดเกล้ากล่าว

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของวัสดุของสินค้าเป็นหลัก ได้แก่ วัสดุที่ใช้ ไม่ลามไฟ และไม่มีค่าโลหะหนักเกินเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรมได้ กำชับตรวจตรามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ

นางรัดเกล้า ยังเปิดข้อมูลว่า สมอ. ที่มีนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. ดูแลนั้นได้แถลงผลการทำงานรอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2567 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 144 รายการ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบ การเฝ้าระวังผ่านระบบ NSW และตรวจติดตามการจําหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 66 - มีนาคม 67) ได้ตรวจจับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ลักลอบผลิต และนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 191 ราย ยึดอายัดสินค้าเป็นมูลค่ากว่า 220 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่

-เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 87.70 ล้านบาท
-ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 73.23 ล้านบาท
-ยานยนต์ 54.09 ล้านบาท

นอกจากนี้ สมอ.ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานในปีนี้ 1,000 เรื่อง โดยครึ่งปีแรกกำหนดมาตรฐานไปแล้ว 469 เรื่อง

นางรัดเกล้ากล่าวว่า นอกจากนี้ สมอ. ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต โดยผลงานครึ่งปีงบประมาณแรกได้ออกใบอนุญาต มอก. จำนวน 7,454 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 1,597 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส จำนวน 132 ฉบับ และใบรับรองระบบงาน จำนวน 212 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 9,395 ฉบับ

ขณะที่ด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ สมอ. ได้เข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านการมาตรฐานกับประเทศต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก

“สมอ. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย ขณะเดียวกันวันนี้ 30 เมษายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคในปี 2522 ดังนั้นขอให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภค มั่นใจว่า สมอ. ได้ดูแลและจะดูแลคุณภาพสินค้า ก่อนออกใบอนุญาต เพื่อผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ ให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกหลอก หรือถูกชักจูงด้วยการโฆษณาเกินจริงอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง” นางรัดเกล้ากล่าว

'ไทย-จีน' ลงนาม MOU ดึงนักลงทุนจีน ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ใต้กรอบความร่วมมือ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง - 2 ประเทศ 2 นิคม'

(30 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำจากมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 

นายดนัยณัฏฐ์ ระบุว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยาวนาน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' (BRI) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยและจีน รวมไปถึงเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน นายเหอ ซีออง นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าวในการเป็นประธานสักขีพยานร่วมฯ ว่า การจัดพิธีลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ฯ ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการพัฒนาความร่วมมือของจีนและไทยเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเมืองเจิ้งโจว และจังหวัดระยองอีกด้วย 

สำหรับ เมืองเจิ้งโจว ในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน นั้น ปี 2566 มี GDP ของภูมิภาคเกินกว่า 1.36 ล้านล้านหยวน จากจำนวนประชากรเกินกว่า 13 ล้านคน ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภค-บริโภค และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 

นอกจากนี้ เจิ้งโจว ยังมีทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นหนึ่งใน 12 ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการขนส่งโดยสายการบินต่าง ๆ 6 แห่ง เป็น 'เส้นทางสายไหมทั้งสี่' ของทางอากาศ ทางบก ทางออนไลน์ และทางทะเล ขณะที่สนามบินเจิ้งโจว ก็ยังติดอันดับหนึ่งในสนามบินขนส่งสินค้าชั้นนำ 40 แห่งของโลก รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากกว่า 40 ประเทศ และมากกว่า 140 เมือง 

จีนและไทยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างการเยือนประเทศไทยของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้สร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง โดยการบูรณาการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เปิดตัวศูนย์อาเซียนอย่างเป็นทางการ สร้าง 'เส้นทางสายไหมทางอากาศ' เจิ้งโจว-อาเซียน และบรรลุข้อตกลงเมืองพี่กับจังหวัดระยอง ในประเทศไทย เปิดตัวรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย และรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับส่งออกสินค้าเกษตร เปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินนกแอร์เที่ยวบินแรกสู่เจิ้งโจว โดยในปี 2567 เจิ้งโจว ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน (เหอหนาน)-อาเซียน และจัดเทศกาลอาหารไทย 'Thai Heartbeat' เริ่มก่อสร้างสวนแฝดจีน-ไทย (เจิ้งโจว) 

"ภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 'สองประเทศ สองนิคมฯ' ระหว่างจีนและไทย การทำงานร่วมกัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าข้ามพรมแดนและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในกรอบการดำเนินงาน 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เพื่อร่วมกันสร้างบทใหม่ของความร่วมมือแบบ win-win" นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าว

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ในครั้งนี้ โดยบันทึกความเข้าใจฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทำเลที่ตั้ง และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก และมีแผนงานที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลากหลายส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ อีกด้วย

"กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจกับไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างแน่นอน" นายวีริศ กล่าว

ฟาก นายอู๋ เหวินฮุย ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) กล่าวว่า ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นกลุ่มบริษัทการลงทุนที่หลากหลาย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และมีศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการที่ใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ฉวนโจว เจิ้งโจว ซีอาน และไป๋เซ่อ ดำเนินธุรกิจหลักด้านการลงทุน การก่อสร้าง และเขตอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูเหมือง การพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ การบินทั่วไป และการก่อสร้างคลังสินค้าโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ มีรายได้รวมต่อปีเกินกว่า 10,000 ล้านหยวน ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลายประเทศทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือก่อสร้าง 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' และส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญและยั่งยืนร่วมกัน 

"เราคาดหวังว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนนโยบายที่เอื้อประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ เช่น การอนุมัติโครงการ การจัดสรรที่ดิน และการพัฒนาของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย จะทำให้ 'สองประเทศ สองนิคม' สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเปิดดำเนินการได้อย่างราบรื่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมจีน (เจิ้งโจว) และก่อให้เกิดผลกระทบแบบ 'แกนคู่' โดย China Management Century Enterprise Management Group Co., Ltd. จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอยู่หลากหลายประการอย่างเต็มที่ ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ จากทั้งไทยและจีน จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพิ่มการสื่อสาร และร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการลงทุน ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ช่วยให้ 'สองประเทศ สองนิคม' ผนวกรวมเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่นวัตกรรม และห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นสำหรับการเปิดกว้างเศรษฐกิจของไทยและจีน" ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป กล่าว 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง กนอ. และ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้...

1.ทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมระหว่างกันในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม 

2.ให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้  

3.ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน กฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศของแต่ละฝ่าย และให้คำปรึกษาด้านการลงทุน 

4.ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การประชุม สัมมนา 

และ 5.จัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ กนอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนจีน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบ One Stop Services ของ กนอ. และหากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของตนเอง และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบภายในของแต่ละฝ่าย โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน

ผนึกกำลัง 'ไทย-ยูนนาน' หนุนด่านท่าเรือกวนเหล่ย เพิ่มมูลค่าการค้า อำนวยความสะดวก 'รถ-ราง-เรือ' ส่ง 'ผลไม้-โค' ไทยเข้าจีน

(30 เม.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายหวัง หยู่โป (H.E.Mr.Wang Yubo) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำรัฐบาลมณฑลยูนนาน ที่ Haigeng Garden ห้องประชุม 1 เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเย็นวานนี้ (29 เม.ย. 67)

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนมาครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์การค้าระหว่างกันในระดับมณฑลให้รวดเร็วและเข้าถึงปัญหาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลฯ มุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือทางการค้ากับมณฑลยูนนาน ผ่าน เส้นที่ 1 หนองคายต่อรถไฟเวียงจันทน์สู่มณฑลยูนนาน และเส้นที่ 2 จังหวัดเชียงราย (เชียงของ - บ่อเต็น - โม่ฮาน) ผ่านถนน R3A สู่ด่านบ่อเต็นเข้าด่านโม่ฮาน และอีกเส้นทางที่มาเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือผ่านท่าเรือเชียงแสนมาท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่ ที่ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร อยากเปิดเส้นทางนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถเชื่อมโยงการค้าจากเชียงรายสู่คุนหมิงได้โดยตรง ซึ่งฝ่ายจีนรับจะร่วมมือกำกับดูแลให้สะดวกทั้ง 3 เส้นทาง

นอกจากนั้นนายภูมิธรรมได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีน ที่ช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งการขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน แก้ปัญหาความแออัดรถบรรทุกที่ขนส่งผลไม้ ซึ่งผลผลิตกำลังจะออกมาก บางครั้งต้องใช้เวลาถึง 5 วัน สำหรับรอตู้ผ่านเข้าจีนแล้วกลับออกมาบ่อเต็นให้เหลือเพียง 3 วัน และทางจีนกำลังปรับปรุงขยายถนนจากเดิม 2 ช่อง เป็น 12 ช่อง ที่จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไทยสามารถส่งสินค้าที่สดคุณภาพดีให้กับจีน และลดต้นทุนสินค้าลง และทางด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ ความร่วมมือ 3 ประเทศทั้ง ไทย สปป.ลาว และจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าร่วมกัน และขอให้ทางการจีนสนับสนุนเรื่องการนำเข้าโคมีชีวิตและโคแช่แข็งจากไทยให้มาที่จีน รวมไปถึงผลไม้ตามฤดูกาลอื่น โดยยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีน ซึ่งทางผู้ว่าการฯ ตอบรับที่จะไปช่วยผลักดันต่อไป

“ขอขอบคุณทางการจีน และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตนจะกลับไปรายงานท่านนายกฯ ถึงการต้อนรับและความเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาร่วมกัน หวังว่าเราจะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีอย่างนี้ตลอดไป” นายภูมิธรรม กล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า มณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดกับเมียนมา, เวียดนาม และลาว เป็นมณฑลของจีนที่อยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด มีความโดดเด่นด้านการค้าชายแดน โดยใช้เส้นทางถนน R3A (คุนหมิง-สปป.ลาว-กรุงเทพฯ) ซึ่งมีความสำคัญในการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนทางบกได้ 6 ด่าน คือ ด่านนครพนม, ด่านมุกดาหาร, ด่านเชียงของ, ด่านหนองคาย, ด่านบ้านผักกาด (จันทบุรี) และด่านบึงกาฬ ซึ่งการส่งออกผลไม้สู่มณฑลยูนนานจะขนส่งผ่าน 2 ด่านหลัก คือ ด่านเชียงของ (จ.เชียงราย) ตามเส้นทาง R3A เข้าสู่จีนที่ด่านโม่ฮาน และด่านหนองคาย ขึ้นรถไฟลาว-จีน เข้าสู่จีนที่ด่านรถไฟโม่ฮาน โดยในปี 2566 ไทยมีการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทที่บริโภคได้ (HS 08) ไปมณฑลยูนนานผ่านเส้นทางทั้งสอง มูลค่ารวม 1,680 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวทางบก และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 27 ของการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทฯ ไปจีนทั้งหมด

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'เอกชน' จ่อขึ้นราคาสินค้า 15% ภายใน 1 เดือน หลังรัฐขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท ซวยแรงงานเสี่ยงตกงานอื้อ

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยว่า ผลการสำรวจทัศนคติของเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันภายในปี 2567 ว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้น สามารถกระตุ้นกำลังซื้อ การผลิตและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงที่สูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงานมากขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว

“จากผลการสำรวจพบว่าเอกชนส่วน ใหญ่ 64.7% บอกว่าเตรียมจะปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ และอีก 35.3% บอกว่าจะไม่ปรับราคาสินค้า โดยหากปรับจะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% ขึ้นไป โดยจะปรับราคาภายใน 1 เดือนต่อจากนี้ ส่วนคนที่ไม่ปรับราคานั้นจะใช้วิธี ปรับลดปริมาณสินค้า หรือลดต้นทุนอื่น ๆ รวมถึงลดจำนวนแรงงานแทน”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกังวลว่าจะมีภาระต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังคงเท่าเดิม ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จริง แต่ภาระต้นทุนอื่น ๆ ของการทำธุรกิจสูงขึ้น เช่นเดียวกัน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าจะผลกระทบนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว โดยรวมแล้วผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงาน หรือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ในกรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงตามที่คาด ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3% ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย และผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแรงงานกว่า 60.8% ไม่สามารถรับได้

ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงหรือค่าครองชีพ คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจแรงงานจะได้มีรายได้เพิ่ม ให้นายจ้างช่วยค่าอาหาร ช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น และมีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย นอกจากนี้ แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน และมีความเสี่ยงจากการไม่มีเงินเก็บซึ่งสัดส่วนถึง 81.3% จะสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน

'รัดเกล้า' เผย!! 6 ธนาคาร ขานรับนโยบายรัฐ พาเหรด!! หั่นดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน

(29 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารหลายแห่งร่วมขานรับนโยบายรัฐบาล หลังสมาคมธนาคารประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป 

โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม อันเป็นผลจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหารธนาคารมาพูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ จากนั้นสมาคมธนาคารก็ได้มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยนายกฯ ชื่นชมสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนโดยรวม

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ธนาคาร และสถาบันการเงินที่ร่วมขานรับนโยบาย อาทิ 

1.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ปรับดอกเบี้ยลง 0.4% เหลือ 6.35% แบงก์แรกของรัฐที่ลดและลดดอกเบี้ยเหลือต่ำที่สุด มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.นี้ 

2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ลูกค้ากู้บ้าน 1.8 ล้านราย 

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ 

4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% 

5.ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนนี้ 

และ 6.ธนาคารออมสิน ปรับลดดอกเบี้ย 0.40% เหลือ 6.95% ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และลดให้อัตโนมัติ ไม่ต้องติดต่อธนาคาร เป็นต้น

“ประชาชน และกลุ่ม SMEs ถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การปรับลดดอกเบี้ยแม้เพียงแค่ 6 เดือน แต่ก็ช่วยให้สามารถเอาไปต่อยอดได้ โดยรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าหามาตรการ และแนวทาง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง” นางรัดเกล้า กล่าว

‘สุริยะ’ ลุยต่อ!! ดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลั่น!! ก.ย.68 เชื่อมครบทุกสี แง้ม!! กำลังคุย ‘พรบ.ตั๋วร่วม’

(29 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น มั่นใจว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี หรือ ช่วงกันยายน 2568 รถไฟฟ้าทุกสี และทุกสาย จะเข้าร่วมนโยบายทั้งหมด ขณะที่รถไฟฟ้าสีอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและเตรียมก่อสร้าง ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ หากตนยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งรมว.คมนาคม ขอยืนยันว่าจะผลักดันให้เข้าร่วมนโยบายทั้งหมดเช่นกัน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นโยบายดังกล่าวนอกจากเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังสามารถลดปัญหา PM 2.5 ในขณะนี้ได้อีกด้วย เนื่องจากประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มีการปรับเปลี่ยนการเดินทางมาใช้รถไฟฟ้าแทน รวมถึงยังแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทาง Feeder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมคาดว่าภายในระยะ 2-3 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจน ซึ่งนอกเหนือจาก ขสมก. แล้ว หากเอกชนรายใดที่มีความพร้อมด้านการให้บริการขนส่ง ก็สามารถเข้าร่วมการจัดเส้นทาง Feeder ได้ ซึ่งแผนระยะสั้นจะผลักดันประมาณ 30 เส้นทาง เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง

ส่วนระยะต่อไป คาดเป็นช่วงปี 2568-2569 จะเพิ่มจำนวนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีส้ม และอีก 66 เส้นทางจะดำเนินการในระยะถัดไปตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

ด้านแผนจัดทำ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ขณะนี้มีการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาถึงหลักการด้านต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2568 จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เตรียมแผนจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจากมาตรการดังกล่าว โดยเม็ดเงินจากกองทุนที่จะนำมาชดเชยนั้นจะมาจากขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เป็นต้น

ส่งออกมีนาคมไทย ติดลบ 10.9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ลบ 4% หยุดสถิติส่งออกไทยโต 7 เดือนติด สู่ติดลบแรกในรอบ 8 เดือน

(29 เม.ย. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศ หรือการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 พบว่ามีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

สาเหตุจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี จากปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน และขยายตัวต่ำ ปัญหาความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

หากพิจารณาในภาพรวม 3 เดือนแรก หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3

‘กฟผ.’ มอบส่วนลด 5,555 สิทธิ์ ชวนใช้ ‘ตู้เย็นติดฉลากเบอร์ 5’ แบบใหม่ ‘ไร้สี-ไร้กลิ่น-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ 1 พ.ค. - 30 ก.ย.นี้ ณ ห้างสรรพสินค้า

กฟผ. ชวนใช้ตู้เย็นติดฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่ ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ช่วยประหยัดไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมมอบ 5,555 สิทธิ์ส่วนลดแก่ประชาชน เริ่ม 1 พ.ค. - 30 ก.ย. 67 นี้ ณ ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมทั่วประเทศ

นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประธานกรรมการบริหารกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น เปิดเผยว่า ปีนี้ กฟผ. ครบรอบ 55 ปี กฟผ. ร่วมกับผู้ประกอบการฉลากเบอร์ 5 และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จัดกิจกรรม ‘ร่วมรักษ์โลก ร่วมรักษ์พลังงาน ร่วมใช้ตู้เย็นฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่’ เปลี่ยนจากเบอร์ 5 แบบเก่าประสิทธิภาพสูงสุดที่ 3 ดาว เป็น 5 ดาว มอบสิทธิ์ส่วนลดแก่ประชาชน จำนวน 5,555 สิทธิ์ มูลค่ารวมเกือบ10 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้ตู้เย็นที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยประหยัดไฟฟ้า และใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ หรือ สาร Isobutane (R600a) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

>> สำหรับสิทธิ์ส่วนลดดังกล่าว ประกอบด้วย…

1.) ส่วนลดสูงสุด 3,500 บาท จำนวน 1,555 สิทธิ์ สำหรับซื้อตู้เย็นที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 ห้าดาว ขนาด 7.1 - 14.0 คิวบิกฟุต
2.) ส่วนลด 1,500 บาท จำนวน 2,000 สิทธิ์ สำหรับซื้อตู้เย็นที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 ห้าดาว ขนาดไม่เกิน 7 คิวบิกฟุต และมากกว่า 14 คิวบิกฟุตขึ้นไป ขนาดละ 1,000 สิทธิ์
และ 3) ส่วนลด 750 บาท จำนวน 2,000 สิทธิ์ สำหรับซื้อตู้เย็นที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 ถึงฉลากเบอร์ 5 สี่ดาว

โดยเปิดให้รับสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2567 หรือจนกว่าผู้ใช้สิทธิ์จะครบตามจำนวน เพียงแสดงบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนรับสิทธิ์ 1 คน ต่อ 1 สิทธิ์ ที่เคาน์เตอร์ชำระเงินของห้างสรรพสินค้าที่ร่วมกิจกรรมทั้ง 12 ราย ได้แก่ โฮมโปร เมกาโฮม ไทวัสดุ บีเอ็นบีโฮม เพาเวอร์บาย เดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน โกลบอลเฮ้าส์ ดูโฮม ฮาร์ดแวร์เฮาส์ และร้านสหกรณ์ กฟผ.

ทั้งนี้ ฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่ นอกจากจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ประหยัดมากขึ้น และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังมีขั้นตอนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมี QR Code ให้ตรวจสอบข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้ คาดว่ากิจกรรมส่งเสริมการใช้ตู้เย็นเบอร์ 5 แบบใหม่ จะประหยัดพลังงานไฟฟ้าลงได้ประมาณ 1.6 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นเงิน 8 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน จากการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ R600a ได้เกือบ 100% เมื่อเทียบกับการใช้สารทำความเย็น R134a

คลังจ่อเก็บ VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี คาดเริ่มใน พ.ค.นี้

(29 เม.ย. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องการออกประกาศกรมศุลกากร เป็นกฎกระทรวง เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods)

ทั้งนี้ หากสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods) จะประกอบไปด้วยรายละเอียด ดังนี้...

>> มีผลเมื่อไหร่:
- คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน พฤษภาคม 2567

>> ใครต้องเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- บุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
- สินค้าที่ต้องเสียภาษี: สินค้าที่นำเข้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท

>> อัตราภาษี: 7%

>> วิธีการเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
- แพลตฟอร์มจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขายในต่างประเทศ
- แพลตฟอร์มจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรเป็นรายเดือน

>> เป้าหมาย:
- เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ขายในประเทศไทยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
- เพื่อป้องกันสินค้าที่หลุดรอดจากการเสียภาษี

“กรมสรรพากร และกรมศุลกากร กำลังร่วมมือกันดำเนินการอยู่ คาดว่าภายในต้นพ.ค. น่าจะมีความชัดเจน การดำเนินการเรื่องนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การแก้ไขแบบถาวร คือ แก้ที่ประมวลรัษฎากร ตรงนี้ใช้เวลา ซึ่งกรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ โดยระหว่างที่ประมวลรัษฎากรยังแก้ไขไม่เสร็จ ก็จะมีโครงการเร่งด่วนระยะสั้น โดยกรมศุลกากรจะออกประกาศ เป็นกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากแต่ก่อนที่ไม่ต้องเสียภาษี ต่อไปก็จะต้องเสียภาษี คาดว่าจะมีผลภายในพ.ค.นี้” นายลวรณ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top