Sunday, 12 May 2024
ECONBIZ NEWS

ร้านสเต็กชื่อดัง ‘อีซี่ กริล' ประกาศฟ้าผ่า!! แจ้งปิดกิจการถาวร ขอบคุณ ‘ลูกค้า’ จากใจ จำเป็นต้องจากไป เพราะปัญหาเศรษฐกิจ 

(6 พ.ค.67) กลายเป็นเรื่องเศร้าไปเลยสำหรับสายเนื้อ เมื่อร้านสเต็กและอาหารไทยฟิวชั่นชื่อดังอย่าง'อีซี่ กริล' (Easy Grill) ได้ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ แจ้งปิดให้บริการถาวร โดยระบุข้อความว่า "ขอบพระคุณลูกค้าที่น่ารักทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างดีตลอดมาค่ะ ร้านปิดตั้งแต่ 5 พ.ค. 67 นี้นะคะ"

"เรียนลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่านร้านอีซี่กริล มีความจำเป็นต้องปิดกิจการอย่างถาวร เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ร้านประสบปัญหาในการดำเนินกิจการทางร้านขอขอบพระคุณลูกค้าที่น่ารักทุกท่านจากใจที่ให้การสนับสนุนอย่างดีตลอดมาขอบพระคุณค่ะ Thank You " ท่ามกลางชาวเน็ตที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

รู้จัก 'บ.ทุนธนชาต' กลุ่มธุรกิจการเงินไทย 4 ทศวรรษ สร้างเครือข่ายธุรกิจจนใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

ถ้าพูดถึง ‘กลุ่มธนชาต’ หรือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ TCAP คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงธนาคารธนชาต ที่มีสีส้มสดใส เป็นสัญลักษณ์ให้คนได้จดจำ แต่ปัจจุบัน ธนชาต ได้เปลี่ยนเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB ไปแล้ว ภายหลังจากมีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต

ก่อนที่จะมาเป็น ‘ทุนธนชาต’ ในวันนี้ เส้นทางธุรกิจขององค์กรได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อปี 2523 โดยนายบันเทิง ตันติวิท (ประธานกรรมการ) และนายศุภเดช หมู่ศิริเลิศ ได้เข้าไปฟื้นฟู แคปปิตอลทรัสต์ ซึ่งพัฒนามาจากลี กวง มิ้ง บริษัทส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเปลี่ยนมาเป็น ‘บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาต’ ซึ่งได้ผ่านร้อนผ่านหนาวและวิกฤตทางเศรษฐกิจมาหลายครั้ง โดยเฉพาะวิกฤตปี 2540 จนสามารถขยายธุรกิจ จนยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำของประเทศ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางอย่างเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจของกลุ่มธนชาตนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่มีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจเน้นการลงทุนและเป็นบริษัทแม่ (Holding Company) ที่เข้าไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว

🔴ธุรกิจของกลุ่มธนชาต มีอะไรบ้าง?

อย่างที่เกริ่นไปว่า ‘กลุ่มธนชาต’ ดำเนินธุรกิจแบบ Holding Company จึงมีธุรกิจที่เข้าไปลงทุนหลากหลาย ตัวอย่างเช่น...

>> กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ 
ดำเนินธุรกิจโดย บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แบบ ก (Full License) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาทางการลงทุน การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ เป็นต้น

>> กลุ่มธุรกิจประกัน ประกอบด้วย...
บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้บริการประกันภัย โดยครอบคลุมถึงการรับประกันวินาศภัย ได้แก่ การประกันภัยรถยนต์ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

>> ธุรกิจการลงทุน
- บริษัท ที ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้บริการรับประกันชีวิตรายบุคคล ประกันชีวิตกลุ่ม ซึ่งเป็นหลักประกันด้านการออมเงิน ให้ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ

- บริษัท ที เอ็ม โบรคเกอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจในการเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต รวมถึงเป็นผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในการเป็นนายหน้าประกันภัยหรือตัวแทนประกันภัย

- บริษัท เอ็ม ที เซอร์วิส 2016 จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการงานด้าน Back Office และ Business Support แก่เอ็มบีเค ไลฟ์ และทีเอ็ม โบรคเกอร์

>> กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ประกอบด้วย...
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในกลุ่มธนชาตและสถาบันการเงินอื่นมาบริหาร

- บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินอื่นมาบริหาร

- บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารนครหลวงไทยและธนาคาร ธนชาต ทั้งสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และทรัพย์สินรอการขายมาบริหาร 

>> กลุ่มธุรกิจลิสซิ่ง ประกอบด้วย...
- บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน โดยมุ่งเน้นในตลาดรถยนต์ทั้งใหม่และเก่า ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ได้แก่ รถกระบะ รถแท็กซี่ รถหัวลาก และรถบรรทุก เป็นต้น

- บริษัท อาร์ทีเอ็น อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตโดยให้บริการแก่ลูกค้าของราชธานีลิสซิ่งเป็นหลัก

>> กลุ่มธุรกิจลงทุน ประกอบด้วย...
- บริษัท ธนชาต เอสพีวี 1 จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นราชธานีลิสซิ่งจากธนาคารธนชาต ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ

- บริษัท ธนชาต เอสพีวี 2 จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นบริษัทอื่นๆ จากธนาคารธนชาต ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยบริษัทที่รับโอนมา เป็นกลุ่มบริษัทที่จะไม่มีการประกอบกิจการใหม่ และจะดำเนินการเลิกบริษัทและชำระบัญชีในที่สุด

นอกจากธุรกิจทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่กลุ่มธนชาตมีความแข็งแกร่งและสร้างผลตอบแทนที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องแล้ว กลุ่มธนชาต ยังมีการลงทุนในธุรกิจแขนงอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK) ที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 20% ซึ่ง MBK ถือเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายทั้ง ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ 

และที่น่าสนใจ MBK คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดราว 48% ในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้าที่เรียกได้ว่าเป็นระดับแลนด์มาร์กของประเทศไม่ว่าจะเป็น ไอคอนสยาม, สยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี, สยามเซ็นเตอร์, และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ซึ่งมีข่าวว่ากำลังจะ IPO เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กลุ่มธนชาต ไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่ยังกระจายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจที่หลากหลาย จากจุดเริ่มต้นเป็นเพียงบริษัทหลักทรัพย์ แต่ผ่านมา 44 ปี ได้แผ่กิ่งก้านขยายการลงทุนเข้าไปยังธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มธนชาตกลายเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นองค์กรมีความชัดเจนด้านการดำเนินธุรกิจและเดินตามวิสัยทัศน์ที่ว่า 'เป็นบริษัทการลงทุนชั้นนำในธุรกิจหลากหลาย เป็นที่ยอมรับทั่วไป ในด้านความมั่นคง ยั่งยืน และมีผลตอบแทนที่ดี' อย่างแท้จริง

'อ.พงษ์ภาณุ' ยก 4 เรื่องที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของประเทศ หวัง 'พิชัย ชุณหวชิร' สะสาง พา ศก.ไทยสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ของฝากถึงรัฐมนตรีคลัง' เมื่อวันที่ 5 พ.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

น่าเสียดายที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คาด

เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 หลายสำนักรวมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ต่างก็ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือไม่ถึง 3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของไทย แม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีหลายประการในช่วงปลายไตรมาส อาทิ งบประมาณประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ / มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มมีความชัดเจน / นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาไทยอย่างท่วมท้นจนดุลบริการและดุลการชำระเงินเกินดุล แต่น่าเสียดายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง โดยตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง และไม่ฟังเสียงสาปแช่งจากประชาชนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามความหวังของคนไทยเริ่มจุดประกายขึ้นใหม่ เมื่อเราได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ที่ชื่อ 'พิชัย ชุณหวชิร' ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการเงินการคลังมาอย่างโชกโชน และเป็นที่ยอมรับในทุกวงการ เราเชื่อมั่นว่าท่านจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ได้ หากสามารถสะสางงาน 3-4 เรื่องที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของประเทศอยู่ ดังนี้...

ประการแรก ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ได้เป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง ไม่มีที่ไหนในโลกปล่อยให้ธนาคารกลางมีอิสระอย่างไร้ขอบเขตและไร้จิตสำนึกเช่นประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยล้มเหลวในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างสิ้นเชิง ปี 2565 เงินเฟ้อขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% พอปี 2566 เงินเฟ้อกลับติดลบจนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) เพราะการขึ้นดอกเบี้ยที่ผิดจังหวะจะโคน นโยบายการเงินจึงเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ หากไม่สามารถเรียกความร่วมมือจากนโยบายการเงินได้ ก็สมควรที่จะพิจารณาเปลี่ยนตัวบุคคลที่คุมนโยบายนั้นเสีย

ประการที่สอง การปรับโครงสร้างการคลังเข้าสู่สมดุล โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีอากรเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล ขณะนี้รายได้ภาษีของไทยอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และไม่เพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นเหตุให้ต้องกู้เงินจนหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ระยะต่อไปรัฐยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ จัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการป้องกันประเทศ เป็นต้น

ประการที่สาม ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังโดยตรง แต่กระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการจัดโครงสร้างแรงจูงใจและการจัดสรรทรัพยากรไปสู่การลงทุนในโครงการที่เอื้อต่อการลดคาร์บอน รวมทั้งการจัดการตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในฐานะที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง

ประการสุดท้าย ในฐานะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านนี้เป็นบุคคลในวงการกีฬา ประกอบกับปีนี้จะ มีมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็อยากขอให้ท่านรัฐมนตรีสนับสนุนการพัฒนากีฬาของประเทศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการใช้เงินของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ซึ่งมาจากเงินภาษีอากร ดูเหมือนจะยังไม่มีประสิทธิภาพและมีการรั่วไหลอยู่พอสมควร เราเชื่อมั่นว่าหากท่านรัฐมนตรีเข้ามาจัดการวงการกีฬาอย่างจริงจัง ก็น่าจะสามารถทำให้คนไทยมีความสุขกับความสำเร็จของทีมนักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปารีสนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินประจำไตรมาส 1 ปี 2567

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมโคราช 2 โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดนครราชสีมา ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสาน ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 หัวข้อ เหลียวหลัง...แลหน้า...เศรษฐกิจการเงินอีสาน โดยเป็นการแถลงข่าวสัญจรครั้งแรก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ บทบาทหน้าที่ของ ธปท. ภาคอีสาน ได้แก่ 

1) จับชีพจรเศรษฐกิจการเงินในพื้นที่ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 
2) สร้างองค์ความรู้วิชาการเพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่ 3) ผลักดันนโยบาย ธปท. ให้กับพื้นที่ 4) เป็นตัวกลางความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 5) สนับสนุนให้คนอีสานมีความรู้ทางด้านการเงินและเท่าทันภัยการเงิน โครงสร้างเศรษฐกิจภาคอีสาน 1) ภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดหลักของคนอีสาน มีแรงงานในภาคนี้ถึงร้อยละ 53 ของผู้มีงานทำในภาคอีสาน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานเพียงร้อยละ 7 2) ภาคเกษตรส่วนใหญ่พึ่งฟ้าพึ่งฝน และความสามารถในการทำเกษตรลดลง 3) รายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายในภาคครัวเรือน นำไปสู่ปัญหาหนี้ จากโครงสร้างดังกล่าวจึงทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานต่างจากประเทศ 

ปี 2566 เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวจากการบริโภคและท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจภาคอีสานหดตัว ตามการบริโภคจากรายได้ที่ลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร หมดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง แม้การท่องเที่ยวฟื้นตัวแต่ช่วยสนับสนุนได้น้อยเพราะมีเพียงไม่เกินร้อยละ 3 ของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจภาคอีสาน โดยภาพรวมเศรษฐกิจ ไตรมาส 1 ปี 2567 อ่อนแรงต่อเนื่องจากปี 2566 จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐลดลง ค่าครองชีพในสินค้าหมวดอุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับสูง และตลาดแรงงานอ่อนแอลงจากผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรลดลง นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณเปราะบางต่อเนื่องจากปี 2566 และกำลังซื้อมีความเปราะบางมากขึ้น ในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถกระบะหดตัวสูง และยอดขายบ้านในระดับกลางและล่างลดลงต่อเนื่อง จากรายได้ที่ลดลง 

รวมทั้งความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี มีปัจจัยช่วยพยุงการบริโภคได้บ้างจากผลของราคาผลผลิตเกษตรที่ดี และการท่องเที่ยวที่มีผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 ระยะถัดไป เศรษฐกิจภาคอีสานคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว จากงบประมาณภาครัฐปี 2567 ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังไตรมาส 2 ทำให้ภาคการค้า การก่อสร้างตามการลงทุนของรัฐเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 รายได้เกษตรกระจายตัวมากขึ้นจากผลดีของภัยแล้งที่คลี่คลายในช่วงหลังของปี 2567 คาดว่าจะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว การผลิตเพื่อการส่งออกในหมวดอาหารแปรรูปและเครื่องแต่งกายมีแนวโน้มฟื้นตัวดี และการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามากระจายหลายจังหวัดเพิ่มมากขึ้น 

📊เอกสารประกอบการแถลงข่าวเศรษฐกิจอีสาน ไตรมาส 1 ปี 2567  https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/thai-economy/regional-economy/northeastern/quarterly-press/2567/2567_NE_Q01_Slide.pdf

‘กรมการค้าต่างประเทศ’ คิกออฟ!! งานใหญ่เสริมแกร่ง SME 8-9 พ.ค.นี้ เอื้อโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างแดน

(4 พ.ค.67) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานใหญ่ให้ความรู้ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดและขยายโอกาสธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ SME รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง “FAST, FUTURE, FREE TRADE ขยายโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้า” ในวันที่ 8, 9 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ โรงแรม The Tide Resort Bangsaen Beach, Thailand จังหวัดชลบุรี

งานนี้ กรมการค้าต่างประเทศ นำขบวนทัพนักวิชาการให้ความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมกับความตกลงใหม่ล่าสุด กับความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา 🇹🇭รวมถึงการสมัครบัญชีผู้ใช้งานผ่านระบบ DFT SMART – I และการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยระบบ DFT SMART C/O รวมถึงการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดผ่านระบบ ROVERs PLUS 

เพราะสิทธิประโยชน์ทางการค้า คือ กุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ

พร้อมแล้วหรือยังกับการไขกุญแจเพื่อเปิดรับความรู้ดี ดี สิทธิประโยชน์ทางการค้า อย่าลืม อย่าพลาด...โอกาสดี ดี รีบลงทะเบียนด่วน

ฟรี...ฟรี มีที่นี่ กรมการค้าต่างประเทศ

‼️สนใจลงทะเบียนได้ที่ ‼️

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/LKVmVNc5Wf8YyjpN6

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/Ud74PVMatyrejQ5V7

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
📞 081-701-4654 , 063-792-4412
📞สายด่วน 1385
👉🏻Facebook กรมการค้าต่างประเทศ DFT
💻 www.dft.go.th

‘บีโอไอ’ เผยยอดลงทุนไตรมาสแรก ปี 67 แตะ 2.28 แสน ลบ. 5 อุตฯ มาแรง!! ‘อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-เคมี-ดิจิทัล-การเกษตร’

(2 พ.ค. 67) บีโอไอ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2567 เติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อน ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 724 โครงการ เงินลงทุน 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 นำโดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง สะท้อนศักยภาพของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีทองแห่งการลงทุน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน 

โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ของบีโอไอ 

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินลงทุนสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับ Power Electronics และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท ตามลำดับ  

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 105 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 785 โครงการ เงินลงทุนรวม 254,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 50,000 ตำแหน่ง สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 647 โครงการ เงินลงทุนรวม 256,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 107

“จังหวะเวลานี้มีความสำคัญ และเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ด้วยความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเสถียรของไฟฟ้าและความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ซัปพลายเชนที่แข็งแกร่ง คุณภาพของบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดี ปัจจัยที่เอื้อสำหรับการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในไตรมาสแรกนี้ มีการลงทุนสำคัญเกิดขึ้นในไทยหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการผลิตเอนไซม์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการไบโอรีไฟเนอรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความพร้อมของไทยสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และทำให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถตอบโจทย์การลงทุนในทิศทางใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกได้เป็นอย่างดี” นายนฤตม์ กล่าว

ผู้ถือหุ้น WHA Group ไฟเขียว จ่ายปันผลเพิ่ม 0.1170 บาทต่อหุ้น หลังผลประกอบการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566

(2 พ.ค.67) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท, นางสาว จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ร่วมด้วยคณะกรรมการ และผู้บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM)  

โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติจ่ายปันผลเพิ่มเติมอีกในอัตราหุ้นละ 0.1170 บาท คิดเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1,750 ล้านบาท โดยขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ส่งผลให้งวดปี 2566 มีการจ่ายปันผลรวมทั้งสิ้น 0.1839 บาทต่อหุ้น ซึ่งสอดรับกับการเติบโตของผลการดำเนินงานงวดปี 2566 ที่สร้างออลไทม์ไฮสูงสุดเป็นประวัติการณ์

‘ปตท.’ ผนึก ‘กฟผ.’ ร่วมทุนโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 หนุนนโยบายรัฐ ‘เสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ’ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.), นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. ในฐานะประธานกรรมการ PTTLNG, นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และนายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) ประกาศความสำเร็จการร่วมทุนใน บริษัท พีอี แอลเอ็นจี จำกัด (PE LNG) เพื่อดำเนินโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 (LMPT2) ระหว่าง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 

โดย PTTLNG และ กฟผ. จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน (50:50) พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เสริมความมั่นคงทางพลังงานแก่ประเทศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสความร่วมมือและการลงทุนร่วมกันต่อไป

‘ภูเก็ต’ คว้าชัยอย่างยิ่งใหญ่ ได้เป็นเจ้าภาพงานระดับโลก ขึ้นแท่นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และไมซ์อย่างยั่งยืน

(1 พ.ค. 67) นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ แสดงความยินดีกับจังหวัดภูเก็ตที่นำพาประเทศไทยปักหมุดบนเวทีโลกผ่านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานระดับโลก การประชุมด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Global Sustainable Tourism Conference 2026) หรือ GSTC 2026 

ถือเป็นการสร้างหมุดหมายใหม่ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและไมซ์อย่างยั่งยืนในอนาคต ถือเป็นชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ของประเทศไทย รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจ 6 จังหวัดอันดามัน ที่ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและไมซ์อย่างยั่งยืนในอนาคตที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

งานดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2569 ที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิด “Regenerative Tourism” เป็นการประชุมและสัมมนาเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวระดับโลกและท้องถิ่น มุ่งสร้างการมีส่วนร่วม สนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ โรงแรม บริษัททัวร์ บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้เกี่ยวข้องอีกมากมายเข้าร่วมงาน คาดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 700 คน จาก 60 ประเทศ สร้างรายได้กว่า 50 ล้านบาท

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน ชี้ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องดูที่ปากท้องของลูกจ้าง ย้ำ!! ไม่ใช่ยึดตามกำลังจ่ายของนายจ้าง มิเช่นนั้น จะไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ 

(1 พ.ค. 67) ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมของทุกปี กรณีกระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นครั้งที่ 3 ว่า 

ในความเห็นส่วนตัว มองว่าประกาศกี่ครั้งไม่สำคัญ เพียงแต่การประกาศในครั้งที่ผ่านมา ที่มีผลบังคับเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นได้ทำลายหลักการของค่าจ้างขั้นต่ำ คือ 1.การปรับค่าจ้างขึ้นในบางพื้นที่ บางอำเภอ ทั้งๆ ที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ต่างก็มีค่าครองชีพไม่ต่างกัน และ 2.การปรับขึ้นเฉพาะกิจการที่ทำเงินได้

“ทั้งสองอย่างนี้เป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยอาศัยความพร้อมของเจ้าของกิจการ แต่ตามหลักการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องดูจากความจำเป็นของลูกจ้างเป็นตัวตั้ง ถ้าหากเขาเดือดร้อน เจ้าของกิจการก็ต้องจ่ายเงินให้เพียงพอต่อปากท้องของลูกจ้าง อย่างในครอบครัวเดียวกัน คนหนึ่งทำงานในกิจการที่มีการเติบโต อีกคนอยู่ในกิจการที่ไม่เติบโต แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน แต่ค่าจ้างกลับไม่เท่ากัน เพราะเอาความพร้อมของนายจ้างเป็นตัวกำหนด แบบนี้ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าจ่ายตามกำลังของนายจ้าง แบบนี้เรียกว่า การขึ้นเงินเดือนตามปกติของนายจ้าง ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ศาสตราภิชาน แล กล่าวอีกว่า วันนี้กระบวนการแรงงานควรใส่ใจประเด็นนี้ให้มาก เพราะไม่เช่นนั้นการขึ้นค่าจ้างจะกลายเป็นการยึดตามกำลังจ่ายของนายจ้างเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ปากท้องของลูกจ้างเป็นตัวตั้งอีกต่อไป นอกจากนั้น นายจ้างหลายคนยังเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน จะเห็นได้ว่า แรงงานหลายคนทำงานหลายปี แต่เงินค่าจ้างก็ยังได้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ

“ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้มีตัวเลขในการกำหนดค่าจ้างที่ต่ำที่สุดที่นายจ้างต้องจ่าย หากจ่ายต่ำกว่านั้น จะผิดกฎหมาย แต่กลับกลายเป็นนายจ้างหลายคนเอาตัวเลขนั้นมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่หลักการถูกบิดเบือนไปมาก โดยเฉพาะหลักเกณฑ์คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนด แต่หากดูในรายละเอียด พบว่าคนที่มีกำลังซื้อมาก ก็จะได้สินค้าในราคาที่ต่ำลง เช่น แรงงานที่รายได้น้อย มีเงินซื้อข้าวสารได้ทีละลิตร ในขณะที่คนมีรายได้สูง สามารถซื้อข้าวได้เป็นกระสอบ ซึ่งราคากระสอบก็ถูกกว่าราคาลิตร สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาคิด เพราะถ้าดูค่าการเติบโตของจีดีพีประเทศที่สูงขึ้นจากรายได้ของนายทุน แต่ขณะที่จีดีพีของชาวบ้านไม่ได้ขึ้นตาม ดังนั้น เราต้องคุยกันในรายละเอียดมากขึ้น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมี แต่ไม่ใช่ยึดเป็นค่าจ้างขั้นสูง ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียกร้องของลูกจ้าง” ศาสตราภิชานแลกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top