Monday, 29 April 2024
ในหลวงรัชกาลที่10

‘อ.ยักษ์’ เผยการทรงงานเพื่อคนไทยของ ‘ในหลวง ร.10’ ทุ่มทรัพย์ส่วนพระองค์มหาศาล แต่น้อยคนนักที่จะรู้ 

เป็นอีกหนึ่งคลิปที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ โดยช่อง YouTube KU Radio Thailand ได้เผยแพร่คลิปการบรรยายของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ผู้น้อมนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ความพอเพียง ในหัวข้อ ‘การบูรณาการศาสตร์พระราชาศาสตร์กลและศาสตร์ชุมชน’ ไว้เมื่อ 9 ก.พ.ปีที่แล้ว โดยจากบรรยายดังกล่าวได้มีการสรุปไว้ว่า…

การ #ทรงงานในปัจจุบัน ของในหลวง ร.10 ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบมาก่อน

จากคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำโคกหนองนา มาเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้มาดูคลิปนี้ของ อ.ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร

คลิปนี้ อ.ยักษ์ บรรยายเรื่อง ‘การบูรณาการศาสตร์พระราชา ศาสตร์สากล และศาสตร์ชุมชน’ บรรยายไว้เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ความยาวเกือบ 3 ชม. 

อ.ยักษ์ เล่าถึงการทรงงานของในหลวง และการถวายงานต่อในหลวง ร.10 คร่าวๆ ดังนี้

>> อ.ยักษ์ ท่านเริ่มด้วยการพูดถึงในหลวง ร.10 ว่าวัยรุ่นในยุคนี้ไม่ค่อยชอบท่านเท่าไหร่ แม้กระทั่งคนในรุ่น อ.ยักษ์ เองก็ได้ยินเรื่องข่าวลือต่างๆ นานา มาด้วยเหมือนกัน แต่พอได้มาเห็นการทรงงานของท่านมาเป็น 10 กว่าโครงการ หมด ‘เงินส่วนพระองค์’ มา #หลายหมื่นล้านจนอาจจะถึงแสนล้านด้วยซ้ำ ซึ่งเงินตรงนี้คนละส่วนกับงบประมาณแผ่นดินของทางราชการนะครับ และทุกโครงการล้วนทำเพื่อประชาชน

>> ในทุกๆ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินจะทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษบางส่วน ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งมีนักโทษที่จะได้รับอภัยโทษมีประมาณ 3 หมื่นกว่าคน แล้ว ร.10 ท่านยังไม่ลงพระปรมาภิไธย (วีโต้) และท้วงติงไปว่าถ้าปล่อยออกไปตอนนี้จะดีหรือ เพราะตอนนี้คนตกงานกันเยอะ บริษัทก็ปิด วิศวกร หมอ และทุกๆ คนลำบากกันหมด แล้วคนที่ออกจากเรือนจำ เป็นคนคุก ออกไปแล้วจะไปหากินได้อย่างไร ท่านจึงพระราชทานแนวทางมาให้ว่าให้ฝึกอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ในเรือนจำดู (แบบที่ท่านทำที่ราบ 11)

>> อ.ยักษ์และทีมงานเป็นผู้เขียนแบบถวาย ดำเนินงานฝึกอบรม ตรงนี้อาจารย์เล่าว่าในระหว่างที่ทำงานถวายท่านเนี่ย ท่านจะให้ทำรายงานถวายทุกวัน เช้า-เย็น ต้องมีภาพและวิดีโอ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้มาเบิกกับท่าน ท่านรู้ว่ากรมราชทัณฑ์ไม่มีงบประมาณตรงนี้ ท่านไม่อยากให้ไปกระทบกับงบประมาณของรัฐบาล ท่านให้มาเบิกกับท่านทุกอย่าง 

>> ท่านให้เปิดพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศ 137 ศูนย์ฝึก ใช้เวลาแค่ 1 สัปดาห์ ซึ่งทำสำเร็จ และยังมีการฝึกอบรมต่อเนื่องอยู่ในปัจจุบัน (อ.ยักษ์ บอกแกทำศูนย์ฝึกมา 20 ปี ได้แค่ 40 ศูนย์)

>> #จุดน่าสังเกตคือ ในทุกๆ ภาพวาดฝีพระหัตถ์พระราชทาน ล้วนออกมาในช่วงเวลาที่งานมีความคืบหน้าไปในแต่ละขั้นตอน ซึ่ง อ.ยักษ์ ได้อธิบายในคลิปอย่างละเอียดในแต่ละรูป

>> ร.10 ท่านไม่ประสงค์จะให้ประชาสัมพันธ์ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา ใครจะว่าร้ายอย่างไรก็ปล่อยเขา อ.ยักษ์ บอกตรงนี้คงเป็นวิบากของท่าน เพราะทำดีแต่คนก็ยังด่า ยังเข้าใจแบบผิดๆ

>> ร.10 ท่านบอกว่าต้องทำโมเดลให้ออกมาทำตามง่าย เข้าใจไม่ยาก ให้ทำแบบ Kiss คือ keep it simple, stupid (ตรงนี้ผมไปค้นหาที่มา พบว่าทฤษฎีนี้มาจาก U.S. Navy ครับ) ท่านบอกว่าท่านตามเสด็จพ่อกับแม่ท่านมา (ร.9, พระพันปี) ท่านไม่เห็นเคยได้ยินแบบที่ข้าราชการหรือนักวิชาการเอาไปเขียนเลย ท่านบอก ร.9 เนี่ยท่านให้ทำแบบง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ชาวบ้านสามารถทำตามได้ (บางทีข้าราชการนำหลักการของท่านไปตีความและถ่ายทอดมาจนผิดเพี้ยนและเข้าใจยาก)

>> นอกจากนี้ อ.ยักษ์ ยังได้สรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับโครงการที่ ร.10 ท่านทำ #บางโครงการ ดังนี้…

1.) ตั้งโรงเรียนจิตอาสาฝึกอบรม (เข้าใจว่าในวัง) เพราะท่านเห็นว่าระบบราชการในปัจจุบันนี้สู้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ 

2.) ระดมคนที่ผ่านการฝึกอบรมจิตอาสามาตั้งศูนย์ฝึกที่ราบ 11 ในพื้นที่ 200 กว่าไร่

3.) จัดโครงการ 8 วิธีแบบง่ายๆ ส่งจิตอาสาไปช่วยภาครัฐสู้กับภัยแล้ง

4.) นำนักเรียนจิตอาสารุ่นที่ 2 ไปร่วมมือกับเครือข่ายชาวบ้าน ไปทดลองทำป่าต้นน้ำที่ต้นน้ำน่าน ทำไว้เป็นต้นแบบ และให้ไปช่วยเหลือกันทั่วประเทศเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

5.) คนตกงานกันมากหลังจาก COVID-19 โดยให้นำฟาร์มตัวอย่างของพระพันปีหลวงไปรองรับคน พันกว่าคนใน 30 ฟาร์ม โดยภายใน 1 เดือนแรกต้องให้มีกินให้ได้ จะปลูกถั่วงอก ผักบุ้ง หรืออะไรก็ได้ และต้องมีเหลือไปฝากพ่อกับแม่ หรือว่าว่าเอาไปแจกจ่ายให้กับคนที่ตกงานและไม่มีโอกาสได้เข้ามาอยู่ในฟาร์ม ยังไม่ให้ขาย ค่อยขายตอนรอต่อยอดไปเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เอาไปแปรรูป ท่านอยากให้มีบริษัทในชุมชน ประมาณนี้

6.) 137 ศูนย์ฝึกในเรือนจำ

7.) ไปพัฒนาโรงเรียนแบบ PBL - Project-Based learning (แนวคิดของ John Dewey) เป็นการเรียนรู้จากปัญหาจริง โดยเริ่มจากโรงเรียนมัธยมในจังหวัดน่านก่อน โดยเน้นจาก (1.) เปิดห้องเรียนเอาปัญหาจากภายในมาศึกษา (ครอบครัว,ชุมชน) ไม่ใช่ศึกษาแต่ปัญหาของต่างประเทศ (2.) ใช้การเรียนแบบ active learning แก้ปัญหาร่วมกันทั้ง ครู พ่อแม่ และนักเรียน (3.) เปลี่ยนวิธีการประเมิน จากที่เคยใช้ KPI มาใช้ OKR, Competency Assessment (การประเมินสมรรถนะ) 

8.) พระราชทานที่ดินในพระตำหนักอาคารทรงไทย (ที่ๆ ร.5 นั่งทอดปลาทู) ทำโครงการกตัญญูต่อ ร.5 และต่อพระราชบิดา (ร.9) - พระราชมารดา โดยจะนำเอาองค์ความรู้ที่ ร.9 ทำมาตลอดกว่า 70 ปี มาย่อให้เข้าใจง่ายๆ แบบ Kiss - keep it simple, stupid

‘ศาสน์-กษัตริย์’ เสาหลักค้ำจุนกันและกัน

คำยืนยันจากหลวงปู่มั่น!! ‘ศาสน์-กษัตริย์’ เปรียบเสมือนเสาหลักค้ำจุนกันและกัน...เมื่อใดขาดธรรมราชา เมื่อนั้นอาจถึงคราวสาบสูญของพระอริยะ!!

เรื่องของพระอริยบุคคลนี้ พระอาจารย์มั่นปรารภไว้หลายสถานที่ หลายวาระต่าง ๆ กัน แล้วแต่เหตุ
ท่านกล่าวว่า ชาวพุทธมีหลายประเทศ แต่จะขอกล่าวเฉพาะที่ใกล้เคียง คือ เขมร ลาว เวียดนาม และพม่า นอกนี้ไม่กล่าว

พระอาจารย์มั่นบอกว่า…

“เราไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้น...แต่ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีก็ว่าไม่มี มีก็ว่ามี”
ท่านหมายถึงว่า พระอริยบุคคลในประเทศเหล่านี้มีที่ประเทศพม่าเพียงคนเดียว อยู่ในหมู่บ้านที่ท่านไปจำพรรษา เป็นผ้าขาว (อุบาสกผู้ถือศีล) ซึ่งเล่ากันว่า บุตรสาว บุตรเขย และบุตรชายของผ้าขาวคนนั้นล่ะ ที่มาจัดเสนาสนะของบิดาเพื่อถวายพระอาจารย์มั่นและท่านเจ้าคุณบุญมั่นครั้งจำพรรษาที่ประเทศพม่า

ท่านว่า...

“ยกเว้นสยามประเทศแล้ว...นอกนั้นไม่มี!
สำหรับสยามประเทศตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน...มีติดต่อมาโดยไม่ขาดสาย ทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงและบรรพชิต แต่มรรคขั้นต้นคฤหัสถ์มากกว่าทั้งปริมาณ และมีสิกขาน้อยกว่า”

ทรงอยู่ข้างคนไทย ไม่ว่าภัยโควิดจะใกล้เพียงใดก็ตาม

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์รวมกว่า 2,852,144,487.59 บาท สมทบทุน-จัดอุปกรณ์การแพทย์ รับมือวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ (23 กรกฎาคม 2564) ที่เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัย เผยแพร่ข้อความ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชนและบุคลากรการแพทย์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นอย่างยิ่ง  

โดยพระราชทานทรัพย์เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้...

‘ถุงพระราชทาน’

‘ถุงพระราชทาน’ ไม่ได้มาจากงบประมาณภาษีที่รัฐบาลจัดสรรให้กับในหลวง ไม่ใช่เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนเอามาแจกประชาชนตามที่มีผู้พยายามบิดเบือน

แต่มาจากการทำงานและทุนดำเนินการซึ่งเป็นดอกผลของ ‘มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์วาตภัยครั้งใหญ่ในอดีต

ชื่อของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ หมายความว่า ‘พระราชา’ และ ‘ประชาชน’ อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเงินทุนที่ใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานนั้น นอกจากดอกผลของมูลนิธิฯ แล้ว ยังมาจากเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศร่วมกันบริจาค รวมถึงเงินที่ในหลวงทรงพระราชทานเป็นทุนดำเนินงานด้วย

แลนด์มาร์กแห่งใหม่

อีกไม่นาน สวนสัตว์ (เขาดิน) แห่งใหม่ที่จังหวัดปทุมธานี คลอง 6 ซึ่งตั้งบนที่ดินพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 10 จำนวน 300 ไร่ จะกลายเป็นพื้นที่กิจกรรม แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสัตว์จากแหล่งต่างๆ ในรูปแบบที่ทันสมัยและสวยงาม พร้อมเป็น Landmark ใหม่ของจังหวัดปทุมธานีในเร็ววัน

โดยเมื่อ 26 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา มติ ครม. ได้อนุมัติโครงการลงทุนก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลอง 6) จังหวัดปทุมธานี ในกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,974.65 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 และวงเงินเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1,109.07 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ 

ระยะที่ 1 มีมูลค่าการก่อสร้าง 5,383.82 ล้านบาท (ครม. ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อ 11 ม.ค. 65)
ระยะที่ 2 มีมูลค่าการก่อสร้าง 4,340.16 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะมีวงเงินโครงการทั้งสิ้น 10,974.65 ล้านบาท

สำหรับ โครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลอง 6) จะเป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยระดับนานาชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ชีวิตสัตว์ป่า การอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย และเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งนันทนาการรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการตั้งอยู่ที่ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังนี้...

1.) พื้นที่จัดแสดงสัตว์และนิทรรศการ 171 ไร่
2.) พื้นที่ป้องกันน้ำท่วมและถนน 42 ไร่
3.) พื้นที่ส่วนบริหารและวิจัย 33 ไร่
4.) พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 21 ไร่
5.) พื้นที่ส่วนกลางและเชิงพาณิชย์ 18 ไร่
6.) ที่จอดรถ 15 ไร่

ความรู้สึกของคนเป็น ‘พ่อ’

ยามลูกมีทุกข์ ‘พ่อ’ ทุกคน มีความรู้สึกอย่างไรกับลูก ฉันใด
‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ กับพสกนิกรของพระองค์ยามนี้ ก็ฉันนั้น

ทราบหรือไม่ว่าการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงย้าย ‘สนามม้านางเลิ้ง’ ออกไป มีความหมายเพียงใด? 

ที่ดินผืนนี้มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ เป็น ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ราชตฤณมัยสมาคมเช่าทำสนามม้า สนามกอล์ฟมายาวนาน เมื่อหมดสัญญา ไม่มีพระราชประสงค์ให้เช่าต่อ ทรงนำที่ดินกว่า 200 ไร่นั้น แปลงจากสนามม้าเพื่อคนเฉพาะกลุ่มเป็น ‘สวนสาธารณะ’ เพื่อพสกนิกรทั้งแผ่นดินได้ใช้เป็นรมณียสถานแห่งชีวิตคุณภาพ

พูดกันชัด ๆ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ราชตฤณมัยสมาคมเช่ากลับคืนมา รื้อทิ้งสนามม้า สนามกอล์ฟ อะไรมิต่ออะไร ออกไปทั้งหมด แล้วทำเป็น ‘สวนสาธารณะ’ ให้ประชาชนใช้ เพิ่มสีเขียวเป็นปอดให้คนกรุงเทพฯ

ที่สำคัญยิ่ง สวนสาธารณะร่วม 216 ไร่ นี้ ยังเป็นสถานที่ตั้ง พระบรมราชานุสาวรีย์ ‘พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙’ ซึ่งนับเป็นของขวัญล้ำค่าที่พระองค์ทรงมอบให้คนไทยได้สืบสาน-รักษา ‘รากรัก’ ของลูก ๆ ทั้งแผ่นดิน ที่หยั่งลึกพันผูกต่อพ่อบนฟ้าอันยากถอนพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ อันจะเป็นสายใยสืบสานความจงรักและคิดถึง ‘พ่อบนฟ้า’ นั้น ทั้งรักษาความผูกพัน ‘พระภูมิพล’ พ่อของแผ่นดินกับลูก ๆ ทุกคนคือพสกนิกร ไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย

คิดถึงพ่อ ก็มีที่ให้มากราบ ให้มาถวายราชสักการะ ให้มาคุกเข่าแหงนหน้ามองดูพ่อ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 10 สุดหาสิ่งใดเปรียบแล้ว

กล่าวย่นย่อถึงการ ‘สืบสาน-รักษา’ แล้ว มิเพียงแค่นั้น ธ ยังทรงต่อยอดการสืบสานด้วยพระวิสัยทัศน์กอปรน้ำพระทัยเมตตาอีกหลายกรณี เช่น สร้างสวนสาธารณะแล้ว ยังทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยต่อไป ถึงด้านความสะดวกของประชาชนที่จะมาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายในสวนแห่งนี้ จึงทรงให้สร้างที่จอดรถใต้ดิน 3 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ประมาณ 700 คัน

มีอะไรบ้าง ที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนแล้วที่พระองค์จะไม่ทรงทราบ?

ทุกอย่างล้วนอยู่ในสายพระเนตร

กระทั่ง ‘โรงพยาบาลรามาธิบดี’ แต่ละวัน ผู้เจ็บป่วยและประชาชนเดินทางไปหาหมอทะลักล้น แต่สถานที่จอดรถ เป็นปัญหามาก จึงทรงให้สร้าง ‘อาคารจอดรถ’ โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วย

เท่านี้ก็ว่าครอบคลุมด้าน ‘อำนวยสะดวก’ ในความเป็นสวนสาธารณะเกินพอแล้ว

ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์

ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา และเป็นปีที่ 6 แล้ว ในรัชกาลปัจจุบัน หลาย ๆ คนคงได้เห็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ ว่าพระองค์ได้ทรงรับคนยากไร้ หรือประชาชนที่เจ็บป่วยไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์อยู่ตลอด

แต่ก็คงไม่รู้กันว่า ที่ผ่านมาทั้งหมดมีจำนวนเท่าไหร่แล้ว ?

เพจ ‘ไทยรักษา’ ได้รวบรวมค่ารักษาพยาบาลที่ทรงรับผิดชอบดูแล โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจำนวนเคสที่เกิดขึ้น

โดยพบว่าในรัชกาลปัจจุบัน มีคนไข้ที่ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้วรวมกว่า 601 เคส รับผิดชอบค่ารักษาไปแล้ว 54,612,025 บาท 

ถือว่าไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย และเป็นแค่จุดเล็กของด้านการสาธารณสุข ยังไม่รวมกับการพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้อีกหลายโรงพยาบาล ทั่วประเทศ รวมแล้วกว่าพันล้านบาท

จิตอาสาพระราชทาน พระราชปณิธานเพื่อ ‘ปวงชน’

ย้อนไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2560 เหล่าข้าราชบริพารในพระองค์ หน่วยราชการในพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา ได้ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ บริเวณชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ของปวงชนชาวไทย ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ 904 ร่วมกันจัดโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน 

อีกทั้ง เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติ มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยราชการในพระองค์ 904 เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการและประสานการ ปฏิบัติเพื่อให้การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เป็นไปอย่างต่อเนื่องถูกต้องตามพระราโชบาย และสมพระเกียรติ

ในระยะเริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปณิธานในการบำเพ็ญประโยชน์พื้นที่ชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิตเป็นการทำความดีด้วยหัวใจ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์หน่วยทหารรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ร่วมกับประชาชนจิตอาสา ‘เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ’ ร่วมกันดูแลและพัฒนารักษาพื้นที่จากชุมชนเล็ก ๆ รอบพระราชวังดุสิตขยาย สู่พื้นที่โดยรวมของประเทศในการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

เรามาทำความรู้จักกับ ความหมายของ ‘จิตอาสา’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ ‘จิตอาสา’ ดังนี้ 

‘จิต’ เป็นคำนาม หมายถึง ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิด และนึก

‘อาสา’ เป็นคำกริยาหมายถึง เสนอตัวเข้ารับทำ

ดังนั้นเมื่อรวมกันเป็น ‘จิตอาสา’ จึงหมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจสมัครใจอิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย แรงสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ในการทำกิจกรรมหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดาย เมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนแปลงเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย ‘บุญ’ คือความสงบเยือกเย็น และพลังแห่งความดีอีกทั้งยังช่วยลด ‘อัตตา’ หรือความเป็นตัวตนของตนเองลงได้

ที่ผ่านมา ภาพของความสมัครสมานร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวไทย ที่มีสัญลักษณ์ที่สังเกตได้ง่าย นั่นคือ หมวดสีฟ้า และผ้าพันคอสีเหลือ มักจะพบเห็นได้อย่างสม่ำเสมอตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ผ่านโครงการ ‘หน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ’ ที่ได้ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เฉลิมพระเกียรติมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ

'ผู้พันเบิร์ด' เผย ข่าวให้ร้ายสถาบันฯ มาจากผู้เสียผลประโยชน์ ยืนยัน!! 'ในหลวง' ไม่เคยแบ่งแยก มองทุกคนเป็นคนไทย

'ผู้พันเบิร์ด' บรรยายพิเศษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนม 70 พรรษา ย้ำ ข่าวลือให้ร้ายสถาบัน เกิดจากกลุ่มเสียผลประโยชน์ ยัน 'ในหลวง' ไม่เคยแบ่งแยก มองทุกคนเป็นคนไทย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 พ.อ. วันชนะ สวัสดี หรือ ผู้พันเบิร์ด รองโฆษกกระทรวงกลาโหม และจิตอาสา 904 บรรยายพิเศษในงานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ วันเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ จ.นครนายก และนักเรียนเสธนาธิการทหารบกหลักสูตรหลักประจำชุดที่ 100 ในตอนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องข่าวลือให้ร้ายสถาบันว่า เกิดจากพวกเสียประโยชน์ประกอบกับ พวกแสวงประโยชน์ผสมโรงให้ร้าย บิดเบือน ในหลวงไม่เคยมองใครเป็นคนอื่น ทุกคนคือ เรา พวกเรา คือคนไทย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และทรงตอบคำถามแบบเป็นกันเอง ว่า

"ไม่มีใครคิดว่าหนูเป็นอื่น และหนูก็ไม่ได้เป็นอื่น เป็นคนไทย"

ผู้พันเบิร์ด ยังระบุอีกว่า ในต้นรัชกาลที่ 9 ก็เจออุปสรรคมากมาย แต่พระองค์ก็ใช้ความเพียร จนเอาชนะมาได้ จนมาวันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็อยู่ช่วงต้นรัชกาลเช่นกัน ข่าวลือในทางลบก็เกิดมาก แต่พระองค์ก็มีราชธรรมและบารมี ที่รวมใจคนไทยไว้ได้ โดยทั้งสองพระองค์ไม่เคยคิด แบ่งเขาแบ่งเรา ทุกคนที่ได้อาศัยผืนดินแห่งนี้ คือ พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ชนชาติใด ไม่มีคำว่าคนอื่น เป็นครอบครัว

'สมเด็จพระสังฆราช' มีพระดำรัสถวายพระพรแด่ในหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

(28 ก.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เผยแพร่พระดำรัสเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ความว่า

“อภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง อาตมภาพในนามคณะสงฆ์ ขอตั้งกัลยาณจิตร่วมกับปวงชนชาวไทย สำแดงมุทิตาปราโมทย์ และถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ราชอาณาจักรไทยจักสถาพรดำรงมั่น ก็เพราะนานาสถาบัน ซึ่งประกอบกันขึ้นจากปัจเจกบุคคล สามารถดำเนินสรรพกิจ สอดประสานร่วมมือกันได้อย่างราบรื่น บนพื้นฐานของความสามัคคี โดยมีจิตสำนึกร่วมกัน ในอันที่จะละอายชั่ว และเกรงกลัวต่อการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมสังคม พร้อมทั้งเป็นผู้นิยมยินดีในธรรม บำเพ็ญกรณียกิจอย่างเฉลียวฉลาดรอบคอบ ประกอบด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันอย่างจริงใจ อันจะยังผลให้บังเกิดสันติสุขในแต่ละภาคส่วน จนขยายวงไปสู่ประชาชาติไทยในภาพรวมได้ในที่สุด ปรารภเหตุฉะนี้ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ 
จึงทรงรักษาพระราชธรรมทุกหมวดหมู่ ให้เป็นคุณเครื่องอยู่ประจำพระราชหฤทัย เป็นวิถีทางดำเนินไปแห่งพระราชปฏิบัติ พร้อมกันนั้น ก็ทรงพระราชอุตสาหะจัดแจงให้ราษฎร สมัครสโมสรอยู่ในธรรม มีสติปัญญา และมีเมตตากรุณาต่อกัน ด้วยการดำเนินพระบรมราโชบายด้านการศึกษา การอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา และการจรรโลงศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนค่านิยมอันดีงามของชาติไทย ให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมา

สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงตั้งพระบรมราชปณิธาน และทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริทั้งนั้น ของสมเด็จพระบรมราชบุพการี เพื่อให้บ้านเมืองไทยประสบความเกษมโสตถิ์ อำนวยผลให้ทรงสำเร็จประโยชน์ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาราษฎรใต้ร่มพระบารมี ซึ่งจัดเป็นหน้าที่ ตามพระราชสถานะธรรมิกราชา สมด้วยโพธิสัตวภาษิต อันมีมาใน “มหาโพธิชาดก” ว่าด้วยปฏิปทาของผู้นำ ความว่า

สาธุ ธมฺมรุจี ราชา สาธุ ปญฺญาณวา นโร

สาธุ มิตฺตานมทฺทุพฺโภ ปาปสฺสากรณํ สุขํ.

แปลความว่า “พระราชาทรงชอบใจในธรรมจึงจะดีงาม นรชนมีความรู้รอบจึงจะดีงาม ความไม่ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นความดี การไม่กระทำบาป เป็นสุข” ด้วยประการฉะนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top