Tuesday, 14 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่10

7 เมษายน พ.ศ. 2562 ‘ในหลวง ร.10’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ “ขอให้นำความรู้ที่เรียนมา ใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเอง-ส่วนรวม”

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2560 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ 1

ทั้งนี้ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราโชวาท โดยมีความว่า “ขอให้บัณฑิต นำวิชาความรู้ที่เรียนมานั้น นำไปใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเองและส่วนรวม โดยใช้สติปัญญา ตลอดจนเมตตาธรรม และความตั้งใจที่ดี เพื่อนำไปสู่ความเจริญของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนตนเองได้ต่อไป”

‘น้องโฟล์ค’ นศ.ราชภัฏจันทรเกษม เปิดใจเล่าทั้งน้ำตา หลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทุนการศึกษา

(7 เม.ย.67) นายรัชพล เจริญผล โฟล์ค นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้เปิดใจ เล่าทั้งน้ำตาว่า 

ตนเองได้เขียนฎีกา ถวายในหลวงรัชกาลที่ 10 ขอทุนการศึกษาเพราะตนเองมีปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนจึงตัดสินใจเขียนถวายฎีกา ก่อนที่ราชเลขาฯในหลวงรัชกาลที่ 10 จะติดต่อกลับมาและได้ประสานทางมหาวิทยาลัยให้โอกาสตนได้เรียนหนังสือ

โดยทางด้าน “น้องโฟล์ค” ได้เล่าว่า ทางบ้านมีปัญหาเรื่องค่าศึกษาเล่าเรียน ตอนนั้นผมก็เขียนไปหาพระองค์ท่านด้วยใจจริง แล้วก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อกลับมา จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สอบถามความเป็นอยู่ทางบ้าน รู้สึกตื้นตัน ปลาบปลื้มมาก รู้สึกซาบซึ้ง เพราะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยมาก แต่พระองค์ท่านมองเห็น มีพระเมตตาที่เห็นจดหมายเล็กใบหนึ่ง แล้วตอบกลับมา พระองค์ท่านช่วยผม

ซึ่งเจ้าตัวกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ตอบแทนที่พระองค์ท่านเมตตาให้ทุนการศึกษามา

‘วันฉัตรมงคล’ ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ‘ในหลวง ร.10’ แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า ‘เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’

ทั้งนี้ คำว่า ‘ฉัตรมงคล’ หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า ‘พระบาท’ นำหน้า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า ‘พระบรมราชโองการ’ และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

ครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 รัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 จึงถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล

หลังจากรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิก วันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคลเดิม 

กำหนดวันฉัตรมงคลขึ้นใหม่ เป็นวันที่ 4 พฤษภาคม เนื่องจากวันฉัตรมงคลถูกกำหนดขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ถอดความหมาย ‘ทศมราชัน’ ชื่อพระราชทาน ‘สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9’ จากในหลวง รัชกาลที่ 10

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 สำหรับข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ‘ทศมราชัน’ อ่านว่า ทด-สะ-มะ-รา-ชัน สะกดเป็นภาษาอังกฤษ ‘Thotsamarachan’

ทศม (ทัสสะมะ) แปลว่า ที่สิบ มาจากรากศัพท์ว่า ทส ธาตุ หมายถึง 10 บวกกับ ม (มะ) ปัจจัย ราชัน แปลว่า พระราชา มาจากรากศัพท์ว่า ราช (ราชา) หมายถึง ปกครอง บวกกับ น (นะ) เป็น ราชัน (ราชา-นะ) แปลว่า ผู้ปกครองหรือ พระราชา

เมื่อนำ ทศม (ทัสสะมะ) มาผสมกับ ราชัน (ราชา-นะ) จึงได้เป็น ทศมราชัน (ทดสะมะ-รา-ชัน) ซึ่งแปลว่า พระราชาลำดับที่สิบ

นับว่าเป็นชื่อมงคลและมีความหมายที่ดี เพราะตัวสะพานตั้งทอดเลียบคู่กับสะพานพระราม 9 อันหมายถึง พระรามที่ 9 ซึ่งเป็นพระรามเรียก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาของในหลวงรัชกาลปัจจุบันนั่นเอง

>>สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 (ทศมราชัน) เปิดใช้วันไหน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เคยกล่าวว่า “สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) แบบเสาคู่ที่สร้างคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ซึ่งถือว่าเป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาออกแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงาม และเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย”

ด้านนายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา กทพ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “สะพานนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย รองรับการสัญจรถึง 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร (สูงเท่ากับสะพานพระราม 9 เดิม) และหากเปิดให้บริการ”

“คาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้มากถึง 150,000 คัน/วัน ช่วยลดความแออัดทางจราจรบริเวณทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จาก 100,470 คัน/วัน เหลือ 75,352 คัน/วัน หรือลดลง 25% และสามารถ เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวงอีกด้วย”

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะเปิดใช้สะพานขึงใหม่คู่ขนานสะพานพระราม 9 อย่างเป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคม 2567

>> เส้นทาง สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ไปยังไง

🔴ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก
-รถแท็กซี่/รถยนต์โดยสาร ถ้าขึ้นทางพิเศษเฉลิมมหานครจากเส้นทางบางนา, แจ้งวัฒนะ สามารถลงทางด่วนที่ด่านบางโคล่

🔴รถเมล์

-รถเมล์สาย 102 ปากน้ำ – สาธุประดิษฐ์
-รถเมล์สาย 3-52 เซ็นทรัลพระราม 3 – หัวลำโพง
-รถเมล์สาย 67 วัดเสมียนนารี – สาธุประดิษฐ์

>>สรุปข้อมูลสะพานทศมราชัน
-วันที่เริ่มการก่อสร้าง : วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)
-วันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ : วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023)
-บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
-ราคาค่าก่อสร้าง : 6,636,192,131.80 บาท
-แบบของสะพาน : สะพานขึงเสาคู่
-ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง : 41 เมตร (135 ฟุต)
-ความยาวของสะพาน : 780 เมตร (2,560 ฟุต)
-รวมความยาวทั้งหมด : 2 กิโลเมตร (1.2 ไมล์)
-จำนวนช่องทางจราจร : 8 ช่องทางจราจร
-ความกว้างสะพาน : 42 เมตร (138 ฟุต)

‘ดร.อานนท์’ เผย!! ‘ในหลวง’ ตั้งพระทัยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง มีพระราชศรัทธาใน ‘ท่านชยสาโร-ท่านอนิลมาน’ ปราศจากเรื่องเชื้อชาติ

(13 พ.ค. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“กราบสาธุการด้วยเศียรเกล้า
อนุโมทนาบุญสาธุการ

แม้จะเป็นยศช้างขุนนางพระ แต่ก็เป็นพระราชศรัทธาแห่งองค์พระมหากษัตริย์ 

ผู้ซึ่งตั้งพระทัยจะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง

พระต่างชาติสองรูปนี้ ท่านชยสาโร และท่านอนิลมาน เป็นพระชาวต่างประเทศ (อังกฤษและเนปาล) ได้มาบวชเรียนในประเทศไทยเป็นเวลานาน

เป็นหลักแห่งพระศาสนา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แสดงธรรมเทศนาเป็นธรรมทานและวิทยาทานแด่มหาชนสม่ำเสมอ

พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสากล ไม่มีเชื้อชาติศาสนา วรรณะ 

การที่พระมหากษัตริย์ของไทย มีพระราชศรัทธาในพระชาวต่างชาติเป็นเรื่องดีแห่งการก้าวพ้นสมมุติทั้งปวง คือมีพระราชศรัทธาในวัตรปฏิบัติและธรรมะโดยมิได้ทรงติดขัดในเรื่องเชื้อชาติแต่ประการใด 

ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระทั้งสองรูปนี้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว

พระพรหมพัชรญาณมุนี พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์

ขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญในธรรม

ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน”

นอกจากนี้ ล่าสุด (13 พ.ค. 67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา สมควรจะได้เลื่อนอิสริยฐานันดรในสมณศักดิ์สูงขึ้นมีอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา

พระธรรมพัชรญาณมุนี ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมพัชรญาณมุนี ศรีวิปัสสนาธุราจารย์ ไพศาลวิเทศศาสนกิจ วิสิฐสีลาจารดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จ.นครราชสีมา มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ พุทธพจนวราลังการ ไพศาลวิเทศศาสนคุณ วิบุลประชาสังคหกิจ ปฏิภาณธรรมวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2567 ประกาศ ณ วันที่ 13 พ.ค.นี้

สำหรับพระพรหมพัชรญาณมุนี มีนามเดิมว่า ฌอน ไมเคิล ชิเวอร์ตัน ฉายา ชยสาโร สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จ.นครราชสีมา เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษผู้ซึ่งถ่ายทอดความลึกซึ้งทางธรรมฉบับภาษาไทยได้อย่างสละสลวย และเป็นที่ประทับใจต่อพุทธศาสนิกชนทั่วโลก

ส่วนพระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ นามเดิม อนิลมาน นามสกุล ศากยะ ฉายา ธมฺมสากิโย เป็นพระภิกษุชาวเนปาล สัญชาติไทย บวชเป็นสามเณรในประเทศเนปาล และมาศึกษาพระธรรม ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่ออายุครบบวชจึงได้อุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงให้การอุปถัมภ์มาตั้งแต่เป็นสามเณร ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 6 -7 (ธรรมยุต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดบวรนิเวศวิหาร และอธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top