Tuesday, 14 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่10

'ดร.สมเกียรติ' ย้อนอดีต!! 'ในหลวง ร.๑๐' ทรงปฏิเสธวิจารณ์เรื่องบ้านเมือง ยกเป็นบทบาทของรัฐบาล ส่วนพระองค์ขอทำหน้าที่ให้คนไทยมีความสุข

เมื่อไม่นานมานี้ ติ๊กต็อกช่อง ‘Gaegood’ ได้โพสต์คลิป ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอาวุโส ได้เล่าเรื่องในอดีตเกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่เป็นมกุฎราชกุมาร ในมุมที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้ โดยระบุว่า…

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ครั้งที่เป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งทุกคนคงทราบกันดีว่าชาวบ้านต่างนินทาพูดคุยกันเยอะไปหมด…ซึ่งตอนพ.ศ. 2533 ครั้งที่ผมตามเสด็จไปถึงกรุงลอนดอน เพื่อจะทําข่าวที่คิดว่าครั้งนี้แหละประชาชนคนไทยจะได้เห็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารกับบรรดาปัญญาชนอังกฤษ แล้วก็งานของพระองค์…ซึ่งพระองค์จะอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ปี พระองค์นั้นทรงรอบรู้และก็เข้าใจ อีกทั้งยังรู้จักคนเยอะแยะไปหมด…พูดง่าย ๆ คือเนื่องจากพระราชภารกิจของพระองค์แม้จะเป็นมกุฎราชกุมารยังไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินก็จะมีโอกาสเดินทาง ซึ่งพระองค์มีทั้งปฏิสัมพันธ์ มี Connection มี Networking กับใคร ๆ ในโลกนี้… 

ซึ่งผมจะกราบบังคมทูลขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลก แต่ใจหายหล่นไปที่ตาตุ่ม เพราะว่าอดสัมภาษณ์…ทำให้คนไทยจะไม่ได้เห็นพระปรีชาสามารถนี้…โดยพระองค์บอกว่าคุณสมเกียรติ ไม่เอาดีกว่า ซึ่งอันนี้ผมพูดเป็นภาษาของผมนะ ผมไม่ได้บันทึกอะไรเสียงอะไรไว้ กล้องก็ยังไม่ได้เดินแต่ตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว โดยตั้งใจว่าวันนี้จะคุยเรื่องยูโรเปียน, Common market, อาเซียน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศในโลกนี้ ว่าพระองค์รู้จักอย่างไร โลกมันมีสงครามจะรักษาและสร้างสันติภาพอย่างไร ซึ่งพระองค์รู้หมดเลย เรียกว่าเป็นอาจารย์สอนนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ซึ่งก็เหมือนกับสมเด็จพระเทพฯ สอนที่จปร. ซึ่งพระองค์ก็บอกว่ามาคิดดูอีกทีนึง ไม่ดีกว่าและขอยกเลิกไป…

โดยพระองค์บอกว่าเราเป็นมกุฎราชกุมารมันไม่มีหน้าที่และไม่ควรที่จะไปพูดอะไรที่เป็นเรื่องบ้านเมืองหรือการเมือง และยิ่งเป็นเรื่องของโลก สงคราม สันติภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของมกุฎราชกุมาร หรือพระเจ้าอยู่หัว…ซึ่งอันนี้ผมอธิบายยาวกว่าที่พระองค์พูด เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ และจะได้เข้าใจว่าความผิดหวังของผมมันคือความเข้าใจนั่นเอง…ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบันของเราทําไมจึงเหมือนราชวงศ์อังกฤษเป๊ะเลย…กับการไม่เรียกร้องและไม่อธิบาย แม้ใครจะบ่นใครจะว่าอย่าง พิธา, ปิยบุตร, ช่อ พรรณิการ์, คนที่มีตําแหน่งทางการเมืองกันและเคยมี หรือประชาชนกลุ่มหนึ่งจะว่าอย่างไร ซึ่งพระองค์รู้แต่ก็ไม่วิจารณ์ ไม่ให้ความเห็น ไม่พูด ไม่บ่น ซึ่งเหมือนอังกฤษเลย จะยังไงเราก็จะทํางานทําหน้าที่นี้ต่อไป 

ดังนั้น อยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าพระองค์มีหน้าที่ที่จะต้องทําให้ประชาชนมีความสุข ไม่มีหน้าที่ที่จะพูดอะไรที่รัฐบาลเขาทํา แล้วเกิดรัฐบาลเขาไม่เห็นด้วย ก็ต้องกระอักกระอ่วน…

พระองค์เปิดกว้างและผ่านโลกแห่งความทันสมัยแห่งยุคสมัยของพระองค์และของเรา ซึ่งก็ยังอยู่ในโลกของความทันสมัย…ดังนั้น ต้องเข้าใจ ซึ่งตัวผมนั้นเข้าใจตั้งแต่ปี 2535 แล้วว่าพระองค์เก่งในเรื่องที่ชํานาญจริง ๆ ซึ่งผมอยากเอาความเก่งนี้มาให้ประชาชนคนไทยได้รู้ ทั้งนี้ รัชกาลที่ 10 งานที่เป็นหลักที่สุด คือ พระองค์จะใส่ใจในเรื่องโรงพยาบาลสําหรับชาวบ้านต่างจังหวัด ดังนั้น จึงริเริ่มก่อตั้งสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกหนแห่งทุกจังหวัดในประเทศไทยนั่นเอง…

'นายกฯ' สั่งหน่วยงานรัฐจัด 'โครงการ-กิจกรรม' เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.๑๐ กระตุ้นประชาชน 'มีส่วนร่วม-แสดงความจงรักภักดี' โดยทั่วกัน

(9 ม.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานตราสัญลักษณ์เนื่องในวโรกาสดังกล่าว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แสดงความจงรักภักดีโดยทั่วกัน

'สุริยะ' จัดพิธีมอบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 พร้อมเชิญชวนหน่วยงานในสังกัดร่วมแสดงความจงรักภักดี

'กระทรวงคมนาคม' จัดพิธีมอบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมเชิญชวนหน่วยงานในสังกัดร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เมื่อวานนี้ (7 ก.พ. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีมอบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมประชาสัมพันธ์การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี นางมนพร เจริญศรี, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงและหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมพิธี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า เนื่องในปี 2567 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ รัฐบาลจึงได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยกำหนดชื่อพระราชพิธีว่า 'พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567' ภาษาอังกฤษว่า 'The Celebration on the Auspicious of His Majesty the King’s 6th Cycle Birthday Anniversary 28th July 2024' และชื่อการจัดงานว่า 'การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567'

โดยกำหนดขอบเขตการจัดงานตลอดทั้งปี 2567 และเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอเชิญชวนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมเครื่องราชสักการะ ตกแต่งสถานที่ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติไทยคู่กับธงตราสัญลักษณ์ฯ พร้อมประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงาน และจัดการลงนามถวายพระพรภายในหน่วยงานหรือทางเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องและพร้อมเพียงกัน รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานให้การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในวาระมหามงคลนี้ด้วย 

ทั้งนี้ ทางกระทรวงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างสมพระเกียรติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ’ในหลวง ร.10‘ พระราชทานถุงยังชีพแก่ราษฎร 35 ครอบครัว หลังประสบอัคคีภัย ณ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทาน (เครื่องครัว เครื่องนอน) ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัยบริเวณชุมชนบ้านครัวตะวันตก ซึ่งได้เกิดเหตุอัคคีภัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 00.27 น. ที่ผ่านมา ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 8 หลังคาเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 35 ครอบครัว ณ สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ในโอกาสนี้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวกับราษฎรให้ได้รับทราบ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ’ในหลวง ร.10‘ ทรงมีพระราชดำริให้ ‘จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน’ หวังส่งมอบความรู้เบื้องต้นแก่ ‘ข้าราชการ-ประชาชน-จิตอาสา’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสุขภาพและพลานามัยของประชาชน จึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) แก่ประชาชนทั่วไป ที่โรงละคร สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า โดยมีพลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับมอบอุปกรณ์ฝึกสอนการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน จำนวน 220 ชุด ซึ่งประกอบด้วย

- หุ่นจำลองช่วยฟื้นคืนชีพผู้ใหญ่ - แบบครึ่งตัวมีไฟแสดง จำนวน 100 ชุด
- หุ่นจำลองเด็ก จำนวน 100 ชุด
- ชุดฝึกสอนการสำลัก Anti Choking ( Choking Training Vest) จำนวน 20 ชุด

จากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยแพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ส่งมอบ ซึ่งอุปกรณ์ฝึกสอนฯ ดังกล่าว บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สำหรับพระราชทานไปใช้ในกิจกรรมการฝึกอบรมการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้นให้กับ ข้าราชการ ประชาชน และจิตอาสา โดยมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการฝึกอบรม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการกองทัพไทย บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ พระราชทานสิ่งของแก่ ‘อาสาสมัครทหารพราน’ หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-ยิงปะทะ จ.นราธิวาส

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนกองร้อยทหารพราน นาวิกโยธินที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ขณะทำการลาดตระเวนบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านยะลูตง ตำบลกาเยาะมาตรี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย ดังนี้

- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐพล ชนะเกียรติ
- อาสาสมัครทหารพราน ดิฐวัฒน์ พุดหอม
- อาสาสมัครทหารพราน กฤษณะ แก้วมณี
- อาสาสมัครทหารพราน วัชรศักดิ์ ชูหอย
- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐวัฒน์ มณีพันธ์

โดยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ถือเป็นความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ‘ในหลวง ร.10’ เสด็จฯ เปิดโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ‘สืบสาน-รักษา-ต่อยอด’ พระราชปณิธาน ‘ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง’

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 19.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารบกหน่วยราชการในพระองค์ 904 (อาคาร 2) โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานโครงการ พร้อมด้วยกรรมการโครงการ และกรรมการชุมชนจากพื้นที่โครงการในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเส้นทางการคมนาคม ด้านสาธารณูปโภค ด้านอาชีพ ต่างๆ

จากนั้นได้พระราชทานพันธุ์ไม้ 2 พันธุ์ คือ มะม่วงมหาชนกและต้นรวงผึ้งให้กับนางกะมุ้ย นายวราวุฒิ เกสรพฤกษาทิพย์ กรรมการชุมชนไล่โว่ นายสุวิทย์เคียว เซ้ง และนางหน่อพิใจ กรรมการชุมชน สาละวะตามลำดับหลังจากนั้นเสด็จฯ ไปทรงเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี

การนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นทอดพระเนตรวีดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แล้วทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายแก่คณะกรรมการโครงการ

โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทั้งนี้ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต รวมทั้งทรงเห็นว่าพื้นที่ในโครงการเป็นชุมชนอยู่ติดชายแดนอันถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและรักษาต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น ในการนี้จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานตาม โครงการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ

โดยนับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการ ได้รับพระราชทานพระบรมราโชบายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางในการทำงานกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะอยู่ติดชายแดนและพื้นที่เป็นมรดกโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นหัวใจหลักของความเป็นมรดกโลกโดยให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และปัญหาเรื่องเส้นทางสัญจรเข้าออกชุมชนที่ทรงทราบว่ามีความยากลำบากในการเดินทางและเรื่องสุขภาพที่สัมพันธ์กับเรื่องเส้นทางสัญจรเป็นลำดับต้นในการดำเนินงาน

ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ จึงน้อมนำแนวทางตามพระบรมราโชบายข้างต้นมาทรงงานพัฒนาชุมชนบ้านไล่โว่และบ้านสาละวะร่วมกับคณะกรรมการโครงการฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนสาละวะจานวนราย 8 และชุมชนไล่โว่ 6 รายทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานรวมทั้งนำเสนอข้อมูล ปัญหา ความต้องการในเรื่องต่างๆ ได้แก่เรื่องเส้นทางสัญจรด้านสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนและเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่งจึงพบว่า นอกจากเรื่องเส้นทางสัญจรแล้วชุมชนต้องได้รับการพัฒนาในเรื่อง การบริหารจัดการน้า เรื่องสาธารณูปโภค และเกษตรกรรม

ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจริง 3 ครั้ง รวมทั้งมีการนำคณะกรรมการชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานพื้นที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในจังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการในพื้นที่ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ข้อสรุปในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุขที่ได้มีการอบรมประชาชนให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีการสร้างโรงเรือนอนามัยใน 2 ชุมชน ด้านเส้นทางการคมนาคมที่มีการแก้ปัญหาน้ำหลากบนเส้นทางสัญจรด้วยการสร้างรางระบายน้ำ ปรับผิวทางสัญจร และสร้างทางข้ามบริเวณเส้นทางตัดทางน้ำ ด้านสาธารณูปโภคที่ปรับปรุงระบบโซลาร์เซลล์ และจัดทำระบบ Hydropower เนื่องด้วยใน 2 ชุมชน มีปริมาณน้ำมาก จึงนำน้ำมาใช้เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำได้เป็นอย่างดี ด้านอาชีพและเกษตรกรรม และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เน้นเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการเกษตรทฤษฎีใหม่

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเน้นย้ำว่า ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาเป็นแนวทางการทรงงานในโครงการฯ รวมทั้งพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในเรื่องการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีการประสานความร่วมมือร่วมใจของส่วนราชการ กรรมการชุมชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลก อีกทั้งยังทรงเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่

'ในหลวงรัชกาลที่ 10' พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ พร้อมคติธรรม ธรรมนาวา 'วัง' หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

(21 มี.ค. 67) เว็บไซต์สำนักพระราชวัง โดยหน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน ‘หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์’ ฉบับธรรมนาวา ‘วัง’ แก่พสกนิกรไทย

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่ง แห่งองค์พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระราชฐานะพุทธมามกะและองค์อัครศาสนูปถัมภก ได้ทรงบำเพ็ญเพียรพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อทำนุบำรุง เจือจุน ให้พระพุทธศาสนา อันมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นพระศาสดา ได้ธำรงคงอยู่ให้พุทธบริษัททั้งหลายได้รับประโยชน์ โดยการศึกษา (ปริยัติ) น้อมนำพระธรรมคำสอนลงมือทำ (ปฏิบัติ) เพื่อเข้าถึง (ปฏิเวธ) ซึ่งสาระแก่นแท้ของพระศาสนา คือ ความสิ้นทุกข์

จึงได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการพระราชทานเผยแพร่หลักธรรมอันทรงคุณค่าที่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนประชาชนพลเมืองชาติ ทุกหมู่เหล่า ให้ได้ศึกษาหลักการวิธีปฏิบัติ อันได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตามพระธรรม คำสอน เพื่อเข้าถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่ชื่อว่า ‘พุทธะ’ คือสัจธรรมที่เป็นความรู้ อย่างผู้รู้แจ้งด้วยปัญญา ผ่านหลักสัจธรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่พระพุทธองค์นำมาบอกสอน ที่ชื่อว่า ‘ธรรมะ’ ด้วยการเป็นผู้น้อมนำประพฤติปฏิบัติจนสามารถรู้ตาม เห็นตาม ที่ชื่อว่า ‘สังฆะ’ อันพุทธะ ธรรมะ สังฆะนี้เป็นสรณะที่พึงยึดเป็นพลังทางใจ พลังทางสติปัญญา อย่างแท้จริง ตามแนวทางการปฏิบัติธรรมนาวาของ พระจารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นธรรมทาน เพื่อประโยชน์สุข อันพึงจะได้รับจากพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงผ่านหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติ แก่พุทธบริษัท และประชาชนทุกหมู่เหล่า ถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา มาตาปิตุบูชา อาจริยบูชา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทุกๆ พระองค์

30 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ เสด็จฯ เปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา รพ.ศิริราช ใช้รองรับผู้ป่วยนอกได้ 5 แสนราย/ปี พร้อมมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยเทียบเท่าสากล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรุงเทพฯ

ครั้นเมื่อเสด็จฯ ถึงโรงพยาบาลศิริราช สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงเฝ้าฯ รับเสด็จ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น พระองค์ทรงเสด็จฯ ไปถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แล้วเสด็จฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล และจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ความว่า…

“ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภคทดแทนกลุ่มอาคาร 3 หลัง ได้แก่ อาคารหริศจันทร์-ปาวา ตึกผะอบนพ สุภัทรา ระเบียบ และอาคารเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม”

“ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานกว่า 50 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชมีอาคารแพทย์ที่ให้บริการเฉพาะทางอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพและประสิทธิภาพด้านบริการ”

“การนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา มีความหมายว่าอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

“อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา สูง 25 ชั้นมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น แบ่งการใช้งานพื้นที่ตามลักษณะงาน ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจพิเศษต่าง ๆ รองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในประมาณ 20,000 รายต่อปี สามารถให้บริการทางแพทย์และและการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องมือทันสมัยได้อย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล”

“นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงทางเดินยกระดับ และทางเชื่อมระหว่างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา กับอาคารอื่น ๆ เพื่อความสะดวกคล้องตัวและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งรับปรุงสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ให้สวยงาม ปัจจุบันการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดบริการให้ประชาชนมาระยะหนึ่งแล้ว”

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา 

ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จฯ ไปยังอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทอดพระเนตรนิทรรศการ ‘นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์’ ภายในอาคารจัดแสดงข้อมูลและนวัตกรรมภายในอาคาร เช่น ศูนย์รังสีวินิจฉัยกับเครื่องถ่ายภาพรังสีโพซิตรอนและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้ตรวจหาการแพร่กระจายในระยะเริ่มต้นของโรคมะเร็ง, ห้องจัดยาผู้ป่วยนอกอัตโนมัติ ซึ่งนำระบบจัดยาอัตโนมัติแบบครบวงจรมาให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ต่อมาเสด็จฯ ทอดพระเนตรเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็คตรอน พร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเครื่องแรก และเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

และทรงเสด็จฯ ไปทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก แล้วฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับผู้บริหารและคณะกรรมการ สมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนทั่วไป ครอบครัวผู้ป่วย เดินผ่านเข้าจุดคัดกรองเพื่อมารอเฝ้าฯ รับเสด็จ ซึ่งจัดไว้ตามเส้นทางเสด็จภายในโรงพยาบาลศิริราช ครั้นเสด็จฯ ถึงบริเวณด้านหน้าอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ประชาชนพร้อมใจเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงแย้มพระสรวลทักทายประชาชน

สำหรับอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อศูนย์การแพทย์ว่า ‘อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา’ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2556 และชื่อกำกับภาษาอังกฤษว่า ‘Navamindrapobitr 84th Anniversary Building’ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีความหมายว่า “อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

โดยนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงิน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเงิน 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน

นอกจากนี้ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อสมทบทุนอาคารมาอย่างต่อเนื่อง นับจากวันแรกที่โครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจนเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของศิริราชและประชาชาติไทย

ทั้งนี้ อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีชั้นพื้นดิน 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,551 ตารางเมตร สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพโดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี ขณะที่เตียงไอซียูเพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง

ที่สำคัญภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ในแต่ละชั้น อาทิ ชั้นบี 2 ศูนย์รังสีรักษาศิริราช (Siriraj Radiation Oncology Center) ศูนย์แห่งนี้มีเครื่องฉายรังสีที่ใช้รักษาผู้ป่วย มะเร็งที่เรียกว่า LINAC (Linear Accelerator) จำนวน 5 เครื่อง

นอกจากสามารถฉายรังสีในหลากหลายเทคนิคแล้ว ยังมีเครื่องที่มีนวัตกรรมทางการฉายรังสีขั้นสูง คือ เครื่องเร่งอนุภาค MR LINAC ที่เป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความแม่นยำสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

โดยชั้น 4 ศูนย์รังสีวินิจฉัย (Diagnostics Radiology Center) ให้บริการ MRI จำนวน 2 เครื่อง CT จำนวน 1 เครื่อง ห้องตรวจ PET/CT (PET/CT Imaging Unit) จำนวน 1 เครื่อง และศูนย์ภาพวินิจฉัยเต้านมศิริราช (Siriraj Breast Imaging), ชั้น R3 ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Helipad) เป็นต้น โดยเริ่มเปิดทยอยให้บริการทางการแพทย์มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2561 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

3 เมษายน พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง ร.10’ เสด็จฯ เปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ฯ จ.กาญจนบุรี บรรเทาความเดือดร้อนคนไทยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.9’

จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประกอบกับมีการขยายตัวของชุมชน ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ระบบประปาที่มีอยู่เดิมไม่สามารถจ่ายน้ำได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงแหล่งน้ำจากผิวดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลทำให้ราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ระยะแรก 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พิจารณาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ไม่มีศักยภาพในการเจาะบ่อน้ำบาดาล จำเป็นต้องทำการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ พร้อมกับก่อสร้างระบบประปาบาดาลในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน โดยจัดทำโครงการต้นแบบ จำนวน 2 พื้นที่ คือ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น และโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับ ‘โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง’ เพิ่มเติม ระยะที่ 2 จำนวน 18 โครงการ ครอบคลุม 10 จังหวัด และระยะที่ 3 จำนวน 14 โครงการ ครอบคลุม 14 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 47 โครงการ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้น้อมนำพระบรมราโชบายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ไปดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top