จิตอาสาพระราชทาน พระราชปณิธานเพื่อ ‘ปวงชน’

ย้อนไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2560 เหล่าข้าราชบริพารในพระองค์ หน่วยราชการในพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา ได้ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ บริเวณชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ของปวงชนชาวไทย ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ 904 ร่วมกันจัดโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน 

อีกทั้ง เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติ มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยราชการในพระองค์ 904 เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการและประสานการ ปฏิบัติเพื่อให้การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เป็นไปอย่างต่อเนื่องถูกต้องตามพระราโชบาย และสมพระเกียรติ

ในระยะเริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปณิธานในการบำเพ็ญประโยชน์พื้นที่ชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิตเป็นการทำความดีด้วยหัวใจ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์หน่วยทหารรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ร่วมกับประชาชนจิตอาสา ‘เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ’ ร่วมกันดูแลและพัฒนารักษาพื้นที่จากชุมชนเล็ก ๆ รอบพระราชวังดุสิตขยาย สู่พื้นที่โดยรวมของประเทศในการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

เรามาทำความรู้จักกับ ความหมายของ ‘จิตอาสา’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ ‘จิตอาสา’ ดังนี้ 

‘จิต’ เป็นคำนาม หมายถึง ใจ สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิด และนึก

‘อาสา’ เป็นคำกริยาหมายถึง เสนอตัวเข้ารับทำ

ดังนั้นเมื่อรวมกันเป็น ‘จิตอาสา’ จึงหมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจสมัครใจอิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย แรงสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ในการทำกิจกรรมหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดาย เมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนแปลงเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย ‘บุญ’ คือความสงบเยือกเย็น และพลังแห่งความดีอีกทั้งยังช่วยลด ‘อัตตา’ หรือความเป็นตัวตนของตนเองลงได้

ที่ผ่านมา ภาพของความสมัครสมานร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวไทย ที่มีสัญลักษณ์ที่สังเกตได้ง่าย นั่นคือ หมวดสีฟ้า และผ้าพันคอสีเหลือ มักจะพบเห็นได้อย่างสม่ำเสมอตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ผ่านโครงการ ‘หน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ’ ที่ได้ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เฉลิมพระเกียรติมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ

สำหรับ จิตอาสาตามพระราโชบายนั้นแบ่งเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1.) จิตอาสาพัฒนา : จะเน้นกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญ สาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวันการประกอบอาชีพ รวมทั้งการ สาธารณสุข ฯลฯ 

2.) จิตอาสาภัยพิบัติ : จะเน้นไปที่การเฝ้า ตรวจ เตือน และเตรียมการรองรับภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวมและการเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติ ดังกล่าว เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น

3.) จิตอาสาเฉพาะกิจ : ได้แก่กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในงานพระราชพิธี หรือการรับเสด็จ ในโอกาสต่าง ๆ เป็นการใช้กำลังพลจิตอาสาร่วมปฏิบัติกับ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงานรวมทั้งการเตรียมการ การเตรียมสถานที่และการฟื้นฟูสถานที่ภายหลัง การปฏิบัติในพระราชพิธี และการเสด็จฯ นั้น ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ตลอด 5 ปี ของโครงการจิตอาสา ‘เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ’ นั้น กลุ่มคนจิตอาสาได้ออกช่วยเหลือสังคมมาแล้วหลากหลายพื้นที่ ชนิดนับกันไม่ถ้วน สมดังปณิธานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางเป็นแนวทางไว้ ที่อยากให้คนไทยมีจิตอาสาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ตลอดไป


ที่มา : https://www.royaloffice.th/จิตอาสา/