Sunday, 28 April 2024
สว

'หนุ่ม' โดนขู่ หลังเปิดปมทหารหญิงรับใช้ ถูกสาวอ้างเป็นเมีย ส.ว.ดังทำร้าย

(18 ส.ค. 65) จากกรณี นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า...เวลา 15.00 น. ผมจะพา ทหารหญิงรับใช้ ถูกเมีย ส.ว.ดัง ซึ่งเป็นเจ้านายทำร้ายทารุณ เข้าแจ้งความพร้อมกับสอบปากคำที่ สภ.เมืองราชบุรี 

ล่าสุด กัน จอมพลัง พาทหารหญิงคนดังกล่าว มาพูดคุยกันในรายการโหนกระแส เล่าเหตุการณ์ถูกทำร้ายทรมาน โดยเธอเล่าว่า รู้จักกับผู้หญิงรายนี้มาก่อน เพราะตัวเองไปเป็นลูกจ้างร้านกาแฟของเขา เขาอ้างว่าตัวเองเป็นตำรวจยศ ส.ต.อ. เป็นภรรยาของ ส.ว. อ้างว่าสามารถฝากให้ตนเข้ารับราชการทหารได้ แต่ต้องสัญญาว่าจะอยู่ดูแลรับใช้เขาไปตลอด ซึ่งเขาก็ฝากให้เข้ารับราชการทหารได้จริง ๆ โดยอ้างว่าจ่ายเงินไปเป็นจำนวนมากในการฝากเข้า

หลังตนฝึกเป็นทหารแล้ว ปัจจุบันยศสิบโท เขาก็ทำเรื่องย้ายตนมารับใช้ที่บ้าน อยู่ปีแรก ๆ ก็ดีไม่มีปัญหาอะไร แต่อยู่ไปสักพัก เขาเริ่มใช้ความรุนแรง ผู้หญิงรายนี้ยึดเอาเงินเดือนทหารไปทั้งหมด บางเดือนไม่พอก็ต้องขอเงินครอบครัวมาให้  เวลาตนทำอะไรผิด พูดจาไม่มีหางเสียง เขาจะลงโทษสารพัด ตบตี ปรับเงิน 

ที่เคยโดนทำร้ายหนัก ๆ เคยถูกเอาเครื่องหนีบผมไฟฟ้าร้อน ๆ มาหนีบจนมือไหม้ แผลเหวอะ เคยถูกเอาเครื่องช็อตไฟฟ้า มาช็อตตามร่างกาย ตามในร่มผ้า ช็อตศีรษะ ช็อตปาก เขาอ้างว่าตนชอบโกหก ชอบแถ เขายังเคยเอาสเปรย์แอลกอฮอล์มาฉีดผมตน แล้วเอาไฟจุด

ตนทนอยู่แบบนี้มาเกือบ 2 ปี ช่วงหลัง ๆ โดนแทบทุกวัน เจ็บปวดทนไม่ไหวจนคิดจะจบชีวิตตัวเอง ไม่อยากให้คนที่บ้านต้องเดือดร้อน แต่คนที่บ้านเห็นความผิดสังเกต เพราะตนทักไปบอกรักเหมือนร่ำลา แม่จึงมาหาที่บ้านโดยไม่บอกก่อน จึงเห็นสภาพของตนถูกทรมานสารพัด แล้วให้ตำรวจช่วยตนออกมาจากบ้าน

'วัชระ' เตรียมส่งภาพป้ายบริจาคบูรณะศาลาวัดใน จ.ราชบุรี ที่มีชื่อสว.กับ 'เธอคนนั้น' เป็นหลักฐานให้พรเพชรใช้เป็นเบาะแสสอบเรื่องสว.ฉาวซุกเมียน้อย หากยังเฉยเตรียมถวายฎีกาเอาเรื่องให้ถึงที่สุด

(31 ส.ค 65) นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ได้ไปร่วมงานศพของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ศาลาดำรงค์สกุล วัดบางลี่เจริญธรรม ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี ปรากฎว่าได้พบป้ายสีเหลืองทอง มีการระบุชื่อผู้บริจาคว่า คุณธานี อ่อนละเอียด  บรรทัดต่อมาคือชื่อคุณกรกศิร์ บัวแย้ม พร้อมจำนวนเงิน 120,000บาท ซึ่งทั้ง 2 คนนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร จะเกี่ยวโยงกับกรณีข่าวอื้อฉาวสว.ซุกเมียน้อยหรือไม่ ก็จะต้องให้ทางวุฒิสภาเป็นผู้สอบสวน ขณะนี้ได้เก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเตรียมนำเสนอต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ใช้เป็นข้อมูลเบาะแสว่า มีความเกี่ยวโยงกับกรณีที่ตกเป็นข่าวอยู่หรือไม่ 

นายวัชระ กล่าวว่า หากมีผู้ใดพบหลักฐานหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำให้เรื่องนี้เป็นที่กระจ่างต่อสาธารณชนก็สามารถส่งมาที่ตนได้ เพื่อจะได้รวบรวมนำเสนอต่อประธานวุฒิสภาให้ดำเนินการต่อไป แต่หากวุฒิสภายังเพิกเฉย ไม่ยอมดำเนินการใดๆก็ต้องถามว่า เรื่องเล็ก ๆ แค่นี้ยังทำให้ประชาชนไม่ได้ แล้วเรื่องใหญ่ ๆ ของชาติ ประชาชนจะพึ่งพาวุฒิสภาได้หรือไม่ ขณะเดียวกันตนก็กำลังเตรียมร่างเพื่อถวายฎีกาต่อประธานองคมนตรีด้วย เพราะเรื่องนี้ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวพันกับจริยธรรม การฝากฝังบุคคลของตนเองเข้ารับราชการตำรวจ-ทหาร การทำร้ายทารุณกรรม การค้ามนุษย์ รวมถึงเรื่องการขอเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ เป็นต้น ซึ่งจะยอมให้เรื่องเงียบหายไปเฉย ๆไม่ได้อย่างเด็ดขาด

'ดร.ปริญญา' โพสต์ขอคืนสิ่งที่คสช. ยึดไปในปี 2557 คืนอำนาจเลือกนายกฯ ผ่าน ส.ส. ให้ประชาชน

'ดร.ปริญญา' โวยคสช.ยึดอำนาจไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว รธน.ประกาศใช้ 5 ปีแล้ว ถึงเวลาคืนอำนาจเลือกนายกฯ ผ่าน ส.ส. ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ปลุกสว. 84 คน ถ้ายอมตัดอำนาจตนเองจะถูกบันทึกและจดจำยิ่งกว่าทุกครั้ง

7 ก.ย. 65 - ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

ขอแค่สิ่งที่ คสช.ยึดไปในปี 2557 #คืนให้ประชาชน
#คืนอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีผ่าน ส.ส.ให้ประชาชน
ตัดอำนาจ ส.ว.#เลือกนายกรัฐมนตรี

คณะรัฐประหารทุกคณะล้วนแต่อยากให้ ส.ว.ที่ตัวเองเลือก #มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งสิ้น เพื่อเป็นหลักประกันในการ #สืบทอดอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้ง แต่ไม่เคยมีใครทำสำเร็จจนกระทั่ง คสช.ที่ยึดอำนาจไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว

ที่คราวนี้ทำสำเร็จก็เพราะฝีมือ #อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ที่สรุปบทเรียนจากร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ที่อาจารย์มีชัย ก็เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ในร่างแรกเลย ผลคือถูกนักศึกษาประชาชนประท้วงจนต้องยอมแก้ในวาระสองตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป

ในคราวนี้อาจารย์มีชัย จึงเอาอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีแยกออกมา แล้วเรียกว่าเป็น #คำถามเพิ่มเติม หรือคำถามพ่วง แล้วก็ไม่ยอมถามตรงๆ ว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว.ที่ คสช.เลือกจะมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไปใช้ถ้อยคำว่า “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” คนจำนวนมากอยากให้มีเลือกตั้งเสียที อ่านคำถามเพิ่มเติมแล้วนึกไม่มีอะไร เมื่อโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็โหวตรับคำถามพ่วงด้วย

อย่าลืมว่าตอนนั้นคนที่ค้านจะรณรงค์ค้าน หรือบอกประชาชนเรื่องนี้ก็ทำไม่ค่อยได้เพราะจะถูกจับ อีกทั้ง #พลเอกประยุทธ์ ก็แถลงสองวันก่อนถึงวันลงประชามติว่า #จะไม่สืบทอดอำนาจ แล้วผลประชามติในเรื่องนี้ ซึ่งทำกันแบบมัดมือชก ก็ไม่ได้ชนะขาดลอยแต่ประการใด เพราะมีคนเห็นชอบ 58% เท่านั้น

‘เพื่อไทย’ เฉ่ง ‘ส.ว.’ ลามากสุดในประวัติศาสตร์ เจตนาชัดไม่อยากถูกตัดอำนาจเลือกนายกฯ

(8 ก.พ. 66) ที่รัฐสภา พรรคเพื่อไทยนำโดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่การประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษล่มในวันนี้

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า เราอยู่ในการพิจารณารัฐธรรมนูญที่สำคัญ เป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชน ที่เราทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงมาตราที่เรานำเข้าสู่สภาฯ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 159 และมาตรา 272 ล้วนเป็นมาตราที่เป็นปัญหา ทำให้ประเทศไม่สามารถเกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราเองต้องการเพียงความร่วมไม้ร่วมมือกับเพื่อนสมาชิก เพื่อทำให้สภาฯ เดินหน้าต่อได้

นายสุทิน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะองค์ประชุมที่ล่มหลายครั้งจะเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญมาก แต่คราวนี้เป็นการประชุมวาระที่สำคัญที่สุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การล่มในวันนี้เป็นที่ทราบว่า เป็นการพยายามทำให้ล่มซึ่งทำมาแล้ว 2 ครั้ง ในครั้งที่แล้ววาระดังกล่าวก็ถูกขัดขวางจากสมาชิกวุฒิสภา ว่าเป็นการบรรจุวาระที่ไม่ถูกต้องบ้าง ไม่เชิญ ส.ว.ในการหารือบ้าง จึงทำให้เป็นเหตุให้การประชุมครั้งที่แล้วล้ม 

แต่ในคราวนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญวิปทั้ง 3 ฝ่ายหารือกันก่อน แต่ท้ายที่สุดก็ทำให้เห็นว่า ความพยายามที่จะทำให้การประชุมล่มก็ไม่เปลี่ยนไป ทั้งนี้มี ส.ว. อยู่ร่วมประชุมน้อยมาก ทางประธานก็รอจนถึงที่สุด แต่ก็ล่มเพราะ ส.ว. มากันน้อยมากกว่าทุกครั้ง กล่าวได้ว่า "ล้มครั้งนี้ก็เพราะ ส.ว.เป็นฝ่ายทำให้ล้ม" มองเจตนาอื่นไปไม่ได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการแก้ไขกระทบโดยตรงกับ ส.ว. จึงคิดว่า ส.ว.คงรับไม่ได้ จึงใช้วิธีนี้

‘สมศักดิ์’ เผย เจรจาคืบหน้า ส.ว.พร้อมรับฟังเหตุผล เชื่อ!! หลังเอ็มโอยูออก มีลุ้นเสียงหนุน ‘พิธา’ เพิ่ม

(19 พ.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเดินหน้า พูดคุย กับ ส.ว.บางท่าน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในทางบวก แต่จะเดินได้เต็ม 100 คงต้องรอให้การบันทึกข้อตกลง หรือ ‘เอ็มโอยู’ ของพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ออกมาก่อน แต่จากการพูดคุยกับ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดี ทาง ส.ว.เอง ก็รับฟังในเหตุและผล ระหว่างนี้ก็รอเพียงแนวทางการทำงาน และนโยบายต่าง ๆ หากเอ็มโอยูทำออกมาได้ดี ก็เชื่อว่าเสียงของ ส.ว.จะไหลเข้ามาเพิ่มอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลนี้ คนสนับสนุนไม่ได้มีเพียงแค่ ส.ว.บางส่วน เพราะยังมี ส.ส.บางส่วนที่พร้อมยกมือสนับสนุนรอดูอยู่ ซึ่งจากการพูดคุย ทุกฝ่ายอยากเห็นประเทศเดินหน้า อยากเห็นประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

รัฐบาล 313 เสียงไปต่อลำบาก สว.รองดออกเสียง ‘ภท.-พปชร.’ พลิกเกม หนุนเพื่อไทยชิงประธานสภาฯ

(22 พ.ค.66) ครบรอบ 9 ปี การรัฐประหาร.... ‘เล็ก เลียบด่วน’ เขียนเรื่องนี้ก่อนหน้า 8 พรรค 313 เสียง เขาจะลงนาม MOU กันประมาณ 7 ชั่วโมง..แต่เชื่อว่าการลงนาม MOU ก็คงจะผ่านไปในลักษณะ ‘แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง’ เท่าที่ทราบมาก่อนหน้านี้เห็นว่าใน MOU มีภารกิจที่จะต้องทำร่วมกัน 23 ข้อ เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ, สมรสเท่าเทียมเดินหน้า แต่ไม่บังคับกับประชาชนที่เห็นว่าขัดกับหลักศาสนา, เอากัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด เป็นต้น

นอกจาก MOU 20 กว่าข้อแล้ว ยังมีพันธะสัญญาอีก 4-5 ข้อในการบริหารประเทศ ซึ่งดูดี เช่น รัฐมนตรีคนไหนทุจริตต้องออกจากตำแหน่งทันที…

สำหรับปมร้อนอย่างกรณีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นไม่มีใน MOU แปลว่า พรรคไหนใครจะขับเคลื่อนก็ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้น ไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล…

สุดท้ายแล้ว ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง แม้อาจจะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กมาเติมให้ฟรี 4-5 เสียง ก็ไม่พออยู่ดี… ต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.อีก 60 เสียง เพื่อให้ผ่าน 376 เสียง ซึ่ง ‘เล็ก เลียบด่วน’ ยังฟันธงว่ายากที่จะไปถึง อย่างเก่งเสียงของ สว.ก็น่าจะอยู่แค่ระดับ 25-30 เสียง…

ต้องบอกว่า ประเด็นแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเคยยื่นต่อสภานั้นมันก้าวเกินกว่าการแก้ไข แทบไม่ต่างจากการยกเลิก เช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพที่ใช้โมเดลของสหรัฐฯ ที่เป็นการด้อยค่า ‘จอมทัพไทย’ ทางอ้อม.. .นี่คือสองประเด็นใหญ่ที่ สว.เขาไม่เล่นด้วยหรือใช้เป็นเหตุ ‘งดออกเสียง’
.
แต่พูดไปทำไมมี… กว่าจะถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ที่ สว.จะลงมาร่วมวงด้วยนั้น ต้องผ่านด่านการรับรอง ส.ส.โดย กกต.และจากนั้นคือด่านเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร… ซึ่งขณะนี้ สายข่าวหลายทางวิเคราะห์ตรงกันว่า เกมจะพลิกกันตั้งแต่เลือกประธานสภาฯ… และคนพลิกเกมก็คือพรรคพลังประชารัฐ… และภูมิใจไทย

กระซิบเบาๆ กับแฟนๆ คอลัมน์ ‘เลียบการเมือง’ เป็นการเฉพาะตรงนี้ว่า… ประชุมพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันก่อนโน้นนน… ที่ประชุมเห็นพ้องให้ทุกคนรูดซิปปากเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล โดยให้ ‘ผู้กอง’ คนดังเป็นคนคอยประสานงานบอกกล่าวถึงทิศทางการเมือง… ทิศทางการเมืองที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคและในบ้านป่ารอยต่อรับรู้กันว่า… คำตอบสุดท้ายจะออกมาอย่างไร…

และคำตอบสุดท้ายที่ว่าก็คือ… พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยมีพรรคอื่นๆ เข้าร่วมด้วย… ส่วนรายละเอียดใครจะเป็นประธานสภาฯ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ หรือ ‘นพ.ชลน่าน  ศรีแก้ว’ และใครจะเป็นนายกฯ อุ๊งอิ๊ง, เศรษฐา หรือลุงป้อม หรือแม้แต่ หนู อนุทิน… เป็นประเด็นที่จะดำเนินไปในทางลึก…

เช่นนี้แล้วก็ต้องขอย้ำว่า ทริปฮ่องกงของ ‘อนุทิน-ศักดิ์สยาม’ ที่มีข่าวว่าไปจิบไวน์กับคนแดนไกลเมื่อสองสามวันก่อนนี้… ก็ไม่ใช่ข่าวลือแต่อย่างใด

สรุปก็คงเป็นความลำบากแสนสาหัสของพรรคน้องใหม่อย่างก้าวไกล ที่จะฝ่าค่ายกลทางการเมืองที่ซับซ้อนและหฤโหดไปได้ แต่จะว่าไปถ้าพรรคก้าวไกลไม่มาติดกับดักมาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพปฏิรูปสถาบัน...หันไปขับเน้นนโยบายอย่างอื่น มันก็คงไม่ประสบชะตากรรมเยี่ยงนี้…

กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็เป็นอย่างนี้แล… และถ้าใครคิดจะขนม็อบปลุกมวลชนออกมากดดัน สว.กดดันประเทศในยามนี้ก็มีแต่จะทำให้ตัวเอง ‘เสียการเมือง’

สวัสดีครับ

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน

‘วันชัย’ เชื่อ ส.ว.มีวุฒิภาวะ พร้อมรับฟังเหตุผล ไม่กังวลม็อบกดดัน เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม หนุน ‘พิธา’ - ยังไม่ตัดสินใจ - กำลังพิจารณา

‘วันชัย’ เผย ส.ว.แบ่ง 3 กลุ่ม โหวต ‘พิธา’ แต่กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ-อยู่ระหว่างการพิจารณา มีจำนวนมาก ส่วนเอ็มโอยูรู้สึกเฉยๆ ชี้ ม.112 ยังอีกไกล ส่วนม็อบกดดันไม่กังวล แต่จะรับฟังด้วยเหตุผล เชื่อ ส.ว. 250 คนมีวุฒิภาวะไม่มีใครสั่งได้

(23 พ.ค. 66) ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของ ส.ว.ในการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หลังทำเอ็มโอยูกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า ต้องยอมรับว่ายังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้น การหารือกับ ส.ว.อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน และยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน

ดังนั้น ขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทาง คือ

กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน

และกลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต

ซึ่งกลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจเพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย

นายวันชัย กล่าวว่า ฉะนั้นแนวทางเท่าที่ดูมา คือ มีการโหวตว่าจะเลือกหรือไม่เลือก กับอีกแนวทางหนึ่งคือการงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯจะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ส.ว.มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ มีแนวทางวิธีการที่จะโหวต เพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน

เมื่อถามว่าใน 3 กลุ่มดังกล่าว นายวันชัย อยู่กลุ่มไหน นายวันชัย กล่าวว่า ตนตัดสินใจว่าตั้งแต่ต้นก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้ว่าโหวตให้คนรวมเสียงข้างมาก แล้วเขาเสนอใครเป็นนายกฯ และตนก็โหวตให้กับคนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของตนมาตั้งแต่ต้นและไม่เปลี่ยนแปลง

ต่อข้อถามว่าทางพรรคก้าวไกล ได้มาทำความเข้าใจกับทาง ส.ว.แล้วหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะหาวิธีการ เพราะแต่ละพรรคการเมืองต่างๆ ที่เขาจะตกลงกันเชื่อว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจนกระทั่งตกลงกันได้ และในทำนองเดียวกันอะไรที่เห็นว่า ส.ว.ยังไม่เข้าใจ เห็นไม่ตรงกัน การที่จะมาพบ ส.ว.ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตนไม่ได้รับการประสานใดๆ แต่เขาอาจจะติดต่อกับคนบางกลุ่ม บางพวกที่มี ซึ่งเท่าที่ตนทราบก็มี แต่ยังไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งทราบจากเพื่อน ส.ว.คนไหนที่มีกลุ่ม และรู้จักแต่ละคนก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนกัน เพราะจะต้องเป็นประธานรัฐสภาด้วย ทาง ส.ว.มีการพูดคุยกันเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกนายกฯหรือไม่ว่าควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้ นายวันชัย กล่าวว่า ส.ว.ไม่มีหน้าที่เลือกประธานสภาฯ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ทาง ส.ว.จึงไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณา ประกอบการตัดสินใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละสภาที่จะตัดสินใจเอง แม้ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกันในฐานะประธานรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้เกี่ยว และไม่ใช่หน้าที่ของเรา

เมื่อถามว่า ในเอ็มโอยู การร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว.เลือกนายพิธา หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส.ว.แต่ละคน ตนเองพยายามที่จะแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ส.ว.แต่ละคน ท่านบอกว่าเป็นสิทธิของตัวท่าน เพราะฉะนั้น ใครจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน และยังเป็นเห็นเขานำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน แต่ในส่วนตัวตนเห็นเอ็มโอยูแล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วน ส.ว.ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน

ต่อข้อถามถึง การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นนี้เท่าที่พูดคุยกัน ส.ว.หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะวินิจฉัย ฉะนั้น ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องที่ตัดสิน และ ส.ว.ทั้ง 250 คน แต่ละคนก็อาจจะมีประเด็นแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน บางคนเขาไม่ได้ติดใจอะไรเลย บางคนก็บอกชัดเจนว่าคำนึงถึงเสียงข้างมากเป็นสำคัญ แต่บางคนในการตัดสินใจก็เป็นเหตุผลของเขา ตนขอไม่ก้าวล่วง

เมื่อถามถึงการชุมนุมในเย็นวันนี้ (23 พ.ค.) ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมีผลต่อการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวการชุมนุมใดๆ ส.ว.รับฟังอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงของพี่น้องประชาชน ดังนั้น จึงเชื่อว่าทุกเรื่อง ทุกประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการตัดสินใจได้ทั้งสิ้น ไม่ได้มองเป็นศัตรูคู่อาฆาต หรือไม่ได้มองกันถึงขนาดว่าจะเป็นเหตุของการที่จะโหวตให้หรือไม่โหวตให้ แต่เรามองด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบ แต่ในสถานการณ์และภาวะอย่างนี้ การเจรจาและการพูดคุยกัน หารือกันด้วยไมตรีที่ดีจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน

“ผมเชื่อว่า ส.ว. แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ท่านไม่ได้ดื้อรั้นอะไร แต่ความคิดเห็นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และ ส.ว.มีตั้ง 250 คน จะให้ไปในแนวทางเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า มีกลุ่มนั้นมาสั่งกลุ่มนี้ กลุ่มนี้มาส่งกลุ่มนั้น หรืออยู่ในอาณัติของคนนั้นคนนี้ ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชน คลายกังวลต่อประเด็นนี้ได้เลย ไม่มีใครมาสั่งใครในสถานการณ์อย่างนี้ และไม่มีใครมาบอกว่า อย่างนั้นเอาไม่เอา ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของแต่ละคน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ในวันนี้ (23 พ.ค.) ส.ว. จะมีการหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาเรื่องการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีการประชุมกันแบบนอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด แต่กลุ่มย่อยเล็กๆ 10-20 คน ก็จะคุยกัน ซึ่งตั้งแต่เช้ามาก็มีการพูดคุยกันตามลำดับ แม้จะปิดสมัยประชุม แต่การประชุมกรรมาธิการแต่ละคณะ การทำภารกิจร่วมกันก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงเชื่อว่าทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน มีการนำเรื่องทางการเมืองมาหารือกันอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดอยากจะบอกว่า ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือนในการตัดสินใจ ดังนั้น ส.ว.หลายคนสงวานท่าทีที่จะตอบ ส่วน ส.ว.คนใดประกาศตัวว่าเลือกหรือไม่เลือก ก็ถือว่าเป็นอิสระของท่าน แต่ส่วนใหญ่บอกว่ายังมีเวลาในการตัดสินใจ

‘ธนกร’ ให้กำลังใจ ‘รบ.ก้าวไกล’ ชี้ หลายนโยบายน่าห่วง แนะ ต้องปรับบ้าง หวั่น ม็อบกดดัน ส.ว. สร้างความขัดแย้ง

วันที่ (24 พ.ค. 66) ที่จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ทำทันทีเมื่อเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ประกาศไว้ ว่า

จากที่ฟังความเห็นของผู้ประกอบการ เช่น รองประธานสภาหอการค้าไทย และ สภาอุตสาหกรรม ก็ออกมาให้ความเห็นไปแล้วว่า อาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ บริษัทต้องปิดตัวลงจำนวนมากอย่างแน่นอน เข้าใจว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีคงต้องปรับตัว ไม่ว่านโยบายที่จะทำทันที ทำ 100 วัน

เมื่อเป็นรัฐบาลพรรคร่วม หรือกำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็จะต้องยึดหยุ่น ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่ใช่แค่นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น หากไม่ปรับจะทำไม่ได้ แต่ถ้ามีการปรับเปลี่ยนไป อาจจะไม่ถูกใจกองเชียร์ เราต้องไม่ลืมว่าประชาชนเลือกมาเพราะนโยบาย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายนโยบายที่น่าเป็นห่วง เพราะว่าทำได้ยาก บางอย่างเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงแต่ปฏิบัติจริงได้ยาก แต่ทั้งหมดก็ต้องให้โอกาสพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ยังมีอีกหลายขั้นตอน

“เพียงแต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การเคลื่อนไหวกดดันสมาชิกวุฒิสภา ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งแบบเดิม สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำมาตลอด 7-8 ปี จะกลับไปเป็นแบบเดิม ซึ่งประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก ไม่อยากให้เกิดการชุมนุมหรือเดินลงถนนกันอีก ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว และควรเลิกได้แล้ว จึงหวังว่าวิธีการพูดคุยและเจรจา จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นานธนกร กล่าว

‘จตุพร’ ชี้!! ส.ว.จะแสดงละครโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ แต่ถูกเกมการเมืองควบคุมตัวเลขไม่ให้ถึง 376 เสียงอยู่ดี

วันที่ (24 พ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน ‘หายนะ?’ โดยเชื่อมั่นว่า ทุกสถานการณ์การตั้งรัฐบาล 8 พรรคทำเอ็มโอยูหนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ หรือพรรคเพื่อไทยแปลงร่างมารให้เป็นเทพมาจับมืออีกขั้วตั้งรัฐบาลแทนที่ ล้วนเป็นหายนะของประเทศ ดังนั้น ทุกทางเลือกจึงเดินมาถึงทางตัน สิ้นทางสงบสุขเป็นทางออก

นายจตุพร กล่าวว่า เอ็มโอยู (MOU) การร่วมรัฐบาลของ 8 พรรคการเมืองนั้น ดูเหมือนพรรคก้าวไกลถอยสุดซอย โดยไม่บรรจุการแก้ไข ม.112 การออกกฎหมายนิรโทษกรรม สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม อยู่ในเอ็มโอยูด้วย เพื่อลดแรงเสียดทานขัดขวางไปเป็นนายกฯ คนที่ 30

อีกอย่างการกำหนดเวลาประกาศเอ็มโอยู ยังกำหนดในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำทหารยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค. 2557 นอกจากนี้ยังเกิดปรากฎการณ์ข่าวลือฮ่องกงและหนึ่งในพรรคร่วม 8 พรรคไปพบกับคณะ 3 ป.คนหนึ่งที่กัมพูชา สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความพยายามแปลงร่างเทพให้เป็นมาร หรือมารกลายร่างเป็นเทพ ซึ่งเป็นละครอีกฉากแสดงหลอกขย่มพรรคก้าวไกล

นายจตุพร มั่นใจว่า เสียง ส.ว.มีแนวโน้มงดออกเสียงกับการเลือกนายกฯ ดังนั้น เสียงคงไม่ถึง 376 เสียงจากทั้งหมด 750 คนของการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่เพียงเท่านั้น ถัดจากนี้ไป ส.ว.จะแสดงละครโดยการกำกับโหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ ทยอยออกมาเป็นลำดับ แต่ถูกควบคุมจำนวนตัวเลขไม่ให้ถึง 376 เสียงอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุแห่งเกมและการแสดงละครการเมืองของทุกฝ่ายนั้น ประเมินถึงชะตากรรมของนายพิธา จะไปไม่ถึงนายกฯ ขณะที่ ส.ว.บางส่วน ก็ลวงทิศ จะออกมาให้ข่าวราวกับหยอดน้ำข้าวต้มโหวตให้นายพิธา เพื่อเป็นการสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ตามบทละครที่ผู้สั่งการคอยกำหนดบทให้เล่น

นายจตุพร เชื่อว่า ทั้งข่าวการเจรจาตั้งรัฐบาลระหว่างเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยที่ฮองกง แม้ทุกคนเกี่ยวข้องออกมาปฏิเสธอย่างร้อนรน แต่ปรากฎการณ์นี้พรรคก้าวไกลย่อมรู้เช่นกันว่า กำลังจะถูกอะไรย้อนรอยมาหลอนชิงการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้ง 3 ป. คนหนึ่งไปกัมพูชา พร้อมมีพรรคการเมืองหนึ่งไปคุยกันที่นั้น ล้วนเป็นการปั่นความหวาดระแวงให้พรรคก้าวไกลหวั่นไหวทั้งสิ้น

รวมทั้งปรากฎการณ์เหล่านั้น คงมีส่วนให้พรรคก้าวไกลรอมชอมลดเงื่อนไขเอ็มโอยูลง ดังนั้น วิกฤตศรัทธาจะเกิดกับพรรคก้าวไกล เพราะการแถลงเอ็มโอยูที่กำลังถอยสุดซอยเท่ากับเป็นการสละอุดมการณ์เพื่อแลกกับอำนาจนายกฯ ซึ่งเป็นการแลกเพื่อทำลายตัวเอง แล้วยังไม่ได้เป็นนายกฯ อีกเสียด้วย

“ถ้าใครคิดว่า พรรคก้าวไกลแลกอุดมการณ์ของตัวเองแล้ว นายพิธา ยังได้เป็นนายกฯ ต้องไปเรียนหนังสือชั้นอนุบาลหรือ ป.1 เรื่องการนับตัวเลขกันใหม่ในการบวกลบ คูณหาร เพราะเสียงโหวตนายกฯ จะไม่ถึง 376 เสียงค่อนข้างชัดเจน”

ส่วนเพื่อไทยยื่นไม้ตายในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายจตุพร กล่าวว่า เพราะรู้นายพิธา เป็นแคนดิเดตนายฯ คนเดียวของพรรคก้าวไกล และยังมีการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อมวลชนด้วย ซึ่งส่อรอดจากคุณสมบัติขัดกับการลงสมัคร ส.ส.ได้ยาก ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงมองไกลไปว่า ประธานสภาฯ จะอยู่ในมือ และแคนดิเดตนายกฯ ก็จะอยู่ในมือ และเชื่อพรรคก้าวไกลจะเกิดความพินาศย่อยยับ

นายจตุพร คาดว่า พรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบพรรคมาแรงแซงทางโค้งกว่าคุณสมบัติของนายพิธา ตลอดจนการคิดหนทางสู้อำนาจการเมืองจึงเป็นระเบิดเวลาทำลายตัวเองทั้งสิ้น แม้โชว์เหนือต้องการอำนาจมาอยู่กับตัวเอง จึงเกิดความหวาดระแวงกันขึ้น ดังนั้น ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยจึงกลายเป็นการโชว์ความหายนะมากกว่าการโชว์เหนือกว่พรรคก้าวไกล

“ถ้าสมการไปตามข่าวลือแล้ว พรรคก้าวไกลอาจถูกทิ้งให้เป็นฝ่ายค้าน แล้วที่เหลือจะไปจับมือจัดดุลอำนาจตั้งรัฐบาลกันใหม่ ใครคิดว่าบ้านเมืองจะจัดกันอย่างง่ายดายนั้นจะไม่ง่ายตามที่คิดเลย เพราะความรู้สึกที่สั่งสมกันมาจะรอวันระเบิดขึ้น ยิ่งเมื่อจะมีชุมนุมกันพรุ่งนี้ (23 พ.ค.) เพื่อกดดัน ส.ว. ก็อาจมี ส.ว.พูดเอาใจโหวตให้นายพิธา แต่รวมความแล้วจะไม่ถึง 376 เสียงอยู่ดี”

นายจตุพร กล่าวว่า ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นคือ ถ้าเกิดเหตุการณ์ตั้งรัฐบาลแข่งกันแล้ว พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย จะมองหน้ากันไม่ติด มวลชนจะมีปัญหาตามมา ส่วน ส.ว.จะแสดงบทบาทความรู้สึกเอาใจรัฐบาล นอกจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะลงดาบฟันพรรคการเมืองด้วยการยุบพรรค การรับรอง ส.ส.พร้อมสอยไปด้วย

อีกทั้งให้จับตา กกต. ชี้ขาดข้อหาการถือหุ้นสื่อมวลชน ที่จะกดดันให้นายพิธา ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วตามด้วยยุบพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การเมืองจะไม่มีความสมหวัง แต่จะมีคำตอบสุดท้ายคือ เลือดที่ไม่ต้องการให้เกิดการนองพื้นกันอีกแล้ว

“เดินมาถึงจุดหนึ่งต้องยอมรับความจริงว่า 8 พรรคจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ ถ้าไม่ยอมรับความจริงนี้แล้ว จะไปยากมาก แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลโดยการย้ายขั้วเปลี่ยนข้างจาก 8 พรรค แต่จะพังพินาศกันไปหมด”

นายจตุพร กล่าวว่า มีการเสนอแนวทางยื้อเวลาให้ ส.ว.หมดวาระ แต่ยังมี กกต.กับศาล รธน. คอยเป็นกับดักขวางทางตั้งรัฐบาลอยู่ จึงยากที่จะให้การยื้อถ่วงเวลา ส.ว.หมดวาระได้ นอกจากนี้การเสนอให้พลังกดดันลงถนนคงมีแต่ความฮึกเหิม แต่จะถูกการตอบโต้ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เพื่อเป็นการทำลายความชอบธรรมให้พังกันไปเป็นทิวแถวอีกเหมือนเดิม

“ความจริงบทเรียนนี้อธิบายกันหลายอย่างแต่ทุกคนไม่สนใจ ถ้าเอาประเทศไทยมาก่อนก็ไปได้ แต่กลับเอาตัวเองมาก่อนประเทศไทย เมื่อต้องการเลือกนับหนึ่งของตัวเอง ดังนั้น เรียกร้องให้เสียสละจะเป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกคนเห็นแก่ตัวเองทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริงไปไม่ถึง 376 และนายพิธา จะเจอข้อหาคุณสมบัติ แล้วคดีการยุบพรรคตามมาอีก”

นายจตุพร เชื่อว่า สถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่ทางตัน แม้ยังมีการเคลื่อนไหวตั้งรัฐบาลได้อยู่ เพราะอยู่เป็นช่วงเวลา 2 เดือนที่ กกต.ทำหน้าที่รับรอง ส.ส. ขณะเดียวกัน หากเกิดการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ยิ่งเกิดหายนะอย่างแรง การย้ายขั้วไปจับมือกับซีกรัฐบาลเดิมก็พังเหมือนกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยไปด้วยการแปลงร่างจากการยุบตัวเอง โยกเข้ามาก็ได้ แบบไหนก็พินาศเหมือนกัน

“ส.ว.คนหนึ่งบอกจะยกมือให้นายพิธาเท่านั้น มันไม่มีเหตุผล เพราะเขามีจุดยืนอยู่อีกซีกชัดเจน และลูกก็ลง ส.ส.อีกพรรคหนึ่งด้วย สิ่งนี้เป็นคำพูดอาบยาพิษ เพราะรู้ปลายทางว่านายพิธาไปไม่ถึงนายกฯ แล้ว เพราะเห็นข้อมูลหมด จึงพูดออกมาแบบน้ำกรดแช่เย็น อีกฝ่ายก็ขอบคุณตอบรับทันที”

นายจตุพร ย้ำว่า นายพิธา จะไม่มีวันได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ และพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ย้ายขั้วไปก่อน ถึงที่สุดต้องดูปรากฎการณ์ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า พรรคเพื่อไทยอาจจะถูกยุบพรรคก็ได้ ดังนั้น การเมืองถ้าคิดข้างเดียวจะสวยงามมาก ไม่มีคำถามแย้งเลยว่า อีกฝ่ายจะคิดอย่างไร โดยไม่คำนึงว่า ความจริงคืออะไร และวิกฤตกำลังจะก่อตัวกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคหนึ่งใน 8 พรรคกำลังไปดีลตั้งรัฐบาลกับอีกขั้วหนึ่งนั้น ทั้งปรากฎการณ์ฮ่องกงหรือหารือที่กัมพูชา ล้วนเป็นสิ่งทำให้เกิดความหวาดระแวงในฝ่ายพรรคประชาธิปไตยเดียวกัน และการร่วมตัวกัน 313 เสียงห่างไกลกับ 376 เท่าไร ดังนั้น การทำท่าจับมือกัน เป็นเพียงละครแสดงบทร่วมกันไปก่อนเท่านั้น

“เมื่อเหตุผลให้พรรคก้าวไกลเข้าสู่อำนาจได้ แต่ยอมสละแนวทาง อุดมคติ อุดมการณ์ของตัวเองที่ได้ประกาศจนได้รับเลือกตั้ง หากนายพิธา เป็นนายกฯ แล้วเสนอแก้ ม.112 หรือออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว พรรคก้าวไกลก็ต้องลงนามด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นความหวาดระแวงของกลุ่ม ส.ว.ที่ตั้งแรงค้านอยู่ดี”

ไทม์ไลน์ระทึก!! วัดกึ๋น วัดเกม ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ หลัง ส.ว.ส่งสัญญาณ ให้มันจบที่ตำแหน่งประธานสภาฯ

(24 พ.ค. 66) สวัสดีครับ… เริ่มต้นวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนท่าของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และคณะก้าวไกล หลังพิธีกรรมเอ็มโอยู โดยเดินสายไปพบกับสภาอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ใครหลายคนจะขัดหูขัดตากิริยาอาการนั่งไขว่ห้างระหว่างพูดคุยอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับคำชมเปาะจากนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมว่า “ว่าที่นายกฯ ทิม พิธา นุ่มลึกและลุ่มลึก เข้าใจปัญหาต่างๆ ดีมาก”

เท่าที่ทราบ นายพิธาและพรรคก้าวไกลออกแบบว่า ระหว่างนี้ คณะกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดเจรจา และชุดเปลี่ยนผ่านจะทำงานทุกวัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความยอมรับ เสียงขานรับให้กับว่าที่นายกฯ คนที่ 30 แบบว่าไม่ปล่อยให้เวลาหรือไทม์ไลน์อันยืดย้วยของระบบการเมืองไทย มาทำให้รัฐบาลผสม 313 เสียง หลุดจากพื้นที่ข่าวไปแม้เพียงนาทีเดียว…

อย่างไรก็ตาม บรรทัดนี้ สาธุชนก็พึงรับทราบและฟังอีกครั้ง ถึงไทม์ไลน์การเมืองที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แจกแจงไว้ว่า ไทม์ไลน์น่าจะเป็นไปตามนี้…

- 13 ก.ค. คือวันสุดท้ายที่ กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.
- 20 ก.ค. คือวันสุดท้ายที่ ส.ส.จะรายงานตัว
- 24 ก.ค. พิธีเปิดประชุมรัฐสภา
- 25 ก.ค. เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
- 26 ก.ค. โปรดเกล้าแต่งตั้งประธานสภา
- 3 ส.ค. ประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี
- 10 ส.ค. ได้ ครม.ชุดใหม่
- 11 ส.ค. ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ และเป็นวันสุดท้ายของ ครม.รักษาการ

ดูไทม์ไลน์ดังที่ว่ามาแล้ว อีกตั้ง 2 เดือนเศษกว่าจะถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นที่รู้กันว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี จะรู้กันตั้งแต่วันเลือกตำแหน่งประธานสภาแล้ว ซึ่งสรุปความตามท้องเรื่องในขณะนี้ให้สั้นที่สุดก็คือ พรรคก้าวไกลฮึ่มฮั่มกันทั้งจากนอกพรรคและในพรรค ว่าต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น… ขณะที่พรรคเพื่อไทยตั้งธงว่า ขอตำแหน่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้จะเป็นพรรคอันดับ 2 แต่คะแนนเสียงห่างกันแค่ 11 เสียงเท่านั้น…

และวันนี้… เริ่มแล้ว เมื่อนายอดิษร เพียงเกษ หัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคเพื่อไทย ออกมาเปรี้ยงปร้างสอนน้องๆ ก้าวไกลว่า อย่าริกินรวบ ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของเพื่อไทย หลังจากที่เมื่อวันก่อนนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ทรงบารมีนอกพรรคของก้าวไกล บอกว่าเก้าอี้ประธานสภาปล่อยให้ใครไม่ได้ เพราะก้าวไกลถอยมามากแล้ว…

จะว่าไปงานนี้ ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยอึดอัดจนจุกอกทั้งคู่… พรรคก้าวไกลนั้น หากเก้าอี้นี้หลุดมือ เก้าอี้นายกฯ ก็อาจหลุดตาม หรือต่อให้ได้เป็นนายกฯ แต่ประธานสภาเป็นของพรรคอื่น การจะขับเคลื่อนแก้ไขมาตรา 112 และอีก 44 กฎหมายของพรรค คงเดินหน้าลำบากขึ้น ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น หากยื่นคำขาดว่า ถ้าไม่ได้เก้าอี้ประธานสภาก็ไม่ร่วมรัฐบาล แล้วพลิกเกมไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ… ก็คงจะโดนกระหน่ำจาก ‘ด้อมส้ม’ และคนทั่วไปกระอักเหมือนกัน

ตำแหน่งประธานสภาจึงเป็นตำแหน่งวัดใจ วัดเกม และวัดกึ๋นของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย หนนี้หวยคงไม่ไปออกที่พรรคเล็กเหมือนเมื่อปี 2526 ที่พรรค 3 เสียงของนายอุทัย พิมพ์ใจชน ส้มหล่นได้เป็นประธานสภา แต่จะเป็นใคร? รอกันอีกไม่กี่อึดใจ…

ไม่เพียงแต่เราๆ ท่านๆ เท่านั้นที่ลุ้นระทึก นาทีนี้บรรดาท่านสมาชิกวุฒิสภาได้ส่งสัญญาณไปยังบางพรรคแล้ว ว่าเกมทั้งหมดอย่าให้ถึงมือ ส.ว.เลย ขอให้จบกันที่การโหวตเลือกประธานสภาเถอะ ประธานจะชื่อนายสุชาติ หรือชื่อนายชลน่านก็ว่ากันไป จากนั้นค่อยเสนอชื่อนายกฯ จะชื่อ อุ๊งอิ๊ง ชื่อประวิตร หรือชื่ออนุทิน… ส.ว.ส่วนใหญ่จะจัดให้

เอวัง – สวัสดี

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top