Monday, 13 May 2024
สว

‘ดร.เสรี’ เรียกร้องยกเลิกงบค่าอาหารของ ‘สส.-สว.’  แนะให้จ่ายเงินกินกันเอง จะช่วยชาติประหยัดได้เยอะ

(9 ก.ย. 66) ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

เลิกงบอาหารสำหรับ สส. และ สว.เถอะ มีเงินเดือนขนาดนี้ และค่าโน่นค่านี่อีกมากมาย ให้หากินเองเถอะ

พื้นที่ในสภาฯ มากพอที่จะทำเป็นศูนย์อาหาร ให้เข้ามาหากินกันเองนะ

ที่จัดให้ในตอนนี้ใช้งบประมาณสูงเกินไป เสียดายเงินที่ต้องจ่าย

แล้วก็มาประชุมกันไม่ครบ สภาฯ ล่มก็กลับบ้าน ไม่ได้กิน แต่ก็ต้องจ่าย

เลิกงบนี้เถอะนะ แล้วให้จ่ายเงินกินกันเอง จะประหยัดช่วยชาติได้เยอะ

อยากเห็น สส.สักคนที่เสนอเรื่องนี้ในสภาฯ จะมีไหมนะ?

ส่องเกณฑ์เลือก สว.ชุดใหม่!! 200 คน ภายใต้ รธน. 2560 มีทั้งเลือกกันเองในกลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่มตามขั้นตอน

(1 ต.ค. 66) มึนงงกับการศึกษาที่มา สว.ใหม่ สรุปคือมี 200 คน มีทั้งเลือกกันเองในกลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่มตามขั้นตอน

นายหัวไทร หยิบ ‘รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560’ มาอ่านอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแต่งตั้งพิเศษจาก คสช.ตามบทเฉพาะกาล 250 คน ใกล้จะหมดวาระในช่วงกลางปี 2567 (พฤษภาคม) และสว.ชุดใหม่ที่มาแบบใหม่เป็น สว.ตามบทหลักภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

แต่จากการอ่านหมวด ว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 107 เขียนไว้ซับซ้อนเข้าใจยากถึงที่มาจาก สว.ชุดใหม่ ต้องไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็พอจะเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ลึกซึ้งมากนัก ต้องหาผู้รู้ด้านกฎหมายมหาชนมาอธิบายอีกครั้ง

เอาคร่าวๆ นะครับว่า ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้มี สว. 200 คน เลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มพิเศษคัดเลือกกันเอง

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้ สว.มีแค่ 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ ‘เลือกกันเอง’ โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านๆ ต่าง ที่หลากหลายของสังคม ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวนและหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกกันเองอย่างชัดเจนจะถูกลงไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.วุฒิสภา)

พ.ร.ป.วุฒิสภา มาตรา 10 และมาตรา 11 กำหนดให้ผู้สมัคร สว.สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 18 กลุ่ม และกลุ่มพิเศษอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ รวมจำนวนทั้งหมด 20 กลุ่ม ดังนี้...

- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- (กลุ่มพิเศษ) กลุ่มสตรี 
- (กลุ่มพิเศษ) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มอื่นๆ

โดยผู้สมัครจะต้องมีไม่มีลักษณะต้องห้ามต่างๆ ตามมาตรา 14 เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และต้องมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 13 ดังนี้...

- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 
- อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี 
- ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก, เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี, เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา

ทั้งนี้ คุณสมบัติเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี นั้น จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่สมัครในกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในข่าย ‘อื่นๆ หรือในทำนองเดียวกัน’ จะต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

ส่วนที่มา สว. ให้เวียนเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ

โดยที่มาของ สว.ชุดใหม่ เมื่อผู้สมัครคุณสมบัติผ่านฉลุย ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่มและในหนึ่งอำเภอเท่านั้น (มาตรา 15) ซึ่งทุกกลุ่มจะทำการเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ จนได้สมาชิกครบ 200 คน ซึ่งขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้...

>> ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ (มาตรา 40) 
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัครก่อน ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ ผู้ได้คะแนนสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับจังหวัดต่อไป 

>> ด่านที่สอง เลือกกันเองในระดับจังหวัด (มาตรา 41) 
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สองอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับประเทศ
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง ผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับประเทศต่อไป

>> ด่านที่สาม เลือกกันเองในระดับประเทศ (มาตรา 42)
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม โดย 10 คนแรก ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว.
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละไม่เกินห้าคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นสว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น 

โดยสรุป เมื่อผ่านการเลือกกันเองของกลุ่มผู้สมัคร สว.ทั้งหมดสามด่านแล้ว ก็จะได้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว. ยกตัวอย่างเช่น...

นาย ก.เคยเป็นครู ทำงานมาแล้ว 20 ปี อยากเป็น สว. ดังนั้น นาย ก.จึงไปสมัครตามอำเภอที่ตนพำนัก เพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มอาชีพที่ตนเชี่ยวชาญคือ กลุ่มการศึกษา เมื่อตรวจคุณสมบัติผ่านก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกันเองสามด่าน ซึ่งนั่นหมายความว่า นาย ก. จะเป็นทั้งผู้มีสิทธิเลือกสว.และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกให้เป็น สว.ไปพร้อมกัน

และการที่ ‘นาย ก.’ จะเป็นสว.ได้นั้น นาย ก.ต้องติด Top 40 ของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในกลุ่มอาชีพเดียวกัน และยังต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ ถูกเลือกจนกลายเป็น Top 10 ของกลุ่มการศึกษา และเป็นหนึ่งใน 200 คนที่ได้รับตำแหน่ง สว. ในที่สุด

การได้มาซึ่ง สว. ด้วยวิธีการ ‘คัดเลือกกันเอง’ นับว่าเป็นแบบไม่ง้อการเลือกตั้งจากประชาชน โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ ไว้ว่า “ประชาชนเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมือง เพราะไม่ต้องหาเสียง เขาก็คุยกันเฉพาะแต่ในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้ สว.ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือ ‘ประชาชน’”

อ่านทั้งรัฐธรรมนูญ และ พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ก็พอจะประมวลได้แค่นี้ แต่ก็ยังยากจะเข้าใจอยู่ ยังต้องหากูรูกฎหมายมหาชนมาอธิบายคำว่า ‘กลุ่ม’ กับ ‘สาย’ และ ‘ขั้น’ ต่างๆ ที่เขียนไว้ซับซ้อนไม่น้อย

สรุปง่ายๆ คือ สว.มี 200 คน ในขั้นต้นเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ค่อยไปเลือกข้ามกลุ่มเมื่อมีการแบ่งสาย ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปครับ

‘ปารีณา’ ซัด!! ‘หมอพรทิพย์’ ดันทุรัง ร้านอาหารมีสิทธิที่จะไล่ ชี้ เป็นบุคคลสาธารณะ ต้องยอมรับผลการกระทำของตนเอง

หลังเกิดดรามา ‘คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์’ สว. ถูกชายไทยคนหนึ่งอ้างเป็นเจ้าของร้านอาหารในประเทศไอซ์แลนด์ ไล่ออกจากร้านขณะจะเข้าไปรับประทานอาหาร งานนี้ชาวเน็ตเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของชายคนดังกล่าว

ในจำนวนนี้มีอดีตนักการเมืองคนดัง ‘น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์’ อดีต สส.ราชบุรี ที่โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า…

“#หมอพรทิพย์ #ดันทุรังเอง มันเป็นสิทธิของร้านอาหารนะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดคือ… ไม่ต้อนรับ ไม่ให้บริการ ถ้าครั้งแรกเขาไล่ ก็ควรรีบไป ชัดเจนว่า…หมอพรทิพย์ดันทุรังอยู่ต่อ จึงต้องรับสภาพ”

“เห็นภาพ ไม่ได้รู้สึกเห็นใจท่าน สว. หรือ สส. เลย รู้สึกแต่เสียดายเงินภาษีประชาชน เมื่อช่วงที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาต้องแก้ไขเยอะ ช่วงที่มีประชุมสภา สส. สว. ยังจะมีอารมณ์มาเล่นดนตรีไทยที่ไอซ์แลนด์ได้อย่างไรคะ”

“สุดท้าย บุคคลสาธารณะ ต้องยอมรับผลของการกระทำตนเอง เปรียบเมื่อเจ้าฟ้าชายชาวล์เฉยเมย เมื่อรัฐบาลอังกฤษขึ้นค่าเทอมนักเรียน ถูกปาก้อนหินใส่รถ ทั้งที่ท่านไม่มีหน้าที่อะไรในรัฐบาล หรือโจ ไบเดน ถูกชาวบ้านตะโกนใส่ว่า ฟั..ก ไบเดน สาเหตุจากไบเด้รบริหารประเทศชาติได้พังพินาศ”

'ดร.นิว' ชำแหละ!! 'ธนาธร' ชี้นำการเลือก สว. ชุดใหม่ ทำให้นึกถึงหัวหน้าปรสิตใน Parasyte: The Grey

(24 เม.ย.67) นายศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ 'ดร.นิว' นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ระบุว่า...

เห็นนายธนาธรชี้นำการเลือก สว. ชุดใหม่ ทำให้นึกถึงหัวหน้าปรสิตใน Parasyte: The Grey ที่กระเสือกกระสนดิ้นรนให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยการครอบงำองค์กรมนุษย์ วาทกรรม สว. ประชาชน ที่กล่าวอ้าง ความจริงเป็นขบวนการชี้นำการสมัครเพื่อฮั้วโหวตแบบพวกมากลากไป หวังนำไปสู่การผลิต สว. ธนาธร ใช่หรือไม่?

‘กกต.’ เคาะกฎระเบียบแนะนำตัวผู้สมัคร ‘สว.’ กำชับ!! ห้ามออกสื่อ-ยอมให้นักการเมืองหนุน

(26 เม.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567 แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับ

โดยสาระสำคัญ กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกสามารถแนะนำตัวได้นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยผู้สมัครสามารถมีผู้ช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวได้

และได้กำหนดวิธีการแนะนำตัวว่า กรณีใช้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร เอกสารต้องมีขนาดไม่เกินเอ 4 หรือขนาด 210 มิลลิเมตร X 297 มิลลิเมตร ระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า และการแจกเอกสารแนะนำตัวตาม จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครและเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น

ส่วนการมีผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนั้น ให้ผู้สมัครแจ้งชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร หรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก่อนวันดำเนินการ ยกเว้น สามี ภรรยาหรือบุตร

ระเบียบดังกล่าวยังกำหนดข้อห้ามในการแนะนำตัวที่สำคัญไว้ อาทิ

1.ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว

2.นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีผลใช้บังคับการแนะนำตัวไปจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวอันเป็นการกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

3.ห้ามผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ ในการแนะนำตัว

4.ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวางโปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

5.แนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

6.ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

7.ห้ามจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้

8.ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใด ในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใด ๆ 

‘ธนกร’ ฟาดใส่ ‘ธนาธร-ช่อ’ หยุดชี้นำชวนสมัคร สว. ผ่านเว็บ ย้ำ!! ถ้าอยากได้ สว.‘อิสระ-เป็นปชต.’ ก็ไม่ควร ออกมาเคลื่อนไหว

(28 เม.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ออกประกาศเตือนไปถึงกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กร ที่จัดแคมเปญให้มีการจูงใจ หรือชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพรวม 20 กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยมีผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกเป็นส.ว. จำนวนมากได้กรอกข้อมูลส่วนตัว จุดยืนวิสัยทัศน์ ลงในเว็บไซต์เพื่อให้ผู้จัดแคมเปญรวบรวมข้อมูลนั้น อาจเข้าข่ายเป็นการจัดตั้งบุคคลให้มาเป็นผู้สมัครรับเลือกส.ว. อาจเข้าข่ายมีความผิดกฎหมาย

นายธนกร กล่าวว่า หากกกต.มีเหตุสงสัยว่าการเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ได้ทันที หากพบว่าผู้สมัครรับเลือกเป็นส.ว.ยินยอมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย ซึ่งท้ายที่สุด จะทำให้การเลือกส.ว.มีปัญหาในหลายอำเภอ หลายจังหวัด โดยมองว่า จะมีการร้องเรียนกันไปมาวุ่นวายทั้งประเทศและส่งผลทำให้ได้ส.ว.ชุดใหม่ ล่าช้าออกไป

“ขอฝากไปถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช และแกนนำที่ออกมาเปิดแคมเปญเชิญชวนให้คนมาสมัครเป็นส.ว.กันเยอะๆ และยังมีการให้กรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์นั้น กกต.ออกโรงเตือนแล้วขอให้ระมัดระวัง อย่าทำผิดกฎหมายเสียเอง ถ้าอยากเห็นส.ว.ชุดใหม่ มีที่มาโดยสุจริต ถูกต้องและโปร่งใส เลือกกันเองใน 20 วิชาชีพ ไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงหรืออยู่เบื้องหลัง ตามเจตนารมย์ประชาธิปไตยจริงๆ ก็ไม่ควรออกมาเคลื่อนไหว สุดท้ายเกรงว่าจะได้ส.ว.จัดตั้งในร่างทรงฝ่ายการเมืองบางกลุ่มมากกว่า” นายธนกร กล่าว

'เพจดัง' จับโป๊ะ!! เด็กก้าวไกลเกณฑ์คนไปฟังธนาธรพูดเรื่อง สว. เนียน!! สั่งทุกคนห้ามใส่ 'เสื้อ-สัญลักษณ์' ของพรรคก้าวไกลไป

(29 เม.ย. 67) จากเพจ 'วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร-สำรอง' ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพกรณี 'ธีรุตม์ สันหวัง' อดีตผู้สมัครพรรคก้าวไกล ชวนคนไปฟังนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดตั้งทีมเลือก สว. ว่า...

#ทุกคนคะ พบอดีตผู้สมัครพรรคก้าวไกล ปัจจุบันเป็นทีมงานพรรคภาคใต้ เกณฑ์คนไปฟังธนาธร พูดตั้งทีมเลือก สว. 

พบคนที่ไปฟังเป็นสมาชิกและฐานเสียงพรรค ถูกสั่งห้ามใส่เสื้อและแสดงสัญลักษณ์ของพรรคก้าวไกลด้วยค่ะ

นอกจากนี้ ทางเพจวันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร-สำรอง ยังเผยอีกว่า นายธนาธรมีการชี้นำหลายจุด และทางเพจก็มีภาพและคลิปพร้อม แต่ยังไม่รู้จะส่งใครได้บ้าง เนื่องจากเบื่อ กกต.

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูข้อความจากเพจของนายธีรุตม์ สันหวัง ได้ระบุข้อความที่โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 17 เม.ย.67 ความว่า...

มีคนถามผมเกี่ยวกับเรื่อง สว. ว่า เขาเลือกกันยังไงวะ

วันนี้ !!! วันนี้ 18.00 น.ณ ปั้ม ปตท. บางม่วง เชิญผู้สนใจ

เข้าร่วมงาน 'ขอความร่วมมือ' ต้องไม่ใส่เสื้อพรรคก้าวไกล เนื่องจากงานนี้พูดเรื่อง สว. และ สว.ต้องเป็นอิสระจาก 'พรรคการเมือง'

'ธนาธร' ไม่สนเสียงเตือน กกต. เดินหน้าจูงใจเลือกสว. ด้าน กกต.ฮึ่ม!! พบฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมาย ฟันทันที

(30 เม.ย.67) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

"วันอาทิตย์และจันทร์นี้ผมอยู่อีสาน แต่วันอังคารกลับมาเจอพี่น้องประชาชนที่มหาชัย ล้อมวงคุยเรื่อง #สวประชาชน กันครับ

"พบกันช่วงเย็น แดดร่มลมตก ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ที่ลานริมเขื่อน หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สมุทรสาคร"

ทั้งนี้ กกต.ได้เตือนว่า ตามที่มีกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ / ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม 20 กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ที่ปรากฏในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่าง ๆ นั้น

ปรากฏว่า มีบุคคลที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นจำนวนมาก กรอกข้อมูลส่วนตัว จุดยืน วิสัยทัศน์ และข้อมูลอื่น ๆ ลงในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้จัดแคมเปญทำการรวบรวมรายชื่อผู้สมัคร เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของตนเอง อันเป็นการจัดตั้งบุคคลให้มาเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภานั้น

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงขอแจ้งให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา อย่าได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือกรอกข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งจุดยืนของตนเองให้เผยแพร่และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ใด ๆ

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูล และพยานหลักฐานตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือมีผู้ร้องเรียนว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย สำนักงาน ฯ จะดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายในทันที จึงขอให้ยกเลิกและยุติการกระทำดังกล่าว 

‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์’ ถาม ‘ธนาธร’ ฮั้วเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตย ? ด้าน ‘สว.สมชาย’ ตั้งข้อสังเกต อาจผิดเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ

(6 พ.ค.67) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค’ เรื่อง ฮั้วกระบวนการเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตย จริงหรือ? ระบุว่า แกนนำคณะก้าวหน้าวิจารณ์ว่า ระบบเลือก สว. นี้ออกแบบมาเพื่อ ‘กีดกันประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วม’ ซึ่งต่อมาธนาธรได้กล่าวว่าการทำให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ ต้องเริ่มต้นที่การเลือก สว. หากมี สว. ประชาชนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเข้าไปดำรงตำแหน่งมากพอ ก็จะช่วยถอดสลักและแก้ปมที่พันกันได้

สำหรับคำจำกัดความของ ‘สว. ประชาชน’ ของคณะก้าวหน้าคือ คนธรรมดาที่ ‘ฝักใฝ่ประชาธิปไตย’ และลงสมัคร สว. โดยไม่รับเงินทองและอามิสสินจ้าง คนที่ลงสมัคร สว. มี 3 ประเภทคือ 

1.คนที่สมัครเพราะต้องการเป็น สว. จริง ๆ 

2.คนที่สมัครแบบเป็นก็ได้-ไม่เป็นก็ได้ 

3.คนที่สมัครเพราะต้องการเข้าไปโหวต 

ซึ่งคน 2 กลุ่มหลังอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปแสดงตัวในเว็บไซต์ หมายความว่า ธนาธร รณรงค์ให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดของเขาสมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์ ใช่หรือไม่

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดแคมเปญ “สว. ประชาชน” รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ไปลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

สำหรับ สว. ชุดใหม่จะมาจากการ ‘เลือกกันเอง’ ในกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และ ‘เลือกไขว้กลุ่ม’ โดยผู้สมัครต้องผ่านการเลือก 3 ระดับ จากอำเภอ ขึ้นสู่จังหวัด และประเทศ  โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘คุยนอกจอ’ กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่า ต้องการยอดผู้สมัครอย่างน้อย 1 แสนคนเป็นตัวเลขเป้าหมาย หากทำได้ก็จะได้เสียงส่วนใหญ่ของ สว.

ซึ่งนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคณะบุคคล/ตัวแทนพรรคการเมือง ที่มีกระบวนการรณรงค์ให้ประชาชนสมัคร สว. โดยระบุว่า “เข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ สว.” เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 ต้องสมัครเพื่อเป็น สว. ไม่ใช่สมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์

สรุป ธนาธร คนที่ประกาศว่า “ถ้าประเทศไทยยังเดินไม่ถูกทาง ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังหาผู้นำทางการเมืองที่เหมาะสมกว่าผมไม่ได้ ถ้าต้องทำ (เป็นแคนดิเดตนายกฯ) ก็ต้องทำ” อันหมายความว่า ธนาธรเท่านั้นที่จะมาเป็นผู้นำเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง หรือไม่

แต่การรณรงค์ให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดของตน ลงสมัคร สว.โดยไม่ต้องหวังจะสมัครเพื่อเป็น สว. แต่สมัครไปเพื่อจะได้มีสิทธิ์โหวตคนที่ตนเองหรือพรรคพวกของตนเองให้ได้เป็น สว.  ซึ่งนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่า จะถือว่าเป็นการเข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ สว.ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

คนที่มีแนวคิดแบบนี้นะหรือที่ประกาศว่าจะมาสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย และประกาศว่าประเทศไทยต้องมีผู้นำที่ชื่อ ธนาธร เท่านั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top