Monday, 13 May 2024
สว

เปิดหน้า 13 ส.ว. โหวตให้ 'พิธา'

เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.66) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผลการลงคะแนนไม่เห็นชอบ ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ซึ่งถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งนั้น ปรากฏว่า ส.ว.ที่เห็นชอบจำนวน 13 คน ได้แก่ 

1. นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 
2. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 
3. นายเฉลา คงมาลัย 
4. นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล 
5. พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง 
6. นายพิศาล มาณวพัฒน์ 
7. นายพีระศักดิ์ พอจิต 
8. นายมณเทียร บุญตัน 
9. นายวันชัย สอนศิริ 
10. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 
11. นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ 
12. นพ.อำพล จินดาวัฒนะ 
13. นางประภาศรี สุฉันทบุตร          

ขณะที่ นายนพดล มาตรศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ลงมติเห็นชอบ ตอนหลังเมื่อการลงมติเสร็จสิ้น ประธานรัฐสภา ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกที่ยังไม่ได้ลงมติ ได้ลงมติ โดยนายพดล ได้ขอเปลี่ยนมติจากเห็นชอบ เป็นงดออกเสียง 

ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่า เรื่องการเปลี่ยนมติ ตนเข้าใจว่าประธานฯ อาจจะใช้เหตุผลว่ายังไม่ได้ปิดการลงคะแนนซึ่งถูกต้อง แต่ด้วยกระบวนการสิ่งที่เราทำกันคือการลงมติ ได้ลงมติไปแล้ว และขานผลของตัวเองไปแล้วเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง แต่มากลับมติ น่าจะทำให้ประเพณีปฏิบัติที่เราทำมาให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งไม่เคยทำ และเราก็รู้กันอยู่ว่าการลงมติสำคัญเช่นนี้ มีกลไก วิธีการ การกดดัน อะไรอีกมากมายแล้วมาเปลี่ยนในตอนท้าย ทำให้เราเกิดความสงสัยว่า เหตุใดจึงเปลี่ยนการลงมติ อยากถามประธานฯ ว่าจะเดินเส้นทางนี้ตลอดไปหรือเป็นประเพณีที่เราจะต้องดำเนินต่อไปใน 4 ปีข้างหน้าหรือไม่ และไม่มีข้อบังคับไหนบอกให้เปลี่ยนมติของตนได้ ซึ่งในข้อบังคับข้อที่ 59 ระบุว่าสมาชิกรัฐสภาซึ่งเข้ามาในที่ประชุม ระหว่างการออกเสียงลงคะแนน ออกเสียงลงคะแนนได้ หมายความถึงคนที่ยังไม่ใช้สิทธิ์ ไม่ได้หมายความว่าคนใช้สิทธิ์ไปแล้วอยากจะเปลี่ยนการลงมติของตน อย่างนี้ถ้าคะแนนปริ่มกัน 1-2 คะแนน แล้วมาเปลี่ยนอย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ เราเดินต่อไม่ได้

‘ก้าวไกล’ ยื่นร่างแก้ ม.272 คืนอำนาจเลือกนายกฯ ให้ ปชช. ชี้!! เป็นทางออกที่ดีที่สุด เชื่อ!! ‘ส.ส. - ส.ว.’ พร้อมสนับสนุน

(14 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมี วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับเอกสาร สาระสำคัญของร่างคือ การยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ชัยธวัชกล่าวว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ เสนอร่างฉบับนี้เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกฯ ให้แก่ประชาชน เนื่องจากการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ปรากฏชัดว่ามี ส.ว.งดออกเสียงถึง 159 คน ไม่มาประชุมอีก 43 คน หลายคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์ใช้อำนาจทำหน้าที่เลือกนายกฯ ขอให้เป็นเรื่องของ ส.ส. ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง

ส.ส.พรรคก้าวไกลในฐานะสมาชิกรัฐสภา จึงเสนอทางออกให้ ส.ว.ในเมื่อท่านไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ในการโหวตพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ทางนี้จึงจะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ทั้ง ส.ว.ทั้งระบบรัฐสภาของประเทศ ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้ และมีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด

เลขาธิการพรรคก้าวไกลชี้แจงต่อคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยว่า คาดว่าระยะเวลาที่รัฐสภาพิจารณาร่างฉบับนี้ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะเสนอแก้ไขเพียงมาตราเดียว และการพิจารณาสามารถดำเนินการคู่ขนานกับการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ได้ โดยหลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะดำเนินการขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ต่อไป

พร้อมกับย้ำว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิก ม.272 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอหลายครั้งในสภาชุดที่แล้ว และ ส.ส. พรรคที่เป็นฝั่งรัฐบาลในเวลานั้น เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ก็เคยออกเสียงสนับสนุน รวมถึง ส.ว. มากกว่า 60 คนก็เคยเห็นชอบ จึงเชื่อว่าครั้งนี้ไม่น่ามีปัญหา

ทั้งนี้ ได้แจ้งการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อพรรคเพื่อไทยเป็นการเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากพรรคก้าวไกลต้องการให้กระบวนการนี้ใช้เวลาสั้นที่สุด จึงไม่สามารถรอให้สมาชิกจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลพรรคอื่นๆ มาร่วมเซ็นด้วย ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างนี้เพียงพรรคเดียว ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยและอีก 6 พรรค จะไม่เห็นด้วยหรือขัดข้องแต่อย่างใด

“ในเมื่อ ส.ว.มีมโนธรรมสำนึกว่าท่านไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น เพื่อให้ท่านไม่ต้องทำอะไรที่ขัดกับมโนธรรมสำนึก ก็แก้ไขยกเลิกมาตรานี้เสีย เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกให้ประชาชน และเมื่อประชาชนตัดสินใจไปแล้ว จะถูกจะผิดอย่างไรท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะท่านอ้างว่าถ้าตัดสินใจก็ต้องรับผิดชอบ ท่านจึงไม่ตัดสินใจ หนทางนี้จึงเป็นการหาทางออกให้ทุกฝ่าย เป็นทางออกที่ดีที่สุด และต้องถามไปยัง ส.ว.หลายท่านที่ได้แสดงออกมาก่อนหน้านี้ว่าตนเองไม่อยากเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯ ท่านยินดีหรือไม่ที่จะช่วยกันเอาอำนาจของท่านออกไป และคืนอำนาจนี้ให้ประชาชน” ชัยธวัช กล่าว

ด้านประธานรัฐสภากล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่สภาตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร โดยจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นเรื่องด่วน

‘เพื่อไทย’ ค้าน!! ‘ก้าวไกล’ แก้ รธน.272 ชี้ เป็นไปได้ยาก จ่อหารือกับพรรคร่วมรอบ 2 ยังไม่เคาะชื่อ ‘พิธา’ ชิงนายกฯ

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 66 ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ ตัวแทนพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้นัดหารือกันหลังการโหวตชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยมีตัวแทนพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที

บรรยากาศที่ประชุมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี โดยได้หารือถึงภาพกว้างประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยมองว่าในที่ประชุมรัฐสภาฯ จะมีการทักท้วงเกี่ยวกับการเสนอญัตติเดิมซ้ำในสมัยประชุมได้หรือไม่ รวมถึงประเมินว่าฝ่ายรัฐบาลเดิมอาจเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้ามาแข่งด้วย ซึ่งวงหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพียงแต่อยากประเมินสถานการณ์ให้แต่ละฝ่ายไปหาทางรับมือประเด็นนี้ไว้ล่วงหน้า ส่วนเรื่องที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้น พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นไปได้ยาก เพราะญัตติดังกล่าวต้องอาศัยเสียง ส.ว.ถึง 84 เสียง มองว่าเวลานี้ควรมุ่งหน้าเรื่องจัดตั้งรัฐบาลกันก่อน

ทั้งนี้ หลังจากนี้ทาง 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดหารือกันอีกครั้ง ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา และจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่สรุปว่ายังเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ และยังไม่มีการหารือรายชื่อนายกฯ รอบ 2 ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะต้องรอความเห็นจากที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน ส่วนการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 พรรคก้าวไกลจะรวบรวมเสียง ส.ว.หรือไม่นั้น ที่ประชุมก็มีการพูดคุยกัน แต่ก็ต้องมาหารือกันอีกครั้งในที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล

ลุ้น!! ‘ก้าวไกล’ เสนอชื่อพิธาอีกรอบ 19 ก.ค.นี้ แต่ผลคะแนน ‘คาด’ ยังไม่เปลี่ยนจากหนแรก

ฉากทัศน์การเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร? ภายหลังผลโหวตนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นชอบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล

- ก้าวไกลเสนอชื่อพิธาอีกรอบ 19 ก.ค.นี้

- สถานการณ์ด้านคะแนนยังไม่น่าเปลี่ยน ไม่น่าจะแตกต่างจากเดิม

- พิธา ก้าวไกล ตอกย้ำ แก้ ม.112 เป็นพันธกิจที่ให้ไว้กับประชาชน

- แปลความว่าก้าวไกลเดินหน้าแก้ ม.112 แบบไม่ถอย

- ก้าวไกลแก้เกมรุกด้วยการเสนอแก้ รธน.มาตรา 272 ปลดล็อก ส.ว. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ทันโหวตเลือกนายกฯครั้งสอง ครั้งสามแน่นอน ไม่มีประโยชน์อะไร

- ยิ่งจะเป็นการขยายแผลให้ ส.ว.กว้างเข้าไปอีก

- แก้ รธน.มาตรา 272 ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ต้องพึ่งเสียง ส.ว.1/3 หรือ 84 เสียง

- หา 64 เสียงยังไม่ได้ จะหา 84 เสียงมาปิดสวิตช์ตัวเองจากไหน

- สมัยเพื่อไทยขอแก้ ม.272 ก้าวไกลงดออกเสียง วันนี้จะขอแก้เอง หนุกหนาน

- เพื่อไทยเตรียมตัวแล้ว ถ้าพิธาไม่ผ่านรอบสอง เพื่อไทยจะเสนอคนของพรรค

- น่าสนใจ ชลน่านบอกว่า เมื่อพิธาไม่ผ่าน เป็นความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามเสนอแข่ง ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

- ประเด็นต้องพิเคราะห์ เพื่อไทยจะเอาใครเป็นนายกฯ

- ลดความเสี่ยงของอุ๊งอิ๊ง ในการพาพ่อกลับบ้าน น่าจะส่งเศรษฐา เป็นนายกฯ

- ตาโทนี่น่าจะเลื่อนกลับไทย จากเดิมบอกว่าจะมาก่อนวันเกิด 26 กรกฎาคม

- จับตาลุงป้อมจะต่อรองอะไรกับเพื่อไทย ถ้าเพื่อไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนขั้ว ทิ้งก้าวไกล

- สูตรใหม่ จึงน่าจะเป็นเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ (ลุงตู่ลาออกเปิดทางให้แล้ว) ไทยสร้างไทย (เจ้หน่อยลาออกเปิดทางให้แล้ว) ประชาชาติ (ต้องเอาวันนอร์ประธานสภาไว้) ชาติไทยพัฒนา (พรรคกลางๆ)

- ส่วนประชาธิปัตย์ รอดูท่าทีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ถ้าขั้วเฉลิมชัยชนะ ก็ร่วมรัฐบาล ถ้าอภิสิทธิ์ชนะก็เป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะขั้วไหน

‘รศ.ดร.เจษฎ์’ ชี้ ควรให้ระบบรัฐสภาจัดระเบียบโหวตนายกฯ ลั่น!! อยากเห็น 14 ล้านเสียงที่เลือก ‘ก้าวไกล’ ลงถนน

เมื่อไม่นานนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก เป็นนักวิชาการทางกฎหมาย และพิธีกรรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับประเด็นทางบ้านเมือง สังคม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘คมชัดลึก’ ทางช่อง Nation online เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น รศ.ดร.เจษฎ์ได้กล่าวถึงความคิดเห็นต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ โดยเมื่อถามว่า รศ.ดร.เจษฎ์ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร กับการเคลื่อนไหวของมวลชน หลังผลโหวตนายกรัฐมนตรีออกมาว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านด่าน ส.ว.ในรอบแรก รศ.ดร.เจษฎ์ ตอบว่า…

“ผมคิดว่า มีความน่าใจ และผมอยากเห็นคนทั้ง 14 ล้านคนที่เลือกคุณพิธา ลงถนนเพื่อสนับสนุนพรรคก้าวไกล และผมก็อยากเห็นคนอีก 27-28 ล้านคน ที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล มาลงถนนด้วยกัน”

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวต่อว่า หากบอกว่าประชาธิปไตยคือการเดินเข้าสภาฯ คือการไปเลือก คือการ ‘บังคับ’ ให้ ส.ว. ต้องลงมติให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง จากประชาชนที่มาเลือกตั้งกว่า 41-42 ล้านคน การที่ไปรวบรวมเอาคะแนนจากพรรคเพื่อไทยมาด้วย แล้วบอกว่าเป็นคะแนนของตัวเอง ตนก็ยังมีความแปลกใจอยู่ไม่น้อย ว่าสิ่งนี้คือประชาธิปไตยแบบไหน การลงถนนก็ถือเป็นการแสดงออกเชิงประชาธิปไตย ก็ลงถนนได้ และหากจะเรียกร้องเสรีภาพ โดยอ้างว่าต้องการใช้เสรีภาพ การจะด่ากันก็ถือเป็นเสรีภาพนะ การฆ่ากันก็เป็นเสรีภาพ แต่หากพูดในแง่ของกรอบสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องพูดในแง่ของกฎหมาย ก็อาจทำให้เสรีภาพถูกตัดรอนด้วยเสรีภาพซึ่งกันและกันได้

“ถ้าเราใช้คำว่า ‘เสรีภาพ’ มาอ้างในการทำสิ่งต่างๆ อาจได้เกิดการฆ่ากันตายแน่นอน แต่ถ้าหากเรามาพูดในกรอบสิทธิ มันจึงมีหน้าที่เข้ามาด้วย แล้วเรามีหน้าที่อะไรล่ะ? เรามีหน้าที่ต่อประเทศชาติร่วมกัน ถูกไหมครับ ท่านจะเชียร์ 14 ล้านเสียง ก็ช่างของท่าน หรือท่านจะไม่เชียร์ 14 ล้านเสียง ก็ช่างของท่าน แต่ในเมื่อเราต้องอยู่ร่วมกันในประเทศนี้ การที่ท่านเอาความชัง เอาความชอบส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง มันย่อมเป็นปัญหาแน่นอน การกดดันกัน และใช้วิธี ‘บังคับให้เลือก’ อย่างเช่น การบอกว่า พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 14 ล้านเสียง แต่จะมามาบังคับให้ทุกคนเลือกตัวเองให้หมด เพราะตัวเองได้คะแนนเสียงมากที่สุด” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคไทยรักไทย เคยได้คะแนนเสียง 377 เสียง แต่สุดท้ายพรรคไทยรักไทยกลับถูกกดดันให้ยุบสภาฯ และเกิดการปฏิวัติ รัฐประหารในที่สุด

“มันดีไหม การปฏิวัติ รัฐประหาร มันไม่ดีหรอก มันไม่ควรทำ ไม่มีใครเห็นชอบหรอก แต่เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อย่างในกรณีที่คุณอานนท์ นำภา บอกว่า หากพรรคก้าวไกล ถอยจากมาตรา 112 เมื่อไร ตนจะลุยพรรคก้าวไกลทันที และคนจำนวนหนึ่งก็เห็นด้วย ในขณะที่อีกจำนวนก็บอกว่า หากแตะมาตรา 112 เมื่อไร ก็จะลุยพรรคก้าวไกลเหมือนกัน และหากพรรคก้าวไกลก็ยังดึงดัน ยืนยันที่จะผลักดันให้แก้ไขมาตรา 112 เพราะมีเสียงสนับสนุน… หากสังคมยังอยู่กันแบบนี้ ผมว่าบ้านนี้ก็คงจะมีแต่การสู้กันตาย อาจเกิดสงครามการเมืองแบบสหรัฐอเมริกา หรือเหมือนฝรั่งเศสอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในตอนนี้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เราต้องถอยกลับมาที่ระบบรัฐสภา ระบบรัฐสภา คือการหาทางออกร่วมกัน และไม่ได้เป็นการบังคับกัน และตามที่ผมได้เคยบอกไปแล้วว่า ระบบรัฐสภา ที่เอา ส.ส.มาลงมติให้ ส.ส. เป็นระบบสากลที่ทั่วโลกใช้ ตรงนี้ผมไม่เถียง แต่พอเป็นประเทศไทย ซึ่งมีการเกิดคำถามเพิ่มเติมมา แล้วประชาชนก็ไปลงมติ โดยเสียงข้างมากบอกให้มีคำถามเพิ่มเติม มันก็ต้องยอมรับว่านี่คือระบบของประเทศไทย” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า หากจะบอกว่าในตอนนั้นไม่สามารถที่จะออกมาผลักดันได้ ว่าให้เห็นต่างในเรื่องของคำถามเพิ่มเติม ให้เห็นต่างในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อคนที่สนับสนุน สามารถพูดได้มากกว่า ตนมองว่า โดยรวมแล้วประชาชนที่ไปใช้สิทธิ เป็นคะแนนบริสุทธิ์มากกว่าด้วยซ้ำไป ประชาชนที่จะเอาแบบนี้ก็จะไปว่าแบบนั้น ประชาชนที่จะเอาแบบนั้นก็จะไปว่าแบบนี้ จนท้ายที่สุด ต้องนำกลับเข้าสู่ระบบรัฐสภา ว่าจะต้องมี ส.ว.มาลงมติด้วย ส่วนเหล่า ส.ว.จะฟังเสียงกดดันหรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัว ส.ว.เอง หรือเสียงกดดันจะยิ่งทำให้เขาอยากที่จะลงมติอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

“ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ หากใช้การลงถนนแล้วบอกว่า จะยกระดับ จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ จะฆ่ากันตาย แล้วเอามาข่มขู่กัน ผมคิดว่าแบบนี้จะอยู่กันลำบาก และก็ไม่ใช่เพียงแค่ 14 ล้านคน เพราะหาก 14 ล้านคน สามารถลงถนนได้ อีก 27-28 ล้านคนก็ทำได้เช่นกัน มันก็กลายเป็นว่าเกิดการฆ่ากันตายทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วทำไปเพื่ออะไร? ทำเพื่อกลุ่มหนึ่งที่อยากได้คุณพิธาเป็นนายกฯ คนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่อยากได้คุณพิธาเป็นนายกฯ เพียงแค่นี้ก็อาจทำให้บ้านเมืองพังได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

โดยสรุปแล้ว รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า สมควรให้ระบบรัฐสภามาจัดการในตัวของมันไป หากพรรคอันดับ 1 ไม่ได้ จะสลับอันดับ สลับขั้ว หรือเลือกแคนติเดตใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินกันต่อไปได้ ก็ว่ากันไป ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาพลังมวลชนจากท้องถนนมากดดัน

“อีกประเด็นหนึ่งคือ ใครจะชนะก็แล้วแต่ โปรดย่าลืมว่า เมื่อครั้งหนึ่ง ปี 2535 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ได้ทรงเตือน พลตรีจําลอง ศรีเมือง และพลเอกสุจินดา คราประยูร ถ้าพวกท่านชนะ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร? ใครจะเป็นคนพ่ายแพ้ ผมมองว่าต้องมานั่งคิดในประเด็นนี้ด้วย จะรักใคร ชังใคร มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘ช่อ พรรณิการ์’ โต้กลับเสียงคัดค้าน ปม ‘ก้าวไกล’ แตะ ม.112 ชี้!! แค่ข้ออ้างในการไม่หนุนพรรคอันดับ 1 เพราะถูกตัดวงจรคอร์รัปชัน

(16 ก.ค. 66) ผู้ใช้ TikTok บัญชี ‘@canac_nat’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอของ ‘ช่อ พรรณิการ์ วานิช’ ผู้ก่อตั้งคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ได้ออกมาพูดถึงประเด็นการแก้ไข ม.112 และความจงรักภักดี ในหัวข้อ ‘ต่อให้คุณได้เสียงเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่จงรักภักดี เท่ากับ ไม่มีสิทธิ์’  โดยในคลิปได้ระบุว่า…

“คุณกำลังสร้างตรรกะนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือคะ? คุณกำลังจะบอกว่า ต่อให้เป็นพรรคที่มีความชอบธรรมจากประชาชน มีนโยบายมากมายกว่า 300 นโยบาย ที่แม้แต่พวกคุณเองก็ยอมรับว่าเห็นด้วยในหลาย ๆ นโยบาย แต่เมื่อถูกตราหน้าว่า ‘ไม่จงรักภักดี’ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นรัฐบาล ในขณะที่คนที่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นโจร หรือกล้าที่จะบอกว่าสามารถยิงคนที่ไม่จงรักภักดีได้โดยไม่ผิดกฎหมาย… ‘เป็นโจร แต่จงรักภักดี’ กลับมีที่อยู่ที่ยืนในประเทศนี้ ในขณะที่คนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำครบทุกอย่างกลับโดนตราหน้าว่า หากคุณไม่จงรักภักดี คุณจะไม่มีที่ยืน คุณกำลังเอาพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนความนิยมเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มาชนกับสถาบันฯ หรือคะ คุณทำไปเพื่ออะไร?”

“ข้ออ้างมีหลากหลาย คุณกลัวว่าจะทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ บ้านใหญ่ของคุณอาจถูกทำลาย หรือคุณไม่พอใจในเรื่องของสัมปทานที่อาจจะถูกยกเลิกภายใต้ ‘รัฐบาลก้าวไกล’ ที่ทำงานอย่างโปร่งใส คุณมีหลากหลายเหตุผลที่ไม่อยากจะเลือก ‘คุณพิธา’ และพรรคก้าวไกล แต่คุณไม่กล้าพูดออกมาตรง ๆ เพราะคุณรู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ เมื่อถึงเวลาคุณจึงมาอ้างเหตุผลว่า เพราะพรรคก้าวไกลไม่มีความจงรักภักดี หากคุณทำแบบนี้ ขอถามว่า แล้วใครได้ประโยชน์ ใครกันที่เสียประโยชน์? ใครกันแน่ที่กำลังทำลายสถาบันฯ อยู่” 

ช่อ พรรณิการ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “เรื่องนี้น่ากลัวและน่าตกใจมาก และยังเป็นเกมที่เสี่ยงมาก ที่พวกคุณเอามาเล่นกันเอง ไม่ใช่พรรคก้าวไกลนะคะ”

'ศิริกัญญา' ฟันธงโหวตนายกฯ รอบ 2 พิธาได้เสียงเพิ่มจาก ส.ว. ถาม!! ใครคือผู้ที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปเชิญ 'ชทพ.-ปชป.'

(17 ก.ค. 66) ที่อาคารไทยซัมมิท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล คาดว่าการประชุมวันนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี และมีการหารือเรื่อง เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งที่สอง รวมถึงเรื่องการยกเลิกม.272 ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นไปก่อนหน้านี้ โดยขอเสียงสนับสนุนจาก 8 พรรคร่วม พร้อมทั้งไม่กังวลกับการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2

"เราได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ หากประชาชนยังไม่ถอยเราก็ยังไม่ถอย และคิดว่าจะมีการเสนอชื่อคุณพิธาอีกรอบนึงตามสมรภูมิที่เราได้แจ้งกับประชาชนไว้"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้เจรจาการดึงพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล มีการระบุว่าได้รับการทาบทามจากพรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบเรื่องว่าใครคือ ผู้ที่ให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปเชิญ ซึ่งหากได้เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคชาติไทยพัฒนาก็จะได้จำนวนเสียงที่มากขึ้น
.
ส่วนเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนาระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112 เป็นเงื่อนไขที่เป็นการเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยได้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า หากเป็นเงื่อนไขมาตรา 112 ก็คงไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง
.
เมื่อถามว่าการหารือระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในวันนี้จะราบรื่นหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จะต้องราบรื่นและเป็นไปตามที่เราได้คาดหวังไว้
.
ซักว่ายังยืนยันในจำนวนเสียงส.ว.หรือไม่เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการทราบจำนวน ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องนี้เรามีการสื่อสารด้วยกันมาโดยตลอด ว่าทางพรรคก้าวไกลจะติดต่อท่านไหนและพรรคเพื่อไทยจะช่วยติดต่อคือส.ว.ท่านไหน รวมถึงมีการพูดคุยกันมาโดยตลอด ซึ่งการโหวตในรอบนี้จากที่มีการทำงานกันมาได้คะแนนเสียงเพิ่มเติมจากจำนวนส.ว.ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนั้น

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จริง ๆ แล้วเราไม่มีความกังวลใด ๆ เราสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะสู้กับ 2 สมรภูมิ ซึ่งเราจะสู้อย่างเต็มที่เพื่อเสนอนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมคาดหวังว่าจากสิ่งที่เราได้ทำแคมเปญ จะทำให้ส.ว.เปลี่ยนใจมายืนเคียงข้างประชาชนก็คิดว่าเราจะได้คะแนนเสียงเพิ่ม ส่วนเรื่อง 2 สมรภูมิหากส.ว.ที่ต้องการปิดสวิตตัวเอง ในม.272 ซึ่งเป็นไปตามที่เราได้แจ้งกับประชาชนและสื่อมวลชนไว้ หากการต่อสู้ทั้ง 2 สมรภูมิไม่เป็นผลเราก็จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ถามว่าได้มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ไทม์ไลน์ต่าง ๆ จริง ๆ แล้วต้องขึ้นอยู่กับประธานสภา ที่จะบรรจุวาระม.272 ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งตามระเบียบแล้วต้องเอาเข้าภายใน 15 วันอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะจบภายในสัปดาห์และทราบทิศทางต่อไปอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคเพื่อไทยไม่พอใจกับการแก้ไขม.272 เหมือนเป็นการมัดมือชกพรรคเพื่อไทย จะมีการหารือในวันนี้ด้วยหรือไม่ ศิริกัญญากล่าวว่า ประเด็นม.272 จะเป็นประเด็นที่หารือกันในวันนี้เป็นการพูดคุยทำความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าการแก้ไขม.272 ไม่ได้เป็นการมัดมือชกใด ๆ และคิดว่าเราน่าจะทำภารกิจนี้ร่วมกันทั้ง 8 พรรค โดยยืนยันว่าหาแก้ไขม.272 ไม่สำเร็จพร้อมเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้กับประชาชน

เมื่อถามต่อว่าจะไม่เป็นการยืดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญายืนยันว่า ไม่ได้เป็นการยืดเวลาอย่างแน่นอนซึ่งจะทราบผลในอาทิตย์หน้า หากผ่านสามารถดำเนินการวาระที่ 2 วาระที่ 3 แล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นการยืดระยะเวลาไปไกล ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งรัฐบาลและนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณตน จากวันที่มีการเลือกตั้งใช้เวลาทั้งสิ้น 7 สัปดาห์ หากเราต้องการใช้เวลาแก้ไขม.272… 2-3 สัปดาห์ไม่ใช่การยืดเวลาอะไรอย่างใด

ซักว่ามีความมั่นใจ หรือไม่ว่าการแก้ไขม.272 จะเป็นทางออกของพรรคก้าวไกล ศิริกัญยากล่าวว่า เราเห็นใจส.ว.หลายท่านและเราก็ทราบว่า มีกระบวนการที่จะไม่ให้บุคคลเหล่านั้นมาโหวตให้กับนายพิธา ถูกขู่เอาชีวิตและเราเห็นใจและคิดว่านี่คือทางออกที่หลายฝ่ายสบายใจ รวมถึงส.ว.ด้วยที่อยากจะปิดสวิตช์ตัวเอง

ถามอีกว่ามีความเข้าใจในเรื่องสัดส่วนในการแก้ไขม. 272 ต้องใช้เสียงจากฝ่ายค้าน น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการโหวตที่อยู่ในขั้นที่ 3 ที่จะต้องใช้คะแนนเสียงจากฝ่ายค้าน ซึ่งเราได้มีการคำนวณแล้ว คิดว่าน่าจะผ่าน ถึงวาระที่สาม

เมื่อถามว่าเหตุใดพรรคก้าวไกลจึงไม่ถอยการแก้ไขมาตรา 112 แทนที่จะมาเดินหน้าแก้ไขม. 272 น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราได้สัญญากับประชาชน ผ่านการหาเสียงเลือกตั้ง และแล้วเราก็คิดว่าการแก้ไขม.112 เป็นเพียงข้ออ้าง ที่จะไม่โหวตให้กับพรรคก้าวไกล ถึงแม้ว่าเราจะยอมถอย และเสียสัจจะที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน ก็ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่ทำให้ส.ว. จะไม่โหวตให้กับเราเพราะเรื่องการแก้ไขม.112 อย่างแน่นอน ดังนั้นเราขอเลือกที่จะไม่เสียสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน

ถามว่าไม่กังวลเรื่องการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ยาวใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่าไม่ถึงขั้นนั้นและไม่ได้ใช้ระยะเวลาเป็นปีอย่างมากแค่ 3 สัปดาห์และอยู่ในวิสัยที่เราสามารถจัดการได้อย่างแน่นอนซึ่งนิด้าโพลได้มีการเผยแพร่อย่างชัดเจนว่าประชาชนอยากให้ทำการโหวตให้กับนายพิธาไปเรื่อยๆ

‘สว.เสรี’ แนะ ‘เพื่อไทย’ รวมเสียงจัดตั้ง รบ. ให้ครบก่อน เชื่อ!! ‘สว.’ ยกมือให้ หากไม่มีนโยบายกระทบสถาบัน

(24 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย จัดคณะพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อหาทางออกวิกฤตประเทศ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ว่า พรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องมา เพราะจุดยืนของ สว. ชัดเจนแล้วว่า หากมีพรรคการเมืองใดที่จะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 หรือแก้ไขกฎหมายใดที่จะไปกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สว. ก็จะไม่สนับสนุน และหากมีการพูดคุยกับคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของ สว. ที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ดังนั้นจึงเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องเดินทางมาพูดคุยกับ สว. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

เมื่อถามว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่จะนำเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โดยพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน สว. จะสนับสนุนหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก็จะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมตามปกติ ขอแนะนำให้พรรคเพื่อไทย รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลให้เพียงพอ และมีนโยบายที่ไม่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ ก็เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาพร้อมสนับสนุน เพราะมองว่ากระบวนการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นข้ออ้างที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น

เมื่อถามว่า เห็นอย่างไรที่นายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้เลื่อนวันโหวตนายกฯ จากวันที่ 27 ก.ค. 66 ออกไปก่อน หลังกระบวนการเจรจาพูดคุยของพรรคเพื่อไทยยังไม่เสร็จสิ้น นายเสรี กล่าวว่า สว.ไม่มีความขัดข้องว่าจะมีการประชุมรัฐสภาให้เลือกนายกรัฐมนตรีในวันใด แต่ขอให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปพูดคุยตกลงกันให้ได้ข้อสรุปก่อน 

ส่วนกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เตรียมเปิดเผยข้อมูลลับของนายเศรษฐา ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า จะต้องไปพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ เพราะหากมีการฟังความข้างเดียวก็อาจไม่เป็นธรรม ดังนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

'วิษณุ' แจงชัด!! อีก 10 เดือน สว.หมดอายุ  แค่อยู่รักษาการ ไม่สามารถเลือก นายกฯ ได้

(25 ก.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถาม ถ้า สว. หมดอายุไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการคัดสรรอย่างไร ว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าในระหว่างที่มีการคัดสรร สว.ชุดใหม่ สว. ชุดเก่าจะต้องรักษาการต่อไป แต่ไม่สามารถมีส่วนในการเลือกนายกฯ ได้ในช่วงรักษาการนี้ เพราะการเลือกนายกฯ เขาล็อกเอาไว้ 5 ปี พอครบ 5 ปีวันที่ 11 พ.ค.67 ก็หมดไป สว. ก็หมดไปด้วย สว. ที่อยู่เขาให้อยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่อื่น ไม่ใช่หน้าที่ตามมาตรา 272 ไม่ใช่การเลือกนายกฯ

ส่วนการคัดสรร สว. ใหม่ จะใช้เวลาเท่าไหร่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะต้องมีกฎหมายลูกในการคัดสรร สว. โดยคัดสรรเป็นอาชีพ ไม่ได้คัดสรรเป็นจังหวัด เรื่องนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนจัดการ หาก สว. ชุดนี้ใกล้หมดวาระ กกต. จะคิดวางไทม์ไลน์ต่อไป

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะแก้ไขการคัดสรร สว. ให้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สว. ก็มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นการเลือกจากสาขาอาชีพเป็นกลุ่ม ๆ แล้วมาคัดสรร แต่หากจะแก้ไขใหม่จากนี้ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ใหญ่สุด ๆ ถึงขนาดอาจจะต้องทำประชามติ

ทั้งนี้ บทบัญญัติของการคัดสรร สว.ใหม่เขียนไว้อยู่หลายมาตรา ถ้าจะแก้ก็ต้องรื้อ แต่ตนคิดว่าไม่มีใครคิดทำอย่างนั้น นอกจากว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว อย่างนี้ก็แล้วไป

'ณัฐชา' เชื่อ สว.หนุน 'เศรษฐา' ฉลุยนายกฯ มีเบื้องหลัง  งง!! ทะเลาะกันมาสิบปี คงมีข้อเจรจาที่ตกลงกันได้

(24 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญอินไชยสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีนัยทางการเมืองหรือไม่ ว่า ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไรกับการส่งมอบอำนาจ เป็นอำนาจใหม่ที่ประชาชนมีข้อเคลือบแคลงสงสัย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ  ซึ่งเป็นรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งยึดอำนาจมาเกือบ 9 ปี สุดท้ายมาส่งมอบอำนาจให้กับพรรค เพื่อไทยซึ่งเป็นสิ่งที่เราสงสัยในหลายประเด็น

ส่วนการเข้าพบในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่ สว. โหวตให้นายเศรษฐาหรือไม่นั้น นายณัฐชากล่าวว่า หลังจากพรรคเพื่อไทย จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ต้องมีเสียงของ สว. เกี่ยวข้องด้วยแน่นอน เพราะเช้าวันที่โหวตนายกฯ (22 ส.ค.) ตนได้พูดคุยกับสว.ที่รู้จักกัน ก็ยังไม่มีสัญญาณมา แต่โค้งสุดท้าย ก็มีการส่งสัญญาณไฟเขียวโหวตให้นายเศรษฐา ช่วงเวลาระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนว่าต้องมีการเจรจากับนอกรอบอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า การพูดคุยของนายกฯ จาก 2 ขั้วอำนาจ จะถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีหรือไม่สำหรับพรรคก้าวไกล นายณัฐชากล่าวว่า คำว่า สมานฉันท์ปรองดอง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เบื้องหลังมีการกระทำอะไรบ้าง ที่มีผลกระทบกับประชาชน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ให้ได้ว่า เบื้องหลังของคนที่ขัดแย้งกันมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี สุดท้ายมาจับมือกัน และบอกว่าเป็นการทลายความขัดแย้งที่ยาวนาน

“อยู่ดี ๆ คนมีปัญหากันมาเป็นสิบปี มาจับมือกัน มันต้องมีข้อเจรจาที่ตกลงกันได้ สิ่งที่ตกลงกันนั้นคืออะไร ประชาชนยังไม่ทราบเท่านั้นเอง” นายณัฐชากล่าว

เมื่อถามว่า มีอะไรอยากจะฝากถึงคณะรัฐมนตรีใหม่หรือไม่ นายณัฐชากล่าวว่า “หน้าตารัฐมนตรีที่ออกมาทั้ง 35 คน จะทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าภายใต้การเจรจา เบื้องหลังเบื้องลึกนั้นมีการเจรจาต่อรองตำแหน่งใดไว้บ้าง และทิศทางที่เจรจาส่งผลกระทบอะไรต่อประชาชน หน้าตาของครม. ก็จะเป็นคำตอบให้กับประชาชนว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลนี้วางอยู่บนความไว้วางใจของประชาชนได้หรือไม่”

เมื่อถามว่า เห็นหน้าตาครม. และนายกฯ แล้ว คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังเป็นไปได้หรือไม่ นายณัฐชากล่าวว่า “จากการที่นายเศรษฐาระบุว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม. ในวาระแรก ตนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขได้อย่างแน่นอน ถ้านายกฯ มีความตั้งใจ แต่ความจริงใจนั้นต้องพิสูจน์ว่า ที่มาที่ไปของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะมาด้วยวิธีการใด ก่อนเลือกตั้งเราพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าสสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้คือประเด็นหลัก ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้หรือไม่ได้” 

ส่วนจะร่างรัฐธรรมนูญควบคู่ไปด้วยหรือไม่ นายณัฐชากล่าวว่า “ต้องทำอย่างแน่นอน”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top