‘รศ.ดร.เจษฎ์’ ชี้ ควรให้ระบบรัฐสภาจัดระเบียบโหวตนายกฯ ลั่น!! อยากเห็น 14 ล้านเสียงที่เลือก ‘ก้าวไกล’ ลงถนน

เมื่อไม่นานนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก เป็นนักวิชาการทางกฎหมาย และพิธีกรรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับประเด็นทางบ้านเมือง สังคม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘คมชัดลึก’ ทางช่อง Nation online เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น รศ.ดร.เจษฎ์ได้กล่าวถึงความคิดเห็นต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ โดยเมื่อถามว่า รศ.ดร.เจษฎ์ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร กับการเคลื่อนไหวของมวลชน หลังผลโหวตนายกรัฐมนตรีออกมาว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านด่าน ส.ว.ในรอบแรก รศ.ดร.เจษฎ์ ตอบว่า…

“ผมคิดว่า มีความน่าใจ และผมอยากเห็นคนทั้ง 14 ล้านคนที่เลือกคุณพิธา ลงถนนเพื่อสนับสนุนพรรคก้าวไกล และผมก็อยากเห็นคนอีก 27-28 ล้านคน ที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล มาลงถนนด้วยกัน”

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวต่อว่า หากบอกว่าประชาธิปไตยคือการเดินเข้าสภาฯ คือการไปเลือก คือการ ‘บังคับ’ ให้ ส.ว. ต้องลงมติให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง จากประชาชนที่มาเลือกตั้งกว่า 41-42 ล้านคน การที่ไปรวบรวมเอาคะแนนจากพรรคเพื่อไทยมาด้วย แล้วบอกว่าเป็นคะแนนของตัวเอง ตนก็ยังมีความแปลกใจอยู่ไม่น้อย ว่าสิ่งนี้คือประชาธิปไตยแบบไหน การลงถนนก็ถือเป็นการแสดงออกเชิงประชาธิปไตย ก็ลงถนนได้ และหากจะเรียกร้องเสรีภาพ โดยอ้างว่าต้องการใช้เสรีภาพ การจะด่ากันก็ถือเป็นเสรีภาพนะ การฆ่ากันก็เป็นเสรีภาพ แต่หากพูดในแง่ของกรอบสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องพูดในแง่ของกฎหมาย ก็อาจทำให้เสรีภาพถูกตัดรอนด้วยเสรีภาพซึ่งกันและกันได้

“ถ้าเราใช้คำว่า ‘เสรีภาพ’ มาอ้างในการทำสิ่งต่างๆ อาจได้เกิดการฆ่ากันตายแน่นอน แต่ถ้าหากเรามาพูดในกรอบสิทธิ มันจึงมีหน้าที่เข้ามาด้วย แล้วเรามีหน้าที่อะไรล่ะ? เรามีหน้าที่ต่อประเทศชาติร่วมกัน ถูกไหมครับ ท่านจะเชียร์ 14 ล้านเสียง ก็ช่างของท่าน หรือท่านจะไม่เชียร์ 14 ล้านเสียง ก็ช่างของท่าน แต่ในเมื่อเราต้องอยู่ร่วมกันในประเทศนี้ การที่ท่านเอาความชัง เอาความชอบส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง มันย่อมเป็นปัญหาแน่นอน การกดดันกัน และใช้วิธี ‘บังคับให้เลือก’ อย่างเช่น การบอกว่า พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 14 ล้านเสียง แต่จะมามาบังคับให้ทุกคนเลือกตัวเองให้หมด เพราะตัวเองได้คะแนนเสียงมากที่สุด” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคไทยรักไทย เคยได้คะแนนเสียง 377 เสียง แต่สุดท้ายพรรคไทยรักไทยกลับถูกกดดันให้ยุบสภาฯ และเกิดการปฏิวัติ รัฐประหารในที่สุด

“มันดีไหม การปฏิวัติ รัฐประหาร มันไม่ดีหรอก มันไม่ควรทำ ไม่มีใครเห็นชอบหรอก แต่เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อย่างในกรณีที่คุณอานนท์ นำภา บอกว่า หากพรรคก้าวไกล ถอยจากมาตรา 112 เมื่อไร ตนจะลุยพรรคก้าวไกลทันที และคนจำนวนหนึ่งก็เห็นด้วย ในขณะที่อีกจำนวนก็บอกว่า หากแตะมาตรา 112 เมื่อไร ก็จะลุยพรรคก้าวไกลเหมือนกัน และหากพรรคก้าวไกลก็ยังดึงดัน ยืนยันที่จะผลักดันให้แก้ไขมาตรา 112 เพราะมีเสียงสนับสนุน… หากสังคมยังอยู่กันแบบนี้ ผมว่าบ้านนี้ก็คงจะมีแต่การสู้กันตาย อาจเกิดสงครามการเมืองแบบสหรัฐอเมริกา หรือเหมือนฝรั่งเศสอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในตอนนี้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เราต้องถอยกลับมาที่ระบบรัฐสภา ระบบรัฐสภา คือการหาทางออกร่วมกัน และไม่ได้เป็นการบังคับกัน และตามที่ผมได้เคยบอกไปแล้วว่า ระบบรัฐสภา ที่เอา ส.ส.มาลงมติให้ ส.ส. เป็นระบบสากลที่ทั่วโลกใช้ ตรงนี้ผมไม่เถียง แต่พอเป็นประเทศไทย ซึ่งมีการเกิดคำถามเพิ่มเติมมา แล้วประชาชนก็ไปลงมติ โดยเสียงข้างมากบอกให้มีคำถามเพิ่มเติม มันก็ต้องยอมรับว่านี่คือระบบของประเทศไทย” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า หากจะบอกว่าในตอนนั้นไม่สามารถที่จะออกมาผลักดันได้ ว่าให้เห็นต่างในเรื่องของคำถามเพิ่มเติม ให้เห็นต่างในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อคนที่สนับสนุน สามารถพูดได้มากกว่า ตนมองว่า โดยรวมแล้วประชาชนที่ไปใช้สิทธิ เป็นคะแนนบริสุทธิ์มากกว่าด้วยซ้ำไป ประชาชนที่จะเอาแบบนี้ก็จะไปว่าแบบนั้น ประชาชนที่จะเอาแบบนั้นก็จะไปว่าแบบนี้ จนท้ายที่สุด ต้องนำกลับเข้าสู่ระบบรัฐสภา ว่าจะต้องมี ส.ว.มาลงมติด้วย ส่วนเหล่า ส.ว.จะฟังเสียงกดดันหรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัว ส.ว.เอง หรือเสียงกดดันจะยิ่งทำให้เขาอยากที่จะลงมติอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

“ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ หากใช้การลงถนนแล้วบอกว่า จะยกระดับ จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ จะฆ่ากันตาย แล้วเอามาข่มขู่กัน ผมคิดว่าแบบนี้จะอยู่กันลำบาก และก็ไม่ใช่เพียงแค่ 14 ล้านคน เพราะหาก 14 ล้านคน สามารถลงถนนได้ อีก 27-28 ล้านคนก็ทำได้เช่นกัน มันก็กลายเป็นว่าเกิดการฆ่ากันตายทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วทำไปเพื่ออะไร? ทำเพื่อกลุ่มหนึ่งที่อยากได้คุณพิธาเป็นนายกฯ คนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่อยากได้คุณพิธาเป็นนายกฯ เพียงแค่นี้ก็อาจทำให้บ้านเมืองพังได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

โดยสรุปแล้ว รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า สมควรให้ระบบรัฐสภามาจัดการในตัวของมันไป หากพรรคอันดับ 1 ไม่ได้ จะสลับอันดับ สลับขั้ว หรือเลือกแคนติเดตใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินกันต่อไปได้ ก็ว่ากันไป ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาพลังมวลชนจากท้องถนนมากดดัน

“อีกประเด็นหนึ่งคือ ใครจะชนะก็แล้วแต่ โปรดย่าลืมว่า เมื่อครั้งหนึ่ง ปี 2535 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ได้ทรงเตือน พลตรีจําลอง ศรีเมือง และพลเอกสุจินดา คราประยูร ถ้าพวกท่านชนะ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร? ใครจะเป็นคนพ่ายแพ้ ผมมองว่าต้องมานั่งคิดในประเด็นนี้ด้วย จะรักใคร ชังใคร มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : https://youtu.be/KJervNAdxyA