Sunday, 28 April 2024
เจษฎ์โทณะวณิก

‘รศ.ดร.เจษฎ์’ จวก!! กระแสกดดัน ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ลั่น!! ต่อให้ได้ถึง 750 เสียง ก็ไม่มีสิทธิ์ทำแผ่นดินลุกเป็นไฟ

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ได้กล่าวในรายการตอบโจทย์ ของสถานีข่าวไทยพีบีเอสกรณีปมกดดัน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้ามากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.

โดยประเด็นนี้ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวในหัวข้อ จับกระแส ‘กดดัน ส.ว.’ โหวตเลือกนายกฯ ของทางรายการข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญเขียนเรื่อง ส.ว.ไป และข้อต่อ ส.ว. มาทำอะไรตรงนี้ ทำไม ส.ว.ต้องมาลงมติเพื่อได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมุมดังกล่าวนักวิชาการในร่างแขกรับเชิญ ระบุต่อมา ตรงนี้อาจจะถือเป็นก้าวที่ คสช. ก้าวผิดไป

“ถ้าวันนี้ คสช.ไม่เอา ส.ว. มาร่วมด้วยเนี่ยนะ เมื่อวันปี 62 ท่านก็ได้เสียงข้างมากไปละ รัฐบาลที่จัดตั้งด้วยเสียงข้างมากทหาร วันนี้ถ้าหากเป็นระบบรัฐสภาจริง ๆ จะไม่เกิดเหตุหรือเกิดน้อยมากที่พรรรคที่ได้คะแนนเสียงลำดับ 1 กับลำดับ 2 จับ” กล่าวจบ รองศาสตราจารย์ยังยกตัวอย่างเพื่อย้ำข้อเท็จจริง โดยระบุให้ไปดูตัวอย่างของประเทศระบบรัฐสภาส่วนใหญ่ ไม่ใช่แต่เพียงพรรคจะไม่จับกัน แต่ประชาชนก็ไม่อยากให้จับมือร่วมรัฐบาลกันแบบนี้ด้วย เพราะจะใหญ่เกิน”

“ข้อ 2 ในระบบรัฐสภา สิทธิจัดตั้งก่อน ไม่ใช่ได้สิทธิเป็น ตอนนี้ต้องเข้าใจให้ดีว่า ได้สิทธิในการจัดตั้งนะ ถ้าจัดตั้งไม่ได้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของสิทธิลำดับพรรคที่ได้คะแนนเสียงลดหลั่นกันไป”

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อถึงประเด็นกลไก ตอนปี 60 มีประชามติการให้ความเห็นชอบคำถามพ่วง ว่าจะให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่ 15,132,050 คน (58.07%) เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

จุดนี้เองทำให้นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ฯ แสดงมุมมองตัวเองเสริมไปว่า ครั้งนั้นเมื่อไม่มีการผลักดัน ตีฆ้องร้องป่าว เท่ากับเป็นคะแนนบริสุทธิ์ ประชาชนก็มาออกเสียง ในกลไก คือ เอา ส.ว. มาเพราะปฏิรูปประเทศ

เมื่อถูกถามว่าอิสระจริงรึเปล่า? ถอดจากคำให้สัมภาษณ์ในรายการโดยละเอียดของ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก สามารถระบุได้ดังนี้

“ผมถึงได้พูดว่าการที่ไม่สามารถที่จะแสดงทรรศนะ ว่าเห็นด้วยหรือเห็นต่างเป็นสาธารณะ หรือมาบอกว่า เธอเห็นด้วยสิ เธอเห็นต่างสิ เธออย่าไปเอาร่างรัฐธรรมนูญ อย่าไปเอาคำถามเพิ่มเติมนะ เธอเอาสิ ไม่มีเลย แสงดว่ามันเป็นคะแนนบริสุทธิ จะด้วยภาวะการณ์ เขาลงคะแนนบริสุทธิ์ ถูกไหมครับ เขาลงคะแนนมาแล้วให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ อันนี้คือประชามติ

“ประชามติ คือ ประชาธิปไตยทางตรงนะ ตรงยิ่งกว่าการเลือกตั้งอีกนะ การเลือกตั้งมันเป็นประชาธิปไตยทางอ้อมนะ คุณเลือก ส.ส. และ ส.ส.ไปเลือกนายกให้นะ แต่นี่ประชาธิปไตยมันตรงนะ คุณจะเอาไม่เอา เขาเอามาแล้ว มันกลายเป็นหน้าที่แล้ว กลายเป็นลักษณะพิเศษของบ้านนี้เมืองนี้ ส.ว.เขาเลยต้องมาลงมติ ที่ถามไว้แบบนี้จะเป็นรอื่นเป็นแบบไหนได้อีกไหม คุณมี 160 ไปขอเพื่อน 150 เลขกลม เพื่อนอีกจำนวนรวมได้ 313 พอรวมได้ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญต้อง 376 ขึ้นไป”

“ความอยากได้ตรงนี้เองทำให้เกิด ‘ความบิดเบี้ยว’ ของกลไกรัฐสภา ส.ว. และ ส.ส. ต้องไม่เป็นพวกเดียวกัน ต้องไม่ใช่คนที่จะมาพูดคุยอะไรกัน ต้องตรวจสอบถ่วงดุลค้านอำนาจกันเสียด้วย”

มาถึงเรื่อง ปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาเคลื่อนไหวจะส่งผลอะไรต่อพิธาในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดนี้บ้าง เจษฎ์ตอบข้อสงสัยนี้โดยเริ่มจากยกตัวอย่างกรณีที่หากต่อให้ การออกมาเคลื่อนไหวของนายปิยบุตรล่าสุดไม่มีผลใด ๆ กับฝ่ายที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลต่อคนอื่น ๆ

รศ.ดร.เจษฎ์ ย้ำว่าอย่าลืมว่า ตอนนี้มีคนเลือกคุณ 14 ล้าน ไม่เลือก 27 ล้าน แล้วคนที่ไม่ได้มาเลือกด้วย อีกเท่าไร นับรวมให้ครบคนไทยทั้งประเทศ มีเสียง 160 หย่อน ๆ 300 กว่าคือไม่มี ก่อนจะสรุปด้วยวาจาแข็งกร้าวขึ้นกว่าเดิมว่า...

“ผมเรียนอย่างนี้ครับว่า ต่อให้คุณมีเสียง ส.ส. 500 มีเสียง ส.ว.อีก 250 มีคนไทยทั้งประเทศ คุณก็ไม่มีสิทธิทำลายสิ่งที่บรรพบุรุษคนไทยสร้างไว้ให้ แล้วบรรพบุรุษที่พูดถึงไม่ใช่แค่บรรพบุรุษเจ้าเท่านั้นด้วย เป็นบรรพบุรุษทั้งเจ้าทั้งคนไม่ใช่เจ้าทั้งหมด บรรพบุรุษไทยที่สร้างแผ่นดินนี้มา เขาคือเจ้าของแผ่นดินนี้ที่แท้จริง คุณเป็นผู้สืบทอดเขามา ต่อให้คุณได้ 500 เสียง ส.ส. 250 เสียง ส.ว. คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะทำให้แผ่นดินนี้ลุกเป็นไฟ คุณไม่มีสิทธิที่จะทำลายแผ่นดินนี้

หลัง เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าวจบ แพทย์หญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ก็กล่าวเสริมทันทีว่า เธอเองเห็นด้วย

“อันนั้นล่ะคะ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เขาไม่เข้าใจ เขาหาว่าเราบ้า อะไรประมาณนี้ เขามีเสียงข้างมาก สิ่งนี้เขาจะไม่ฟังเลย” คำกล่าวเสริมถึงกรณีกดดัน ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ จากปากของแพทย์หญิงพรทิพย์ที่หลังจากแสดงมุมมองของตัวเธอจบ รศ.ดร.เจษฎ์ แขกรับเชิญนักวิชาการไทยก็ สรุปถึงสิ่งที่สังคมจะต้องทำและทุก ๆ ประเทศต้องทำ คือ ช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองนั้นให้พัฒนาและดีขึ้นเรื่อย ๆ ดีกว่าที่บรรพบุรุษทำไว้ เพื่อเราจะได้มีแผ่นดินที่ดี ดีขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อลูกหลานเราจะได้มีแผ่นดินที่ดีและดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่พากันทำลาย

‘รศ.ดร.เจษฎ์’ ชี้ ควรให้ระบบรัฐสภาจัดระเบียบโหวตนายกฯ ลั่น!! อยากเห็น 14 ล้านเสียงที่เลือก ‘ก้าวไกล’ ลงถนน

เมื่อไม่นานนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก เป็นนักวิชาการทางกฎหมาย และพิธีกรรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับประเด็นทางบ้านเมือง สังคม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘คมชัดลึก’ ทางช่อง Nation online เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น รศ.ดร.เจษฎ์ได้กล่าวถึงความคิดเห็นต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ โดยเมื่อถามว่า รศ.ดร.เจษฎ์ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร กับการเคลื่อนไหวของมวลชน หลังผลโหวตนายกรัฐมนตรีออกมาว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านด่าน ส.ว.ในรอบแรก รศ.ดร.เจษฎ์ ตอบว่า…

“ผมคิดว่า มีความน่าใจ และผมอยากเห็นคนทั้ง 14 ล้านคนที่เลือกคุณพิธา ลงถนนเพื่อสนับสนุนพรรคก้าวไกล และผมก็อยากเห็นคนอีก 27-28 ล้านคน ที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล มาลงถนนด้วยกัน”

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวต่อว่า หากบอกว่าประชาธิปไตยคือการเดินเข้าสภาฯ คือการไปเลือก คือการ ‘บังคับ’ ให้ ส.ว. ต้องลงมติให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง จากประชาชนที่มาเลือกตั้งกว่า 41-42 ล้านคน การที่ไปรวบรวมเอาคะแนนจากพรรคเพื่อไทยมาด้วย แล้วบอกว่าเป็นคะแนนของตัวเอง ตนก็ยังมีความแปลกใจอยู่ไม่น้อย ว่าสิ่งนี้คือประชาธิปไตยแบบไหน การลงถนนก็ถือเป็นการแสดงออกเชิงประชาธิปไตย ก็ลงถนนได้ และหากจะเรียกร้องเสรีภาพ โดยอ้างว่าต้องการใช้เสรีภาพ การจะด่ากันก็ถือเป็นเสรีภาพนะ การฆ่ากันก็เป็นเสรีภาพ แต่หากพูดในแง่ของกรอบสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องพูดในแง่ของกฎหมาย ก็อาจทำให้เสรีภาพถูกตัดรอนด้วยเสรีภาพซึ่งกันและกันได้

“ถ้าเราใช้คำว่า ‘เสรีภาพ’ มาอ้างในการทำสิ่งต่างๆ อาจได้เกิดการฆ่ากันตายแน่นอน แต่ถ้าหากเรามาพูดในกรอบสิทธิ มันจึงมีหน้าที่เข้ามาด้วย แล้วเรามีหน้าที่อะไรล่ะ? เรามีหน้าที่ต่อประเทศชาติร่วมกัน ถูกไหมครับ ท่านจะเชียร์ 14 ล้านเสียง ก็ช่างของท่าน หรือท่านจะไม่เชียร์ 14 ล้านเสียง ก็ช่างของท่าน แต่ในเมื่อเราต้องอยู่ร่วมกันในประเทศนี้ การที่ท่านเอาความชัง เอาความชอบส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง มันย่อมเป็นปัญหาแน่นอน การกดดันกัน และใช้วิธี ‘บังคับให้เลือก’ อย่างเช่น การบอกว่า พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 14 ล้านเสียง แต่จะมามาบังคับให้ทุกคนเลือกตัวเองให้หมด เพราะตัวเองได้คะแนนเสียงมากที่สุด” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคไทยรักไทย เคยได้คะแนนเสียง 377 เสียง แต่สุดท้ายพรรคไทยรักไทยกลับถูกกดดันให้ยุบสภาฯ และเกิดการปฏิวัติ รัฐประหารในที่สุด

“มันดีไหม การปฏิวัติ รัฐประหาร มันไม่ดีหรอก มันไม่ควรทำ ไม่มีใครเห็นชอบหรอก แต่เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อย่างในกรณีที่คุณอานนท์ นำภา บอกว่า หากพรรคก้าวไกล ถอยจากมาตรา 112 เมื่อไร ตนจะลุยพรรคก้าวไกลทันที และคนจำนวนหนึ่งก็เห็นด้วย ในขณะที่อีกจำนวนก็บอกว่า หากแตะมาตรา 112 เมื่อไร ก็จะลุยพรรคก้าวไกลเหมือนกัน และหากพรรคก้าวไกลก็ยังดึงดัน ยืนยันที่จะผลักดันให้แก้ไขมาตรา 112 เพราะมีเสียงสนับสนุน… หากสังคมยังอยู่กันแบบนี้ ผมว่าบ้านนี้ก็คงจะมีแต่การสู้กันตาย อาจเกิดสงครามการเมืองแบบสหรัฐอเมริกา หรือเหมือนฝรั่งเศสอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในตอนนี้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เราต้องถอยกลับมาที่ระบบรัฐสภา ระบบรัฐสภา คือการหาทางออกร่วมกัน และไม่ได้เป็นการบังคับกัน และตามที่ผมได้เคยบอกไปแล้วว่า ระบบรัฐสภา ที่เอา ส.ส.มาลงมติให้ ส.ส. เป็นระบบสากลที่ทั่วโลกใช้ ตรงนี้ผมไม่เถียง แต่พอเป็นประเทศไทย ซึ่งมีการเกิดคำถามเพิ่มเติมมา แล้วประชาชนก็ไปลงมติ โดยเสียงข้างมากบอกให้มีคำถามเพิ่มเติม มันก็ต้องยอมรับว่านี่คือระบบของประเทศไทย” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า หากจะบอกว่าในตอนนั้นไม่สามารถที่จะออกมาผลักดันได้ ว่าให้เห็นต่างในเรื่องของคำถามเพิ่มเติม ให้เห็นต่างในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อคนที่สนับสนุน สามารถพูดได้มากกว่า ตนมองว่า โดยรวมแล้วประชาชนที่ไปใช้สิทธิ เป็นคะแนนบริสุทธิ์มากกว่าด้วยซ้ำไป ประชาชนที่จะเอาแบบนี้ก็จะไปว่าแบบนั้น ประชาชนที่จะเอาแบบนั้นก็จะไปว่าแบบนี้ จนท้ายที่สุด ต้องนำกลับเข้าสู่ระบบรัฐสภา ว่าจะต้องมี ส.ว.มาลงมติด้วย ส่วนเหล่า ส.ว.จะฟังเสียงกดดันหรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัว ส.ว.เอง หรือเสียงกดดันจะยิ่งทำให้เขาอยากที่จะลงมติอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

“ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ หากใช้การลงถนนแล้วบอกว่า จะยกระดับ จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ จะฆ่ากันตาย แล้วเอามาข่มขู่กัน ผมคิดว่าแบบนี้จะอยู่กันลำบาก และก็ไม่ใช่เพียงแค่ 14 ล้านคน เพราะหาก 14 ล้านคน สามารถลงถนนได้ อีก 27-28 ล้านคนก็ทำได้เช่นกัน มันก็กลายเป็นว่าเกิดการฆ่ากันตายทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วทำไปเพื่ออะไร? ทำเพื่อกลุ่มหนึ่งที่อยากได้คุณพิธาเป็นนายกฯ คนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่อยากได้คุณพิธาเป็นนายกฯ เพียงแค่นี้ก็อาจทำให้บ้านเมืองพังได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

โดยสรุปแล้ว รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า สมควรให้ระบบรัฐสภามาจัดการในตัวของมันไป หากพรรคอันดับ 1 ไม่ได้ จะสลับอันดับ สลับขั้ว หรือเลือกแคนติเดตใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินกันต่อไปได้ ก็ว่ากันไป ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาพลังมวลชนจากท้องถนนมากดดัน

“อีกประเด็นหนึ่งคือ ใครจะชนะก็แล้วแต่ โปรดย่าลืมว่า เมื่อครั้งหนึ่ง ปี 2535 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ได้ทรงเตือน พลตรีจําลอง ศรีเมือง และพลเอกสุจินดา คราประยูร ถ้าพวกท่านชนะ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร? ใครจะเป็นคนพ่ายแพ้ ผมมองว่าต้องมานั่งคิดในประเด็นนี้ด้วย จะรักใคร ชังใคร มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘รศ.ดร.เจษฎ์’ เปิดขั้นตอน ‘ทักษิณ’ ขอพระราชทานอภัยโทษ ภายใต้กรอบที่มิควรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

(1 ก.ย. 66) รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่ขณะนี้ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 1 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญจาก รศ.ดร.เจษฎ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า…

เกี่ยวกับประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้นั้น ก็สืบเนื่องมาจาก ตัวนายทักษิณ หลังเดินทางมาถึงประเทศไทย และได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกรมราชทัณฑ์แบบยังไม่ทันข้ามคืน ก็ถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจ และทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า มีสิทธิ์ขอตั้งแต่วันแรกตามกระบวนการกฎหมาย

>> แต่คำถาม คือ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? 
เพราะโดยปกติแล้ว ‘การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป’ ทางกรมราชทัณฑ์ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะถูกกระจายไปตามส่วนงานต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ โดยรายละเอียดต่างๆ จะมีการพิจารณาภายใต้เกณฑ์ที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะมีระเบียบว่าด้วยระยะเวลาในการต้องโทษ และระเบียบว่าด้วยระยะเวลาในการชดใช้ หรือชำระตามโทษนั้นแล้ว

สมมตินายทักษิณ ได้รับโทษไปแล้ว 3-4 ปี ตามระเบียบขั้นต่อมา ก็จะไปอยู่ที่ ระเบียบชั้นนักโทษ ซึ่งในแต่ละชั้นจะมีการได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษที่แตกต่างกันออกไป โดยมี กรมราชทัณฑ์ เป็นผู้รับผิดชอบในกรอบกว้าง ซึ่งท้ายที่สุด กรมราชทัณฑ์ ก็จะนำส่งเรื่องขึ้นมาให้ทางคณะรัฐมนตรีจะทำการพิจารณาตัดสิน จากนั้นจึงส่งต่อไปตามขั้นตอนกระบวนการ

เพียงแต่… ในกรณีที่ไม่ได้เป็นไปตามระบบ หรือมีกลไกอื่น อาทิ ‘การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ ในส่วนนี้ ผู้รับผิดชอบในการเสนอ จะเป็น ‘ครอบครัว ญาติ หรือ ตัวของผู้ที่ต้องโทษ’ นั่นเอง โดยจะเสนอผ่านกระบวนการของกรมราชทัณฑ์ เช่น หากต้องจำขังอยู่ที่ไหน ก็ต้องจำขังอยู่ที่นั่น หรือหากไม่ได้ต้องจำขังในเรือนจำ แต่หากต้องจำขังในสถานที่อื่น ก็ต้องยื่นเรื่องผ่านไปยังผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเรือนจำที่จะต้องจำขัง

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของคุณทักษิณ ที่เดิมทีต้องถูกจำขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ตอนนี้คุณทักษิณอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ดังนั้น จึงต้องส่งเรื่องผ่านไปยังทางผู้บังคับบัญชาของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จากนั้น ผู้บังคับบัญชาจะทำการส่งเรื่องต่อไปตามขั้นตอน จนในที่สุด เรื่องก็จะถูกส่งไปถึงมือรองนายกฯ ที่เป็นผู้ดูแลฝ่ายกฎหมาย และถึงมือของรัฐบาล จนฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพิจารณาหรือทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นประการใด ก็ขึ้นอยู่กับพระองค์ท่าน

เนื่องจากมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” โดยการใช้พระราชอำนาจในลักษณะนี้ เป็นการใช้พระราชอำนาจผ่านกลไก อันต้องมีผู้ทูลเกล้าฯ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น ผู้ทูลเกล้าฯ จึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นผู้ต้องโทษนั้นเอง

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวอีกด้วยว่า กรณี ‘การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ จะมีรายละเอียดไม่มากเท่ากับ ‘การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป’ ที่ต้องมีระบบและกระบวนตามขั้นตอนแบบแผนของกรมราชทัณฑ์ เพียงแต่ การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ผู้ที่เป็นผู้นำเรื่องทูลเกล้าฯ ต้องมีความระมัดระวังมากกว่า เนื่องจากไม่มีระบบที่พิจารณารายละเอียดต่างๆ เชิงลึกอย่างชัดเจน

“อันที่จริงแล้วประเทศที่มีองค์อธิปัตย์ เช่น พระมหากษัตริย์, พระราชินี, สมเด็จพระจักรพรรดิ ทรงเป็นประมุข หรือประเทศที่มีประมุขของรัฐในลักษณะอื่น เช่น ประธานาธิบดี ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยนั้น จะยึด ‘รัฐประศาสโนบาย’ นั้น หรือจะไม่อภัยโทษให้แก่นักโทษบางประการ เช่น ค้ายาเสพติด, ค้าอาวุธเถื่อน, ค้ามนุษย์ หรือกระทำการเป็นภัยต่อมนุษยชาติ และการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกรณีการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย เท่าที่ไปสืบค้นดู ก็ยังไม่เคยมีการพระราชทานให้แก่นักโทษคดีทุจริตมาก่อนแต่อย่างใด 

นั่นหมายความว่า หากกรณีของคุณทักษิณ ซึ่งถือเป็นกรณีแรกในการยื่นขอการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ภายใต้กลไกที่อาจจะไม่ได้มีความเข้มงวดในพิจารณารายละเอียดมากนัก แล้วได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ก็อาจจะต้องมีคนจำนวนหนึ่งออกมาติติงว่ากล่าวอย่างแน่นอน หรือหากไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็ต้องมีคนอีกจำนวนหนึ่ง ออกมาติติงว่ากล่าวเช่นกัน

ฉะนั้น เรื่องนี้มีโอกาสระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทสูงมาก จนอาจจะเข้าข่ายเรื่องมิบังควรเลยก็เป็นได้ เพราะเป็นเรื่องที่ควรจะรู้อยู่แล้วว่าอาจก็ให้เกิดปัญหา จนอาจมีกรณี ‘ทะลุฟ้า’ ได้ แต่ยังกระทำ ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องที่ทางคุณทักษิณ ต้องระมัดระวังให้ดี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 ก.ย. 66 ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มีคำสั่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณอภัยโทษลดโทษให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี ภายใต้เหตุผลเพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป 

ตรงนี้ก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่า จะมีแรงกระเพื่อมใดจากสังคมดังที่ รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวไว้หรือไม่? และทักษิณ ชินวัตร จะดำเนินสถานภาพภายใต้กรอบความพึงพอใจของประชาชนที่คลางแคลงได้แค่ไหน คงต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน...

‘อ.เจษฎ์’ ชี้!! คนไทยไม่ควรเห็นดีเห็นชอบในการล้มล้างสถาบัน ถ้าพอกันทำ จะสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน

จากรายการ 'เข้มข่าวเย็น' ทาง PPTV เมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย กล่าวช่วงหนึ่งว่า...

พรรคการเมืองไม่ควรเอาเรื่อง สถาบันฯ มาหาเสียง และต่อให้พรรคก้าวไกล ชนะได้ สส.ถึง 500 คนเข้ามาในสภา ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปล้มล้างสถาบันหลักของบ้านเมือง

อ.เจษฎ์ หวั่น สงครามกลางเมือง คนไทยฆ่ากันเอง เพราะถูก ปลุกปั่น ยุยง ที่จะรุกเร้าไปสู่จุดนั้น

จากรายการ ‘เข้มข่าวใหญ่’ ช่อง PPTV HD 36 ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยได้ระบุว่า ...

พวกบุกขบวนเสด็จ เนี่ยอาจจะเล่นกับความรู้สึกแบบตรงๆกับประชาชนนะ แต่คุณทักษิณเล่นกับความรู้สึกเชิงลึก ชั้นได้รับสิทธิพิเศษจะทําไมอ่ะ ถ้าฉันจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาพรรคหนึ่งเป็นส่วนแยกไปจากพรรคเพื่อไทย คือพรรคไทยรักษาชาติ แล้วฉันจะให้พรรคการเมืองนี้เสนอทูลกระหม่อมเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้วันหนึ่งบอกว่า ทูลกระหม่อมฯ เป็นที่มาจากการเลือกตั้งเป็นพระบรมวงที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วพระมหากษัตริย์พระองค์ท่านมาจากการเลือกตั้งยังไงเหรอ นี่ไม่ใช่การทําลายเหรอครับ

คุณทักษิณไม่จบไม่จบสิ่งที่ทําทั้งหมดเหล่านี้ และ มันจะยิ่งซึมลึกเข้าไปใหญ่ เพราะไม่ยอม เข้าไปอยู่ในคุก ไม่รับผิดไม่รับโทษมันทําให้พระบรมราชโองการที่โปรดเกล้ามาเนี่ย ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ไหนมันยังเหลืออีกหนึ่งปีถูกไหมครับ และอย่าลืมว่าคุณทักษิณบอกว่าจะไม่ยอมติดคุกแม้กระทั่งนาทีเดียว

แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นแต่ในพระบรมราชโองการจะต้องไปติดคุกหนึ่งปีนะแต่ พลพรรคทั้งหลายมาใช้กฎหมายไม่ต่างกันกับที่พรรคก้าวไกล ทำนะ ความชั่วร้ายทั้งหลายมันอยู่ในรายละเอียดครับ บาง เทวดาอาจจะอยู่ในหลักการนะเออ แต่นางมารและพญามารเนี่ยมันอยู่ในรายละเอียด อาจารย์คิดว่าคุณทักษิณเป็นภัยคุกคามสถาบันมากกว่า ก้าวไกล ผมว่าใช่ คุณทักษิณไม่ใช่แต่แค่ว่าทําให้คนรู้สึกว่าเอ๊ะ ตกลงสถาบันพระมหากษัตริย์นี่เป็นยังไง คนรู้สึกไปถึงสถาบันชาติด้วย ตกลงชาติบ้านเมืองอยู่กันยังไง เชื่อมั้ยผมไปทานก๋วยเตี๋ยวผมไปซ่อมรถคนบรรดาที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นบอกผมว่า อาจารย์ผมมานั่งนึกคิดกันละ หนูมานั่งลองดูแล้วนะ เนี่ยหนูก็รวยอย่างเดียวพอจบเออแล้วทํายังไงรู้มั้ย เอาเงินไปซื้อเสียงสิคะ แล้วก็กลายเป็นส.ส.ค่ะ แล้วก็เป็นรัฐมนตรีค่ะแล้วก็ ไต่เต้าไปเป็นนายกฯค่ะ แล้วทุกอย่างนะ ก็จะได้หมดเลย  

ความมั่นคง มีความมั่นคงของชาตินะ แล้วศาสนาด้วย คนคิดกันว่า ยังไง ทําดีได้ดีมีที่ไหน ทําชั่วได้ดีมี ถมไปตกลงทําดี จะไปได้ดีเมื่อไหร่ตกลงทําชั่วแล้วจะไม่ได้ชั่วเลยหรือ หนูก็ว่าหนูก็ทําดีมาตลอดชีวิตทําไมถูกกลั่นแกล้งตลอด

แล้วอย่างนั้นเนี่ยล่ะ มันก็เซาะกร่อน บ่อนทําลายสถาบันชาติ  ถ้าปล่อยได้พักโทษ รอบนี้มาเนี่ย โอ้โห มันก็จะทําให้การเมืองไม่ได้เงียบนะ ไม่ได้นิ่ง แล้วบ้านเมืองเนี่ยลองคิดดูนะครับ ว่าเป็นภัยคุกคาม สังคมมันมีภัยคุกคามอยู่ทั้งหมดเลยผมถึงได้บอกว่า

ณ จุดนี้ มันไม่ใช่เรื่องทหาร ไม่ใช่เรื่องกองกําลังกับประชาชนนะ มันจะกลายเป็นเรื่องประชาชนกับประชาชน ประชาชนแต่ละหมู่เหล่า และท้ายที่สุด ผมคิดอย่างนี้ ถ้ามันมีเรื่องบางประการ มีสิ่งบางอย่างที่ประชาชนหวงแหนร่วมกัน แล้วมีใครคิดจะทําลายผมว่าต้องลุกมาฆ่ากันตาย ก็ต้องลุกมาฆ่ากันตาย เมื่อไม่รู้จะทํายังไงไม่รู้จะแก้ด้วยอะไร ถ้าใช้เสรีภาพเนี่ย ฆ่ากันตายก็เป็นเสรีภาพนะ แล้วกฎหมายจะอยู่ตรงไหน

นั่นจึงเป็นเหตุ ถ้าถามผมนะ ว่าเอาล่ะ ด้วยน้ำพระราชหฤทัย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯไม่ต้องปิดถนนอะไรกันแล้วเนี่ยครับ มันอาจจะไม่ได้แล้วล่ะ เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะว่าอยากให้พระองค์ท่านเสด็จสัญจรไปมาได้สะดวก อะไรแบบนั้นนะ แต่ไม่อยากให้คนไทยลุกขึ้นมาฆ่าแกงกัน 

การถวายความอารักขา การถวายความปลอดภัยสูงสุด แด่พระบรมวงษ์ชั้นสูงเนี่ย ไม่ได้เป็นไปเพื่อพระองค์ท่านนะ แต่เป็นไปเพื่อไม่ให้บ้านเมืองมันลุกร้อนลุกขึ้นมาฆ่ากัน แม้กระทั่งในประเทศที่เป็นประธานาธิบดีเนี่ย การที่เค้ารักษาประธานาธิบดีเค้า ก็เพราะเค้าไม่อยากให้บ้านเมืองลุกร้อนเป็นไฟลุกขึ้นมาฆ่ากันไม่ใช่แต่เพียงแค่ คนคนนั้นที่ได้รับความคุ้มครอง มันต้องมองให้ลึก มันต้องมองให้ซึ้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top