‘รศ.ดร.เจษฎ์’ เปิดขั้นตอน ‘ทักษิณ’ ขอพระราชทานอภัยโทษ ภายใต้กรอบที่มิควรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

(1 ก.ย. 66) รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่ขณะนี้ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 1 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญจาก รศ.ดร.เจษฎ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า…

เกี่ยวกับประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้นั้น ก็สืบเนื่องมาจาก ตัวนายทักษิณ หลังเดินทางมาถึงประเทศไทย และได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกรมราชทัณฑ์แบบยังไม่ทันข้ามคืน ก็ถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจ และทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า มีสิทธิ์ขอตั้งแต่วันแรกตามกระบวนการกฎหมาย

>> แต่คำถาม คือ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? 
เพราะโดยปกติแล้ว ‘การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป’ ทางกรมราชทัณฑ์ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะถูกกระจายไปตามส่วนงานต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ โดยรายละเอียดต่างๆ จะมีการพิจารณาภายใต้เกณฑ์ที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะมีระเบียบว่าด้วยระยะเวลาในการต้องโทษ และระเบียบว่าด้วยระยะเวลาในการชดใช้ หรือชำระตามโทษนั้นแล้ว

สมมตินายทักษิณ ได้รับโทษไปแล้ว 3-4 ปี ตามระเบียบขั้นต่อมา ก็จะไปอยู่ที่ ระเบียบชั้นนักโทษ ซึ่งในแต่ละชั้นจะมีการได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษที่แตกต่างกันออกไป โดยมี กรมราชทัณฑ์ เป็นผู้รับผิดชอบในกรอบกว้าง ซึ่งท้ายที่สุด กรมราชทัณฑ์ ก็จะนำส่งเรื่องขึ้นมาให้ทางคณะรัฐมนตรีจะทำการพิจารณาตัดสิน จากนั้นจึงส่งต่อไปตามขั้นตอนกระบวนการ

เพียงแต่… ในกรณีที่ไม่ได้เป็นไปตามระบบ หรือมีกลไกอื่น อาทิ ‘การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ ในส่วนนี้ ผู้รับผิดชอบในการเสนอ จะเป็น ‘ครอบครัว ญาติ หรือ ตัวของผู้ที่ต้องโทษ’ นั่นเอง โดยจะเสนอผ่านกระบวนการของกรมราชทัณฑ์ เช่น หากต้องจำขังอยู่ที่ไหน ก็ต้องจำขังอยู่ที่นั่น หรือหากไม่ได้ต้องจำขังในเรือนจำ แต่หากต้องจำขังในสถานที่อื่น ก็ต้องยื่นเรื่องผ่านไปยังผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเรือนจำที่จะต้องจำขัง

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของคุณทักษิณ ที่เดิมทีต้องถูกจำขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ตอนนี้คุณทักษิณอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ดังนั้น จึงต้องส่งเรื่องผ่านไปยังทางผู้บังคับบัญชาของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จากนั้น ผู้บังคับบัญชาจะทำการส่งเรื่องต่อไปตามขั้นตอน จนในที่สุด เรื่องก็จะถูกส่งไปถึงมือรองนายกฯ ที่เป็นผู้ดูแลฝ่ายกฎหมาย และถึงมือของรัฐบาล จนฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพิจารณาหรือทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นประการใด ก็ขึ้นอยู่กับพระองค์ท่าน

เนื่องจากมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” โดยการใช้พระราชอำนาจในลักษณะนี้ เป็นการใช้พระราชอำนาจผ่านกลไก อันต้องมีผู้ทูลเกล้าฯ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น ผู้ทูลเกล้าฯ จึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นผู้ต้องโทษนั้นเอง

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวอีกด้วยว่า กรณี ‘การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ จะมีรายละเอียดไม่มากเท่ากับ ‘การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป’ ที่ต้องมีระบบและกระบวนตามขั้นตอนแบบแผนของกรมราชทัณฑ์ เพียงแต่ การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ผู้ที่เป็นผู้นำเรื่องทูลเกล้าฯ ต้องมีความระมัดระวังมากกว่า เนื่องจากไม่มีระบบที่พิจารณารายละเอียดต่างๆ เชิงลึกอย่างชัดเจน

“อันที่จริงแล้วประเทศที่มีองค์อธิปัตย์ เช่น พระมหากษัตริย์, พระราชินี, สมเด็จพระจักรพรรดิ ทรงเป็นประมุข หรือประเทศที่มีประมุขของรัฐในลักษณะอื่น เช่น ประธานาธิบดี ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยนั้น จะยึด ‘รัฐประศาสโนบาย’ นั้น หรือจะไม่อภัยโทษให้แก่นักโทษบางประการ เช่น ค้ายาเสพติด, ค้าอาวุธเถื่อน, ค้ามนุษย์ หรือกระทำการเป็นภัยต่อมนุษยชาติ และการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกรณีการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย เท่าที่ไปสืบค้นดู ก็ยังไม่เคยมีการพระราชทานให้แก่นักโทษคดีทุจริตมาก่อนแต่อย่างใด 

นั่นหมายความว่า หากกรณีของคุณทักษิณ ซึ่งถือเป็นกรณีแรกในการยื่นขอการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ภายใต้กลไกที่อาจจะไม่ได้มีความเข้มงวดในพิจารณารายละเอียดมากนัก แล้วได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ก็อาจจะต้องมีคนจำนวนหนึ่งออกมาติติงว่ากล่าวอย่างแน่นอน หรือหากไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็ต้องมีคนอีกจำนวนหนึ่ง ออกมาติติงว่ากล่าวเช่นกัน

ฉะนั้น เรื่องนี้มีโอกาสระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทสูงมาก จนอาจจะเข้าข่ายเรื่องมิบังควรเลยก็เป็นได้ เพราะเป็นเรื่องที่ควรจะรู้อยู่แล้วว่าอาจก็ให้เกิดปัญหา จนอาจมีกรณี ‘ทะลุฟ้า’ ได้ แต่ยังกระทำ ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องที่ทางคุณทักษิณ ต้องระมัดระวังให้ดี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 ก.ย. 66 ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า มีคำสั่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณอภัยโทษลดโทษให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี ภายใต้เหตุผลเพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป 

ตรงนี้ก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่า จะมีแรงกระเพื่อมใดจากสังคมดังที่ รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวไว้หรือไม่? และทักษิณ ชินวัตร จะดำเนินสถานภาพภายใต้กรอบความพึงพอใจของประชาชนที่คลางแคลงได้แค่ไหน คงต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน...