‘เพื่อไทย’ เฉ่ง ‘ส.ว.’ ลามากสุดในประวัติศาสตร์ เจตนาชัดไม่อยากถูกตัดอำนาจเลือกนายกฯ

(8 ก.พ. 66) ที่รัฐสภา พรรคเพื่อไทยนำโดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่การประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษล่มในวันนี้

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า เราอยู่ในการพิจารณารัฐธรรมนูญที่สำคัญ เป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชน ที่เราทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงมาตราที่เรานำเข้าสู่สภาฯ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 159 และมาตรา 272 ล้วนเป็นมาตราที่เป็นปัญหา ทำให้ประเทศไม่สามารถเกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราเองต้องการเพียงความร่วมไม้ร่วมมือกับเพื่อนสมาชิก เพื่อทำให้สภาฯ เดินหน้าต่อได้

นายสุทิน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะองค์ประชุมที่ล่มหลายครั้งจะเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญมาก แต่คราวนี้เป็นการประชุมวาระที่สำคัญที่สุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การล่มในวันนี้เป็นที่ทราบว่า เป็นการพยายามทำให้ล่มซึ่งทำมาแล้ว 2 ครั้ง ในครั้งที่แล้ววาระดังกล่าวก็ถูกขัดขวางจากสมาชิกวุฒิสภา ว่าเป็นการบรรจุวาระที่ไม่ถูกต้องบ้าง ไม่เชิญ ส.ว.ในการหารือบ้าง จึงทำให้เป็นเหตุให้การประชุมครั้งที่แล้วล้ม 

แต่ในคราวนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญวิปทั้ง 3 ฝ่ายหารือกันก่อน แต่ท้ายที่สุดก็ทำให้เห็นว่า ความพยายามที่จะทำให้การประชุมล่มก็ไม่เปลี่ยนไป ทั้งนี้มี ส.ว. อยู่ร่วมประชุมน้อยมาก ทางประธานก็รอจนถึงที่สุด แต่ก็ล่มเพราะ ส.ว. มากันน้อยมากกว่าทุกครั้ง กล่าวได้ว่า "ล้มครั้งนี้ก็เพราะ ส.ว.เป็นฝ่ายทำให้ล้ม" มองเจตนาอื่นไปไม่ได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการแก้ไขกระทบโดยตรงกับ ส.ว. จึงคิดว่า ส.ว.คงรับไม่ได้ จึงใช้วิธีนี้

ด้านนายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในช่วง 11.00 น. ซึ่งเป็นเวลาการเปิดประชุมมี ส.ว. ลงชื่อเข้าประชุมเพียง 40 คนจาก 250 คน โดยบางส่วนมีการยื่นใบลาอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการลามากสุดในประวัติกาล น่าจะประมาณ 70-80 คน ส่วนที่เหลืออาจจะมาแต่ไม่ร่วมแสดงตน เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ขวางอำนาจของท่านเอง ซึ่งพวกเราเข้าใจ

“ท่านประธานชวน ได้ยินมาว่า วุฒิฯ กล่าวว่าเรื่องนี้เปิดมาด่า มาว่า เขาพูดแรง ผมอยากจะชี้แจงว่า กระบวนการในการพิจารณาในเรื่องญัตติของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราพูดถึงหลักการไม่ได้พูดถึงตัวบุคคลและองค์กร แต่เราว่าอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดย ส.ว.ไม่มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยทำกัน แต่หากเราพูดแล้ว ท่านรู้สึกกระทบส่วนตัวก็เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าว เมื่อวานได้มีการต่อรองกันถึงขั้นฝ่ายค้านยินดีลดเวลาในการอภิปรายเหลือแค่ 2 ชม. เพื่อให้ลงมติได้ในช่วง 14.00 น. ของวันนี้ เพื่อที่วุฒิสมาชิกจะได้ไม่อยู่ดึก เพราะหลายครั้งที่อยู่ดึก ส.ว. ก็จะมีปัญหาเรื่องการนอน เราก็พยายามที่จะจบการประชุมให้ได้โดยเร็ว แต่สุดท้ายทางสมาชิกวุฒิสภาไม่แสดงตน และไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ


ที่มา: https://www.naewna.com/politic/709707