Friday, 29 March 2024
ลงทุน

ปักหมุดลงทุน 1.9 แสนล้านบาทในไทย หวังช่วยยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

AWS ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในไทย มูลค่ามากกว่า 5 พันล้าน ดอลลาร์ หรือ 1.9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี ด้วยการเปิดตัว Region แห่งใหม่ ที่มีชื่อว่า AWS เอเชียแปซิฟิค (กรุงเทพฯ) 

อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com, Inc. ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ด้วยการเปิดตัว Region ในประเทศไทย ที่จะมีชื่อว่า AWS Asia Pacific (Bangkok)

โดย Regionแห่งใหม่นี้จะประกอบด้วย Availability Zone สามแห่ง ซึ่งเพิ่มเติมจาก Availability Zone ของ AWS ที่มีอยู่แล้ว 87 แห่งใน 27 ภูมิภาคทั่วโลก และ AWS ได้ประกาศแผนที่จะสร้าง Availability Zone ทั่วโลกอีก 24 แห่งและ AWS Region อีก 8 แห่งในออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศไทย

AWS Region ที่กําลังจะมีขึ้นในประเทศไทยจะช่วยให้นักพัฒนา สตาร์ทอัพ และองค์กรต่างๆ รวมถึงภาครัฐ การศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันของตนและให้บริการผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูล AWS ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการเก็บข้อมูลของตนไว้ในประเทศไทยสามารถทําได้

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่ AWS มีต่อภูมิภาคนี้ AWS วางแผนที่จะลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ (หรือ 1.9 แสนล้านบาท) ในประเทศไทยในระยะเวลา 15 ปี

นายปราสาท กัลยาณรามัน รองประธานฝ่ายบริการโครงสร้างพื้นฐานของ AWS เผยว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและการนำเสนอบริการใหม่ ๆ ที่รวดเร็ว

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้ศักยภาพทั้งหมดของคลาวด์เพื่อเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานและนำเสนอบริการต่าง ๆ

AWS Asia Pacific (Bangkok) region จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากบริการที่หลากหลายและเชี่ยวชาญของ AWSเช่น แมชชีนเลิร์นนิ่ง การวิเคราะห์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ด้วยเครื่องมือใหม่เหล่านี้ AWS ยังช่วยให้ลูกค้าภาครัฐสามารถมีส่วนร่วมกับพลเมืองได้ดียิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเติบโตในระยะต่อไป รวมถึงสร้างธุรกิจและแข่งขันในระดับโลก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า แผนของ AWS ในการสร้างศูนย์ข้อมูลหรือดาต้า เซ็นเตอร์ในประเทศไทยถือเป็นก้าวสําคัญที่จะนำบริการการประมวลผลบนระบบคลาวด์ขั้นสูงมาสู่องค์กรจำนวนมากขึ้น และช่วยให้เราบรรลุเป้าหมาย Thailand 4.0 ในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่า

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! 2 เดือน ต่างชาติแห่ลงทุนในไทยเพิ่ม 21 ราย มูลค่าเงินลงทุนในพื้นที่ EEC สะพัดกว่า 2 พันล้านบาท

(19 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC เร่งขับเคลื่อนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในพื้นที่ EEC เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย ล่าสุดรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มอีกจำนวน 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 2,078 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของเงินลงทุนทั้งหมด 

ทั้งนี้ จำแนกเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 7 ราย ลงทุน 1,352 ล้านบาท จีน 5 ราย ลงทุน 529 ล้านบาท ไต้หวัน 3 ราย ลงทุน 37 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 6 ราย ลงทุน 160 ล้านบาท 

“อลงกรณ์” ตอบโจทย์ ”หอการค้า”-“สภาอุตสาหกรรมฯ.”ประเด็นนโยบายรัฐบาลใหม่และปัญหาตั้งรัฐบาลล่าช้า 

ยืนยัน”ประชาธิปัตย์”หนุนตั้งรัฐบาลเร็วป้องกันสูญญากาศการเมืองบั่นทอนเสถียรภาพประเทศ
พร้อมเดินหน้านโยบายสร้างเงินแก้หนี้แก้จนลดเหลื่อมล้ำเพิ่มศักยภาพคนยกระดับรายได้ประเทศอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจระบบใหม่

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายและข้อกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)วันนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ให้ความมั่นใจว่าจะช่วยให้การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเป็นไปโดยราบรื่นภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ในฐานะเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยเพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามารับผิดชอบบริหารประเทศต่อไปโดยรวดเร็ว
ต้องไม่ให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองที่จะมาบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะต้องเป็นไปอย่างราบรื่น”

สำหรับข้อเสนอแนะของภาคเอกชนส่วนใหญ่ตรงกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์และผลงาน4ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการมาในช่วงเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งนโยบายใหม่ๆของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นโยบายเศรษฐกิจฐานราก นโยบายเศรษฐกิจทันสมัย นโยบายเศรษฐกิจมหภาค การตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ไม่ต่ำกว่า 5%ต่อปี  การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ1ล้านล้านเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยภาพรวม การยกระดับภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสู่เกษตรมูลค่าสูงโดยจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมทุกจังหวัดเป็นครั้งแรก , นโยบายตลาดนำการผลิต , การยกระดับภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิตอล( Digital Government)เช่นนโยบายดิจิตอล ทรานฟอร์มเมชั่น (Digital Transformation)ของกระทรวงเกษตรฯ. การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เอื้อต่อการค้าและการลงทุน, การบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงาน การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมีการใช้จ่ายต่อหัวที่สูงและรักษาสิ่งแวดล้อม การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ RCEPและ Mini FTA การสร้างโอกาสจากการฟื้นสัมพันธ์กับประเทศต่างๆเช่นซาอุดีอาระเบียnการยกระดับการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และโค้ดดิ้งก์(Coding) การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูง,การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และยานยนต์ไร้คนขับ การพัฒนาอีอีซี.และนโยบายบีซีจี.รวมทั้งการใช้พลังงานสะอาด

การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ การคว้าโอกาสการย้ายฐานผลิต ทั้งจากจีนและยุโรปบางส่วนเนื่องจากโรงงานประสบปัญหาวิกฤติด้านพลังงาน

‘นักวิเคราะห์’ ชี้!! ซื้อหุ้นเทคโนโลยีตอนนี้ดีหรือไม่ หลังกระแส AI อาจจะช่วยดันหุ้นเทคได้มากขึ้น

(1 เม.ย.66) World Maker เผยว่า ท่ามกลางกระแสข่าวร้ายของภาคธนาคารที่โหมกระหน่ำตลาดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังแทบไม่สะทกสะท้านและดีดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในไตรมาส 1 ของปี 2023 นี้ Nasdaq100 ซึ่งเป็นดัชนีรวมของกลุ่มเทคโนโลยีเด่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้น +17% ขณะที่หุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่หลายตัวดีดขึ้นมาจากจุด Low มากกว่า +50% เลยทีเดียว!

การดีดขึ้น +17% ของ Nasdaq ในช่วง 1 ไตรมาสถือว่าทำสถิติได้ดีที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนหลายคนคิดว่าเป็นแรงหนุนสำคัญก็คือเรื่องของ Generative AI อย่าง ChatGPT รวมถึงท่าทีของ FED ที่ผ่อนคลายลงบ้างในเรื่องดอกเบี้ย

โดยหุ้นกลุ่มเทคพุ่งขึ้นท่ามกลางวิกฤต Bank Run และความเชื่อมั่นที่ลดลงของภาคธนาคาร ในขณะที่ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด +0.25% และแม้ว่า Jerome Powell จะกล่าวว่า FED อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก แต่การปรับขึ้น +0.25% นั้นดูผ่อนคลายกว่าท่าทีก่อนหน้านี้ที่ FED กล่าวว่าอาจกระชับดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นอีก (ทำให้ก่อนเกิด Bank Run มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยคาดว่า FED มีโอกาสกลับไปขึ้นดอกเบี้ย +0.5%)

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมักจะมีความอ่อนไหวด้านความเคลื่อนไหวของราคาต่อการประกาศดอกเบี้ยของ FED ดังนั้น ในช่วงที่ FED ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจึงทำให้หุ้นเทคฯ หลายตัวร่วงลงจนมีมูลค่าน่าดึงดูดใจ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤต Bank Run และนักลงทุนจำนวนไม่น้อยคาดว่า FED จะชะลอหรือลดดอกเบี้ย จึงมีกระแสเงินไหลกลับเข้าไปในหุ้นเทค

อีกเหตุผลที่นักวิเคราะห์กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2022 หุ้นเทคได้ถูกจัดอยู่ในโซนมีการขายมากเกินไป (Oversold) และความเชื่อมั่นของหุ้นเทคได้ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ พร้อมกับข่าวปลดพนักงานจำนวนมากที่หลายคนมองว่าจะทำให้หุ้นเทคมีผลกำไรดีขึ้น

เมื่อเหตุผลตามหลักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้มารวมกัน มันจึงกลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์มองว่าไม่น่าแปลกใจที่หุ้นเทคโนโลยีสามารถดีดขึ้นได้ท่ามกลางวิกฤตธนาคาร

นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยียังดูดีกว่าในเรื่องของความสามารถในการทำกำไรท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยสูง แต่มีสัดส่วนหนี้ค่อนข้างต่ำ พร้อมกับงบดุลที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคาร และยังถือเป็นผู้ได้รับประโยชน์จาก Megatrend ของโลกที่จะเปลี่ยนไปสู่ Digital Economy มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ทำให้หลายคนมองว่าเทคโนโลยีอาจเป็นจุดที่สดใสของตลาดได้ต่อไป?

อย่างไรก็ตาม บางคนไม่ได้มองเช่นนั้น โดยกล่าวว่านักลงทุนกำลังตัดสินใจผิดที่มองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสามารถเป็นที่หลบภัยได้ท่ามกลางสภาพตลาดในตอนนี้ เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในการเติบโต แต่ปัจจัยดังกล่าวกำลังเสื่อมถอยลง และอนาคตก็ไม่แน่นอน เนื่องจาก Demand เริ่มอ่อนตัวในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

คนกลุ่มนี้มองว่านี่อาจเป็นสาเหตุที่บริษัทเทคกำลังเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก เพราะบริษัทตระหนักว่าไม่สามารถเพิ่มรายได้ในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องลดค่าใช้จ่ายลง แตกต่างจากกลุ่มแรกที่มองว่าการลดพนักงานจะยิ่งส่งผลให้กำไรสูงขึ้น (ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้จริง ๆ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องดี?)
 

 3 ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อหุ้นเทคโนโลยีนั้นถูกมองไว้ดังนี้...

1.) ความสามารถในการทำกำไร
2.) สภาพคล่องในตลาด (เช่นการ QE และ QT ของ FED) และดอกเบี้ย
3.) การประเมินมูลค่าหุ้น

ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะดูน่าดึงดูดในสายตาของหลายคน แต่พร้อมกันนี้ก็อาจมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบได้ในอนาคต นั่นหมายความว่าเราไม่ควรประมาทหรือ Bias มากเกินไปว่าหุ้นกลุ่มเทคจะพุ่งขึ้นแบบไม่บันยะบันยังท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เพราะมีความเป็นไปได้เช่นกันที่หุ้นเทคจะเกิดการปรับฐานอีกครั้งในระยะสั้น แม้ว่าจะไม่มีใครการันตีได้ 100% ว่าจะเกิดขึ้นจริงก็ตาม

อนึ่ง ทางด้าน Michael Burry นักลงทุนชื่อดังจาก The Big Short ได้ออกมา Tweet ยอมรับว่า “เขาผิด” ที่ก่อนหน้านี้ออกมาแนะนำให้ ‘นักลงทุนขายหุ้น’ เนื่องจากตลาดปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ที่เขาทวีตข้อความว่า Sell มาจนถึง ณ วินาทีนี้

โดยรวมแล้ว สถานการณ์ของหุ้นในปัจจุบันดูยืดหยุ่นว่าตลาดตราสารหนี้ซึ่งผันผวนอย่างมากในแต่ละวัน แต่หลังจากจบไตรมาสนี้ไปจนถึงท้ายปี เราก็คงต้องมาลุ้นกันว่าตลาดหุ้นจะยังคงความยืดหยุ่นและทนทานต่อแรงกดดันด้านเศรษฐกิจต่อไปได้อีกหรือไม่?

ไม่มีใครปฏิเสธว่ามีโอกาสที่หุ้นเทคฯ จะพุ่งได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีใครรู้เช่นกันว่าจะมีการปรับฐานหรือไม่ ดังนั้นสำหรับคำถามที่ว่าเราควรซื้อหุ้นเทคในตอนนี้หรือไม่นั้น คงไม่มีใครให้คำตอบกับเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ซึ่งเราก็ควรชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเอาระหว่างความเสี่ยงกับโอกาสในระยะยาว ว่าควรลงทุนหรือไม่ควร แล้วถ้าลงจะลงมากน้อยแค่ไหนเพื่อไม่ให้เสี่ยงเกินไป?

พร้อมกันนี้ Janet Yellen ออกมากล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีงานต้องทำอีกมากในการยกระดับกฏระเบียบการกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศ หลังจากการล้มของ SVB, Silvergate และ Signature Bank แสดงให้เห็นว่ากฏระเบียบในปัจจุบันยังเข้มงวดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับธนาคารขาดเล็ก-กลางที่มีกฏหมายยกเว้นให้ไม่ต้องทดสอบความเครียดเหมือนกับธนาคารใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Bank Run ขึ้นมา

คำกล่าวของ Yellen เกิดขึ้นในขณะที่ทำเนียบขาวกำลังเร่งให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารมีการกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะด้านการทำ Stress Test ที่เข้มงวดขึ้นโดยใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะเป็นธนาคารและสถาบันการเงินขนาดเล็กไปจนถึงยักษ์ใหญ่

แน่นอนว่า เมื่อใดก็ตามที่ธนาคารล้มเหลว จะทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก ซึ่งข้อกำหนดด้านกฎระเบียบก็ได้รับการผ่อนปรนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ในยุคของทรัมป์) ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนทีมบริหาร จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะประเมินผลกระทบของการผ่อนคลายกฎระเบียบ และดำเนินการกระชับการสอดส่องดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

‘นครฉงชิ่ง’ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ลงนาม 70 โครงการใหญ่ ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ มูลค่าทะลุ 2 แสนล้านหยวน

เมื่อวันที่ (6 เม.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, ฉงชิ่ง รายงานว่า ทางการท้องถิ่นเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานว่า ฉงชิ่งได้ลงนามโครงการขนาดใหญ่ 70 โครงการ มูลค่าการลงทุนตามสัญญารวมกว่า 2.08 แสนล้านหยวน (ราว 1.02 ล้านล้านบาท) ในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้

พิธีลงนามร่วมถูกจัดขึ้นวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) ในเขตจิ่วหลงโพของฉงชิ่ง โดยการลงทุนใหม่เหล่านี้ จะครอบคลุมอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ อาทิ ยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) เชิงอัจฉริยะและเชื่อมต่อกับเครือข่าย แผงวงจรรวม ชีวการแพทย์ ซอฟต์แวร์ และนวัตกรรมวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี

‘บิ๊กตู่’ หนุนการค้าและการลงทุน ‘ไทย-จีน’ เต็มอัตรา หวังเชื่อมโยง ‘เซี่ยงไฮ้-EEC’ ยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

(18 พ.ค. 66 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนความร่วมมือด้านการลงทุนและการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งมีแนวโน้มคึกคักต่อเนื่อง ด้านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พร้อมเชื่อมโยงพื้นที่ EEC กับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ มุ่งสู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของนครเซี่ยงไฮ้ เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงานลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคตซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดำเนินการร่วมกับนครเซี่ยงไฮ้และภาคเอกชนจัดขึ้น เพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงต่อยอดจากการเดินทางไปโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุนที่ประเทศจีนของ BOI เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย BOI เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนชาวจีน โดยมีทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาค รวมถึงมีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในอนาคตสามารถเชื่อมโยงกับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ได้อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ นครเซี่ยงไฮ้ของจีนได้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยผลักดันเขตพิเศษหลินกัง (Shanghai Lin-gang Special Area) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยและจีนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรียินดีที่การค้าและการลงุทนระหว่างไทยและจีนยังคงเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งนี้ รัฐบาล และ BOI ซึ่งมีสำนักงานในจีน 3 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว พร้อมขยายโอกาสเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น” นายอนุชากล่าว

เจ้าแม่โลจิสติกส์ ออกโรงเตือน  ให้รีบสามัคคี ก่อนที่ไทย จะไม่มีที่ยืนในเวทีโลก

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล เจ้าแม่แห่งวงการโลจิสติกส์ อภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเวียดนาม จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และได้ไปเห็น การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ของ

ประเทศเวียดนามแล้ว ก็เห็นถึงแนวโน้มที่ประเทศเวียดนาม จะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากทั่วโลก และหากประเทศไทยยังมัวแบ่งฝ่ายทะเลาะกัน ขาดความรักความสามัคคีกันในชาติ เราก็อาจจะถูกประเทศเวียดนามพัฒนาแซงหน้าไปได้

โดยนางสาวจรีพร ได้โพสต์ ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความว่า “เพิ่งกลับจากเวียดนาม โอกาสของการลงทุนยังมีอีกมาก คนไทยเราเลิกทะเลาะกันได้แล้ว ก่อนที่จะไม่มีที่ยืนในเวทีโลก”

ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 4 เดือนแรก ทะลุ!! 3.8 หมื่น ลบ. เพิ่มขึ้น 6% จากปี 65 ‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์อันดับ 1  

(19 พ.ค. 66) นายทศพล ทั้งสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่าในเดือน เม.ย. 66 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 43 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 13 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,654 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 487 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 217 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 69 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 148 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 38,702 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 2,419 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 55 ราย (คิดเป็น 25%) เงินลงทุน 14,024 ล้านบาท, สิงคโปร์ 35 ราย (16%) เงินลงทุน 4,854 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 34 ราย (15%) เงินลงทุน 1,725 ล้านบาท, จีน 14 ราย (6%) เงินลงทุน 11,230 ล้านบาท, สมาพันธรัฐสวิส 11 ราย (5%) เงินลงทุน 1,692 ล้านบาท และอื่น ๆ 68 ราย (33%) เงินลงทุน 5,177 ล้านบาท

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรง จากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะปิโตรเลียม, องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า, องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV), องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก่ไขปัญหาเครื่องอัดอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 217 ราย เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุน 38,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจ้างงานคนไทย 2,419 คน เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ‘ญี่ปุ่น’

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 66 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ บริการขุดเจาะหลุมปิโตรลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับ สัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า

บริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ดังนี้

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาและแนะนำเชิงเทคนิค การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค รวบรวมข้อมูลด้านเทคนิค เป็นต้น

บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า

บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 43 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 7,521 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 17 ราย ลงทุน 2,816 ล้านบาท, จีน 8 ราย ลงทุน 725 ล้านบาท, ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 15 ราย ลงทุน 1,058 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
1.) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการการผลิต ด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินค้า และด้านการบริหารจัดการระบบการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

2.) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์

3.) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 

4.) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

5.) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

จีน เตรียมถ่ายทอด เทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุน ให้ไทย ทั้งการก่อสร้างระบบราง – ขบวนรถ

สำนักข่าว Reporter Journey ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน โดยมีใจความว่า

โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน อภิมหาโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างนาน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นความคืบหน้าของการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ในเฟสแรกคือช่วง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทางราวๆ 250 กิโลเมตร แม้จะอยู่ในสปีดที่ช้าเนื่องจากมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย ที่จะมีผลต่อการพัฒนารถไฟสายอื่นๆ ในอนาคต

อย่างที่หลายคนคงทราบกันว่าโครงการนี้นอกจะก่อสร้างทางวิ่ง สถานี สะพาน อุโมงค์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ได้องค์ความรู้จากประเทศจีนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านระบบรถไฟความเร็วสูง และยังเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของไทยมาโดยตลอด สิ่งที่ระบุไว้ในสัญญาชัดเจนตั้งแต่ต้นคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจีนและองค์ความรู้บางส่วนให้กับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของตนเองได้

เกา เร่ย วิศวกรอาสุโสและทีมบริหารวิศวกรรมและการเจรจาทางเทคนิคในต่างประเทศของ China Railway International Group" ได้เขียนระบุลงในวารสารรถไฟ Railway Standard Design ของจีนเมื่อเดือนที่แล้วโดยมีใจความสำคัญว่า

“เมื่อความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน - ไทยลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความปรารถนาของไทยในการออกแบบและสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยตัวเองก็ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น พวกเขาหวังว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในความร่วมมือในอนาคต"

"เพื่อตอบสนองต่อคําขอซ้ำๆ ของไทยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วม จีนได้ตกลงที่จะส่งต่อเทคโนโลยีดังกล่าวมายังประเทศไทยภายใต้สมมติฐานว่าไม่ละเมิดกฎหมายจีน"

ภายใต้กฎหมายจีน บริษัท และบุคคลต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในการส่งออกเทคโนโลยีที่ถือว่ามีความสําคัญต่อความมั่นคงของชาติหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับประเทศจีน ถือว่าเป็นมหาอำนาจรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันอย่างเต็มตัว โดยมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมมากกว่า 40,000 กม. หรือยาวพอที่จะโคจรรอบโลก มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรม ความรู้และเทคโนโลยีของตัวเองที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถไฟความเร็วสูงรุ่นต้นแบบจากทั้งของเยอรมันและญี่ปุ่นที่นำมาศึกษา ก่อนจะสร้างรถไฟความเร็วสูงของตัวเองขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 ปี ที่จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นหัวแถวของโลก อีกทั้งยังพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมอื่นๆ ที่ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันอย่างรวดเร็วและด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำกว่า

ตัวอย่างเช่น จีนได้พัฒนาการออกแบบโมดูลาร์สําหรับสถานีรถไฟและส่วนประกอบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่สามารถประกอบได้อย่างรวดเร็วในสถานที่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัสดุใหม่สําหรับรางรถไฟที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาในระยะยาว เช่น เหล็กและคอนกรีตที่มีความแข็งแรงสูง

ซึ่งทางจีนได้เห็นชอบในหลักการที่จะถ่ายทอดหรือส่งต่อเทคโนโลยี ทักษะ และความรู้ใน 11 ด้าน ของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาให้กับประเทศไทย

ไทยจะได้อะไรบ้างจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีน?

การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างองค์กรหรือประเทศต่างๆ อาจเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนสิทธิบัตร ใบอนุญาต หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการประกอบตัวรถไฟภายในประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนได้และยังเปิดเผยไม่ได้

โดยทั่วไปข้อมูลและความเชี่ยวชาญจะถูกแบ่งปันผ่านโปรแกรมการฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะที่การถายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวมักจะทําโดยมีค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่นๆ ซึ่งจริงจะเรียกว่าเหมือนได้มาฟรีเป็นของแถมจากการซื้อเทคโลโลยีมาใช้ก็น่าจะไม่ผิดนัก

จีนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรางรถไฟ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับการวางรางในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน

ความเชี่ยวชาญอื่นๆ ที่สามารถส่งต่อได้แก่ การออกแบบสถานีรถไฟเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้สาร การสร้างสะพานข้ามแม่น้ําหรือแหล่งน้ําอื่นๆ ด้วยความเร็วที่เร็วขึ้น แต่ต้นทุนที่ต่ำกว่า การเตรียมพื้นดินใต้รางรถไฟเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย และวิธีการออกแบบและสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย

ในเอกสารทีมงานของเกา เร่ย กล่าวว่า ในการปรับปรุงคุณภาพและความเร็วในการก่อสร้างจะถูกแบ่งปันตั้งแต่การสํารวจที่ดิน และการจัดการแหล่งน้ําใกล้เคียงไป จนถึงแสงสว่างในอุโมงค์ และระบบทําความร้อนการระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศภายในสถานี รวมทั้งสิ่งอํานวยความสะดวกอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับโครงการรถไฟจีน - ไทยที่ครบทั้งเฟสนั้นจะขยายเส้นทางต่อไปยังจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว - จีน ระยะทาง 873 กม. ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อมาจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ และให้บริการด้วยรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม.

และเป็นส่วนสําคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่รัฐบาลจีนต้องการจะเชื่อมโยงพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะผ่านเมืองต่างๆ ของไทย และเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย - สิงคโปร์ ที่แม้จะยกเลิกโครงการไปแล้วเนื่องจากมาเลเซียประเมินฐานะการคลังของตัวเองว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมที่จะก่อสร้าง เนื่องจากมีหนีสินในสกุลเงินตราต่างประเทศสูง และค่าเงินริงกิตที่ร่วงลงอย่างหนัก

สำหรับเส้นทางในระยะแรกมีการสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จีนจะมีบทบาทสําคัญในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

ส่วนระยะต่อไประหว่างนครราชสีมา - หนองคาย จีนจะลดบทบาทลงและให้บริษัทเอกชนของไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วจะเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและก่อสร้างมากขึ้น

ฝั่งของจีนยอมรับว่า การเจรจาโครงการในไทยเป็นอะไรที่ "ยากมาก" เพราะไทยปฏิเสธข้อเสนอของจีนในการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการทั้งหมด โดยเลือกที่จะใช้แหล่งเงินทุนภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนผสมกันแทน และทําให้การเจรจามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

หนึ่งในประเด็นบนโต๊ะเจรจาที่มีการถกเถียงกันคือมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศเสมอไป และต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินโดยเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎระเบียบของประเทศ

คุณสมบัติของวิศวกรชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะไม่มีกลไกการยอมรับร่วมกันสําหรับคุณสมบัติของวิศวกรและสถาปนิกระหว่างจีนและไทย ดังนั้นฝ่ายไทยจึงไม่ยอมรับคุณสมบัติทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องของบุคลากรด้านเทคนิคของจีนโดยตรง ซึ่งทำให้วิศวกรชาวจีนต้องผ่านการฝึกอบรมและกระบวนการรับรองตามมาตรฐานของไทยเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาสามารถทํางานในโครงการนี้ได้

เรียกได้ว่าไทยเองก็ “เขี้ยวลากดิน” ใส่จีนพอสมควร ไม่ใช่ “หมูสยาม” อย่างที่พญามังกรจีนจะสามารถเคี้ยวได้ง่ายๆ เหมือนที่ทำกับประเทศอื่นๆ ที่ยอมให้จีนเข้าควบคุมเบ็ดเสร็จทุกกระบวนการ รวมทั้งการขอสัมปทานการเดินรถเป็นหลายสิบปี

แต่ก็ทีมงานจีนกล่าวว่า เงื่อนไขที่จะให้จีนถ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คือ ไทยต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน

ประเด็นคือแบบนี้ โดยทั่วไปมาตรฐานระบบรถไฟถูกกำหนดโดยประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งเป็นชาติต้นกำเนิดรถไฟ และได้กําหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเอาไว้ซึ่งมีการใช้งานมานานกว่าศตวรรษ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทสอื่นๆ ที่ต้องการสร้างระบบรถไฟ เพราะต้องอิงตามมาตรฐานเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก ซึ่งตกทอดไปสู่โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของไทยทุกโครงการต้องใช้มาตรฐานยุโรปหรือญี่ปุ่นเป็นเกณฑ์คุณภาพทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนจะต้องหาที่ยืนของเทคโลยีของตัวเองให้ได้ในตลาดไทย และรถไฟควาวเร็วสูงจึงเป็นจุดยืนสำคัญที่จีนจะได้มีอิทธิพลทางด้านเทคโนโลยีนี้

สำหรับรถไฟความเร็วสูงของจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 350 กม. / ชม. เร็วกว่ารถไฟหัวกระสุนส่วนใหญ่ในยุโรปและญี่ปุ่น พวกเขามักจะมีความยาวกว่าทั้งในเรื่องของตัวรถและเส้นทาง เช่น รุ่น Fuxing ที่ใช้ในสายปักกิ่ง - เซี่ยงไฮ้มีความยาวของขบวนรถมากกว่า 400 เมตร นั่นคือเกือบสองเท่าของความยาวของ TGV ในยุโรป เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานในจีนนั้นสูงกว่าและหนาแน่นกว่าตามจำนวนของประชากร

อีกทั้งจีนยังใช้ระบบอานัติสัญญาณของตัวเองสําหรับเครือข่ายซึ่งเข้ากันไม่ได้กับระบบยุโรปหรือญี่ปุ่น ซึ่งวิศวกรชาวจีนได้ยืนยันที่จะใช้มาตรฐานรถไฟของประเทศในระหว่างการเจรจากับประเทศไทยบนพื้นฐานที่จะคุ้มค่าและง่ายต่อการรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่มีอยู่ในจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตรถไฟจีน เช่น ซีรีส์ CRH380 รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เช่นแหล่งจ่ายไฟยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างไทยและจีน ตามเอกสาร

จีนซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบัตร ส่วนวัสดุราง และระบบอานัติสัญญาณบางอย่างที่ใช้ในเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง จีนกำลังพิจารณาว่าสิทธิบัตรเหล่านี้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของจีน จะได้รับอนุญาตหรือแบ่งปันกับประเทศไทยในด้านใดบ้าง

เพราะถ้าหากทำได้ ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่จีนยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ให้ และอาจจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงได้ครบวงจรทั้งการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและตัวรถอีกด้วย

‘บีโอไอ’ เดินสายชวนนักลงทุน ‘เยอรมัน-ฝรั่งเศส’ ให้เข้ามาตั้งฐาน ผลิตรถอีวี

นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงความสำเร็จจากการเดินสายเพื่อชักจูงการลงทุน ณ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 18 – 23 มิถุนายน 2566 

ว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ (อีวี) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการด้านสุขภาพ โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และ SMEs แสดงความสนใจเลือกบริษัทผู้ผลิต (Sourcing) ในไทยผลิตสินค้าป้อนลูกค้าเอเชีย 

“การเดินสายชักจูงการลงทุนในครั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนจากเยอรมันและฝรั่งเศส ที่สนใจในการขยายฐานการผลิต รวมไปถึงการหาบริษัทผู้รับจ้างผลิตเพื่อป้อนตลาดลูกค้าที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นเสมือนเซฟโซนของนักลงทุนต่างชาติ มีโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร รวมถึงมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง” นายวิรัตน์ กล่าวย้ำ 

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่ได้พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือมายาวนาน โดยเกือบครึ่งปีแรกปี 2566 (3 มกราคม – 21 มิถุนายน) พบว่ามีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากเยอรมนี 12 โครงการ มูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ สำหรับฝรั่งเศส มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการ มูลค่ากว่า 2,900 ล้านบาท
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top