Sunday, 28 April 2024
ลงทุน

‘พิชัย จาวลา’ แชร์!! ‘ทฤษฎีผลประโยชน์’ ที่ทำให้คนรวยกลุ่มน้อย ยังรวยต่อไปแบบไม่หยุดยั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ ‘คุณพิชัย จาวลา’ นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้กล่าวถึง หลักการหลักคิดของ 'ทฤษฎีผลประโยชน์' ที่ทำให้คนรวยราว 20% ของประเทศ ยังคงรวยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยระบุว่า…

“ความแตกต่างที่แท้จริงของ ‘คนรวย’ กับ ‘คนชั้นกลาง’ อยู่ตรงนี้ คือ คนรวยจะหาวิธีเพิ่มกําไรโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่คนชั้นกลางจะคิดว่า จะเล่นเกมไฮริสไฮรีเทิร์น คิดว่าถ้าจะได้กําไรเพิ่ม ต้องเสี่ยงเพิ่ม ซึ่งคนรวยไม่ทําเพราะธุรกิจเขาใหญ่แล้ว เขาเสี่ยงไม่ได้ ผิดครั้งเดียวเขาอาจจะล้มได้ เพราะฉะนั้นสมองเขาจะอยู่ในจุดนี้ตลอดเวลาว่า“ทํายังไงฉันถึงจะเพิ่มกําไรได้ แต่ความเสี่ยงต้องไม่เพิ่ม” ซึ่งมีวิธีเยอะแยะ โดยเริ่มจากตรงนี้ พอเน้นความมั่นคงแล้วกําไรอาจจะน้อย ก็ไม่เป็นไร อาศัยปริมาณเอา ทําให้ขยายได้เร็วและกู้ได้เยอะ ก็เป็นกําไรตรงนั้นแทน สามารถรับรู้กําไรระหว่างทางได้ ยังมีเครื่องมือทางการเงิน อย่างเช่น การขยายเทอมกับแบงก์ ซึ่งจะเพิ่มทำกําไรให้เราได้อีก แล้วก็รับรู้ด้วยการเอาเข้าลีก หรือเอาเข้าตลาดหุ้นอะไรต่าง ๆ ซึ่งก็จะกลายเป็นกําไรที่มาก แต่โดยที่ไม่ได้เน้นกําไรทางตรงอาจจะได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารของเราด้วย ว่ากําไรทางตรงเราจะน้อยหรือมาก แต่โดยหลักคิดทั่วไปมันมักจะน้อย เหมือนกับว่าถ้าเราเน้นทําเลดีในสุขุมวิท เราจะหา 10% หาไม่ได้ ต้อง 6-7% แต่มั่นคงที่สุด โดยหลักแล้วมันมักจะน้อย แต่ว่าก็ไปเอากําไรทางอื่นแทนอย่างที่ผมบอก ซึ่งตรงนี้รายละเอียดมันเยอะ”

คุณพิชัย จาวลา ได้นําเสนอทฤษฎี ‘ระบบผลประโยชน์’ เอาไว้ โดยกล่าวว่า “เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์แล้วคือเรื่องของ ‘ผลประโยชน์’ การที่เราใช้ทฤษฎีนี้ เพราะผมคิดว่าทฤษฎีนี้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานหรือสัญชาตญาณลึก ๆ ของเรา ที่เราอยากจะรู้ ซึ่งมนุษย์ทุกคนอยากจะได้เงินง่ายและสบาย อยากจะรู้ทิศทาง หรืออยากจะรู้วงจร ถ้าเรารู้ตรงนี้แล้ว เราจะสามารถวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้ดีและถูกต้อง เพราะว่าในทฤษฎีผลประโยชน์ สิ่งที่เราต้องยึดมั่น คือทิศทางผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย โดยเราจะต้องเป็นคนส่วนน้อย”

ระบบคิดใหม่หรือทฤษฎีผลประโยชน์ให้แนวคิดไว้ว่า ในตลาดหุ้นระบบทุนนิยมคือภาคใหญ่ที่สําคัญที่สุด และระบบทุนนิยม จะไม่เปิดช่องให้คนส่วนใหญ่ทํากําไรได้พร้อม ๆ กัน เพราะว่ามันขัดแย้งกับระบบทุนนิยมในโลกของความเป็นจริง ทําให้ในตลาดหุ้นจะมีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้น 20% ที่จะได้กําไรมาก ๆ จากคนส่วนใหญ่ 80% สิ่งที่ขับเคลื่อนเงินตราคือผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย โดยที่คนกลุ่มน้อยนั้น มีเม็ดเงินจํานวนมหาศาลมากกว่าคนส่วนใหญ่ และเงินจํานวนมหาศาลของคนกลุ่มน้อยนั้น สามารถกําหนดทิศทางของราคาหุ้นได้ชนิดที่เรียกว่า ถ้าคนกลุ่มน้อยซื้อหรือขายก็จะมีผลต่อราคาหุ้นให้ ‘ขึ้น’ หรือ ‘ลง’ ทันที ดังนั้น คําถามสําคัญในตลาดหุ้น คือ ในเวลาที่หุ้นถูกถล่มขายจนราคาดิ่งเหว ใครเป็นคนรับซื้อ? เพราะซื้อจะต้องเท่ากับขายเสมอจึงจะเกิดการจับผู้ซื้อขายได้ ซึ่ง คุณพิชัย ได้เรียกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า ‘ระบบ’ หรือ คนส่วนน้อยเป็นคน ‘ซื้อหุ้น’ ไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นคนขาย

“เราเข้าใจกลไกอย่างแท้จริง เราจะรู้เลยว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหมด ส่วนมากจะเริ่มจากภาคการเงินกับภาคอสังหาฯซึ่งมันจะมีกลไกผลประโยชน์อยู่ในนั้น พอเรารู้ก่อน เราสามารถปกป้องตัวเองจากความเสียหายได้ ซึ่งความลับจริง ๆเหมือนกับว่า 10 ปี 20 ปี 30 ปี เราได้ใช้ครั้งหนึ่งก็คุ้มแล้ว เพราะหากเราเข้าใจกลไกผลประโยชน์จริง ๆ เราจะรู้ว่าในปี 40 มันอยู่แบบนั้นไม่ได้ ถ้าดูผิวเผิน ณ ขณะนั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่า เวลาที่มองย้อนหลัง มันรู้สึกเหมือนกับว่ามันง่าย แต่ต้องคิดดี ๆ ว่า ณ ขณะที่เกิด ทําไม? ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แบงก์ชาติ หรือแบงก์พาณิชย์ ทําไมถึงพลาดหมด ทั้งที่เป็นคนเก่งคนฉลาดทั้งนั้น…จริง ๆ แล้วมันไม่ง่าย” คุณพิชัย กล่าว

แนวทางการใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ คือ ถ้าคุณอยากจะตีความว่าคนส่วนน้อยซื้อหุ้นเมื่อไหร่?

ให้ดูที่ในช่วงเวลานั้น เหตุผลของการซื้อหุ้นจะต้องไม่มีเลย เช่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ดี หนี้ครัวเรือนสูง อัตราว่างงานสูง ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี กราฟไม่สนับสนุนเหตุการณ์ในอดีตบ่งชี้ว่าราคาต้องลงต่อ ทุก ๆ อย่างที่อยู่รอบตัวจะต้องชี้ว่าห้ามซื้อหุ้นในเวลานี้ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบที่ว่ามานี้จริง ๆ ก็ให้คุณซื้อหุ้น เพราะในสถานการณ์แบบนี้คุณจะต้องทําตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่

คุณถึงจะเป็นคนส่วนน้อยในตลาด เมื่อคนส่วนน้อยเริ่มซื้อหุ้น ราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ขยับขึ้นจากจุดที่ทุกคนไม่คิดว่าจะเป็นจุดต่ำสุด ราคาจะค่อย ๆ ขยับขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังมีข่าวร้ายอยู่เต็มตลาด เมื่อขึ้นไปจนถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว ก็เริ่มจะมีข่าวดีขึ้นมาบ้าง หลังจากนั้นทุกคนในตลาดก็จะเริ่มกล้าซื้อหุ้นมากขึ้น แล้วก็ทยอยกันมาซื้อจนหุ้นเต็มพอร์ต และเมื่อถึงจุด ๆหนึ่ง ที่ทุกคนคิดว่าราคาจะไปต่ออีก หลังจากนั้นราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลง เพราะมีคนอีกกลุ่มเริ่มขายหุ้นทิ้ง

“เราต้องอยู่นอกกรอบอย่างแท้จริง เพราะว่าการที่เราเป็นคนส่วนน้อยกับการที่เราจะถูกผิดตามเหตุผลมันคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เราไม่สามารถจะเป็นคนส่วนน้อยได้ด้วย และก็คิดถูกตามตรรกะทุกอย่างได้ด้วย มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นคนส่วนน้อยจริง ๆ เวลานั้น คนส่วนใหญ่เวลาเทไปทางใดทางหนึ่งทางเดียวกันหมด เขาผิดไม่ได้นะ เขาต้องถูกเพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปถ้าเกิดว่าหุ้นจะเป็นขาขึ้นจริง ๆ ตามที่ทฤษฎีผลประโยชน์มอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมคิดถูกนะ แต่เพราะผมเป็นคนเดียว”

“ในตลาดหุ้น เราสามารถเติบโตแบบโมเดลของดอกเบี้ยทบต้นได้ ซึ่งเหมือนกับที่ Warren Buffett ใช้ ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนของเขา จะไม่หวือหวา ไม่ตื่นเต้น แล้วไม่ได้เป็นที่รู้จักด้วย เพราะเขาเติบโตเอื่อย ๆ กว่าคนจะรู้ตัวเขาก็เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้วตอนท้าย ซึ่งโมเดลของการเติบโตแบบทบต้น สามารถใช้ในตลาดหุ้นได้ เพียงแต่ผมไม่ได้ใช้ ผมใช้ในทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตอนนี้ถ้าเราจะบอกว่า หุ้นจะขึ้นไปเท่านู้นเท่านี้ เราไม่ได้พูดในมุมของวีไอ แต่จะพูดในมุมของทฤษฎีผลประโยชน์ เพราะวีไอตอบไม่ได้…และจะตอบได้แค่ว่ากําไรของบริษัทจะโตแน่นอนในอนาคตแต่จะขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ ก็คือโฟกัสที่ภาพนี้ แต่ตรงนี้ผมใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตรงผมก็มั่นใจเหมือนเดิม มั่นใจกว่าเดิม”

 

‘บก.ปอศ.’ บุกจับหนุ่มแสบ หลอกตุ๋นเหยื่อลงทุนหุ้น IPO  เสียหายกว่า 3.4 ลบ. เบื้องต้นยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

(3 ก.ย. 66) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ต.หญิง ปวีณวรรณ สินธุชัย สว.กก.๓ บก.ปอศ., ร.ต.อ.หญิง ศณิศา นนธ์พละ, ร.ต.อ.สุรพันธุ์ ตาขันทะ, ร.ต.อ.ศศิวิมล คำนาค รอง สว.กก.3 บก.ปอศ., ร.ต.ท.ขวัญใจ ยิ่งเจริญ รอง สว.ฝอ.ฯ ปฏิบัติราชการ กก.3 บก.ปอศ., ร.ต.ท.ชัยวิทย์ ศรจิตต์, ร.ต.ต.มีสิทธิ์ ม่วงไหมทอง รอง สว.(ป.) กก.3 บก.ปอศ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ.ร่วมกันจับกุม นายวรพจน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล) โดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกง”

โดยนายวรพจน์ ชักชวนให้กลุ่มผู้เสียหายบุคคลร่วมการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ซึ่งแอบอ้างถึงโควตาที่ได้รับจัดสรรก่อน (Pre IPO) ของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง โดยกระทำการผ่านตัว นายวรพจน์ เอง (ลักษณะเป็นการรับบริหารจัดการการลงทุนของบุคคลเป็นการเฉพาะ)

อ้างถึงผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน ซึ่งในการรับบริหารจัดการดังกล่าว ผู้ต้องหาจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของผลกำไรที่ได้ อีกทั้งยังอ้างถึงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจและเชื่อถือได้ และได้ร่วมลงทุนซื้อหุ้น IPO ผ่านผู้ต้องหา รวมมูลค่าความเสียหาย 3,497,442 บาท

ซึ่งชุดสืบสวน กก.3 บก.ปอศ. ได้ดำเนินตรวจสอบติดตามความเคลื่อนไหวผู้ต้องหารายดังกล่าว จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ในบริเวณหน้าชุมชนซอยสีคาม แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และควบคุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้นให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

‘Huawei’ ตอบรับลงทุน ด้าน AI & Cloud ในไทย ด้าน ‘ดีอีเอส’ เชื่อ สร้างรายได้กว่า 6 หมื่นล้าน ใน 5 ปี

(21 ก.ย. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.DE) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะ บินไปเซี่ยงไฮ้ ร่วมงาน Huawei Connect 2023 เข้าร่วมประชุม ‘APAC National ICT Roundtable 2023’ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 20 กันยายน 2566 และได้หารือกับบริษัทสาย techของ จีน กว่า 20 บริษัท ชวนตั้ง Headquarters ในประเทศไทย

รัฐมนตรีประเสริฐ เผยว่า ในการไปเซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก Huawei บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของจีน ตอบรับ การทำศูนย์พัฒนาบุคลากรไทยด้าน AI & Cloud ผลิตคนด้าน AI และ Cloud ปีละ 10,000 คน หรือ 50,000 คน ใน ระยะเวลา 5 ปี ประเมินว่า โครงการนี้ สร้างรายได้ ให้ผู้ที่มีทักษะ AI & Cloud กลุ่มนี้ ถึง 60,000 ล้านบาท แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้าน AI และ Cloud และจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้าน AI & Cloud

นอกจากเรื่องบุคลากร AI & Cloud ดังกล่าว ยังได้เจรจา ชักชวน กลุ่มบริษัทเทคจีน ตั้ง headquarters ในไทย เพื่อสนับสนุนนโยบาย AI & Cloud HUB ของกระทรวง และสร้างการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technologies) รวมทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล นายกเศรษฐาฯ

สำหรับเรื่องการตั้ง Headquarters ในไทย รัฐบาลนี้ ให้สิทธิประโยชน์หลายอย่าง ทั้ง ทางภาษี วีซ่า การอำนวยความสะดวก เป็นต้น นอกจากนี้ ทางกระทรวง DE ก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบริษัทที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมอำนวยความสะดวก และร่วมมืออย่างใกล้ชิด และเชื่อว่า การเจรจากับ กลุ่มบริษัทเทคจีน ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงกลุ่มนี้ จะเกิดการลงทุนเพิ่มได้ในระยะเวลาอีกไม่นาน และเชื่อมั่นว่าจะช่วยเร่งสร้างการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทยที่เกี่ยวข้อง กับเทคโนโลยีขั้นสูง

“ผมมั่นใจว่า การตอบรับของ Huawei สร้างศูนย์พัฒนาบุคลากรไทยด้าน AI & Cloud ครั้งนี้ จะส่งผลให้ไทยเข้าใกล้การเป็น AI & Cloud HUB ที่บริษัทเทคใหญ่ๆ ต้องการเข้ามาร่วมงาน ทำให้มีการลงทุนด้าน AI & Cloud ในไทยสูงเป็นลำดับหนึ่งหรือสอง ของ ภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ผมจะผลักดันให้ กระทรวง DE เป็นกลไกสำคัญของประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นกระทรวงทันสมัยในระดับโลกด้วย” รัฐมนตรี DE กล่าวในตอนท้าย

'เศรษฐา' ใช้เวทีสมัชชาสหประชาชาติ ประกาศก้อง 'ไทยเปิดแล้ว' ลั่น!! พร้อมลงทุนข้ามชาติ ไม่รอการลงทุนมาไทยฝ่ายเดียว

(23 ก.ย.66) เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สรุปภารกิจในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติเป็นครั้งแรก ว่า มีภารกิจที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะตนเองอย่างเดียว แต่ทั้ง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ และนายจักพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ ซึ่งต่างมีภารกิจมาก ซึ่งตนเองมีโอกาสได้พูดในหลายเวที เรื่องของโลกร้อน เรื่องสันติภาพ อากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางอาหาร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอารยะเกษตร รวมถึงมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสำคัญๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้พูดคุยเรื่องความมั่นคงทางชายแดน และส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนวันนี้ถือเป็นไฮไลต์ของงานที่ได้กล่าวถ้อยแถลง ประมาณ 10 กว่านาที ได้มีการพูดถึงปัญหาของโลกที่เกิดจากอากาศร้อน ที่ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือด หลายประเทศก็ยังมองไปข้างหลังเรื่องของตัวเลขดัชนีชี้วัดต่างๆ เราก็ต้องรวมพลัง และทำให้มันเกิดขึ้นได้ ตนเคยบอกไปหลายเวทีแล้วว่าการประชุมของสหประชาชาติครั้งนี้มีเรื่องของปัญหาที่ต่างกันหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่เห็นตรงกัน เรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ โลกร้อน โลกเดือดก็ทำให้ไม่แน่นอนทางด้านภูมิอากาศที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม ประเทศเราเองเหมาะกับเกษตรกรรม มีความมั่นคงทางอาหารสูง แต่ลดลงเพราะเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศผันผวนอย่างมาก ทำให้เราต้องกลับมาดูเรื่องนี้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องอารยเกษตร ซึ่งต้องใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงการใช้หนองน้ำเป็นที่เลี้ยงปลา หลายอย่างตนเชื่อว่า สามารถปรับมาใช้ได้

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพที่มีโรคเพิ่มมากขึ้น เป็นเหมือน wakeup call หลังมีโรคระบาดทำให้เรารู้ว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชนถูกจำกัด หรือได้รับการดูแลเยียวยาอย่างไม่ทั่วถึง แต่ประเทศไทยโชคดีที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่ว่ามีสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่มีการเคลื่อนไหวของประชากรเยอะ ดูแลดีอย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอ ถ้าประเทศอื่นไม่ดูแลเพียงพอ ฉะนั้นสหประชาชาติเองก็ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นแน่ใจว่าทุกๆประเทศ มีระบบ health care ที่ดีเหมือนประเทศไทย ขณะที่ไทยเองยังไม่หยุดยั้ง ยังยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อทำให้คนไทยสบายมากขึ้นในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จะเข้าที่ตัวเองอยากจะเข้า

เมื่อถามว่าหลายประเทศต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน ในความหมายของนายกรัฐมนตรีที่นำเสนอเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า สันติภาพที่ยั่งยืนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ประเทศไทยเรามีความเชื่อเรื่องความสงบ มีความเชื่อเรื่องการเจริญที่ยั่งยืน โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ

"แต่เป็นที่ทราบดีว่า เรื่องความระหองระแหง ระหว่างประเทศมีหลายคู่ ส่วนประเทศเราแม้จะเป็นประเทศเล็ก ไม่ได้ใหญ่มาก แต่เราภูมิใจในเอกราชที่เรามีมาตลอด เราเองมีความภูมิใจ และมีความสบายใจในการที่เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศและรัฐบาลนี้ที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชและไม่เข้าข้างใคร เรามีความเชื่อในเรื่องสันติสุขและความเจริญที่ยั่งยืน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ถามว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน ในปีนี้ที่เราสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วย นายกฯ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่แค่ดูแลสิทธิมนุษยชนเพียงในประเทศอย่างเดียว เรามีประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่ามาเลเซีย ลาว กัมพูชา และที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือ เมียนมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องดูแลหากมีผู้อพยพเข้ามา หรือมีผู้ที่เดือดร้อนบริเวณชายแดน เพราะเรามีชายแดนกับเมียนมากว่า 1,000 กิโล จะต้องดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองความสำเร็จในการร่วมเวทีโลกครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ครั้งแรกก็ต้องขอบคุณ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ช่วยดูแลและเป็นเจ้าภาพในการนำนักธุรกิจเก่งๆ และสนใจมาร่วมทุนในประเทศไทยมาพบปะตนและทีมงาน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีและจุดเริ่มต้นที่ดี 4 วันที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ ถือเป็นก้าวแรกในการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เราพร้อมที่จะมีการลงทุนข้ามชาติ ทั้ง 2 ทาง ไม่ใช่แค่ให้เขามาลงทุนเราอย่างเดียว เอกชนไทย ที่แข็งแกร่งหลายราย พร้อมลงทุนในต่างประเทศด้วย

เมื่อถามว่า การได้พบผู้นำหลายชาติ ตอบรับกับรัฐบาลใหม่และนายกรัฐมนตรีใหม่อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ดีครับ ทุกคนก็ยินดีด้วย และเข้าใจว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีผู้นำและออกมาค้าขายกันอีก 

‘รัฐบาลไทย’ หารือ ‘ทูตอินเดีย’ เตรียมฟื้นฟู FTA-เปิดตลาดเสรี หนุนการค้า-ลงทุนทุกมิติ ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

(28 ก.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ ‘FTA’ โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

นางนลินี กล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยวันนี้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น โดยการพูดคุยหารือครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่อินเดียต้องการจะฟื้นฟู FTA

รวมทั้งยังอยากเห็นผลการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ ‘JTC’ ไทย-อินเดีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ ‘RCEP’ ที่เติบโตขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ ‘BIMSTEC’ จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

รวมทั้งยังหวังว่าจะมีโอกาสเดินทางเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป สำหรับนโยบาย Startups India ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดอินเดียใหม่ (New India) เพื่อให้สอดคล้องกับที่อินเดียกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 นั้น อินเดียได้แสดงความจำนงที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ของไทยและอินเดียให้เกิดผลสำเร็จ

“มิติการเจรจาหารือทางการค้าวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพราะครอบคลุมหลายด้าน โดยทูตอินเดียได้พูดถึงความต้องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทย เช่น กุ้งหรือเนื้อสัตว์อื่น สินค้ายาและเวชภัณฑ์โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือยุทโธปกรณ์ที่อินเดียมีศักยภาพ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์หรือเรือดำน้ำ ผ่านนโยบาย Offset Policy หรือการชดเชยในกรณีซื้อจากต่างประเทศของกระทรวงกลาโหม สำหรับมิตรประเทศอีกด้วย” นางนลินี ระบุ

ข้อมูลการค้า ไทย-อินเดีย 
จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.06%

โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

‘นลินี’ บิน ‘ญี่ปุ่น’ ดึง ‘SHARP’ ชวนลงทุน-ขยายฐานผลิตมาไทย ย้ำ!! ภาครัฐพร้อมหนุน เสริมข้อได้เปรียบ แถมสิทธิประโยชน์อื้อ!!

(11 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผย ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดงาน SHARP Tech-Day เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 111 ปี ของการก่อตั้งบริษัทชาร์ป และพบหารือกับนายโรเบิร์ต วู ประธานกรรมการบริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชัน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า นายโรเบิร์ตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทชาร์ป ไทย เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทชาร์ป เคยมีผลงานสำคัญ เช่น การจัดทำวิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อประชาสัมพันธ์บนโทรทัศน์ Sharp Aquos 8K ในหลายประเทศทั่วเอเชีย

ชาร์ปให้ความสำคัญกับไทย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านที่ตั้ง และมีกำลังซื้อที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในไทย 3 แห่ง คือ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โรงงานผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร และโรงงานผลิตโทรทัศน์ และยังสนใจจะพัฒนา AI Center และ Data Center เนื่องจาก ประเทศไทยมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ในอนาคต โดยต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐของไทย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนเป็นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ การก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ HORIZON+ ของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. ในไทยนั้น คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 โดยชาร์ปจะมีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนยังได้พบกับนายเคอิโซะ ฟูจิโมโต ผู้แทนบริษัท Kaneka Corporation ผู้ผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโฟมชั้นนำของญี่ปุ่น มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น โพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Kaneka มีสำนักงานตั้งอยู่ใน 3 เมืองหลักของญี่ปุ่น คือ โตเกียว โอซากา และนาโกยา และร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เช่น อังกฤษ เยอรมนี จีน และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.ระยอง ของไทยอีกด้วย โดย Kaneka เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมามีการลงทุนในมาเลเซีย แต่พบปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงต้องการหันไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งตนได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และไทยยังมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งภายใต้ BOI และ EEC ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปอย่างภูมิภาคอื่นได้ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เพื่อช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้าการลงทุนให้กับ Kaneka ได้เป็นอย่างดี

“แนวคิดหลักของการจัดงาน SHARP Tech-Day ครั้งนี้ คือ ‘Be a Game Changer’ หรือ เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต โดยนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นแรงผลักดัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น Super Silent Cleaner เครื่องดูดฝุ่นที่มีเสียงเบาแต่มีประสิทธิภาพสูง, High Speed Oven เครื่องอบความเร็วสูงที่สามารถอบเนื้อสัตว์ให้สุกได้ภายใน 5 นาที, Driver Monitoring Camera กล้องติดหน้ารถที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยประเมินประสิทธิภาพของคนขับรถเพื่อป้องกันการหลับใน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำแนวคิดมาต่อยอดการพัฒนาในประเทศไทยต่อไปได้” นางนลินี กล่าว

‘Netflix’ จ่อฟ้องผู้กำกับ ‘Carl Rinsch’ หลังให้ทุนสร้างหนัง 400 ลบ. แต่เจ้าตัวกลับเอาเงินไป ‘ลงทุน-เทรดหุ้น’ จนเกือบหมดหน้าตัก!!

เมื่อไม่นานนี้ ‘Netflix’ ได้มอบเงินลงทุนเพิ่มแก่ ‘Carl Rinsch’ ผู้กำกับซีรีส์ไซไฟ ‘Conquest’ จำนวน 400 ล้านบาท แต่ Rinsch กลับนำเงินทั้งหมดไปลงทุนเทรดหุ้นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ‘Gilead Sciences’ และ ‘S&P 500’ จนขาดทุนเกินกว่าครึ่งของเงินทุนที่ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม Rinsch ได้กำไรจากการลงทุน ‘Dogecoin’ กว่า 950 ล้านบาท

Carl Rinsch ผู้กำกับซีรีส์ไซไฟ ‘Conquest’ จากค่ายยักษ์ใหญ่ด้านการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ได้รับเงินลงทุนทำหนังมูลค่า 400 ล้านบาท แต่เขากลับสูญเสียเงินไปกว่า 200 ล้านบาท ในการเทรดหุ้นบริษัทยาและ S&P 500 จนทำให้ชาวเน็ตกล่าวว่า “Netflix มีหนังที่มี ‘พล็อตเรื่องที่ดี’ อยู่ในมือแล้ว!!” จากเหตุการณ์ในครั้งนี้

Carl Rinsch ได้ทำการฝากเงินจำนวน 371 ล้านบาท เข้าบัญชีซื้อขายส่วนตัว Charles Schwab และขาดทุนเกินครึ่งจากการเทรดหุ้น บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Gilead Sciences และ S&P 500

ย้อนกลับไปในปี 2018 แพลตฟอร์ม Netflix ได้ตัดสินใจซื้อซีรีส์ไซไฟ จาก Rinsch มาลงในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเอง และ Netflix ยังได้ให้เงินทุนในการสร้างซีรีส์แก่ผู้กำกับรายนี้กว่า 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020

ภายหลัง Carl Rinsch ยังเรียกร้องเงินเพิ่มอีกจำนวน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก Netflix เนื่องจากมีปัญหาความล่าช้าในการถ่ายทำซีรีส์ ซึ่งรวมแล้ว Netflix ได้ให้เงินลงทุนในโครงการนี้ไปทั้งหมดมูลค่า 1.9 พันล้านบาท

แต่ Carl Rinsch ก็สูญเงินดังกล่าวไปอย่างรวดเร็วกว่า 200 ล้านบาท จากทุนเดิม 400 ล้านบาท ที่ได้รับมาไปกับการเทรดหุ้นบริษัทยา Gilead Sciences และ S&P 500

นอกจากนี้ เขาได้ยังลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี โดยเลือกเหรียญมีมยอดนิยมอย่าง ‘Dogecoin’ โดยลงทุนไปจำนวน 141 ล้านบาท และสามารทำกำไรได้กว่า 950 ล้านบาท ทำให้ Netflix หยุดการลงทุนในโครงการนี้ และในขณะนี้ Netflix ก็กำลังอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องกับ Carl Rinsch

'กรมพัฒนาธุรกิจฯ' เผย!! ปี 66 ต่างชาติลงทุนไทยเฉียด 1.3 แสนล้าน พบ!! 'ญี่ปุ่น-สิงคโปร์' มาแรง ส่วนเม็ดเงินสะพัดอยู่ในธุรกิจรับจ้างผลิต

(23 ม.ค.67) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำข้อมูลของปีที่ผ่านมาจากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse+ มาทำการวิเคราะห์และประมวลผลภาพรวมการลงทุนในประเทศ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศในสายตานักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมทั้ง นักลงทุนสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน ทำให้เกิดความมั่นใจและพร้อมลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง  

สำหรับภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยตลอดปี 2566 ประมวลผลออกมาเป็น ‘ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย’ พบว่า ในส่วนของการลงทุนของคนไทยในประเทศไทย : การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในประเทศ พบว่า ปี 2566 เป็นปีที่มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในรอบ 10 (ปี 2557-2566) โดยปี 2566 มีนักลงทุนจดทะเบียนฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 85,300 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 8,812 ราย หรือ 12% มูลค่าทุน 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 132,640.83 ล้านบาท หรือ 31% (ปี 2565 จัดตั้ง 76,488 ราย ทุน 429,828.81 ล้านบาท)

เมื่อทำการวิเคราะห์การจัดตั้งนิติบุคคลปี 2566 พบว่า จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มขึ้นกว่า 12% ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจในภาคต่างๆ ทั้งธุรกิจภาคบริการ ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคการผลิต โดยในส่วนของภาคบริการ คิดเป็น 58% ของจำนวนการจัดตั้งทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น คือ ธุรกิจกิจกรรมเกี่ยวกับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 366 ราย เติบโต 1.46 เท่า ธุรกิจกิจกรรมของสำนักงานจัดหางานหรือตัวแทนจัดหางาน 43 ราย เติบโต 1.39 เท่า และ ธุรกิจกิจกรรมบริการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง 707 ราย เติบโต 1.36 เท่า

ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก คิดเป็น 32% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด มีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือนบนแผงลอยและตลาด 16 ราย เติบโต 2.20 เท่า ธุรกิจการขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืช 203 ราย เติบโต 1.51 เท่า และธุรกิจการขายส่งอิฐหินปูนทรายและผลิตภัณฑ์คอนกรีต 66 ราย เติบโต 1.06 เท่า และเมื่อพิจารณาในส่วนของ

ภาคการผลิต คิดเป็น 10% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด โดยมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการผลิตเครื่องมือกล 18 ราย เติบโต 2.60 เท่า ธุรกิจการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 17 ราย เติบโต 2.40 เท่า และ ธุรกิจการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ 88 ราย เติบโต 1.59 เท่า

สำหรับการจัดตั้งธุรกิจทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 85,300 ราย เป็นการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 25,120 ราย (29%) และ ภูมิภาค 60,180 ราย (71%) หากพิจารณาตามเขตภูมิภาค แบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคกลาง มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 17,581 ราย (20.61%) ภาคใต้ 11,675 ราย (13.69%) ภาคตะวันออก 10,948 ราย (12.83%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,942 ราย (10.48%) ภาคเหนือ 8,604 ราย (10.09%) และภาคตะวันตก 2,430 ราย (2.85%) โดยทุกภาคมีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่ผ่านมา ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราการเติบโตลดลงในปี 2566

ขณะที่พื้นที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเขตภูมิภาค ปี 2566 จังหวัดที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ชลบุรี 7,370 ราย จ.ภูเก็ต 4,983 ราย และจ.นนทบุรี 4,583 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ภูเก็ต เติบโต 40.82% จ.สุราษฎร์ธานี เติบโต 32.16% และ จ.พังงา เติบโต 21.99% ซึ่ง 3 จังหวัดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน

>> การเลิกประกอบธุรกิจ ปี 2566

ปี 2566 มีจำนวนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการทั้งสิ้น 23,380 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,500 ราย (7%) มูลค่าทุนเลิกประกอบกิจการ 160,056.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 33,008.08 ล้านบาท (26%) (ปี 2565 เลิกประกอบธุรกิจ 21,880 ราย ทุน 127,048.39 ล้านบาท)

ประเภทธุรกิจที่มีการเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,166 ราย (9.26%) 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,146 ราย (4.90%X และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เลิกประกอบธุรกิจ 699 ราย (2.99%)

นายอรมน ยังกล่าวถึงที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ปี 2566 อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย เงินลงทุนรวม 127,532 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย

>> 10 ประเทศที่เป็นที่สุดของการลงทุนในประเทศไทย

‘ญี่ปุ่น’เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ทั้งจำนวนนักลงทุนและจำนวนเงินลงทุน โดยมีนักลงทุนจำนวน 137 ราย (20.5 %) เงินลงทุนรวม 32,148 ล้านบาท (25.2%) และลำดับอื่นๆ ที่ไล่ลงมามีดังนี้

อันดับที่ 2 สิงคโปร์ มีนักลงทุน 102 ราย (15.3%) และทุน 25,405 ล้านบาท (19.9%)
อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา มีนักลงทุน 101 ราย (15.1%) และทุน 4,291 ล้านบาท (3.4%)
อันดับที่ 4 จีน มีนักลงทุน 59 ราย (8.9%) และทุน 16,059 ล้านบาท (12.6%)
อันดับที่ 5 ฮ่องกง มีนักลงทุน 34 ราย (5.1%) และทุน 17,325 ล้านบาท (13.6%)
อันดับที่ 6 เยอรมนี มีนักลงทุน 26 ราย (3.9%) และทุน 6,087 ล้านบาท (4.8%)
อันดับที่ 7 สวิตเซอร์แลนด์ มีนักลงทุน 23 ราย (3.5%) และทุน 2,960 ล้านบาท (2.3%)
อันดับที่ 8 เนเธอร์แลนด์ มีนักลงทุน 20 ราย (3.0%) และทุน 911 ล้านบาท (0.7%)
อันดับที่ 9 สหราชอาณาจักร มีนักลงทุน 19 ราย (2.9%) และทุน 433 ล้านบาท (0.3%)
อันดับที่ 10 ไต้หวัน มีนักลงทุน 18 ราย (2.7%) และทุน 1,125 ล้านบาท (0.9%)

>> 10 ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย

อันดับที่ 1 บริการรับจ้างผลิต จำนวน 136 ราย (20.4%) และทุน 42,644 ล้านบาท (33.4%)
อันดับที่ 2 บริการด้านคอมพิวเตอร์ จำนวน 68 ราย (10.2%) และทุน 1,434 ล้านบาท (1.1%)
อันดับที่ 3 บริการให้คำปรึกษา จำนวน 62 ราย (9.3%) และทุน 7,803 ล้านบาท (6.1%)
อันดับที่ 4 ค้าส่งสินค้า จำนวน 58 ราย (8.7%) และทุน 7,873 ล้านบาท (6.2%)
อันดับที่ 5 บริการทางวิศวกรรม จำนวน 46 ราย (6.9%) และทุน 2,756 ล้านบาท (2.2%)
อันดับที่ 6 บริการให้เช่า จำนวน 45 ราย (6.8%) และทุน 16,096 ล้านบาท (12.6%)
อันดับที่ 7 ค้าปลีกสินค้า จำนวน 41 ราย (6.2%) และทุน 1,635 ล้านบาท (1.3%)
อันดับที่ 8 บริการทางการเงิน จำนวน 23 ราย (3.5%) และทุน 6,805 ล้านบาท (5.3%)
อันดับที่ 9 คู่สัญญาเอกชน จำนวน 22 ราย (3.3%) และทุน 689 ล้านบาท (0.5%)
อันดับที่ 10 นายหน้า จำนวน 20 ราย (3.0%) และทุน 1,697 ล้านบาท (1.3%)

'INTERLINK COMPANY VISIT' ต้อนรับกลุ่มผู้ลงทุน และนักวิเคราะห์ เจาะลึกกลยุทธ์ และแผนธุรกิจ ปี 2567

โชว์ศักยภาพ ! บริษัทแม่ บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ฯ เปิดบ้านใหญ่อีกครั้ง ตามคำเรียกร้อง พบปะกลุ่มนักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุน เผยแผนธุรกิจ พร้อมร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างความเข้าใจ พร้อมความเชื่อมั่น ให้เห็นภาพชัดในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนแบบมีคุณภาพ หนุนร่วมสร้างโอกาสแห่งการลงทุนที่ดีต่อไปในอนาคต

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้นำเข้า และค้าส่งอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ ที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยี ตามอุดมการณ์ที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ โดยปัจจุบันเรียกเป็น กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ (The Group of Interlink) ซึ่งมีบริษัทฯในเครืออีก 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business), ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business), ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) และเนื่องจากมีทั้งบริษัทลูก และบริษัทย่อย ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเสริมประโยชน์ซึ่งกันและกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ และพันธกิจ เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการระดมจิตอาสาไปพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยอีกด้วย

โดยมี คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ นำทีมคณะผู้บริหาร พนักงาน บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ฯ เปิดบ้านใหญ่แห่งปี 2567 จัดกิจกรรม 2 วันเต็ม ต้อนรับปีมังกร ให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วม กิจกรรม 'INTERLINK Communication Company Visit and Analyst Meeting' หรือ พบปะนักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้จัดการกองทุน เพื่อรับฟังข้อมูลผลการดำเนินงานประจำปี 2566 และทิศทางกลยุทธ์ของบริษัทในปี 2567

พร้อมพาเยี่ยมชมศูนย์กระจายสินค้าใหม่ที่พึ่งสร้างเสร็จ และระบบ Logistics พร้อมห้อง LAB (R&D Center) ณ ถนนกาญจนาภิเษก แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักขนาดใหญ่ และพึ่งสร้างขึ้นใหม่อีก 1 อาคารของกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Center) ที่มีบริการส่งฟรีทั่วไทย และนโยบาย 'คุณสั่ง เราส่ง' เป็นบริการที่ครอบคลุม และรวดเร็วส่งให้กับลูกค้าทั่วประเทศ พร้อมกับพาชมห้องปฏิบัติการทดลอง LAB เป็นห้องทำ Research เกี่ยวกับงานด้านโครงข่ายสายสัญญาณไว้สำหรับรองรับเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

อีกทั้งได้พาชม ศูนย์สำรองข้อมูล อินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้า เซ็นเตอร์ (DATA Center) ของกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้า เซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) ซึ่งบริษัทฯ ได้ต่อยอดธุรกิจนำเอาประโยชน์ของการมีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ที่ได้วางโครงข่ายไว้ทั่วประเทศไทยมาเป็นจุดขาย และเป็นศูนย์สำรองข้อมูลฯ ที่สร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบความปลอดภัยที่รัดกุม ตามมาตรฐาน Tier 3 Standard ให้บริการร่วมกับผู้ออกแบบศูนย์ข้อมูลที่มีประสบการณ์ รวมทั้งปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อให้ ดาต้า เซ็นเตอร์ มีความเหมาะสมกับผู้ใช้งานสูงสุด

นับเป็นการจัดงานร่วมให้ข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของปี 2566 พร้อมทั้งร่วมพูดคุย เล่าประสบการณ์ และกางแผนกลยุทธ์ถึงทิศทางการขับเคลื่อนทุกกลุ่มธุรกิจในปี 2567 เพื่อเป็นการยืนยันถึงความพร้อม ความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และการพัฒนาศักยภาพอย่างมีคุณภาพที่ครอบคลุมทุกรอบด้าน ทุกมิติขององค์กร ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่แข็งแกร่งของทุกกลุ่มธุรกิจ ตามปฏิญญาที่ว่า 'เติบโต ต่อเนื่อง อย่างยั่งยืน' กว่า 37 ปี และปีที่ผ่านมาได้ทำสถิติ New High อีกด้วย

สำหรับในปี 2567 นี้ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ยังคงมีเป้าหมายของการเติบโตที่ชัดเจนต่อเนื่อง ตั้งเป้าเรือธง เน้นย้ำถึงการประกาศผลิตภัณฑ์ใหม่ใน ซีรีย์ Super-S (Super-S-Series) เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์กับยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคนี้ และโครงการ LINK AMERICAN & GERMAN RACK EVERYWHERE รวมถึงนับเป็นปีแห่งการต้อนรับการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเนื่องร่วมกับบริษัทฯ มีสินค้ามากพอ สำหรับรองรับการขยายตัวเพิ่มของเศรษฐกิจ ทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อนำสู่การทำรายได้เพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ และสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยมต่อไป

โดยความสำเร็จทั้ง 3 ธุรกิจที่เติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้งนี้ จากทุก ๆ กลุ่มธุรกิจในเครือกลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ยังคงสามารถขับเคลื่อน พร้อมดำเนินงาน สร้างยอดขาย และทำกำไรเติบโตแตะจุดสูงสุดในทุกไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในระยะยาวได้เป็นอย่างดีเสมอมา เป็นผลจากการพัฒนา และมุ่งเน้นย้ำการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตามแบบแผนที่ตั้งเป้าหมายไว้ให้สอดรับกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยีในทุกยุคทุกสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตลอดจนยังช่วยส่งเสริมร่วมสร้างมูลค่าให้กับทุกกลุ่มธุรกิจในเครืออีกด้วย ที่สามารถครองตลาดด้านเทคโนโลยีขึ้นแท่นเป็น The No. 1 ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นไปตามแนวทางกลยุทธ์ ที่ปักหมุดความสำเร็จไว้ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี และทำประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป อีกทั้ง นับเป็นโอกาสอันดีของการพบปะ นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุน เพื่อหนุนนำสู่การเป็นพันธมิตรที่ดีแก่กันในอนาคต นำพาองค์กรให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน แบบมีคุณภาพ

‘ผู้แทนการค้าไทย’ บุก ‘อินเดีย’ ดึงภาคเอกชน ร่วมลงทุนใน EEC ชูจุดเด่นทักษะแรงงาน-สิทธิพิเศษ พร้อมเร่งผลักดันการค้าทั้ง 2 ฝ่าย

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อม นายดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ และทีมประเทศไทย ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท TATA ในภาคส่วนของยานยนต์ และเหล็ก โดย TATA เป็นบริษัทชั้นนำในอินเดีย มีมูลค่าตลาด กว่า 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท โดยเชิญชวนให้จัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในพื้นที่อีอีซี และใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ในอาเซียน ชูจุดเด่นด้านทักษะแรงงาน สถานที่ตั้งและสิทธิพิเศษด้านการลงทุน

ในขณะที่การหารือกับผู้บริหารบริษัท Mahindra ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การให้บริการด้านไอที และเป็นบริษัทที่จัดจำหน่ายรถเทรคเตอร์มากที่สุดในโลก ซึ่งทางบริษัทจะเริ่มนำรถแทรกเตอร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยภายในกลางปีนี้ และหากยอดขายเป็นไปตามเป้า ทางบริษัทจะพิจารณาการจัดตั้งโรงงานในไทย เพื่อจัดจำหน่ายในไทย และส่งไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ โดยตนพร้อมจะสนับสนุนและประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นางนลินี กล่าวว่า นอกจากนั้น ได้หารือประธาน IMC Chamber of Commerce and Industry ซึ่งเป็นหอการค้าที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1907 และมีสมาชิกกว่า 5,000 คน โดยได้เสนอให้พัฒนาความร่วมมือระหว่าง IMC Youth และผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้า (YEC) เนื่องจากคนรุ่นใหม่ของ 2 ประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และผลักดันความสัมพันธ์ทางการค้าต่อไป

นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ใช้อีอีซี เป็นฐานในการผลิตไฟฟ้าอีวี และยาและเวชภัณฑ์เพื่อขายในภูมิภาค สำหรับการหารือกับ Confederation of Indian Industry (CII) ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญด้านการเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการชาวอินเดียลงทุนในอุตสาหกรรมโรงแรม เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของนักท่องเที่ยวอินเดียในไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top