Monday, 7 July 2025
ลงทุน

‘นายกฯ’ ชี้!! ‘ฟรีวีซ่า’ ก้าวสำคัญสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ‘เศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน’

(28 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ไทยกับจีน ได้ลงนามในความตกลงฟรีวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา และหนังสือเดินทางกึ่งราชการ เมื่อเช้าวันที่ 28 ม.ค.ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 

“ผมมองว่าเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ ไทย - จีน และจะมีผลอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน แต่ยังรวมถึงการค้า การลงทุนด้วย อย่างแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ นายหวัง อี้ (H.E.Mr.Wang Yi) สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

'นายกฯ' ถก!! ปตท. 'หารือ-หนุน' การลงทุนในต่างประเทศ  แนะ!! ลุย 'โซลาร์ลอยน้ำ-ผลักดันสตาร์ตอัปไทย' ในศรีลังกา

(5 ก.พ.67) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าได้หารือกับนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้นายเศรษฐาได้เปิดเผยว่าการหารือกับประธานบอร์ด ปตท. และ ซีอีโอ ปตท. โดยหารือถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และมีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Solar Floating) รวมทั้งการขยายการลงทุนไปยังศรีลังกา ซึ่งต้องการการลงทุนจากประเทศไทยอย่างมาก

“หลังจากผมได้กลับมาจากการเดินทางที่ประเทศศรีลังกา ผมได้เชิญประธานกรรมการ ปตท. เพื่อมาพูดคุยถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และถือว่ามีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด (Solar Floating) ซึ่งประเทศศรีลังกา พร้อมเปิดรับการลงทุนจากไทยด้วย”

นอกจากนั้นได้ให้นโยบายด้วยว่าอยากให้ ปตท.เข้ามาส่งเสริมธุรกิจ Start-up และการส่งเสริมผลักดันสมาคมกีฬาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากทาง ปตท.ด้วย

"เชื่อมั่นว่าจะเป็นการยกระดับของปตท. ไม่ใช่เป็นเพียงแค่บริษัทพลังงานในประเทศไทย แต่ยังเสริมสร้างโอกาสดี ๆ ให้กับประชาชนในประเทศอีกด้วยครับ" นายกรัฐมนตรี กล่าว 

‘จีน’ เผยยอด ODI ที่ไม่ใช่ภาคการเงิน ปี 2023 พุ่งสูงต่อเนื่อง ตอกย้ำความสำเร็จ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ กระตุ้นการค้า-ลงทุน

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 67 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์จีน เผยว่า การลงทุนขาออกของจีนในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพในปีที่แล้ว โดยการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) (ที่ไม่ใช่ภาคการเงิน) ของจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 9.16 แสนล้านหยวน (ราว 4.62 ล้านล้านบาท) ในปี 2023

เมื่อวัดด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศข้างต้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้อยู่ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.68 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปีก่อนหน้า

การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ภาคการเงิน) ในประเทศที่เข้าร่วมในแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง แตะที่2.24 แสนล้านหยวน (ราว11.31ล้านล้านบาท บาท) ในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี

กระทรวงฯ ระบุว่าปริมาณการซื้อขายของโครงการตามสัญญาต่างๆ ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.13 ล้านล้านหยวน (ราว 5.71 ล้านล้านบาท) ในปี  2023

‘ไมโครซอฟท์’ เดินหน้าขยายความเป็นผู้นำโลกด้านการแข่งขัน จ่อลงทุน 'โครงสร้างพื้นฐาน AI' ใน ‘เยอรมนี’ 1.24 แสนล้านบาท

(16 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดเผยแผนการลงทุนระยะ 2 ปี มูลค่า 3.2 พันล้านยูโร (ราว 1.24 แสนล้านบาท) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในเยอรมนี ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในประเทศนี้

ไมโครซอฟท์จะขยายภูมิภาคคลาวด์ที่มีอยู่ในแฟรงก์เฟิร์ต อัมไมน์ ของรัฐเฮสส์ และเพิ่มขีดความสามารถด้านคลาวด์ในนอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเรีย มากกว่าสองเท่า ผ่านโครงสร้างพื้นฐานใหม่ พร้อมกับวางแผนฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัลแก่ประชาชนในเยอรมนีมากกว่า 1.2 ล้านคนภายในสิ้นปี 2025

ด้าน แบรด สมิธ รองประธานและประธานของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์อยากทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีได้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเดินหน้าขยายความเป็นผู้นำโลกในด้านความสามารถทางการแข่งขัน โดยความต้องการปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้นในภาคส่วนสำคัญอย่างการผลิต ยานยนต์ และเภสัชภัณฑ์

โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า การลงทุนมูลค่านับพันล้านยูโรของไมโครซอฟท์ถือเป็นข่าวดีมากสำหรับเยอรมนี โดยโครงการดังกล่าวสะท้อนว่าเยอรมนีมีทำเลที่ตั้งอันน่าดึงดูดใจและได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อสิ้นปี 2023 รัฐบาลเยอรมนีประกาศการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ มูลค่า 1.6 พันล้านยูโร (ราว 6.22 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2025
ไมโครซอฟท์เสริมว่าบริษัทเยอรมนีชื่อดังหลายแห่ง เช่น ซีเมนส์ ไบเออร์ และคอมเมิร์ซแบงก์ กำลังใช้งานแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์แล้ว

ผลสำรวจจากบิตคอม (Bitkom) สมาคมดิจิทัล พบว่าชาวเยอรมนีส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างชัดเจนภายในไม่กี่ปีข้างหน้า และมีทัศนคติเปิดกว้างต่อปัญญาประดิษฐ์ในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์

'ท๊อป จิรายุส' ชี้!! บิทคอยน์ New High ก่อน Halving ไม่เคยมีมาก่อน ส่วน 'ก.ล.ต.สหรัฐฯ' ไฟเขียว Bitcoin ETF 'ซื้อ-ขาย' ถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ ‘Bitkub Exchange’ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของไทย และบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ผู้ให้บริการ ‘Bitkub Academy’ ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมจัดงานเสวนา ‘Digital Assets Navigator เจาะลึกวงในทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัล (by Bitkub’s Crypto Theses)’ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์สินทรัพย์ดิจิทัลในแง่มุมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 และเหตุการณ์ Bitcoin ETF และ Bitcoin Halving ที่จะส่งผลต่อการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด, นายโดม เจริญยศ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tokenine, นายภาณุ ชลหาญ เจ้าของเพจ Nookfree God Defi, นายณัฎฐ์ จิตตมัย ผู้ก่อตั้ง GM Learning Club Pudgy Thailand Community Leader และนายกันตณัฐ วุฒิธร Digital Asset Analyst Supervisor บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้  ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค 101 กรุงเทพฯ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวตอนหนึ่งภายในงานว่า “ปีนี้เป็นปีที่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลมีความคึกคักและน่าจับตามอง เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นถึง 2 เรื่อง คือ การประกาศอนุมัติให้ Bitcoin Spot ETF สามารถเปิดซื้อขายได้อย่างถูกกฎหมายของ ก.ล.ต. สหรัฐฯ เมื่อมกราคมที่ผ่านมา โดยวงการคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับกองทุนระดับโลกต่าง ๆ เช่น BlackRock, Vanguard ฯลฯ ที่มีมูลค่าประมาณ 130 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าของวงการคริปโทเคอร์เรนซีก็ยังนับว่าน้อยอยู่มาก แต่หากกองทุนที่เพิ่งได้อนุมัติ Bitcoin Spot ETF มีการซื้อขายบิทคอยน์เพียงแค่ 5% ของมูลค่ากองทุน จะทำให้เงินสถาบันจำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมากยิ่งกว่ามูลค่าของตลาดทั้งหมดเสียอีก

นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีที่จะเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving ขึ้นเป็นรอบที่ 4 ในช่วงเมษายนนี้ ซึ่งตามสถิติในแต่ละรอบที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีรอบไหนที่บิทคอยน์ทำ New High ก่อน Halving แบบรอบนี้ นักลงทุนจึงควรระมัดระวังและคอยจับตาอย่างใกล้ชิด แต่อย่างน้อย Bitcoin Spot ETF ก็ยังทำให้รู้สึกปลอดภัยได้ว่ายังมีเงินสถาบันที่จะไหลเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในรอบนี้เพิ่มอีกด้วย โดยเมื่อดูตามสถิติต่าง ๆ และตัวเลขแล้วเชื่อว่าวงการคริปโทเคอร์เรนซียังมีโอกาสเติบโตได้อีก”

ทั้งนี้ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ฝากคำแนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่และผู้ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า “ขอให้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนให้ดี เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ละคนมีความพร้อม เงินทุน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ไม่เหมือนกัน นึกถึงคำที่ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เคยบอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องสวิงไม้เบสบอลทุกครั้งที่เขาขว้างลูกมา แต่ให้ดูความพร้อมของตัวเองและรอจังหวะที่คุณพร้อม ดังนั้น ทุกคนควรทำความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจะลงทุนให้ดีทุกครั้ง”

'กลุ่ม ปตท.' เตรียมแผนถอนการลงทุนบนเกาะเคย์แมน  หลังโครงสร้างในอดีตเคยลงทุน ลั่น!! จากนี้ไม่ลงทุนเพิ่มเติม

เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.67) รายงานข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2567 ปตท.ได้ตอบคำถามผู้ถือหุ้นประเด็นบริษัทยังมีการจดทะเบียนบริษัทย่อย หรือร่วมกับกิจการอื่นที่จดทะเบียนบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะเมอร์บิวด้า และประเทศในลักษณะเดียวกันหรือไม่

ปตท.ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2567 กลุ่ม ปตท.มีบริษัทที่อยู่ในหมู่เกาะเคย์แมน จำนวน 21 บริษัท จากโครงสร้างเดิมของกิจการที่กลุ่ม ปตท.เข้าลงทุนในอดีต

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.มีนโยบายที่จะไม่ตั้งบริษัทในหมู่เกาะเคย์แทนเพิ่มเติม รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปิดและถอนการลงทุนในหมู่เกาะเคย์แมนในอนาคต

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับบริษัทย่อยบนเกาะเคย์แมน โดยกลุ่ม ปตท.ยืนยันการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) 

รวมทั้งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพื่อให้บุคคลทั่วไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตั้งบริษัทบนเกาะเคย์แมนได้

นอกจากนี้เมื่อปี 2558 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท.ชี้แจงว่ามีบริษัทบนเกาะเคย์แมน 1 บริษัท ในนาม บริษัท Subic Bay Energy Co., Ltd. เพื่อดำเนินธุรกิจจัดหา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเช่าคลังน้ำมันในฟิลิปปินส์ร่วมกับบริษัท Coastal Aruba Refining Company N.V. และจะปิดบริษัทเสร็จไตรมาส 1 ปี 2559

ขณะที่กลุ่ม ปตท.เคยมีการชี้แจงว่าบริษัทที่อยู่ในหมู่เกาะเคย์แมนเกิดจากการเข้าซื้อกิจการและต้องรับโอนบริษัทย่อยตามข้อตกลงกับผู้ร่วมทุนรายอื่น ซึ่งได้ปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องโดยชำระภาษีในไทยและในประเทศที่ลงทุนตามกฎหมาย และไม่มีการจัดตั้งบริษัทในเกาะเคย์แมนอีก

‘BOI’ เผย ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก แตะ 4.5 แสนล้าน เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 35% ในแง่เงินลงทุน

(1 ส.ค. 67) Business Tomorrow รายงานว่า BOI เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก ปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 1,412 โครงการ เงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 นำโดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและแปรรูปอาหาร

ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์อันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง ครึ่งปีหลังเร่งแผนโรดโชว์ชิงลงทุนฮับภูมิภาค ควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

ตามรายงานจากนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การลงทุนในประเทศไทยแสดงแนวโน้มการเติบโตที่น่าประทับใจในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและความน่าดึงดูดของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน

ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีโครงการทั้งสิ้น 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุนรวมสูงถึง 458,359 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35

>> กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก

1. อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า : 139,725 ล้านบาท
2. ยานยนต์และชิ้นส่วน : 39,883 ล้านบาท
3. เกษตรและแปรรูปอาหาร : 33,121 ล้านบาท
4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ : 25,344 ล้านบาท
5. ดิจิทัล : 25,112 ล้านบาท

>> โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนี้

- กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบ และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท
- กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท
- กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท
- กิจการ Data Center 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท
- กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท
- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท

หากยังมีโจทย์ท้าทายสำหรับประเทศไทยที่จะต้องเอาชนะปัญหาใหญ่ 5 ประการ ดังกล่าวได้ โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก CFA, FRM, ERP รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) BYD ได้มีความเห็นไว้ว่า ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกละเลยมากว่า 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990s ที่ไทยริเริ่มก่อเกิดโครงการมาบตาพุดที่ได้กลายเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมส่งออกไทยมากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

>> โดยปัญหาเชิงโครงสร้างมีดังนี้

1. ไทยเป็นประเทศสังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยของประชากรถึง 40.5 ปี เทียบกับเวียดนาม 32.8 ปี และอินโดนีเซีย 29.9 ปี หรือยังมากกว่าจีนที่ 39 ปี จากผลของนโยบายลูกคนเดียว (one child policy)

2. ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก แม้ตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำมากเพียง 1.06% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 2.0% แต่เป็นการทำงานแบบแฝง ดังนั้นไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคนที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (8.5% ของแรงงานนอกภาคเกษตรของไทย) แต่คาดว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวจริงในประเทศไทยน่าจะสูงกว่า 5 ล้านคน

3. ไทยเป็นประเทศที่มีค่าแรงค่อนข้างสูง แม้รายได้ต่อหัวจะสูงราว $7,298 สำหรับไทย เทียบกับ $5,109 ของอินโดนีเซีย และ $4,316 ของเวียดนาม

แต่แม้ไทยจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่ามาเลเซียที่ $13,034 แต่มาเลเซียสามารถดึง FDI ได้มากกว่าไทยมาก เพราะนโยบายภาครัฐที่เน้นการสร้างบุคลากร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สำคัญเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรม Semiconductor และ AI ต่างกับไทยที่ไม่มีการเตรียมพร้อมใด ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเลย

4. ไทยมีค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสูงกว่าแม้แต่ค่าไฟฟ้าในอเมริกา ทำให้ไทยเสียเปรียบในการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น AI data center semiconductor EV ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล

ค่าไฟฟ้าไทยปัจจุบันที่ 4.18 บาทต่อ kWh แพงกว่าอเมริกา 11%, แพงกว่ามาเลเซีย 20%, แพงกว่าเกาหลีใต้ 33%, แพงกว่าอินเดีย 35%, แพงกว่าไต้หวัน 39%, แพงกว่าแคนาดา 52%, แพงกว่าจีน 79%, และแพงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียกว่าเท่าตัว

5. ไทยไม่มีความพร้อมแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 แตกต่างกับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ภาครัฐมีความชัดเจนในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และมีความพร้อมของบุคลากรมากกว่าไทย

โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก มองว่ามีทางแก้ปัญหาเพื่อเพิ่ม FDI มีสองทางหลัก ได้แก่

ทางแก้แรก: ‘ลดค่าเงินบาท’ ทางแรกคือการลดค่าเงินบาท เช่นที่เคยทำหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เพราะหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ด้วยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่ 42-45 บาท FDI เติบโตมากถึง 3 เท่าตัว และการเติบโตของการลงทุนมากถึง 12.6% ในปี 2004 และ 15% ในปี 2005 หากทางนี้เป็นการทำลายประเทศ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ทางแก้ที่สอง: เพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและเร่งสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยให้รวดเร็วขึ้น ดังเช่นที่ทำได้เป็นรูปธรรมสำหรับอุตสาหกรรมรถ EV

นอกจากนี้ นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางการลงทุนโลกยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายการลงทุนและการปรับซัพพลายเชนทั่วโลก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องช่วงชิงการลงทุนมาให้ได้ โดย BOI จะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,451 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 476,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้

คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีกกว่า 1.3 ล้านล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 4.9 แสนล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 1 แสนตำแหน่งด้วยกัน

อุทาหรณ์!! เอาเงินมรดกไปฝากเทรดจนติดหนี้ สุดท้ายฆ่าตัวตายหนีปัญหา สะท้อน!! อย่าปล่อยให้ใครมาควบคุมเงินเรา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

เมื่อวานนี้ (3 ก.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Elliott Wave by WaveAholic’ ได้โพสต์ข้อความเตือนใจผู้สนใจลงทุน ระบุว่า…

เมื่อวานซืนแอดได้ฟังเรื่องที่น่าสะเทือนใจ มาเรื่องนึง ในใจอยากเขียนถึงมาก เพราะมันสอนคนได้ทั้งสองฝั่ง

แต่จิตสำนึกบอกว่า เราจะเขียนยังไงให้เคารพคน ๆ นั้นมากที่สุด แต่ก็ยังเล่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจเพื่อน ๆ ที่ติดตามกันมาได้ สุดท้ายขอเขียนถึงแบบนี้แล้วกัน

แอดได้ทราบข่าวมาว่ามีคนฆ่าตัวตายจากการ(ฝาก)เทรด

เรื่องราวโดยย่อคือ ท่านนี้ ได้รับเงินมรดกจากครอบครัวมา 20 ล้านบาท

มีความคิดอยากให้เงินก้อนนี้เติบโตขึ้น จึงลงทุนในการศึกษา โดยได้ลงเรียนการเทรดกับสถาบันหนึ่ง ซึ่งแอดขอไม่บอกว่าสถาบันนั้นสอนเทรดสินค้าอะไร ชื่ออะไร ใครเป็นเจ้าของ

เมื่อเข้าไปเรียนแล้ว ได้มีการเข้าร่วมกิจกรรม ‘นำเทรด’ กับสถาบัน และ ทำให้พอร์ตเสียหายไปประมาณ 5 ล้านบาท 

จากนั้นจึงเกิดความกังวล และได้ไปปรึกษา ‘โค้ช’ ในสถาบันนั้น 

โดยโค้ชเสนอทางออกให้ โดยบอกว่าจะรับ ‘ฝากเทรด’ ให้ โดยที่กำไรแบ่งกัน 50/50 ส่วนกรณีเสียแอดไม่ได้รับข้อมูล

โค้ชเหล่านั้นก็เอาเงินที่เหลือไปเทรด สุดท้ายติดลบมาอีก 2 ล้านบาท ทำให้ตอนนี้ขาดทุนไป 7 ล้านบาท ด้วยความเครียด และ กังวลของท่านเจ้าของเงิน กลัวที่บ้านจะตำหนิว่านำเงินมรดกมาทำเสียหาย จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย

เล่าได้เท่านี้จริง ๆ ลงรายละเอียดมากกว่านี้ไม่ได้แล้วและขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตด้วย
R.I.P 

จริง ๆ มีอุทาหรณ์ที่ควรพูดถึงในฝั่งเจ้าของเงิน แต่เมื่อเค้าจากไปแล้ว แอดขออนุญาต แสดงความเสียใจอย่างเดียวไม่พูดถึงอะไรในฝั่งนี้

แต่ที่อยากเขียนถึงคือ อยากบอกคนที่กำลังคิดว่าจะทำอะไรแบบนี้ในฝั่งคนสอน หรือโค้ชคนใดก็ตามว่า กรุณาระมัดระวัง เพราะสิ่งที่คุณคิดจะทำ คุณไม่มีทางรู้ว่ามันส่งผลต่อชีวิตของคนอื่นได้ระดับใดบ้าง 

แอดเชื่อเหลือเกินว่า ทั้งคนนำเทรด ทั้งโค้ชที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีส่วนทำให้คนคนนึงตัดสินใจแบบนี้ เพราะสุดท้ายกิจกรรมของสถาบันก็ยังดำเนินต่อในปัจจุบัน

ส่วนฝั่งนักลงทุนแอดย้ำเสมอว่าในวงการนี้ หน้าฉากที่เห็น กับ สิ่งที่เป็น หลายครั้งมันสวนทางกัน อย่าเชื่อคนง่าย

หน้าฉากความสำเร็จที่คุณเห็นจากคนอื่น บางทีคนพวกนี้ก็มายืนบนจุดนั้นได้ จากความทุกข์ ความพังพินาศของคนอื่นนี่แหละ 

สุดท้าย อย่าปล่อยให้คนอื่นมาควบคุมเงินของเราเอง และเมื่อใดก็ตามที่เราดันปล่อยสิทธิ์ความเป็นเจ้าของของเงินเราให้คนอื่นดูแล ‘ห้าม’ all-in เด็ดขาด ไม่ว่าใจจะอยากมากขนาดไหนก็ตาม

ยังมีอีกหลายเรื่องในวงการนี้ที่อยากมาเล่าสู่กันฟัง จะได้พึงระวังให้มาก ๆ

'พิชัย' ย้ำ ความสำเร็จ 'นายกแพทองธาร' บนเวทีผู้นำอาเซียน สร้างโอกาสทอง การค้า-การลงทุนให้ประเทศ 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า “การประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนถือว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทยบนเวทีโลกอีกครั้งหนึ่งต่อจากการประชุม ACD summit ที่กาตาร์ซึ่งตนได้มีโอกาสร่วมคณะผู้แทนไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา ในการประชุมอาเซียน ท่านนายกฯ ได้เข้าร่วมการประชุมกว่า 20 วาระ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ในวันที่ 9 ตุลาคม 67 ต่อด้วยการเปิดเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของผู้นำประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำและทิศทางนโยบายของประเทศไทยที่ชัดเจน ในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันในมิติต่างๆ ในฐานะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนล้วนเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ถือเป็นการเปิดโอกาสการเจรจาการค้าการลงทุนต่างๆ อย่างดีเยี่ยม และได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก”

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว นายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ยังได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสำคัญอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประชุมอาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ญี่ปุ่น รวมถึงอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ซึ่งการกล่าวแถลงของท่านนายกรัฐมนตรี ทำให้ในแต่ละเวทีการประชุมให้ความสำคัญในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่กระทบกับด้านเศรษฐกิจ ที่ท่านนายกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกประเทศเล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงตรงนี้ และหากมีนโยบายการค้าการลงทุนที่สอดรับกัน ก็จะได้สานต่อให้สำเร็จต่อจากนี้

“ภายหลังการประชุม 3 เวทีใหญ่ มีประเทศต่างๆ ขอพบหารือทวิภาคี หรือการหารือสองฝ่าย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม มาเลเซีย แคนาดา เกาหลีใต้ เป็นต้น จนเกิดการประชุมทวิภาคีมากถึง 12 ประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ให้ความสำคัญกับทุกการประชุม แม้จะกินเวลาช่วงพักเบรกก็ตาม นอกจากประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศมหาอำนาจ และประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์”

“นับว่าประเทศไทยเนื้อหอมจริงๆ ในการค้าการลงทุน เพราะมีหลายประเทศมารุมขอเข้าประชุม และประเทศอินเดียที่ให้การยอมรับท่านนายกอย่างมาก เนื่องจากเห็นถึงความมั่นคงและชัดเจนของนโยบายผู้นำประเทศไทย สำหรับญี่ปุ่นเอง ก็ยังมีการยืนยันที่จะร่วมลงทุนกับไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง และยังมีประเทศอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในไทยและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกันยิ่งขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนักของทีมไทยแลนด์ ของคณะผู้แทนไทยที่นำโดยท่านนายกแพทองธารฯ ซึ่งได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจาด้านการค้าการลงทุนในเวทีโลก หลังกลับจากกาตาร์ เราก็ได้ยินข่าวดีคือ กลุ่มทุนในประเทศตะวันออกกลางประกาศแผนลงทุนในศูนย์ข้อมูลดาต้าเซนเตอร์ในไทยกว่า 3.2 หมื่นล้าน และจะมีมาต่อเนื่อง ดังนั้น หลังกลับจากการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนก็คิดว่าจะมีข่าวดีให้คนไทยได้ยินอีกหลายเรื่อง ” นายพิชัย กล่าว

นอกจากการประชุมที่โดดเด่นแล้ว นายกรัฐมนตรียังแสดงให้เห็นถึง Soft Power ที่โดดเด่น สวยงามของไทย โดยแต่งกายผ้าไทยที่สวยงามจนเป็นที่สะดุดตาของสื่อต่างชาติทำให้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก และยังได้รับคำชื่นชมจากสื่อและประชาชนลาวที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากมีการติดตามนายกหญิงของไทยทุกวันที่เข้ามายังสถานที่ประชุม และบางเวลาที่รอประชุมต้องมีการต่อคิวถ่ายรูปกันเลยทีเดียว ซึ่งท่านนายกฯ ก็ให้โอกาสทุกคนได้ถ่ายภาพร่วมกันอย่างเป็นกันเอง 

'Digital GDP' ขยายตัว ร้อยละ 5.7 - 'การส่งออกดิจิทัล' ขยายตัวร้อยละ 17.2 'รองนายกฯ ประเสริฐ' ชี้ผลสำเร็จรัฐบาลให้ความสำคัญ ยกระดับดิจิทัลไทย เผยปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

(13 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวระหว่างร่วมเวทีสัมมนาเพื่อเผยแพร่การดำเนินโครงการ 'Thailand Digital Economy 2024' ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 นั้นได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย Broad Digital GDP (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) ประมาณการว่าขยายตัว 5.7 คิดเป็น  2.2 เท่า ของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สศช. ประมาณการ) ในด้านการค้าต่างประเทศ คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) จะขยายตัวร้อยละ 17.2 คิดเป็น 2.8 เท่า ของการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 (สศช. ประมาณการ) 

"รัฐบาลก่อนหน้าและรัฐบาลนายกแพทองธาร รวมทั้งผมเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งเร่งผลักดันภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้มีการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง cloud services และ data centers ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล เชื่อว่าส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างดี ในปี 2567 สูงกว่าเศรษฐกิจโดยรวม กว่า 2 เท่าตัว" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการดีอี ได้สรุปประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญ ในปี 2567 ดังนี้

1. เศรษฐกิจโดยรวม นั้น Broad Digital GDP (CVM) มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้าง มีมูลค่า 4.44 ล้านล้านบาท มีการขยายตัว ร้อยละ 5.7 จากปี 2566 และคิดเป็นการขยายตัว 2.2 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการ) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต

2. ด้านการลงทุน โดยการลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน (CVM) มีการขยายตัวร้อยละ 2.8 จากปี 2566 ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากปี 2566 ปัจจัยสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ที่ขยายตัวจากฐานที่ติดลบในปีก่อนหน้า

3. ด้านการบริโภคนั้นการบริโภคภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.6 สูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคของประเทศที่เท่ากับร้อยละ 4.8 สำหรับการบริโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สินค้าดิจิทัลเป็นสินค้าที่มีความต้องานบริโภคในระดับสูงทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

4. ภาคการค้าและบริการในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการอุตสาหกรรมดิจิทัล ขยายตัวร้อยละ 17.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 6.1 จากเดิมที่ขยายตัว ร้อยละ 2.1 ในปีที่ผ่านมา ในด้านการนำเข้าสินค้าและบริการดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 9.0 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศอุตสาหกรรมดิจิทัล จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างเม็ดเงินจากเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยยังคงพึ่งพาสินค้าดิจิทัลทั้งที่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย ตลอดจนสื่อดิจิทัลคอนเทนต์จากต่างประเทศ จึงทำให้เมื่อการส่งออกสินค้าขยายตัวจะมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

5. ภาคการผลิต ซึ่งในปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.71 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.75 ตามการขยายตัวของการผลิตในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (+12.64%) และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+10.00%) ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ที่มาของการเติบโต (Source of growth) พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+1.90%) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (+1.36%) และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ (+1.27%) ตามลำดับ 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมหมวดโทรคมนาคมมีผลต่อการเติบโตโดยรวมสูงเกือบ 1 ใน 3 ของการขยายตัวทั้งหมด โดยกิจกรรมการผลิตที่ขยายตัวสูงในปีนี้ ได้แก่ การผลิตเคเบิลเส้นใยนำแสง การขายส่งและการขายปลีกโทรศัพท์ และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง) และที่มาของการเติบโต

นายเวทางค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2567 ขยายตัวได้ดี และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการลงทุนและการบริโภคภาครัฐด้านดิจิทัล รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล เป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชนยังไม่ขยายตัว และเชื่อว่าในปี 2568 และ 2569 การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top