Monday, 7 July 2025
ลงทุน

'เผ่าภูมิ' นำ EXIM บุกแดนจิงโจ้ ถก CEO Standard Chartered และ EFA เชื่อมกลไกการเงินผลักลงทุน 2 ประเทศ หนุนกระบะไทยในออสฯ

(20 ธ.ค.67)ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากที่ได้นำคณะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หารือกับนาย John Hopkins กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรการส่งออกแห่งประเทศออสเตรเลีย (Export Finance Australia (EFA)) และนาย Jacob Berman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร Standard Chartered Australia ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ว่า

การหารือกับทั้งสององค์กรได้เน้นถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับ EXIM BANK ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือในรูปแบบ Co-financing และ Blended finance เชื่อมกลไกทางการเงินเพื่อเพิ่มช่องทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน โดยการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจหรือโครงการต่างๆ การแสวงหาโอกาสการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure)  ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะตลาดรถกระบะซึ่งออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ธุรกิจด้านการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงในรูปแบบ Joint Program นอกจากนั้นยังหารือแนวทางในการให้ไทยเป็นช่องทางเปิดรับการลงทุนของกองทุนบำนาญของออสเตรเลียในอนาคต

นอกจากนั้นยังได้หารือถึงการใช้กลไกทางการเงินของทั้งสองฝ่ายสนับสนุน Digital Asset ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงภายใต้การนำของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และยังหารือถึงช่องทางการนำผู้ประกอบการไทยเข้าลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดอุปทานของที่อยู่อาศัย

พร้อมนี้ยังได้เชิญชวนสถาบันการเงินออสเตรเลียเข้ามาลงทุนใน Financial Hub ของไทยซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในต้นปีหน้า

‘EBC Financial Group’ วิเคราะห์!! แนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อในประเทศ เริ่มผ่อนคลาย แต่ยังมีความเสี่ยง ที่ยังคงต้องติดตาม

(8 ก.พ. 68) เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2568 เศรษฐกิจในไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และความผันผวนของตลาดทั่วโลก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่อ่อนแอ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว EBC Financial Group (EBC) ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเสนอแนวโน้มและโอกาสการลงทุนในปี 2568

อัตราเงินเฟ้อและนโยบายการเงินที่มีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งไว้ระหว่าง 1% ถึง 3% โดยในเดือนธันวาคม ปี 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก เดือนพฤศจิกายน 0.95% ซึ่งถือเป็นการกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายครั้งแรกในรอบ 7 เดือน แม้จะมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี แต่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2567 ยังคงอยู่ที่ 0.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี
.
เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำและความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25% ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 หลังจากนั้น ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในเดือนธันวาคม โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการรักษาความยืดหยุ่นทางนโยบายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท. คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่ 2.9% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ 1%-3% โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1%

นักวิเคราะห์จาก EBC เตือนว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีข้อจำกัดจากความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาจากการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันการลงทุนจากภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอน และเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือระหว่างมาตรการการเงินและการคลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในเอเชีย แต่ตลาดการเงินของไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ EBC มองว่า ปัจจัยภายในประเทศไทยและแรงกดดันจากภายนอก สร้างทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับนักลงทุน เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาด

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฟื้นฟูและภาคการท่องเที่ยว

การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ในปี 2567 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35.5 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานยังต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเกิดจากความไม่สงบทางการเมืองและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ ความไม่สอดคล้องระหว่างการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและผลประกอบการของตลาดหุ้น สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน

รัฐบาลไทยรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ โดยดำเนินมาตรการทางการคลังหลายด้าน เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 490,000 ล้านบาท ที่มุ่งเป้าไปยังประชากรประมาณ 45 ล้านคน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2.9% ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 และมาตรการภาษีที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดถึง 50,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคต่าง ๆ EBC ระบุว่า มาตรการเหล่านี้อาจช่วยสนับสนุนธุรกิจในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ อาจเป็นโอกาสการเติบโตสำหรับนักลงทุนระยะยาว ผลสำเร็จของมาตรการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถของไทยในการดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อจีนและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2568 คือ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนและอาจทำให้จีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีนยังคงอ่อนแอ การท่องเที่ยวออกนอกประเทศอาจชะลอตัวลง

แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว แต่ประชาชนจีนยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดในปี 2567 ความไม่แน่นอนนี้อาจสนับสนุนให้ทองคำมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมทองคำยังคงได้รับความนิยมและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

นักวิเคราะห์ แนะนำว่า นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินทรัพย์ทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาจมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เพื่อตอบสนองต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

บีโอไอ บุกแดนภารตะ ดึงลงทุนการแพทย์ – อีวี – เซมิคอนดักเตอร์ หลายบริษัทสนใจปักฐานในไทยรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

บีโอไอเผยผลการเยือนอินเดีย รุกดึงการลงทุน 3 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เปิดโต๊ะเจรจากลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ชั้นนำแดนภารตะ เสริมแกร่ง 'เมดิคัล ฮับ' ของภูมิภาค พร้อมเจรจา TATA Motor ดึงลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะที่ผู้ให้บริการออกแบบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงสนใจตั้งฐานในไทยรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการนำคณะบีโอไอเยือนเมืองไฮเดอราบัด และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 24 – 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อพบหารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่อินเดียในอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวม 15 บริษัท โดยบีโอไอได้นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในฐานะแหล่งลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3 กลุ่มหลัก ซึ่งบริษัทอินเดียมีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก โดยบริษัทเหล่านี้มีความสนใจขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทย

- กลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์  บีโอไอได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการอินเดียที่อยู่ในเขต Medical Device Park เพื่อนำเสนอข้อมูลการลงทุนและมาตรการสนับสนุนด้าน Medical Hub นอกจากนี้ ยังได้หารือรายบริษัท เช่น บริษัท Sahajanand Medical Technologies (SMT) ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดอันดับ 1 ของอินเดีย มีแผนลงทุนในไทยเพื่อผลิตลิ้นหัวใจเทียมและอุปกรณ์ขดลวดถ่าง (Stent) สำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจและการทำบอลลูน และมีแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย  บริษัท MSN Laboratories ผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก ปัจจุบันมีฐานการผลิตและวิจัยในหลายภูมิภาค ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย โดยมีแผนลงทุนทำวิจัยในไทย และขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน  บริษัท ACG Capsules ผู้ผลิตแคปซูล ยาเม็ด และเครื่องจักรบรรจุยารายใหญ่ของโลก ได้ลงทุนสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท เพื่อผลิตแคปซูลจากเจลาตินและพืชด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีแผนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทยด้วย และบริษัท Natural Remedies ผู้ผลิตอาหารเสริมจากสมุนไพรสำหรับปศุสัตว์อันดับ 1 ของอินเดีย และอันดับ 3 ของโลก มีแผนลงทุนทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย และศูนย์วิจัยของบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ชั้นนำ เช่น ซีพี, เบทาโกร และสหฟาร์ม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสัตว์  

- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คณะบีโอไอได้หารือกับบริษัท TATA Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย มีแผนรุกขยายธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (รถบรรทุก และรถบัส) ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา โดยเพิ่งมีการดึงผู้บริหารชาวอินเดียจากค่ายรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ให้ไปคุมทัพด้านการขยายธุรกิจรถยนต์นั่งของกลุ่ม TATA Motor ในต่างประเทศด้วย

- กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คณะบีโอไอได้หารือกับนายกสมาคมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย (India Electronics and Semiconductor Association: IESA) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 400 บริษัท โดยได้นำเสนอนโยบายรัฐบาลไทยและการจัดตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ แผนพัฒนาบุคลากร และความพร้อมของระบบนิเวศ โดยบีโอไอจะจับมือสมาคมฯ จัดกิจกรรมดึงดูดการลงทุนร่วมกันที่เมืองบังกาลอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้หารือแผนลงทุนของ บริษัท Tessolve Semiconductor ซึ่งทำตั้งแต่การออกแบบชิป (IC Design) การทดสอบชิป การออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการให้บริการอบรมด้านวิศวกรรมแก่บริษัทผลิตชิปชั้นนำของโลก โดยภายในปีนี้ บริษัทมีแผนลงทุนจัดตั้งศูนย์ทดสอบชิปและให้บริการทางวิศวกรรมแก่บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทยด้วย

“อินเดียเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดของโลก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหลายสาขา เช่น ยาและอุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และเคมีภัณฑ์ ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่นักลงทุนอินเดียกำลังขยายการลงทุนในต่างประเทศ ภายใต้นโยบาย Act East Policy ของรัฐบาลอินเดีย ที่มุ่งขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียน การเยือนอินเดียครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำให้นักลงทุนอินเดียมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพิจารณาเลือกไทยเป็นฐานการลงทุนหลักในอาเซียน ทั้งด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา ศูนย์โลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมถึงสร้างความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนอินเดียจำนวน 161 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 13,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องประดับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top