‘พิชัย จาวลา’ แชร์!! ‘ทฤษฎีผลประโยชน์’ ที่ทำให้คนรวยกลุ่มน้อย ยังรวยต่อไปแบบไม่หยุดยั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ ‘คุณพิชัย จาวลา’ นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้กล่าวถึง หลักการหลักคิดของ 'ทฤษฎีผลประโยชน์' ที่ทำให้คนรวยราว 20% ของประเทศ ยังคงรวยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยระบุว่า…

“ความแตกต่างที่แท้จริงของ ‘คนรวย’ กับ ‘คนชั้นกลาง’ อยู่ตรงนี้ คือ คนรวยจะหาวิธีเพิ่มกําไรโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่คนชั้นกลางจะคิดว่า จะเล่นเกมไฮริสไฮรีเทิร์น คิดว่าถ้าจะได้กําไรเพิ่ม ต้องเสี่ยงเพิ่ม ซึ่งคนรวยไม่ทําเพราะธุรกิจเขาใหญ่แล้ว เขาเสี่ยงไม่ได้ ผิดครั้งเดียวเขาอาจจะล้มได้ เพราะฉะนั้นสมองเขาจะอยู่ในจุดนี้ตลอดเวลาว่า“ทํายังไงฉันถึงจะเพิ่มกําไรได้ แต่ความเสี่ยงต้องไม่เพิ่ม” ซึ่งมีวิธีเยอะแยะ โดยเริ่มจากตรงนี้ พอเน้นความมั่นคงแล้วกําไรอาจจะน้อย ก็ไม่เป็นไร อาศัยปริมาณเอา ทําให้ขยายได้เร็วและกู้ได้เยอะ ก็เป็นกําไรตรงนั้นแทน สามารถรับรู้กําไรระหว่างทางได้ ยังมีเครื่องมือทางการเงิน อย่างเช่น การขยายเทอมกับแบงก์ ซึ่งจะเพิ่มทำกําไรให้เราได้อีก แล้วก็รับรู้ด้วยการเอาเข้าลีก หรือเอาเข้าตลาดหุ้นอะไรต่าง ๆ ซึ่งก็จะกลายเป็นกําไรที่มาก แต่โดยที่ไม่ได้เน้นกําไรทางตรงอาจจะได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารของเราด้วย ว่ากําไรทางตรงเราจะน้อยหรือมาก แต่โดยหลักคิดทั่วไปมันมักจะน้อย เหมือนกับว่าถ้าเราเน้นทําเลดีในสุขุมวิท เราจะหา 10% หาไม่ได้ ต้อง 6-7% แต่มั่นคงที่สุด โดยหลักแล้วมันมักจะน้อย แต่ว่าก็ไปเอากําไรทางอื่นแทนอย่างที่ผมบอก ซึ่งตรงนี้รายละเอียดมันเยอะ”

คุณพิชัย จาวลา ได้นําเสนอทฤษฎี ‘ระบบผลประโยชน์’ เอาไว้ โดยกล่าวว่า “เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์แล้วคือเรื่องของ ‘ผลประโยชน์’ การที่เราใช้ทฤษฎีนี้ เพราะผมคิดว่าทฤษฎีนี้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานหรือสัญชาตญาณลึก ๆ ของเรา ที่เราอยากจะรู้ ซึ่งมนุษย์ทุกคนอยากจะได้เงินง่ายและสบาย อยากจะรู้ทิศทาง หรืออยากจะรู้วงจร ถ้าเรารู้ตรงนี้แล้ว เราจะสามารถวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้ดีและถูกต้อง เพราะว่าในทฤษฎีผลประโยชน์ สิ่งที่เราต้องยึดมั่น คือทิศทางผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย โดยเราจะต้องเป็นคนส่วนน้อย”

ระบบคิดใหม่หรือทฤษฎีผลประโยชน์ให้แนวคิดไว้ว่า ในตลาดหุ้นระบบทุนนิยมคือภาคใหญ่ที่สําคัญที่สุด และระบบทุนนิยม จะไม่เปิดช่องให้คนส่วนใหญ่ทํากําไรได้พร้อม ๆ กัน เพราะว่ามันขัดแย้งกับระบบทุนนิยมในโลกของความเป็นจริง ทําให้ในตลาดหุ้นจะมีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้น 20% ที่จะได้กําไรมาก ๆ จากคนส่วนใหญ่ 80% สิ่งที่ขับเคลื่อนเงินตราคือผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย โดยที่คนกลุ่มน้อยนั้น มีเม็ดเงินจํานวนมหาศาลมากกว่าคนส่วนใหญ่ และเงินจํานวนมหาศาลของคนกลุ่มน้อยนั้น สามารถกําหนดทิศทางของราคาหุ้นได้ชนิดที่เรียกว่า ถ้าคนกลุ่มน้อยซื้อหรือขายก็จะมีผลต่อราคาหุ้นให้ ‘ขึ้น’ หรือ ‘ลง’ ทันที ดังนั้น คําถามสําคัญในตลาดหุ้น คือ ในเวลาที่หุ้นถูกถล่มขายจนราคาดิ่งเหว ใครเป็นคนรับซื้อ? เพราะซื้อจะต้องเท่ากับขายเสมอจึงจะเกิดการจับผู้ซื้อขายได้ ซึ่ง คุณพิชัย ได้เรียกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า ‘ระบบ’ หรือ คนส่วนน้อยเป็นคน ‘ซื้อหุ้น’ ไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นคนขาย

“เราเข้าใจกลไกอย่างแท้จริง เราจะรู้เลยว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหมด ส่วนมากจะเริ่มจากภาคการเงินกับภาคอสังหาฯซึ่งมันจะมีกลไกผลประโยชน์อยู่ในนั้น พอเรารู้ก่อน เราสามารถปกป้องตัวเองจากความเสียหายได้ ซึ่งความลับจริง ๆเหมือนกับว่า 10 ปี 20 ปี 30 ปี เราได้ใช้ครั้งหนึ่งก็คุ้มแล้ว เพราะหากเราเข้าใจกลไกผลประโยชน์จริง ๆ เราจะรู้ว่าในปี 40 มันอยู่แบบนั้นไม่ได้ ถ้าดูผิวเผิน ณ ขณะนั้น เรารู้สึกเหมือนกับว่า เวลาที่มองย้อนหลัง มันรู้สึกเหมือนกับว่ามันง่าย แต่ต้องคิดดี ๆ ว่า ณ ขณะที่เกิด ทําไม? ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แบงก์ชาติ หรือแบงก์พาณิชย์ ทําไมถึงพลาดหมด ทั้งที่เป็นคนเก่งคนฉลาดทั้งนั้น…จริง ๆ แล้วมันไม่ง่าย” คุณพิชัย กล่าว

แนวทางการใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ คือ ถ้าคุณอยากจะตีความว่าคนส่วนน้อยซื้อหุ้นเมื่อไหร่?

ให้ดูที่ในช่วงเวลานั้น เหตุผลของการซื้อหุ้นจะต้องไม่มีเลย เช่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ดี หนี้ครัวเรือนสูง อัตราว่างงานสูง ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี กราฟไม่สนับสนุนเหตุการณ์ในอดีตบ่งชี้ว่าราคาต้องลงต่อ ทุก ๆ อย่างที่อยู่รอบตัวจะต้องชี้ว่าห้ามซื้อหุ้นในเวลานี้ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบที่ว่ามานี้จริง ๆ ก็ให้คุณซื้อหุ้น เพราะในสถานการณ์แบบนี้คุณจะต้องทําตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่

คุณถึงจะเป็นคนส่วนน้อยในตลาด เมื่อคนส่วนน้อยเริ่มซื้อหุ้น ราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ขยับขึ้นจากจุดที่ทุกคนไม่คิดว่าจะเป็นจุดต่ำสุด ราคาจะค่อย ๆ ขยับขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังมีข่าวร้ายอยู่เต็มตลาด เมื่อขึ้นไปจนถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว ก็เริ่มจะมีข่าวดีขึ้นมาบ้าง หลังจากนั้นทุกคนในตลาดก็จะเริ่มกล้าซื้อหุ้นมากขึ้น แล้วก็ทยอยกันมาซื้อจนหุ้นเต็มพอร์ต และเมื่อถึงจุด ๆหนึ่ง ที่ทุกคนคิดว่าราคาจะไปต่ออีก หลังจากนั้นราคาหุ้นก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลง เพราะมีคนอีกกลุ่มเริ่มขายหุ้นทิ้ง

“เราต้องอยู่นอกกรอบอย่างแท้จริง เพราะว่าการที่เราเป็นคนส่วนน้อยกับการที่เราจะถูกผิดตามเหตุผลมันคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เราไม่สามารถจะเป็นคนส่วนน้อยได้ด้วย และก็คิดถูกตามตรรกะทุกอย่างได้ด้วย มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นคนส่วนน้อยจริง ๆ เวลานั้น คนส่วนใหญ่เวลาเทไปทางใดทางหนึ่งทางเดียวกันหมด เขาผิดไม่ได้นะ เขาต้องถูกเพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปถ้าเกิดว่าหุ้นจะเป็นขาขึ้นจริง ๆ ตามที่ทฤษฎีผลประโยชน์มอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมคิดถูกนะ แต่เพราะผมเป็นคนเดียว”

“ในตลาดหุ้น เราสามารถเติบโตแบบโมเดลของดอกเบี้ยทบต้นได้ ซึ่งเหมือนกับที่ Warren Buffett ใช้ ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนของเขา จะไม่หวือหวา ไม่ตื่นเต้น แล้วไม่ได้เป็นที่รู้จักด้วย เพราะเขาเติบโตเอื่อย ๆ กว่าคนจะรู้ตัวเขาก็เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้วตอนท้าย ซึ่งโมเดลของการเติบโตแบบทบต้น สามารถใช้ในตลาดหุ้นได้ เพียงแต่ผมไม่ได้ใช้ ผมใช้ในทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตอนนี้ถ้าเราจะบอกว่า หุ้นจะขึ้นไปเท่านู้นเท่านี้ เราไม่ได้พูดในมุมของวีไอ แต่จะพูดในมุมของทฤษฎีผลประโยชน์ เพราะวีไอตอบไม่ได้…และจะตอบได้แค่ว่ากําไรของบริษัทจะโตแน่นอนในอนาคตแต่จะขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ ก็คือโฟกัสที่ภาพนี้ แต่ตรงนี้ผมใช้ทฤษฎีผลประโยชน์ ซึ่งตรงผมก็มั่นใจเหมือนเดิม มั่นใจกว่าเดิม”