‘นักวิเคราะห์’ ชี้!! ซื้อหุ้นเทคโนโลยีตอนนี้ดีหรือไม่ หลังกระแส AI อาจจะช่วยดันหุ้นเทคได้มากขึ้น

(1 เม.ย.66) World Maker เผยว่า ท่ามกลางกระแสข่าวร้ายของภาคธนาคารที่โหมกระหน่ำตลาดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังแทบไม่สะทกสะท้านและดีดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในไตรมาส 1 ของปี 2023 นี้ Nasdaq100 ซึ่งเป็นดัชนีรวมของกลุ่มเทคโนโลยีเด่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้น +17% ขณะที่หุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่หลายตัวดีดขึ้นมาจากจุด Low มากกว่า +50% เลยทีเดียว!

การดีดขึ้น +17% ของ Nasdaq ในช่วง 1 ไตรมาสถือว่าทำสถิติได้ดีที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนหลายคนคิดว่าเป็นแรงหนุนสำคัญก็คือเรื่องของ Generative AI อย่าง ChatGPT รวมถึงท่าทีของ FED ที่ผ่อนคลายลงบ้างในเรื่องดอกเบี้ย

โดยหุ้นกลุ่มเทคพุ่งขึ้นท่ามกลางวิกฤต Bank Run และความเชื่อมั่นที่ลดลงของภาคธนาคาร ในขณะที่ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด +0.25% และแม้ว่า Jerome Powell จะกล่าวว่า FED อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก แต่การปรับขึ้น +0.25% นั้นดูผ่อนคลายกว่าท่าทีก่อนหน้านี้ที่ FED กล่าวว่าอาจกระชับดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นอีก (ทำให้ก่อนเกิด Bank Run มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยคาดว่า FED มีโอกาสกลับไปขึ้นดอกเบี้ย +0.5%)

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมักจะมีความอ่อนไหวด้านความเคลื่อนไหวของราคาต่อการประกาศดอกเบี้ยของ FED ดังนั้น ในช่วงที่ FED ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจึงทำให้หุ้นเทคฯ หลายตัวร่วงลงจนมีมูลค่าน่าดึงดูดใจ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤต Bank Run และนักลงทุนจำนวนไม่น้อยคาดว่า FED จะชะลอหรือลดดอกเบี้ย จึงมีกระแสเงินไหลกลับเข้าไปในหุ้นเทค

อีกเหตุผลที่นักวิเคราะห์กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2022 หุ้นเทคได้ถูกจัดอยู่ในโซนมีการขายมากเกินไป (Oversold) และความเชื่อมั่นของหุ้นเทคได้ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ พร้อมกับข่าวปลดพนักงานจำนวนมากที่หลายคนมองว่าจะทำให้หุ้นเทคมีผลกำไรดีขึ้น

เมื่อเหตุผลตามหลักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้มารวมกัน มันจึงกลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์มองว่าไม่น่าแปลกใจที่หุ้นเทคโนโลยีสามารถดีดขึ้นได้ท่ามกลางวิกฤตธนาคาร

นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยียังดูดีกว่าในเรื่องของความสามารถในการทำกำไรท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยสูง แต่มีสัดส่วนหนี้ค่อนข้างต่ำ พร้อมกับงบดุลที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคาร และยังถือเป็นผู้ได้รับประโยชน์จาก Megatrend ของโลกที่จะเปลี่ยนไปสู่ Digital Economy มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ทำให้หลายคนมองว่าเทคโนโลยีอาจเป็นจุดที่สดใสของตลาดได้ต่อไป?

อย่างไรก็ตาม บางคนไม่ได้มองเช่นนั้น โดยกล่าวว่านักลงทุนกำลังตัดสินใจผิดที่มองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสามารถเป็นที่หลบภัยได้ท่ามกลางสภาพตลาดในตอนนี้ เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในการเติบโต แต่ปัจจัยดังกล่าวกำลังเสื่อมถอยลง และอนาคตก็ไม่แน่นอน เนื่องจาก Demand เริ่มอ่อนตัวในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

คนกลุ่มนี้มองว่านี่อาจเป็นสาเหตุที่บริษัทเทคกำลังเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก เพราะบริษัทตระหนักว่าไม่สามารถเพิ่มรายได้ในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องลดค่าใช้จ่ายลง แตกต่างจากกลุ่มแรกที่มองว่าการลดพนักงานจะยิ่งส่งผลให้กำไรสูงขึ้น (ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้จริง ๆ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องดี?)
 

 3 ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อหุ้นเทคโนโลยีนั้นถูกมองไว้ดังนี้...

1.) ความสามารถในการทำกำไร
2.) สภาพคล่องในตลาด (เช่นการ QE และ QT ของ FED) และดอกเบี้ย
3.) การประเมินมูลค่าหุ้น

ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะดูน่าดึงดูดในสายตาของหลายคน แต่พร้อมกันนี้ก็อาจมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบได้ในอนาคต นั่นหมายความว่าเราไม่ควรประมาทหรือ Bias มากเกินไปว่าหุ้นกลุ่มเทคจะพุ่งขึ้นแบบไม่บันยะบันยังท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เพราะมีความเป็นไปได้เช่นกันที่หุ้นเทคจะเกิดการปรับฐานอีกครั้งในระยะสั้น แม้ว่าจะไม่มีใครการันตีได้ 100% ว่าจะเกิดขึ้นจริงก็ตาม

อนึ่ง ทางด้าน Michael Burry นักลงทุนชื่อดังจาก The Big Short ได้ออกมา Tweet ยอมรับว่า “เขาผิด” ที่ก่อนหน้านี้ออกมาแนะนำให้ ‘นักลงทุนขายหุ้น’ เนื่องจากตลาดปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ที่เขาทวีตข้อความว่า Sell มาจนถึง ณ วินาทีนี้

โดยรวมแล้ว สถานการณ์ของหุ้นในปัจจุบันดูยืดหยุ่นว่าตลาดตราสารหนี้ซึ่งผันผวนอย่างมากในแต่ละวัน แต่หลังจากจบไตรมาสนี้ไปจนถึงท้ายปี เราก็คงต้องมาลุ้นกันว่าตลาดหุ้นจะยังคงความยืดหยุ่นและทนทานต่อแรงกดดันด้านเศรษฐกิจต่อไปได้อีกหรือไม่?

ไม่มีใครปฏิเสธว่ามีโอกาสที่หุ้นเทคฯ จะพุ่งได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีใครรู้เช่นกันว่าจะมีการปรับฐานหรือไม่ ดังนั้นสำหรับคำถามที่ว่าเราควรซื้อหุ้นเทคในตอนนี้หรือไม่นั้น คงไม่มีใครให้คำตอบกับเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ซึ่งเราก็ควรชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเอาระหว่างความเสี่ยงกับโอกาสในระยะยาว ว่าควรลงทุนหรือไม่ควร แล้วถ้าลงจะลงมากน้อยแค่ไหนเพื่อไม่ให้เสี่ยงเกินไป?

พร้อมกันนี้ Janet Yellen ออกมากล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีงานต้องทำอีกมากในการยกระดับกฏระเบียบการกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศ หลังจากการล้มของ SVB, Silvergate และ Signature Bank แสดงให้เห็นว่ากฏระเบียบในปัจจุบันยังเข้มงวดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับธนาคารขาดเล็ก-กลางที่มีกฏหมายยกเว้นให้ไม่ต้องทดสอบความเครียดเหมือนกับธนาคารใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Bank Run ขึ้นมา

คำกล่าวของ Yellen เกิดขึ้นในขณะที่ทำเนียบขาวกำลังเร่งให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารมีการกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะด้านการทำ Stress Test ที่เข้มงวดขึ้นโดยใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะเป็นธนาคารและสถาบันการเงินขนาดเล็กไปจนถึงยักษ์ใหญ่

แน่นอนว่า เมื่อใดก็ตามที่ธนาคารล้มเหลว จะทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก ซึ่งข้อกำหนดด้านกฎระเบียบก็ได้รับการผ่อนปรนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ในยุคของทรัมป์) ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนทีมบริหาร จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะประเมินผลกระทบของการผ่อนคลายกฎระเบียบ และดำเนินการกระชับการสอดส่องดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

📌 และนอกจากภาคการธนาคารแล้ว Yellen ยังชี้ไปที่ปัจจัยสำคัญคือ...
.
1.) สินเชื่อในระบบรวมถึงกลุ่ม Non-Banks ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่านับตั้งแต่ปี 1985
.
2.) กองทุน Money Market Fund ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาคการเงิน เนื่องจากมีลักษณะที่สามารถทดแทนการฝากเงินในธนาคารได้
.
3.) กองทุนเปิด (Open-ended funds) ซึ่งสามารถออกขายหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ
.
4.) กลุ่ม Hedge Funds ซึ่งมักจะใช้ Leverage สูงในการลงทุน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย โดยเฉพาะรายใหญ่ 25 ตัวแรกของประเทศ
.
5.) Stablecoins ซึ่งผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสามารถถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดได้
.
นั่นหมายความว่า 5 ปัจจัยเหล่านี้จะต้องมีการยกระดับกฏระเบียบควบคู่ไปกับภาคธนาคารอย่างแน่นอนในอนาคต หรือพูดง่าย ๆ ว่ามันคือการปรับโครงสร้างกฏหมายครั้งใหญ่ในระบบการเงินของสหรัฐฯ เพื่อเตรียมตัวไปสู่ยุคใหม่เลยทีเดียว

ดังนั้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าในระหว่างนี้ตลาดการเงินโลก รวมถึงตลาดหุ้นและบริษัทเทคโนโลยีจะได้รับผลประโยชน์หรือผลกระทบในระยะสั้นมากน้อยแค่ไหน ?