Sunday, 28 April 2024
บุหรี่ไฟฟ้า

'รมว.ดีอีเอส' เสนอทบทวนแบนบุหรี่ไฟฟ้า อ้างนักสูบนิยมมาก เมินแบบมวน เก็บภาษีต่ำกว่าเป้า เกษตรกรปลูกใบยาสูบกระทบหนัก ฟุ้งอนาคตตั้งโรงงานส่งออกได้ ยกต่างประเทศไม่ฝืนเปลี่ยนให้ถูก กม. นายกฯ เบรกหัวทิ่ม ยันหมอชี้อันตรายต่อสุขภาพ

มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. แจ้งว่า ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างภาษีบุหรี่ช่วงหนึ่ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่าควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคบุหรี่มวนลดลง หันไปบริโภคบุหรี่รูปแบบใหม่ๆ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีของรัฐน้อยลงตามไปด้วย และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากราคาใบยาสูบตกต่ำ ทำให้รัฐต้องจ่ายชดเชยช่วยเหลือ

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้โครงสร้างภาษีของประเทศไทย ทำให้บุหรี่ไทยหลายยี่ห้อที่โรงงานยาสูบผลิตและจำหน่ายในประเทศราคาสูงกว่ายี่ห้อต่างประเทศที่นำเข้ามาค่อนข้างมาก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันไปสูบบุหรี่ต่างประเทศ ตรงนี้ทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนและบุหรี่ไทยจะตาย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นายชัยวุฒิได้นำเสนอที่ประชุมด้วยว่า หากทำให้บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมายจะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ เป็นการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยอีกต่อไป และจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคบุหรี่ประเภทนี้เป็นจำนวนมาก และในอนาคตอาจมีการตั้งโรงงานเพื่อส่งออก เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรใบยาสูบด้วย

เสียงสะท้อนถึงภาครัฐ 'ถูกจุด - ล้มเหลว' หลังขึ้นภาษีไม่ช่วยคนไทยจากภัยบุหรี่

กลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในสังคม ภายหลังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง ออกมาประกาศขึ้นภาษีบุหรี่ โดยมีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพประชาชน หวังลดการบริโภคบุหรี่ลงได้ 2-3% ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เลือกออกมาหนุนให้ปลดล็อกผลิตภัณฑ์ทางเลือก เช่น ไอคอส (IQOS)

เพราะประเด็นนี้ได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันในสังคม ที่มีทั้งเสียงสนับสนุนและการคัดค้านจากหลายฝ่าย... 

เริ่มตั้งแต่ ส.ส. คนดังอย่าง นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก ส.ส. พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงราย ที่โพสต์ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "การขึ้นภาษีอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของการควบคุมบุหรี่"  

ส่วน นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร หรือ ส.ส.เท่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ซึ่งโพสต์แคปชัน “ความพยายามอันสิ้นหวังรีดภาษีบุหรี่” วอนรัฐหยุดใช้ข้ออ้างสุขภาพมาหารายได้จากการเก็บภาษีแต่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด 

นายวรภพ วิริยะโรจน์ อีกหนึ่ง ส.ส. พรรคก้าวไกล ก็เสนอทบทวนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมท้าให้มาดูที่รัฐสภาและทำเนียบที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก 

ทางด้าน แอดมิน เพจดัง Drama-Addict ก็ได้โพสต์แสดงความเห็นขยี้ประเด็น รัฐปรับเพดานภาษี คนสูบบุหรี่เท่าเดิม ชี้คนเดือดร้อนตัวจริงคือประชาชนและเกษตรกร  

ขณะที่ นพ. หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ออกมาย้ำถึงความกังวลเรื่องความอันตรายของผลิตภัณฑ์ทางเลือก จน รมว.ดิจิทัล ต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติม โดยแนะให้ปรับมุมมองใหม่ต่อบุหรี่ไฟฟ้า ยกกรณี อย.สหรัฐฯ อนุญาตให้ผู้ขายได้สื่อสารกับผู้บริโภคในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบลดความเสี่ยงได้แล้ว

>> นาทีนี้ การขึ้นภาษีอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ... 

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขต 1 เชียงราย ได้โพสต์แสดงความเห็นผ่านหน้าเฟซบุ๊กเพจ ชี้ว่า "การขึ้นภาษีอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของการควบคุมบุหรี่ และบางทีมุขเดิมๆ วิธีเดิมๆ ที่ใช้ในการควบคุมบุหรี่อาจไม่ได้ผล"   

ในโพสต์ดังกล่าว นายแพทย์เอกภพ แสดงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข อ้างอิงการขึ้นภาษีส่งผลให้ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่กลับลดลงเพียงเล็กน้อย แค่ 2% (อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ในช่วงปี 2560-2564)

ตรงนี้ สะท้อน ความล้มเหลวของภาครัฐ ในการบริหารจัดการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และอยากให้เปลี่ยนมุม โดยเสนอมุมมองใหม่ เช่น การปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า ให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย 

“ผลจากการขึ้นภาษีเมื่อปี 2560 ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลง วัดจากตัวเลขกำไรของโรงงานยาสูบ ที่ลดลง โดยโรงงานยาสูบที่เคยมีกำไรสุทธิถึง 9,343 ล้านบาทในปี 2560 เหลือกำไรเพียง 513 ล้านบาทในปี 2562 ถึงกระนั้นถ้ากำไรลดลง เพราะยอดขายที่ลดลง จากคนสูบบุหรี่ที่ลดลงก็คงไม่ว่ากัน แต่ในความเป็นจริงอัตราคนสูบบุหรี่แทบไม่ขยับลดลงเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขอัตราการสูบบุหรี่เทียบจากปี 60 มาถึง 64 ดูเหมือนจะลดไปประมาณ 2% และตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเฉพาะผู้สูบบุหรี่ ไม่ได้นับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาด้วย” นายแพทย์เอกภพ ระบุในเพจ www.facebook.com/DoctorEkkapob

>> ความพยายามอันสิ้นหวังในการรีดภาษีบุหรี่

ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร หรือ ส.ส.เท่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/Taopiphop ไว้ว่า การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นเพียงการใช้ข้ออ้างสุขภาพ รัฐหารายได้จากประชาชนเท่านั้น เป็น “ความพยายามอันสิ้นหวังรีดภาษีบุหรี่” แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจริง เพราะนอกจากจะเปิดช่องให้บุหรี่แบรนด์จากต่างประเทศนำบุหรี่ราคาต่ำมาขาย ยังกระทบต่อเกษตรกรยาสูบไทยรายได้ลดลงจากยอดขายยาสูบลดลงเป็นผลพวงจากการผูกขาดของรัฐในการผลิตยาสูบในประเทศ และมีการลักลอบขายบุหรี่เถื่อนรายได้ภาษีที่รัฐคาดหวังจะเก็บได้ก็ไม่ได้ แต่เปิดทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนสุขภาพประชาชนโดยรวมก็ไม่ดีขึ้น

“ข้ออ้างเรื่องสุขภาพของประชาชน เป็นแนวคิดเก่าโบราณของรัฐที่พยายามบอกกับประชาชนว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไร แบบพ่อปกครองลูก (Nanny State) จากสถิติพบว่าการเพิ่มราคาบุหรี่แม้จะมีผลในการลดจำนวนผู้สูบลดลงด้วยปัจจัยราคา แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน แสดงว่าก็คงไม่ได้ผลอย่างที่คาดไว้” นายเท่าพิภพ หรือ ส.ส.เท่า พรรคก้าวไกล ระบุ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอทางออกให้กับประเทศด้วยการสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนโยบายควบคุมยาสูบ แบบ ลดสารอันตราย (Harm Reduction) เพื่อการแก้ปัญหาแบบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและด้านสุขภาพ โดยเน้นผลประโยชน์ต่อประชาชนว่า  

“หลายประเทศที่พัฒนาแล้วพยายามแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไปในอีกทิศทางหนึ่งที่ต่างกัน ด้วยวิธีการลดอันตรายที่เกิดจากสิ่งนั้นๆ (Harm Reduction) เช่น นิวซีแลนด์ ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผลวิจัยจากหลายสถาบันก็บ่งบอกว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบธรรมดา เพราะไม่มีการเผาไหม้และไม่เกิดน้ำมันอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ในบางประเทศอย่างอังกฤษ หากต้องการเลิกสูบบุหรี่ คุณหมอในโรงพยาบาลก็สามารถสั่งบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังผิดกฎหมาย ซึ่งอาจขัดแย้งกันในเรื่องของผลประโยชน์ก็เป็นได้” 

ส่วนแอดมิน เพจดัง Drama-Addict ก็ไม่พลาดที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ โดยได้บอกว่า แม้รัฐปรับเพดานภาษีกี่ครั้ง แต่จำนวนคนสูบบุหรี่ไม่ลดลง ทางออกที่ดีน่าจะเป็นของการปรับตัวนำบุหรี่ไฟฟ้า หรือ Vape และ IQOS มาใช้ร่วมแก้ปัญหา

ข้อความโพสต์โดยแอดมิน เพจ  Drama-Addict  เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งระบุว่า “ถ้าเพื่อให้คนลดบุหรี่ลง และ โรงยาสูบกับเกษตรกรไม่เจ๊ง คิดว่า น่าจะให้ทางโรงงานยาสูบเริ่มพัฒนาพวก Vape / IQOS มาแทนที่บุหรี่แบบเดิมๆ ซึ่งอันนี้ก็จะแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากคนที่หันไปหาของนำเข้าหรือไปใช้พวก IQOS / Vape ที่นำเข้าจาก ตปท. ได้บ้าง จะได้มีเวลาให้เกษตรกรที่ปลูกยาสูบปรับตัวลดการปลูกยาสูบไปปลูกอย่างอื่น เช่น กัญชง/กัญชา อะไรก็ว่ากันไป แล้วดูแลควบคุมพวกนี้ให้เข้มงวด ไม่ให้เด็กรุ่นใหม่หันไปลองใช้พวกนี้ แล้วให้พวกรุ่นเก่าๆ ที่ยังสูบบุหรี่ ปรับตัวมาใช้พวกนี้แทนแล้วค่อยๆ พาไปเลิกบุหรี่ให้หมด น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่านะ”

'ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า' หนุน 'รมว. ดีอีเอส' คุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายชี้ข้ออ้างเอ็นจีโอสายสุขภาพ สวนความจริง 79 ประเทศทั่วโลก

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและไอคอส โต้กลุ่มรณรงค์ต่อต้านยาสูบ ชี้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย 79 ประเทศ พร้อมสนับสนุน รมว. ชัยวุฒิ หนุนศึกษาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ชี้การแบนล้มเหลว เพราะคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนประเทศกว่า 2 ล้าน ทั้งในสภาและครม. ซื้อขายเกลื่อนกลาดออนไลน์ แต่รัฐเก็บภาษีไม่ได้ งานเข้ากระทรวงดีอีเอสไล่ปิดเว็บไซต์แก้ปัญหาปลายเหตุ

จากกรณีที่สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายสุขภาพ และแพทยสมาคมฯ ออกแถลงการณ์แสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ยังคงนโยบายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบชนิดใหม่ๆ โดยอ้างว่าไทยยังไม่พร้อมเพราะเป็นประเทศรายได้ระดับต่ำหรือปานกลาง และยังระบุถึงอันตรายต่างๆ นั้น

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แอดมินเพจเฟซบุ๊ก “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คนเผยว่า “พฤติกรรมผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนต่างมองหาวิธีลดอันตรายให้ตัวเอง การห้ามนำเข้าห้ามขายนั้นไม่ได้ผลและไม่อยู่บนโลกของความเป็นจริง ในขณะที่ 79 ประเทศทั่วโลกมีการอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าควบคุมได้อย่างถูกกฎหมาย กำหนดอายุขั้นต่ำผู้ซื้อเพื่อปกป้องเยาวชน สร้างมาตรฐานความปลอดภัย เก็บภาษีสรรพสามิตเข้ารัฐได้ แต่ประเทศไทยยังคงอ้างผิด ๆ เรื่องความเข้มข้นนิโคตินและการเสพติด สวนทางกับหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำในต่างประเทศจำนวนมาก เช่นราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกสำนักงานภาคพื้นยุโรป ที่ต่างก็ยืนยันว่าหากเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยลดการได้รับสารพิษได้มากกว่าการสูบบุหรี่ หากผู้สูบบุหรี่ไม่มีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่วันนี้รู้แล้วว่าอันตรายน้อยกว่า เหมือนบังคับให้คนไทยยังต้องตายจากบุหรี่มวนปีละกว่า 70,000 คนเหมือนทุกวันนี้”   

ด้านนายสาริษฎ์ สิทธิเสรีชน แอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน” ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 30,000 คน แกนนำกลุ่มผู้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทให้ความร้อน หรือ “ไอคอส” ระบุว่า “เราไม่ได้สนับสนุนให้คนสูบบุหรี่ แต่เราคิดว่าคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วควรมีทางเลือกเช่นเดียวกับในอีก 67 ประเทศทั่วโลกที่ไอคอส ถูกกฎหมาย และมีหน่วยงาน อย. สหรัฐที่อนุญาตให้ขายและสื่อสารได้ว่ามีสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เข้าใจว่า ทำไมกลุ่มสมาพันธ์สุขภาพถึงคิดว่ารัฐบาลของประเทศอื่นๆ เค้าโง่กว่า หรือประสงค์ร้ายกับประชากรของตนเองหรืออย่างไร ทำไม ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือแม้แต่มาเลเซียเพื่อนบ้านเรา เค้าอนุญาตให้ขายได้ ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีเด็กและเยาวชน ผมจึงสนับสนุนที่ รมว. ดีอีเอส เสนอให้ทำการศึกษาเพื่อควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เปิดเสรี แทนที่ดีอีเอสจะต้องมานั่งไล่ปิดเว็บไซต์ขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ“

โดยก่อนหน้านี้ มี ส.ส. จากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงเพจดังจำนวนมาก ตบเท้าร่วมสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีการเห็นชอบการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ และอนุมัติจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดโควต้าการรับซื้อของการยาสูบแห่งประเทศไทย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนทำให้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่อันตรายน้อยกว่าบุหรี่จริง ประเทศใหญ่ๆ ยอมรับกันแล้ว และจะสร้างประโยชน์ต่อทั้งผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยประมาณ 10 ล้านคนและเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ 30,000 ครอบครัว หากการยาสูบแห่งประเทศไทยหันมาผลิตผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้ 

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าเสนอไทยคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย หลัง อย.สหรัฐ ไฟเขียวขายบุหรี่ไฟฟ้า วอนหมอไทยเลิกด้อยค่าบุหรี่ไฟฟ้า

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าลุ้นไทยปลดแบนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ต่อผู้สูบบุหรี่และการเก็บภาษี แนะดูแนวทางสหรัฐฯ คุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย หลัง อย. สหรัฐให้อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเห็นประโยชน์มากกว่าโทษ 
 
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิดเผยภายหลังทราบข่าวองค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา (The Food and Drug Administration หรือ FDA) ที่อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งของ บริษัท RJ Reynolds สามารถขายได้ในสหรัฐอเมริกาว่า “อย. สหรัฐมองว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถลดการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายเมื่อเทียบกับควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่ และเป็นการปกป้องสุขภาพของประชาชนส่วนรวมโดยแนวทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของสหรัฐเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยมีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบคอบ และเห็นว่าประโยชน์ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่จะช่วยให้ลดการสูบบุหรี่มีมากกว่าความเสี่ยงในการที่เยาวชนจะมาติดบุหรี่ไฟฟ้า จึงอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้เพื่อให้ทางเลือกกับผู้สูบบุหรี่ ในขณะที่ยังสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าและบังคับใช้กฎหมายป้องกันการโฆษณาและการเข้าถึงของเยาวชนได้ด้วย”
 
“ต่างกับในประเทศไทยที่ให้เหตุผลว่าไม่อยากให้เยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะจะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่ในที่สุด จึงจำเป็นต้องแบนไว้ก่อน แต่ 7 ปีที่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย เราก็ยังเห็นมีผู้ใช้อยู่เป็นจำนวนมากรวมถึงเยาวชนที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วไลฟ์โชว์กันทางสื่อโซเชี่ยลมีเดียด้วย ซึ่งหากเรานำบุหรี่ไฟฟ้ามาควบคุมให้เหมาะสม กำหนดอายุผู้ซื้อผู้ขาย ก็จะช่วยให้รัฐบาลป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนได้ดีกว่า เหมือนที่เรากำหนดอายุผู้ซื้อบุหรี่ จนทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในเยาวชนที่อายุตำกว่า 20 ปีลดลงจาก 9.7% เหลือ 6.2% ในปีที่ผ่านมา”
 
ตามรายงานของนิวยอร์คไทม์เผยว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา FDA ออกแถลงการณ์อนุญาตให้ RJ Reynolds ทำการตลาดผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า 3 รายการ หลังจากที่บริษัทยื่นคำขออนุมัติขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ (Pre-market Tobacco Product Application: PMTA) โดยบุหรี่ไฟฟ้าทั้ง 3 รายการที่ได้รับอนุญาตเป็นรสชาติใบยาสูบธรรมดา ซึ่งไม่ใช่รสชาติที่มีการปรุงแต่ง โดย FDA ระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่เด็ก ๆ จะเริ่มจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วหันไปสูบบุหรี่ซึ่งมีอันตรายมากกว่าแทน ทั้งนี้ การอนุญาตของ FDA ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการถกเถียงด้านสาธารณสุขที่มีมายาวนานกว่าหลายทศวรรษ โดย FDA ระบุว่าในแถลงการณ์ว่าไอละลองของบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตมีพิษน้อยกว่าควันของบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญ และการอนุญาตดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะมีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบของโลกในช่วงวันที่  8-13 พฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะมีการถกเถียงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
 
ด้านนายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนอีกท่านหนึ่งของ ESCT ระบุว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ US FDA ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับอังกฤษ นิวซีแลนด์ และอีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่ฝ่ายต่อต้านของไทยพยายามด้อยค่าบุหรี่ไฟฟ้าด้วยการให้ข้อมูลด้านลบเพียงอย่างเดียว ทั้งที่เมื่อเทียบกับบุหรี่แล้ว บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่ามาก อีกทั้งยังไม่ยอมรับความเป็นจริงด้วยว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นนโยบายที่ล้มเหลว ทั้งทำให้เกิดตลาดใต้ดิน เก็บภาษีก็ไม่ได้ และยังห้ามคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้จริง ๆ อีกด้วย จึงต้องจับตาว่าประเทศไทยจะมีจุดยืนอย่างไรในการประชุมนี้”

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าเผย 100 ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ระดับโลกร่วมลงชื่อ กระตุ้น WHO เปลี่ยนจุดยืนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับโลกกว่า 100 รายร่วมกันลงชื่อในจดหมายที่ส่งไปยัง WHO เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขจุดยืนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ไทยยังคงปฏิเสธทางเลือกของผู้สูบบุหรี่ด้วยอคติและการไม่ยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ พร้อมเรียกร้องไทยสร้างความโปร่งใสในการพิจารณานโยบายเกี่ยวกับยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” นำโดยนายอาสา ศาลิคุปต และนายมาริษ กรัณยวัฒน์ สองแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิดเผยว่า “ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนานโยบายเกี่ยวกับยาสูบกว่า 100 คน กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ยังคงมองข้ามศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ จึงได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ WHO สนับสนุนและรวมเอาหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) เข้าไปไว้ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบด้วย”

ในจดหมายที่ 100 ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันลงชื่อ เผยว่ามีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 3.4 ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อของประชากรโลก นอกจากนี้ ในจดหมายยังได้ ระบุข้อเรียกร้อง 6 ประการ ได้แก่ 1) ให้ WHO และประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวทางการลดอันตราย 2) การพิจารณานโยบายของ WHO ต้องมีความครอบคลุมเหมาะสม ทั้งกับผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และการป้องกันเยาวชนจากความเสี่ยงในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า 3) การจะแบนบุหรี่ไฟฟ้าต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างไม่ตั้งใจด้วย 4) ใช้มาตรา 5.3 ของ FCTC อย่างเหมาะสม 5) การประชุม FCTC ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อสร้างความโปร่งใส และ 6) ริเริ่มการทบทวนอย่างเป็นอิสระต่อแนวทางของ WHO และ FCTC

นายอาสากล่าวว่า “การแบนบุหรี่ไฟฟ้าตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการควบคุมยาสูบ การปฏิเสธนวัตกรรม และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค จนทำให้ผู้สูบบุหรี่ยังคงได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ต่อไป พอมีใครเสนอให้พิจารณาหาทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ กลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในประเทศไทยมักจะอ้าง WHO โดยไม่พิจารณาว่าหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำของโลก เช่น สาธารณสุขอังกฤษ สาธารณสุขนิวแลนด์ ยูเอสเอฟดีเอ ต่างก็มีจุดยืนที่ส่งเสริมการลดอันตรายและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่เพื่อลดอันตรายให้กับผู้ที่จะสูบบุหรี่ต่อไป ในขณะที่ป้องกันการเข้าถึงของเด็กเยาวชนควบคู่กัน”

จดหมายฉบับดังกล่าวทำขึ้นก่อนการจัดการประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 9 (FCTC COP9) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและรัฐบาลของหลายๆ ประเทศเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-13 พฤศจิกายน และอาจจะมีการพิจารณามาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยงในการประชุมครั้งนี้

อย. สหรัฐเผย! ตัวเลขวัยรุ่นใช้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในอเมริกาลดลง 2 ปีต่อเนื่อง

ผลสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นของสหรัฐอเมริกา พบการใช้ลดลงในช่วงปี 2563-2564 ถึง 42% และช่วงปี 2562-2563 ลดลง 29% ทำให้อัตราลดลงถึง 60% ภายใน 2 ปี สวนทางกับข้อมูลของกลุ่มรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่อ้างข้อมูลเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้า 27.5% ของปี 2562 โดยไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งหมด เชื่อไทยจะป้องกันเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ ถ้านำเอามาควบคุมให้เหมาะสม

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิดเผยว่า “กรมควบคุมโรค และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเพิ่งเปิดเผยตัวเลขการสำรวจระดับชาติเรื่องการบริโภคยาสูบในเยาวชนอเมริกัน ปรากฏว่าจำนวนวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดลงอย่างมากติดต่อกันเป็นที่สอง โดยในปี 2564 นี้ มีรายงานว่ามีนักเรียนชั้นมัธยมใช้บุหรี่ไฟฟ้า 11.3 % ลดลงจากปีก่อนที่ 19.6% และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเคยสูงถึง 27.5% ขณะที่วัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทุกวันมี 3.1% ตรงข้ามกับข้อมูลของกลุ่มรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่อ้างแต่ข้อมูลปี 2562 ที่ 27.5% เพื่อทำให้ผู้กำหนดนโยบายและสังคมไทยเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้วัยรุ่นในอเมริกานิยมใช้มากเพื่อที่จะได้แบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป”

“แม้ว่าการสำรวจจะทำแบบออนไลน์เพราะโรงเรียนปิดช่วงโควิดซึ่งอาจมีผลต่อการสำรวจ แต่ผมมองว่าที่เป็นสัญญาณที่ดีเป็นแนวโน้มที่ดีที่แสดงว่าเมื่อรัฐบาลอเมริกาหันมาจริงจังกับปัญหานี้ก็สามารถควบคุมได้ โดยไม่ไปตัดสิทธิผู้ใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า เช่นบุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่าเขาจะกังวลเรื่องเด็กและเยาวชนแต่ก็ไม่ได้แบนบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนไทย แต่เขาเลือกแก้ปัญหาโดยการออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดขึ้น มีการแจ้งเตือน ควบคุมการใช้และการจำหน่าย รวมถึงควบคุมการโฆษณาและการออกรสชาติที่อาจจะดึงดูดเยาวชน เช่น รสลูกกวาดและขนม หลังจากนั้นก็พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนลดลง แต่ของไทยวันนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย คุมอะไรไม่ได้เลย เด็กสั่งออนไลน์ได้ของมาส่งถึงบ้านโดยไม่ต้องตรวจบัตรประชาชน”

ขณะเดียวกัน รายงานการสำรวจในประเทศอังกฤษที่จัดทำโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของอังกฤษ (ASH UK) ที่ระบุว่า ในปี 2564 11.2% เยาวชนอายุระหว่าง 11-17 ปีเคยลองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งลดลงจาก 13.9% ในปี 2563 รายงานของ ASH UK ยังย้ำด้วยว่าเด็กส่วนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่เคยลองสูบบุหรี่ อาจจะเคยลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำยังคงต่ำอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการติดตามและควบคุมให้เหมาะสม


 

‘ฟิลิปปินส์ - อังกฤษ’ ย้ำจุดยืน!! ‘ไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้า’ เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าแนะไทย ดูเป็นแบบอย่าง

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า เผยความเคลื่อนไหวจากการประชุมยาสูบโลก ชี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ลุกขึ้นแถลงจุดยืนกลางที่ประชุมฯ ว่าจะเน้นนโยบายควบคุมยาสูบแบบสมดุล ทั้งทางด้านกฎระเบียบและการเก็บภาษี และจะไม่แบนบุหรีไฟฟ้า เพื่อป้องกันผลเชิงลบ ขณะที่อังกฤษระบุอัตราผู้สูบบุหรี่ลดต่ำสุด เป็นผลมาจากมาตรการที่ครอบคลุมรวมถึงการสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า แนะประเทศไทยเดินตามรอยสองประเทศ เพื่อประโยชน์ประเทศและผู้สูบบุหรี่

นายอาสา ศาลิคุปต เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ และเพจ "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" เผยความเคลื่อนไหวจากการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 9 หรือ FCTC COP 9 ระบุว่า “กระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์เป็นตัวแทนของประเทศลุกขึ้นเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทดแทนการสูบบุหรี่ เพื่อทำให้มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่กลับมามีประสิทธิภาพอีกครั้ง ฟิลิปปินส์ยอมรับว่าการเก็บภาษีบุหรี่ทำให้รัฐบาลมีรายได้จำนวนมาก เพื่อใช้บริหารประเทศและทำกิจกรรมรณรงค์เลิกบุหรี่ แต่ฟิลิปปินส์รู้ว่าการเก็บภาษีอย่างสุดโต่งไม่ทำให้การเลิกบุหรี่สำเร็จได้ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมยาสูบแบบสมดุลทั้งทางด้านกฎระเบียบและการเก็บภาษี และย้ำอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าแน่นอน”

นายเทอโดโร ลอคสิน จูเนียร์ รมว.ต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมระหว่างการเปิดประชุม FCTC COP 9 ว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งทำให้เกิดตลาดใต้ดินและการลักลอบนำเข้าในประเทศมากขึ้น ซึ่งฟิลิปปินส์เสนอว่าการแก้ปัญหาบุหรี่และตลาดใต้ดินบุหรี่ไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และการปรึกษาหารืออย่างครอบคลุมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

ขณะที่ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษกล่าวว่า อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีบุหรี่ การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ และการสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับการควบคุม

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายลาขาดควันยาสูบ อีกรายกล่าวเสริมว่า “ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งสรุปตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ จึงเพิ่งผ่านร่างกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นกรอบควบคุมยาสูบรูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้ดอันตรายให้กับผู้สูบบุหรี่ได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันการขายผลิตภัณฑ์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนอังกฤษก็เป็นประเทศต้นแบบที่สนับสนุนเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่ สองประเทศนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิจารณาอย่างรอบคอบและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย มาตรการที่ออกมาจึงมีการศึกษาข้อดีและผลกระทบอย่างรอบคอบแล้ว”

 

เครือข่ายผู้ใช้ฯ โวยสสส. ออกข่าวบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเพิ่มขึ้น ไม่ถูกต้อง!

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโวย สสส. ออกข่าวบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเพิ่มจาก 5% เป็น 67% ไม่ถูกต้อง ชี้สองงานวิจัยที่ทำการศึกษาคนละวิธีเอามาเทียบกันไม่ได้ พร้อมแนะ สสส. และ NGO สายสุขภาพอย่านำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนเพราะจะสร้างความกังวลให้กับสังคมได้ ย้ำประเทศไทยต้องรีบทำบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาการให้ข้อมูลผิดๆ แบบในปัจจุบัน และช่วยชีวิตคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 70,000 คน


 
นายมาริษ กรัณยวัตน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “เครือข่ายลาขาดควันยาสูบ” และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน กล่าวถึงการนำข้อมูลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ไปเปรียบเทียบกับสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ว่า “การนำผลการศึกษานี้ไปเปรียบเทียบกับรายงานของ PHE แล้วสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 67% เป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้อง เพราะรายงานของ PHE ที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่นั้น เป็นการวัดปริมาณสารเคมี โดยรายงานระบุว่าสารประกอบในควันบุหรี่รวมทั้งสารก่อมะเร็งซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แทบจะไม่เจอเลยในไอละอองของบุหรี่ไฟฟ้า หรือถ้าเจอก็จะอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 5% เมื่อเทียบกับที่เจอในควันบุหรี่ ขณะที่การศึกษาของ ม. โอทาโก เป็นการสะท้อนถึงการเกิดโรค เมื่อตัวชี้วัดทางกายภายได้รับสารเคมีจากไอละอองเข้าไป ซึ่งการศึกษาสรุปชัดเจนว่าอันตรายต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ 33.2% เทียบกับบุหรี่”  

นายมาริษยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แสดงให้เห็นว่า สสส. และ NGO สายสุขภาพยังคงพยายามใช้เทคนิคเดิมๆ โดยการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน และดิสเครดิสงานวิจัยที่ผ่านการรวบรวมข้อมูลอย่างมีมาตรฐาน โดยบอกว่ามี 2 งานที่เป็นงานที่สนับสนุนโดยบริษัทยาสูบ โดยไม่พิจารณาผลการวิจัยและความน่าเชื่อถือของการทำวิจัย แสดงถึงอคติที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า จนทำให้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ ซึ่งคนที่เป็นแพทย์และต้องการรักษาชีวิตของผู้สูบบุหรี่ ไม่ควรเพิกเฉยกับข้อมูลที่มีประโยชน์และน่าจะช่วยลดอันตรายหรือรักษาชีวิตผู้สูบบุหรี่ได้”
 
งานวิจัยซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยโอทาโกดังกล่าวเป็นการรวบรวมการศึกษา 5 ชิ้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจาก 584 ชิ้นโดยดูตัวชี้วัดทางกายภาพ (biomarker) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะก่อให้เกิดโรคในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการสะท้อนถึงการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย โดยจะทำการศึกษาว่าเมื่อร่างกายได้รับสารเคมีจากไอละอองของบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ตัวชี้วัดเหล่านั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ก่อนจะนำผลจากตัวชี้วัดทางกายภาพดังกล่าว มาคำนวณความสูญเสียทางสุขภาพที่ทำให้เกิดโรคที่จำเพาะกับการสูบบุหรี่เทียบกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ซึ่งพบว่าอันตรายต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้าอยู่เพียงแค่ 33.2% เทียบกับบุหรี่
 

‘ส.ส. ก้าวไกล’ ซัด!! ‘สสส.’ ขาดความโปร่งใสในการใช้งบ 4 พันล้าน ชี้!! สสส. ทำงานเหมือนแดนสนธยา

2 ส.ส. พรรคก้าวไกลชำแหละรายงานประจำปีกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ชี้เหมือนแดนสนธยา ใช้งบประมาณเก่ง แต่จัดการปัญหายาสูบไม่ประสบผลสำเร็จ ยกตัวอย่างการแบนบุหรี่ไฟฟ้าที่สวนทางนานาชาติ ซัดพูดความจริงไม่หมดและขาดความโปร่งใสในเรื่องบทบาททับซ้อน

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายรายงานประจำปีของ สสส. ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 ระบุว่า “สังคมไทยเริ่มมีการแสดงความคิดเห็นเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในรายงานของ สสส. ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวต่อต้านเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และนำเสนอแต่ข้อมูลที่ผิด ๆ ที่พูดถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและการเกิดนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งตนเห็นว่า สสส. พูดความจริงไม่หมด เพราะมีงานวิจัยในต่างประเทศอีกจำนวนมากที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ สสส. รายงาน เช่น ประเทศอังกฤษ ที่กำลังศึกษาเพื่อใช้บุหรี่ไฟฟ้าทางการแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ นอกจากนี้ ผมยังได้ยินประสบการณ์ตรงจากคนรอบข้างที่เคยสูบบุหรี่มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นที่บอกว่าเมื่อเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ทำให้ไม่สามารถกลับไปสูบบุหรี่ได้อีก”

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อโลกมีทางเลือกใหม่ ประเทศไทยก็จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้าน นำผลวิจัยมาถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล และหาวิธีป้องกันเยาวชน เช่น การห้ามการแต่งกลิ่นน้ำยานิโคติน ศึกษาวิจัยสารปนเปื้อน และทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ แทนที่จะยกงานวิจัยของฝ่ายเดียวมาพูด แล้วอ้างตรรกะผิด ๆ ว่างานวิจัยของฝ่ายตรงข้ามได้รับทุนวิจัยจากบริษัทบุหรี่ ปัจจุบันมี 35 ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่อีก 73 ประเทศก็อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าภายใต้การควบคุมได้ และไม่มีใครเรียกร้องให้เปิดเสรีบุหรีไฟฟ้า มีแต่เรียกร้องให้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและเก็บภาษีและมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมเช่นเดียวกับบุหรี่มวน เช่นการควบคุมอายุขั้นต่ำ การควบคุมปริมาณ สารนิโคติน ความปลอดภัย และการจัดประเภทให้ถูกต้อง”

“อยากตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของ สสส. ที่ให้ทุนงานวิจัยที่เป็นลบหรือศึกษาความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น บางงานวิจัยที่ต้องการศึกษาอย่างเป็นกลางว่ามี harm reduction หรือไม่กลับไม่ได้รับทุน จึงอยากขอให้เปิดเผยโครงการงานวิจัยที่ได้รับทุนและที่มาขอทุน และตั้งคำถามว่าอีก 70 กว่าประเทศที่เขาอนุญาตบุหรี่ไฟฟ้าขายได้ตามกฎหมายนั้นได้รับทุนข้ามชาติหรือถูกล๊อบบี้จากบริษัทเหล่านี้หรือไม่ และยังต้องตั้งคำถามว่า สสส. ที่ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าขณะนี้ถูกล๊อบบี้จากใคร”

ด้าน “หมอเอก” นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส. เชียงราย ระบุว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ผมได้อภิปรายรายงานของ  สสส. เกี่ยวกับความโปร่งใสในการทำงานของ สสส. เพราะที่ผ่านมา 20 ปีทำงานโดยไม่มีความโปร่งใสเลย  สสส. ทำตัวเหมือนแดนสนธยา ใช้งบประมาณ 4 พันล้านบาทเทียบเท่า 1 กระทรวง ใช้เงินโดยไม่ผ่านสภาและไม่มีคนนอกมากำกับดูแล และไม่สามารถหาข้อมูลว่า สสส. ให้งบประมาณกับใคร หน่วยงานไหนไปแล้วบ้าง ก็ไม่สามารถหาข้อมูลได้ ผมจึงตั้งใจมาช่วยล้างบางมาเฟียใน สสส.

 

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า ชี้! นายกนิวซีแลนด์ หนุนมาตรการ ให้ทางเลือกผู้สูบบุหรี่ ยันไม่ปิดกั้นเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ลาขาดควันยาสูบ” หรือ ECST และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เผยหลังมีข่าวรัฐบาลนิวซีแลนด์เคาะมาตรการเด็ดขาดเพื่อหยุดการสูบบุหรี่ในคนรุ่นใหม่ โดยห้ามเด็กเกิดหลังปี 2551 ซื้อบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบไปจนตลอดชีวิตว่า “วัตถุประสงค์ของการทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศปลอดควันมี 2 ส่วนสำคัญคือ 

1.) การควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควันและสร้างความแตกต่างจากบุหรี่แบบเผาไหม้เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่หรือเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า

และ 2.) การเข้มงวดกับบุหรี่ซิกาแรตที่มีการเผาไหม้เพื่อค่อย ๆ ให้หมดไป เพราะนิวซีแลนด์ตั้งเป้าหมาย 'Smokefree 2025' เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศให้เหลือต่ำกว่า 5% ภายใน ค.ศ. 2025 ซึ่งมาตรการทั้งหมดมาจากการยอมรับแนวทางการลดอันตรายจากยาสูบ (tobacco harm reduction) และชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้จำกัดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งนิวซีแลนด์มองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเลิกบุหรี่”

นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิน กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “เรากำลังเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์ไร้ควัน (การเวป) เป็นเครื่องมือในการเลิกสูบบุหรี่ของคนจำนวนมาก และนี่ทำให้เราสามารถผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อลดการสูบบุหรี่เพราะมีทางเลือกที่ผู้สูบบุหรี่สามารถใช้เลิกสูบบุหรี่ได้อย่างประสบความสำเร็จ เรารู้ว่าการเวปได้สร้างความแตกต่างให้กับคนเหล่านั้นเพื่อเลิกสูบบุหรี่และเป็นเครื่องมือที่สำคัญ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top