'รมว.ดีอีเอส' เสนอทบทวนแบนบุหรี่ไฟฟ้า อ้างนักสูบนิยมมาก เมินแบบมวน เก็บภาษีต่ำกว่าเป้า เกษตรกรปลูกใบยาสูบกระทบหนัก ฟุ้งอนาคตตั้งโรงงานส่งออกได้ ยกต่างประเทศไม่ฝืนเปลี่ยนให้ถูก กม. นายกฯ เบรกหัวทิ่ม ยันหมอชี้อันตรายต่อสุขภาพ

มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. แจ้งว่า ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างภาษีบุหรี่ช่วงหนึ่ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่าควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคบุหรี่มวนลดลง หันไปบริโภคบุหรี่รูปแบบใหม่ๆ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีของรัฐน้อยลงตามไปด้วย และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากราคาใบยาสูบตกต่ำ ทำให้รัฐต้องจ่ายชดเชยช่วยเหลือ

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้โครงสร้างภาษีของประเทศไทย ทำให้บุหรี่ไทยหลายยี่ห้อที่โรงงานยาสูบผลิตและจำหน่ายในประเทศราคาสูงกว่ายี่ห้อต่างประเทศที่นำเข้ามาค่อนข้างมาก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันไปสูบบุหรี่ต่างประเทศ ตรงนี้ทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนและบุหรี่ไทยจะตาย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นายชัยวุฒิได้นำเสนอที่ประชุมด้วยว่า หากทำให้บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมายจะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ เป็นการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยอีกต่อไป และจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคบุหรี่ประเภทนี้เป็นจำนวนมาก และในอนาคตอาจมีการตั้งโรงงานเพื่อส่งออก เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรใบยาสูบด้วย

พร้อมกันนี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังได้ยกตัวอย่างหลายประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่ทำให้บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย และยังได้หยิบยกงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่า บุหรี่ไอคอสมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวน ดังนั้นการทำให้ถูกต้องเป็นการปรับตัวที่ให้ผลดีมากกว่าและไม่เป็นการฝืนธรรมชาติ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า สาธารณสุขและแพทย์ยังยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายอยู่ ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมานานาประเทศมีมาตรการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงประเทศไทย หลังจากมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในยุโรปเมื่อราว 13 ปีที่แล้ว บุหรี่ไฟฟ้าก็กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เนื่องจากคำกล่าวอ้างจากผู้ผลิตว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ปกติ แต่จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี 2016 พบว่ายังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ผู้ใช้เลิกบุหรี่มวน ขณะที่องค์กรด้านสุขภาพและรัฐบาลหลายประเทศออกคำเตือนว่า บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่ต่างกัน


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/118137