เสียงสะท้อนถึงภาครัฐ 'ถูกจุด - ล้มเหลว' หลังขึ้นภาษีไม่ช่วยคนไทยจากภัยบุหรี่

กลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในสังคม ภายหลังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คลัง ออกมาประกาศขึ้นภาษีบุหรี่ โดยมีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพประชาชน หวังลดการบริโภคบุหรี่ลงได้ 2-3% ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เลือกออกมาหนุนให้ปลดล็อกผลิตภัณฑ์ทางเลือก เช่น ไอคอส (IQOS)

เพราะประเด็นนี้ได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันในสังคม ที่มีทั้งเสียงสนับสนุนและการคัดค้านจากหลายฝ่าย... 

เริ่มตั้งแต่ ส.ส. คนดังอย่าง นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก ส.ส. พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงราย ที่โพสต์ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "การขึ้นภาษีอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของการควบคุมบุหรี่"  

ส่วน นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร หรือ ส.ส.เท่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ซึ่งโพสต์แคปชัน “ความพยายามอันสิ้นหวังรีดภาษีบุหรี่” วอนรัฐหยุดใช้ข้ออ้างสุขภาพมาหารายได้จากการเก็บภาษีแต่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด 

นายวรภพ วิริยะโรจน์ อีกหนึ่ง ส.ส. พรรคก้าวไกล ก็เสนอทบทวนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมท้าให้มาดูที่รัฐสภาและทำเนียบที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก 

ทางด้าน แอดมิน เพจดัง Drama-Addict ก็ได้โพสต์แสดงความเห็นขยี้ประเด็น รัฐปรับเพดานภาษี คนสูบบุหรี่เท่าเดิม ชี้คนเดือดร้อนตัวจริงคือประชาชนและเกษตรกร  

ขณะที่ นพ. หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ออกมาย้ำถึงความกังวลเรื่องความอันตรายของผลิตภัณฑ์ทางเลือก จน รมว.ดิจิทัล ต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติม โดยแนะให้ปรับมุมมองใหม่ต่อบุหรี่ไฟฟ้า ยกกรณี อย.สหรัฐฯ อนุญาตให้ผู้ขายได้สื่อสารกับผู้บริโภคในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบลดความเสี่ยงได้แล้ว

>> นาทีนี้ การขึ้นภาษีอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ... 

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขต 1 เชียงราย ได้โพสต์แสดงความเห็นผ่านหน้าเฟซบุ๊กเพจ ชี้ว่า "การขึ้นภาษีอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของการควบคุมบุหรี่ และบางทีมุขเดิมๆ วิธีเดิมๆ ที่ใช้ในการควบคุมบุหรี่อาจไม่ได้ผล"   

ในโพสต์ดังกล่าว นายแพทย์เอกภพ แสดงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข อ้างอิงการขึ้นภาษีส่งผลให้ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่กลับลดลงเพียงเล็กน้อย แค่ 2% (อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ในช่วงปี 2560-2564)

ตรงนี้ สะท้อน ความล้มเหลวของภาครัฐ ในการบริหารจัดการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และอยากให้เปลี่ยนมุม โดยเสนอมุมมองใหม่ เช่น การปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า ให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย 

“ผลจากการขึ้นภาษีเมื่อปี 2560 ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลง วัดจากตัวเลขกำไรของโรงงานยาสูบ ที่ลดลง โดยโรงงานยาสูบที่เคยมีกำไรสุทธิถึง 9,343 ล้านบาทในปี 2560 เหลือกำไรเพียง 513 ล้านบาทในปี 2562 ถึงกระนั้นถ้ากำไรลดลง เพราะยอดขายที่ลดลง จากคนสูบบุหรี่ที่ลดลงก็คงไม่ว่ากัน แต่ในความเป็นจริงอัตราคนสูบบุหรี่แทบไม่ขยับลดลงเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขอัตราการสูบบุหรี่เทียบจากปี 60 มาถึง 64 ดูเหมือนจะลดไปประมาณ 2% และตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเฉพาะผู้สูบบุหรี่ ไม่ได้นับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาด้วย” นายแพทย์เอกภพ ระบุในเพจ www.facebook.com/DoctorEkkapob

>> ความพยายามอันสิ้นหวังในการรีดภาษีบุหรี่

ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร หรือ ส.ส.เท่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/Taopiphop ไว้ว่า การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นเพียงการใช้ข้ออ้างสุขภาพ รัฐหารายได้จากประชาชนเท่านั้น เป็น “ความพยายามอันสิ้นหวังรีดภาษีบุหรี่” แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาจริง เพราะนอกจากจะเปิดช่องให้บุหรี่แบรนด์จากต่างประเทศนำบุหรี่ราคาต่ำมาขาย ยังกระทบต่อเกษตรกรยาสูบไทยรายได้ลดลงจากยอดขายยาสูบลดลงเป็นผลพวงจากการผูกขาดของรัฐในการผลิตยาสูบในประเทศ และมีการลักลอบขายบุหรี่เถื่อนรายได้ภาษีที่รัฐคาดหวังจะเก็บได้ก็ไม่ได้ แต่เปิดทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนสุขภาพประชาชนโดยรวมก็ไม่ดีขึ้น

“ข้ออ้างเรื่องสุขภาพของประชาชน เป็นแนวคิดเก่าโบราณของรัฐที่พยายามบอกกับประชาชนว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไร แบบพ่อปกครองลูก (Nanny State) จากสถิติพบว่าการเพิ่มราคาบุหรี่แม้จะมีผลในการลดจำนวนผู้สูบลดลงด้วยปัจจัยราคา แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน แสดงว่าก็คงไม่ได้ผลอย่างที่คาดไว้” นายเท่าพิภพ หรือ ส.ส.เท่า พรรคก้าวไกล ระบุ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอทางออกให้กับประเทศด้วยการสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนโยบายควบคุมยาสูบ แบบ ลดสารอันตราย (Harm Reduction) เพื่อการแก้ปัญหาแบบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและด้านสุขภาพ โดยเน้นผลประโยชน์ต่อประชาชนว่า  

“หลายประเทศที่พัฒนาแล้วพยายามแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไปในอีกทิศทางหนึ่งที่ต่างกัน ด้วยวิธีการลดอันตรายที่เกิดจากสิ่งนั้นๆ (Harm Reduction) เช่น นิวซีแลนด์ ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผลวิจัยจากหลายสถาบันก็บ่งบอกว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบธรรมดา เพราะไม่มีการเผาไหม้และไม่เกิดน้ำมันอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ในบางประเทศอย่างอังกฤษ หากต้องการเลิกสูบบุหรี่ คุณหมอในโรงพยาบาลก็สามารถสั่งบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังผิดกฎหมาย ซึ่งอาจขัดแย้งกันในเรื่องของผลประโยชน์ก็เป็นได้” 

ส่วนแอดมิน เพจดัง Drama-Addict ก็ไม่พลาดที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ โดยได้บอกว่า แม้รัฐปรับเพดานภาษีกี่ครั้ง แต่จำนวนคนสูบบุหรี่ไม่ลดลง ทางออกที่ดีน่าจะเป็นของการปรับตัวนำบุหรี่ไฟฟ้า หรือ Vape และ IQOS มาใช้ร่วมแก้ปัญหา

ข้อความโพสต์โดยแอดมิน เพจ  Drama-Addict  เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งระบุว่า “ถ้าเพื่อให้คนลดบุหรี่ลง และ โรงยาสูบกับเกษตรกรไม่เจ๊ง คิดว่า น่าจะให้ทางโรงงานยาสูบเริ่มพัฒนาพวก Vape / IQOS มาแทนที่บุหรี่แบบเดิมๆ ซึ่งอันนี้ก็จะแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากคนที่หันไปหาของนำเข้าหรือไปใช้พวก IQOS / Vape ที่นำเข้าจาก ตปท. ได้บ้าง จะได้มีเวลาให้เกษตรกรที่ปลูกยาสูบปรับตัวลดการปลูกยาสูบไปปลูกอย่างอื่น เช่น กัญชง/กัญชา อะไรก็ว่ากันไป แล้วดูแลควบคุมพวกนี้ให้เข้มงวด ไม่ให้เด็กรุ่นใหม่หันไปลองใช้พวกนี้ แล้วให้พวกรุ่นเก่าๆ ที่ยังสูบบุหรี่ ปรับตัวมาใช้พวกนี้แทนแล้วค่อยๆ พาไปเลิกบุหรี่ให้หมด น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่านะ”

>> ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

สอดคล้องกับ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ที่แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าเคยย้ำกับรัฐบาลไปหลายครั้งแล้วว่าให้พิจารณาทบทวนเรื่องการแบนบุหรี่ไฟฟ้า การแบนบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่มีการทบทวนหรือทำการศึกษา คือ การปิดกั้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะก่อประโยชน์ทั้งในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจให้กับประเทศ เพราะจะช่วยให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นโอกาสของทั้งเกษตรกรไร่ยาสูบ และผู้ประกอบการในธุรกิจต่อเนื่องด้วย พร้อมทิ้งท้ายว่าแม้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมายก็ยังมีการใช้เป็นจำนวนมากที่รัฐสภาและทำเนียบ

>> ไม่มั่นใจในผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเสียงคัดค้านจาก นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้า และประเภท heat-not-burn products ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลเช่นกัน ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนทำงานบางส่วน จนกลายเป็นสารเสพติดตัวใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังพบการโฆษณา การขายบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนสื่อออนไลน์และตลาดนัดทั่วไป แม้ว่ากฎหมายไทยจะห้ามการนำเข้า ห้ามขายและให้บริการบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (e-cigarette) อยู่ก็ตาม

>> ข้อมูลที่ถูกปิดกั้น 

ส่วน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดีอีเอส ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ปกติ” และกลุ่มที่คัดค้าน “น่าจะยังไม่ทราบที่ อย.ของสหรัฐฯ (US-FDA) อนุญาตให้ไอคอสสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ ว่าผู้ใช้ไอคอสจะรับสารอันตรายที่ลดลง เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยงที่เรียกว่า Modified Risk Tobacco Products (MRTP) ซึ่งชัดเจนว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ปกติ”   

“ถ้ามันอันตรายอย่างที่มีการกล่าวอ้าง คงไม่มีประเทศไหนให้ขาย เราอาจจะได้ยินแต่ข้อมูลจากหมอกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ถ้ามีโอกาสเราน่าจะนำเรียนข้อมูลที่ถูกต้องให้ทราบ” นายชัยวุฒิ กล่าว

ในยุคที่สังคมเรียกร้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ ที่ก่อนหน้านี้มักจะพูดกันแค่การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมบุหรี่ ความคิดเห็นที่แตกต่าง และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “การควบคุมยาสูบแบบลดสารอันตรายในบุหรี่” หรือ (TOBACCO HARM REDUCTION) ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก นำโดย สหราชอาณาจักร, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ เหล่านี้ น่าจะเป็นแนวทางให้ภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายนำไปพิจารณาร่วมกับการดำเนินนโยบายควบคุมยาสูบที่หน่วยงานสาธารณสุขในไทยยังทำกันอยู่ เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากสารอันตรายจากบุหรี่ให้กับผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยได้