Saturday, 14 September 2024
TodaySpecial

7 กันยายน พ.ศ. 2445 ประเทศไทยประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ แบบแรกอย่างเป็นทางการ

วันนี้เมื่อ 121 ปีก่อน ประเทศไทยได้ประกาศใช้ธนบัตรแบบแรก เป็นธนบัตรหน้าเดียว มี 5 ราคา คือ 5, 10, 20, 100 และ 1,000 บาท พิมพ์โดย บ.โทมัส เดอลารู แห่งอังกฤษ มีอักษรแจ้งมูลค่าเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ และมลายู

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 120 ปีที่แล้ว 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ประเทศไทย ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

และต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น นั่นก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ติดต่อไปยังบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444 และใช้ต่อเนื่องมา จนได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 นั่นเอง โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท

8 กันยายน พ.ศ. 2565 ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

ครบรอบ 1 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

สำหรับพระราชประวัติของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้น พระองค์ทรงพระประสูติ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1926 ทรงเป็นพระประมุขของ 15 ประเทศ จาก 53 รัฐ สมาชิกในเครือจักรภพแห่งชาติ และทรงเป็นประธานเครือจักรภพและประมุขสูงสุดแห่ง คริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England)

พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์เเรกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เเละสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี พระราชบิดาเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี

พระราชบิดาของพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 พระปิตุลาของพระองค์ ได้ทรงสละราชสมบัติ ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (พระยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทโดยสันนิษฐานแห่งสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา

หลังจาก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาสวรรคต ในคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี เเห่งยอร์ก จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 25 พรรษา

แม้ว่าเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว แต่ก็เป็นเวลาอีก 16 เดือนกว่าจะถึงพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษกของพระองค์ โดยพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วโลก

ในพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก พระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวอังกฤษว่า

“ในพิธีบรมราชินยาภิเษกวันนี้ ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้าพเจ้าพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อประชาชนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ให้ช่วยสวดภาวนาให้ข้าพเจ้า ในวันที่ข้าพเจ้าต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์เเห่งอังกฤษ สวดภาวนาให้พระเป็นเจ้าประทานพระปัญญาญาณเเละความเข้มเเข็งให้ข้าพเจ้าสามารถปฏิบัติราชกิจลุล่วงตามที่ข้าพเจ้าได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้ เเละข้าพเจ้าพร้อมรับใช้พระเป็นเจ้าเเละประชาชนของข้าพเจ้าทุกคน ตลอดที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจ”

พระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐบริเตนที่ทรงราชย์นานที่สุด แซงหน้ารัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระปัยกา (ทวด) ของพระองค์ และเป็นพระราชินีนาถที่ทรงราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์

พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายชาลส์ ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เจ้าชายแห่งเวลส์’ ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1948 พระองค์ที่สองเป็นพระราชธิดา มีพระนามว่าเจ้าหญิงแอนน์ ประสูติเมื่อปี 1950 ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ราชกุมารี’ พระราชโอรสพระองค์ที่สามคือเจ้าชายแอนดรูว์ ประสูติเมื่อปี 1960 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ดยุกแห่งยอร์ก’ และพระราชโอรสพระองค์เล็กคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งประสูติในปี ค.ศ. 1964 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์’

และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 สำนักพระราชวังประกาศว่าสมเด็จพระราชินีทรงประชวร และอยู่ภายใต้การเฝ้ารักษาพระวรกายอย่างใกล้ชิดที่บาลมอรัล โดยในประกาศระบุว่า “คณะแพทย์ประจำพระองค์มีความกังวลต่อพลานามัยของพระองค์เป็นอย่างมาก และได้แนะนำให้พระองค์อยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้พระองค์ประทับอยู่โดยสบายที่บาลมอรัล” โดยมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสี่ของพระองค์ พร้อมด้วยพระสุณิสา เสด็จไปพร้อมกับพระองค์ และในช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักพระราชวังได้ประกาศว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

9 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ 'สมัคร สุนทรเวช' พ้นนายกรัฐมนตรี 

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน ศาลธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ให้ ‘สมัคร สุนทรเวช’ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีการจัดรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรายการ ‘ยกโขยงหกโมงเช้า’

วันที่ 9 กันยายน ปี พ.ศ. 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้น ออกบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีการจัดรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรายการ ‘ยกโขยงหกโมงเช้า’

โดยประเด็นนี้ เกิดขึ้นจากการที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหาในขณะนั้น พร้อมคณะ สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด และหากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)

ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัครกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 267 และมาตรา 182 วรรค 1 เนื่องจากการที่เขาได้รับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ รายการโทรทัศน์ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่ากระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วยตามมาตรา 180 วรรค 1 แต่ในระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะรักษาการในตำแหน่งไปก่อน จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่

10 กันยายน พ.ศ. 2463  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ อภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พันเอก (พิเศษ) จอมพลเรือ นายแพทย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (1 มกราคม พ.ศ. 2435 - 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบรมราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ

และในขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 นั้นเอง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และ สหรัฐอเมริกา เพื่อทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน ก่อนจะประสูติพระโอรสและพระธิดารวม 3 พระองค์

11 กันยายน พ.ศ. 2544  เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชน ‘เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์’

วันนี้เมื่อ 22 ปีก่อน เกิดเหตุวินาศกรรมช็อคโลก หลังผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน 4 ลำ พุ่งชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอน

11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 1 (1 World Trade Center) ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมาลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2 (2 World Trade Center) ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก

จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึกเพนตากอน (Pentagon) ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน และเวลา 10.37 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็ตกที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย

จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 3 พัน โดยเป็นผู้โดยสารลูกเรือรวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบินทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คนและตำรวจอีก 60 คน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน

เหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ได้ออกมาแถลงการณ์ว่ามันเป็นการกระทำของอสูรร้าย พร้อมทั้งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเกือบ 5 พันคนออกแกะรอยผู้ต้องสงสัยทั่วประเทศ ได้ตัวผู้ต้องสงสัยชาวอาหรับจำนวน 19 คน โดยมีโอซามา บินลาเดน (Osama Binladen) ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะ (al-Qaeda) เป็นเบอร์หนึ่ง แม้บินลาเดนจะออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนี้ แต่ก็ดีใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับอเมริกา

‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ แถลงนโยบาย  หลังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สมัยแรก

ย้อนไปในวันนี้ เมื่อ 9 ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบาย 11 ด้าน ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ สมัยแรก

เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลชุดนี้มีข้อแตกต่างด้านเงื่อนไขและเวลา ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ คือ ต้องสืบทอดสานต่อภารกิจจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศไว้ก่อนแล้วเป็น 3 ระยะ และรัฐบาลนี้ไม่ได้จัดตั้งขึ้นจากพรรคการเมืองจึงไม่มีนโยบายที่ใช้หาเสียง หวังคะแนนประชานิยม เป็นฐานทางการเมือง

สำหรับนโยบายที่แถลงนั้น จำแนกเป็น 11 ด้าน ดังนี้

1. การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

2. การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ แบ่งเป็น
2.1ระยะเร่งด่วน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
2.2 เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
2.3 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ และระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย
2.4 เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศบนหลักการนโยบายการต่างประเทศ

3. การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ

4. การศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

5. การยกระดับคุณภาพ และบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน

6. การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

7. การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน

8. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม

9. การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

10. การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และ

11. การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระยะเฉพาะหน้า

13 กันยายน พ.ศ. 2528 นินเทนโด เปิดตัว ‘ซูเปอร์ มาริโอ’ ก่อนเป็นวิดีโอเกมฮิตครองใจคนทั่วโลก

วันนี้เมื่อ 38 ปีก่อน นินเทนโด (Nintendo) บริษัทเกมของญี่ปุ่นเปิดตัววิดีโอเกม ‘ซูเปอร์ มาริโอ’ (Super Mario Bros.) เป็นครั้งแรก

เกมซูเปอร์ มาริโอ เวอร์ชันแรกใช้กับเครื่องเล่นวิดีโอเกมขนาด 8-Bits รุ่น Nintendo Entertainment System (NES) ต่อมาได้รับความนิยมอย่างสูง จนนินเทนโดต้องออกภาคต่อตามมาอีกหลายภาค และพัฒนาให้สามารถเล่นได้กับเครื่องเล่นเกมประเภทใหม่ ๆ เช่น เกมบอย เพลย์สเตชัน หรือในคอมพิวเตอร์ 

เกมซูเปอร์ มาริโอ ออกแบบโดย ชิเกรุ มิยาโมโต (Shigeru Miyamoto) ส่วนภาคของเสียงออกแบบโดย โคจิ คอนโดะ (Koji Kondo) เป็นเกมประเภท ‘Platform game’ คือแบ่งออกเป็นฐานต่าง ๆ จากง่ายไปยาก โดยมีตัวละครเอกเป็นช่างประปาชาวอิตาลีสองคนคือ ‘มาริโอ’ (Mario) ชุดสีแดง และ ‘ลุยยี’ (Luigi) ชุดสีเขียว ผู้เล่นจะต้องพามาริโอหรือลุยยีฝ่าอาณาจักรเห็ด ดำน้ำ เหินฟ้า ต่อสู้กับเต่าหนาม เต่าบิน มังกร ดอกไม้กินคน ปลาปักเป้า ฯลฯ เพื่อไปช่วยเหลือ เจ้าหญิงลูกท้อ (Princess Peach) แต่ละด่านจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่าศัตรูก็เก่งขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ซูเปอร์มาริโอนับเป็นวิดีโอเกมสุดฮิตที่เด็ก ๆ เกือบทุกคนทั่วโลกจะต้องเคยเล่น จนกลายเป็นวิดีโอเกมขายดีตลอดกาล

14 กันยายน พ.ศ. 2485 ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันเป็นวันแรก แสดงถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

วันนี้เมื่อ 81 ปีก่อน 14 กันยายน พ.ศ. 2485 ประชาชนชาวไทยยืนตรงเคารพธงชาติไทยครั้งแรก ในเวลา 08.00 น. และ เวลา 18.00 น. หลังก่อนหน้านี้มีการกำหนดเป็นกฎหมาย แต่ไม่ได้รับความนิยม

ปีพ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีเพลงชาติเป็นครั้งแรก แต่ยังคงใช้ชื่อว่า ‘เพลงชาติสยาม’ (เปลี่ยนชื่อเป็น เพลงชาติไทย ปี พ.ศ. 2482) และในปีต่อมา คือ พ.ศ. 2478 ทางราชการก็ได้ประกาศกฎหมายให้ประชาชนยืนเคารพธงชาติในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น. แต่ในสมัยนั้นกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมและไม่มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร

จนในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อรายการวิทยุนายมั่น นายคง ซึ่งเป็นรายการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อโฆษณาแนวคิดรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีการนัดหมายประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2485 เป็นวันแรก โดยภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้กล่าวผ่านทางวิทยุกระจายเสียงในทำนองว่า ตนเองรู้สึกสบายใจ และพบความเป็นไทยมากขึ้น รวมทั้งประณามคนที่ไม่เคารพธงชาติไทยว่า เป็นผู้คิดทรยศต่อชาติ เท่ากับการด่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระพุทธเจ้า เนื่องจากสีของธงชาติไทยมีสีแทนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็มีการทำตามมาจนถึงปัจจุบัน

15 กันยายน ของทุกปี วัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย

15 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน ‘ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้บุกเบิกวงการศิลปกรรมของไทยให้ก้าวหน้าสู่สากล และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2435 ในเขตซานโจวานนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของ อาตูโด เฟโรชี และซานตินา เฟโร มีบุตร 2 คน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2505 รวมอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

เป็นบุคคลที่มีใจรักในศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ท่านก็สามารถส่งเสียตัวเองจนเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับที่ 1 และสามารถสอบเข้าเป็นศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2466 เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรก มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน

แม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ศิลป จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็น ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยนานัปการ

16 กันยายน พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ

วันนี้ เมื่อ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 101 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

กันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top