Saturday, 12 October 2024
TodaySpecial

27 กันยายน พ.ศ. 2448 ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ เสนอสมการก้องโลก ‘E=mc2’ เป็นครั้งแรก

วันนี้ เมื่อ 118 ปีก่อน เผยแพร่บทความเรื่อง ‘Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content ?’

วันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เผยแพร่บทความเรื่อง ‘Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content ?’ (จริงหรือไม่ที่ความเฉื่อยขึ้นอยู่กับพลังงานภายในของวัตถุ) เป็นครั้งแรก ซึ่งได้นำเสนอสมการก้องโลก E=mc2 สมการนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมวลและพลังงาน อธิบายได้ว่า เมื่อให้พลังงานกับมวลเพื่อให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น มวลนั้นก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นด้วย จากทฤษฎีนี้ทำให้นำสู่ผลที่ว่าไม่มีอะไรเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง หลักการนี้จึงเป็นหลักการเบื้องต้นของ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป’ (theory of relativity) 

แม้ว่าไอน์สไตน์จะใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ในการสร้างผลงานปฏิวัติโลกด้วยผลงานเด่น ๆ 3 ผลงานในปีนี้ คือ ‘ปรากฏการณ์โฟโตอิเลกตริก’ (Photoelectric Effect) ‘การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน’ (Brownian Motion) และ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (special relativity) แต่โลกต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษเพื่อทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าในผลงานเหล่านี้ 

ต่อมาได้มีการประกาศให้ปี 2448 เป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์และในปี 2548 วงการวิทยาศาสตร์โลกได้ประกาศให้เป็น ‘ปีฟิสิกส์โลก’ (World Year of Physics 2005) และมีการจัดงานฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษปีมหัศจรรย์ไอน์สไตน์

28 กันยายน พ.ศ. 2549 สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการเป็นทางการครั้งแรก

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ หลังจากใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างนาน 45 ปี

สนามบินสุวรรณภูมิ มีชื่อเดิมว่า สนามบินหนองงูเห่า ตั้งอยู่บน ถ.บางนา-ตราด ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัท ลิชฟิลด์ มาศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2503 เนื่องจากต้องการให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยแทนท่าอากาศยานดอนเมืองและตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการบินในทวีปเอเชีย

สำหรับของสนามบินสุวรรณภูมิ มีความหมายว่า ‘แผ่นดินทอง’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 

29 กันยายน ตรงกับ ‘วันหัวใจโลก’ หวังให้คนตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ

วันที่ 29 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันหัวใจโลก’ จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของโรคหัวใจ

วันหัวใจโลก (World Heart Day) ตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของโรคหัวใจ เนื่องจากสถานการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรโลก จึงควรรณรงค์ให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญในการดูแลและป้องกัน 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และพันธุกรรม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม จึงร่วมรณรงค์ให้ทุกคนดูแลหัวใจตนเองให้แข็งแรง

ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ‘หัวใจ’ เป็นอวัยวะสำคัญ ที่ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจละเลยไป คือการดูแลรักษามัน ขณะเดียวกันมีกิจกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวันที่เป็นการทำร้ายหัวใจโดยที่ไม่ได้คาดคิด ยกตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารแบบผิด ๆ การไม่ออกกำลังกาย หรือการคิดมากจนทำให้เกิดความเครียด เป็นต้น

30 กันยายน พ.ศ. 2511 ยกเลิก 'รถราง' ในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการรถรางในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง จากการที่ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

กิจการเดินรถราง เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายจอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก ของพระบรมราชานุญาตเดินรถราง จนเปิดการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ และเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวลาต่อมา รถรางถูกพัฒนาจากการใช้ม้าลาก เป็นการใช้ไฟฟ้าลาก ซึ่งก็ถือเป็นรถรางระบบไฟฟ้าชาติแรกในเอเชียอีกด้วย กิจการรถรางถูกเปลี่ยนมือหลายครั้งระหว่างการเปิดให้บริการ จนกระทั่งถูกโอนเป็นกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และมีเส้นทางเดินรถรางทั่วกรุงเทพฯ 11 สาย

แต่อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น รถรางเสื่อมความนิยม ทางการจึงค่อย ๆ ยกเลิกรถรางทีละสาย จนยกเลิกทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ. 2511

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

วันนี้ เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเนศวร สุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 วันเกิด ‘มหาตมะ คานธี’ มหาบุรุษแห่งสันติภาพ

2 ตุลาคม วันเกิดมหาตมะ คานธี ครบรอบ 154 ปี มหาบุรุษแห่งสันติภาพ ผู้นำคนสำคัญ ในการเรียกร้องเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย

โมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี หรือ มหาตมะ คานธี เกิดวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1869) ที่จังหวัดโพรบันดาร์ รัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในตระกูลชนชั้นสูง พ่อเป็นข้าราชการ และมารดาเป็นแม่บ้านที่เคร่งศาสนา และมักปลูกฝังแนวคิดหลักจริยธรรมฮินดู การบริโภคมังสวิรัติ ความแตกต่างทางศาสนา การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และการไม่ใช้ความรุนแรงให้คานธี

ในวัยเด็กเขาไม่ใช่คนเรียนเก่ง หรือมีความสามารถพิเศษโดดเด่นชัดเจน ครอบครัวจึงให้เขาไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าอาณานิคม เพื่อโอกาสทางการงานที่ดีในอนาคต คานธีในวัย 18 ปีจึงเดินทางไปอังกฤษ และเข้าเรียนนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London)

เมื่อเรียนจบ คานธีได้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ที่ชาวอินเดียอพยพไปทำงานกันมาก

ณ ประเทศแห่งนี้เขาได้พบประสบการณ์เหยียดสีผิวตั้งแต่เริ่มเดินทางมาถึง จากการที่เขาต้องการซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 แต่ถูกขับไล่ให้ไปนั่งชั้น 3 ทว่าคานธีนั้นไม่ยอม จึงถูกเจ้าหน้าที่จับโยนลงจากรถไฟ และเหตุการณ์ครั้งนี้ได้จุดประกายให้คานธีเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมนับตั้งแต่นั้น

ชื่อของ คานธี กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อครั้งถูกจับกุมฐานเป็นแกนนำการประท้วง และเดินขบวนต่อต้านการเรียกเก็บภาษีต่อผู้มีเชื้อสายอินเดีย ท้ายที่สุดอังกฤษถูกกดดันให้ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว ก่อนปล่อยตัวคานธีในเวลาต่อมา ข่าวเรื่องชัยชนะของคานธีถูกรายงานไปทั่วอังกฤษ กระทั่งกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

คานธี กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของอินเดียในการเรียกร้องให้อังกฤษปลดปล่อยตนออกจากการเป็นอาณานิคม ซึ่งช่วยนำอินเดียไปสู่ความเป็นอิสระ เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรงเพื่อสิทธิพลเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วโลก

ตลอดชีวิตของเขายังคงยึดมั่นในความเชื่อของเขาในการไม่ใช้ความรุนแรงแม้ภายใต้สภาวะที่กดขี่และเผชิญกับความท้าทายที่ดูเหมือนจะผ่านไม่ได้

2 ตุลาคม ของทุกปี ยังถูกกำหนดให้เป็น วันไม่ใช้ความรุนแรงสากล (International Day of Non-Violence) จากมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เนื่องจากวันนี้เป็นวันเกิดของ มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพชาวอินเดีย ผู้ที่ริเริ่มปรัชญาและหลักแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงการยุติความรุนแรง และเพื่อให้เกิดสันติสุขแก่สังคม มีความอดทนอดกลั้น และเข้าใจหลักการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างลึกซึ้งนั่นเอง

นายอานันท์ ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ได้กล่าวเมื่อครั้งการเสนอมติในสมัชชาใหญ่ ในนามของผู้สนับสนุนกว่า 140 คนเอาไว้ว่า การสนับสนุนมติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพต่อมหาตมะ คานธี ในระดับสากล และเพื่อเป็นการค้ำจุน หลักการและปรัชญาแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง

3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสบังคับสยาม ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แลกกับเมืองจันทบุรี ในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112

วันนี้ เมื่อ 130 ปีก่อน ฝรั่งเศสบังคับสยาม สละพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 นับเป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 2 

‘การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา’ จุดเริ่มต้นของ ‘วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112’ หรือ ‘กรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112’ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อกองทัพฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือแองกองสตองต์ และ เรือโกแมต์ โดยมีเรือสินค้า ‘เจ. เบ. เซย์’ เป็นเรือนำร่อง รุกล้ำฝ่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา 

โดยหมู่ปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและหมู่เรือรบซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทยได้ยิงสกัดถูกเรือสินค้าเสียหาย เรือรบของฝรั่งเศสจึงยิงตอบโต้ โดนเรือมกุฎราชกุมารของไทยเสียหาย และทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 40 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บอีก 3 นาย จากนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองก็แล่นฝ่าเข้ามาที่สถานกงสุลฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง 

โดยผลจากการปะทะกันครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้บังคับให้สยามลงนามใน ‘สนธิสัญญาสันติภาพ’ ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นการทำสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

โดยสาระสำคัญเป็นข้อกำหนดที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นเอง เช่น ให้สยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิ์อยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น ห้ามมิให้มีเรือติดอาวุธไว้ใช้ หรือเดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ รวมทั้งบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร 

โดยให้บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรี ขออารักขาเมืองจันทบุรี ให้ลงโทษบุคคลที่เป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสียชีวิตของทหารฝรั่งเศสในคำม่วนโดยมีคนของฝรั่งเศสเข้าร่วมพิจารณาตัดสินด้วย และที่สำคัญในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ให้ใช้ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น

นอกจากนี้สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้สยามชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวน 3 ล้านฟรังก์ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1,560,000 บาท ในสมัยนั้น บังคับให้รัฐบาลสยามยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดถึงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทั้งหมด เป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร และฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่า 10 ปี (ระหว่างปี 2436-2447) จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ ผลจากกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสครั้งนี้ทำให้สยามต้อง เสียดินแดนเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งนับเป็นการเสียเนื้อที่ครั้งใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ กรณีพิพาทดังกล่าว ได้กลายเป็นชนวนสงครามความขัดแย้งขึ้นอีกครั้งบนคาบสมุทรอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียยบูรพาอีกด้วย

4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนา ‘กรุงธนบุรี’ เป็นราชธานี

วันนี้ เมื่อ 253 ปีก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ มีนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร 

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี  2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมกำลังพลและกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรี ล่องมาตามชายฝั่งจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงต่อสู้โจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครองได้ ในเวลาเพียง 7 เดือน จากนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศมาประกอบพิธีโดยสังเขปและพระราชเพลิงพระบรมศพเรียบร้อย

จากนั้นพระองค์ได้เสด็จสำรวจความเสียหายของบ้านเมือง และประทับแรมในพระนคร ณ พระที่นั่งทรงปืน ทรงพระสุบินนิมิตว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา “มาขับไล่ไม่ให้อยู่” พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเล่าให้ขุนนางทั้งหลายฟัง แล้วดำรัสว่า

“เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเป็นป่า จะ มาช่วยปฏิสังขรณ์ทํานุบํารุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิม ท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด แล้วตรัสสั่งให้เลิกกองทัพกวาดต้อนราษฎร แลสมณพราหมณาจารย์ ทั้งปวงกับทั้งโบราณขัติยวงษ์ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น ก็เสด็จกลับลงมาตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี”

เรื่องเมืองธนบุรีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงความคิดเห็นไว้ว่า
“…ที่เจ้าตากลงมาตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี ครั้งนั้นเหมาะแก่ประโยชน์ทุกอย่าง ถ้าหากว่าสมเด็จพระอดีตมหาราชได้มาขับไล่เจ้าตากมิให้ตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ก็ขับไล่ด้วยไมตรีจิต ตักเตือนมิให้พลาดพลั้งไปด้วยเห็นแก่เกียรติยศ

เพราะกรุงศรีอยุธยาถึงเป็นที่มีชัยภูมิด้วยลําน้ำล้อมรอบ และเป็นเมืองมีป้อมปราการมั่นคงก็จริง แต่รี้พลของเจ้าตากที่มีอยู่ไม่พอจะรักษากรุงศรีอยุธยาต่อสู้ข้าศึก และขณะนั้นศัตรูก็ยังมีมาก ทั้งพม่าและไทยก๊กอื่นอาจจะยกมาย่ำยีในเมื่อหนึ่งเมื่อใด กรุงศรีอยุธยาอยู่ในทางที่ ข้าศึกจะมาถึงได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ ถ้ามีกําลังไม่พอรักษา ขืนตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาก็คงเป็นอันตราย

การที่ลงมาตั้งอยู่เมืองธนบุรีก็ไม่ห่างไกลกับกรุงศรีอยุธยา มีอํานาจอยู่ที่เมืองธนบุรีก็เหมือนมีอํานาจอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่ได้เปรียบที่เมืองธนบุรีตั้งอยู่ที่ลําน้ำลึกใกล้ทะเล แม้ข้าศึกมาทางบกไม่มีทัพเรือเป็นกําลังด้วยแล้วก็ยากที่จะมาตีเมืองธนบุรี”

ภายหลังเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบชุมนุมต่างๆ แล้ว พระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองธนบุรี ขึ้นราชธานีแห่งใหม่ ทรงสร้างพระราชวังขึ้นทางทิศใต้ของกรุงธนบุรี ขนาบข้างด้วยวัดแจ้ง หรือวัดมะกอก (ปัจจุบันคือ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร) และวัดท้ายตลาด (ปัจจุบันคือวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313 พระราชทานนามว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร”

5 ตุลาคม ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ รำลึกพระอัจฉริยภาพ ในหลวง ร. 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย

วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และทรงได้มีพระราชดำรัสแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมของ ‘โครงการแกล้งดิน’ ที่ไม่มีใครทำมาก่อนและทั้งนี้ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ทำเป็นตำรา คือ ‘คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร’ สำหรับที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ ต่อไป

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ จากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้

1. เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น 'พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย'
2. ให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันนวัตกรรมแห่งชาติ'

6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลก เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร

วันนี้ เมื่อ 64 ปีก่อน กัมพูชา ยื่นฟ้องต่อศาลโลก เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลกัมพูชา นำโดย เจ้านโรดม สีหนุ ได้ยื่นฟ้องต่อ ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือ เขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย โดยอ้างว่าประเทศไทยละเมิดอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารซึ่งเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา และขอเรียกร้องให้คืนอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารคืนแก่กัมพูชา 

การไต่สวนพิจารณาคดียาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา 

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกปิด ๆ เปิด ๆ ให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top