Tuesday, 1 July 2025
TodaySpecial

21 มิถุนายน พ.ศ. 2526 วันก่อตั้งบริษัท ‘ชินวัตร คอมพิวเตอร์’ จุดเริ่มต้นอาณาจักรเทคโนโลยีของ 'ทักษิณ ชินวัตร'

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2526 นายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ได้ก่อตั้งบริษัท “ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน)” ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกเพียง 20 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมในยุคที่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ต่อมาในปี 2542 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น “ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ “ชินคอร์ป” โดยขยายธุรกิจครอบคลุมทั้งการสื่อสารดาวเทียมผ่านบริษัทไทยคม, ธุรกิจโทรคมนาคมผ่านบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และธุรกิจสื่อ-โฆษณาอีกหลายแขนง

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 เมื่อครอบครัวชินวัตรขายหุ้นชินคอร์ป 49% ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิงส์ (Temasek Holdings) กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องเสียภาษี ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง และนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

ปัจจุบัน 'ชินคอร์ป' ได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'อินทัช โฮลดิ้งส์' (Intouch Holdings) และยังคงดำเนินธุรกิจในหลากหลายสาขา เช่น การสื่อสารโทรคมนาคมผ่าน AIS, ดาวเทียมผ่านไทยคม, ธุรกิจการเงิน และการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยบริษัทนี้ยังถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยยุคใหม่

22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 วันมรณภาพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเกจิแห่งวัดระฆังฯ ผู้เปลี่ยนธรรมะให้เข้าถึงใจประชาชน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก เวลาเที่ยง ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

สมเด็จโตสมภพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น บ้านท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จโตออกธุดงค์ตามป่าเขาเพื่อฝึกจิตอย่างต่อเนื่องถึง 15 ปี ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 และท่านยังเป็นผู้ค้นพบคัมภีร์ 'คาถาชินบัญชร' ซึ่งภายหลังกลายเป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยนิยมจนถึงปัจจุบัน

แม้มรณภาพไปนานกว่า 150 ปีแล้ว แต่ชื่อเสียงของสมเด็จโตยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวไทยในฐานะพระเกจิผู้มีปรีชาธรรมลึกซึ้ง มีเมตตาธรรม และเป็นสัญลักษณ์ของพระสงฆ์ผู้ทรงธรรมที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาอย่างมั่นคงไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะพระเครื่อง 'สมเด็จวัดระฆัง' ที่ท่านปลุกเสก ถือเป็นหนึ่งในเบญจภาคีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในวงการพระเครื่องไทย

23 มิถุนายน พ.ศ.2561 รำลึก 7 ปี ภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า ติดอยู่ใน ‘ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน’ ที่ทั้งโลกจดจำได้ดี

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2561 วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ได้รับแจ้งว่าเด็กนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมี่ พร้อมโค้ช รวม 13 คน หายตัวไปภายในถ้ำหลวง หลังเดินทางเข้าไปเที่ยวตั้งแต่ช่วงเย็นของวันดังกล่าว

เหตุการณ์กลายเป็นปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือครั้งใหญ่ที่กินเวลารวม 221 ชั่วโมง 41 นาที หรือ 17 วันเต็ม โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศระดมกำลังเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มืดมิด น้ำท่วม และอันตรายสูง

ความพยายามจนนำไปสู่การพบทั้ง 13 ชีวิตในวันที่ 2 กรกฎาคม และสามารถทยอยช่วยเหลือทั้งหมดออกมาได้สำเร็จภายในวันที่ 10 กรกฎาคม โดยหนึ่งในผู้เสียสละคือ 'จ่าแซม' นาวาตรีสมาน กุนัน อดีตหน่วยซีล ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่วางถังอากาศในถ้ำ

เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรบุรุษผู้กล้า อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินสราวุฒิ คำมูลชัย ได้ร่วมกันสร้างรูปปั้นนาวาตรีสมาน ขนาดใหญ่สองเท่าของมนุษย์หล่อด้วยบรอนซ์ สูง 3.2 เมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร มีหมูป่า 13 ตัวล้อมรอบฐานเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนหมูป่าและโค้ช โดยรูปปั้นนี้ได้ถูกนำไปตั้งไว้ที่วัดร่องขุ่น ก่อนเคลื่อนย้ายไปยังหน้างานอนุสรณ์สถานถ้ำหลวงเมื่อเดือนธันวาคม 2561

นอกจากนี้ โครงการอนุสรณ์ถ้ำหลวงยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่สวนภูมิทัศน์ สระมรกต และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ รอบอนุสรณ์สถานจ่าแซมมีพิธีทำบุญปีละครั้ง ทั้งนี้ ความทรงจำเกี่ยวกับความสามัคคี การเสียสละ และมิตรภาพระหว่างชาติยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกไม่ลืมเหตุการณ์นี้จนถึงทุกวันนี้

24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 พิธีวางศิลาฤกษ์ ‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ อนุสรณ์แห่งเกียรติยศและการต่อสู้เพื่อชาติ

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เหล่าวีรชนไทยที่เสียชีวิตจากกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยมีรายชื่อวีรบุรุษผู้กล้าหาญจำนวน 160 นาย จารึกไว้เพื่อรำลึกถึงความเสียสละของพวกเขาในการปกป้องอธิปไตยของชาติ

พิธีวางศิลาฤกษ์จัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 โดยมี พลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นประธานในพิธี พร้อมจารึกคำปรารภในศิลาฤกษ์ว่า “ขอให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นถาวรวัตถุ ที่ระลึกถึงเกียรติของผู้เสียสละแล้วซึ่งชีวิต เพื่อประเทศชาติสืบไป”

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินพิธีในนามคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พร้อมสุนทรพจน์แสดงความรำลึกในเกียรติและความกล้าหาญของวีรชนไทย

ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญของชาวไทย แต่ยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมสำคัญของกรุงเทพฯ ที่เชื่อมต่อระบบขนส่งหลากหลายรูปแบบ ทั้งรถไฟฟ้า BTS รถโดยสารประจำทาง รถตู้โดยสาร และรถตู้ต่างจังหวัด สามารถเดินทางไปยังจุดสำคัญทั่วเมือง รวมถึงสนามบินดอนเมือง รังสิต นนทบุรี ปากเกร็ด นครปฐม สายใต้ใหม่ และปลายทางอีกมากมาย

ด้วยประวัติศาสตร์อันลึกซึ้งควบคู่กับบทบาทในการเดินทางของประชาชน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จึงถือเป็นทั้ง “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” และ “จุดศูนย์กลางชีวิตเมือง” ที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ ๖ เสด็จฯ ทรงเปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ กลายเป็นตำนาน ‘หัวลำโพง’ ศูนย์กลางคมนาคมไทย

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ทรงเปิด “สถานีรถไฟกรุงเทพ” อย่างเป็นทางการ แต่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “หัวลำโพง” สันนิษฐานว่ามาจากชื่อคลอง “ทุ่งวัวลำพอง” ที่มีฝูงวัววิ่งกันคึกคะนอง หรือเพี้ยนมาจาก “ต้นลำโพง” ซึ่งเคยขึ้นหนาแน่นในย่านนี้

การก่อสร้างเริ่มต้นปี 2453 ปลายรัชกาลที่ 5 โดยสถาปนิกชาวอิตาลี มาริโอ ตามานโญ ใช้สไตล์โดมอิตาเลียนผสมศิลปะเรอเนซองซ์ ได้แรงบันดาลใจจากสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ตัวอาคารครอบคลุมพื้นที่ราว 120 ไร่ ด้านหน้าเป็นสวนและน้ำพุอุทิศพระพุทธเจ้าหลวง ภายในประดับหินอ่อน เพดานสลักลายนูนและติดกระจกสีช่องระบายอากาศอย่างกลมกลืน พร้อมนาฬิกาโถงใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร

สถานีหัวลำโพงจึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางทางรางแห่งแรกของประเทศ รองรับรถไฟราว 200 ขบวนต่อวัน ครอบคลุมเส้นทางสายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ เชื่อมผู้โดยสารจากทุกภูมิภาคเข้าสู่กรุงเทพฯ มากว่าศตวรรษ

ปัจจุบันแม้มีการพัฒนาสถานีหลักแห่งใหม่ย่านบางซื่อ หัวลำโพงยังทำหน้าที่สำคัญ ทั้งให้บริการรถไฟระยะสั้น–ระยะไกล เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร (MRT สายสีน้ำเงิน) และยังคงคุณค่าทั้งด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ในฐานะสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

27 มิถุนายน พ.ศ. 2404 สยามส่งทูตฯ (แพ บุนนาค) พบ ‘นโปเลียนที่ 3’ ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศสถวาย ‘วัวกระทิง’ ชั้นเยี่ยม ตอบแทนมิตรไมตรี

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งคณะราชทูตนำโดยเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (แพ บุนนาค) เดินทางไปกรุงปารีส เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ถือเป็นภารกิจสำคัญที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศของสยามในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ของขวัญพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการครั้งนั้น คือเครื่องมงคลราชบรรณาการจำนวนมหาศาล ซึ่งมีบันทึกว่ารวมถึงพระบรมรูปและเครื่องราชูปโภคของใช้ส่วนพระองค์ ส่งผ่านเรือข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังยุโรป โดยมีการต้อนรับคณะทูตไทยอย่างอบอุ่นที่พระราชวังฟองเตนโบล ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2404 (ค.ศ. 1861)

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ก็ได้ตอบแทนด้วยราชบรรณาการแด่พระเจ้ากรุงสยาม หนึ่งในของขวัญที่ถูกกล่าวถึงมากคือ “วัวกระทิง” พ่อพันธุ์ชั้นเยี่ยมของฝรั่งเศส ซึ่งได้รับรางวัลจากงานเกษตรแห่งชาติในปีเดียวกัน คณะทูตไทยตั้งชื่อให้ว่า “ศาลาไทย” หวังนำกลับมาเพาะพันธุ์ในสยาม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองชาติ

สำหรับของขวัญประเภทสัตว์ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนั้น เพราะก่อนหน้านี้ รัชกาลที่ 4 ก็เคยมีพระราชดำริถวาย “ช้าง” แด่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับในประวัติศาสตร์จีนที่เคยมีการส่ง “ยีราฟ” เป็นบรรณาการมาแล้วเมื่อกว่า 400 ปีก่อน โดยแม้จะไม่แน่ชัดว่าวัวกระทิงตัวดังกล่าวรอดข้ามซีกโลกมาถึงกรุงเทพฯ หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็บ่งบอกถึงความตั้งใจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แนบแน่นในยุคนั้น

26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ย้อนรำลึกวันคล้ายวันเกิด ‘พระสุนทรโวหาร’ หรือ ‘สุนทรภู่’ ที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็น ‘กวีเอกโลก’ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เป็นวันคล้ายวันเกิดของ 'พระสุนทรโวหาร' หรือ 'สุนทรภู่' กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมไทยไว้อย่างทรงคุณค่า เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มต้นชีวิตการศึกษาที่วัดชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม) ย่านบางกอกน้อย และเริ่มต้นชีวิตราชการในกรมพระคลังสวน ก่อนจะเข้าสู่กรมอาลักษณ์ในสมัยรัชกาลที่ 2

แม้มีความสามารถด้านงานราชการ แต่สุนทรภู่มีใจรักการแต่งกลอนเป็นพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกจากเรื่องเมาสุรา ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงตัดสินใจบวช และหลังจากลาสิกขาได้ถวายตัวอยู่กับพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กระทั่งสิ้นที่พึ่ง จึงต้องเร่ร่อนและใช้ชีวิตอย่างยากลำบากด้วยการแต่งหนังสือขาย

ด้วยพรสวรรค์ด้านการประพันธ์ ในปี พ.ศ. 2394 สุนทรภู่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น 'พระสุนทรโวหาร' ผลงานสำคัญของเขามีมากมาย อาทิ พระอภัยมณี, นิราศภูเขาทอง, นิราศพระบาท ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลและได้รับความนิยมอย่างยาวนาน

จากผลงานที่เป็นคุณูปการต่อวัฒนธรรมและภาษาไทย องค์การยูเนสโกจึงประกาศยกย่องให้สุนทรภู่เป็น 'บุคคลสำคัญของโลก' ด้านวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2539 และในทุกวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ประเทศไทยยังถือเป็น 'วันสุนทรภู่' เพื่อรำลึกถึงกวีเอกผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้

28 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ‘วันทหารนาวิกโยธิน’ หน่วยรบที่เปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจ ดั่งเพลงมาร์ชราชนาวิกโยธิน ชูเกียรติยศและความจงรักภักดี

วันที่ 28 มิถุนายน 2502 เป็นวันที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือได้รับพระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ช “ราชนาวิกโยธิน” จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อทหารนาวิกโยธินทุกนาย และต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 28 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันทหารนาวิกโยธิน” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนี้

ความเป็นมาของวันทหารนาวิกโยธินเริ่มจาก นาวาเอก สนอง นิสาลักษณ์ อดีตผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน ที่ได้มีโอกาสรับใช้ในพระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นาวาเอกสนองร้องเพลงนาวิกโยธิน แต่ยังไม่มีเพลงประจำหน่วย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงจากพระองค์ท่าน

ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2502 พระองค์ได้พระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ช “ราชนาวิกโยธิน” แด่ทหารนาวิกโยธิน และหลังจากนั้นคณะนายทหารนาวิกโยธินได้ร่วมกันประพันธ์คำร้องจนกลายเป็นเพลงประจำหน่วยอย่างสมบูรณ์ นับเป็นสัญลักษณ์ความเข้มแข็งและความภาคภูมิใจของทหารนาวิกโยธิน

ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2502 วงโยธวาทิตของนาวิกโยธินสหรัฐและวงดุริยางค์ราชนาวี ได้บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์นี้เป็นครั้งแรก ณ สนามศุภชลาศัย และตั้งแต่นั้นเพลง มาร์ช “ราชนาวิกโยธิน” ก็กลายเป็นเพลงประจำหน่วยที่มีคุณค่าและความหมายลึกซึ้งสำหรับทหารนาวิกโยธินตลอดมา

29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 วันคล้ายวันประสูติ ‘เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์’ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระโอรสพระองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงประสูติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 ทรงเป็นต้นราชสกุลบริพัตร ทรงศึกษาชั้นต้นที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ก่อนจะเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษและเยอรมันในด้านวิชาทหาร รวมถึงวิชาดนตรีและการประพันธ์เพลง

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปี 2446 ขณะพระชนมายุ 23 พรรษา ทรงเริ่มรับราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และทรงสร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านการทหาร การปกครอง การสาธารณสุข และการศึกษา ทรงวางรากฐานสำคัญให้กับกองทัพเรือ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย

ในฐานะเสนาธิการทหารบก ทรงเปลี่ยนชื่อกรมอากาศยานทหารบกเป็นกรมอากาศยาน ทรงจัดหาเครื่องบินไว้ใช้ในราชการมากขึ้น จัดตั้งกองบิน สนามบินในต่างจังหวัด และเปิดสายการบินไปรษณีย์ทางอากาศ พร้อมทั้งส่งเสริมการบินในระดับประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมประชาชนบริจาคซื้อเครื่องบินเพื่อราชการอีกด้วย

นอกจากความโดดเด่นทางด้านทหารแล้ว พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถทางดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลงไทยและเพลงฝรั่งจำนวนมาก เช่น วอลซ์ปลื้มจิต และเพลงมหาโศก ได้รับพระนามว่า 'พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม' ในปี 2474 พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สิ้นพระชนมายุ 63 พรรษา

30 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ‘พงษ์ศักดิ์เล็ก’ ป้องกันแชมป์โลก WBC รุ่นฟลายเวท สมัยที่ 15!! ทุบสถิตินักชกเม็กซิกัน ที่ยืนยาวเกือบ 3 ทศวรรษ

พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์ หรือนายพงศกร วันจงคำ สร้างประวัติศาสตร์วงการมวยโลกในวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ด้วยการป้องกันแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBC (สมัยแรก) เป็นครั้งที่ 15 ได้สำเร็จ กลายเป็นนักชกที่ป้องกันตำแหน่งได้มากที่สุดในรุ่นนี้

การชกครั้งนี้จัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยพงษ์ศักดิ์เล็กเอาชนะน็อค เอเวอราโด โมราเลส (Everardo Morales) ผู้ท้าชิงชาวเม็กซิกัน ไปได้อย่างงดงามในยกที่ 4 ด้วยพลังหมัดที่เด็ดขาดและการชกอย่างชาญฉลาด

ชัยชนะในครั้งนั้นส่งผลให้พงษ์ศักดิ์เล็กทำลายสถิติเก่าของมิเกล คันโต (Miguel Canto) อดีตแชมป์โลกชาวเม็กซิกัน เจ้าของฉายา "El Maestro" ผู้เคยป้องกันแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBC ได้ 14 ครั้งระหว่างปี 1975–1979 โดยสถิติดังกล่าวยืนยาวมานานกว่า 27 ปี ก่อนจะถูกพงษ์ศักดิ์เล็กล้มลงอย่างสมศักดิ์ศรีในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 18 กับไดซูเกะ ไนโต (Daisuke Naito) นักชกชาวญี่ปุ่น เมื่อวัน 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ที่ญี่ปุ่นกลับไม่เป็นไปตามคาด แม้พงษ์ศักดิ์เล็กเคยเอาชนะมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้เขาประสบปัญหาการลดน้ำหนักหลายรอบก่อนชั่ง ทำให้สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ขณะที่ไนโตเตรียมตัวมาอย่างดี ใช้จังหวะเข้าทำเร็วและโผเข้ากอดบ่อยครั้งจนทำให้พงษ์ศักดิ์เล็กออกอาวุธไม่ถนัด ก่อนจะแพ้คะแนนเอกฉันท์ 115-113, 116-113, 116-113 อย่างพลิกความคาดหมาย

ความพ่ายแพ้นี้ทำให้สถิติการป้องกันแชมป์ต้องหยุดที่ 17 ครั้ง พลาดเป้าหมายป้องกันครบ 20 ครั้งที่ตั้งใจไว้ แต่ยังเพียงพอให้ชื่อของเขาถูกจารึกว่าเป็นนักชกที่ป้องกันแชมป์โลกรุ่นฟลายเวทได้มากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เทียบเท่ากับยู มย็อง-อู อดีตแชมป์โลกรุ่นไลท์ฟลายเวทของ WBA จากเกาหลีใต้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top