7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนอง ตีอาณาจักรอยุธยาแตก ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1
วันนี้เมื่อ 454 ปีก่อน พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ราชวงค์ตองอู ทรงตีอาณาจักรอยุธยาแตก ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอูเป็นเวลานาน 15 ปี พม่าเข้ายึดทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก
วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาตร์ เมื่อพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ราชวงค์ตองอู ทรงตีอาณาจักรอยุธยาแตก ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 โดยพระเจ้าบุเรงนองทรงนำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2111 ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก รวมทั้งหมด 7 ทัพ รวมจำนวนได้กว่า 500,000 นาย และยกทัพลงมาถึงพระนครในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
โดยให้พระมหาธรรมราชาเป็นกองหลังดูแลคลังเสบียง ทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่ไม่ห่าง การตั้งรับภายในพระนครส่งผลให้มีการระดมยิงปืนใหญ่ของข้าศึกทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่ตลอด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบว่าหัวเมืองทางเหนือเป็นของพม่าแล้ว จึงเตรียมรบอยู่ที่พระนคร นำปืนนารายณ์สังหารยิงไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งลุมพลี ทำให้ทหาร ช้าง ม้าล้มตายจำนวนมาก พม่าจึงถอยทัพมาตั้งที่บ้านพราหมณ์ให้พ้นทางปืน
พระเจ้าหงสาวดีจึงเรียกประชุมการศึก พระมหาอุปราชเห็นสมควรให้ยกทัพเข้าตีไทยทุกด้านเพราะมีกำลังมากกว่า แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นด้วยเพราะกรุงศรีอยุธยามีทำเลดีมีน้ำล้อมรอบ จึงสั่งให้ตีเฉพาะด้านตะวันออกเพราะคูเมืองแคบที่สุด
ฝ่ายพม่าพยายามจะทำสะพานข้ามคูเมืองโดยนำดินมาถมเป็นสะพาน พระมหาเทพนายกองรักษาด่านอย่างเต็มสามารถ โดยให้ทหารไทยใช้ปืนยิงทหารพม่าที่ขนดินถมเป็นสะพานเข้ามา ทำให้พม่าล้มตายจำนวนมากจึงถอยข้ามคูกลับไป
พระเจ้าบุเรงนองทรงพยายามโจมตีอยู่นานจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2112 ก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก โดยในภายหลังทรงย้ายค่ายเข้าไปใกล้กำแพงเมืองจนทำให้สูญเสียพลอย่างมาก ระหว่างการสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและสวรรคตในเวลาต่อมา โดยสมเด็จพระมหินทร์ขึ้นครองราชและทรงบัญชาการรบแทน
พระเจ้าบุเรงนองจึงถามพระมหาธรรมราชาว่าจะ ทำอย่างไรให้ชนะศึกโดยเร็ว พระมหาธรรมราชาทรงแนะว่าพระยารามเป็นแม่ทัพสำคัญหากได้ตัวมาการยึดพระนครจักสำเร็จ จึงมีสาสน์มาถึงพระอัครชายาว่า "...การศึกเกิดจากพระยารามที่ยุยงให้พี่น้องต้องทะเลาะกัน ถ้าส่งตัวพระยารามมา ให้พระเจ้าหงสาวดีจะยอมเป็นไมตรี..."
สมเด็จพระมหินทร์ฯ ทรงอ่านสาสน์แล้ว ปรึกษากับข้าราชการต่าง ๆ จึงเห็นสมควรสงบศึกเพราะผู้คนล้มตายกันมากแล้ว สมเด็จพระมหินทร์ฯมีรับสั่งให้ส่งพระสังฆราชออกไปเจรจาและส่งตัวพระยารามให้พระเจ้าบุเรงนองเพื่อเป็นไมตรี แต่พระเจ้าบุเรงนองตระบัดสัตย์ไม่ยอมเป็นไมตรี ทำให้สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงพิโรธโกรธแค้นในการกลับกลอกของพระเจ้าบุเรงนองอย่างมาก มีรับสั่งให้ขุนศึกทหารทั้งปวงรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง พระเจ้าบุเรงนองเห็นว่ายังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ จึงส่งพระมหาธรรมราชามาเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ แต่ถูกทหารไทยเอาปืนไล่ยิงจนต้องหนีกลับไป
พระเจ้าหงสาวดีจึงคิดอุบายจะใช้พระยาจักรีที่จับตัวได้เป็นประกันเมื่อครั้งสงครามช้างเผือกเป็นไส้ศึก จึงให้พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา แล้วแกล้งปล่อยตัวออกมา รุ่งเช้าพม่าทำทีเป็นตามหาแต่ไม่พบเลยจับตัวผู้คุมมาตัดหัวเสียบไว้ริมแม่น้ำเพื่อให้ไทยหลงกล
สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาการรบแทนที่พระยาราม ครั้นพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาพระนครแล้วจึงดำเนินการสับเปลี่ยนหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งการป้องกันพระนครอ่อนแอลง
พระยาจักรีได้ใส่ร้ายให้พระศรีสาวราชว่าเป็นกบฏจึงถูกสำเร็จโทษ เมื่อเห็นว่าได้เวลาอันควรพระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกด้าน และทำให้กองทัพพม่าเข้าสู่พระนครสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน โดยในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาและเปิดประตูเมือง ทำให้ทัพพม่าเข้ายึดพระนครสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู