Tuesday, 3 December 2024
TodaySpecial

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก สร้างที่โรงงานมักกะสัน ตามโครงการพัฒนาของการรถไฟฯ ปี 2510 - 2514

การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรกที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของการรถไฟฯ พ.ศ.2510 - 2514 ออกจากโรงงานมักกะสัน จำนวน 14 คัน ได้แก่ รถ บชส. 10 คัน และรถ บพห. (ข้างโถง) 4 คัน โดยมี พลเอกครวญ สุทธานินทร์ ประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย มาเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2511 

สำหรับโครงการ 5 ปีดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดสร้างรถโดยสาร 180 คัน และรถสินค้า 597 คัน เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 223.55 ล้านบาท ในการสร้างรถโดยสารนี้ จำนวนหนึ่งเป็นการสร้างตัวรถขึ้นใหม่ทั้งคัน และอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดโดยใช้โครงประธาน และแคร่โบกี้ของเดิมของรถโบกี้โดยสารที่ตัดบัญชีแล้ว นำมาสร้างตัวรถบนโครงประธานเหล่านี้ เรียกว่าประเภทรถ Rebuilt

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 เสด็จเยือนจังหวัดนครพนม ก่อเกิดภาพประวัติศาสตร์ ‘ดอกไม้แห่งหัวใจ’

วันนี้เป็นวันครบรอบ 69 ปี ของภาพเหตุการณ์ที่กลายมาเป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญภาพหนึ่ง ...ของประเทศเล็กๆ..บนโลกใบนี้ที่ชื่อว่าประเทศไทย กับภาพ ‘ดอกไม้แห่งหัวใจ’ ที่ตราตรึงอยู่ในใจคนไทยตลอดมา

วันนั้นเป็นหนึ่งวันในพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน 2498 โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2498 ทรงสร้างประวัติศาสตร์อย่างแรกคือทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯไปสักการะ พระธาตุพนม 

แต่ในวันเดียวกันนั้นยังเกิดภาพประทับใจ ที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี และถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึง 'ความอ่อนโยน' ( หรือ มทฺทวํ) ของพระผู้เป็นประมุขของประเทศ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ 

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากพระราชกรณียกิจภาคเช้าที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับมายังที่ประทับแรม ตลอดทางมีราษฎรมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามรายทางเป็นระยะ ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง เสด็จลงไปทักทายปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้นเป็นระยะ 

ที่สามแยกชยางกูร-เรณูนคร มีราษฎรอุ้มลูกจูงหลานมารอเฝ้าอยู่กลุ่มใหญ่ หนึ่งในนั้นคือครอบครัวจันทนิตย์ ที่บรรดาลูกหลานได้พา แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี(อายุในขณะนั้น) มาเฝ้าอยู่ ณ จุดนั้นด้วย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน 700 เมตร และได้หาดอกบัวสาย สีชมพูให้แม่เฒ่ามาถวาย 3 ดอก แล้วพาไปนั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ได้โอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท 

ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แม้ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ดอกบัวในมือของแม่เฒ่าเหี่ยวเฉา แต่ก็ไม่อาจจะแผดเผาให้หัวใจแม่เฒ่าวัย 102 ปีเหี่ยวเฉาไปได้ จะขอเฝ้าล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์สักครั้งในชีวิต 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงตรงหน้า แม่เฒ่ายกดอกบัวสายที่เหี่ยวทั้ง 3 ดอกนั้นขึ้นเหนือหัว แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง 

พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่า และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมืออันกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยน รับดอกบัวทั้ง 3 ดอกไว้ด้วยพระหัตถ์ 

ขอบพระคุณ ที่วินาทีนั้น คุณอาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้กดชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ไว้ได้ในนาทีประวัติศาสตร์ 

ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งกับแม่เฒ่าอย่างไร ภาพนี้ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ ทั้งสิ้น และบอกถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ที่ทรงมีกับราษฎรของพระองค์ ได้มากกว่าคำอธิบายใด ๆ เป็นล้านคำ 

หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว สำนักพระราชวังยังได้ส่งภาพนี้ พร้อมด้วยพระบรมรูปหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกด้วย และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แม่เฒ่าวัย 102 ปียังคงมีชีวิตยืนยาวอย่างชุ่มชื่นหัวใจต่อมาอีก 3 ปี 

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของพวกเราคงไม่เคยพบเห็นภาพ ประมุขหรือผู้นำของประเทศไหน ๆ ในโลกใบนี้ ได้แสดงออกถึงความรักและให้ความใกล้ชิดกับประชาชนของตนอย่างมากในลักษณะเช่นนี้อีกแล้ว ภาพนี้จึงมักเป็นภาพแรกๆ ที่ปรากฏในห้วงความทรงจำของคนไทยเมื่อยามที่ระลึกถึงพระองค์ท่าน....

14 พฤศจิกายน ของทุกปี วันพระบิดาแห่งฝนหลวง น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ร.9

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระองค์ทรงพบว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง ทำให้ทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า "สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่าของน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง" ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระราชหฤทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้า ไปรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้ง

จาก พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ เมื่อทรงมั่นพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระราชทานแนวคิดนี้แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยใช้พื้นที่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ทำให้กลุ่มเมฆทดลองมีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆทำให้เกิดการกลั่นรวมตัวกันอย่างหนาแน่น และต่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผล ก็ได้รับรายงานว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงเรื่อยมา 

จากการที่ทรงศึกษาค้นคว้า ทรงทดลองทางวิทยาศาสตร์ และปฏิบัติการทำฝนที่ประสบความสำเร็จมาโดยลำดับ โดยทรงประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีในการทำฝนเบื้องต้น และทรงบัญญัติคำศัพท์ การทำฝน 3 ขั้นตอน เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและการสื่อสารคือ 'ก่อกวน เลี้ยงอ้วน และโจมตี' โดยเฉพาะเทคนิคการโจมตีให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายอย่างแม่นยำ และเพิ่มปริมาณฝนตกให้สูงขึ้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกว่า เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิช (SANDWICH) และพระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีการทำฝนตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรม และราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง โดยในการปฏิบัติการนี้ ทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตีที่เรียกว่า 'เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH' อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีฝนหลวงที่สามารถกู้ภัยแล้งให้คืนสู่สภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง และพระราชทานให้ใช้เป็น 'ตำราฝนหลวงพระราชทาน' ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้ดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงมาตั้งแต่เริ่มแรกโครงการได้เสนอให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' ในการประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงจนประสบผลสำเร็จสามารถช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากภัยแล้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จนถึงปัจจุบัน

16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 121 ปี "คฑาจอมพล" องค์แรกของประเทศไทย กองทัพบกจัดทำ ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 กองทัพบกได้จัดทำพระคทาจอมพลขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในฐานะองค์จอมทัพไทย ในพระราชพิธีทวีธาภิเษก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีพระคทาจอมพล

พระราชพิธีทวีธาภิเษกเป็นการสมโภชการครองราชย์ของ รัชกาลที่ 5 ที่ยืนยาวเป็นสองเท่าของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบรมชนกนาถ โดยพระคทาจอมพลองค์แรกนี้มีรูปทรงกระบอก ยาว 35 เซนติเมตร ยอดคทาเป็นรูปหัวช้างสามเศียรลงยาสีขาว เหนือหัวช้างเป็นรูปพระเกี้ยว ส่วนปลายคทามีรูปทรงกระบอกตัด องค์คทาทำจากทองคำหนัก 40 บาท ใต้หัวช้างประดับลายนูนรูปหม้อกลศ

พระคทาจอมพลองค์นี้ทรงใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ตลอดรัชกาล และต่อมาได้รับการใช้สืบทอดโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

17 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 ในหลวง ร.9 เสด็จฯโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี อดีตโรงพยาบาลสนามสมัยพิพาทอินโดจีน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีเปิดอาคารผ่าตัดประชาธิปก และทรงเปิดป้ายนาม "โรงพยาบาลพระปกเกล้า" จ.จันทบุรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี มีประวัติยาวนาน เริ่มต้นด้วยการก่อสร้างอาคารในปี พ.ศ. 2482 โดยมีขนาดความจุ 50 เตียง เปิดทำการครั้งแรกในชื่อ "โรงพยาบาลจันทบุรี" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลสนามระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีนและให้การรักษาผู้บาดเจ็บกว่า 300 รายจากยุทธนาวีเกาะช้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนและได้ริเริ่มขยายโรงพยาบาลผ่านกองทุนของราชวงศ์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2498 โรงพยาบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” หลังการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่เสร็จสิ้น

ปัจจุบัน โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี สังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 886 เตียง

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทย จัดเลือกตั้ง สส.เป็นครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียว

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียวของไทย โดยเป็นการเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แถลงต่อสภาในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ว่าได้ปราบกบฏเสร็จสิ้นบ้านเมืองสงบแล้ว จึงสมควรจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

การเลือกตั้ง สส.ในปี 2476 นี้ นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เกิดขึ้นในตอนที่ประเทศไทยยังใช้ชื่อว่า สยาม ครั้งนั้น ประเทศไทยมีทั้งสิ้น 70 จังหวัด เป็นอัตราส่วนที่คิดจำนวนประชากรไม่สูงมาก เนื่องจากขณะนั้น ประชากรทั้งประเทศของสยามยังไม่ถึง 18 ล้านคน

มีการเลือกตั้งผู้แทนได้จังหวัดละ 1 คน ยกเว้นจังหวัดพระนคร (จังหวัดในอดีตของไทย ช่วงปี 2408-2515 ก่อนรวมกับจังหวัดธนบุรี เป็นกรุงเทพมหานคร) และจังหวัดอุบลราชธานี สามารถเลือกผู้แทนได้ 3 คน ส่วน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนครราชสีมา เลือกผู้แทนได้ 2 คน มีผู้แทนจากการแต่งตั้งอีก 78 คน รวมแล้วได้ 156 คน

การเลือกตั้งครั้งแรก มีผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 4,278,231 คน
มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.5
จังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือจังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82
จังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71

หลังการเลือกตั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกเอา พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (สมัยที่ 2)

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 96 ปี ดิสนีย์ เปิดตัว 'มิกกี้ เมาส์' ครั้งแรก 'เรือกลไฟวิลลี่' การ์ตูนที่มีดนตรี และเสียงพูดประกอบเรื่องแรกของโลก

Steamboat Willie หรือ เรือกลไฟวิลลี่ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) ในรูปแบบการ์ตูนขาวดำ ผลงานจากเดอะวอลต์ดิสนีย์สตูดิโอส์ในเครือเดอะวอลต์ดิสนีย์ โดยเรื่องนี้ถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ *มิกกี้ เมาส์* และแฟนสาว มินนี่ เมาส์ แม้ว่าทั้งคู่จะเคยปรากฏในภาพยนตร์ทดลองสองเรื่องก่อนหน้านี้ แต่ เรือกลไฟวิลลี่ ถือเป็นภาพยนตร์มิกกี้เรื่องแรกที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน

ดิสนีย์เลือกใช้ระบบเสียง ซินิโฟน (Cinephone) ซึ่งพัฒนาโดย *แพท พาวเวอร์ส* โดยดัดแปลงจากระบบ โฟโนฟิลม์ (Phonofilm) ของนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันชื่อดัง Lee De Forest การเปิดตัวครั้งแรกจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ *มอสส์โคโลนี่เธียเตอร์* ในนครนิวยอร์ก

เรือกลไฟวิลลี่ โดดเด่นในฐานะหนึ่งในการ์ตูนเรื่องแรกที่ใช้เสียงประกอบซิงโครไนซ์ และเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่บันทึกเสียงไปพร้อมกับการผลิตฟิล์มทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากการ์ตูนเสียงยุคก่อนที่มักจะพากย์เสียงเพิ่มในภายหลัง ทำให้ *เรือกลไฟวิลลี่* ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2400 พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) นำคณะราชทูตสยาม เชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

ราชทูตสยามในคณะของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ได้เริ่มต้นการเดินทางไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ

พระยามนตรีสุริยวงศ์ หรือที่มีนามเดิมว่า ชุ่ม บุนนาค เป็นบุตรคนที่ 9 ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ และน้องชายแท้ๆ ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยามนตรีสุริยวงศ์ได้รับมอบหมายให้เป็นราชทูตเดินทางไปยังราชสำนักอังกฤษเพื่อถวายพระราชสาส์นแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในปี พ.ศ. 2400

ในการเดินทางครั้งนี้ หม่อมราโชทัย ล่ามของคณะทูต ได้ประพันธ์ "นิราศลอนดอน" ขึ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวการเดินทาง ส่วนพระยามนตรีสุริยวงศ์มีบุตรชาย 18 คน และบุตรหญิง 10 คน

เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น คณะทูตตัดสินใจเดินทางกลับโดยใช้เส้นทางบกผ่านฝรั่งเศส แทนที่จะเดินทางทางเรือจากอังกฤษกลับตรงเหมือนขาไป โดยในเชิงอรรถของหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวว่า 

"การที่ราชทูตกลับทางฝรั่งเศสนั้น ปรากฏในจดหมายเหตุของรัฐบาลอังกฤษว่า แต่เดิมรัฐบาลจะจัดให้กลับมาเรือจากเมืองอังกฤษเหมือนเมื่อขาไป แต่เนื่องจากการเดินทางขาไปประสบปัญหาคลื่นใหญ่ที่อ่าวบิศเคำบากเต็มที ขากลับเป็นฤดูหนาวและคลื่นใหญ่ยิ่งกว่าขาไป จึงขอเปลี่ยนเส้นทางกลับทางประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลจึงได้จัดการให้มาทางนั้น"

การเลือกเส้นทางผ่านฝรั่งเศสทำให้คณะทูตต้องเสียเวลาช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 2 สัปดาห์ และในช่วงนี้ คณะทูตได้มีโอกาสเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสเป็นกรณีพิเศษ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการแจ้งจุดมุ่งหมายล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ

20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิด โรงเรียนนายเรือ กองทัพเรือได้ถือเอาวันที่ 20 พ.ย. ของทุกปี เป็น วันกองทัพเรือ

"1,500 ไมล์ ทะเลไทยมีนาวีนี้เฝ้า"   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 โดยทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากองทัพเรือ จึงได้ทรงตั้ง "วันกองทัพเรือ" ขึ้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงก่อตั้งสถาบันหลักของกองทัพเรือ ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากิจการทหารเรือให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยโบราณ การแบ่งแยกกำลังรบทางเรือจากทางบกยังไม่เป็นระบบ จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงริเริ่มการแยกกำลังรบทางเรือออกจากกำลังบก เมื่อครั้งเริ่มตั้งกรมทหารเรือ กิจการทหารเรือบางประเภทยังขาดบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างชาติให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บังคับการเรือและผู้บัญชาการป้อมต่าง ๆ

หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การที่กองทัพเรือยังพึ่งพาบุคลากรจากต่างประเทศไม่สามารถรับประกันการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาอบรมทหารเรือไทยให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพเรือแทนชาวต่างชาติ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรส เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 และได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนความว่า:  

“วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า”   

21 พฤศจิกายน พ.ศ.2410 หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตีพิมพ์เล่มแรก ต้นแบบหนังสือไทยทันสมัย แสดงความรู้หลากแขนงสู่นานาชาติ

“หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ถือเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่รวบรวมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และศาสนาอย่างทันสมัย จัดพิมพ์โดย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้ซึ่งเล็งเห็นว่าตำราไทยในยุคนั้นขาดสาระสำคัญ ไม่สามารถกระตุ้นความคิดหรือให้ความรู้ที่ล้ำสมัย ท่านจึงรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาจัดทำเป็นหนังสือเล่มนี้  

นอกจากการนำเสนอความรู้ในด้านต่างๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อตอบโต้กระแสการโจมตีพุทธศาสนาจากหมอสอนศาสนาที่พยายามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในไทย “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ และบางส่วนของเนื้อหายังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) ในชื่อ The Modern Buddhist (เดอะ โมเดิน บุดดิสท์) 

หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นงานเขียนสำคัญที่ให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และยังถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือไทยเล่มแรกที่ได้รับการแปลและจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยสู่เวทีโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top