15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทย จัดเลือกตั้ง สส.เป็นครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียว

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียวของไทย โดยเป็นการเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แถลงต่อสภาในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ว่าได้ปราบกบฏเสร็จสิ้นบ้านเมืองสงบแล้ว จึงสมควรจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

การเลือกตั้ง สส.ในปี 2476 นี้ นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เกิดขึ้นในตอนที่ประเทศไทยยังใช้ชื่อว่า สยาม ครั้งนั้น ประเทศไทยมีทั้งสิ้น 70 จังหวัด เป็นอัตราส่วนที่คิดจำนวนประชากรไม่สูงมาก เนื่องจากขณะนั้น ประชากรทั้งประเทศของสยามยังไม่ถึง 18 ล้านคน

มีการเลือกตั้งผู้แทนได้จังหวัดละ 1 คน ยกเว้นจังหวัดพระนคร (จังหวัดในอดีตของไทย ช่วงปี 2408-2515 ก่อนรวมกับจังหวัดธนบุรี เป็นกรุงเทพมหานคร) และจังหวัดอุบลราชธานี สามารถเลือกผู้แทนได้ 3 คน ส่วน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนครราชสีมา เลือกผู้แทนได้ 2 คน มีผู้แทนจากการแต่งตั้งอีก 78 คน รวมแล้วได้ 156 คน

การเลือกตั้งครั้งแรก มีผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 4,278,231 คน
มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.5
จังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือจังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82
จังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71

หลังการเลือกตั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกเอา พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (สมัยที่ 2)


ที่มา : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี