Thursday, 9 May 2024
SpaceX

‘อีลอน มัสก์’ วีนแตกทีมพัฒนาจรวด Starship หลังผลิตได้ล่าช้า จนอาจเสียงานในปีหน้า

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX ออกอาการเหวี่ยงแรง เมื่อทราบข่าวการผลิตยานขับเคลื่อนยนต์ขับเคลื่อนจรวดรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า ‘Raptor’ ไม่คืบหน้าอย่างที่ตั้งใจ และอาจเสี่ยงต่ออนาคตของ SpaceX ถึงขั้นล้มละลายได้ 

โดย อีลอน มัสก์ ได้ส่งอีเมลไปหาทีมงานฝ่ายการผลิต และเรียกปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็น “The Raptor production crisis” - วิกฤติการผลิตเครื่องยนต์แร็ปเตอร์ และย้ำให้ทีมงานทราบถึงปัญหาใหญ่นี้ว่า “บริษัทเสี่ยงมากที่จะล้มละลายได้เลยถ้าพวกเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะพายานอวกาศ Starship ขึ้นบินได้จริงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อเที่ยวได้ในปีหน้า”

ยาน Starship เป็นโครงการระดับมหึมา และล้ำสมัยที่สุดของ SpaceX ที่จะให้ในการขนส่งในเชิงพาณิชย์ไปสู่ดวงจันทร์ และมุ่งมั่นที่จะพิชิตดาวอังคารให้ได้ มีการทดสอบ Prototype มาแล้วหลายรุ่นในฐานที่รัฐเท็กซัส แต่หากต้องการส่งยานให้ไกลถึงวงโคจรรอบโลก ต้องอาศัยเครื่องยนต์ขับเคลื่อนตัวใหม่ คือรุ่น Raptor ที่ต้องใช้ถึง 39 เครื่องยนต์ต่อยาน 1 ลำ 

สำหรับความล่าช้าของสายการผลิต และพัฒนายานขับเคลื่อนรุ่นใหม่ กลายเป็นปัญหาภายในบริษัท SpaceX ที่มีข่าวลือถึงความไม่พอใจของ อีลอน มัสก์ มาหลายเดือนแล้ว ตามมาด้วยข่าวการลาออกของ วิล เฮลสเลย์ รองประธานฝ่ายยานขับเคลื่อน และ ลี โรเซน รองประธานฝ่ายภารกิจการปล่อยยานสำรวจ 2 คีย์แมนหลักที่ทำงานให้กับ SpaceX มานานเกือบ 10 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากความล่าช้าของการพัฒนาเครื่องยนต์ Raptor นี่เอง

หลังจากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ตัวอีลอน มัสก์ ที่มีแผนจะพักผ่อนยาวในช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า ก็จำเป็นต้องยกเลิกทริปพักผ่อน กลับมาจี้งานผลิตเครื่องยนต์ Raptor ด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้น่าจะจริง เพราะมีอีเมลยืนยันว่า อีลอน มัสก์ ร้อนใจกับโครงการพัฒนายานอวกาศของเขาขนาดไหน หลุดถึงสำนักข่าว CNBC ของสหรัฐอเมริกากันเลยทีเดียว

จีนวีนแตก!! หลังต้องย้ายสถานีอวกาศหนี เหตุดาวเทียมของ​ 'อีลอน มัสก์'​ โฉบใกล้บ่อยเกิน

ขึ้นชื่อว่า "สงครามเย็น" เหล่าชาติมหาอำนาจย่อมพร้อมจะทะเลาะกันได้ที่ทุก ที่เวลา ตั้งแต่บนพื้นผิวโลกยันนอกชั้นอวกาศ 

ล่าสุดรัฐบาลจีนปักกิ่งส่งเรื่องฟ้องร้องถึงองค์การสหประชาชาติ อันเนื่องมาจากดาวเทียม Starlink ของ อีลอน มัสก์ ถึง 2 ดวง ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้วงโคจรของสถานีอวกาศเทียนกงของจีนมากเกินไป และหวุดหวิดที่จะชนกันอยู่ถึง 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคม และ ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา จนต้องย้ายตำแหน่งสถานีอวกาศหนี ทางรัฐบาลจีนไม่ไหวจะทน ต้องส่งหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานด้านอวกาศขององค์การสหประชาชาติ ให้สหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ 

ซึ่งสถานีอวกาศเทียนกง ถือเป็นความสำเร็จก้าวใหญ่ของการพัฒนาด้านอวกาศของจีน หลังจากที่จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศฉางเอ๋อ - 5 ไปลงบนดวงจันทร์ด้านที่ไม่เคยมีชาติใดสำรวจมาก่อน และ ส่งยานสำรวจจู้หรง ลงพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 2 ของโลกต่อจากสหรัฐอเมริกา โดยสถานีอวกาศเทียนกงมีกำหนดพร้อมปฏิบัติการจริงอย่างเป็นทางการในกลางปี 2022 

แต่จากเหตุการณ์ที่สถานีอวกาศจีนต้องหลบวงโคจรของดาวเทียมเอกชนของค่าย SpaceX ถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 3 เดือน ทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก ที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน และความปลอดภัยของนักบินอวกาศจีนที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีเทียนกงในอนาคตได้ 

ทางฝ่ายจีนได้ระบุในจดหมายร้องเรียนถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติให้สหรัฐอเมริกาปฏิบัติตามสนธิสัญญาอวกาศสากล แม้จะอยู่ในพื้นที่นอกโลกก็ตาม 

‘Elon’ เปลี่ยนเป้าหมาย!! เบรกภารกิจสู่ดาวอังคาร เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสงครามยูเครนแทน 

ถูกยกให้กลายเป็นฮีโร่สงครามของยูเครนไปแล้ว สำหรับ Elon Musk หลังจากล่าสุดเขาได้ประกาศที่จะพักเป้าหมายของบริษัท SpaceX ในการเร่งไปสำรวจดาวอังคารไว้ก่อน และเปลี่ยนให้กลายเป็นการพยายามช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสงครามยูเครนแทน

Elon Musk กลายเป็นฮีโร่ของสงครามยูเครนอย่างแท้จริง โดยเขาได้ยืนหยัดต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซียโดยไม่กลัวผลกระทบหรือลูกหลงใดๆ จากทางปูตินและรัสเซีย

ทั้งนี้ย้อนไปตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - หลังจากที่ Dmitry Rogozin หัวหน้าหน่วยงานอวกาศของรัสเซีย ได้ออกมาประกาศตอบโต้การคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียว่าเป็นความคิดที่งี่เง่ามาก เพราะในปัจจุบันอุปกรณ์ในอวกาศหลายชิ้นของสหรัฐฯ ยังคงใช้ระบบขับเคลื่อนของ Progress MS จากรัสเซียอยู่ 

ดังนั้นหากจะคว่ำบาตรรัสเซียจึงอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ เพราะหากคุณเป็นศัตรูกับเรา ใครจะช่วย ISS จากการหลุดวงโคจร และตกจากอวกาศกัน ? 

นั่นจึงทำให้ทาง Elon Musk ได้ออกมาตอบแทนสั้นๆ ว่า "บริษัท SpacX" ซึ่งมีความสามารถในการช่วย ISS ในอวกาศไว้ได้แน่ๆ หากต้องการ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - ทาง Elon Musk ได้เร่งขยายพื้นดาวเทียม Starlink ไปยังยูเครนตามคำร้องขอของรัฐมนตรีดิจิทัลยูเครน และส่งจานรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไปในพื้นที่ เพื่อช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในยามสงคราม 

3 มีนาคม - Elon Musk ยังได้ออกโรงเตือนชาวยูเครนหลังส่งจานรับสัญญาณ Starlink เข้าไปว่า มีโอกาสที่ผู้ใช้จานรับสัญญาณเหล่านี้อาจตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซีย เพราะจานรับสัญญาณจะกลายเป็นจุดสนใจในเขตสงคราม และทางรัสเซียอาจสามารถตรวจจับได้ จึงให้ใช้กันในยามจำเป็นเท่านั้น

แต่ไม่นานหลังจากทางกองทุนรัสเซียพยายามโจมตีเหล่าจานรับสัญญาณ Starlink ที่ Elon ส่งไปให้ยูเครน ทาง SpaceX ได้รีบทำการปรับระบบการใช้ไฟของจานรับสัญญาณ Starlink ให้สามารถทำงานได้ด้วยไฟที่น้อยลง จนสามารถชาร์จได้จากที่จุดบุหรี่บนรถยนต์ ทำให้จานรับสัญญาณ Starlink ต่างๆ ในยูเครนสามารถเคลื่อนที่บนรถยนต์และไม่ตกเป็นเป้านิ่งสำหรับฝั่งรัสเซีย 

วันที่ 4 มีนาคม Elon Musk ได้ทวีตออกมาให้กำลังใจชาวยูเครน "Hold Strong Ukraine" ว่าให้ยืนหยัดและต่อสู้เต็มที่ เป็นการทวีตที่ไม่ไว้หน้าทางปูตินและกองทัพรัสเซียอย่างยิ่ง 

วันที่ 5 มีนาคม - Elon Musk ได้ออกมาทวีตถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้นำของบริษัทรถไฟฟ้า EV ยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla ว่า "โลกเราต้องเร่งการขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบเลย แต่เราก็จะปล่อยให้รัสเซียใช้ทรัพยากรน้ำมันมาบีบคอชาวโลกมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว" (ตอนนี้ทางรัสเซียเดินหน้าบุกยูเครนเต็มที่ ด้วยการที่ีรู้ว่าโลกทั้งโลกยังต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากพวกเขา หากบีบและคว่ำบาตรรัสเซียมากไป ราคาพลังงานโลกก็จะพุ่งและสร้างความเดือดร้อนตามมาให้ทุกฝ่าย)

ในวันเดียวกันนั้นรัฐบาลหลายประเทศได้เรียกร้องให้บริการ Starlink อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ Elon Musk ช่วยปิดข่าวจากสื่อรัสเซีย แต่ Elon ได้ปฏิเสธไป และบอกว่าตราบใดที่ยังไม่มีปืนมาจ่อหัวเขา เขาก็จะสนับสนุนเสรีภาพในการพูดให้ถึงที่สุด

ในวันที่ 5 มีนาคม เช่นเดียวกัน - ทางทหารรัสเซียพยายามปิดกั้นสัญญาณดาวเทียม Starlink ไม่ให้ชาวยูเครนใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ แทนที่ทาง Elon จะหัวเสีย แต่เขากลับทวีตตอบกลับมาว่า "ไม่เป็นไร ทางเราพยายามเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ และถือว่านี่เป็นบททดสอบฟรีๆ ต่อชาวโลกถึงคุณภาพของสินค้าเรา (ทาง Elon หยอก) 

ชาวอเมริกันว่าไง?? หากสหรัฐมีประธานาธิบดีชื่อ...  ‘อีลอน มัสก์’

ถ้าจะพูดถึงคนดังในระดับโลก ที่ใครๆ ก็รู้จัก แถมยังมีอิทธิพลในการสร้างกระแสสังคม ที่ส่งผลต่อธุรกิจโลกด้วยแล้ว นาทีนี้ต้องยกให้ ‘อีลอน มัสก์’ ไอรอนแมนแห่งวงการเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า ดาวเทียม ยานสำรวจอวกาศ หรือแม้แต่เงินดิจิทัล

แต่ถ้าเกิดอีลอน มัสก์ หันมาสนใจเรื่องงานการเมืองของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นมาหล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?

ไอเดียนี้ เริ่มมีการพูดถึงในสังคมโซเชียลของสหรัฐฯ เมื่อเห็น อีลอน มัสก์ กระโดดเข้ามาร่วมวงกระแสสงครามรัสเซีย-ยูเครน กับเขาเหมือนกัน ด้วยการตอบรับคำขอของนาย มิคไคห์โล เฟโดรอฟ รองนายกรัฐมนตรียูเครน ที่ส่งข้อความตรงถึงอีลอน มัสก์ ให้ช่วยส่งดาวเทียม Starlink มาช่วยต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตในยูเครน เนื่องจากตอนนี้ทางรัสเซียได้โจมตีระบบสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศจนติดขัด ยังไม่นับทีมโจมตียังทางไซเบอร์ มาสร้างความปั่นป่วนในระบบเครือข่ายอีก 

ซึ่งอีลอน มัสก์ ก็ตอบตกลงไวเหมือนโกหก รีบส่งดาวเทียม Starlink มาช่วยเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ทันที และเตรียมจะขยายสถานีให้เพิ่มอีกถ้าต้องการ จนชาวเน็ตแซวว่า ยูเครนกล้าขอ อีลอน มัสก์ ก็กล้าให้ แถมจัดให้ไวกว่าโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสียอีก 

และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ที่อีลอน มัสก์ แสดงบทบาท หรือความเห็นเกี่ยวกับการเมือง 

เมื่อไม่นานมานี้ อีลอน มัสก์ เคยสวนกลับทวิตของ โจ ไบเดน ที่ออกมากล่าวชมโรงงานผลิตรถยนต์ Ford ที่ได้ลงทุนขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญ ที่ช่วยสร้างงานให้ชาวอเมริกันทั่วประเทศถึง 10,000 ตำแหน่ง ส่วนทางค่าย GM ก็ทุ่มงบมหาศาลถึง 7 พันล้านเหรียญเพื่อผลิตรถไฟฟ้าเช่นกัน ที่สร้างงานเพิ่มอีก 4,000 ตำแหน่งในรัฐมิชิแกน 
 

'อีลอน มัสก์'​ หน้าซีด!! สหรัฐฯ​ จ่อแบนยักษ์อะลูมิเนียมแห่งรัสเซีย อาจทำให้​ 'Tesla-SpaceX'​ ไม่มีวัตถุดิบในการผลิตครั้งใหญ่

แม้​ภาพเบื้องหน้าในตอนนี้ของ​ อีลอน มัสก์ จะดูสง่ายิ่งในสายตาชาวโลกผู้รักสงบ​ ด้วยการแสดงจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายรัฐบาลยูเครน​ และเทไปทางด้านรัสเซีย พร้อมทั้งสนับสนุนให้ดาวเทียม Starlink แก่ยูเครนไว้ยืมใช้​ เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณสื่อสาร อีกทั้งยังถึงขั้นท้าต่อยกับวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียตัวต่อตัว จนได้รับเสียงชื่นชมจากชาวยูเครนจำนวนมาก

แต่ทว่า หลังบ้านโรงงานรถยนต์ Tesla กลับกำลังเผชิญกับปัญหาหนัก เมื่อสื่อ CNBC ได้เปิดเผยหลักฐานข้อมูลใบสั่งซื้อวัตถุดิบป้อนโรงงาน Tesla ในเยอรมนีนั้น มีการสั่งซื้ออะลูมิเนียมจาก Rusal ซัพพลายเออร์อะลูมิเนียมเจ้าใหญ่ของรัสเซียในมูลค่าหลายล้านยูโร 

โดยอะลูมิเนียมจากรัสเซียนี้ ถูกนำมาหล่อเป็นชิ้นส่วนประกอบ และตัวถังรถยนต์ของ Tesla โดยเฉพาะ Tesla Model Y รุ่นล่าสุดที่ประกอบในโรงงานที่เมืองแบรนเดนเบิร์ก ในเยอรมนี 

Rusal ตัวแทนจำหน่ายอะลูมิเนียมยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ก่อตั้งโดย นาย Oleg Deripaska อภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลของรัสเซีย และเคยได้ชื่อว่าเป็นซัพพลายเออร์จัดส่งอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของโลกมาแล้ว ก่อนที่จะถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรในปี 2018 ด้วยข้อหาแทรกแซง และสอดแนมกิจการภายในของรัฐบาลสหรัฐฯ

ทั้งนี้​ นาย Oleg Deripaska ถูกปลดล็อกจากการคว่ำบาตรได้ในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2020 หรือปีเดียวกับที่อีลอน มัสก์ เปิดดีลสั่งซื้ออะลูมิเนียมจาก Rusal ของนาย Oleg Deripaska ซึ่งจริงๆ​ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด เพราะโรงงานผลิตรถยนต์ระดับโลกล้วนนำเข้าอะลูมิเนียมจากรัสเซียแทบทั้งสิ้น
 

‘สเปซเอ็กซ์’ ส่งดาวเทียมสู่อวกาศพร้อม ‘เทมโป’ ตัวตรวจมลภาวะ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศ - มลพิษทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ

(8 เม.ย. 66) เว็บไซต์ ยูพีไอ รายงานว่า ‘สเปซเอ็กซ์’ บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ที่ทำธุรกิจทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการส่งดาวเทียมตรวจวัดคุณภาพอากาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซา) ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 7 เม.ย.

โดยระบุว่า ‘จรวดฟอลคอน 9’ ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศจากฐานยิงจรวดสเปซ ลอนช์ คอมเพล็กซ์ รัฐฟลอริดาของสหรัฐ เมื่อเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เพื่อนำดาวเทียมอินเทลแซท 40 อี (Intelsat 40e) ดาวเทียมโคจรพ้องคาบโลกขั้นสูง ซึ่งมีเครื่องมือ ‘เทมโป’ (TEMPO-Tropospheric Emissions: Monitoring of Pollution) ตัวตรวจวัดมลภาวะในชั้นบรรยากาศของนาซา ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศเหนือเส้นศูนย์สูตรเพื่อตรวจสอบมลพิษในอากาศทั่วทวีปอเมริกาเหนือ

‘SpaceX’ ลุยส่ง ‘ดาวเทียม’ ชุดแรกขึ้นวงโคจร หวังส่งสัญญาณโทรศัพท์มาสู่สมาร์ทโฟนโดยตรง

(4 ม.ค. 67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความ ‘SpaceX’ ส่งดาวเทียมชุดแรกขึ้นสู่วงโคจร เพื่อเตรียมส่งสัญญาณโทรศัพท์สู่สมาร์ทโฟนโดยตรง โดยมีเนื้อหาดังนี้…

T-Mobile บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐฯ ประกาศว่าจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ได้ส่งดาวเทียม 6 ดวง ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งเป็นดาวเทียมชุดแรกที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณโทรศัพท์ตรงสู่พื้นโลกไปที่อุปกรณ์สมาร์ทโฟน

เป้าหมายคือการเชื่อมต่อผู้ใช้งานแบบ Direct to Cell (D2C) ให้ได้ทุกที่ในโลก แม้อยู่ในจุดที่ไม่มีสัญญาณ โดยนอกจาก T-Mobile แล้ว SpaceX ยังร่วมทดสอบบริการนี้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์อีก 6 ราย ใน 6 ประเทศ ได้แก่ Optus (ออสเตรเลีย), Rogers (แคนาดา), One NZ (นิวซีแลนด์), KDDI (ญี่ปุ่น), Salt (สวิตเซอร์แลนด์) และ Entel (ชิลี)

D2C ในช่วงแรกจะทดสอบด้วยการส่งข้อความตัวหนังสือก่อน จากนั้นจึงขยายมาทดสอบบริการคุยเสียง และการรับส่งข้อมูล ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ด้าน ‘Elon Musk’ CEO ของ SpaceX ให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน X ของเขาว่า การส่งลำแสงจากดาวเทียมแต่ละครั้งรองรับข้อมูลประมาณ 7Mb ทำให้เป็นทางออกที่ดีในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แต่ยังห่างไกลจากการเป็นคู่แข่งผู้ให้บริการเครือข่ายภาคพื้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top