Saturday, 4 May 2024
Impact

รมว.คลัง สั่ง ก.ล.ต. คุมเข้มเทรดบิทคอยน์ ย้ำต้องเติมความรู้ให้นักลงทุนรู้เท่าทัน เหตุมีความเสี่ยงสูง พร้อมระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีหวัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์ อย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นสินทรัพย์ใหม่ และมีความเสี่ยง จึงต้องดูแลเรื่องนี้ให้ดี

พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และความรู้กับผู้ลงทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงกับผู้มีเงินออมและเข้ามาอยู่ในตลาดตรงนี้ ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้ได้รับความเสี่ยงมากเกินไป

ทั้งนี้ยังขอให้ ก.ล.ต.ช่วยอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น การเปิดโอกาสให้บริษัท หรือผู้ประกอบรายใหม่เข้าถึงตลาดทุน ยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน และการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

"สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้โดยเฉพาะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบที่แตกต่างออกไปจากปีก่อน เพราะมีปัจจัยเสริมคือเรื่องวัคซีน หากทำได้เร็วก็ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความหวังว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.) การเยียวยาและฟื้นฟู ต้องทำให้ทันสถานการณ์ โดยปี 63 ที่ผ่านมา มีการเยียวยาประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับปีนี้ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาทำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถเยียวยาโดยการแจกเงินไปได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านนโยบายการเงินการคลัง ไปพร้อมกันด้วย

2.) การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มีความชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่องนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)

3.) การดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12% และอีก 10 ปี จะเพิ่มเป็น 24% ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในส่วนนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย

1.)วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ GDP ต้องเติบโตมั่นคง ต่อเนื่องมีคุณภาพ เศรษฐกิจต้องมีความมั่นคง ทุนสำรองสูง ฐานะการคลังแข็งแรง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

2.) วัคซีนเศรษฐกิจระดับภาคการผลิต ภาคบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีการบริหารความเสี่ยง และมีธรรมาภิบาล

และ 3.) วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีการออมเงินมากขึ้น และสร้างทางเลือกการออมยามเกษียณให้กับประชาชน

จับตา น้ำมันปาล์มขวดเริ่มขาดตลาด - ขายแพง จี้กรมการค้าภายใน เช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในโมเดิร์นเทรด พร้อมช่วยตรวจสอบ ใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือไม่

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง - ปลีกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศ ว่า ขณะนี้ร้านค้าส่งได้รับผลกระทบปัญหาน้ำมันปาล์มขวดขาดตลาด โดยเมื่อสั่งสินค้าไปแต่ได้รับของมาขายลดลงไป 60 - 70% เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายยี่ห้อได้ลดสัดส่วนการส่งสินค้าลงโดยให้เหตุผลว่าผลผลิตปาล์มมีน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ทั้งนี้ ในช่วงปกติร้านจะสั่งสินค้าเข้ามารอบละ 200 - 300 ลัง แต่ขณะนี้สั่งไป 300 ลัง แต่รับมาแค่รอบละ 50 - 100 ลังเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเหมือนกันในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะสมาชิกร้านค้าส่งในต่างจังหวัดก็เล่าให้ฟังว่า ปกติเคยสั่งซื้อยกคันรถ 1,000 ลัง ก็ได้ของเข้ามาขายแค่ 400 - 500 ลังเท่านั้น

อย่างไรก็ตามราคาขายปลีก - ขายส่งตอนนี้ขยับสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันต้นทุนราคาส่งตกลังละ 580 บาท หรือตกขวดละ 48 บาทเศษ หากขายให้ร้านโชห่วยนำไปขายต่อจะบวกเป็นลัง 590-595 บาท เพื่อให้ไปทำกำไรขายต่อได้ที่ 52 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยากให้กรมการค้าภายใน เข้าไปช่วยเช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ว่า มีปัญหาขาดหรือไม่ รวมถึงดูด้วยว่าใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือเปล่า แต่ก็ได้แจ้งว่าในเดือนมี.ค.64 ปัญหาน่าจะคลี่คลายลงเพราะจะเริ่มมีผลปาล์มฤดูใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนได้

รมว.คลัง เผยครม.ไฟเขียว ยืดเวลาจ่ายหนี้สินเชื่อฉุกเฉินอาชีพอิสระ ออกไปไม่เกิน 12 เดือน จากเดิม 6 เดือน พร้อมออกสินเชื่อช่วยธุรกิจท่องเที่ยวดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ผ่านโครงการ ‘SMEs มีที่ มีเงิน’ ผ่านธนาคารออมสิน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ นำไปสู่การออกประกาศพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีการสั่งปิดสถานที่และระงับการให้บริการของสถานบริการ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain)

เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีด้วยกัน 2 โครงการ คือ

1.) การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แห่งละ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระหรือเกษตรกรรายย่อย อัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน

โดยขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นไม่เกิน 12 เดือน จากเดิม 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. กำหนด พร้อมทั้งขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นไม่เกิน 3 ปี จากเดิม 2 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564

2.) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน

และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี ดอกเบี้ย 0.10% ต่อปีในปีแรก 0.99% ต่อปีในปีที่ 2 และ 5.99% ต่อปีในปีที่ 3 รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564

อพท. เผยโควิดกระทบท่องเที่ยวชุมชนฉุดรายได้ร่วง 46% พร้อมเร่งผลักดันเมืองเก่า จ.สุโขทัย ติดอันดับแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้จัดทำการประเมินระดับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่พิเศษในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ในภาพรวมประชาชนในพื้นที่พิเศษ มีระดับความอยู่ดีมีสุขอยู่ที่ 78.44% เมื่อเทียบกับเกณฑ์ความเพียงพอ(Sufficiency threshold) โดยอ้างอิงตามมาตรฐานในการวัด GNH ของประเทศภูฏานอยู่ในระดับ Deeply happy หรือมากที่สุด

ขณะที่รายได้เสริมจากการท่องเที่ยวในปี 2563 ใน 20 ชุมชนเป้าหมาย มีรายได้รวมเฉลี่ยลดลง 46.54% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรายได้รวมทั้งหมดลดลงจาก 1,524,109.16 บาทต่อปี ลงมาอยู่ที่ 814,775.60 บาทต่อปี ในปี 63

สำหรับในปี 2564 อพท. ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท. จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ให้เป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นอกจากนี้ ยังต้องการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) 2 แห่ง ได้แก่ จ.น่าน และ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ประจำปี 2564 ให้ได้ 75% และจัดทำใบสมัครในการเสนอเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก

อย่างไรก็ดี ยังมีเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนหรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันโดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน และยังได้จับมือกับหน่วยงานชั้นนำในระดับโลก เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่การเป็นต้นแบบในระดับสากลในหลายๆ ด้านอีกด้วย

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ ยก 8 ประเด็นคาใจแจงฝ่ายค้าน ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายในสภา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 64 ในหัวข้อ “เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย” โดยชี้แจง 8 ประเด็นข้อสงสัยของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ยืนยันไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา มีเนื้อหาดังนี้...

#เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย

จบลงไปแล้วนะครับสำหรับการอภิปรายที่รัฐสภาในญัตติไม่ไว้วางใจท่านนายกฯ และรัฐมนตรีอีก 5 ท่าน ซึ่งผมได้เตรียมชี้แจงข้อสงสัยและข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พูดในสภา เนื่องจากเวลาไม่พอ ผมจึงขอสรุปสาระสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จะทำให้มองเห็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ว่าไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายกันในสภาครับ

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่าประเทศไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ จุดต่ำสุดของไทยอยู่ที่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ดัชนีชี้วัดทุกตัวจึงดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเดือน ธ.ค. มีการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีบางตัวก็ยังดีกว่าเดือน เม.ย. ด้วยเรามีประสบการณ์และข้อมูลจากการระบาดครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มบางจังหวัด ตัวเลขเศรษฐกิจดูจะลดลง แต่สัญญาณบวกได้ปรากฏอยู่ในไตรมาสที่ 4 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนและบริโภคของรัฐ

ข้อมูลของสภาพัฒน์ ปี 63 เราติดลบ 6.1% แต่ถ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้นปี หลายสถาบันเห็นว่าไทยจะติดลบ 10 %, 8.5% บ้าง แต่ประเทศไทยเราร่วมมือกันและควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลบ แต่ที่ต่ำที่สุดคือฟิลิปปินส์ มีเพียงเวียดนามที่เป็นประเทศที่เพิ่งเติบโต แต่ก็เติบโตน้อยกว่าอัตราที่เคยเติบโตอยู่มาก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราไม่ได้แย่ที่สุด เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

2. การว่างงาน

ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่ามีคนว่างงาน 10 ล้านคน แต่คงเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เพราะเขาไม่รู้ว่าการระบาดอย่างนี้ มีผลกระทบให้เกิดการว่างงานกันเท่าไร ก็คงมองในกรณีเลวร้ายที่สุดถึง 10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ปรากฎออกมาคือ 1.9% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำที่มีทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราทำได้ดี

3. ความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ

3 สถาบันจัดอันดับเครดิต คือ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประเมินให้ไทยอยู่ในอันดับเท่าเดิม ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับลง สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือการควบคุมการแพร่ระบาด ปรากฏว่าอยู่ในการจัดอันดับต่างๆ หรือการยอมรับจากนานาชาติ ล่าสุดเราติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีที่สุดในโลก ในขณะที่ความเข้มแข็งทางการเงิน การคลัง ติดอันดับต้นๆ ของประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด นี่คือการประเมินเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

4. รัฐบาล Very กู้ จริงหรือเปล่า

ปี 63 หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ราว 52% ของจีดีพี ตัวเลขกลมๆ ของหนี้สาธารณะคือ 8.1 ล้านล้านบาท ตอนที่ท่านนายกฯ รับตำแหน่งใหม่ๆ หนี้สาธารณะมีอยู่ 5.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 8 เดือน หนี้ของเขาเพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อยู่ 6 ปี 9 เดือน หนี้เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อเดือนไม่ต่างกัน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังกู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เงินกู้เหล่านี้ได้ถูกกระจายไปใช้ในการลงทุนโครงการสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 59-63 จำนวน 162 โครงการ เป็นโครงการทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานเกือบทั้งหมด นี่คือการสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปในอนาคต และเป็นการกู้ที่ไม่เกินเลยจากรัฐบาลก่อนหน้านี้

5. รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด

รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เพราะสูงมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว และสูงมาเรื่อยๆ ตอนที่ท่านนายกฯ เข้ามาเมื่อกลางปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนประมาณ 80% ท่านพยายามประคับประคองไม่ให้เพิ่ม มีปีหนึ่งลดลงไปที่กว่า 70% พอมาเกิดวิกฤต จีดีพีลดลงจาก 80% ที่พยายามรักษาไว้ กลายเป็น 86% เราพยายามบริหารจัดการให้เป็นหนี้มีคุณภาพ ประมาณ 65% ของหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ซื้อพาหนะ ที่เหลือเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเกิดโควิด-19 แล้ว เรามีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของหนี้เสียของระบบธนาคาร

6. แบงก์จะล้มไหม

ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินดูที่ทุนที่มีความเพียงพอต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ซึ่งวันนี้อยู่ในสัดส่วน 20% มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด คือประมาณ 11% นับว่าสูงกว่าราว 2 เท่า เอ็นพีแอลหรือหนี้เสียในระบบ 3.1% ถ้าเรากลัวกันว่าเศรษฐกิจดิ่งแล้วแบงก์จะล้ม ก็ไปดูกันตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุนของสถาบันการเงินมีเพียง 9.5% ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถือว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งมาก สินเชื่อก็โตขึ้นในปีที่ผ่านมา กำไรยังมีอยู่ สถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูกหนี้

7. ธุรกิจหนี้ท่วมจนต้องปิดกิจการมากที่สุด

วันนี้ 21 สถาบันการเงินมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และในปี 63 มีการจัดตั้งใหม่ 63,340 ราย เช็กเด้งน้อยลง 23% การขอใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีผู้ขอมากกว่าปี 62 สำหรับเรื่องที่บอกว่าประชาชนหนี้ท่วมจนอยู่ไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาเราให้ไป 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีจำนวนคนหลายล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ จนถึงสิ้นปี มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมคน 42.3 ล้านคน และรัฐบาลยังได้มีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสมทบประกันสังคม พร้อมเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 2 แสน 9 หมื่นกว่าล้านบาท

ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ครม. อนุมัติการช่วยเหลือผ่านการค้ำประกันของ บยส. ให้ธุรกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอีในวงเงิน 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่เป็นรายย่อยไมโครเอสเอ็มอีอีก 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การคิดดอกเบี้ยผิดนัด ธปท. ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ และคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามจำนวนที่ผิดนัด ตรงนี้เป็นการบรรเทา ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย. 64

8. ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากที่สุด

มีคนพูดว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก นั่นเป็นแค่มิติเดียว คือความมั่งคั่ง ถ้าจะดีต้องดูให้ครบทุกมิติ ต้องดูโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่างๆ การดูแลโดยภาครัฐบาล รวมกันแล้ว ไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในอาเซียนที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ยิ่งหากดูเรื่องความยากจน เราน้อยที่สุด ถ้าไม่นับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสร้างโอกาส มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข และมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนที่มีความเปราะบาง


เครดิตเพจ : https://www.facebook.com/supattanapongp/photos/pcb.175498857710644/175479794379217/

กระทรวงคมนาคม ดันแลนด์บริดจ์ ชุมพร - ระนอง มูลค่าลงทุนแสนล้านบาท เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร พร้อมเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ 2 มหาสมุทร ทั้งมหาสมุทรอินเดีย และ มหาสมุทรแปซิฟิก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) เป็นการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2565

สำหรับโครงการนี้ กระทรวงคมนาคมจะบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และรถไฟทางคู่ รวมทั้งวางระบบการขนส่งทางท่อ โดยทำการก่อสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่

ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน โดยประมาณการวงเงินลงทุนทั้งโครงการ ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP

ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งทางเรือลงได้ถึง 2 วัน ช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยสร้างโอกาส สร้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น

ดาราสาว ‘พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช’ ดาราสาว พร้อมมารดาและพี่ชาย ย่องพบเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ รับทราบ 3 ข้อกล่าวหา คดีฉ้อโกงประชาชน ปมแชร์ Forex-3D แล้ว ด้านดีเอสไอ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับหมายเรียกเข้าพบ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

ในวันนี้ (วันพุธที่ 3 มีนาคม 2564) นายสรายุทธ ไชยเดช นางสรินยา ไชยเดช และนางสาวสาวิกา หรือ พิ้งค์กี้ ไชยเดช ได้เข้าพบนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คดีแชร์ลูกโซ่ Forex-3D ณ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีพิเศษที่ 153/2562 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อกล่าวหาในความผิดร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

กรณีดังกล่าว นายอภิรักษ์ โกฎธิ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ร่วมกันหลอกลวงโดยการโฆษณาชักชวนต่อประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมลงทุน ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ www.forex-3D.com และแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ค ในชื่อบัญชี “Apiruk Krub” “Apiruk Kothi” และ “Forex-3D” โดยอ้างว่าจะนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่าง ๆ (Forex) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60 - 80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการนำไปลงทุนเทรดค่าเงิน และประกันเงินต้นที่ร่วมลงทุนร้อยละ 100 ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งการโฆษณาชักชวนหลอกลวงประชาชนของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก เป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการนำเงินไปลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่าง ๆ (Forex) ตามที่กล่าวอ้าง แต่มีลักษณะนำเงินจากประชาชนที่ลงทุนรายนั้นหรือรายอื่นมาหมุนเวียนจ่ายแก่ประชาชนผู้ลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมเงินรายอื่น เป็นเหตุให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก โดยปรากฏผู้เสียหายในสำนวน จำนวน 9,692 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,908,113,421.92 บาท

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า “ในวันนี้ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้ตนมาติดตามความคืบหน้าในการสอบสวนคดี Forex-3D เนื่องจากคดีดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก ประชาชนให้ความสนใจติดตามคดีดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวง โดยการโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก เดินทางเข้าร้องเรียนผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม”

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวต่อว่า “ได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าในห้วงนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายราย โดยในวันนี้ ได้มีการเรียก นางสาวสาวิกา หรือพิ้งค์กี้ ไชยเดช ดาราสาวที่มีชื่อเสียง นางสรินยา ไชยเดช มารดา และนายสรายุทธ ไชยเดช พี่ชาย เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนฯ ของดีเอสไอ ทั้งนี้ ทางกระทรวงยุติธรรม จะดำเนินการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับหมายเรียกเข้าพบ และขอให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย”

รัฐบาลเตรียมเปิดตัวโครงการ “SME คนละครึ่ง” ช่วยลดภาระค่าบริการทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน คาดเริ่มเปิดโครงการฯ กลางปีนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยรัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50 - 80 สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.) ซึ่งที่ผ่านมาการขอรับบริการทางธุรกิจต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีไทยด้วย

โดย คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs’ Co-payment ในกลางปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพและขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแต่ละราย สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ริเริ่มแนวทางเพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น สสว. จากผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service: BDS) โดยสสว. จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) โดยมีค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอีต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับกฎเกณฑ์ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563

นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่ายและมีวงเงินกู้สูงขึ้น รวมทั้งแนวทาง asset warehousing เพื่อช่วยเหลือไม่ใช้ทรัพย์สินธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องถูกยึดหรือปิดตัวลง ซึ่งรายละเอียดจะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้

ญี่ปุ่นจ่อพัฒนา ‘Gatebox’ เพื่อนสาวเสมือนจริง ขนาดเท่าคน ตอบโจทย์คนเหงา = ธุรกิจบริการ คาดเปิดขายช่วงแรกให้ฟากธุรกิจก่อน แต่ก็อาจจะขายให้คนทั่วไปด้วย

เว็บไซต์ SoraNews24 นำเสนอข่าวว่า Gatebox หรือเพื่อนสาวเสมือนกำลังจะถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่เท่าขนาดคนจริง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Gatebox บริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ ที่มีชื่อว่า Gatebox หรือ ‘อุปกรณ์อัญเชิญตัวละคร’ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเครื่องชงกาแฟขนาดกะทัดรัด สามารถตั้งบนโต๊ะทำงานของคุณได้ โดย GateBox จะสร้างภาพ 3 มิติของตัวละครที่คุณชอบ มาคอยดูแลและให้กำลังใจคุณ (ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่ม ๆ) ในทุก ๆ วัน เช่น ปลุกคุณในตอนเช้า เปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และสามารถสนทนาโต้ตอบกับคุณได้ตลอดทั้งวัน

ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ GateBox ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา และล่าสุดทางบริษัทฯ มีแผนจะเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ของ Gatebox ที่ใช้ชื่อว่า ‘Gatebox Grande’ ซึ่งเป็น Gate box ที่เพิ่มขนาดขึ้น ให้มีความสูงราว 165 เซนติเมตร หรือเท่าขนาดคนจริง

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของ Gatebox Grande ที่มีขนาดใหญ่กว่า Gatebox รุ่นเดิม โดยมีระบบแสดงผลขนาดใหญ่ และมีขนาดเครื่องที่สูงราว 2 เมตร น่าจะเหมาะกับภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ต้อนรับเสมือนจริง เช่น ติดตั้งในร้านค้า สถานบันเทิง พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ สถานที่จัดงานต่างๆ และธุรกิจอื่น ๆ เป็นอันดับแรก

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดขายให้กับคนทั่วไปที่มีกำลังทรัพย์และพื้นที่เหลือเฟือ (ภายในอพาร์ตเมนต์ของคนโสด) เพราะคาดว่าจะมีราคาที่สูงมากเช่นกัน (ราคารุ่นแรกร่วม 5 หมื่นบาท)

สำหรับ Gatebox เวอร์ชั่นก่อนหน้าไซส์ จะเป็นตัวการ์ตูนสาวที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในแท่งแก้ว สามารถโต้ตอบกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี AI ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมประจำวันของเรา รวมถึงตัวเสื้อผ้าที่สวมใส่ยังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาในแต่ละวันได้เองอัตโนมัติ แถมยังสามารถรายงานสภาพอากาศ, เป็นนาฬิกาปลุก และควบคุมการเปิดปิดของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านตามเวลาที่กำหนด

ขณะเดียวกัน ยังสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ ทำให้คุณสามารถติดต่อสื่อสารกับ Gatebox ได้เหมือนมีเพื่อนสาวจริง ๆ แม้จะอยู่นอกบ้าน ซึ่งจะคอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและอยู่ข้าง ๆ คุณในทุกช่วงเวลา

ส่วน GateboxGrande ก็มีความสามารถคล้ายกัน เช่น สามารถตรวจจับมนุษย์ได้และตัวละครสามารถตอบโต้กับผู้คนได้ เช่น กล่าวต้อนรับผู้มาเยือนเมื่อพวกเขาเข้าใกล้ และขอบคุณพวกเขาเมื่อพวกเขาออกจากร้านไป เพื่อสร้างความรู้สึกว่ามีตัวละครอยู่จริง ไม่ใช่แค่วิดีโอที่ถูกบันทึกไว้


ที่มา : 

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_6096297

https://soranews24.com/2021/03/08/virtual-anime-wife-gadgets-go-life-size-with-gatebox-grande

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเสนอศบค. เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 เม.ย. 64 ลดเวลากักตัวคนฉีดวัคซีนแล้วเหลือ 7 วัน ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดกัก 10 วัน นำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี และพังงา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 19 มี.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้พิจารณาเกี่ยวกับการลดจำนวนวันกักตัวท่องเที่ยวต่างชาติจาก 14 วัน แยกเป็น

1.) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก เข้ากักตัวในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการแอเรีย ควอรันทีน เพียง 7 วัน แต่ไม่ต้องอยู่เฉพาะในห้องพัก สามารถออกมาทำกิจกรรมภายในบริเวณที่กำหนดได้ แล้วค่อยสวอปหาเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ถ้าไม่เจอเชื้อถึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวได้

2.) นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมา ต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก แล้วเข้ากักตัว 10 วัน ก่อนสวอปเชื้ออีกครั้ง จากนั้นถึงจะสามารถท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ และรัฐบาลจะออกไทม์ไลน์อย่างชัดเจนว่าทุก ๆ 2 เดือนนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 64 จะผ่อนปรนได้ขนาดไหนและอย่างไร โดยนำร่อง 6 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา และจอมเทียน) และพังงา (เขาหลัก) ที่เพิ่งเพิ่มมาล่าสุด เนื่องจากมีความต้องการจากนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top