Saturday, 4 May 2024
Impact

‘สุริยะ’ จี้ สมอ. คุมเข้มสินค้า 43 รายการ เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุม ทั้งไฟฟ้า ยานยนต์ เคมี วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ภายในปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถดึงความสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยได้

ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ และในการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมนอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนโดยปกติ ซึ่งมาตรฐานก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้

“ผมได้เร่งรัดให้ สมอ. เร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้เข้มงวด และควบคุมสินค้าที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุมด้วย” นายสุริยะฯ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานสินค้าทั้งสิ้นจำนวน 361 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve จำนวน 117 เรื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve จำนวน 60 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนโยบายและอื่นๆ จำนวน 113 เรื่อง ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เกษตรแปรรูป พลาสติก ยาง สมุนไพร นวัตกรรม เป็นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์พื้นฐานตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 71 เรื่อง ได้แก่ เครื่องกล เหล็ก คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง และโภคภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ไตรมาส 2 สมอ. กำหนดมาตรฐานแล้วทั้งสิ้นกว่า 250 เรื่อง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด ภายในไตรมาสที่ 4 อย่างแน่นอน

“ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานใหม่ที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกทั้งหมด 43 รายการ เช่น ยางหล่อดอกซ้ำ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนเคลือบสังกะสี หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ถุงมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว กระดาษสัมผัสอาหาร ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค เครื่องฟอกอากาศ ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร เก้าอี้นวดไฟฟ้า และเครื่องเล่นสนาม ได้แก่ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน อุปกรณ์โยก เป็นต้น และนำมาตรฐานเดิมมาทบทวนและเสนอบังคับต่อเนื่องอีกจำนวน 21 รายการ เช่น

มาตรฐานในกลุ่มสีย้อมสังเคราะห์ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเครื่องจักรกล เตารีดไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ เครื่องดับเพลิง และแบตเตอรี่มือถือ เป็นต้น โดยทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 นี้ จึงขอแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่จะทำสินค้าดังกล่าว ให้เตรียมตัวดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งที่ทำในประเทศ และนำเข้า เพราะท่านจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำหรือนำเข้า พร้อมทั้งให้เตรียมตัวยื่นขอใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐานแต่ละรายการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อได้ที่ สมอ. หรือจะยื่นขอ มอก. ออนไลน์ผ่านระบบ E-license ได้ที่ https://itisi.go.th/e-license/ ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘บิ๊กตู่’ สั่งเข้ม! มาตรการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปิดทันทีอย่างน้อย 14 วัน มีผลแล้ว

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบริการต่างๆ รัฐบาลจึงเน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้ปิดสถานประกอบการนั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

2) กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการหลายแห่งให้พื้นที่ใกล้เคียงกัน ให้ปิดสถานประกอบการในพื้นที่นั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

3) กรณีมีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. พิจารณาปิดสถานประกอบการในพื้นที่ทั้งจังหวัด/กทม. เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจกำกับดูแล ให้สถานประกอบการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่กำหนดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส่วนการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ยังเปิดดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ โดยให้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ใน กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานประกอบการใด ให้ปิดสถานที่นั้น ๆ เพื่อจัดระเบียบและระบบป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือหากพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม. พิจารณาเพิ่มการปิดร้านอาหารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สถานประกอบการที่เป็นห้องแอร์ สถานประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยเช่นกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 ที่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน ซึ่งระบุว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว

พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาดหยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย

ม.หอการค้า ประเมินผลกระทบโควิดระบาดระลอกใหม่ ทุบดัชนีเชื่อมั่น มี.ค. วูบ คาดฉุดกำลังซื้อหดหาย 3 - 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯผ่านสถานบันเทิง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มาจากอังกฤษที่แพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้นนั้น ส่งผลกับความมั่นใจและกำลังซื้อของประชาชนทำให้มีความวิตกกังวลต่อการใช้จ่ายและการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมองว่าจะทำให้เงินจากการบริโภคของประชาชนหายไป 5 - 10% หรือ อยู่ที่ประมาณ 30,000 - 50,000 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่จะสามารถคลี่คลายได้ภายใน 1 - 2 เดือน ส่งผลทำให้เม็ดเงิน หายออกไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 60,000 - 100,000 ล้านบาท หรือ กระทบกับจีดีพี 0.3 - 0.5% โดยยังมีปัจจัยหนุนการส่งออกที่เริ่ม ปรับตัวดีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ในขณะที่การค้าชายแดนยังคงทำการค้าได้ จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ในกรอบเดิมที่ 2.5 - 3.0% ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศและห้ามการเดินทางในประเทศเป็นสำคัญ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมี.ค. 2564 จากสำรวจภาคเอกชน 369 ราย ระหว่างวันที่ 23 - 29 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจทุกจังหวัดส่วนใหญ่ 94% ระบุว่าเศรษฐกิจและการค้า อยู่ในภาวะแย่ลงและไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ยังไม่กลับเท่าปี 2562 กังวลเสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง ส่วนราคาพืชผลเกษตรดีแต่ด้วยบางพื้นที่เจอภัยแล้งผลผลิตต่ำลงจึงกระทบต่อรายได้ที่ได้รับลดลง

สมาคมภัตตาคาร ออกมาตรการ คุมเข้มรับมือโควิดระบาดรอบใหม่ พร้อมขั้นตอนปฏิบัติ หากพบผู้ใช้บริการร้านอาหารติดโควิด

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง มาตรการของร้านอาหารในช่วงโควิด-19 เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของร้านอาหารในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง โดยขอความร่วมมือร้านอาหารทุกร้าน หากยังจะเปิดดำเนินธุรกิจตามปกติ หากมีผู้ป่วยหรือบุคคลที่มีไทม์ไลน์ มาจากสถานที่สุ่มเสี่ยงเข้ามารับประทานอาหารที่ร้าน สมาคมฯ ขอให้มีการกำหนดมาตรการและขั้นตอนสำหรับร้านอาหารรวมทั้งเงื่อนไข ให้ปฏิบัติตามดังรายละเอียด

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หรือผู้ที่มีไทม์ไลน์ มาใช้บริการทางร้าน คือ 1. แจ้งปิดร้านอาหารทันทีทาง Social Media และสื่อต่างๆของร้านและหน้าร้าน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน 2.ให้พนักงานทุกคนที่สัมผัสผู้ป่วยหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีและเข้าตรวจหาเชื้อกับโรงพยาบาลทันทีและให้แยกกักตัว 14 วัน พร้อมแยกผู้มีความเสี่ยง ดังนี้

วงที่ 1 ลูกค้า และพนักงานเสิร์ฟที่ดูแลลูกค้าโต๊ะนั้น ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงสูง และลูกค้าที่นั่งโต๊ะติดกันกับผู้ติดเชื้อ หรือสุ่มเสี่ยงแจ้งให้ทราบทันทีเพื่อเข้ารับการดูตรวจหาเชื้อกับโรงพยาบาลและให้กักตัว 14 วัน

วงที่ 2 พนักงานเสิร์ฟ ส่วนหน้า โซนลูกค้าติดเชื้อ มีความเสี่ยงต่ำ ส่งพนักงานเข้าตรวจเชื้อกับทางโรงพยาบาลทันทีและสังเกตอาการเวลา 14 วัน พนักงานในส่วนอื่นๆและพนักงานเสิร์ฟที่ไม่ได้เสิรฺ์ฟกับลูกค้าโต๊ะที่มีลูกค้าติดเชื้อหรือสุ่มเสี่ยงให้กักตัวสังเกตอาการ 14 วัน เมื่อมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อกับทางโรงพยาบาลทันที

วงที่ 3 ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง พนักงานในครัวและลูกค้าที่ใช้บริการก่อนและหลังรอบเวลานั้น หรือหลังวันถัดไปและพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในวันนั้นปลอดภัยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องตรวจหาเชื้อ เพราะไม่ได้สัมผัสเชื้อ แต่หากมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที

3. พนักงานที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด จะต้องเปิดไทม์ไลน์ ก่อนและหลังอย่างน้อยเป็นเวลา 5 วันเป็นต้นไป และทางร้านจะประสานงานกับโรงพยาบาลทันทีตามสิทธิประกันสังคมของพนักงานที่สัมผัสผู้ป่วยทุกคนตรวจหาเชื้อฟรี และติดตามการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่น โรงพยาบาลของรัฐหรือศูนย์ตรวจเชื้อ และโรงพยาบาลในกรุงเทพฯปริมณฑล 106 แห่งได้แก่ภาครัฐ 43 แห่ง

4. แจ้งเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันทีเพื่อให้ดำเนินการป้องกัน และควบคุมรวมทั้งมาทำการฉีดพ่นฆ่าเชื้อที่ร้าน และ 5. ทำความสะอาด Big Cleaning ฆ่าเชื้อไวรัสแบคทีเรียในอากาศและพื้นผิวสัมผัสทุกที่ภายในร้านการฉีดพ่นสารทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาฟอกขาวสามารถใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวได้ และสำหรับพื้นผิวที่เป็นโลหะ สามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดได้

ห้างสรรพสินค้า ยกระดับคุมเข้มการระบาดโควิดระลอกใหม่สูงสุด ประกาศปิด 3 ทุ่ม พร้อมงดกิจกรรมรวมตัวของคนจำนวนมาก เริ่มวันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 64

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากรายงานศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ประจำวันที่ 13 เมษายน 2564 ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าพันราย นับเป็นการแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 3 รอบใหม่ที่จะเป็นความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย จึงประกาศยกระดับมาตรการการเฝ้าระวังการระบาดของโควิดครั้งนี้ด้วยการเพิ่มมาตรการเข้มข้นในการคัดกรองผู้บริโภคเข้าศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ในระดับสูงสุด

ทั้งนี้ ได้ประกาศเลื่อนปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศเป็นเวลา 21.00 น. ทุกวัน พร้อมทั้งงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก รวมถึงการให้พนักงาน Work From Home เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทุกหน่วยงาน สามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด แจ้งว่า ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเดอะมอลล์ ทั้ง เดอะมอลล์ ทุกสาขา, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ขอปรับเวลาให้บริการ โดยเปิดให้บริการทุกวันตามเวลาปกติ และปิดเวลา 21.00 น. ทุกวัน ทุกสาขา ยกเว้น เดอะมอลล์ รามคำแหง ปิดเวลา 20.00 น. ทุกวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2564 เป็นต้นไป (หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง)

สมาคมธนาคารไทย แจ้งปรับเปลี่ยนเวลาทำการหนีโควิด สาขาในห้าง ปิด 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เว้นระยะห่างที่เหมาะสม

สมาคมธนาคารไทย แจ้งว่า ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ปรับปิดเวลาทำการธนาคารในพื้นที่เสี่ยง พร้อมสั่งปิดเวลาทำการแบงก์ในห้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยธนาคารอาจพิจารณาปิดสาขาบางแห่งชั่วคราวสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดตามประกาศของจังหวัดหรือรัฐบาล ซึ่งลูกค้ายังคงสามารถใช้บริการที่ตู้ ATM หรือทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตามปกติ โดยขอให้ตรวจสอบรายชื่อสาขาที่ปิดการบริการทาง website ของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารปรับเวลาปิดสาขาทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 16 เมษายน 2564 นี้ คือ สาขาในห้าง/สาขาที่เปิดให้บริการ 7 วัน ปิด ไม่เกินเวลา 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมกันนี้ยังจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เพื่อเว้นระยะห่างที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามในกรณีสาขาใดมีพนักงานหรือลูกค้าติดเชื้อเข้าใช้บริการ กำหนดให้แต่ละธนาคารปิดเพื่อพ่นฆ่าเชื้อทันที และเปิดทำการเมื่อเสร็จสิ้น, พนักงานที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ให้ตรวจเชื้อ/และทำการกักตัวเองในที่พักทันที (Self-Quarantine at Home) ในระยะเวลาตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และจัดให้มีพนักงานปฏิบัติงานทดแทน ซึ่งเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องสัมผัสเชื้อ เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน

กรมการค้าภายในส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเข้มต่อเนื่อง ย้ำห้ามผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าช่วงโควิดระบาด ชี้โทษหนักคุก 7 ปี ไม่ติดป้ายราคาปรับไม่เกิน 1 หมื่น

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และสินค้าที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด ทั้ง หน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก เจลแอลกอฮอล์ และสินค้าเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาส

ขณะเดียวกันยังได้แจ้งให้ร้านค้าต่าง ๆ ต้องติดป้ายแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หากตรวจพบว่าใครฝ่าฝืน จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย คือ กรณีไม่ติดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีที่มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควร กักตุนสินค้าหรือปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังประสานไปยังร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ต้องปฏิบัติตามกฎเหล็กอย่างเคร่งครัด ห้ามขายบุหรี่ สุรา เบียร์ให้แก่ผู้ถือบัตร ห้ามยึดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ห้ามรับ แลกเป็นเงินสด ห้ามเอาเปรียบฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาและขายเกินราคาที่กำหนด และห้ามบังคับการซื้อ/ขายสินค้า ถ้าหากมีการตรวจพบการกระทำผิด จะถูกเพิกถอนสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและแจ้งกรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อเรียกคืนเครื่องอีดีซี หรือยกเลิกการใช้แอพพลิเคชั่น และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมปล่อยกู้สินเชื่อซอฟต์โลน และโครงการพักหนี้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ธปท.จะเริ่มให้สถาบันการเงินมาขอเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทั้ง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ภาคธุรกิจต่อ หลังจากได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64

ล่าสุด ธปท. ได้ออกประกาศจำนวน 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ได้เตรียมความพร้อมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปสู่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ขอให้สถาบันการเงินรับคำขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากลูกหนี้ได้ตั้งแต่ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ธปท. และติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการได้ทันที


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม ""บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!"" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศระเบียบคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2564

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งว่า ขณะนี้ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศระเบียบคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ว่าด้วยมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์ ที่พึงปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ.2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

สำหรับสาระสำคัญมาตรฐานนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ให้บริการนำเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด คือ ให้บริการนำเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านมาตรการกักตัวตามระยะเวลาและในสถานที่ที่รัฐกำหนด และต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA และต้องมีระบบการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวในระหว่างที่มีการให้บริการนำเที่ยว หรือแทรคกิ้ง ด้วย

ขณะเดียวกันยังกำหนดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายนักท่องเที่ยวก่อนขึ้นรถ หากพบว่ามีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป หรือมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อไปยังสถานพยาบาลทันที จัดบริการเจลแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อให้กับนักท่องเที่ยวสำหรับพกติดตัวขณะท่องเที่ยว โดยอย่างน้อยให้มี 1 คน ต่อหนึ่งขวดหรือหนึ่งหลอด พร้อมมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด สำหรับนักท่องเที่ยวให้เพียงพอตลอดรายการนำเที่ยว เช่น เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% ขึ้นไป หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สบู่เหลวล้างมือ

รวมทั้งกำหนดให้มัคคุเทศก์สื่อสารกับนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อขณะนำเที่ยว ส่วนมัคคุเทศก์ ผู้ช่วยมัคคุเทศก์ พนักงานขับรถและนักท่องเที่ยวทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะปฏิบัติหน้าที่หรือขณะท่องเที่ยว พร้อมทำความสะอาดและอาจฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบนยานพาหนะนำเที่ยวทุกวัน และทุกครั้งหลังจากใช้บริการเสร็จสิ้น โดยเน้นจุดสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได ที่พักแขน พนักพิง ราวจับ เบาะนั่ง หน้าต่าง ส่วนเครื่องดื่มหรืออาหารว่างสำหรับนักท่องเที่ยวต้องจัดเก็บอย่างเหมาะสมต้องมีถังขยะมีฝาปิดหรือถุงขยะสภาพดีสำหรับแยกทิ้งขยะที่เหมาะสมและเพียงพอ และมีการเก็บรวมขยะโดยมัดปากถุงให้มิดชิดเพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘คลัง’ ขอครม.เพิ่มงบ ‘เราชนะ’ อีก 3 พันล้านบาท ช่วยผู้ใช้สิทธิไม่มีสมาร์ทโฟนและติดเตียง หลังพบจำนวนผู้ใช้สิทธิสูงเกินคาดจาก 31 ล้านคน เป็น 33 ล้านคน พร้อมขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 1 เดือน

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (20 เม.ย.) นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอของบประมาณจำนวน 3 พันล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ เราชนะ เพิ่มเติม เนื่องจาก มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้จากกว่า 31 ล้านคน เป็นราว 33 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังเสนอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการเป็นสิ้นสุด มิ.ย. จาก พ.ค.นี้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิของกลุ่มที่ได้รับสิทธิใหม่ โดยกลุ่มผู้ได้รับสิทธิใหม่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนและป่วยติดเตียง

"เดิมเราคาดการณ์จำนวนผู้ใช้สิทธิเราชนะที่ประมาณ 31 ล้านคน แต่ขณะนี้ มีผู้ใช้สิทธิมากกว่านั้น เราคาดว่า จะเพิ่มเป็น 33 ล้านคน จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพิ่มวงเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายดังกล่าว"

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะดำเนินการหลังสิ้นสุดโครงการเราชนะแล้ว อาจจะเป็นโครงการที่เคยดำเนินการไปแล้วในระยะที่ผ่านมาและจะมีโครงการใหม่เพิ่มเติมด้วย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top