Saturday, 4 May 2024
Impact

ธนาคารแห่งประเทศไทย จับมือธนาคารกลางสิงคโปร์ จับ PromptPay - PayNow โอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ เป็นคู่แรกของโลก

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทย และระบบเพย์นาว (PayNow) ของประเทศสิงคโปร์ ว่า การเชื่อมโยงระบบในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือและการทำงานอย่างเข้มแข็งของทุกฝ่าย ทั้ง ธปท. และธนาคารกลางสิงคโปร์ ผู้ให้บริการระบบการชำระเงินสมาคมธนาคาร และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ในระยะแรก ผู้ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ จะสามารถโอนเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ได้ในจำนวนไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 25,000 บาท ต่อวันผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน และไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลอื่นเหมือนบริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล และรายละเอียดของบัญชีผู้รับโอน บริการนี้จะช่วยให้ผู้โอนสามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทำได้ทุกที่ทุกเวลาเสมือนกับการโอนเงินภายในประเทศด้วยหมายเลขโทรศัพท์ผ่านพร้อมเพย์หรือเพย์นาว โดยการโอนใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที เร็วกว่าการโอนเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ตกลงร่วมกันให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของพร้อมเพย์-เพย์นาว ถูกกว่าการโอนเงินในรูปแบบปัจจุบันและแข่งขันกับบริการโอนเงินระหว่างประเทศอื่นในตลาดได้ โดยผู้ใช้บริการจะเห็นค่าธรรมเนียมและอัตราแลกเปลี่ยนก่อนตัดสินใจโอนเงิน โดย ธปท. และ MAS มีความตั้งใจที่จะขยายผลของการบริการพร้อมเพย์ - เพย์นาว ทั้งการเพิ่มจำนวนธนาคารที่ให้บริการ และการขยายวงเงินการโอนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในอนาคต

"ธปท. มีความตั้งใจที่จะยกระดับการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือกับประเทศอาเซียนและประเทศอื่น ๆ โดยได้พัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านคิวอาร์โค้ดกับประเทศญี่ปุ่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งบริการจากความร่วมมือของ MAS และ ธปท. นี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่มีมานานในการโอนเงินระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องระยะเวลานานในการทำธุรกรรม และต้นทุนที่สูง ในระยะต่อไป ธปท. จะยังคงผลักดันนวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศและโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับการบูรณาการทางการเงิน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประเทศและภูมิภาคอาเซียน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายระวี เมนอน กรรมการผู้จัดการ MAS กล่าวว่า พร้อมเพย์ - เพย์นาว เป็นความพยายามริเริ่มร่วมกันที่ทำให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินและภาคธนาคารมีศักยภาพรองรับการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างไร้รอยต่อ เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับลูกค้ารายย่อย โดย MAS และ ธปท. มีเป้าประสงค์ร่วมกันที่จะต่อยอดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไปสู่ระดับอาเซียนต่อไป


ที่มา : https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Speeches/Gov/SpeechGov_29Apr2021.pdf

"พรรคกล้า" ร่อนแถลงการณ์ 5 ข้อ เสนอรัฐบาล ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร

"พรรคกล้า" ร่อนแถลงการณ์ 5 ข้อ เสนอรัฐบาล ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร จำกัดค่าธรรมเนียม Delivery , ช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงาน 50%, งดจัดเก็บภาษีผู้ที่ได้รับผลกระทบ , ผ่อนผันชำระหนี้-ดอกเบี้ยเงินกู้ , ลดค่าเช่าที่ เชื่อหากรัฐไม่ช่วย ตายหมู่แน่ 

พรรคกล้า ออกแถลงการณ์ข้อเสนอ 5 ข้อเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร หลังจากรัฐมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านในพื้นที่ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดย 

1.) ควรเร่งเจรจากับ Platform online ที่ร้านอาหารทั้งหลายใช้เป็นช่องทางขายและจัดส่งอาหารอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือ GP เกินร้อยละ 15 อย่างน้อยก็ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน

2.) รัฐควรช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในร้านอาหารเหล่านี้ร้อยละ 50 ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามมีลูกค้านั่งในร้านอาหาร 

3.) งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง 

4.) ผ่อนผันการผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดผ่อนต้นผ่อนดอก ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน และ 

5.) ในกรณีที่ร้านอาหารมีค่าเช่าพื้นที่ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่ควรลดค่าเช่าให้ด้วย อย่างน้อยร้อยละ 50 และเจ้าของพื้นที่สามารถนำส่วนลดที่ให้กับร้านอาหารเหล่านั้น ไปขอลดหย่อนภาษีจากทางรัฐบาลได้ ในรอบบัญชีถัดไป เพื่อเป็นการชดเชยและลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารที่ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน 

นายวรวุฒิ อุ่นใจ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า เพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อโควิค-19 ก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องออกคำสั่งไม่ให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้าน แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือมาตรการเยียวยาช่วยเหลือด้วย เพราะร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในสภาพใกล้ปิดกิจการเต็มทีแล้ว ถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือคงมีผู้ประกอบการล้มหายตายจากกันไม่น้อยแน่ 

"มาตรการทั้ง 5 ข้อที่พรรคกล้านำเสนอนี้ สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีความเดือดร้อนอยู่หลายแสนรายได้ ไม่ให้ต้องปิดกิจการ และอยู่บริการสังคมในช่วงโควิดได้ตลอดรอดฝั่ง แต่หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ จะสร้างคำถามมากมายจากผู้ประกอบการ ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าเชื่อฟังคำสั่งรัฐบาล" นายวรวุฒิ กล่าว

เศรษฐกิจต้องไม่หยุดชะงัก! ‘บิ๊กตู่’ สั่งชงมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ 5 พ.ค.นี้ ทั้งมาตรการเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เชิญคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเข้าพบเพื่อหารือเรื่องมาตรการดูแล เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ในรอบล่าสุดนี้ โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำในที่ประชุมว่า ตอนนี้มีความจำเป็นที่ต้องพิจารณามาตรการรอบใหม่ด้วยความรวดเร็วและรอบคอบ โดยมาตรการใดที่สามารถดำเนินการได้ทันที นายกฯ ได้ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 5 พ.ค. 64 นี้โดยด่วน

นายอนุชา กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาถึงความคืบหน้าของมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของมาตรการด้านการเงินผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการออก พ.ร.ก. ด้านการเงินต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงมาตรการด้านภาษี ทั้งการลดภาษีและการขยายกำหนดเวลาต่างๆ อีกทั้งมาตรการด้านการคลังผ่านโครงการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1-2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการเราชนะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบล่าสุดนี้ ได้กระจายไปทั่วประเทศ และมีผลกระทบในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแลและเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยจะพิจารณามาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน มาตรการการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย

ผู้ว่า ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิด-19 ‘งานยาก งานยาว’ และความหวังเดียวที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทย คือ วัคซีนโควิด เท่านั้น ห่วงภาระหนี้รายย่อย กลุ่มแรงงาน ภาคท่องเที่ยว ผลกระทบหนักสุด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ผ่านรายการกาแฟดำ โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ในหลายประเด็น โดยระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ จะฟื้นตัวได้ช้า โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้าเพราะประเทศไทยพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่จะมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนแค่ 11-12% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างการส่งออก การบริโภค และการลงทุน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 20%

ดังนั้นแล้ว ผลข้างเคียงกับแรงงานใน 20% นี้ คือ ไม่มีงานทำ รายได้หาย ส่งผลไปถึงการบริโภค การจับจ่ายระดับล่างถึงกลางสะดุด ซึ่งถ้าโฟกัสแต่ตัวจีดีพีในระยะต่อไปอาจกลับมาใกล้เคียงเดิม เพราะภาคการส่งออกเริ่มกลับมา แต่ถ้ามองเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคน ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ‘ยาก’

“ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ เดิมปีนี้ (2564) ไม่ได้มองไว้เยอะแต่ก็คิดว่าไตรมาส 4 อาจจะมีบ้าง แต่ปีหน้ามองไว้ที่ 20 ล้านคน”

เหตุผลที่ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวจะต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ ดร.เศรษฐพุฒิ มองภาพสะท้อนจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 ว่า ด้วยตัวของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่ได้เร็ว เรื่องของการกลายพันธุ์ ไปจนถึงความมั่นใจในตัววัคซีนโควิด-19 ก็อาจจะยังมีคำถามจากสังคม ไปจนถึงแผนการฉีดวัคซีน ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันจึงไม่ได้มีความราบรื่นในทีเดียว

ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ถ้ามองลงไปที่ผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ ของสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ แบ่งเป็น มนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ จะเป็นการปรับรูปแบบการทำงานมาเป็น Work From Home แต่ก็ไม่ถึงกับเลิกจ้าง แต่ในกลุ่มของแรงงาน พนักงานบริการ กระทบจากการปิดกิจการ เลิกจ้าง ขาดรายได้ ตรงนี้ก็ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการฟื้นตัวจึงไม่ใช่แบบเดิม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นำไปสู่การพิจารณาเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตรอบนี้ การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันทุกจุด ภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เริ่มกลับมา แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมืดมน ธนาคารแห่งปนะเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนแนวมาตรการ โครงการต่าง ๆ จากช่วงแรกเน้นไปที่การ ‘พักหนี้’ ทุกคนถูกดึงเข้าสู่มาตรการพักหนี้ ปรากฏว่า ยาตัวเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน

เพราะคนกลุ่มนี้เขาต้องการหยุด ‘หนี้เดิม’ หนี้ก้อนที่ไม่สามารถจ่ายได้เพราะขาดรายได้ การพักหนี้ พักจริงเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยไม่ได้พักตาม ดังนั้นจึงนำมาสู่ การปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบของการยืดระยะเวลาของหนี้และลดการจ่ายต้น

“ที่กังวลมากคือ ภาระหนี้เดิมของรายย่อย ครัวเรือน กลุ่มนี้คือหนี้เดิมเยอะอยู่แล้ว ภาระหนี้เก่า ตอนแรกทำพักหนี้ แต่ไม่ใช้ทางที่ยั่งยืน แต่เมื่อเข้าปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้นแล้วให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ”

นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมธนาคารพาณิชย์เคยคิดกับลูกหนี้ก็ให้หยุดดอกเบี้ยไว้ โดยไม่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานเงินต้นทั้งหมด แต่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริง ๆ ตรงนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง

หากเปรียบเทียบสถานการณ์นี้ กับ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ยากกว่า ด้วยความต่างกันมาก หากย้อนกลับไปปี 2540 เป็นเรื่องของค่าเงิน เรื่องหนี้ต่างประเทศ บริษัทใหญ่ กลุ่มธนาคาร นักลงทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่ นักธุรกิจ จะได้รับผลกระทบหนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีทางแก้ที่ชัดจน มีวิธีอยู่ในตำราชัดเจน แต่รอบนี้ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่โลกและประเทศไม่เคยเจอ ถือว่า ‘ยากกว่า’ ที่สำคัญคือ กระทบรายย่อย แรงงาน ธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งขยายวงกว้าง ที่สำคัญคือโดนจุดสำคัญของไทย ‘ภาคการท่องเที่ยว’

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในท้ายที่สุดมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ต่อให้ออกมามากมายก็ยังถือว่าเป็น ‘พระรอง’ เพราะพระเอกของการแก้ปัญหาครั้งนี้ คือ วัคซีน ซึ่งจะหยุดวงจรการระบาดได้


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news

มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ชี้!! ปรากฏการณ์ 'สรยุทธ' คืนจอ ดันเรตติ้งรายการข่าวช่อง 3 พุ่ง 10-30%

มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ชี้!! ปรากฏการณ์ 'สรยุทธ' คืนจอ ดันเรตติ้งรายการข่าวช่อง 3 พุ่ง 10-30% 'เรื่องเล่าเช้านี้' เบียดแซง 'สนามข่าว 7 สี' ขึ้นอันดับ 1 ข่าวเช้าเขตกรุงเทพฯ-หัวเมืองใหญ่ เม็ดเงินโฆษณาเพิ่ม 50% ชี้แบรนด์มั่นใจโยกงบฯ วาไรตี้-ละครช่องอื่น ๆ หนุน คาดอาจเกิดปรากฏการณ์ไพรมไทม์รายการข่าวเป็นช่วงเช้าแทนช่วงเย็น


ที่มา: บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ

https://www.prachachat.net/marketing/news-664621

 

บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบปรับลดเงินสมทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 เป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม มิถุนายน-สิงหาคม 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิด-19 เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .....

โดยให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ส่วนงวดเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 ทั้งนี้ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลดเงินสมทบในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้าง จำนวน 485,113 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,163 ล้านบาท อันเป็นการลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้นและเป็นการรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างอีกด้วย

‘กกร’ หั่นจีดีพีปี 2564 อีกระลอก หลังประเมินโควิด-19 รุนแรงจากเดิมคาดจะโต 1.5-3% เหลือ 0.5-2% พร้อมหนุนรัฐกู้ 7 แสนล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ แนะเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง เป็น 6,000 บาท ดันกำลังซื้อ ภายในมิ.ย. ชี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมกกร.ประจำเดือนพ.ค. ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 อย่างมาก

ดังนั้นกกร.จึงปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ใหม่จากเดิมในเดือนเม.ย. คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะโต 1.5 -3% เป็นขยายตัว 0.5-2% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยจากสหรัฐจึงปรับการส่งออกจากเดิม โต 4-6% เป็น 5- 7% ขณะที่เงินเฟ้อคงเดิมที่ 1-2%

“ประเมินว่าโควิดที่ระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และไตร 3 เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2% ดังนั้นการเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน “นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มี Momentum ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป

ทั้งนี้กกร.ได้ขอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 เรื่อง โดยเสนอ

1.) เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

2.) เร่งผลักดัน พรก เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.) เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4.) เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ตลท. เล็งยกระดับ “Settrade Streaming” เป็นแพลตฟอร์มกลางซื้อขายทุกสินทรัพย์ "หุ้น- คริปโต-ดิจิทัลแอสเสท ฯลฯ" เพิ่มความสะดวกนักลงทุน ลดความซ้ำซ้อน เปิดบัญชี-ส่งออเดอร์ผ่านหลายตลาด ตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในโลกสมัยใหม่นักลงทุนหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสัดส่วนมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ Settrade Streaming เพื่อให้สามารถซื้อขายสินทรัพย์การลงทุนได้ทุกประเภท ทั้งหุ้น, สินทรัพย์ลงทุนรูปแบบดิจิทัล (Digital Asset), สกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี), กองทุน, ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ (DR) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ฯลฯ ในที่เดียว

“นักลงทุนไม่ควรต้องเปิดบัญชีซ้ำซ้อน หรือซื้อขายสินทรัพย์ลงทุนผ่านตลาดหลายแห่ง เราจึงมุ่งพัฒนาระบบ Settrade เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย เพื่อรองรับการลงทุนทั้งสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบเดิม (Traditional), Digital Asset รวมถึงคริปโตเคอเรนซี แม้ในอนาคตอันใกล้ตลท. จะยังไม่ถึงขั้นเปิดให้ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี แต่เราจะมีช่องทางเชื่อมต่อให้ซื้อขายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเข้าถึงได้ง่าย ซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เงินลงทุนไม่สูง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนนำหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีศักยภาพแต่มีราคาต่อหุ้นสูง เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ บมจ.ปตท. (PTT) มาออกเป็น DR เพื่อให้สามารถซื้อขายเศษส่วนของหุ้น (Fractional Shares) ได้ด้วยเงินหลักร้อยบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการสำรวจตลาด (Market Survey) กับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก โดยคาดว่าจะสามารถซื้อขายได้จริงภายในปีนี้

นายภากร กล่าวว่า วานนี้ (24 มิ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าร่วมงาน Maybank Kim Eng's Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อเสวนา The ASEAN investor : Where are the next opportunities? ร่วมกับผู้บริหารตลาดหุ้นอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ตลาดหุ้นมาเลเซีย ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และตลาดหุ้นสิงคโปร์ ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยตลาดหุ้นไทยพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มียอดเปิดบัญชีใหม่สูงถึง 1.03 ล้านบัญชี ทำให้จำนวนบัญชีรวมเพิ่มเป็น 4.54 ล้านบัญชี สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดังนั้นการพัฒนาตลาดทุนในระยะถัดไปจะเน้นอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาซื้อขายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ผ่านการพัฒนาระบบเปิดบัญชีออนไลน์ที่สามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดทุนได้อย่างยั่งยืน โดยมองว่าหากนักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างยั่งยืนแล้ว จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน และสุดท้ายคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ในส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดหลักสูตรให้ความรู้ (Education) แก่ผู้ประกอบการรายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นของไทยมีแนวคิดทางธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ยังขาดความรู้ทางการเงินที่จะเข้ามาหนุนการเติบโต ตลอดจนการจับคู่ให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุนมาเจอกัน (Glooming) และสุดท้ายอยู่ระหว่างสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็ก จากปัจจุบันที่มีแหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด เช่น ครอบครัว หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน (ESG) โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้ บจ.รายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมในรายงานที่ต้องส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945308


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ครม. เห็นชอบเร่งร่างกฎหมายล้มละลายฉบับใหม่ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย ฉบับใหม่ โดยในส่วนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิรูปในระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีหลักการสำคัญในการสร้างกลไกให้ลูกหนี้ที่เป็นเอสเอ็มอี สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับการฟื้นฟูกิจการปกติ ลดขั้นตอนและใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า

สำหรับสาระสำคัญ คือ

1.) เพิ่มเติมจำนวนหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ที่สามารถร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการได้ จาก “จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท” เป็น “ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการเพิ่มจำนวนหนี้อ้างอิงจากข้อมูลเชิงสถิติระหว่างปี 2560-2563 คดีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอลูกหนี้มีจำนวนหนี้มากกว่า 50 ล้านบาท กว่า 90% ของคดีทั้งหมด

2.) กำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็นเอสเอ็มอี ดังนี้

(2.1.) ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็นเอสเอ็มอี ต้องขึ้นทะเบียนกับ สสว. หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงจะสามารถร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้

(2.2.) กำหนดให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ โดยที่ยังไม่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอศาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้มีการพักชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้

3.) กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกหนี้ที่เป็นเอสเอ็มอี สามารถเลือกยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดได้ โดยแนบแผนพร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนแล้วต่อศาล

โดยให้ศาลพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวเป็นการด่วน แต่หากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอเพราะแผนไม่เข้าหลักเกณฑ์ ลูกหนี้อาจยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการอีกได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อห้ามเรื่องระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลยกคำร้องขอกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ แนะธนาคาร ลูกค้า หน่วยงานกำกับ ปรับแก้ระบบชำระเงิน กันเงินรั่วไหล ยัน Mobile Banking ยังเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย เพราะโทรศัพท์เป็นทรัพย์สินส่วนตัว 

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษานโยบายด้านเทคเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล พรรคกล้า อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงกรณีเงินรั่วไหลจากบัญชีของธนาคารที่เป็นกระแสข่าวอยู่ตอนนี้ว่า จุดรั่วใหญ่สุดน่าจะอยู่ที่ร้านค้าหรือแอปพลิเคชันที่ปล่อยให้มีการชำระผ่านบัตรเครดิต หรือเดบิต ที่หละหลวมเกินไป ทำให้เกิดกรณีการใช้โปรแกรมเดาเลขที่บัตรได้ 

ฉะนั้นวิธีแก้ไขที่ควรเร่งปฏิบัตินั้น สมคิด ได้แนะแนวทางต่อผู้เกี่ยวข้อง 3 ด้านดังนี้...

>> ด้านธนาคาร 
1.) ควรมีระบบ Fraud Detection (ระบบตรวจจับการทุจริต) ที่ป้องกันการเกิดเหตุการณ์ผิดปกติเช่นนี้
2.) ควรมีระบบเตือนให้ลูกค้าทราบทุกๆ รายการทาง Mobile Banking หรือ SMS
3.) ไม่ควรรับการชำระเงินจากร้านค้า หรือแอปพลิเคชันที่หละหลวมเช่นนี้ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top