Saturday, 4 May 2024
Impact

นายกรัฐมนตรี ดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ‘เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว’ เครื่องจักรตัวใหม่ขับเคลื่อนประเทศ ตั้งเป้าเพิ่ม GDP อีก 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569  พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลของการพัฒนาดังกล่าวต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะ “ทำมากได้น้อย” เนื่องจากไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรได้เต็มศักยภาพ เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG"  หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม

กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (2) บริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน (3) ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (4) สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ (5) สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569  อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4  สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์  3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2561 รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  

“ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีศักยภาพเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ BCG Model คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

คณะกรรมการบริหารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

ธรรมชาติไม่ใช่เพียงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป แต่ธรรมชาติจะเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีของมนุษย์รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำตามหลักการหมุนเวียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้นการตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับแรก ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานและให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” แทน

ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปเพิ่มศักยภาพของชุมชน ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต/บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯได้เห็นชอบกรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ยกเป็น “วาระแห่งชาติ” สำหรับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19 Strategy) พร้อมให้นำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้าคือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การแปรปรวนของภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดลงของทรัพยากร ด้วยเหตุนี้การพัฒนาและขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะสามารถสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และยังเปลี่ยนแรงกดดันหรือข้อจำกัดเป็นพลังในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการเร่งรัดพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัว และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว”

กฟภ.เผยอยู่ระหว่างเจรจากับ ปตท.เพื่อร่วมมือในการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ คาดชัดเจนในปีนี้

นายภานุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ.อยู่ระหว่างเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อร่วมลงทุนในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. รวมทั้งขยายในสำนักงานย่อยของ กฟภ.ด้วย เบื้องต้นจะติดตั้งประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

“การลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเริ่มเห็นมีการวิ่งในท้องถนนกันมากขึ้น และค่ายรถยนต์หลายค่ายก็เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าจะมีคนใช้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายรายก็เริ่มมีการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จ EV รวมถึงพัฒนารถยนต์ EV ทั้งนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตหรือมีการใช้มากขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายของภาครัฐด้วย” นายภานุมาศกล่าว

ก่อนหน้านั้น กฟภ.ได้มีความร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick charge สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท บางจากฯ ในทุกๆ 100 กิโลเมตร ตามถนนสายหลักของประเทศไทยรวม 62 สถานีภายในปี 2563 - 2564

บอร์ดก.ล.ต. มีมติให้ bitkub แพลตฟอร์มซื้อขายบิทคอยน์ แก้ไขระบบงานภายใน 5 วัน เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน หลังมีคนร้องเรียนจำนวนมาก จากกรณีระบบซื้อขายล่มหลายครั้ง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าตามที่ปรากฏข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าเกิดกรณีปัญหากับระบบงานของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) โดยพบว่า มีกรณีที่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ และมีการหยุดชะงักของระบบงานสำคัญ ได้แก่ ระบบซื้อขายวันที่ 2 วันที่ 3 และวันที่ 16 มกราคม 2564 รวมทั้งมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากนั้น

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีมติให้ Bitkub ส่งแผนการแก้ไขให้ ก.ล.ต. และดำเนินการแก้ไขระบบงานที่เป็นประเด็นปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ได้แก่

แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานต่าง ๆ ได้แก่ ระบบการซื้อขาย ระบบการฝากถอนเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบการแสดงข้อมูลทรัพย์สินลูกค้า ระบบการให้บริการติดต่อลูกค้า ระบบการรับลูกค้า การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) และการเปิดบัญชี ระบบการจัดการเรื่องร้องเรียน และการจัดการบุคลากรให้เหมาะสมและเพียงพอกับปริมาณลูกค้าและธุรกรรม

แก้ไขนโยบายการรับลูกค้าให้เหมาะสมกับระบบงานที่พร้อมให้บริการตามข้อตกลงระดับการให้บริการที่ตกลงไว้กับลูกค้า (Service Level Agreement)

แก้ไขระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ระบบซื้อขายขัดข้อง สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ ปริมาณลูกค้า และธุรกรรมในปัจจุบัน

แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงาน ของระบบซื้อขายให้มีความเรียบร้อย (Market Surveillance)

อาร์เอส ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ ขยายอาณาจักรเพิ่มจากบันเทิง-ช้อปปิ้ง ไปสู่ธุรกิจสายการเงิน เน้นเข้าควบรวมธุรกิจเฉพาะ สร้างฐานเครืออาร์เอสมั่นคงในระยะยาว

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การก้าวสู่ New Era เพื่อสร้าง New S-Curve นั้น การเข้าซื้อลงทุนในกิจการ หรือ M&A เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้าง Ecosystem ให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนมั่นคงในระยะยาว ด้วยการเข้าลงทุนผ่านงบ 920 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 'บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด' โดยได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน

สำหรับเหตผลที่ อาร์เอส เข้าซื้อหุ้น 'กลุ่มบริษัทเชฎฐ์' เพราะมองว่าภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำนวนหนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดโมเดลธุรกิจ Entertainmerce โดยการเข้าซื้อหุ้น บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ที่มีบริษัทย่อย 3 บริษัท (ถือหุ้น 100%) ได้แก่ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย จำกัด และ บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเรียกรวมว่า กลุ่มบริษัทเชฎฐ์ ซึ่งประกอบธุรกิจหลัก ได้แก่

1) ธุรกิจบริหารหนี้ครบวงจร และที่ปรึกษาการบริหารจัดการหนี้ ดำเนินการโดย บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด มีพนักงาน Call center กว่า 400 คน และทีมติดตามและบริหารหนี้กว่า 100 คน สำหรับรองรับการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าพอร์ตให้บริการติดตามหนี้สินกว่า 45,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีลูกหนี้กว่า 3 แสนราย ลูกค้าหลักได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน

2) ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ เข้าซื้อ รับโอนและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ NPL ทั้งจากกลุ่มสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจนี้ ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย จำกัด ได้รับใบทะเบียนบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (“ธปท.”) และ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ปัจจุบัน มีมูลค่าพอร์ตหนี้ภายใต้การบริหารกว่า 27,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีลูกหนี้กว่า 1 แสนบัญชี

3) ธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. และ บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัจจุบันมีมูลค่าสินเชื่อคงเหลือประมาณ 300-400 ล้านบาท รวมทั้งหมดกว่า 1,000 บัญชี

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุน กลุ่มบริษัทเชฎฐ์มีการประกอบธุรกิจที่ครบวงจร ตั้งแต่การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ การติดตามทวงถามหนี้ บังคับคดีและการให้สินเชื่อรายย่อย และมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้บริหาร ทีมงาน และบุคลากร ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การดำเนินการธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน จึงเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีให้กับอาร์เอส

โดยปีที่ผ่านมา คาดว่ากลุ่มบริษัทเชฎฐ์ มีประมาณการรายได้รวมราว 600-700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณเกือบ 150-200 ล้านบาท

ดังนั้น การที่ อาร์เอส กรุ๊ป เข้าถือหุ้นในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการรุกธุรกิจใหม่ เป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ เพราะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และยังมีแผนการเติบโตของพอร์ตบริหารหนี้และยอดสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในอนาคต

"จากความร่วมมือของทั้งสองกลุ่มบริษัทในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถสร้าง synergy ที่แข็งแรงมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทางทรัพยากรและจุดแข็งของแต่ละบริษัทฯ ทั้งในด้านสื่อ ช่องทางการขาย ระบบการบริหารจัดการข้อมูล และ Ecosystem ของ อาร์เอส กรุ๊ป รวมถึงประสบการณ์ความชำนาญในธุรกิจ และภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทเชฎฐ์ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์เสริมให้กันและกันอย่างมาก อาทิ การขยายฐานลูกค้า ช่องทางการขาย การใช้สื่อและกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ ซึ่งเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างและต่อยอดโมเดล Entertainmerce ได้อย่างแน่นอน และจะช่วยเสริมให้กลุ่มบริษัทเชฎฐ์มีการเติบโตที่แข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคตจนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี” นายสุรชัย กล่าว

ธนาคารออมสิน เผย 4 วัน อนุมัติ ‘สินเชื่อเสริมพลังฐานราก’ แล้ว 110,000 ราย พร้อมปรับหลักเกณฑ์ให้คนเคยกู้ ‘สินเชื่อฉุกเฉิน’ กู้อีกได้ ดีเดย์ ให้ยื่นกู้ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.64 เป็นต้นไป

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารออมสินมีมาตรการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อประชาชนรายย่อย สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดรายละ 50,000 บาท ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน MyMo ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นกู้เป็นจำนวนมาก เพียง 4 วัน (15-18 มกราคม 2564) ธนาคารฯ ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 110,000 ราย ซึ่งถือเป็นการให้กู้ยืมแบบดิจิทัล (Digital Lending) ที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก สะดวกและอนุมัติรวดเร็ว โดยขณะนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างมากมายและคาดว่าจะยังมีผู้สนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนรายย่อยและรองรับความต้องการที่มีเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเร่งด่วนที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ รวมถึงได้รับการอนุมัติที่รวดเร็ว ธนาคารจึงปรับหลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อขึ้นใหม่เป็นกรณีพิเศษ โดยให้ผู้ที่เคยกู้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา COVID-19 (สินเชื่อฉุกเฉิน) เมื่อปี 2563 สามารถยื่นกู้ได้อีก ซึ่งการพิจารณาวงเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับเครดิตและประวัติการชำระ เปิดให้ลงทะเบียนขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564 นี้เป็นต้นไป

“การปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของธนาคารที่จะช่วยรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า คนที่มีอาชีพอิสระที่เคยกู้สินเชื่อฉุกเฉินและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อเสริมพลังฐานรากได้ โดยให้รายละ 20,000 บาท หรือต้องมีประวัติการผ่อนชำระดีในช่วงที่ผ่านมา และไม่มีประวัติหนี้เสีย ซึ่งธนาคารจะพิจารณาช่วยเหลืออย่างเต็มที่” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครม.อนุมัติ แจกเงิน “เราชนะ” 3,500 บาท 2 เดือน เยียวยาโควิด กลุ่มเป้าหมายประมาณ 30-35 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64 ขณะที่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน เงินเข้าอัตโนมัติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมครม.ได้อนุมัติมาตรการ “เราชนะ” กระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่

ทั้งนี้ สำหรับเงื่อนไขโครงการเราชนะ รัฐบาลจะแจกเงิน 3,500 บาท จำนวน 2 เดือน มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 30-35 ล้านคน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64

กรมการขนส่งทางราง ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง ปลัด กทม. ขอให้ทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท ชี้สามารถทำได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย เชื่อทำให้คนใช้บริการมากขึ้น

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามประกาศกรุงเทพมหานคร ที่ให้มีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64 เป็นต้นไป เนื่องจาก กรมการขนส่งทางราง พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณชน จึงขอให้ กทม. พิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุม

โดยขอให้ทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามประกาศดังกล่าว และขอให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 ที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคม และ กทม. บูรณาการร่วมกันในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง จะเสนอกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่ ครม. มอบหมาย หารือร่วมกับ กทม. โดยเร็วต่อไป เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอแนะในการขยายสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้อย่างชัดเจนว่า สามารถกำหนดได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย และควรกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งจะทำให้การจราจรใน กทม. เบาบางลง โดยปัจจุบันพบว่าผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าโดยสารควรวิเคราะห์จากต้นทุนที่แท้จริง และหากถูกลงจาก 65 บาทตลอดสาย ในอนาคตจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงการคลัง เปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง รอบเก็บตก 1.34 ล้านสิทธิ เริ่มวันที่ 20 มกราคม 2564 ระหว่างเวลา 06.00 น. - 23.00 น.

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะนำสิทธิที่เหลือของโครงการคนละครึ่งและโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวนรวม 1.34 ล้านสิทธิ มาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพิ่มเติมในวันพุธที่ 20 มกราคม 2564

สำหรับการลงทะเบียนรอบเพิ่มเติมนี้ ผู้ที่ถูกตัดสิทธิโครงการคนละครึ่งและโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จากการไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วัน สามารถลงทะเบียนได้ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.คอม ระหว่างเวลา 06.00 น. - 23.00 น. จนกว่าจะครบจำนวน ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จและได้รับข้อความ SMS แจ้งยืนยันการได้รับสิทธิแล้วจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งยืนยันตัวตนให้เรียบร้อยจึงจะสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการได้ ทั้งนี้ จะเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

นอกจากนี้ สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 18 มกราคม 2564 เวลา 21.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 13,655,380 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 66,967 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 34,260.9 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 32,760.1 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ

โฆษกกระทรวงการคลังยังขอเน้นย้ำให้ประชาชนและร้านค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ และอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ไม่หวังดีที่เสนอจะช่วยหาประโยชน์จากโครงการโดยไม่ได้ทำการซื้อขายสินค้าจริง เนื่องจากภาครัฐยังติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากตรวจพบจะดำเนินการระงับการจ่ายเงินทั้งฝั่งร้านค้าและประชาชนทันที รวมทั้งจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

ธ.ก.ส. ออกมาตรการช่วยเกษตรกรรับมือปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ พักชำระหนี้ 6 เดือน - 1 ปี ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 28 จังหวัดเขตควบคุมสูงสุดและที่ภาครัฐจะประกาศเพิ่ม พร้อมขยายเวลาเปิดรับคำขอสินเชื่อฉุกเฉิน

รายละไม่เกิน 10,000 บาท และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม โดยจะพักชำระต้นเงินสำหรับเกษตรกร 1 ปี และพักชำระต้นเงินเอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ระยะเวลา 6 เดือน กรณีเป็นสินเชื่อใหม่ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระในเดือนธ.ค. 2563 ถึงพ.ค. 2564 ให้พักชำระต้นเงินสินเชื่อฉุกเฉินโควิด-19 ที่ถึงกำหนดชำระออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงพักชำระต้นเงินสินเชื่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบออกไปอีก 1 ปี

พร้อมทั้งเตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียง 0.1% ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อดังกล่าวได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค.2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดยกรณีเป็นเกษตรกร ทันทีที่ชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 5,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้าน จะได้รับเงินคืนในอัตรา 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินแห่งละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 – 31 มี.ค. 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยโควิด-19 ระบาด ระลอกใหม่ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน วอนรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น พร้อมเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภคและคู่ค้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพ.ย.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านภาคการส่งออก ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลงและสูญเสียรายได้จากการส่งออก ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ภาคการผลิตลดลงจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนใน EEC ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 ในเดือนพ.ย.63 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วและเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ประธาน ส.อ.ท. ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ให้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด, เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย และเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของแต่ละจังหวัด หรืออาจให้พักชำระหนี้ชั่วคราว รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกัน SMEs เป็น 50% หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

มาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ

รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top