Saturday, 4 May 2024
แรงงาน

‘โกลด์แมน แซคส์’ เผย ‘เอไอ’ อาจเข้ามาแทนที่มนุษย์ ทำลูกจ้างส่อแววตกงานกว่า 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลก

(29 มี.ค. 66) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ธนาคารเพื่อการลงทุน ‘โกลด์แมน แซคส์’ เปิดเผยรายงาน ชี้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ ‘เอไอ’ อาจเข้ามาแทนที่งานประจำกว่า 300 ล้านตำแหน่งในสหรัฐหรือราว 1 ใน 4 ของงานประจำในตลาดงานทั้งในสหรัฐ และยุโรป

แต่นั่นก็อาจหมายถึงการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานแบบใหม่ และผลิตภาพการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น โดย ‘เอไอ’ อาจเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการแบบรายปีทั่วโลกมากถึงร้อยละ 7 ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า

ปัญญาประดิษฐ์แบบ Generative AI หรือ ‘เอไอ’ ที่สร้างสิ่งใหม่จากข้อมูลชุดที่มีอยู่แล้ว และมีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากผลงานของมนุษย์ ถือเป็น ‘พัฒนาการยิ่งใหญ่’

ตามรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ผลกระทบจากการเข้ามาของเอไออาจส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ คือ ด้านงานธุรการร้อยละ 46 และงานด้านกฎหมายร้อยละ 44 ขณะที่งานก่อสร้างจะได้รับผลกระทบเพียงร้อยละ 6 ส่วนงานบำรุงรักษาหรือเมนเทนแนนท์จะได้รับผลกระทบน้อยสุดเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ขณะเดียวกันในสหรัฐ ระบบเอไออาจนำไปใช้แทนแรงงานได้ประมาณร้อยละ 63 ส่วนแรงงานร้อยละ 30 ที่ทำงานด้านนอกไม่ได้รับผลกระทบจากเอไอ แม้งานเหล่านั้นอาจอ่อนไหวต่อระบบเอไอรูปแบบอื่นก็ตาม

นอกจากนี้ ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เหมือนกันในยุโรป รวมถึงระดับโลก สัดส่วนการจ้างงานที่ทำด้วยตนเองในประเทศกำลังพัฒนามีมากกว่า จึงคาดว่างาน 1 ใน 5 อาจถูกแทนที่ด้วยเอไอ หรือคิดเป็นงานประจำประมาณ 300 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งหนึ่งที่มั่นใจ คือ เราไม่มีทางรู้เลยว่า งานตำแหน่งไหนที่จะถูกแทนที่โดยเอไอ ยกตัวอย่าง กระแส ‘แชทจีพีที (ChatGPT)’ ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ ณ ขณะนี้ทำให้คนทั่วไปสามารถผลิตเรียงความและบทความได้โดยไม่ต้องเพิ่งผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้าน”

‘ผู้ช่วยรัฐมนตรีแรงงาน’ ต้อนรับ สมาชิกวุฒิสภาแห่งสภารัฐวิกตอเรีย หารือกระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงานไทย - ออสเตรเลีย

วันที่ 18 เมษายน 2566 นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางเบฟเวอร์ลี่ แมคอาเธอร์ (Mrs.Beverley McArrthur) ดร.เรนี ฮีธ (Dr.Renee Heath) และนายนิโคลัส แมคโกเวน (Mr.Nicholas McGowan) สมาชิกวุฒิสภาแห่งสภารัฐวิกตอเรีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการด้านแรงงาน โดยมี นายมานิตย์ พรหมการรีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องตรีเทพ 1 ชั้น 12 กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน 

นายสุรชัย กล่าวว่า กระทรวงแรงงานยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงความสัมพันธ์ทั้งในด้านการศึกษา การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยกระทรวงแรงงาน พร้อมทำงานเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ มีโอกาสเดินทาง ไปราชการ ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ในการดูแลแรงงานไทย ในออสเตรเลีย ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้ง การผลักดันโอกาสในการจ้างงานให้แก่คนไทยในออสเตรเลีย โดยได้มีโอกาสหารือกับท่านรัฐมนตรี เบรนดัน โอคอนเนอร์รัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ ออสเตรเลีย และแอนดริว ไจลส์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง สถานะพลเมือง และกิจการพหุ วัฒนธรรม ด้วย 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ แถลงปิดคดีบังคับใช้แรงงานเมืองกาญจนบุรี ดำเนินคดีนายจ้าง-ผู้สนับสุนน-คนนำพาต่างด้าว รวม 9 ราย

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาญจนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและพัฒนา ได้ร่วมกันเข้าช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 14 ราย หลังแจ้งขอความช่วยเหลือกรณีถูกหลอกมาทำงานตัดอ้อย และถูกนายจ้างยึดเอกสารหนังสือเดินทางและโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งถูกทำร้ายร่างกายและบังคับให้ทำงาน โดยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เหตุเกิดที่ไร่อ้อยภายในพื้นที่หมู่ 5 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือแรงงานทั้งหมดได้พร้อมดำเนินคดีกับนายจ้าง ตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอไปแล้วนั้น


​กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. ได้สั่งการให้ สภ.เมืองกาญจนบุรี ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในความผิดฐานค้ามนุษย์ รวมทั้งสืบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการให้ครบถ้วน จากการสืบสวนพบว่า นายจิรายุทธ เฉลิมศุภเศรษฐ์ นายจ้าง ได้รับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานจากผู้รับจ้างขนแรงงานผิดกฎหมาย จากนั้นได้บังคับให้ทำงานในไร่อ้อย โดยยึดเอกสารประจำตัวทั้งหมด และมีการข่มขู่โดยใช้ทั้งอาวุธมีดและอาวุธปืน ทำให้แรงงานหวาดกลัวและยอมทำงาน โดยต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด และได้เงินสัปดาห์ละ 500 บาทต่อคน และต้องพักอาศัยด้วยกันอย่างแออัด

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ต้องหารวมจำนวน 9 คน แบ่งเป็นนายจ้าง 1 ราย ผู้สนับสนุน 2 ราย และคนนำพาต่างด้าวเขามาทำงานจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย
​1. นายจิรายุทธ เฉลิมศุภเศรษฐ์ (นายจ้าง)
​ดำเนินคดีฐาน ค้ามนุษย์ และบังคับใช้แรงงานหรือบริการฯ
​2. นายเฉลิมชัย แบนดอนไพร (ผู้ใหญ่บ้าน)
​3. ร.ต.อ.วชิร ชยธวัช (ลูกเขยของนายจิรายุทธฯ)
​ดำเนินคดีฐาน เป็นผู้สนับสนุนค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานหรือบริการฯ
​4. นายสรไกร ศรีนานา
​5. นายนัฐวุฒิ วินกล่อม
​6. นายมนัส ทองเถาว์
​7. นายเฉลิมชัย แบนดอนไพร
​8. นายรณชัย เกิดสนอง
​9. นายอะวิน ไม่มีนามสกุล (สัญชาติเมียนมา)
​ดำเนินคดีฐาน ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายนั้นพ้นจากการจับกุม

‘ฮ่องกง’ เตรียมประกาศเปิดรับแรงงานต่างชาติเพิ่ม แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รองรับ GDP โตต่อเนื่อง

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ‘ฮ่องกง’ ได้เตรียมเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่ม โดยนายจอห์น ลี ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าวว่า ฮ่องกงจะผ่อนปรนกฎการเข้าเมืองสำหรับแรงงานต่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงิน

รัฐบาลจะประกาศแผนการดึงดูดคนให้เข้ามาทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง

ฮ่องกงกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการและอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะที่จำนวนธุรกิจเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่มีการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ปัญหามาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงแรงงานท้องถิ่นที่ลดลง และนโยบายการย้ายถิ่นฐานของฮ่องกงเองด้วย

เศรษฐกิจของฮ่องกงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสแรก โดยฟื้นตัวจากภาวะถดถอยขณะที่การเปิดพรมแดนได้ฟื้นฟูการใช้จ่าย โดยจากผลสำรวจล่าสุดของสำนักข่าวบลูมเบิร์กนั้น นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของฮ่องกงจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 4.6% ในปีนี้

แม้ว่านายลีไม่ได้ระบุรายละเอียดเฉพาะเจาะจงใดๆ ของแผนการแก้ไขปัญหาแรงงาน แต่ได้อ้างถึงปัญหาในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเดินทาง การขนส่ง และการก่อสร้าง โดยฮ่องกงต้องการแรงงานก่อสร้างอย่างน้อย 10,000 คน และแรงงานในภาคการเดินทางและขนส่ง 8,000 คน
 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานเปิดการอบรมยกระดับความสามารถการตรวจเรือประมงและแรงงานในเรือประมงของศุนย์ PIPO รุ่น 10

วันนี้ (13 ก.ค.66) เวลา 11.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ได้เป็นประธานในการเปิดโครงการอบรมสัมมนา ยกระดับขีดความสามารถในการตรวจเรือประมงและแรงงานในเรือประมงของผู้ปฏิบัติงานศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก รุ่นที่ 10 ณ โรงแรมมณีจันทร์ รีสอร์ท จ.จันทบุรี โดยจะอบรมระหว่างวันที่ 12 – 14 ก.ค.66 ซึ่งในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และพนักงานสอบสวน รวมจำนวนกว่า 702 คน

การจัดการฝึกอบรมนี้ สืบเนื่องจากการประเมินระดับการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของทางการสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยได้รายงาน TIP Report และได้รับคำแนะนำเป็นข้อสังเกตว่า ประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนาการตรวจแรงงานที่ท่า ซึ่งยังไม่ได้ใช้วิธีการตามมาตรฐานในการตรวจสอบการสูญหายในทะเล และการค้ามนุษย์บนเรือประมง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ยังขาดความสม่ำเสมอและขาดประสิทธิภาพในการตรวจเนื่องจากยังขาดประสบการณ์ ดังนั้น ในปีที่ผ่านมา ศพดส.ตร. จึงได้มีการปรับปรุงคู่มือการปฏิบัติงานศูนย์ PIPO ประจำปี 2566 โดยมุ่งพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ เพิ่มแนวทางปฏิบัติกรณีพบลูกเรือพลัดตกน้ำ การตรวจหนังสือคนประจำเรือ การตรวจคุ้มครองแรงงานบนเรือประมง และตรวจสภาพแวดล้อมของแรงงานเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้เป็นการยกระดับมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้มีแผนที่จะอบรมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ทั่วประเทศในปีนี้จำนวน 10 รุ่นด้วยกัน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การอบรมสัมมนารุ่นนี้ เป็นรุ่นสุดท้ายประจำปีงบประมาณ 2566  เป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ซึ่งในปีนี้ ศพดส.ตร. จึงได้มีการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO รวมทั้งจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพในการตรวจแรงงานในเรือประมง รวมทั้งสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกขึ้นหนึ่ง และยกระดับประเทศไทยสู่เทียร์ 1 ต่อไป

‘กองทุนประกันสังคม’ ส่อแววล้มละลายภายใน 30 ปี หลังเผชิญวิกฤตสังคมผู้สูงวัย-แรงงานเกิดใหม่น้อยลง

(19 ก.ค.66) ช่องยูทูบชื่อ ‘Kim Property Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องกองทุนประกันสังคมที่ส่อแววล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า ในชื่อคลิป ‘แรงงานสะดุ้ง! วิจัยชี้กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้ม รายจ่ายเยอะ เงินเริ่มไม่พอ!’ สรุปใจความสำคัญได้ว่า…

เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ในวันแรงงานที่ประเทศฝรั่งเศส สาเหตุการประท้วงเกิดจากระบบประกันสังคมของฝรั่งเศสส่อแววว่าจะมีปัญหา อีกทั้งทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ออกนโยบายยืดเวลาทำงานออกไปอีก 2 ปี จุดกระแสความไม่พอใจอย่างมากในหมู่แรงงาน จนเกิดการประท้วงทั่วฝรั่งเศส

หากมองในมุมของภาครัฐที่ต้องแก้ปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้าก็น่าเห็นใจ จากนโยบายที่คิดว่าทำได้ ในวันนี้กลับทำไม่ได้แล้ว ก็เกิดภาวะกระอักกระอ่วน ที่ต้องหามาตการเพื่อมาแก้ปัญหา แต่หากมองในมุมแรงงานที่ส่งเบี้ยมาตลอดหลายปี และบางส่วนกำลังจะเกษียณแล้ว แต่กลับต้องทำงานต่ออีก 2 ปี จึงทำให้ความแค้นเคืองปะทุขึ้นอย่างที่เป็นข่าว

หลายคนคงคิดว่านี่อาจะเป็นสิ่งที่ไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะล่าสุดมีรายงานชิ้นหนึ่งจากกรุงเทพเผยแพร่ออกมา ระบุว่า ‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้มละลายใน 30 ปี 

ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องการล้มละลาย ต้องขอพูดถึงหลักการของกองทุนประกันสังคมก่อน กองทุนประกันสังคมเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ได้ร่วมกันจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งเงินกองทุนตรงนี้จะนําไปใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ เช่น ว่างงาน/ตกงาน สิทธิรักษา และเงินบำนาญ สำหรับแรงงานที่ส่งเบี้ยประจำทุกเดือน เงินส่วนนี้จะมาช่วยให้มีความมั่นคงในการงานมากขึ้น 

ในปี 2563 มีผู้ประกันตนมีจํานวน 11.1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ คือลูกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในระบบนี้ แต่ละคนก็มีการจ่ายเงินสมทบอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่องทุกเดือน

ตลอดระยะเวลา 30 ปี มีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างมากมายและต่อเนื่อง ทําให้ขนาดของกองทุนขยายการเติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี 2563 เงินกองทุนมีมากถึง 2.283 ล้านล้านบาท 

แต่คําถามคือมันเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่แรงงานส่งเงินมาตลอดหลายสิบปี แต่ทําไมกองทุนนี้ถึงส่อแววล้มละลายล่ะ? และถ้าเป็นแบบนี้แรงงานจะมีเงินเก็บ เงินบํานาญหลังเกษียณได้อย่างไร?

ต้องบอกว่ากองทุนประกันสังคมของไทย ใช้เวลาในการจัดตั้งยาวนานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญก็คือการให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ แต่ประเด็นสำคัญคือกองทุนนี้ ‘ยิ่งอยู่นาน เงินก็ยิ่งไม่ค่อยพอ’ เงินเริ่มร่อยหร่อไปเรื่อยๆ 

มาดูเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้กองทุนประกันสังคมอาจ ‘ล้มละลาย’

เหตุผลแรก คือ ‘รายจ่าย’ รายจ่ายด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านเลยไปค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าครองชีพ ค่าดูแลชีวิต ก็แพงขึ้นตามเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มของกองทุนก็เริ่มที่จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่พึงจะได้รับ โดยเฉพาะการดูแลของผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุหรือชราภาพ 

ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ‘คนชรา / ผู้สูงอายุ’ ก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่อีกมุมหนึ่ง ‘อัตราการเกิด’ รวมถึง ‘อัตราการเข้าทํางาน’ ก็มีการลดลงไปเรื่อย ๆ ส่งผลเงินไม่เพียงพอดูแลคนในระบบ ต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนรูปแบบนี้คือการนําเงินคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนวัยทํางานเข้ามาในกองทุน เพื่อใช้จ่ายหมุดเวียน แต่หากเงินใหม่ ๆ ไม่เข้ามา แล้วเงินเก่า ๆ ต้องจ่ายแพงขึ้นมากตามอัตราเงินเฟ้อ คําถามคือแล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร? บางคนก็มองว่านี่คือแชร์ลูกโซ่ขนาดใหญ่ที่สุดเลยหรือเปล่า? 

รายงานจากทาง IMF ออกมาบอกว่าประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย หลายคนก็รู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดขั้วในอนาคต หมายความว่าคนแก่จะเยอะขึ้น คนที่จะต้องให้ภาครัฐดูแลก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางกลับกัน คนใหม่ ๆ ที่มาทํางานกลับมีน้อยลงไป

ต่อมาเป็นเรื่อของ ‘การลงทุน’ ในยุคนี้การลงทุนได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเทรนด์อัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาลง หากย้อนกลับไปในช่วง 10-20 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยไทยค่อนข้างสูง เอาเงินฝากแบงก์ก็ได้ดอกเบี้ย สามารถอยู่ได้แล้ว แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยมันน้อยลงไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ 1-2% การที่จะหวังกินเงินดอกเบี้ยจากเงินฝากมันก็คงเป็นไปไม่ได้ และจะหวังเอาเงินพวกนี้มาใช้จ่าย เป็นรายจ่ายของผู้สูงอายุมันก็ไม่พอ

และล่าสุดในปี 2566 เงินในกองทุนประกันสังคมลดลงถึง 17,000 ล้านบาท โดยปกติมีการเติบโตขึ้นตลอดเพราะว่าคนใหม่ก็ใส่เงินเข้ามา คนเก่าก็ยังไม่ได้เกษียณ ยังทํางานอยู่ แต่ปัจจุบันหลังจากรายจ่ายมันเยอะขึ้น เงินใหม่น้อยลง แล้วก็ปันผลดอกเบี้ยมันก็น้อย ทําให้กองทุนเริ่มจะลดลง และนี่เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี 

การที่ผลตอบแทนมันต่ำเตี้ยแบบนี้ อาจถูกผลักดันให้ลงทุนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น สำหรับตัวกองทุนประกันสังคม ก็เคยตกเป็นที่สงสัยของผู้คน เนื่องจากมีการถือหุ้น ‘ศรีพันวา’ มูลค่ากว่า 505 ล้านบาท ต่อมาทางดีเอสไอได้ไปตรวจสอบที่ดินของศรีพันวาว่าเป็นที่ดินมิชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า? ซึ่งข้อสงสัยพวกนี้ส่งผลให้ประกันสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเหมือนนำเงินเก็บของประชาชนหลังเกษียณมาลงทุน และการลงทุนก็ควรจะต้องดูให้ดีและน่าเชื่อถือ

เรียกได้ว่าปัญหาที่กองทุนประกันสังคมต้องเผชิญนั้นมีมากมายหลายด้านจริงๆ และเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีประเด็นที่ว่า รัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือกรณีที่นายจ้างหักเงินลูกจ้างไปแต่ไม่ได้นำส่งเข้าประกันสังคม 

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด ทำให้คนมองว่ากองทุนประกันสังคมจะล้มในอีก 30 ปี ทำให้เกิดการเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น การเร่งรัดหนี้ที่ค้างกองทุน เรื่องนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีคนไม่ได้หนี้ส่งหนี้เยอะ และหากยิ่งปล่อยไว้นานๆ เข้า ยอดหนี้ก็จะสะสมขึ้นเรื่อยๆ 

ทางด้านที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ T.D.R.I ได้ออกมาระบุว่า สาเหตุหลัก ๆ ของไทยคือโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ และมีชีวิตอยู่ยาวนาน ทำให้ต้องใช้เงินในการดูแลมากขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้กองทุนต้องจัดสรรเงินมาดูแลในส่วนนี้ และต่อให้กองทุนนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ อีกทั้งตามกฎของประกันสังคม ต้องลงทุนในทรัพย์สินที่มีความมั่นคงสูง แต่คำถามที่ตามมาคือจะสร้างผลตอบแทนได้มากพอจริงๆ หรือ? ทาง T.D.R.I จึงมองว่าหากเป็นแบบนี้ไปอีก 25 ปี จะทำให้กองทุนประกันสังคมติดลบและล้มละลายไปในที่สุด 

เมื่อปัญหาเยอะ แถมเงื่อนไขการลงทุนยังจำกัด แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? 

1.ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้คำนวณการจ่ายเงินสมทบ จาก 15,000 เพิ่มเป็น 17,500-20,000 บาทต่อเดือน และควรปรับเพิ่มทุกปีตามค่าจ้างเฉลี่ยด้วย หากปรับตรงนี้ได้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 5-6% เลยทีเดียว

2. เพิ่มอายุผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญ ซึ่งโดยปกติแล้ว แรงงานที่มีอายุครบ 55 ปีมีสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนชราภาพ แต่จะเลื่อนไปเป็น 60 ปี หรือพูดง่าย ๆ คือการเก็บเบี้ยได้มากขึ้น แต่จ่ายออกให้ช้าลงนั่นเอง

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขออกมาในรูปแบบใด และผู้คนจะเห็นด้วยหรือไม่? และมีแนวโน้มที่จะเกิดการประท้วงเหมือนในฝรั่งเศสหรือไม่? อีกทั้งหากโครงสร้างปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้ว ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีการกันใหม่ และต้องหาแนวทางรับมือและกัดการกับความผิดหวังของแรงงานไว้ด้วยนั่นเอง

ก.แรงงาน ติวเข้มเจ้าหน้าที่คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ร่วมทีมสหวิชาชีพ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รุ่นที่ 6 และบรรยายหัวข้อ “นโยบายการป้องกันและแก้ไขการบังคับใช้แรงงานหรือการบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน”ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และอบรมทางไกลผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นางสาวโสภณา บุญ – หลง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ

นางดรุณี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 (TIP Report 2023) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 2 ติดต่อเป็นปีที่ 2 ซึ่งรายงานดังกล่าวยังคงมีข้อเสนอแนะให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำแนวปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปใช้ในการคัดแยกผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้ทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์เพียงพอในการปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับทำงานใช้หนี้ การทำงานเกินเวลามากเกินจำเป็น การยึดเอกสารของลูกจ้างและการทำงานโดยไม่จ่ายผลตอบแทน

นางดรุณี กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

“กระทรวงแรงงาน พร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานทีมสหวิชาชีพจากส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั้ง 19 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 คน อบรมระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้ผู้อบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป”นางดรุณี กล่าวท้ายสุด

‘เกาหลีใต้’ เผชิญวิกฤต ‘สังคมผู้สูงอายุ’ เพิ่มจำนวนต่อเนื่อง หลังยอดแรงงานสูงวัยพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2023

(25 ก.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, โซล รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งเกาหลีใต้ รายงานว่า อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้สูงอายุเกาหลีใต้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ท่ามกลางภาวะประชากรสูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

รายงานระบุว่าจำนวนประชากรผู้มีอายุ 55-79 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปีก่อน อยู่ที่ 15,481,000 คนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 34.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยร้อยละ 60.2 ของผู้มีอายุ 55-79 ปี ทำงานเชิงเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8 จุด

อัตราการมีส่วนร่วมดังกล่าว ครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีงานทำและผู้สูงอายุที่กำลังหางานทำ โดยจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 9,120,000 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 349,000 คน ส่วนอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 0.8 จุด จนแตะระดับสูงใหม่ที่ร้อยละ 58.9

ทั้งนี้ ร้อยละ 68.5 ของประชากรสูงอายุคาดหวังจะทำงานต่อไป เพื่อหาค่าครองชีพและความสุขจากการทำงาน

รายงานระบุว่าผู้รับเงินบำนาญของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 50.3 ของผู้สูงอายุทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.9 จุด โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุเพศชายรับเงินบำนาญ 980,000 วอน (ราว 26,494 บาท) ต่อเดือน ขณะผู้สูงอายุเพศหญิงรับเงินบำนาญ 500,000 วอน (ราว 13,517 บาท) ต่อเดือน

ที่มา : Xinhua

‘สภาพัฒน์ฯ’ เผย ตลาดแรงงานของไทยกำลังเผชิญวิกฤต ส่งสัญญาณเตือน!! เด็กจบ ป.ตรี ‘ว่างงานพุ่ง-ได้เงินเดือนต่ำ’

‘สภาพัฒน์ฯ’ เปิดข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย แจ้งสัญญาณเตือน เด็กจบปริญญาตรี ว่างงานเพียบ ได้เงินเดือนต่ำ และแถมต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย และ การว่างงาน พบว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง และตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหาคุณภาพของแรงงานและความไม่สอดคล้องของตลาดแรงงาน (Labor mismatching) ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการยกระดับการผลิตของไทยในอนาคต

ข้อมูลความต้องการแรงงานล่าสุด
จากข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงปี 2561 - 2565 พบว่าความต้องการแรงงานรวมเพิ่มขึ้นจาก 95,566 คนในปี 2561 เป็น 168,992 คนในปี 2565 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ลดลงจาก 30.1% ของความต้องการแรงงานรวม ในปี 2561 เหลือเพียง 17.2% ในปี 2565 เท่านั้น

ส่วนสัดส่วนความต้องการแรงงานในการศึกษาระดับ ปวช. - ปวส. ลดลงเล็กน้อยจาก 23.7% ในปี 2561 เป็น 22.5% ในปี 2565 ขณะที่สัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มขึ้นจาก 41.1% ในปี 2561 เป็น 57.3% ในปี 2565 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเฉพาะความต้องการแรงงานเพียงสองระดับการศึกษา คือ ปริญญาตรีขึ้นไปและระดับ ปวช. และ ปวส. พบว่า สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดลง โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 45.6% ขณะที่สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. กลับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 54.4%

เปิดความต้องการแรงงานของบริษัท EEC
เมื่อพิจารณาข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ในปี 2565 จำแนกตามการศึกษา จำนวน 419 โครงการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานรวม 52,322 คนนั้น พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการมากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป.6 ถึง ม.6 มีสัดส่วนถึง 59.1%
- ความต้องการแรงงานระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 25.2%
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 14.7% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการ มากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป. 6 ถึง ม.6 มีสัดส่วน 63.9 และ 63.2% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงาน ระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 22.5% และ 23.6% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 13.5% และ 12.9% ตามลำดับ

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. ในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากำลังแรงงาน โดยอ้างอิงจากจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในภาคอุดมศึกษา (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนนักศึกษา ในระดับอุดมศึกษารวม 1,902,692 คน แม้จะลดลงจากจำนวน 2,171,663 ในปี 2561 แต่ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อยู่ในระดับ ปวช. และ ปวส. ในปี 2564 ที่มีจำนวน 374,962 คน

ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เผชิญกับปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างกำลังแรงงานที่ผลิตออกมา (ด้าน Supply) และความต้องการของตลาด (ด้าน Demand) นั่นคือ มีแรงงานจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดที่จบอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้แรงงานในระดับปริญญาตรีต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น และสัดส่วนผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดของตลาดแรงงานไทยในระยะต่อไป

‘รมว.ดีอีเอส’ เล็งดัน ‘Digital Nomad Visa’ ขับเคลื่อนศก. หวังดึงดูดกลุ่มแรงงาน ขยายการรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

(17 ก.ย. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผย หลังการลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน ร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้รับข้อมูลจากคนในท้องถิ่นว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์ (Digital Nomad) ที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 5-6 พันคน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จำนวนมาก จึงขอให้นายกรัฐมนตรี สนับสนุนให้มีการขยายตัวกลุ่ม Digital Nomad เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงาน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้รับปากว่าจะรีบพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า Digital Nomad Visa จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ และสามารถขยายผล ในวงกว้างให้กับจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยทางดีอีเอสจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบาย Digital Nomad หรือ ‘Remote Worker’ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ในการดึงดูดแรงงานขั้นสูง และกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลน

“ทั้งนี้ จะทำการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Top 600 ระดับโลกก่อน และเชื่อว่ามาตรการนี้ จะส่งผลประโยชน์กับทางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยโดยรวมอย่างแน่นอน” รมว.ดีอีเอส กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top