Sunday, 5 May 2024
แรงงาน

ก.แรงงาน จัดกิจกรรม 'จิตอาสาร่วมบริจาคโลหิต 1 คนให้ หลายคนรับ รู้รักสามัคคี พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน' เทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้บริจาคโลหิต โดยกระทรวงแรงงานร่วมกับสมาคมแม่บ้านกระทรวงแรงงาน และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ร่วมจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต 

‘เพื่อไทย’ ชี้!! ขึ้นค่าแรงเป็นการร่วมมือของ ‘รัฐ-เอกชน’ ยัน!! หากได้เป็นรัฐบาล มีแผนหารายได้เข้าประเทศคู่กันไป

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 65 นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่ผู้ประกอบการมีข้อกังวลเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดว่า หากพิจารณาเพียงมุมต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นเพียงด้านเดียว โดยรายได้ไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย ในหมวกของผู้ประกอบการเองก็คงต้องกังวลและสามารถเข้าใจได้ว่า พรรคเพื่อไทยกำลังจะหาเสียงแบบผลักภาระให้กับภาคเอกชน ในข้อเท็จจริงแล้วหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล สิ่งที่จะดำเนินการควบคู่กันไปคือการหารายได้ให้กับประเทศ ดังนี้

1. การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นการปรับตามค่าครองชีพ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME มีรายได้มากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้น ผู้ประกอบการก็สามารถจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับการปรับค่าแรงไม่ได้ขึ้นทีเดียว จะปรับขึ้นตามเพดานสูงสุดในปี 2570 คืออีก 5 ปีข้างหน้า ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงจะมีเวลาปรับตัว

‘ยุทธพงศ์’ ชี้!! ปชช. มีรายรับไม่พอกับรายจ่าย เชื่อ!! นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ช่วยแก้ปัญหาถูกจุด

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบายพรรคเพื่อไทยค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และมีการวิจารณ์อาจทำให้นักลงทุนไปต่อไม่ไหว ว่า ปัจจุบันทานอาหารหนึ่งมื้อแค่ในพื้นที่ต่างจังหวัด อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เฉลี่ย 50 บาทต่อจาน ยังไม่รวมค่าใช้ค่าอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าน้ำมัน และค่าส่งเสียบุตรหลาน สะท้อนให้เห็นว่าหากไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำชาวบ้านจะอยู่ไม่ได้ จึงเป็นที่มาของนโยบายพรรคเพื่อไทย​ ว่า ภายในปี 70 ค่าแรงขั้นต่ำต้องไปถึง 600 บาท

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บริหารประเทศ 8 ปี ชาวบ้านมีแต่หนี้สิน 

ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ถามว่า ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเอาเงินมาจากไหนนั้น พร้อมขอถามกลับว่า แค่จะช่วยชาวบ้านบอกไม่มีเงิน แต่มีเงินไปซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ แถมเรือดำน้ำลำแรกมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ที่จีนไม่มีเครื่องยนต์ MTU ของประเทศเยอรมันมาติดตั้งให้ ก็ยังไม่ยอมยกเลิกสัญญาเลย ล่าสุด​ จะมีการซื้อเครื่องบินรบ F-35 A ลำละ 5 พันล้านบาทมาอีกฝูง แบบนี้ทำไมถึงมีเงินแล้วเงินช่วยชาวบ้านทำไมไม่มี

‘พิธา’ ย้ำจุดยืน เพิ่มค่าแรงเป็น 450 ในปี 66 ชี้!! ถือเป็นเรื่องดีที่มีพรรคการเมืองเห็นตรงกัน

‘พิธา’ พบเครือข่ายแรงงาน ชี้โจทย์ยุคเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไม่ง่าย ย้ำก้าวไกลให้ความสำคัญแรงงาน ดันขึ้นค่าแรงทันทีปี 66 - เพิ่มสิทธิ - หนุนเรียนรู้ทักษะใหม่ ระบุเป็นนิมิตรหมายที่ดี พรรคการเมืองเห็นตรงกันต้องเพิ่มค่าแรง

วันที่ 11 ธันวาคม 2565 ที่ศูนย์การเรียนรู้สหภาพโตโยต้าประเทศไทย พรรคก้าวไกลจัดการประชุมใหญ่เครือข่ายผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ โดยมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายแรงงาน นำโดย สุนทร บุญยอด อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เซีย จำปาทอง และ ธนพร วิจันทร์ ขึ้นเวทีประกาศนโยบายก้าวไกลเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงาน

พิธา กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเจอความท้าทายใน 2 อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ คืออุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำแรงงานต้องมาพูดคุยกันว่าจะรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ในส่วนพรรคก้าวไกล เราให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงานอย่างมาก และได้ออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานทุกคนอย่างยั่งยืน เช่น ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นทันที 450 บาท โดยคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งต้นจากปี 2554 ที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน

“พรรคก้าวไกลเสนอว่าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นทันที 450 บาทในปี 2566 ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็ได้เสนอตัวเลขและระยะเวลาเป้าหมายที่ต่างออกไป ผมคิดว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าต้องเพิ่มรายได้ของผู้ใช้แรงงานให้สูงขึ้น ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน” พิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงานนั้น ทำแค่เรื่องค่าแรงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแรงงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สิทธิวันหยุด สิทธิลาคลอดที่เพิ่มขึ้น สิทธิการรวมตัวกันของแรงงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นความสำคัญของการที่แรงงานทุกคนต้องมีสิทธิประกันสังคม นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานเพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพการทำงานในโลกปัจจุบัน เช่น นโยบายคูปองคนวัยทำงานเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ รัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตร แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อปี

‘สุชาติ’ จัดเต็ม มอบของขวัญปีใหม่ 2566 'ให้ ฟรี ลด แรงงานสุขใจ'

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานแถลงข่าวของขวัญปีใหม่กระทรวงแรงงาน ปี 2566 โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน 

นายสุชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม และได้สั่งการให้ทุกกระทรวงพิจารณาของขวัญที่จะมอบให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นกำลังใจแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.65 ได้เห็นชอบมาตรการมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้นในปีนี้มีของขวัญปีใหม่ จำนวน 6 ชิ้น ภายใต้เคมเปญ 'ให้ ฟรี ลด แรงงานสุขใจ' เพื่อมอบความสุขแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ดังนี้ 

ชิ้นที่ 1 ให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตน เพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่นๆ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ วงเงินโครงการไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยของผู้ประกันตนลดลง ตลอดระยะเวลาการกู้ประมาณ 8,472 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้สิทธิในการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปีที่ 1-5 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.99 % ต่อปี คงที่ 5 ปี ปีที่ 6–8 อัตราดอกเบี้ย MRR – 2.00 % ต่อปี และปีที่ 9 เป็นต้นไปจนถึงตลอดอายุสัญญา อัตราดอกเบี้ย MRR – 0.50 % ต่อปี ปล่อยกู้ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท 

ชิ้นที่ 2 ให้ เข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรคตามที่โรงพยาบาลกำหนด ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูก โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษา จำนวน 7,500 คน ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2566 โดย MOU ระหว่างสำนักงานประกันสังคมและสถานพยาบาลเฉพาะทางที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ลดการรอคอยการผ่าตัด โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลที่ดำเนินการผ่าตัดโดยตรง 

ชิ้นที่ 3 ให้ งานทำ 'ต้องการทำงาน ต้องได้ทำงาน' ประชาชนที่ต้องการมีงานทำ ได้มีโอกาสเลือกสมัครงานที่ตรงกับความรู้ความสามารถ และความถนัดของตนเอง ได้มีงานทำ มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างที่หลากหลายไว้ให้บริการ จำนวน 613,784 อัตรา เป็นตำแหน่งงานว่างในประเทศ 563,784 อัตรา และต่างประเทศ 50,000 อัตรา ผู้สนใจติดต่อสมัครงานผ่านระบบ E –Service ที่เว็บไซต์ www.ไทยมีงานทำ.com สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 และรถโมบายจัดหางานเคลื่อนที่ 

ชิ้นที่ 4 ฟรี ค้นหาความเสี่ยง โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร เป้าหมายผู้ประกันตน 300,000 คน เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง น้อย โรงพยาบาลนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล ระยะเวลา 6 เดือน ติดตามผล ระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม ตรวจประเทมินคัดกรองความเสี่ยง และดำเนินการบันทึกข้อมูลด้วยระบบ IT จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับการประเมินสภาวะสุขภาพ โดยเฉพาะโอกาสการเสียชีวิตโรคหัวใจและหลอดเลือด และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เกิดเป็นต้นแบบด้านการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสถานประกอบการ ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่มกราคม 2566 เป็นต้นไป 

ชิ้นที่ 5 ฟรี อบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับเทคนิคขั้นสูงและระดับวิชาชีพ จำนวน 10,000 คน หลักสูตรกฎหมายความปลอดภัยฯ ทักษะการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและลูกจ้างได้รับการดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้าง ในการส่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ เข้ารับการฝึกอบรมกับหน่วยงานฝึกอบรม โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2566 

‘สุชาติ’ เสียใจ เหตุเครื่องย่อยยางบดร่างแรงงานดับ สั่ง ‘กสร.-สปส.’ ตรวจสอบเหตุ-ช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต

รมว.แรงงาน ห่วงเหตุลูกจ้างถูกเครื่องบดย่อยยางดึงร่างเข้าไปทำให้เสียชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุ และเร่งช่วยเหลือให้ญาติได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย โดยเชิญนายจ้างสอบ 12 มกราคมนี้

(11 ม.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงอุบัติเหตุลูกจ้างถูกเครื่องจักรซึ่งเป็นเครื่องบดย่อยยางดึงร่างเข้าไปทำให้เสียชีวิต ว่า ทันทีที่ทราบข่าว ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวลูกจ้างผู้เสียชีวิต พร้อมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 3 (นครราชสีมา) ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ ตรวจสอบหาสาเหตุ และเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายทันที 

เบื้องต้นได้รับรายงานว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 เวลาประมาณ 22.30 น. สถานที่เกิดเหตุสถานประกอบกิจการในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายยางพารา มีลูกจ้างประมาณ 1,092 คน ทำงานประจำแผนกเครื่องจักร จำนวน 47 คน โดยมีนายศุภชัย ศรีผง อายุ 31 ปี ลูกจ้างผู้เสียชีวิต กำลังปฏิบัติงานที่แผนกเครื่องจักรอยู่ ขณะเกิดเหตุได้นำแผ่นยางเพื่อใส่เครื่องบดย่อยยาง ซึ่งแผ่นยางได้ติดค้างที่เครื่องบดย่อยยาง นายศุภชัยฯ จึงได้โน้มตัวเข้าไปดึงแผ่นยางออก โดยไม่ได้ปิดสวิตช์หยุดเครื่องจักร ทำให้ตัวนายศุภชัยฯ ถูกเครื่องบดย่อยยางดึงเข้าไปในเครื่องพร้อมแผ่นยางเป็นเหตุให้เสียชีวิตทันที ซึ่งพนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.บุรีรัมย์ ได้มีหนังสือเชิญนายจ้าง และ ผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันที่ 12 มกราคม 2566 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ญาติลูกจ้างผู้เสียชีวิตพึงได้รับตามกฎหมายต่อไป

‘เสี่ยเฮ้ง’ เผย ครม.เคาะค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หนุนแรงงานรับค่าจ้างเหมาะสม - เป็นธรรม

(31 ม.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (31 มกราคม 2566) เห็นชอบประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา ได้แก่ 

>>กลุ่มช่างอุตสาหการ ประกอบด้วย 
-ช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 495 บาท 
-ช่างระบบปั๊มและวาล์ว ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 515 
-ช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 
-ช่างปรับ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท 
-ผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก - แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท 
-ช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 545 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 635 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 715 บาท

ก.แรงงาน เยี่ยมสถานประกอบการ จ.ลำพูน ติดตามการตรวจคุ้มครองคนต่างด้าวป้องกันค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดลำพูนตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่จ้างคนต่างด้าวทำงาน เพื่อตรวจคุ้มครองดูแลสิทธิแรงงานของลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยมี นางสาวอัจฉราภรณ์ ยะสินธ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล นายจิตติภูมิ  สัมพันธนานนท์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท ไทย - นิจิ อินดัสทรี จำกัดผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดลำพูน ให้การต้อนรับ ณ บริษัท ไทย - นิจิ อินดัสทรี จำกัด นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ 77 หมู่ 13 ต.มะเขือแจ้ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการประเภทการผลิตขนมขบเคี้ยว ขนมกรุบกรอบ มีลูกจ้างทั้งสิ้น 464 คน เป็นแรงงานไทย 324 คน แรงงานต่างด้าว 140 คน

​นางดรุณี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน โดยท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย การลงพื้นที่จังหวัดลำพูนในครั้งนี้เพื่อตรวจติดตามการดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าว ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรอง (SOP) รบ.1 ให้เป็นไปตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานการตรวจคุ้มครองแรงงาน และการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าว รวมทั้งเพื่อตรวจติดตามการรายงานผลการตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากการใช้มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ แบบ รบ.1 เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจะเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตาม NRM ตลอดจนรับทราบปัญหาอุปสรรค กระบวนการ วิธีการตรวจคุ้มครองแรงงาน และการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน

ส่อแววสิ้นชาติ!! ‘ญี่ปุ่น’ อัดฉีดงบรณรงค์ครอบครัวปั๊มลูกเพิ่ม หวั่น!! ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว สิ้นชาติแน่นอน

(6 มี.ค. 66) รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังตื่นตระหนกกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ประชากรหดตัว หวั่นอนาคตเศรษฐกิจพินาศ จนถึงขั้นสิ้นชาติ

ด้าน โมริ มาซาโกะ หนึ่งในทีมที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อญี่ปุ่น หลังพบว่า ในปีที่ผ่านมามีทารกแรกเกิดในญี่ปุ่นน้อยที่สุดเป็นประวติการณ์ว่า นอกเหนือจากปัญหาทางเศรษฐกิจถดถอยจากปัญหาประชากรลดน้อยลงแล้ว ความหวาดกลัวในอนาคตจะเกาะกินใจเด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่ เมื่อต้องเผชิญความจริงที่ว่า ญี่ปุ่นมีสิทธิ์ที่จะสูญสิ้นชาติได้

โดย โมริ มาซาโกะ ชี้ว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา มียอดตัวเลขผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่น 1.58 ล้านคน ซึ่งสูงกว่ายอดเด็กแรกเกิดที่ราว ๆ 8 แสนคนถึง 2 เท่า และอัตราการเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นมีตัวเลขดิ่งลงอย่างรวดเร็ว จนตอนนี้ประชากรเหลืออยู่เพียง 124.6 ล้านคน ลดลงจากปีที่ญี่ปุ่นมีประชากรมากที่สุดในปี 2008 ที่ 128 ล้านคน และในจำนวนประชากรญี่ปุ่นในปัจจุบัน มีกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 29%

สิ่งที่น่าวิตกอย่างมากคือ การที่เด็กรุ่นใหม่เกิดน้อยมาก จะทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่าง ๆ ความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรม และ เศรษฐกิจจะถดถอยลงเรื่อย ๆ ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ ลองคิดดูว่า เมื่อขาดแคลนกลุ่มเยาวชน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เราจะหาใครมาทำหน้าที่ปกป้องประเทศจากภัยคุกคามของชาติอื่นในอนาคตได้

ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะ เตรียมที่จะอัดฉีดงบประมาณเพื่อจูงใจให้ครอบครัวชาวญี่ปุ่นมีลูกมากขึ้น ด้วยการเพิ่มเงินโบนัสพิเศษให้กับครอบครัวที่มีเด็กเกิดใหม่จากเดิม 4.2 แสนเยน ต่อคน เป็น 5 แสนเยนในปีนี้ และอาจมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำงานในญี่ปุ่นให้เอื้อต่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่น สามารถทำงานไปด้วย ดูแลลูกไปด้วยได้ง่ายขึ้น

 

ก.แรงงาน เปิดเวทีทบทวนมาตรฐานการตรวจคัดกรองแรงงานระดับชาติ คุ้มครองผู้เสียหาย ขันน็อตค้ามนุษย์ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

(23 มี.ค.66) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 โดยมี นางสาวอภิรดี เทียนทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 

นายบุญชอบ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดนโยบายกระทรวงแรงงาน “MOL พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” ได้กำหนดให้ “เร่งรัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและป้องกันการค้ามนุษย์ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Tier 1” และได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top