‘กองทุนประกันสังคม’ ส่อแววล้มละลายภายใน 30 ปี หลังเผชิญวิกฤตสังคมผู้สูงวัย-แรงงานเกิดใหม่น้อยลง

(19 ก.ค.66) ช่องยูทูบชื่อ ‘Kim Property Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องกองทุนประกันสังคมที่ส่อแววล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า ในชื่อคลิป ‘แรงงานสะดุ้ง! วิจัยชี้กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้ม รายจ่ายเยอะ เงินเริ่มไม่พอ!’ สรุปใจความสำคัญได้ว่า…

เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ในวันแรงงานที่ประเทศฝรั่งเศส สาเหตุการประท้วงเกิดจากระบบประกันสังคมของฝรั่งเศสส่อแววว่าจะมีปัญหา อีกทั้งทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ออกนโยบายยืดเวลาทำงานออกไปอีก 2 ปี จุดกระแสความไม่พอใจอย่างมากในหมู่แรงงาน จนเกิดการประท้วงทั่วฝรั่งเศส

หากมองในมุมของภาครัฐที่ต้องแก้ปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้าก็น่าเห็นใจ จากนโยบายที่คิดว่าทำได้ ในวันนี้กลับทำไม่ได้แล้ว ก็เกิดภาวะกระอักกระอ่วน ที่ต้องหามาตการเพื่อมาแก้ปัญหา แต่หากมองในมุมแรงงานที่ส่งเบี้ยมาตลอดหลายปี และบางส่วนกำลังจะเกษียณแล้ว แต่กลับต้องทำงานต่ออีก 2 ปี จึงทำให้ความแค้นเคืองปะทุขึ้นอย่างที่เป็นข่าว

หลายคนคงคิดว่านี่อาจะเป็นสิ่งที่ไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะล่าสุดมีรายงานชิ้นหนึ่งจากกรุงเทพเผยแพร่ออกมา ระบุว่า ‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้มละลายใน 30 ปี 

ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องการล้มละลาย ต้องขอพูดถึงหลักการของกองทุนประกันสังคมก่อน กองทุนประกันสังคมเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ได้ร่วมกันจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งเงินกองทุนตรงนี้จะนําไปใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ เช่น ว่างงาน/ตกงาน สิทธิรักษา และเงินบำนาญ สำหรับแรงงานที่ส่งเบี้ยประจำทุกเดือน เงินส่วนนี้จะมาช่วยให้มีความมั่นคงในการงานมากขึ้น 

ในปี 2563 มีผู้ประกันตนมีจํานวน 11.1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ คือลูกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในระบบนี้ แต่ละคนก็มีการจ่ายเงินสมทบอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่องทุกเดือน

ตลอดระยะเวลา 30 ปี มีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างมากมายและต่อเนื่อง ทําให้ขนาดของกองทุนขยายการเติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี 2563 เงินกองทุนมีมากถึง 2.283 ล้านล้านบาท 

แต่คําถามคือมันเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่แรงงานส่งเงินมาตลอดหลายสิบปี แต่ทําไมกองทุนนี้ถึงส่อแววล้มละลายล่ะ? และถ้าเป็นแบบนี้แรงงานจะมีเงินเก็บ เงินบํานาญหลังเกษียณได้อย่างไร?

ต้องบอกว่ากองทุนประกันสังคมของไทย ใช้เวลาในการจัดตั้งยาวนานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญก็คือการให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ แต่ประเด็นสำคัญคือกองทุนนี้ ‘ยิ่งอยู่นาน เงินก็ยิ่งไม่ค่อยพอ’ เงินเริ่มร่อยหร่อไปเรื่อยๆ 

มาดูเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้กองทุนประกันสังคมอาจ ‘ล้มละลาย’

เหตุผลแรก คือ ‘รายจ่าย’ รายจ่ายด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านเลยไปค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าครองชีพ ค่าดูแลชีวิต ก็แพงขึ้นตามเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มของกองทุนก็เริ่มที่จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่พึงจะได้รับ โดยเฉพาะการดูแลของผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุหรือชราภาพ 

ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ‘คนชรา / ผู้สูงอายุ’ ก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่อีกมุมหนึ่ง ‘อัตราการเกิด’ รวมถึง ‘อัตราการเข้าทํางาน’ ก็มีการลดลงไปเรื่อย ๆ ส่งผลเงินไม่เพียงพอดูแลคนในระบบ ต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนรูปแบบนี้คือการนําเงินคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนวัยทํางานเข้ามาในกองทุน เพื่อใช้จ่ายหมุดเวียน แต่หากเงินใหม่ ๆ ไม่เข้ามา แล้วเงินเก่า ๆ ต้องจ่ายแพงขึ้นมากตามอัตราเงินเฟ้อ คําถามคือแล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร? บางคนก็มองว่านี่คือแชร์ลูกโซ่ขนาดใหญ่ที่สุดเลยหรือเปล่า? 

รายงานจากทาง IMF ออกมาบอกว่าประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย หลายคนก็รู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดขั้วในอนาคต หมายความว่าคนแก่จะเยอะขึ้น คนที่จะต้องให้ภาครัฐดูแลก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางกลับกัน คนใหม่ ๆ ที่มาทํางานกลับมีน้อยลงไป

ต่อมาเป็นเรื่อของ ‘การลงทุน’ ในยุคนี้การลงทุนได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเทรนด์อัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาลง หากย้อนกลับไปในช่วง 10-20 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยไทยค่อนข้างสูง เอาเงินฝากแบงก์ก็ได้ดอกเบี้ย สามารถอยู่ได้แล้ว แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยมันน้อยลงไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ 1-2% การที่จะหวังกินเงินดอกเบี้ยจากเงินฝากมันก็คงเป็นไปไม่ได้ และจะหวังเอาเงินพวกนี้มาใช้จ่าย เป็นรายจ่ายของผู้สูงอายุมันก็ไม่พอ

และล่าสุดในปี 2566 เงินในกองทุนประกันสังคมลดลงถึง 17,000 ล้านบาท โดยปกติมีการเติบโตขึ้นตลอดเพราะว่าคนใหม่ก็ใส่เงินเข้ามา คนเก่าก็ยังไม่ได้เกษียณ ยังทํางานอยู่ แต่ปัจจุบันหลังจากรายจ่ายมันเยอะขึ้น เงินใหม่น้อยลง แล้วก็ปันผลดอกเบี้ยมันก็น้อย ทําให้กองทุนเริ่มจะลดลง และนี่เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี 

การที่ผลตอบแทนมันต่ำเตี้ยแบบนี้ อาจถูกผลักดันให้ลงทุนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น สำหรับตัวกองทุนประกันสังคม ก็เคยตกเป็นที่สงสัยของผู้คน เนื่องจากมีการถือหุ้น ‘ศรีพันวา’ มูลค่ากว่า 505 ล้านบาท ต่อมาทางดีเอสไอได้ไปตรวจสอบที่ดินของศรีพันวาว่าเป็นที่ดินมิชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า? ซึ่งข้อสงสัยพวกนี้ส่งผลให้ประกันสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเหมือนนำเงินเก็บของประชาชนหลังเกษียณมาลงทุน และการลงทุนก็ควรจะต้องดูให้ดีและน่าเชื่อถือ

เรียกได้ว่าปัญหาที่กองทุนประกันสังคมต้องเผชิญนั้นมีมากมายหลายด้านจริงๆ และเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีประเด็นที่ว่า รัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือกรณีที่นายจ้างหักเงินลูกจ้างไปแต่ไม่ได้นำส่งเข้าประกันสังคม 

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด ทำให้คนมองว่ากองทุนประกันสังคมจะล้มในอีก 30 ปี ทำให้เกิดการเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น การเร่งรัดหนี้ที่ค้างกองทุน เรื่องนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีคนไม่ได้หนี้ส่งหนี้เยอะ และหากยิ่งปล่อยไว้นานๆ เข้า ยอดหนี้ก็จะสะสมขึ้นเรื่อยๆ 

ทางด้านที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ T.D.R.I ได้ออกมาระบุว่า สาเหตุหลัก ๆ ของไทยคือโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ และมีชีวิตอยู่ยาวนาน ทำให้ต้องใช้เงินในการดูแลมากขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้กองทุนต้องจัดสรรเงินมาดูแลในส่วนนี้ และต่อให้กองทุนนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ อีกทั้งตามกฎของประกันสังคม ต้องลงทุนในทรัพย์สินที่มีความมั่นคงสูง แต่คำถามที่ตามมาคือจะสร้างผลตอบแทนได้มากพอจริงๆ หรือ? ทาง T.D.R.I จึงมองว่าหากเป็นแบบนี้ไปอีก 25 ปี จะทำให้กองทุนประกันสังคมติดลบและล้มละลายไปในที่สุด 

เมื่อปัญหาเยอะ แถมเงื่อนไขการลงทุนยังจำกัด แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? 

1.ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้คำนวณการจ่ายเงินสมทบ จาก 15,000 เพิ่มเป็น 17,500-20,000 บาทต่อเดือน และควรปรับเพิ่มทุกปีตามค่าจ้างเฉลี่ยด้วย หากปรับตรงนี้ได้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 5-6% เลยทีเดียว

2. เพิ่มอายุผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญ ซึ่งโดยปกติแล้ว แรงงานที่มีอายุครบ 55 ปีมีสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนชราภาพ แต่จะเลื่อนไปเป็น 60 ปี หรือพูดง่าย ๆ คือการเก็บเบี้ยได้มากขึ้น แต่จ่ายออกให้ช้าลงนั่นเอง

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขออกมาในรูปแบบใด และผู้คนจะเห็นด้วยหรือไม่? และมีแนวโน้มที่จะเกิดการประท้วงเหมือนในฝรั่งเศสหรือไม่? อีกทั้งหากโครงสร้างปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้ว ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีการกันใหม่ และต้องหาแนวทางรับมือและกัดการกับความผิดหวังของแรงงานไว้ด้วยนั่นเอง