Wednesday, 15 May 2024
สังคมผู้สูงอายุ

สัญญาณอันตราย!! ‘ญี่ปุ่น’ ทุบสถิติ ยอดประชากรเกิดต่ำสุดในรอบ 40 ปี ‘นายกฯ’ ชี้ เป็นวิกฤต สั่งเร่งแก้ไข-เพิ่มงบหนุน 2 เท่า

(1 มี.ค. 66) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ว่า จำนวนการแจ้งเกิดในญี่ปุ่นลดตัวลงอีกครั้ง และทำลายสถิติต่ำที่สุดอย่างต่อเนื่องเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหามานานหลายสิบปี สถิติการเกิดในประเทศล่าสุดที่น่ากังวลนี้ สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นในการกระตุ้นการเกิดใหม่ของประชากร แม้จะมีความพยายามอย่างหนักก็ตาม

จากสถิติการเกิดที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ญี่ปุ่นมีจำนวนเด็กทารกเกิดใหม่จำนวน 799,728 คนเมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จำนวนการเกิดของประเทศอยู่ต่ำกว่า 800,000 คน โดยยอดดังกล่าวลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ในอดีตญี่ปุ่นเคยมีสถิติการเกิดมากกว่า 1.5 ล้านคนในปี 1982

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตของปีที่ผ่านมาอยู่ที่กว่า 1.58 ล้านราย ซึ่งทุบสถิติสูงที่สุดในช่วงเวลาหลังเกิดสงคราม

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีอัตราการตายสูงกว่ายอดการเกิดใหม่ของประชาชนมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักอึ้งต่อผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

ประชากรของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟูในช่วงยุค 80 และในปี 2021 ญี่ปุ่นมีประชากรอยู่ที่ 125.5 ล้านคน อ้างอิงข้อมูลตัวเลขล่าสุดของรัฐบาล โดยอัตราการเกิดของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 1.3 นั้น ต่ำกว่าความคาดหวังของอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ 2.1 อย่างมาก โดยการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาจำนวนประชากรให้มีคงที่ ในกรณีที่ไม่มีการย้ายถิ่นฐานของชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ

อีกทั้ง ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรมีอายุขัยมากที่สุดในโลก โดยในปี 2020 ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า สามารถพบคนญี่ปุ่นที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป ได้ในอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 1,500 คน

‘พงษ์ภาณุ’ ระบุ ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ ขาดแคลน ‘คนวัยแรงงาน’ ที่จะมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

(18 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า

โลกกำลังเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ รวมทั้งประเทศไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่แก่เร็วมาก มีตัวเลข ว่าถ้าชาติใดมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ก็จะนับว่าประเทศนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันชาติไทยก็ได้เกินหลักเกณฑ์นั้นไปแล้ว อายุเฉลี่ยของคนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี นั่นก็หมายความว่าคนไทยมีอายุมากกว่า 40 ปีและน้อยกว่า 40 ปีในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยในอาเซียนจะมีอายุเฉลี่ย น้อยกว่าประเทศไทยยกเว้นสิงคโปร์ที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย สาเหตุตรงนี้ก็คือเด็กเกิดใหม่นั้นมีน้อยส่วนผู้สูงอายุนั้น ก็มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัฒนธรรมการมีลูกของคนไทยในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนไป ถ้าย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ต่อผู้หญิงไทย 1 คนจะมีลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ ผู้หญิงไทย จะมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3 คน ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งถ้าจะคงที่ของประชากรไทยไว้ผู้หญิง 1 คนจะต้องมีลูกประมาณ 2 คนนิดๆถึงจะคงค่าเฉลี่ยของประชากรไทยไว้ได้เหมือนเดิม ค่าอยู่ที่ประมาณ 2.1 คนไทยมีอยู่ประมาณ 70 ล้านคนซึ่งวิเคราะห์ตัวเลขนี้แล้วก็บอกว่าคงจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ อันนี้ฟังแล้วก็น่าใจหาย ที่อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยลดลงมาก สืบเนื่องจากว่าในปัจจุบันประชากรจากชนบทนั้นได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานกันอยู่ในเมือง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำเกษตรกรรมกันทำไร่ทำนากันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา คนเมืองที่อยู่ในบ้านในเมืองใหญ่ซึ่งบ้านจะเล็กกว่าบ้านตามชนบทการมี ลูก ก็เลยจะน้อยลงต่างกับคนชนบทที่จะมีลูกกันมาก

เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนที่จะมีลูกนั้นก็จะต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายค่าเลี้ยงดูค่าเล่าเรียนการศึกษา ค่าอาหารการกินค่าที่พักอาศัยซึ่งจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นการมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ และนโยบายจากทางภาครัฐนั้นก็ถือว่าสำคัญ อย่างถุงยางอนามัยถุงยางมีชัยนั้นก็ถือว่าได้ผลเกินคาด

เมื่อเราเป็น ผู้สูงวัยเกษียณอายุ ชีวิตก็จะมีอยู่ 3 ทางเลือก 1 ถอนเงินออมออกมาใช้ 2 พึ่งบำนาญจากทางราชการ 3 ให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเรา สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมผู้สูงอายุ และในภาวะที่อัตราการเกิดลดลงก็คือ อัตรากำลังในภาคแรงงาน นั้นจะมีขนาดลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรประเทศ ซึ่งตรงนี้คือตัวที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่ผลักดันทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญ

หลายๆประเทศก็ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการ เพิ่มจำนวนผู้อพยพเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะเข้ามาเพิ่มจำนวนของประชากรในประเทศไปโดยปริยาย อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะดึงดูดประชากรใหม่เข้ามาในประเทศปีละเป็นแสนเป็นล้านคน ในประเทศไทยก็ได้เปิดให้แรงงาน เข้ามา ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบนโยบายการรับ ผู้อพยพเข้าเมืองระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเปิดรับผู้อพยพที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ามาคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆให้กับประเทศ อย่างเช่นสตีฟ จ๊อบ ก็มีพ่อแม่ซึ่งอพยพมาจากประเทศจอร์แดน หรือใน ปัจจุบัน CEO ของ Microsoft หรือ CEO ของ Google ก็เป็นคนที่เป็นแขก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยผู้อพยพที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ก็จะเห็นความแตกต่างว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้บริหารก็จะเป็นคนต่างด้าวพอสมควร แต่สำหรับประเทศไทย เราไม่มี เราบอกว่า คนต่างด้าวจะให้เข้ามาแข่งขันกับคนไทยไม่ได้ เราจึงเอาเฉพาะแรงงานระดับรากหญ้าระดับที่ติดดินเข้ามา ซึ่งความคิดตรงนี้อาจจะต้องเปลี่ยน

‘กองทุนประกันสังคม’ ส่อแววล้มละลายภายใน 30 ปี หลังเผชิญวิกฤตสังคมผู้สูงวัย-แรงงานเกิดใหม่น้อยลง

(19 ก.ค.66) ช่องยูทูบชื่อ ‘Kim Property Live’ โดยคุณคิม ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องกองทุนประกันสังคมที่ส่อแววล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า ในชื่อคลิป ‘แรงงานสะดุ้ง! วิจัยชี้กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้ม รายจ่ายเยอะ เงินเริ่มไม่พอ!’ สรุปใจความสำคัญได้ว่า…

เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ในวันแรงงานที่ประเทศฝรั่งเศส สาเหตุการประท้วงเกิดจากระบบประกันสังคมของฝรั่งเศสส่อแววว่าจะมีปัญหา อีกทั้งทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ออกนโยบายยืดเวลาทำงานออกไปอีก 2 ปี จุดกระแสความไม่พอใจอย่างมากในหมู่แรงงาน จนเกิดการประท้วงทั่วฝรั่งเศส

หากมองในมุมของภาครัฐที่ต้องแก้ปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้าก็น่าเห็นใจ จากนโยบายที่คิดว่าทำได้ ในวันนี้กลับทำไม่ได้แล้ว ก็เกิดภาวะกระอักกระอ่วน ที่ต้องหามาตการเพื่อมาแก้ปัญหา แต่หากมองในมุมแรงงานที่ส่งเบี้ยมาตลอดหลายปี และบางส่วนกำลังจะเกษียณแล้ว แต่กลับต้องทำงานต่ออีก 2 ปี จึงทำให้ความแค้นเคืองปะทุขึ้นอย่างที่เป็นข่าว

หลายคนคงคิดว่านี่อาจะเป็นสิ่งที่ไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะล่าสุดมีรายงานชิ้นหนึ่งจากกรุงเทพเผยแพร่ออกมา ระบุว่า ‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้มละลายใน 30 ปี 

ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องการล้มละลาย ต้องขอพูดถึงหลักการของกองทุนประกันสังคมก่อน กองทุนประกันสังคมเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ได้ร่วมกันจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งเงินกองทุนตรงนี้จะนําไปใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ เช่น ว่างงาน/ตกงาน สิทธิรักษา และเงินบำนาญ สำหรับแรงงานที่ส่งเบี้ยประจำทุกเดือน เงินส่วนนี้จะมาช่วยให้มีความมั่นคงในการงานมากขึ้น 

ในปี 2563 มีผู้ประกันตนมีจํานวน 11.1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ คือลูกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในระบบนี้ แต่ละคนก็มีการจ่ายเงินสมทบอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่องทุกเดือน

ตลอดระยะเวลา 30 ปี มีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างมากมายและต่อเนื่อง ทําให้ขนาดของกองทุนขยายการเติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี 2563 เงินกองทุนมีมากถึง 2.283 ล้านล้านบาท 

แต่คําถามคือมันเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่แรงงานส่งเงินมาตลอดหลายสิบปี แต่ทําไมกองทุนนี้ถึงส่อแววล้มละลายล่ะ? และถ้าเป็นแบบนี้แรงงานจะมีเงินเก็บ เงินบํานาญหลังเกษียณได้อย่างไร?

ต้องบอกว่ากองทุนประกันสังคมของไทย ใช้เวลาในการจัดตั้งยาวนานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญก็คือการให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ แต่ประเด็นสำคัญคือกองทุนนี้ ‘ยิ่งอยู่นาน เงินก็ยิ่งไม่ค่อยพอ’ เงินเริ่มร่อยหร่อไปเรื่อยๆ 

มาดูเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้กองทุนประกันสังคมอาจ ‘ล้มละลาย’

เหตุผลแรก คือ ‘รายจ่าย’ รายจ่ายด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านเลยไปค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าครองชีพ ค่าดูแลชีวิต ก็แพงขึ้นตามเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มของกองทุนก็เริ่มที่จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่พึงจะได้รับ โดยเฉพาะการดูแลของผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุหรือชราภาพ 

ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ‘คนชรา / ผู้สูงอายุ’ ก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่อีกมุมหนึ่ง ‘อัตราการเกิด’ รวมถึง ‘อัตราการเข้าทํางาน’ ก็มีการลดลงไปเรื่อย ๆ ส่งผลเงินไม่เพียงพอดูแลคนในระบบ ต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนรูปแบบนี้คือการนําเงินคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนวัยทํางานเข้ามาในกองทุน เพื่อใช้จ่ายหมุดเวียน แต่หากเงินใหม่ ๆ ไม่เข้ามา แล้วเงินเก่า ๆ ต้องจ่ายแพงขึ้นมากตามอัตราเงินเฟ้อ คําถามคือแล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร? บางคนก็มองว่านี่คือแชร์ลูกโซ่ขนาดใหญ่ที่สุดเลยหรือเปล่า? 

รายงานจากทาง IMF ออกมาบอกว่าประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย หลายคนก็รู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดขั้วในอนาคต หมายความว่าคนแก่จะเยอะขึ้น คนที่จะต้องให้ภาครัฐดูแลก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางกลับกัน คนใหม่ ๆ ที่มาทํางานกลับมีน้อยลงไป

ต่อมาเป็นเรื่อของ ‘การลงทุน’ ในยุคนี้การลงทุนได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเทรนด์อัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาลง หากย้อนกลับไปในช่วง 10-20 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยไทยค่อนข้างสูง เอาเงินฝากแบงก์ก็ได้ดอกเบี้ย สามารถอยู่ได้แล้ว แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยมันน้อยลงไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ 1-2% การที่จะหวังกินเงินดอกเบี้ยจากเงินฝากมันก็คงเป็นไปไม่ได้ และจะหวังเอาเงินพวกนี้มาใช้จ่าย เป็นรายจ่ายของผู้สูงอายุมันก็ไม่พอ

และล่าสุดในปี 2566 เงินในกองทุนประกันสังคมลดลงถึง 17,000 ล้านบาท โดยปกติมีการเติบโตขึ้นตลอดเพราะว่าคนใหม่ก็ใส่เงินเข้ามา คนเก่าก็ยังไม่ได้เกษียณ ยังทํางานอยู่ แต่ปัจจุบันหลังจากรายจ่ายมันเยอะขึ้น เงินใหม่น้อยลง แล้วก็ปันผลดอกเบี้ยมันก็น้อย ทําให้กองทุนเริ่มจะลดลง และนี่เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี 

การที่ผลตอบแทนมันต่ำเตี้ยแบบนี้ อาจถูกผลักดันให้ลงทุนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น สำหรับตัวกองทุนประกันสังคม ก็เคยตกเป็นที่สงสัยของผู้คน เนื่องจากมีการถือหุ้น ‘ศรีพันวา’ มูลค่ากว่า 505 ล้านบาท ต่อมาทางดีเอสไอได้ไปตรวจสอบที่ดินของศรีพันวาว่าเป็นที่ดินมิชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า? ซึ่งข้อสงสัยพวกนี้ส่งผลให้ประกันสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเหมือนนำเงินเก็บของประชาชนหลังเกษียณมาลงทุน และการลงทุนก็ควรจะต้องดูให้ดีและน่าเชื่อถือ

เรียกได้ว่าปัญหาที่กองทุนประกันสังคมต้องเผชิญนั้นมีมากมายหลายด้านจริงๆ และเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีประเด็นที่ว่า รัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือกรณีที่นายจ้างหักเงินลูกจ้างไปแต่ไม่ได้นำส่งเข้าประกันสังคม 

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด ทำให้คนมองว่ากองทุนประกันสังคมจะล้มในอีก 30 ปี ทำให้เกิดการเสนอแนวทางแก้ปัญหา เช่น การเร่งรัดหนี้ที่ค้างกองทุน เรื่องนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีคนไม่ได้หนี้ส่งหนี้เยอะ และหากยิ่งปล่อยไว้นานๆ เข้า ยอดหนี้ก็จะสะสมขึ้นเรื่อยๆ 

ทางด้านที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ T.D.R.I ได้ออกมาระบุว่า สาเหตุหลัก ๆ ของไทยคือโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ และมีชีวิตอยู่ยาวนาน ทำให้ต้องใช้เงินในการดูแลมากขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้กองทุนต้องจัดสรรเงินมาดูแลในส่วนนี้ และต่อให้กองทุนนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ อีกทั้งตามกฎของประกันสังคม ต้องลงทุนในทรัพย์สินที่มีความมั่นคงสูง แต่คำถามที่ตามมาคือจะสร้างผลตอบแทนได้มากพอจริงๆ หรือ? ทาง T.D.R.I จึงมองว่าหากเป็นแบบนี้ไปอีก 25 ปี จะทำให้กองทุนประกันสังคมติดลบและล้มละลายไปในที่สุด 

เมื่อปัญหาเยอะ แถมเงื่อนไขการลงทุนยังจำกัด แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? 

1.ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้คำนวณการจ่ายเงินสมทบ จาก 15,000 เพิ่มเป็น 17,500-20,000 บาทต่อเดือน และควรปรับเพิ่มทุกปีตามค่าจ้างเฉลี่ยด้วย หากปรับตรงนี้ได้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 5-6% เลยทีเดียว

2. เพิ่มอายุผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญ ซึ่งโดยปกติแล้ว แรงงานที่มีอายุครบ 55 ปีมีสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนชราภาพ แต่จะเลื่อนไปเป็น 60 ปี หรือพูดง่าย ๆ คือการเก็บเบี้ยได้มากขึ้น แต่จ่ายออกให้ช้าลงนั่นเอง

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขออกมาในรูปแบบใด และผู้คนจะเห็นด้วยหรือไม่? และมีแนวโน้มที่จะเกิดการประท้วงเหมือนในฝรั่งเศสหรือไม่? อีกทั้งหากโครงสร้างปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้ว ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีการกันใหม่ และต้องหาแนวทางรับมือและกัดการกับความผิดหวังของแรงงานไว้ด้วยนั่นเอง

'เสี่ยหนู' ชูไอเดียรับมือ 'สังคมผู้สูงวัย' พุ่ง!! ดัน 1 ตำบล 1 บ้านพักคนชรา เป็นวาระแห่งชาติ

(7 ส.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์สังคมผู้สูงวัย ที่ควรผลักดันให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ระหว่างการเป็นประธานในงานเปิดการประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและวิทยาการผู้สูงวัย มหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ 4 ‘The 4th Thailand Elderly Health Service Forum 2023’ ณ อาคารอิมแพคฟอรัม เมืองทองธานี 

โดยนายอนุทินได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2566 เป็นปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย เนื่องด้วยเราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เรียบร้อยแล้ว และแนวโน้มของอัตราส่วนผู้สูงวัยในโลก จะมีแต่เพิ่มขึ้น ไม่ลดลง

สำหรับประเทศไทย ประชากรผู้สูงอายุของเราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นร้อยละ 20 ของประชากรรวม หรือประมาณ 13.5 ล้านคน เรากำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านระบบสวัสดิการสังคม ระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพและสังคม เป็นต้น”

พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพ ตลอดจนการเพิ่มความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ประกอบทุกมิติ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ นายอนุทินได้กล่าวถึงแนวคิดว่าการรับมือกับสังคมผู้สูงวัยในระยะยาวนั้นควรเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่จะต้องมีแนวทางอย่างบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานที่อาจต้องมีการเอื้อให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามาเติมส่วนขาดในประเทศได้ดีขึ้น ขณะที่คุ้มครองสิทธิของแรงงานไทยไปด้วย กฎหมายสวัสดิการผู้สูงวัย การพัฒนาการออกแบบเมืองและที่อยู่อาศัยให้ตอบรับกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ งานด้านสาธารณสุข การดูแลกันในชุมชน ซึ่งในอนาคตอาจมีความต้องการบริการแบบ 1 ตำบล 1 บ้านพักคนชรา เป็นต้น

สุดท้ายรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดถึงบทบาทของตนในช่วงรัฐบาลรักษาการว่า ตนได้หารือกับผู้บริหารกระทรวงตลอดเวลาว่าต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระดับของส่วนราชการให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง แล้วฝ่ายบริหารที่จะเข้ามาจะได้สามารถไปต่อยอดในส่วนของนโยบายเพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุสามารถดำเนินการไปได้อย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพสูงสุดได้

เคลียร์ปม 'เบี้ยผู้สูงอายุ' รัฐบาลยันคนกลุ่มเดิมยังได้อยู่ แต่ขอคนรวยโปรดเข้าใจ ปรับเพื่อผู้ลำบากจริงๆ

(14 ส.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 ซึ่งมีสาระหลักเพิ่มเติม คือ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีกโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป

ส่วนที่มีการกล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงิน นางสาวรัชดา ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา เศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น มีการจดทะเบียนการค้าบริษัทต่างชาติ การขอการสนับสนุนการลงทุนต่างชาติเพิ่มต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดความสามารถจัดหารายได้ ดูจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย.66) เก็บรายได้สูงกว่าปีก่อน 6.5% สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 107,101 ล้านบาท หรือ 11.10% ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% นี่คือความสามารถของรัฐบาลในการหารายได้

“ส่วนประเด็นที่มีการดรามาว่า เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ ห้าหมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็นแปดหมื่นล้าน และแตะเก้าหมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่เลย” นางสาวรัชดา กล่าว

เทียบมุมมอง 'หมอชลน่าน - ปกรณ์วุฒิ' กรณีอนาคตประชากรไทย ภายใต้สังคมผู้สูงอายุพุ่ง อัตราการเกิดต่ำ สั่นคลอนความสมดุล

(13 ก.ย.66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'ถือแถน ประสพโชค' ได้โพสต์คำพูดความคิดเห็นของ 2 คนจาก 2 พรรค (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล) ที่สะท้อนถึงการมองปัญหาของสังคมและปัญหาของประเทศที่แตกต่าง ไว้ว่า...

สภาพสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ คนวัยทำงานมีน้อยลง ภาระพึ่งพิงมากขึ้น เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

สภาวะทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนวัยเจริญพันธุ์ไม่อยากมีลูก จนกลายมาเป็นฐานคิดว่าลูกมากจะยากจนอย่างที่หมอชลน่านพูด

ซึ่งมันเป็นปัญหาที่รัฐจะทำอย่างไร จึงจะสามารถแก้ปัญหาไม่ให้เกิดภาวะการมีลูกแล้วกลายเป็นภาระ โดยรัฐจะต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ มาช่วยให้โครงสร้างประชากรเป็นโครงสร้างที่สมดุล ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศในอนาคต

แต่อีกคนจากอีกพรรคไปมองว่า การแต่งงานการมีลูกจะไปบังคับกันไม่ได้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นไปเลย

เพราะการสร้างครอบครัว การจะเป็นครอบครัวขยาย ไม่มีรัฐที่ไหนจะไปบังคับให้ใครมีลูก

รัฐทำได้เพียงทำมาตรการส่งเสริม สร้างสวัสดิการที่ดีไว้สำหรับเด็กที่เกิดขึ้นมา สร้างการศึกษาที่ดี สร้างการเรียนฟรีที่ฟรีจริงๆ สร้างสภาวะสังคมที่ดีปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อให้คู่ชีวิตวัยหนุ่มสาวอยากมีครอบครัวอยากมีลูก และมีลูกมากก็ยังไม่ยากจน

สังคมบ้านเราปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และอัตราการเกิดต่ำมีเด็กน้อย โรงเรียนร้างไม่มีเด็กๆ มีอยู่ทั่วไปเต็มไปหมด แถวบ้านผม โรงเรียนประถมตามบ้านนอก เด็กที่เรียนอยู่เกินครึ่งเป็นลูกหลานของแรงงานต่างชาติ ส่วนโรงเรียนเอกชนนานาชาติในเมืองเกินครึ่งเป็นลูกหลานคนจีนที่มาเรียนในไทย

ถ้าเราปล่อยให้โครงสร้างประชากรในประเทศอยู่ในสภาพนี้ อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร

พรรคที่หาเสียงจะแก้โครงสร้าง แต่ดูทัศนะแล้วเหมือนยังไม่เข้าใจโครงสร้างเลย จะเอาแต่สิทธิ์แต่เหมือนไม่รู้หน้าที่

‘วราวุธ’ ชี้!! ไทยเผชิญวิกฤตประชากร หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว ชวนร่วมถกหาทางออก 7 มี.ค.นี้ ก่อนชง ครม.-เสนอรายงานต่อ UN

(18 ก.พ. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงการเตรียมการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร’ ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัญหาโครงสร้างประชากรกำลังเป็นปัญหา ที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตนี้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อปี 2566 มีปริมาณผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 13 ล้านคน ในขณะที่มีเด็กแรกเกิดไม่ถึง 5 แสนคน โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2565 – 2566) ประชากรของประเทศไทยลดลงไปถึง 35,000 คน ถ้าหากว่าเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ คาดว่าประชากรของประเทศไทยที่มีอยู่ 66 ล้านคน นั้น อีกไม่เกิน 50 ปี จะลงไปเหลือประมาณ 30 ล้านคน

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. จึงได้จัดโครงการประชุมในรูปแบบเวิร์คช็อปสำหรับการสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทย เพื่อให้พ้นภัยวิกฤตประชากร ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2567 ณ ห้องเพลนารีฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ และที่สำคัญ งานนี้ จะมีผู้แทนจากทุกๆ วงการ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน NGOs และหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้มาร่วมแลกเปลี่ยนและหาแนวทางวิธีการที่จะเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่ให้คน 2 คนมาอยู่ด้วยกัน แต่ต้องสร้างสังคมที่มีความสุข ต้องสร้างหนทาง สร้างความอบอุ่น สร้างความมั่นคงให้กับคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะมีครอบครัว อยากจะมีคนสืบสกุล และมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น

นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงาน กระทรวง พม.ได้เริ่มต้นหารือตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2567 ได้เริ่มมีการพูดคุย และมีการเชิญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก (World bank) มาพูดคุยหารือกันก่อนที่วันที่ 7 มีนาคมที่จะถึงนี้ เราจะร่วมกันเวิร์คช็อป จะมีการหารือกันในหลายๆ กลุ่ม และเมื่อได้ผลการพูดคุยกันแล้วจะมีนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

และในปลายเดือนเมษายนนี้ กระทรวง พม. จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ ไปนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติ เพื่อให้คนทั้งโลกได้รับรู้ว่าวันนี้ ประเทศไทยของเรานั้นกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างประชากรที่ทุกๆ ประเทศในโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้กันได้อย่างไร ดังนั้นวันที่ 7 มีนาคมนี้ ขอเชิญชวนทุกๆคน ทุกๆ หน่วยงานเกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างประชากร มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้กันได้ที่ห้องเพลนารีฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top