Monday, 20 May 2024
เศรษฐาทวีสิน

‘นายกฯ’ มั่นใจ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น’ ไร้ทุจริต ลั่น!! ไม่มีแนวคิดยุติโครงการ แต่อาจดีเลย์

(19 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ตนได้รับรายงานจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกขอรอรับรายงานจากทาง ป.ป.ช.ก่อน ส่วนเรื่องคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าตนเชื่อว่า มีตัวเลือกที่สามารถอธิบายได้ ส่วนเรื่องทุจริตผมมั่นใจ 100% ว่าไม่มีแน่นอน หากสงสัยว่าทุจริตตรงไหนให้ถามมา ทางรัฐบาลมีหน้าที่อธิบาย เพราะมีการใช้เทคโนโลยี ในการส่งเงินจาก G to C (Government to customer) เพื่อเข้ากระเป๋าสตางค์ของประชาชน ซึ่งตนไม่เห็นว่าจะทุจริตตรงไหนได้เลย พร้อมย้ำว่าอย่าพูดลอยๆ ว่ามีการทำทุจริตได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ พร้อมระบุว่า ถ้าบอกได้ว่าตรงไหนมีการทุจริตเราก็พร้อมที่จะอธิบายให้ฟัง เพราะหากอธิบายไม่ได้หรือมีข้อกังขาก็คงทำไม่ได้ 

เมื่อถามว่าไทม์ไลน์ของโครงการจะเริ่มที่เดือนพฤษภาคมเหมือนเดิมใช่หรือไม่? นายกรัฐมนตรีระบุว่า “เป็นไปตามที่นายจุลพันธ์ ระบุว่าอาจจะมีการดีเลย์ออกไป”

ส่วนกรณีที่นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่ารัฐบาลจะใช้ข้ออ้างของป.ป.ช. เพื่อเป็นหลังพิงฝาในการยุติโครงการดังกล่าว? นายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ไม่มีความคิด ณ จุดนี้ เดินหน้าเต็มที่ ส่วนจะดีเลย์ออกไประยะเวลานานแค่ไหนตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับว่าหนังสือจากป.ป.ช.จะมาถึงเมื่อใด และมีคำถามมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีคำถามมาตนก็อยากให้เป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจง เพราะจะได้สามารถตอบอย่างตรงไปตรงมา”

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะถึงขั้นเลื่อนมาใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในการดำเนินโครงการ? นายเศรษฐา ระบุว่า “ยังไม่พูดไปไกลขนาดนั้น” และกล่าวอีกว่า ตนมีความกังวลในทุกเรื่อง ที่เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต โรงงานพลุระเบิด จังหวัดสุพรรณบุรี ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งตนก็กังวลทุกเรื่อง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนให้เกียรติรัฐร่วมรัฐบาลเสมอ ซึ่งต้องคุยกันทุกเรื่อง ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เมื่อมีข้อมูลหรือคำถามเข้ามาเราก็ต้องอธิบายคำถามให้ได้ว่าเป็นอย่างไร และเราต้อง คุยกับพรรคร่วมรวมถึงถามว่าพอใจหรือเห็นด้วยหรือไม่ เพราะอยู่ด้วยกันต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนยืนยันมาตลอด 

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

‘นายกฯ’ สั่งยกระดับ ‘ภาษาอังกฤษ’ ในระดับอุดมศึกษา สร้างความพร้อมด้าน ‘วิชาการ-วิชาชีพ-ทักษะสื่อสาร’ ยิ่งขึ้น

(25 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย 66 ให้หน่วยงานภาครัฐเร่งจัดหาโครงการ หรือมาตรการต่าง ๆ ด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศเรื่องนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2567 เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยกำหนดเป้าหมาย พัฒนาการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ รวมถึงกำหนดให้นักศึกษาทุกคน สอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นหรือแบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่น ๆ โดยเทียบเคียงผลกับมาตรฐานสากลของสหภาพยุโรปที่ใช้วัดระดับความสามารถทางภาษาในด้านการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด (Common European Framework of Reference for Languages: CEFR)

นายชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานตามประกาศดังกล่าว โดยกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาปฏิบัติตามแนวทางกำหนดนโยบายและเป้าหมายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนิสิต นักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีความพร้อม ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้ และพิจารณาจัดการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดทําแผนเพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีตัวชี้วัดและมีการประเมินผลที่ชัดเจน และจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร จัดสภาพแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ

พร้อมทั้งจัดสื่อการเรียนการสอนรูปแบบเอกสารหรือสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง รวมถึงตั้งแนวทางการประเมิน โดยการสอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสําเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้น หรือ แบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่น ๆ โดยกําหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ เทียบเคียงผลกับเกณฑ์ CEFR ของแต่ละบุคคล ตามหลักดังนี้ 1.ระดับอนุปริญญา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B1 ขึ้นไป 2. ระดับปริญญาตรี ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B2 ขึ้นไป และ 3. ระดับบัณฑิตศึกษา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ C1 ขึ้นไป

“ด้วยการกำหนดนโยบายแบบมุ่งยกระดับทุกด้าน นายกรัฐมนตรีจึงเร่งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลไทยให้มีความสามารถเท่าทัน เท่าเทียมการตลาดแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อความพร้อมของนักเรียน นักศึกษา เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถ ตลอดจนยกระดับอาชีพ ให้เท่าทันสอดคล้องกับนโยบายของประเทศด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ภาคการศึกษาวิจัยต่าง ๆ” นายชัย กล่าว

‘นายกฯ’ สั่งทุกหน่วยเร่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมพัทลุง พร้อมเยียวยาโดยเร็ว หลังเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย

(26 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ติดตามสถานการณ์ฝนถล่มและเกิดอุทกภัยฉับพลัน จากเหตุฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดพัทลุงติดต่อและสะสมเป็นเวลา 3 วัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ริมเทือกเขาบรรทัด อ.ศรีนครินทร์ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลทะลักลงจากภูเขาบรรทัดอย่างรุนแรง ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว และทำให้ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ รวมถึงปิดกั้นการจราจรไม่สามารถผ่านได้

นายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการสรรพกำลัง พลเรือน ทหาร และเจ้าพนักงาน เข้าคลี่คลายสถานการณ์ทันที อพยพประชาชน ยกสิ่งของขึ้นที่สูง รวมทั้งการอพยพเด็ก นักเรียน ในพื้นที่ประสบภัยออกจากโรงเรียน ไปพำนักในที่ปลอดภัย หยุดการเรียนการสอนชั่วคราว

พร้อมสั่งการเรื่องการแจ้งเตือนเหตุให้เตรียมรับมือจากสถานการณ์ ไม่ให้บกพร่องเนื่องจากยังมีฝนตกต่อเนื่องติดต่อกัน จึงขอให้หน่วยงาน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าพนักงานปกครองให้บูรณาการงานเพื่อป้องกันเหตุและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา สำหรับการดูแลช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์นี้ ขอให้หน่วยงานทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลที่พักพิงของนักเรียนและประชาชนให้มีอาหาร ยารักษาโรค และของใช้จำเป็น รวมไปถึงการเยียวยาซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน และสถานศึกษาให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว

'อ.อุ๋ย ปชป.' แนะ!! นายกฯ ควรดึงเงินลงทุนต่างชาติ เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ควบคู่  วอน!! อย่าปล่อยไทยเป็นแค่แหล่งสูบผลประโยชน์จากต่างชาติจนแห้งเหี่ยว

(29 ม.ค.67) จากกรณีที่ช่วงนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐบาลเดินสายต่างประเทศ เพื่อชักชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นั้น 'นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย' หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านแพลทฟอร์ม X หรือทวิตเตอร์ ระบุว่า...

ช่วงนี้เห็นท่านนายกเดินสายชวนประเทศนู้นประเทศนี้มาลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทําให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในประเทศ กระจายความมั่งคั่งให้คนไทย 

อย่างไรก็ตาม หนทางเดียวที่จะทําให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนและทําให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางคือการ 'พึ่งตนเอง' ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นเพียงแรงดีดสปริงบอร์ดตอนแรกเท่านั้น 

ที่สําคัญคือ ทุกความตกลงในการลงทุนจากต่างประเทศต้องมีข้อกําหนดที่ให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชาวไทย กําหนดมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม และนําความมั่งคั่งจากการลงทุนจากต่างประเทศมากระจายให้กับชุมชนรอบๆ ให้ได้ เพื่อนําไปสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้กับประเทศ เพื่อก้าวไปเป็นประเทศที่ส่งออกนวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด

หาไม่แล้ว!! ประเทศไทยก็จะเป็นเพียงแค่ทรัพย์สมบัติชิ้นหนึ่งที่ให้ต่างชาติเข้ามาสูบผลประโยชน์จนแห้งเหี่ยว โดยที่ประชาชนคนไทยก็ก้มหน้ารับกรรมกับค่าแรงตํ่าๆ ไปตลอดชีวิต รอคอยแต่เศษเงินที่นักการเมืองจะโปรยมาให้ 

ด้วยความปรารถนาดี 

'นายกฯ' เผยข่าวดี หลัง 'หวัง อี้' พร้อมหนุน ส่ง ‘หมีแพนด้า’ มาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่

(29 ม.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า…

“เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ได้หารือกับนายหวัง อี้ ที่ผ่านมาสวนสัตว์เชียงใหม่เคยมีหมีแพนด้า แต่ปัจจุบันไม่มี และบังเอิญจริงๆ 2-3 วันที่ผ่านมาตนได้ดูใน x ว่าประเทศใดบ้างที่ยังมีหมีแพนด้าอยู่ ซึ่งไล่ลงมาแล้วประเทศไทยเป็นศูนย์ ซึ่งไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนที่ดีสำหรับด้านความสัมพันธ์ทางด้านการทูตที่ดี ที่เรามีมากับประเทศจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จึงได้เรียนขอกับนายหวัง อี้ ซึ่งท่านยินดีให้การสนับสนุน 

“เราก็จะมีหมีแพนด้ากลับมาอีกครั้งนึง มาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ส่วนเมื่อไหร่นั้นก็คาดว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด”

‘เศรษฐา’ ฟิต!! เตรียมยกหูถึง ‘นายกฯ กัมพูชา’ ลุยหารือแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังพัดเข้าไทย

(2 ก.พ. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติแล้ว หลังจากได้ลาป่วยตามคำแนะนำของแพทย์ จากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นเวลา 2 วัน โดยระหว่างเลี้ยวรถเข้าทำเนียบรัฐบาล หน้าบริเวณประตู 1 นายกรัฐมนตรี ได้ให้ขบวนรถจอด พร้อมกับลงมา ทักทายสื่อมวลชน โดยก่อนลงจากรถนายกรัฐมนตรี ได้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งพบว่ายังมี สีหน้าที่อิดโรย แววตาฉ่ำจากพิษไข้ พร้อมกล่าวทักทายสวัสดีสื่อมวลชน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหายดีแล้วใช่หรือไม่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตอนนี้พ้นระยะติดเชื้อแล้ว แต่ขอใส่แมสไว้หน่อยก็แล้วกัน เดี๋ยวเขาจะว่าเอา ไม่มีไข้ไม่มีอะไรแล้ว วันนี้ได้มาทำงานตามปกติ 

เมื่อถามว่ายังสามารถเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์นี้ ได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โอ๊ย สบายมากไม่มีปัญหาครับ วันนี้ก็มีนัดแน่นเอี้ยด โดยเวลา 09.30 น. ทางผู้บริหารธนาคารกรุงเทพจะพาธนาคารจีนมา และยังจะมีประชุมอีกทั้งวัน นอกจากนี้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็จะมาพูดคุย และรายงานเรื่องการท่องเที่ยวที่ได้ไปประชุมมา ที่จะรวบรวม 4-5 ประเทศ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง

"ไม่ต้องห่วงครับสบายมากครับ เมื่อวานนี้ผมยังได้สั่งการไปหลายเรื่อง ซึ่งวันนี้เป็นห่วงเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากทางกัมพูชา โดยอีกสักครู่จะโทรศัพท์คุยกับพล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกรอบ เพราะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะดูจากแผนภาพความร้อน heatMap ของไทยมีน้อยมาก แต่ heat Mat อยู่ที่กัมพูชา เพราะลมพัดจากตะวันออกมาตะวันตก" นายเศรษฐา กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า เดี๋ยวจะกำชับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย ในสัปดาห์หน้าเพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น พอดี อีกทั้งจะกำชับไปทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในเรื่องของระบบจะต้องไม่ล่มเนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา ล่มไปอีกรอบ แต่ก็แก้ได้เร็ว ก็ต้องไปดูว่า Back up System ระบบสำรองข้อมูล และเรื่องต่างๆ อีกมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน

"ไม่ต้องห่วงครับ ไม่มีอะไรเดี๋ยวเจอกัน ซึ่งภารกิจวันนี้น่าเสียดายในตอนเย็นเดิมมีนัดเตะฟุตบอล กับท่านทูต ที่สนาม Polo Football park แต่ผมก็จะไปเฉยๆ คงไปยืนดูนิดๆ ก็พอครับ ความจริงอยากลงเตะเหมือนกัน" นายเศรษฐา กล่าว

'นายกฯ' รุดตรวจเยี่ยม ตม.สุวรรณภูมิ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า หลังระบบตรวจคนเข้าเมืองล่มบ่อย ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร

(5 ก.พ. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า แม้ตลอดทั้งวันจะไม่มีการบรรจุวาระอย่างเป็นทางการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังก็ตาม แต่มีรายงานว่าเช้าวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากระบบตรวจคนเข้าเมือง (Biometrics) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เกิดขัดข้อง มา 2 ครั้งแล้ว ซึ่งส่งผลต่อระบบส่งต่อช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic channels ไม่สามารถตรวจได้ ส่งผลกระทบต่อช่วงเวลาที่มีเที่ยวบินขึ้นลงหนาแน่น โดยเฉพาะผู้โดยสารขาออกประเทศ

'นายกฯ' ถก!! ปตท. 'หารือ-หนุน' การลงทุนในต่างประเทศ  แนะ!! ลุย 'โซลาร์ลอยน้ำ-ผลักดันสตาร์ตอัปไทย' ในศรีลังกา

(5 ก.พ.67) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าได้หารือกับนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้นายเศรษฐาได้เปิดเผยว่าการหารือกับประธานบอร์ด ปตท. และ ซีอีโอ ปตท. โดยหารือถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และมีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Solar Floating) รวมทั้งการขยายการลงทุนไปยังศรีลังกา ซึ่งต้องการการลงทุนจากประเทศไทยอย่างมาก

“หลังจากผมได้กลับมาจากการเดินทางที่ประเทศศรีลังกา ผมได้เชิญประธานกรรมการ ปตท. เพื่อมาพูดคุยถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และถือว่ามีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด (Solar Floating) ซึ่งประเทศศรีลังกา พร้อมเปิดรับการลงทุนจากไทยด้วย”

นอกจากนั้นได้ให้นโยบายด้วยว่าอยากให้ ปตท.เข้ามาส่งเสริมธุรกิจ Start-up และการส่งเสริมผลักดันสมาคมกีฬาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากทาง ปตท.ด้วย

"เชื่อมั่นว่าจะเป็นการยกระดับของปตท. ไม่ใช่เป็นเพียงแค่บริษัทพลังงานในประเทศไทย แต่ยังเสริมสร้างโอกาสดี ๆ ให้กับประชาชนในประเทศอีกด้วยครับ" นายกรัฐมนตรี กล่าว 

'นายกฯ' รับ!! ไม่เห็นด้วย 'กนง.' คงดอกเบี้ย 2.5% ชี้!! ตอนนี้เงินเฟ้อของประเทศไทยติดลบแล้ว

(7 ก.พ.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกล่าวถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2.5% ว่า ทราบว่ามติ 5:2 ให้คงดอกเบี้ย ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็ต้องน้อมรับ เพราะโดยหน้าที่ของรัฐบาลต้องให้ความเห็น และโน้มน้าวว่าความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ตรงไหน เพื่อให้นโยบายการเงินและการคลังเดินไปด้วยกัน 

“เมื่อผลออกมาแบบนี้ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับเพราะว่า กนง.มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน เราคงไม่ก้าวก่าย แต่ก็อยากเห็นนโยบายการเงินการคลัง เดินไปด้วยกัน และในตอนนี้เงินเฟ้อของประเทศนั้นติดลบแล้ว” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ตนไม่ได้รู้สึกว่าถูกบีบอะไรทั้งสิ้น มีหน้าที่ต้องบริหารต้องทำความเข้าใจก็บริหารกันไป เป็นหน้าที่ที่ต้องบริหารเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องของความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน 

เมื่อถามว่าการประชุมครั้งนี้ กนง.ไม่ลด แต่ครั้งหน้าอาจจะลดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าก็ต้องดูตัวเลขต่อไปเรื่อยๆ ตนเองไม่ได้มีธงว่าต้องลดหรือไม่ลด ถ้าตัวเลขบอกว่าไม่ต้องลดผมก็จะออกมาบอกว่าไม่ควรจะลด

"การเห็นต่าง เห็นด้วย เห็นสมควร ในเรื่องต่างๆ หรือว่าต้องโน้มน้าวในเรื่องนี้ ผมก็จะทำต่อไป"นายเศรษฐา กล่าว 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top