Friday, 10 May 2024
เศรษฐาทวีสิน

‘เศรษฐา’ เตรียมเปิดทำเนียบรัฐบาล รับ ‘ซีอีโอใหญ่ ไมโครซอฟท์’ เยือนไทย 1 พ.ค.นี้ คุยโครงการ ‘ดาต้าเซนเตอร์ คลาวด์’ ดึงงบลงทุน ‘แสนล้าน’

(5 เม.ย.67) ‘นายสัตยา นาเดลลา’ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของไมโครซอฟท์ มีกำหนดเดินทางมาไทยวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมงาน Microsoft Build : AI Day พร้อมตอกย้ำความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ระหว่างไมโครซอฟท์ และรัฐบาลไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ในงาน Microsoft Build : AI Day นายสัตยา ได้เทียบเชิญบรรดาซีอีโอชั้นนำระดับประเทศเข้าร่วมพบปะ นอกเหนือจากพันธกิจหลักที่คาดว่า ซีอีโอ ไมโครซอฟท์จะเล่าถึงความคืบหน้า รายละเอียดความร่วมมือกับรัฐบาลไทย พร้อมเปิดโอกาสให้นักพัฒนาไทยรวมถึงองค์กรต่างๆ เข้าร่วมพูดคุย โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจในการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้งาน นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะขึ้นเวทีนี้ พร้อมกล่าวคีย์โน๊ตด้วย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับซีอีโอของไมโครซอฟท์ที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งจะได้หารือถึงความคืบหน้าของโครงการที่ไมโครซอฟท์มีแผนจะลงทุนในไทย ตามที่ได้หารือ และลงนามในความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทยและตัวแทนของบริษัทไมโครซอฟท์ ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ช่วงเดือน พ.ย.ปีก่อน

ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยเคยได้พบกับนายสัตยาแล้วครั้งหนึ่ง ที่การประชุมเอเปค ซานฟรานซิสโก เดือน ก.ย. 2566 และได้พูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และไมโครซอฟท์มาแล้ว รวมทั้งมีการเปิดเผยถึงแผนการลงทุนว่าจะมีการลงทุนหลักแสนล้านบาทในประเทศ โดยเป็นการทยอยลงทุนต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ก่อนที่ใน เดือนพ.ย.2566 นายกรัฐมนตรี จะได้พบกับผู้บริหารของไมโครซอฟท์อีกครั้ง แล้วได้ลงนามความร่วมมือร่วมกัน พร้อมระบุว่า พันธกิจของประเทศไทยนับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน มีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน

ย้อนเอ็มโอยู ไทย-ไมโครซอฟท์

ทั้งนี้ เอ็มโอยูที่ไทย และไมโครซอฟท์ลงนามร่วมกันมีรายละเอียด ดังนี้ 
1.ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัลไมโครซอฟท์ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมพิจารณาแผนลงทุนก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์ และ เอไอต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท

2.ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี เอไอ เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน เอไอ (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี เอไอของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี เอไอมาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

3.เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้าไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

4.ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

สร้างผลกระทบเชิงบวกให้ไทย

ก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพูดคุยและสัญญาระหว่างผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่า จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งการทำงานร่วมกันจากนี้มีอยู่หลายเรื่องอย่างมาก รวมถึงการนำคลาวด์และเอไอมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพระบบงานของภาครัฐ เดินหน้าสู่อีกอฟเวอร์เมนท์ และการพัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ

ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดการใช้งานเอไออย่างเป็นรูปธรรมในหน่วยงานต่างๆ และแน่นอนว่าที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะด้านเอไอ ทั้งจะมีการแบ่งปันความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกันและต่อยอดต่อไป

โดยไมโครซอฟท์จะมีการประชุมกับนายกฯ ทุก 3 เดือน เพื่อหารือ ขอความช่วยเหลือในสิ่งที่ติดขัดและทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้ตามแผน ภาพรวมมีโจทย์ที่สำคัญคือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลกระทบเชิงบวก มีส่วนสำคัญต่อการลดค่าใช้จ่าย ยกระดับการทำงานภาครัฐ และการให้บริการภาคประชาชน

ส่วนของการจัดสรรงบประมาณ หลักๆ ทางไมโครซอฟท์จะตั้งเป็นรายปี (CAPEX) ด้านการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ จะสอดคล้องไปกับนโยบายการให้บริการระดับภูมิภาค และแผนงานด้านคลาวด์แฟบริก มีการเชื่อมโยงเพื่อใช้งานในระดับภูมิภาคไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งยังมีความท้าทายคือ ภาครัฐจะมีแนวทางที่สามารถปลดล็อกเรื่องการทำสัญญา ที่สามารถสนับสนุนให้การทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ อย่างไร เช่น หากเป็นสัญญาแบบข้ามปีจะทำได้ไหม จะมีแนวทางปลดล็อกเมื่อต้องมีความร่วมมือแบบระยะกลางหรือระยะยาวอย่างไร

สำหรับการร้องขอและเงื่อนไข รวมถึงข้อเสนอและสิทธิประโยชน์ เช่นด้านภาษี เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดระหว่างกันเพิ่มเติม โดยภาพรวมเฟสแรกจะเป็นการพูดคุยหารือถึงเงื่อนไขและจัดลำดับความสำคัญของงาน หลังจากนั้นเฟส 2 เดินหน้าสู่การโรลเอาท์ ผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม

‘นายกฯ’ ยกนิ้วโป้งให้ ‘แกงไตปลา’ รสจัดจ้าน  ย้ำ!! ชอบกินอาหารไทย แต่ไม่ขอฝืนใจใครที่ไม่ชอบทาน 

(7 เม.ย.67) ที่ร้านเสบียงเล อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับประทานอาหารกลางวัน โดยหนึ่งในเมนูโปรดที่ทางร้านจัดให้คือแกงไตปลา โดยนายกฯได้นั่งร่วมโต๊ะกับบรรดารัฐมนตรีพร้อมชิมแกงไตปลา และกล่าวว่า “อร่อยมากครับ” ก่อนจะยกนิ้วโป้งให้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รับประทานแล้วอยากจะบอกอะไรกับคนที่จัดอันดับแกงไตปลาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ ไม่ขอตอบโต้ เพราะเขามีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบ แต่ผมชอบ อย่างที่บอกว่าฝรั่งก็มีอะไรหลายอย่างที่แตกต่างจากเรา ซึ่งเราก็ยอมรับได้ ไม่ใช่ว่าเขาชอบบางอย่างหรือไม่ชอบบางอย่าง เราไปบอกเขาไม่ได้ และย้ำว่าอาหารไทยมีเยอะ ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่นไก่ ก็ติดอันดับโลกทั้งนั้น ”

เมื่อถามว่าการรับประทานแกงไตปลา จำเป็นจะต้องรับประทานกับข้าวสวยหรือรับประทานเปล่าได้เลย นายกฯ กล่าวว่า “ผมทานได้ พยายามไม่ทานข้าวเพราะลดน้ำหนักอยู่ ที่ชอบเพราะผมชอบทานอาหารรสจัด” จากนั้นนายกฯได้กินโชว์ พร้อมกับชมว่าอร่อยจริงๆไม่ได้อร่อยเล่นๆ

‘นายกฯ’ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องกวาดล้าง ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ อย่างจริงจัง ชี้ ‘ผู้ลักลอบนำเข้า-จำหน่าย’ จับหมด!! หลังแพร่หลายในเยาวชน

(9 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ากำลังแพร่หลายหนักมากในหมู่เด็กและเยาวชน ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้า ผู้จำหน่าย อย่างจริงจังและเด็ดขาด และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 

ทั้งนี้ นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกันออกมาตรการการป้องกัน เช่น การรณรงค์เรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า การสร้างความตระหนักรู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมีการตรวจตราให้เข้มงวด โดยเฉพาะสถานศึกษา รวมถึงการจำหน่ายและใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน 

'เศรษฐา' เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับนายกฯ นิวซีแลนด์ หารือ 8 ข้อตกลง  ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสามเท่าภายในปี 2588

(17 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยทันทีที่มาถึงนายกรัฐมนตรีได้นำนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม ณ บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ด้านนอกห้องสีงาช้าง จากนั้นมีการหารือข้อราชการด้านในห้องสีงาช้าง 

จากนั้นนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ หารือร่วมภาครัฐ-เอกชน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง และแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ พร้อมทั้งแถลงข่าวร่วม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ 

โดยประเด็นสำคัญภายใต้ร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้แก่...

1. การประกาศเป้าหมายการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในปี 2569
2. การประกาศความคืบหน้า ของแผนความร่วมมือกลาโหมนิวซีแลนด์-ไทย 
3. การประกาศเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสามเท่าภายในปี 2588 
4. การส่งเสริมความร่วมมือ ด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  
5. เร่งรัดการหารือความตกลงด้านความร่วมมือด้านวัฒนธรรม 
6. ความร่วมมือด้านการศึกษาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันเพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระดับประชาชน
7. ความร่วมมือในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในกรอบอาเซียน รวมทั้งในลุ่มแม่น้ำโขงผ่านสถาบันความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง 
8. การหารือเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

'ต่อตระกูล' เปิดภาพแนวคิด ก่อสร้างตึกสูงจากกลุ่มทุนดูไบ ด้าน 'นายกฯ' เสนอ!! สร้างให้สูงที่สุดของโลกเลยได้ไหม?

(22 เม.ย. 67) นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาคว่า "ตึกสูง ที่กลุ่ม EMAAR จาก ดูไบ จะมาลงทุนสร้าง นำบินมาเสนอนายกฯ ไทย หน้าตาเป็นแบบนี้ EMAAR Group เสนอเป็นแนวคิด ที่จะสร้างด้วยเหล็ก สเตนเลส ไร้สนิม แต่ยังไม่ใช่รูปแบบตึกที่จะสร้างให้สูงที่สุดในโลก แต่นายกฯ เศรษฐา เสนอแนะว่า จะสร้างให้สูงที่สุดในโลกเลย ได้ไหม? เขาก็รับไปศึกษาเพิ่มเติม

EMAAR Group เป็นกลุ่มผู้บริหารตึก Burj Khalifa ตัวจริง ที่ดูแลการบริหาร และจัดการตลาด ของตึกสูงสุดของโลกอยู่ในขณะนี้ เขามีความสนใจ ที่จะเสนอโครงการสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลกที่ ประเทศไทย! ถ้าเขาอยากเอาเงินของกลุ่มเขาจากดูไบ มาลงทุนในประเทศไทยบ้าง เราก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติเขาก็ได้มาลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเรากันมานานแล้ว ส่วนใหญ่เขาก็ประสบความสำเร็จกันดี"    

'เศรษฐา' เล่นบทขุนคลัง กล่อม 4 แบงก์ใหญ่ ลดดอกเบี้ย  หวังช่วยกลุ่มเปราะบาง ไม่จี้ตีกรอบเวลาให้คำตอบ

(23 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้เชิญธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาพูดคุยปัญหาเศรษฐกิจ สถาบันการเงินแข็งแกร่งมากจากผลประกอบการที่ออกมา ตนจึงได้ขอร้องให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารทั้ง 4 แห่งรับปากจะไปพูดคุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี รายย่อย ที่มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง

“รัฐบาลเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องดอกเบี้ย จึงได้เชิญไปตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เพิ่งได้คิวพร้อมกันวันนี้ ก็อยากจะพูดพร้อมกันให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ ชิงดีชิงเด่นกัน ใครลดมากลดน้อยไม่ใช่ ผมอยากให้ทุกท่านน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดูว่าจะช่วยกันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็คงจะมีอะไรออกมาหลังจากนี้ ไม่ได้กำหนดเวลา ให้เกียรติกัน มองตาก็รู้ใจ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ผมก็ได้มีการขอร้อง พูดคุย แบบคนที่เคยรู้จักกันมา 10-20 ปี ก็ขอร้องให้ท่านช่วยดูแลเรื่องดอกเบี้ยบ้าง ท่านก็รับปากว่าจะไปพูดคุยกัน” นายเศรษฐา กล่าว

'บิ๊กโจ๊ก' ส่งตัวแทนยื่นหนังสือ ป.ป.ช. ขอถอนคำร้องเอาผิด 'เศรษฐา'  ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีปมแต่งตั้ง 'ผบ.ตร.' 

(23 เม.ย.67) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันที่ 23 เม.ย. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ได้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอถอนเรื่องที่ยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในการสกัดกั้นไม่ให้เป็น ผบ.ตร. โดยขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจ โดยระบุเหตุผลว่า ไม่ติดใจจะดำเนินการเอาผิดนายกรัฐมนตรีแล้ว ส่วนกรณีการเอาผิดพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ไม่ได้ยื่นถอนเรื่องแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กรณีการยื่นให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี แม้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะไม่ติดใจดำเนินการ แต่ ป.ป.ช.ก็ยังต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เคยมายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรีในข้อกล่าวหาทำนองเดียวกัน ซึ่งเรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.

ยลโฉมหน้า 6 รัฐมนตรี ภายใต้ ‘เศรษฐา 2’ จับตา!! ‘พิชัย’ ปลดล็อกดิจิทัลวอลเล็ตฉลุย

อีกไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่เพลารายชื่อการปรับคณะรัฐมนตรีหรือครม.ที่เป็นทางการก็จะออกมา...ใครนั่งตำแหน่งไหน…ใครสลับกับใคร แต่จะว่าไปก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นแล้ว...

‘เศรษฐา 2’ รอบนี้ หลุด 4 เข้า 6 รวมจำนวนรัฐมนตรี (รวมนายกฯ) เต็มแม็กตามรธน.ที่มีได้ไม่เกิน 36 คน

สำหรับหลุดจากตำแหน่ง 4 คน..ล้วนแต่น่าเห็นใจ

-นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ดีทียังมีตำแหน่งสส.ไปโชว์ฟอร์มในสภาฯได้ หากอีก 2 เดือนพรรคก้าวไกลโดนยุบ ‘หมออ๋อง’ ประดิพัทธิ์ สันติภาดา ที่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลต้องหมดสภาพสส.ไปด้วย ตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ว่าง ก็อาจเป็นช่องทางที่เพื่อไทยจะเยียวยาคุณหมอ...ช่วงนี้ก็กลืนเลือดกันไปก่อน…

-ดร.พวงเพ็ชร์ ชุณละเอียด ‘มาดามแจ๋น’ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทางพรรคก็คงมีตำแหน่งแห่งที่ให้ขับเคลื่อนงาน…

-ไชยา พรหมมา รมช.เกษตรฯ สส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ก็เป็นคนมีแสงในตัวเองอยู่แล้ว ไม่น่าห่วง…

-อนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรฯ สส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นนักการเมืองมีสปิริต พรรครทสช. ก็คงมอบหมายบทบาทที่สำคัญในพรรค

ส่วนรมต.หน้าใหม่ 6 ท่าน ก็ต้องแสดงความยินดีมา ณ โอกาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว ขอให้เปล่งศักยภาพโชว์ฝีไม้ลายมือกันให้เต็มที่

-พิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกฯ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์และ ฯลฯ ลาออกทุกตำแหน่งมาเป็นรองนายกฯ และรมว.คลัง แม้จะมีภาพลักษณ์ยี่ห้อ ‘ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์’ ติดตัวอยู่ แต่มีความเป็นมืออาชีพ และน่าจะมาช่วยถอดสลักระเบิด ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ให้มันเดินหน้าไปได้แบบถูกต้องชัดเจนขึ้น

-ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรมว.คลัง รอบนี้ทั้งคนชื่อ ‘ภูมิธรรม’ และ ‘หมอมิ้งค์’ ช่วยดันจนเลื่อนชั้นเป็น รมช.คลัง ระวังอย่าไปเหยียบเปลือกกล้วยก็ละกัน…

-จิราพร สินธุไพร ‘สส.น้ำ’ แห่งร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อายุ 36 ขวบ ผ่านเกณฑ์รมต. (อย่างน้อย 35 ปี) เฉียดฉิว ถ้าได้กำกับหน่วยงาน กรมกองที่ถูกที่ถูกทางก็น่าจะไปได้สวย

-พิชิต ชื่นบาน เจ้าของฉายา ‘ทนายถุงขนม’ จะเป็นมือกฎหมายในตำแหน่งรมต.ประจำสำนักนายกฯ ก็น่าจะทำให้งานด้านกฎหมายรัฐบาลลื่นไหลมากขึ้น

-อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.เบนซ์ จากฉะเชิงเทรา อดีตเลขาธิการวิปสมัยรัฐบาลลุงตู่พลังประชารัฐ   เบียดอนันต์ ผลอำนวย จากกลุ่มกำแพงเพชร ด้วยแรงดันพิเศษของ ‘ผู้กอง’ ธรรมนัส พรหมเผ่า…เข้าป้าย รมช.เกษตรฯ ตามโควตาของพรรคที่ว่างอยู่

-สุชาติ ชมกลิ่น สส.บัญชีรายชื่อ พรรครทสช. อดีตรมว.แรงงาน รอบนี้ยอมลดชั้นเป็นรมช.(พาณิชย์)...กระทรวงนี้น่าจะตรงสเปก บวกกับเป็นคนบริหารจัดการเก่ง คาดว่าจะเป็นกำลังสำคัญสร้างผลงานให้พรรค ให้รัฐบาลได้ในเร็ววัน…

พูดไปทำไมมี…ปรับครม.รอบนี้ คนนอกทำเนียบที่ทำหน้าที่ ‘เคาะ’ สุดท้ายจริง ๆ น่าจะเป็น ‘นายใหญ่’ และ ‘เจ๊ใหญ่ เมืองเหนือ’ ก่อนจะถึงมือนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

เคาะไปเคาะมานายกฯ เศรษฐายอมหดเก้าอี้ เหลือตำแหน่งเดียว หะแรกจะไปควบ รมว.กลาโหม ทำเอาคนชื่อสุทิน คลังแสง ‘ว้าวุ่น’ จนออกอาการถอดใจไปวูบใหญ่ ๆ แต่ ‘นายใหญ่‘ บวกลบคูณหารแล้ว เห็นว่ากึ๋นและวิธีคิดของสุทินเข้าท่าหลายเรื่อง…ก็เลยจัดให้เป็นการสร้าง ’หลักนิยมใหม่‘ คิดใหม่ ทำใหม่ แบบเพื่อไทยซะเลย…คือจากนี้ พลเรือนที่มานั่งเก้าอี้รมว.กลาโหม ไม่จำเป็นต้องเป็นพลเรือนที่มีตำแหน่งเป็นนายกฯ เท่านั้น…ลูกชาวบ้านแต่มีกึ๋น มีความเหมาะสม มีวุฒิภาวะก็เป็นได้…

ต้องยินดีกับ ฯพณฯ คลังแสง มา ณ โอกาสนี้ ...แต่ยังไง ๆ ก็อย่าไปรื้อพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม 2551 ให้มันเลอะเทอะเชียวนา...เดี๋ยววุ่น...สิบอกให้!!

‘เศรษฐา’ ห่วงปัญหาภัยแล้ง สั่ง!! ‘ก.กลาโหม’ บริหารจัดการ เร่งจัดหารถบรรทุกน้ำทหาร บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

(3 พ.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ถึงปัญหาภัยร้อนและภัยแล้งว่า ภัยร้อนและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลทราบถึงปัญหา และมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อรับมือและบรรเทาสถานการณ์ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

“นอกจากนี้ ผมได้ประสานสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับบรรเทาสาธารณภัยให้ดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งขณะนี้มีรถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ และรถขนน้ำไปให้บริการประชาชน รวมถึงกำลังเร่งการขุดลอกแหล่งน้ำ และซ่อมบำรุงระบบประปาแก่ชุมชนด้วย ผมยังสั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้นำสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้ง โดยให้กองบัญชาการทหารพัฒนา กรมการทหารช่าง มณฑลทหารบกทุกมณฑล และหน่วยทหารทุกหน่วยที่อยู่ใกล้ชุมชน ใช้รถบรรทุกน้ำของทหารฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร (โดยเฉพาะพืชที่มีมูลค่าสูง) ร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในรูปแบบกองกำลังเฉพาะกิจ ซึ่งผมได้กำชับให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์มาทุกระยะเพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการที่เหมาะสมครับ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

'อลงกรณ์' ชี้ 'นายกฯ.เศรษฐา' พลาดดีลไมโครซอฟท์ แพ้มาเลเซีย-อินโดนีเซียราบคาบทำประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีและสส. 6 สมัย โพสต์บทวิจารณ์ความล้มเหลวของนายกรัฐมนตรีกรณีพลาดดีลไมโครซอฟท์ในเฟซบุ๊กวันนี้(4พ.ค.) เรื่อง บทพิสูจน์ความล้มเหลว “นายกฯ.เศรษฐา” กรณีไมโครซอฟท์(Microsoft) “แพ้มาเลฯ.-อินโดฯ.ราบคาบ ทำประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่” โดยมีเนื้อหาดังนี้

“..,ผมติดตามข่าว" สัตยา นาเดลลา" ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์ (Microsoft)บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีของโลกมาเยือนอินโดนีเซีย ไทยและมาเลเซียระหว่างวันที่ 30 เมษายน-2 พฤษภาคม 2567อย่างใจจดใจจ่อ

ทั้งนี้เพราะนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ทำใหัเกิดความหวังจากการให้สัมภาษณ์หลังพบเจรจากับประธานและซีอีโอบริษัทไมโครซอฟท์ที่นิวยอร์กและซานฟรานซิสโก้ในเดือนกันยายนและพฤศจิกายนปีที่แล้วถึงขั้นทำบันทึกความร่วมมือ(MOU)ว่า ดีลสำเร็จจะมีการลงทุนเป็นแสนล้านจากไมโครซอฟท์

ผมคาดหวังว่า "สัตยา นาเดลลา" ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์จะประกาศแผนงานโครงการและตัวเลขการลงทุนด้านดิจิตอลเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์(AI-Artificial Intelligence)ในประเทศไทยเป็นแสนล้านตามเป้าหมายดิจิตอลฮับภายใต้วิสัยทัศน์”Ignite Thailand”ของนายกรัฐมนตรีที่ให้ข่าวก่อนหน้านี้ เมื่อถึงวันที่ 1 พ.ค 2567 ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์มาเยือนไทยกลับไม่มีการประกาศตัวเลขการลงทุนในไทยที่ชัดเจนแม้แต่สลึงเดียว มีเพียงคำแถลงว่าจะตั้งดาต้าเซนเตอร์แห่งแรกในไทยและจะสนับสนุนการพัฒนาคนไอที 100,000 คน

ทั้งที่ก่อนมาไทย1วันคือวันที่ 30 เมษายน 2567 ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์เดินทางเยือนอินโดนีเซียและประกาศตัวเลขการลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์(กว่า 6 หมื่นล้านบาท)ในอินโดนีเซียพร้อมแผนงานโครงการอย่างละเอียดชัดเจน

ยิ่งกว่านั้นในวันที่ 2 พ.ค. 2567 ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์ไปเยือนมาเลเซียได้ประกาศตัวเลขการลงทุนในมาเลเซีย 2.2 พันล้านดอลลาร์(กว่า8หมื่นล้านบาท)เพื่อสนับสนุนความเป็นฮับดิจิตอลของมาเลเซีย แสนล้านของไทยหายไปไหนครับ ?

ส่วนกรณีไมโครซอฟท์จะตั้งดาต้าเซนเตอร์แห่งแรกในไทยเป็นความชัดเจนเท่าที่จับต้องได้
แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าไมโครซอฟท์มีดาต้า เซนเตอร์กว่า 300 แห่งทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาคใน34 ประเทศทั่วโลก

เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาคนไอทีที่ไมโครซอฟท์จะช่วยไทย 1 แสนคน นั้นน้อยกว่าที่จะช่วยมาเลเซีย 2 แสนคนและอินโดนีเซีย 8 แสนกว่าคน 

การเปิดดีลและปิดดีลที่มีเวลาทำงานยาวนานกว่า7เดือนตั้งแต่ปลายกันยายน 2566 ถึง 1 พฤษภาคม 2567 ของนายกรัฐมนตรีในการดึงไมโครซอฟท์มาลงทุนในไทยล้มเหลวไม่เป็นท่าและพ่ายแพ้ต่อมาเลเซีย-อินโดนีเซียแบบราบคาบ

ผมหวังว่า ความล้มเหลวในการทำงานกรณีไมโครซอฟท์จะเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานแบบผู้บริหารประเทศไม่ใช่แบบเซลล์แมนโฉบไปโฉบมาจนจับต้องอะไรไม่ได้

ท่านต้องตระหนักว่า ท่านทำให้ประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่ในห้วงเวลาที่ประเทศต้องการรายได้และเงินลงทุนเพราะทุกบาททุกดอลลาร์คืองานและปากท้องของประชาชนคนไทย ผมยังกังวลว่า ขณะที่ท่านไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในการดึงเงินลงทุนเข้าประเทศและไม่สามารถหาเงินเข้าประเทศจนส่งออกติดลบ10%ขาดดุลการค้าหลายแสนล้านทำให้เศรษฐกิจตกต่ำฝืดเคืองไปทุกหย่อมหญ้า แทนที่นายกรัฐมนตรีจะรีบปรับปรุงการทำงานเร่งทำมาหากินสร้างเงินให้ประเทศ ท่านกลับคิดแต่จะกู้เงินก่อหนี้ให้ประเทศอีกกว่า1 ล้านล้านบาทในปีนี้และปีหน้า แล้วประชาชนจะอยู่กันอย่างไร และประเทศจะเป็นอย่างไร จะให้ประชาชนและประเทศชาติติดหล่มจมปลักอยู่กับหนี้สินโงหัวไม่ขึ้นแบบนี้ตลอดไปอย่างนั้นหรือ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top