Tuesday, 7 May 2024
อังกฤษ

‘บอริส จอห์นสัน’ ได้นั่งเก้าอี้นายกฯผู้ดีต่อ หลังรอดมติไม่ไว้วางใจจากพรรคตัวเองฉิวเฉียด

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสันของอังกฤษ รอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจของ ส.ส.พรรคตัวเอง แต่คะแนนโหวตชี้ว่า เกือบครึ่งไม่สนับสนุนเขาต่อไปแล้ว

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ รอดพ้นมติไม่ไว้วางใจในพรรคอนุรักษ์นิยมของตนเองอย่างเฉียดฉิวเมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 211 ลงมติไว้วางใจนายจอห์นสัน ขณะที่สมาชิกอีก 148 คนลงมติไม่ไว้วางใจ

นายจอห์นสัน จำเป็นต้องได้รับคะแนนไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างน้อย 180 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 359 เสียง โดยจำนวนเสียงไม่ไว้วางใจนี้มีเพียง 148 เสียง ซึ่งส่งผลให้นายจอห์นสันรอดพ้นการลงมติไม่ไว้วางใจในครั้งนี้

ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมได้จัดการลงมติไม่ไว้วางใจนายจอห์นสันเมื่อวานนี้ ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนและสมาชิกรัฐสภาต่อการที่รัฐบาลอังกฤษจัดงานเลี้ยงสังสรรค์หลายครั้งที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีในช่วง 2 ปีที่อังกฤษมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หากนายจอห์นสันพ่ายแพ้ในการลงมติครั้งนี้ เขาจะต้องลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมจะทำการเฟ้นหาผู้นำคนใหม่ โดยนายจอห์นสันจะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครแข่งขันอีกครั้ง เพราะเขาเป็นผู้นำที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง


ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2022/205758

‘Lord West’ แห่ง Spithead ส่งคำเตือนถึงกองทัพอังกฤษว่า ‘อ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องประเทศจากผู้รุกรานได้’

 

ปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งมักเอ่ยอ้างว่า การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการรักษาอธิปไตยของชาติไม่จำเป็นแล้ว ด้วยสมัยนี้ไม่มีใครรบกันแล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจนกลายเป็นสงคราม ทำให้สังคมต้องกลับมาคิดทบทวนถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม ทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ สำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังที่อดีตผู้บัญชาการทหารเรืออังกฤษได้กล่าวเตือนรัฐบาลอังกฤษในรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร

Lord West แห่ง Spithead (พลเรือเอก Sir Alan William John West) อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙

Lord West แห่ง Spithead (พลเรือเอก Sir Alan William John West) ได้กล่าวเตือนว่า กองทัพของสหราชอาณาจักรอ่อนแอเกินกว่าที่จะป้องกันประเทศในกรณีที่เกิดความขัดแย้งที่ต้องมีการใช้กองกำลังติดอาวุธ จากการประเมินของ Lord West แห่ง Spithead ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙ ได้เน้นย้ำถึงการเพิ่มงบประมาณทางทหารที่ไม่เพียงพอ อันเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานาน โดยเขาบอกว่า งบประมาณในปัจจุบันนั้น "น้อยเกินไป"

Lord West แห่ง Spithead (พลเรือเอก Sir Alan William John West) อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙

Lord West กล่าวว่า 'อาจจะ' เกิดสงครามขึ้นได้ในอนาคต แต่กองทัพอังกฤษ 'ขาดอุปกรณ์และกำลังพลในระดับที่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคง' เขากล่าวในฐานะสมาชิกสภาขุนนาง (House of Lords) ในรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร (UK Parliament) ณ พระราชวัง Westminster ในขณะที่มีการถกเถียงกันในรัฐสภาถึงผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครนหลังจากการบุกของรัสเซีย ซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น


Ben Wallace รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อดีตร้อยเอกแห่งกองทัพบกสหราชอาณาจักร ผู้ซึ่งจบจากราชวิทยาลัยการทหาร Sandhurst

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา Ben Wallace รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อดีตร้อยเอกแห่งกองทัพบกสหราชอาณาจักร ผู้ซึ่งจบจากราชวิทยาลัยการทหาร Sandhurst ได้ประกาศว่า กองทัพอังกฤษจะมีการลดกำลังทหารลง ๑๐,๐๐๐ นาย โดยอ้างว่า เทคโนโลยีใหม่มี 'ผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยเพราะกำลังพลเพียงไม่กี่นายก็สามารถควบคุมปฏิบัติการทางทหารได้แล้ว' ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการสั่นคลอนครั้งใหญ่ต่อกองทัพอังกฤษ รัฐมนตรีกลาโหม Wallace ยังกล่าวด้วยว่า กำลังทหารของกองทัพบกอังกฤษโดยรวมจะลดลงเหลือ ๗๒,๕๐๐ นาย ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว

Lord West ขณะแถลงในรัฐสภา ด้วยฐานะสมาชิกแห่งสภาขุนนาง (House of Lords)

Lord West แถลงในรัฐสภาว่า “แม้จะมีความตั้งใจในทุกรูปแบบ แต่งบประมาณในการป้องกันประเทศก็ยังขาดแคลนซึ่งเป็นมาหลายปีแล้ว และเมื่อมองต่อไปยังอนาคต การขาดแคลนงบประมาณก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ด้วยสมมติฐานที่ว่า ‘เป็นการประหยัดที่มีประสิทธิภาพ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่โกหกหลอกลวง เพราะการประหยัดที่มีประสิทธิภาพไม่มีทางเกิดขึ้นได้ และไม่มีจริง การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศอย่างชัดเจนเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับรัฐบาลในสังคมของเราที่อบอุ่นและมั่นคง แต่เหตุผลที่เราสามารถอยู่ในสังคมที่อบอุ่นและมั่นคงได้ ก็เพราะว่าเราใช้จ่ายงบประมาณในการป้องกันประเทศ” 

“คำกล่าวที่ว่า สงครามไม่ได้แพ้ชนะกันในสนามรบ แต่แพ้ชนะกันด้วยการสร้างขีดความสามารถทางการทหารไว้ล่วงหน้า นั้นเป็นความจริง โดยเฉพาะเมื่อศัตรูสังเกตเห็น ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมไม่ให้เกิดสงคราม ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณ”


“พวกเราหลายคนได้เคยเตือนถึงการขาดแคลนงบประมาณที่เรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน แต่เราได้รับการบอกตอบครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ‘เราคิดผิด’ ซึ่งความจริงก็คือกองกำลังติดอาวุธของเราอ่อนแอเกินกว่าที่จะป้องกันประเทศจากสงครามได้...และหากมีสงคราม เกรงว่า สักวันพวกเขาอาจจะขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังพลในระดับที่จะให้ประเทศของเราปลอดภัย และกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศในปัจจุบันของเรามีขนาดเล็กเกินไป พวกเขาขาดแคลนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้เพียงพอสำหรับอัตราการใช้ในสงครามที่จะสูงอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การลดขนาดของกองทัพเป็น ‘ขั้นตอนที่เร็วเกินไป’ ” Lord West กล่าวในรัฐสภา

หมดยุคแล้ว!! อดีตนายกฯ อังกฤษ ชี้!! หมดยุคชาติตะวันตกชี้นำโลก | NEWS GEN TIMES EP.60

✨ ไขปริศนา!! ตุ๊กตาหินอ่อนวัดพระแก้ว มาจากไหนและทำไปเพื่ออะไรกัน? แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ศพคนที่ถูกฝังเอาไว้เพื่อทำพิธีกรรมต่างๆ นานาดังที่โซเชียลมโน!!

✨ หมดยุคแล้ว!! อดีตนายกฯ อังกฤษ ชี้!! หมดยุคชาติตะวันตกชี้นำโลก

✨ คุณไม่มีสิทธิสั่ง!! ‘อินเดีย’ โวย ‘สหรัฐฯ’ เหตุสั่งห้ามรับเรือรัสเซีย พร้อมตอกกลับ “นี่เป็นอธิปไตยของอินเดีย”

✨ รับได้ไหม!! Netflix ถูกลง แต่มีโฆษณา

NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช

โดย อ.ต้อม - กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

'สะพานแห่งสันติภาพ' ส่อวุ่น!! หลัง 'อังกฤษ' ชี้!! 'ปูติน' ไม่มีสิทธิ์ในการประชุมสุดยอด G20

"ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ไม่มี 'สิทธิทางศีลธรรม' ที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม 20 ชาติในอินโดนีเซีย" โฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวหลังจากเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ผู้นำชาวอินโดนีเซียเผยว่า ทั้งรัสเซียและยูเครนยอมรับประเทศของเขาเป็น 'สะพานแห่งสันติภาพ'

โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20 ส.ค. 65) ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด (Joko Widodo) ของอินโดนีเซียยืนยันว่าปูตินและประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนกำลังวางแผนที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ วิโดโด ยังได้เชิญประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ซึ่งไม่ใช่สมาชิก G20 เข้าร่วมการประชุมสุดยอด โดยกล่าวว่า เขาจะเข้าร่วมอย่างน้อยในรูปแบบเสมือนจริง (ออนไลน์)

โดยในการโทรศัพท์ครั้งล่าสุด ปูตินและวิโดโด ก็ได้พูดคุยถึงการเตรียมการสำหรับงานใหญ่ ซึ่งปูตินยอมรับคำเชิญของวิโดโดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในเดือนมิถุนายน แต่เครมลินไม่ได้ยืนยันว่าผู้นำรัสเซียจะเดินทางไปยังเมืองบาหลีหรือไม่

แต่โฆษกทำเนียบขาว ได้กล่าวไว้ว่า หากปูติน 'เข้าร่วม G20 แล้ว เซเลนสกี ก็ควรเข้าร่วมด้วย'

อย่างไรก็ตาม โฆษกของรัฐมนตรีต่างประเทศ ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) กล่าวว่า "รัสเซียไม่มีสิทธิทางศีลธรรมที่จะเข้าร่วมการประชุม G20 ขณะที่การรุกรานในยูเครนยังคงดำเนินอยู่"

ทรัสส์ เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเผชิญหน้ากับปูตินต่อหน้าพันธมิตรอย่างอินเดียและอินโดนีเซียเป็นสิ่งสำคัญ “ฉันจะไปที่นั่น และฉันจะโทรหาปูติน” เธอบอกกับการอภิปรายทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กำลังวางแผนที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด Group of 20 (G20) ที่บาหลีในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ตามการระบุของผู้นำชาวอินโดนีเซีย

ด้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร ริชี ซูนัก (Rishi Sunak) ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจเชิญปูติน โดยเรียกร้องให้ G20 ห้ามมิให้เข้าร่วมงานจนกว่าเขาจะยุติสงครามในยูเครน

“พันธมิตร G20 และพันธมิตรของเรามีความรับผิดชอบร่วมกันในการเรียกพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของปูตินออกมา” โฆษกของ Sunak กล่าว “เราจำเป็นต้องส่งข้อความที่หนักแน่นถึงปูตินว่าเขาไม่มีที่นั่งที่โต๊ะ เว้นแต่และจนกว่าเขาจะยุติสงครามที่ผิดกฎหมายในยูเครน”

'ว่าที่ผู้นำอังกฤษ' ลั่น!! พร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากมีความจำเป็น แม้จะเป็นการทำลายโลกก็ตาม

ลิซ ทรัสส์ ตัวเต็งที่จะก้าวมาเป็นผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรคนใหม่ ประกาศกร้าวระหว่างศึกดีเบตเมื่อวันอังคาร (23 ส.ค.) ว่าเธอพร้อมยิงอาวุธนิวเคลียร์ไทรเดนต์ (Trident) ทำลายล้างถ้ามีความจำเป็น โดยเชื่อว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นหน้าที่อันสำคัญของคนเป็นนายกรัฐมนตรี

ทรัสส์ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจะก้าวขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งของบอริส จอห์นสัน กล่าวว่า เธอพร้อมกดปุ่มนิวเคลียร์ถ้ามีความจำเป็น แม้คิดว่ามันอาจหมายถึงการทำลายโลกก็ตาม

รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงรายนี้ไม่ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศไหนที่สหราชอาณาจักรอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์จัดการ แต่ระหว่างการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา ๆ เธอมักใช้คำพูดสายแข็งกร้าวต่าง ๆ มากมาย โดยมีเป้าหมายหลักคือรัสเซีย ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ทรัสส์ ยังสัญญาว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหาร 3% ของจีดีพีในช่วงปลายทศวรรษนี้

ทั้ง ทรัสส์ และริชี ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลัง ผู้สมัครที่เหลือรอด 2 คนสุดท้าย สำหรับชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ต่างกล่าวโทษประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สำหรับภาวะทางเศรษฐกิจอันน่าหดหู่ของสหราชอาณาจักร ที่ถูกรุมเร้าด้วยเงินเฟ้อระดับสูง ราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถจ่ายได้ แม้หลายฝ่ายมองว่ามันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวที่ลอนดอนและพันธมิตรกำหนดเล่นงานรัสเซีย

ทรัสส์ และซูนัค ยังได้พูดประเด็นที่ ปูติน มีแผนเข้าร่วมการประชุมซัมมิตจี 20 ในอินโดนีเซียที่กำลังมาถึง โดย ซูนัค บอกว่าอยากเห็นที่ประชุมห้าม ปูติน เข้าร่วมโดยสิ้นเชิง แต่ทาง ทรัสส์ กล่าวว่า เธออยากเผชิญหน้าเป็นการส่วนตัวกับ ปูติน ในที่ประชุมดังกล่าว

รถไฟ Eurotunnel ข้ามช่องแคบอังกฤษขัดข้อง!! ทำผู้โดยสารติดอุโมงค์ใต้ทะเลกว่า 6 ชั่วโมง

ปกติเวลาเดินทาง หากรถไฟ เรือเมล์ เครื่องบิน เกิดเหตุขัดข้องต้องดีเลย์เป็นชั่วโมง ก็ทำให้เสียเวลาจนน่าหงุดหงิดใจมากพอแล้ว แต่ถ้าเกิดเป็นรถไฟใต้ดิน ที่ขัดข้องระหว่างทางภายในอุโมงค์ใต้ทะเลนานหลายชั่วโมง จะสร้างความหงุดหงิดปนระทึกได้ขนาดไหน?

เรื่องนี้เป็นฝันร้ายของผู้โดยสารที่ไม่อยากให้เกิด แต่มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในเส้นทางรถไฟ Eurotunnel ของขบวนรถไฟ Le Shuttle ที่ข้ามช่องแคบอังกฤษ จากเมือง Calais ในฝรั่งเศส ไปขึ้นฝั่งที่สถานีปลายทางเมือง Folkestone ในประเทศอังกฤษ เกิดขัดข้องทางเทคนิคกะทันหัน ในช่วงกลางอุโมงค์ใต้ทะเลพอดี ในช่วงเวลาประมาณบ่าย 4 โมงเย็นของวันอังคารที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา 

โดยในขณะนั้น มีผู้โดยสารในขบวนรถไฟหลายร้อยคน ที่คาดหวังว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน ก็น่าจะเดินทางไปต่อได้ แต่ไปๆ มาๆ รอนานเป็นชั่วโมง ก็ยังซ่อมไม่สำเร็จ สุดท้าย ทางรถไฟ Le Shuttle ตัดสินใจประกาศให้ผู้โดยสารเปลี่ยนขบวนไปขึ้นรถที่จอดรอไว้ที่อุโมงค์เสริม ที่สถานีหน้า

หมายความว่า ผู้โดยสารทั้งหมดร้อยกว่าคนต้องเดินเท้าภายในอุโมงค์ใต้ทะเลแคบๆ ออกจากอุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษ ที่ระยะทางก็ไม่ใช่เล่นๆ กับหนึ่งในอุโมงค์ใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลก

นั่นจึงปรากฏภาพผู้โดยสารกลุ่มใหญ่ แบกเป้ สะพายกระเป๋า บางคนอุ้มลูก บางคนจูงหมา เดินดุ่มๆ อย่างแออัดกันในอุโมงค์ที่ยังงงๆ ว่ามันจะไปสุดที่ตรงไหน มีผู้หญิงหลายคนที่เดินทางคนเดียว กลัวจนร้องไห้ ยิ่งใครเป็นโรคกลัวที่แคบยิ่งไม่ต้องพูดถึง และน่าจะเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่จำจนวันตาย เล่าให้ลูกให้หลานฟังยังได้ 

กว่าจะเคลียร์ผู้โดยสารทุกคนออกจากขบวนและเดินเท้ามาถึงอุโมงค์สำรองได้ ใช้เวลาร่วม 6 ชั่วโมง

แต่ทว่าสถานีบนบกที่ต้นทางเมือง Calais ก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เพราะมีคิวผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วรถไฟ รอคิวยาวเหยียด ขบวนรถไฟดีเลย์มากว่า 4 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เวลาเดินทางในช่วงเวลาปกติเพียง 35 นาทีเท่านั้น จนทางสถานีต้นทางในฝรั่งเศสต้องออกมาประกาศว่า ใครที่ต้องการเดินทางไปถึงปลายทางที่เมือง Folkestone ให้กลับมาใหม่พรุ่งนี้ หลัง 6 โมงเช้า 

ส่องทัพ 'ลิซ ทรัสส์' นายกหญิงคนใหม่ของอังกฤษ พบลูกหลานผู้อพยพผิวสี รับตำแหน่งรมต.สำคัญเพียบ

พรรคอนุรักษ์นิยม ภายใต้การนำของ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ แต่งตั้งผู้หญิงทำงานและลูกหลานจากครอบครัวผู้อพยพผิวสีขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงเสาหลักของอังกฤษเป็นจำนวนมาก 

เริ่มต้นจาก ควาซี กวาร์เต็ง รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังผิวดำคนแรกของอังกฤษ มาจากครอบครัวผู้อพยพชาวกานา ที่มาศึกษาต่อในอังกฤษ ควาซี กวาร์เต็ง เคยเป็นนักเรียนทุน King's Scholar ได้เข้าเรียนใน อีตัน คอลเลจ และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์   

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ได้รัฐมนตรีผิวดำคนแรกเช่นกัน โดย เจมส์ เคลฟเวอร์ลี ลูกครึ่งอังกฤษ-เซียรา ลีโอน ผู้ที่เคยถูกบูลลี่เรื่องความเป็นลูกครึ่งผิวสีมาตั้งแต่เด็ก แต่วันนี้ได้ก้าวขึ้นถึงตำแหน่งรัฐมนตรี หนึ่งในกระทรวงเสาหลักของอังกฤษ

ซูเอลลา เบรฟเวอแมน รัฐมนตรีมหาดไทยหญิงคนใหม่ของอังกฤษ เป็นผู้หญิงเก่งที่มีเชื้อสายจากหลากหลายเชื้อชาติ คุณพ่อเป็นชาวกัว-อินเดีย คุณแม่เป็นชาวอินเดีย เชื้อสายทมิฬ-มอริเชียส เธอได้เรียนปริญญาตรีด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ และไปต่อปริญญาโทด้านกฏหมายยุโรป และฝรั่งเศสที่ Panthéon-Sorbonne University ในกรุงปารีส 

ซูเอลลา เบรฟเอแมน นับเป็นรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยคนที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษ ต่อจาก พริติ พาเทล ที่มีเชื้อสายอินเดียเช่นกัน

ส่วน เธเรสซา คอฟฟีย์ ควบถึง 2 ตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เธอเป็น สส.หญิงแกร่งจากเมืองซัฟฟอล์ค เคยรับหน้าที่สำคัญในรัฐบาลพรรคอนุรักษ์มาแล้วหลายงาน อีกทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทของ ลิซ ทรัสส์ ที่เป็นกำลังสำคัญในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งภายในพรรคอนุรักษ์ที่ผ่านมา 

และนอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งสำคัญอีกหลายกระทรวงที่ไม่ได้รัฐมนตรีที่เป็นคนขาว อาทิ...

- นาดิมห์ ซาฮาวี อดีตผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ดในอิรัก รับหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์

- เคมิ แบเดนอช รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ก็มีเชื้อสายไนจีเรีย 

- อโลค ชาร์มา ประธานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เป็นชาวอินเดียแท้ๆ ที่มาจากรัฐอุตตรประเทศ ก่อนย้ายตามพ่อมาตั้งรกรากที่เมืองเรดิง ในอังกฤษ ตั้งแต่ 5 ขวบ

หากนับย้อนหลังไปหลายสิบปี คณะรัฐมนตรีของอังกฤษมักถูกครอบครองตำแหน่งโดยผู้ชายผิวขาว โดยเฉพาะตำแหน่งกระทรวงสำคัญของอังกฤษ

ส่อง 8 รัชทายาท ผู้สืบทอดบัลลังก์ราชวงศ์วินด์เซอร์ หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต

หลังจาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษเสด็จสวรรคตแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 (ตามเวลาในประเทศไทย) รัชทายาทที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ในทันทีคือ เจ้าชายแห่งเวลส์ นอกจากนี้ยังมีเจ้าชายและเจ้าหญิงพระองค์อื่นๆ อีก แต่จะมีพระองค์ไหนบ้าง มาดูกัน

>> เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร
ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ปี พระราชสมภพเมื่อปี 1948

ทรงอภิเษกสมรสเมื่อปี 1981 กับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ ซึ่งต่อมาดำรงพระยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทั้งสองมีพระโอรสคือ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี ก่อนจะทรงหย่ากันในปี 1996

หลังเจ้าหญิงแห่งเวลส์สิ้นพระชนม์ ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงปารีส เมื่อปี 1997 เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงอภิเษกสมรสอีกครั้ง กับนางคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ในปี 2005

ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักพระราชวัง เคยเผยแพร่แถลงการณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี เนื้อหาตอนหนึ่ง ระบุว่า

“พระองค์มีพระราชปรารถนาให้ "คามิลลา" ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาในเจ้าฟ้าชายชาลส์ มกุฎราชกุมาร ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินี เมื่อเจ้าฟ้าชายชาลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ในอนาคต”

เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์จะได้รับการสถาปนาเป็นเพียงเจ้าหญิงพระราชชายาเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีลำดับการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์วินด์เซอร์อีกดังนี้

>> เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์
ทรงเป็นพระโอรสพระองค์โตในเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ ทำให้ได้พบกับเคต มิดเดิลตัน พระชายาในเวลาต่อมา โดยเข้าพิธีเสกสมรสในปี 2011

ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นมนตรีแห่งรัฐ ทรงเข้ารับการฝึกวิชาทหาร ก่อนจะเข้าประจำการในกองทัพอากาศของสหราชอาณาจักร โดยทรงเป็นนักบินของหน่วยปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในทางตอนเหนือของแคว้นเวลส์

>> เจ้าชายจอร์จแห่งเคมบริดจ์

ประสูติเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2013 ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรีในกรุงลอนดอน เป็นพระโอรสพระองค์โตของเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์

God Save the King รู้จัก ‘พระเจ้าชาร์ลสที่ 3’ กษัตริย์องค์ใหม่แห่งราชวงศ์อังกฤษ

วันที่ 8 กันยายน 2565 บีบีซี รายงานว่า สหราชอาณาจักรเข้าสู่รัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต และมีผลให้คำถวายพระพรและเพลงชาติของอังกฤษ เปลี่ยนจาก God Save the Queen เป็น God Save the King

สำหรับพระราชประวัติ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 พระชนมพรรษา 73 พรรษา พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1948 (พ.ศ. 2491) เป็นพระราชโอรสองค์โตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป มีพระขนิษฐา 1 พระองค์คือ เจ้าหญิงแอนน์ และพระอนุชา 2 พระองค์ คือเจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด 

ทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อพระชันษา 10 ปี และขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร รัชทายาทลำดับที่ 1 เมื่อเจริญพระชันษา 21 ปี

ทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่เข้าศึกษาที่โรงเรียน ณ โรงเรียนฮิลล์ เฮ้าส์ กรุงลอนดอน จากนั้นศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านวิชาเคมีในเมืองเบิร์กเชอร์ และทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เมื่อครั้งวัยหนุ่ม ทรงถูกจับตาเรื่องการเลือกคู่ครองและเป็นข่าวหลายครั้ง รวมถึงกับคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ ที่มีข่าวว่าสนิทสนมเป็นพิเศษ แต่ไม่อาจลงเอยได้ เพราะติดขัดที่กฎระเบียบราชสำนัก

ต่อมาทรงหมั้นกับ เลดี้ ไดอานา แห่งตระกูลสเปนเซอร์ วัย 19 ปี หญิงที่เจ้าชายฟิลิป พระบิดาสนับสนุน ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีพระชนมพรรษา 30 พรรษา โดยมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เจ้าหญิงไดอานาทรงมีพระโอรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ 2 พระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ท่ามกลางชีวิตสมรสที่มีปัญหาและเป็นข่าวอื้อฉาวอย่างต่อเนื่อง โดยมี คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ เข้ามาพัวพันด้วย

ปี 1996 (พ.ศ. 2539) ทั้งสองพระองค์หย่าร้างกัน และหนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงไดอานาก็สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 31 ส.ค. กลายเป็นเหตุการณ์ช็อกไปทั่วโลก และราชวงศ์อังกฤษต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อขานรับความโศกเศร้าของประชาชนต่อการจากไปของเจ้าหญิงไดอานา

แปดปีจากนั้น หลังจากสังคมเปลี่ยนไปและมีกระแสต้านลดลง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงอภิเษกอีกครั้งกับ คามิลลา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2005 (พ.ศ. 2548) โดยคามิลลาทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ 

ในพระราชพิธีฉลองควีนครองราชย์ครบ 70 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ควีนทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง หวังให้คามิลลาขึ้นเป็นราชินี เคียงข้างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อขึ้นครองราชย์

อย่างไรก็ตาม หลังควีนเสด็จสวรรคตวันที่ 8 กันยายน คำที่ใช้เรียก คามิลลา ในนาทีที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 ยังคงเป็นคำว่า queen consort ซึ่งหมายถึงราชินีคู่สมรส

สำหรับการตัดสินพระทัยแรกของพระองค์ คือการเลือกพระนามที่จะทรงใช้ในฐานะกษัตริย์ 4 ชื่อ จากพระนามเต็ม ชาร์ลส์ ฟิลิป อาเธอร์ จอร์จ และพระองค์ทรงเลือกใช้พระนาม 'ชาร์ลส์' 

ทั้งนี้ ทรงเป็นกษัติร์ย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ที่ 3 ที่เลือกใช้พระนาม ชาร์ลส์ จึงมีพระนามในฐานะกษัตริย์ว่า “สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3” หรือ “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3”

คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงได้รับการประกาศให้เป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการในวันเสาร์นี้ (10 ก.ย.) โดยสภาภาคยานุวัติหรือสภาการสืบราชบัลลังก์ ประกอบด้วยคณะองคมนตรี คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสทั้งในอดีตและปัจจุบัน ข้าราชการระดับ ข้าหลวงใหญ่เครือจักรภพ และนายกเทศมนตรีลอนดอน

ในพิธีการ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในลอนดอน ประธานองคมนตรีแห่งสภาองคมนตรีจะประกาศการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และประกาศการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

จากนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จร่วมพิธีการกับสภาภาคยานุวัติ เพื่อทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งมักมีข้อความตามธรรมเนียมโบราณปะปนอยู่ด้วย เช่น จะทรงปฏิญาณว่า จะอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนจักรแห่งสกอตแลนด์ ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

ต่อจากนั้น จะมีการอ่านประกาศต่อสาธารณชนจากระเบียงเหนือลาน Friary Court ในพระราชวังเซนต์เจมส์ ว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ โดยจะมีเสียงสรรเสริญขึ้นว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชา (God save the King)” และจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1952 ที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีชื่อเดียวกับข้อความสรรเสริญดังกล่าว จะเปลี่ยนเนื้อที่ร้องว่า “God save the Queen” เป็น “God Save the King”

นอกจากนี้ จะมีการยิงสลุตในไฮด์พาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และขบวนเรือหลวง และคำประกาศที่ว่าพระเจ้าชาร์ลส์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่จะถูกอ่านในเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์ ด้วย

คลื่นมหาชนชาวอังกฤษ 'แห่จองที่นั่ง-เฝ้ารอข้ามวัน' รับขบวนแห่พระบรมศพ 'ควีนเอลิซาเบธที่ 2' ตลอดเส้นทาง

ชาวอังกฤษนับแสนแห่จับจองที่นั่งตลอดเส้นทางขบวนแห่พระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แม้ต้องรอข้ามวัน เพื่อเก็บภาพแห่งประวัติศาสตร์ไว้ในความทรงจำได้อย่างใกล้ชิด

หลังจากที่มีการเคลื่อนพระบรมศพจากพระราชวังฮอลลิรูด สู่ มหาวิหารเซนต์ไจลส์ ในเมืองเอดินเบอระ ของสกอตแลนด์ ก็มีชาวอังกฤษมากมายมหาศาลมารอชมงานพิธีอย่างหนาแน่นตลอดเส้นทาง Royal Mile และยังมีประชาชนทั้งชาวอังกฤษ และ ชาวต่างชาติมากกว่า 20,000 คนต่อแถวเพื่อสักการะพระบรมศพ แม้จะรอนานแค่ไหนก็ตาม 

เอลิซาเบธ มบูไลเทเย ผู้ย้ายถิ่นมาจากอูกานดา เดินทางจากกลาสโกวมาต่อคิวกับลูกชาย ลูกสาวตั้งแต่เที่ยงวัน กว่าจะเข้ามาถึงสวนหน้ามหาวิหารเซนต์ไจลส์ได้ตอน 2 ทุ่ม บอกว่า แม่ของเธอเกิดปีเดียวกับ ควีน เอลิซาเบธที่ 2 และยังตั้งชื่อเธอตามสมเด็จพระราชินี ครอบครัวของเธอมีความผูกพันกับอังกฤษมาก ดังนั้นวันนี้จึงต้องมาร่วมงานให้ได้ 

อาห์เหม็ด ซากี, มูไทรา ทาน และ อนินดยา ฮัพซารี ทั้ง 3 เป็นนักศึกษาต่างชาติจากอินโดนิเซีย ที่เพิ่งมาเรียนระดับปริญญาโทในเมืองเอดินเบอระ กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า "ไม่เคยนึกฝันว่าจะได้มีโอกาสร่วมงานนี้ และถือว่าเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต" 

ฟิโอนา และ แมท ซิกสเวิร์ธ 2 สามีภรรยาวัย 35 ชาวอังกฤษ ที่เดินทางมาต่อคิวหลายชั่วโมงเพื่อสักการะพระบรมศพเปิดเผยว่า "ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่ผู้ที่นิยมชมชอบเรื่องราวในราชวงศ์ แต่ก็นับถือควีน เอลิซาเบธ ในฐานะสตรีที่มีความพิเศษกว่าใคร โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักเพื่อชาวอังกฤษมาตลอด 70 ปี ซึ่งพิธีในวันนี้มีความหมายอย่างมากในประวัติศาสตร์อังกฤษ"

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ที่มาเฝ้ารอชมขบวนพระบรมศพ และพิธีสักการะในเมืองเอดินเบอระ ของสกอตแลนด์เท่านั้น ก่อนที่จะอัญเชิญพระบรมศพกลับไปประดิษฐานที่มหาวิหารเวสต์มนิสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ในวันถัดมา ซึ่งตอนนี้ก็มีชาวลอนดอนหลายหมื่นคนไปจับจองพื้นที่ตลอดเส้นทางที่ขบวนเคลื่อนพระบรมศพยาวเกือบ 10 กิโลเมตรแล้ว แม้จะต้องรอข้ามวันนานกว่า 30 ชั่วโมง
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top