ส่องทัพ 'ลิซ ทรัสส์' นายกหญิงคนใหม่ของอังกฤษ พบลูกหลานผู้อพยพผิวสี รับตำแหน่งรมต.สำคัญเพียบ

พรรคอนุรักษ์นิยม ภายใต้การนำของ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ แต่งตั้งผู้หญิงทำงานและลูกหลานจากครอบครัวผู้อพยพผิวสีขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงเสาหลักของอังกฤษเป็นจำนวนมาก 

เริ่มต้นจาก ควาซี กวาร์เต็ง รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังผิวดำคนแรกของอังกฤษ มาจากครอบครัวผู้อพยพชาวกานา ที่มาศึกษาต่อในอังกฤษ ควาซี กวาร์เต็ง เคยเป็นนักเรียนทุน King's Scholar ได้เข้าเรียนใน อีตัน คอลเลจ และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์   

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ได้รัฐมนตรีผิวดำคนแรกเช่นกัน โดย เจมส์ เคลฟเวอร์ลี ลูกครึ่งอังกฤษ-เซียรา ลีโอน ผู้ที่เคยถูกบูลลี่เรื่องความเป็นลูกครึ่งผิวสีมาตั้งแต่เด็ก แต่วันนี้ได้ก้าวขึ้นถึงตำแหน่งรัฐมนตรี หนึ่งในกระทรวงเสาหลักของอังกฤษ

ซูเอลลา เบรฟเวอแมน รัฐมนตรีมหาดไทยหญิงคนใหม่ของอังกฤษ เป็นผู้หญิงเก่งที่มีเชื้อสายจากหลากหลายเชื้อชาติ คุณพ่อเป็นชาวกัว-อินเดีย คุณแม่เป็นชาวอินเดีย เชื้อสายทมิฬ-มอริเชียส เธอได้เรียนปริญญาตรีด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ และไปต่อปริญญาโทด้านกฏหมายยุโรป และฝรั่งเศสที่ Panthéon-Sorbonne University ในกรุงปารีส 

ซูเอลลา เบรฟเอแมน นับเป็นรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยคนที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษ ต่อจาก พริติ พาเทล ที่มีเชื้อสายอินเดียเช่นกัน

ส่วน เธเรสซา คอฟฟีย์ ควบถึง 2 ตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เธอเป็น สส.หญิงแกร่งจากเมืองซัฟฟอล์ค เคยรับหน้าที่สำคัญในรัฐบาลพรรคอนุรักษ์มาแล้วหลายงาน อีกทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทของ ลิซ ทรัสส์ ที่เป็นกำลังสำคัญในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งภายในพรรคอนุรักษ์ที่ผ่านมา 

และนอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งสำคัญอีกหลายกระทรวงที่ไม่ได้รัฐมนตรีที่เป็นคนขาว อาทิ...

- นาดิมห์ ซาฮาวี อดีตผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ดในอิรัก รับหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์

- เคมิ แบเดนอช รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ก็มีเชื้อสายไนจีเรีย 

- อโลค ชาร์มา ประธานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เป็นชาวอินเดียแท้ๆ ที่มาจากรัฐอุตตรประเทศ ก่อนย้ายตามพ่อมาตั้งรกรากที่เมืองเรดิง ในอังกฤษ ตั้งแต่ 5 ขวบ

หากนับย้อนหลังไปหลายสิบปี คณะรัฐมนตรีของอังกฤษมักถูกครอบครองตำแหน่งโดยผู้ชายผิวขาว โดยเฉพาะตำแหน่งกระทรวงสำคัญของอังกฤษ

 

แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะเคยมีนายกรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายยิวมาก่อน คือ นาย เบนจามิน ดิสราเอลี ตั้งแต่ปี 1868 

แต่หากเป็นคนในคณะรัฐมนตรีที่เป็นผิวสีจริงๆ ต้องรอหลังจากนั้นนานกว่า 100 ปี จนกระทั่ง พอล โบเทง กลายเป็นนักการเมืองผิวดำคนแรก ผู้มีเชื้อสายชาวกานาที่ได้รับตำแหน่งสูงที่สุดในคณะรัฐบาลอังกฤษ เมื่อปี 2002 โดยเขาได้รับแต่ตั้งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ 

แต่ทั้งนี้ พอล โบเทง ก็เป็นผู้แทนจากพรรคแรงงาน ที่มักได้ฐานเสียงจากชนกลุ่มน้อยผิวสี และผู้อพยพต่างชาติอยู่เสมอ โดยพรรคอนุรักษ์มักถูกโจมตีว่า มีทัศนคติเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ และเกลียดกลัวอิสลาม 

ดังนั้น พรรคอนุรักษ์นิยมจึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้คณะรัฐบาลของตนมีความหลากหลายทางเพศ และเชื้อชาติมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มฐานเสียงกลุ่มชาวผิวสี 

โดย ริชี ซูนัก อดีตรัฐมนตรีคลังเชื้อสายอินเดีย เคยถูกชูให้เป็นภาพลักษณ์สำคัญของพรรคอนุรักษ์ เป็นพรรคมีเปิดโอกาสให้กับคนสัญชาติอังกฤษที่ไม่จำกัดพื้นเพกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเขายังเคยเป็นตัวเต็งในการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ นายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป ก่อนที่จะพ่ายแพ้ให้กับลิซ ทรัสส์ ที่กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง คนที่ 3 ของพรรคอนุรักษ์ ถัดจาก มาร์กาเรต แทตเชอร์ และ เทเรสซ่า เมย์ 

แต่ทั้งนี้ ตัวเลือกของลิซ ทรัสส์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหลากหลาย และ ความสามารถเพียงอย่างเดียว เพราะทีมรัฐบาลใหม่ส่วนใหญ่มักมีแนวคิดสนับสนุนนโยบาย Brexit และเป็นพันธมิตรสำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน และ ลิซ ทรัสส์ มาก่อน ที่ทำให้เธอมั่นใจว่า คณะรัฐมนตรีที่เลือกมาจะมีเสถียรภาพ และสนับสนุนนโยบายของเธอไปได้สุดทางนั่นเอง 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง : Straits Times / BBC / Wikipedia