Monday, 20 May 2024
ลิซทรัสส์

ผู้ดีเซ็ง!! 'ลิซ ทรัสส์' ขึ้นเป็นนายกฯ ไม่เชื่อน้ำยาแก้ปัญหาค่าครองชีพ

ชาวสหราชอาณาจักร ดูเหมือนจะไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไหร่กับการที่ ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จากผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยสำนักโพล YouGov ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (5 ก.ย.)

ผลสำรวจความคิดเห็นของ YouGov พบว่า มีประชาชนในสหราชอาณาจักรมากกว่าครึ่งที่บอกว่ารู้สึกผิดหวังหลังได้รู้ว่า ทรัสส์ ได้รับเลือกจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟให้เป็นผู้นำคนใหม่ พร้อมก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมตรี และจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และ 1 ใน 3 ระบุ "รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก" ต่อแนวโน้มดังกล่าว

มีเพียงแค่ 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ยินดีต่อข่าวนี้ โดยบอกว่ารู้สึก "พึงพอใจมาก" ที่ได้เห็น ทรัสส์ ณ บ้านพักเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง และอีก 18% ระบุรู้สึกพอใจพอสมควรต่อผลลัพธ์นี้

ผู้คนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักร (67%) ดูเหมือนมีความเคลือบแคลงสงสัยโดยเฉพาะต่อความสามารถของทรัสส์ ในการจัดการกับวิกฤตค่าครองชีพที่พุ่งสูง ประเด็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของชาวสหราชอาณาจักรมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจของ YouGov หนล่าสุด

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 40% บอกว่าไม่มีความเชื่อมั่นใดๆ เลยในเรื่องเกี่ยวกับศักยภาพของนายกรัฐมนตรีรายนี้ ในการจัดการกับวิกฤตดังกล่าว

ทรัสส์ เอชนะ ริชิ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในศึกเลือกตั้งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หลังจากเธอได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟ 81,326 เสียง ส่วน ซูนัค ได้ 60,399 เสียง อย่างไรก็ตาม YouGov ระบุว่า เสียงสนับสนุนของเธอในบรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคอนเซอร์เวทีฟนั้นดูจะต่างออกไป

ส่องทัพ 'ลิซ ทรัสส์' นายกหญิงคนใหม่ของอังกฤษ พบลูกหลานผู้อพยพผิวสี รับตำแหน่งรมต.สำคัญเพียบ

พรรคอนุรักษ์นิยม ภายใต้การนำของ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ แต่งตั้งผู้หญิงทำงานและลูกหลานจากครอบครัวผู้อพยพผิวสีขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงเสาหลักของอังกฤษเป็นจำนวนมาก 

เริ่มต้นจาก ควาซี กวาร์เต็ง รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังผิวดำคนแรกของอังกฤษ มาจากครอบครัวผู้อพยพชาวกานา ที่มาศึกษาต่อในอังกฤษ ควาซี กวาร์เต็ง เคยเป็นนักเรียนทุน King's Scholar ได้เข้าเรียนใน อีตัน คอลเลจ และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์   

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ได้รัฐมนตรีผิวดำคนแรกเช่นกัน โดย เจมส์ เคลฟเวอร์ลี ลูกครึ่งอังกฤษ-เซียรา ลีโอน ผู้ที่เคยถูกบูลลี่เรื่องความเป็นลูกครึ่งผิวสีมาตั้งแต่เด็ก แต่วันนี้ได้ก้าวขึ้นถึงตำแหน่งรัฐมนตรี หนึ่งในกระทรวงเสาหลักของอังกฤษ

ซูเอลลา เบรฟเวอแมน รัฐมนตรีมหาดไทยหญิงคนใหม่ของอังกฤษ เป็นผู้หญิงเก่งที่มีเชื้อสายจากหลากหลายเชื้อชาติ คุณพ่อเป็นชาวกัว-อินเดีย คุณแม่เป็นชาวอินเดีย เชื้อสายทมิฬ-มอริเชียส เธอได้เรียนปริญญาตรีด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ และไปต่อปริญญาโทด้านกฏหมายยุโรป และฝรั่งเศสที่ Panthéon-Sorbonne University ในกรุงปารีส 

ซูเอลลา เบรฟเอแมน นับเป็นรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยคนที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษ ต่อจาก พริติ พาเทล ที่มีเชื้อสายอินเดียเช่นกัน

ส่วน เธเรสซา คอฟฟีย์ ควบถึง 2 ตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เธอเป็น สส.หญิงแกร่งจากเมืองซัฟฟอล์ค เคยรับหน้าที่สำคัญในรัฐบาลพรรคอนุรักษ์มาแล้วหลายงาน อีกทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทของ ลิซ ทรัสส์ ที่เป็นกำลังสำคัญในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งภายในพรรคอนุรักษ์ที่ผ่านมา 

และนอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งสำคัญอีกหลายกระทรวงที่ไม่ได้รัฐมนตรีที่เป็นคนขาว อาทิ...

- นาดิมห์ ซาฮาวี อดีตผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ดในอิรัก รับหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์

- เคมิ แบเดนอช รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ก็มีเชื้อสายไนจีเรีย 

- อโลค ชาร์มา ประธานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เป็นชาวอินเดียแท้ๆ ที่มาจากรัฐอุตตรประเทศ ก่อนย้ายตามพ่อมาตั้งรกรากที่เมืองเรดิง ในอังกฤษ ตั้งแต่ 5 ขวบ

หากนับย้อนหลังไปหลายสิบปี คณะรัฐมนตรีของอังกฤษมักถูกครอบครองตำแหน่งโดยผู้ชายผิวขาว โดยเฉพาะตำแหน่งกระทรวงสำคัญของอังกฤษ

นายกฯ อังกฤษ อาจไม่ได้ไปต่อ หลังกระแส ‘จบ’ หนาหู ขึ้นอยู่กับเวลา

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล

“Credibility is one of the most prized assets in politics.
When it drains away, dredging it back is difficult, often impossible.”
Chris Mason, Political editor, BBC News

ผู้เขียนขอยกข้อเขียนของนายคริส เมสัน บรรณาธิการข่าวการเมืองของบีบีซีมาเริ่มต้นเรื่องอนาคตของนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพราะมันเป็นสัจธรรมทางการเมืองที่แน่นอนที่สุด 

นายคริส เมสันบอกว่า “ความน่าเชื่อถือ คือสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดในทางการเมือง หากว่ามันได้สูญหายไปแล้ว ก็ยากยิ่งนักที่จะดึงมันกลับคืนมาและบ่อยครั้งที่ยากที่จะเป็นไปได้”

Credibility หรือความน่าเชื่อถือในตัวนางลิซ ทรัสส์ กระทบกระเทือนอย่างนัก เมื่อเธอได้ปลดรัฐมนตรีคลังนาย กวาซี กวาร์เทง (Kwasi Kwarteng) ออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากแผนงบประมาณที่เรียกว่า mini-budget ที่นายกวาร์เทงประกาศออกมาในปลายเดือนที่แล้ว ถูกตำหนิติเตียนอย่างหนักว่าไม่สมเหตุสมผลกับสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นนางลิซ ทรัสส์ จึงต้องกลับลำเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเรื่องภาษี เช่น กลับลำในเรื่องการเก็บภาษีนิติบุคคลที่เธอประกาศแต่แรกว่าจะไม่ขึ้น แต่พอโดนวิจารณ์หนักเธอก็บอกว่าต้องขึ้น หรือเรื่องภาษีเงินได้เป็นต้น

ที่จริงการเปลี่ยนแผนในเรื่องภาษีนั้นรัฐ อาจสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ในเวลาแค่ไม่ถึงเดือนที่เธอเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะไม่เพียงแต่ตลาดเท่านั้นที่หวั่นใจในการเปลี่ยนแปลง แต่บรรดาลูกพรรคที่เป็นส.ส. ของพรรคคอมเซอร์เวทีฟเองก็พลอยวิตกกังวลไปด้วย เพราะมันหมายถึงอนาคตในการเลือกตั้งของพวกเขาต่อไปด้วย

คริส เมสัน บอกว่าแม้เธอจะฉลาดในการตั้งนายเจเรมี่ ฮันท์ เข้ามาเป็นร.ม.ต. คลังคนใหม่เพื่อที่อาจจะสงบปากของกลุ่มนายริชชี่ สุหนักลงบ้าง (นายเจเรมี่ เป็นผู้ที่สนับสนุนนายริชชี่ในระหว่างการแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค) แต่ก็มีเสียงจากส.ส. บางคนว่าอาจเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น และบางคนถึงกับพูดว่านายเจเรมี่ คือ นายกรัฐมนตรีตัวจริง ซึ่งเขาได้ปฏิเสธและยืนยันว่านางทรัสส์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว

อย่างไรก็ดีผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานคำพูดของอดีตรัฐมนตรีของพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนหนึ่งว่า “คนทั่วไปรู้ดีว่า มันจบแล้ว แต่มีคำถามเพียงว่า จะจบอย่างไรและเมื่อไหร่เท่านั้น”

ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่า นายกฯ ทรัสส์ จะอยู่ในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวท์นิ่งอีกได้นานเพียงใด หลังมี ส.ส. กลุ่มเล็กๆ ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เธอลาออก และอีกจำนวนมากอาจจะตามมา

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และเรียกร้องเช่นนี้ ทำเนียบรัฐบาลก็ยังอยู่ในโหมดของการรับฟังเท่านั้น ขณะเดียวกันเพื่อให้ทันกับสถานการณ์และให้เกิดความชัดเจนในเรื่องภาษีของรัฐบาล ด้านรมต.คลัง หมาดๆ (เจเรมี ฮันท์) ก็ได้แถลงต่อสภาเมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 17 ต.ค.ว่า จะลดหรือเพิ่มในเรื่องใดบ้าง ซึ่งก็เป็นที่ต้อนรับของ ส.ส. บางคน แต่ธุรกิจบางอย่างก็ไม่ยินดี โดยนโยบายที่แถลงต่อสภานั้น มีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญ ๆ หลายอย่างจากที่นางลิซเคยประกาศไว้

มีการคาดการว่าในสัปดาห์นี้นายกฯ ทรัสส์จะใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกพรรคของเธอเพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุน เช่นเดียวกับนายฮันท์ที่จะชี้แจงให้ส.ส. พรรคเข้าใจในแผนการที่สำคัญและยากของเขาที่จะประกาศในปลายเดือนนี้

เมื่อดูสถานการณ์แล้วทั้งนางทรัสส์และนายฮันท์อาจจะทำงานยากอยู่กับเสียงของส.ส.ลูกพรรค แต่ก็ยังมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อมีเสียงจากผู้อาวุโสในพรรคออกมาเตือนว่าควรจะฟังแผนเศรษฐกิจทั้งหมดของ รมต.คลัง เสียก่อน เช่นเดียวกับ ส.ส. รุ่นใหญ่ในพรรคที่ขอให้สงบสติอารมณ์กันลงบ้างและ ส.ส.อีกกลุ่มใหญ่เตือนว่า ให้ดูๆ กันไปอีกหน่อยอย่าวู่วามเกินไป

การเมืองอังกฤษเคลื่อนไหว หลัง 'ลิซ ทรัสส์' ลาออก พรรคคู่แข่งแง้ม!! คืนอำนาจเลือกตั้งให้ประชาชน

นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ของอังกฤษประกาศลาออกเมื่อวานนี้ 20 ตุลาคม 2565 และจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ภายในวันศุกร์หน้านี้ หลังจากที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เมื่อวันที่ 5 กันยายนและเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 กันยายนปีนี้ 

นางลิซ ทรัสส์ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อยู่ในตำแหน่งที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศคือ เพียง 45 วัน

สาเหตุที่ทำให้เธอต้องลาออกก็เพราะ "พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เลือกข้าพเจ้าเข้ามาภายใต้อาณัติที่มอบหมายให้ลดภาษีและกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ" และเนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ “ข้าพเจ้ายอมรับว่าไม่สามารถที่จะทำตามสิ่งที่ได้รับการมอบหมายตามที่พรรคได้เลือกข้าพเจ้าเข้ามาได้ ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและกราบทูล ให้ทรงทราบว่าข้าพเจ้าจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟ”

(ระบบพรรคคอนเซอเวทีฟ คือ ถ้าพรรคเป็นรัฐบาล หัวหน้าพรรคจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย)

หลังจากนั้นเธอได้พบหารือกับเซอร์เกรแฮม บราดี ประธานคณะกรรมการ 1922 (ผู้ที่ ส.ส. ภายในพรรคจะปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ ของพรรค) และตกลงกันว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ภายในวันศุกร์หน้า และเธอจะรักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นางทรัสส์ต้องลาออก ก็เพราะนโยบายการลดภาษีของเธอในระหว่างที่หาเสียงเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ตกฮวบกับอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างมาก และเมื่อมีเสียงต่อต้านกับแผนการลดภาษีของเธอ เธอก็กลับลำไม่ลดภาษีตามที่เคยประกาศไว้ เธอต้องปลดรัฐมนตรีคลังเพื่อนสนิทไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และเมื่อวานรัฐมนตรีมหาดไทยก็ประกาศลาออก บวกกับลูกพรรคคอนเซอเวทีฟบางกลุ่มก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้เธออยู่อีกต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top