Saturday, 4 May 2024
สหรัฐอเมริกา

‘สหรัฐฯ’ สั่งปรับ ‘เอสซีจี พลาสติกส์’ เป็นเงิน 736 ล้านบาท จากเหตุที่ละเมิด ‘มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน’ กว่า 400 ครั้ง

(20 เม.ย.67) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงว่า ได้สั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ (SCG Plastics Co) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาสติกสัญชาติไทย เป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736 ล้านบาท ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ครั้ง

ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะเล่นงานอิหร่านในทางการเงิน แม้อีกด้านหนึ่งจะต้องการลดความตึงเครียดทางทหารระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ซึ่งมีการโจมตีแก้แค้นกันไปมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า เอสซีจี พลาสติกส์ ยินยอมจ่ายค่าปรับตามที่สหรัฐฯ เรียกร้อง เพื่อยุติการดำเนินคดีฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรรวมทั้งสิ้น 467 ครั้ง

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างอิงคำแถลงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า เอสซีจี พลาสติกส์ มีการส่งออกพลาสติก High-Density Polyethylene หรือ HDPE ทว่าปกปิดต้นทางว่ามาจากอิหร่าน ส่งผลให้สถาบันการเงินของสหรัฐฯ รับทำธุรกรรมการเงินรวมทั้งสิ้น 291 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2017 และ 2018 โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

“เอสซีจี พลาสติกส์ ปกปิดข้อเท็จจริงเป็นเวลานานต่อเนื่องหลายปีว่าพลาสติก HDPE ที่ถูกจำหน่ายนั้นมีต้นทางมาจากอิหร่าน” ซึ่งสื่อให้เห็นถึง “เจตนาในการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของสถาบันการเงินที่รับทำธุรกรรม และหลีกเลี่ยงมาตรการที่สถาบันการเงินเหล่านั้นคาดว่าจะกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐฯ” กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุ

“จากผลของการทำธุรกรรมเหล่านี้ทำให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมากถูกส่งไปถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของระบอบอิหร่าน”

ประกาศดังกล่าวมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่สหรัฐฯ และอังกฤษได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรโครงการโดรนทางทหารของอิหร่าน เพื่อตอบโต้ที่เตหะรานเปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วซึ่งมีการใช้โดรนและขีปนาวุธมากกว่า 300 ลูก

‘รัสเซีย’ ใช้โดรนราคาถูก $500 ทำลายรถถังสหรัฐฯ $10 ล้านในยูเครน ย้ำ!! มีความแม่นยำมากกว่า 90% โจมตียานเกราะ ในจุดที่อ่อนแอที่สุด

(21 เม.ย.67) สื่อมวลชนอเมริการายงานว่า มีรถถังเอบรามส์อย่างน้อย 5 คัน จากทั้งหมด 31 คันที่สหรัฐฯ จัดหาให้แก่ยูเครน ถูกรัสเซียทำลายไปแล้ว พร้อมบอกว่ามีอีก 3 คันที่ได้รับความเสียหายพอประมาณ

รายงานข่าวระบุว่า กรณีส่วนใหญ่รถถังเอบรามส์เหล่านี้ถูกทำลายโดยโดรนกามิกาเซ แบบ first-person view หรือที่รู้จักกันในฐานะกระสุนแบบดักรออยู่กับที่ (loitering munition) จากลักษณะการทำงานของมันคือ การดักรออยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อระบุเป้าหมายก่อนที่จะโจมตี

ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า เวลานี้รถถังถูกกำจัดด้วยโดรนระเบิดได้ง่ายกว่าที่พวกเจ้าหน้าที่และพวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนสันนิษฐานไว้ในตอนแรก พร้อมกับอ้างความเห็นของ มาร์คุส รีสเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารชาวออสเตรีย ที่ให้คำจำกัดความสถานการณ์ดังกล่าว "เหลือเชื่อมาก" ในขณะที่นิวยอร์กไทม์สให้คำนิยามอากาศยานไร้คนขับของรัสเซีย "เป็นมือสังหารรถถังแม่นยำสูง และมีราคาถูก"

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า โดรนมีความแม่นยำมากกว่า 90% พร้อมระบุพวกมันมีศักยภาพเล่นงานยานเกราะหนักในจุดที่อ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ อากาศยานไร้คนขับมีราคาแค่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,000 บาท) แต่มีศักยภาพกำกจัดรถถังเอบรามส์ ที่มีราคาคันละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 368 ล้านบาท) และยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปกป้องรถถังจากการโจมตีด้วยโดรน

รถถังเอบรามส์ ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ปรากฏตัวในแนวหน้าในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากถูกคาดหมายมาช้านาน ท่ามกลางความพยายามของยูเครนในการสกัดการรุกคืบของทหารรัสเซีย หลังจากกำลังพลของมอสโกยึดเมืองอัฟดิอิฟกา ในภูมิภาคดอนบาสได้สำเร็จ

บรรดาชาติผู้สนับสนุนรับปากส่งมอบเอบรามส์ M1 จำนวน 31 คันแก่เคียฟ เมื่อปีที่แล้ว ตั้งแต่ก่อนหน้าที่ยูเครนจะเปิดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้แต่ประสบความล้มเหลวในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม การส่งมอบเพิ่งเริ่มเดินเครื่องอย่างเต็มกำลังในช่วงกลางเดือนตุลาคม ครั้งที่ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้อ่อนแรงลงไปแล้ว

สภาสหรัฐฯ โหวตท่วมท้น 'แบนติ๊กต็อก' ไม่สนเสียงคัดค้าน-ปิดกั้นเสรีภาพผู้ใช้

เมื่อวานนี้ (21 เม.ย. 67) สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โหวตรับรองร่างกฎหมายบังคับให้ไบต์แดนซ์ขายติ๊กต็อก หรือปล่อยให้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมนี้ถูกแบนจากตลาดอเมริกา ด้านติ๊กต็อกออกแถลงการณ์ร้องเรียนทันควันชี้เป็นการเหยียบย่ำสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน ทำลายธุรกิจ 7 ล้านแห่ง และปิดแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ปีละ 24,000 ล้านดอลลาร์ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่อเมริกาและตะวันตกกังวลว่า ความนิยมในติ๊กต็อกในหมู่หนุ่มสาวจะเปิดโอกาสให้จีนสอดแนมข้อมูลผู้ใช้ เฉพาะอเมริกามีผู้ใช้แอปนี้ถึง 170 ล้านราย

เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังกล่าวหาว่า ติ๊กต็อกอยู่ใต้อำนาจของปักกิ่ง และเป็นช่องทางเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของจีน ซึ่งทั้งรัฐบาลจีนและติ๊กต็อกต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนท่วมท้น 360 ต่อ 58 เสียงเมื่อวันเสาร์ (20 เม.ย.) ซึ่งอาจนำไปสู่ขั้นตอนที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในการกีดกันไม่ให้บริษัทเอกชนทำธุรกิจในอเมริกานั้น จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์นี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า จะลงนามรับรองร่างกฎหมายนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ย้ำความกังวลเกี่ยวกับติ๊กต็อกระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเมื่อต้นเดือน

การยื่นคำขาดต่อติ๊กต็อกครั้งนี้รวมอยู่ในร่างกฎหมายการให้ความช่วยเหลือยูเครน อิสราเอล และไต้หวัน

ทางด้านติ๊กต็อกร้องเรียนทันควันโดยออกแถลงการณ์ ระบุว่า น่าเสียดายที่สภาล่างสหรัฐฯ อาศัยร่างกฎหมายความช่วยเหลือต่างประเทศและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อเร่งรัดร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อก ซึ่งจะเป็นการเหยียบย่ำสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกัน 170 ล้านคน ทำลายธุรกิจ 7 ล้านแห่ง และปิดแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ปีละ 24,000 ล้านดอลลาร์ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ไบต์แดนซ์ บริษัทไฮเทคสัญชาติจีน ต้องเลือกระหว่างขายกิจการติ๊กต็อกในอเมริกาภายใน 1 ปี หรือติ๊กต็อกถูกถอดออกจากแอปสโตร์ของแอปเปิลและกูเกิลในอเมริกา

เดือนที่แล้ว สภาล่างสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมายแบนติ๊กต็อกที่กำหนดให้ไบต์แดนซ์ต้องขายหุ้นติ๊กต็อกให้บริษัทสัญชาติอเมริกันภายใน 6 เดือน หรือถูกแบนในอเมริกา ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายนี้อยู่ในการพิจารณาของสภาสูง

สตีเวน มนูชิน อดีตรัฐมนตรีคลังในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจซื้อกิจการติ๊กต็อก และขณะนี้กำลังรวบรวมกลุ่มนักลงทุน

ติ๊กต็อกตกเป็นเป้าหมายการเพ่งเล็งของทางการสหรัฐฯ มานานหลายปี ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า แพลตฟอร์มยอดฮิตนี้ช่วยให้ปักกิ่งสอดแนมผู้ใช้ในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายแบนติ๊กต็อกอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุแอปพลิเคชันที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ หากแอปดังกล่าวควบคุมโดยประเทศที่ถือเป็นศัตรูของอเมริกา

วันศุกร์ที่ผ่านมา (19 เม.ย.) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอ็กซ์ หรือทวิตเตอร์ในอดีต ออกมาต่อต้านการแบนติ๊กต็อกโดยระบุว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อเอ็กซ์ แต่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คน

ใหญ่คับฟ้า!! ‘เรือปืน’ นโยบายการทูตร้อยปีของสหรัฐฯ 'ขจัด-กีดกัน-กดดัน' ทุกชาติที่มีพฤติการณ์แข็งขืนมะกัน

จากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.67) ว่าได้สั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ (SCG Plastics Co) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาสติกสัญชาติไทย เป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736 ล้านบาท ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ครั้งนั้น

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นตอกย้ำทำให้ทั้งโลกได้เห็นว่า สหรัฐฯ ยังใช้นโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ (Gun Boat Diplomacy) มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1853 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งพลเรือจัตวา Matthew C. Perry พร้อมกับหมู่เรือรบอเมริกันเข้าไปยังอ่าวโตเกียว โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นที่ปิดประเทศมานานกว่า 200 ปี 

Perry ได้ตั้งใจที่จะใช้กำลังทหารกดดันหากญี่ปุ่นปฏิเสธการเปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่ญี่ปุ่นเองก็ได้ตั้งใจที่จะเจรจาเพื่อเปิดความสัมพันธ์และทำสนธิสัญญาต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เกิดการปะทะระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นแต่อย่างใด 

ปฏิบัติการของ Perry ในครั้งนั้นได้วางรากฐานสำหรับข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และการใช้หรือการข่มขู่กำลังทหารเพื่อผลด้านนโยบายต่างประเทศจึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ (Gun Boat Diplomacy) 

นโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ถูก Theodore Roosevelt ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำมาใช้อีกครั้ง ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ไม้ตะบองใหญ่ของ Teddy Roosevelt’ (Teddy Roosevelt's 'Big Stick') ด้วยการส่งกองเรือรบ Great White (The Great White Fleet) ออกเดินทางไปเยือนเมืองท่าต่าง ๆ ทั่วโลกระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 1907 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1909 โดยชื่อกองเรือดังกล่าวมาจากการที่เรือรบในกองเรือดังกล่าวทุกลำทาสีขาวล้วน 

***หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ขึ้น...

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นไม่เคยมีการรบเกิดขึ้นในดินแดนของสหรัฐฯ เลย แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ที่อ่าว Pearl มลรัฐฮาวายถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีจนเสียหายอย่างหนัก ดินแดนอาณานิคมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีและยึดครอง 

หลังจากเป็นแกนนำกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร และเอาชนะฝ่ายอักษะแล้ว ได้มีการนำนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ มาปิดท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ จนทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปกว่าสองแสนคน (ทั้ง ๆ ที่มีชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะในยุโรปแล้ว) จนญี่ปุ่นเองก็คงต้านทานกองกำลังสัมพันธมิตรต่อได้อีกไม่นาน และผลของการทิ้งระเบิดปรมาณู ก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในทันที

มาถึง ยุคสงครามเย็น (Cold War) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่โลกแบ่งออกเป็นสองขั้วค่ายคือ ฝ่ายประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐฯ และฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต นโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ก็เข้มข้นขึ้นตามลำดับ มีการก่อตั้ง NATO ‘องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ’ (North Atlantic Treaty Organization) องค์กรความร่วมมือทางการเมืองและการทหารของประเทศค่ายเสรีประชาธิปไตย และองค์การ SEATO ที่เปรียบเสมือนองค์การ NATO แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นไปตามลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) ในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระดับทวิภาคีและส่วนร่วมในสนธิสัญญาป้องกันระดับภูมิภาค โดยสหรัฐฯ ได้อาศัยความเป็นผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรสร้างฐานทัพบก-เรือ-อากาศ ไว้ทั่วโลกมากมายหลายร้อยแห่ง ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทัพสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ไปในตัวอีกด้วย

กระทั่งสงครามเย็นจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต บริบทในการทำสงครามของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้จึงเปลี่ยนไปจากการรบด้วยกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์มาเป็นการรบด้วยเศรษฐกิจ, การค้า, การเงิน, การลงทุน แต่ในขณะเดียวกันยังคงนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ด้วยการวางกำลังทหารทั้งบก-เรือ-อากาศ อยู่ทั่วโลกซึ่งพร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมุ่งเน้นในการป้องความมั่นคงของชาติ ตลอดจนผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เองในทุก ๆ มิติ...

....และที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามจนอาจกลายเป็นสงครามบนดินแดนของสหรัฐฯ เอง และมีการใช้วิธีการต่าง ๆ นานาในการปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์และนโยบายทางเมืองของสหรัฐฯ ดังเช่น รัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และจีน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน สหรัฐฯ จึงพยายามออกมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อ กดดัน ปิดล้อม สกัดกั้น หรือคว่ำบาตร ประเทศเหล่านี้ 

อย่างเช่น กรณีที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ สั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ ของไทยเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 736 ล้านบาท) ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ครั้ง แม้ เอสซีจี พลาสติกส์ จะสามารถทำการอุทธรณ์ได้ แต่โอกาสที่จะชนะนั้นยากมาก ด้วยเพราะต้องต่อสู้เป็นคดีความกับรัฐบาลที่ออกกฎหมายเอง หาก เอสซีจี พลาสติกส์ ไม่ยอมจ่ายค่าปรับดังกล่าวก็อาจจะส่งผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ (Black List) บริษัทในเครือเอสซีจีทั้งหมด ซึ่งย่อมสร้างผลกระทบทางลบต่อธุรกิจของเครือเอสซีจีทั้งหมดในการปฏิสัมพันธ์ทางการค้ากับลูกค้าที่เป็นบริษัทอเมริกันทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แน่นอนว่า ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของไทย ซึ่งรวมถึงทั้งเครือเอสซีจีด้วย เมื่อโดนมาตรการแบบนี้ เราที่เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ จึงไม่สามารถทำอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืน ต่อต้าน ขัดขืน ฯลฯ ประเทศอภิมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯ ได้ 

แม้แต่ประเทศอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของเอเชียอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนเองก็ยังโดนมาตรการต่าง ๆ ของสหรัฐฯ มากมายหลายครั้ง อาทิ กรณี Meng Wanzhou ลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสายการเงิน (CFO) ถูกจับกุมที่แคนาดาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2018 ตามหมายจับของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า Huawei ทำธุรกิจในอิหร่าน ทั้ง ๆ ที่อิหร่านยังอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรทางการค้าโดยสหรัฐฯ โดยระหว่างปี 2009-2014 Huawei ได้ตั้ง Skycom บริษัทย่อยเพื่อทำธุรกิจในอิหร่าน อันเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ 

นอกจากนั้น Huawei และ Wanzhou ยังถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในฐานปลอมแปลงข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องระหว่าง Huawei และ Skycom ที่ได้ส่งให้กับธนาคาร HSBC รวมถึงมีความพยายามในการจารกรรมข้อมูลผ่านเทคโนโลยี ฯลฯ ทำให้บริษัท Huawei ถูกจัดเข้าบัญชีดำ (Black List) โดยสหรัฐฯ ในปี 2019 แต่ Wanzhou ก็ต่อสู้คดีจนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน 2021 เกือบ 3 ปี เธอจึงได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศจีน ภายใต้ข้อตกลงที่มีร่วมกันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน, แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างมาก

เมื่อบริษัท Huawei ถูกจัดเข้าบัญชีดำ (Black List) ของสหรัฐฯ ด้วยมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจีนจากเหตุผลความมั่นคง ส่งผลให้ Huawei บริษัทที่ผลิตมือถือเป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ ของโลกต้องร่วงลงมาหลายอันดับ และการปิดกั้นสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ทำให้จีนไม่สามารถเข้าถึง Chip หรือ Semiconductor สมรรถนะสูง แต่ Huawei ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการทำการพัฒนา Chip หรือ Semiconductor สมรรถนะสูงจนประสบความสำเร็จ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถพัฒนาให้สมรรถนะดีกว่าของสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย 

หรือกรณีชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเกียงซึ่งถูกสื่อตะวันตกประโคมข่าวไปทั่วโลกว่า มีการกักขัง กดขี่ ทรมาน ชาวอุยกูร์ และมีการออกมาตรการห้ามบริษัทอเมริกันซื้อฝ้ายที่ผลิตจากพื้นที่ดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์กับชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza และเขต West Bank ดินแดนของตนเองซึ่งถูกอิสราเอลปิดล้อมแล้วมีความแตกต่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับเหวเลยทีเดียว เพราะเมืองต่าง ๆ ในเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเกียงมีความเจริญรุดหน้าเช่นเดียวกับเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีนเองหรือแม้กระทั่งเมืองต่าง ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์นั้นไม่ได้แตกต่างไปจากการติดคุกที่มีขนาดใหญ่ ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดจนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้วยอิสราเอลได้ทำการปิดกั้นจำกัดในทุก ๆ เรื่องแม้กระทั่งสิ่งที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเช่นน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค แต่สหรัฐฯ ก็ไม่เคยประณามอิสราเอลว่า ได้ทำการ กดขี่ ข่มเห่ง รังแก ชาวปาเลสไตน์อย่างไร้คุณธรรมแต่อย่างใดเลย

ด้าน อิหร่านซึ่งถูกมาตรการของสหรัฐฯ ต่าง ๆ นานานับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเมื่อกว่า 40 ปีก่อน อิหร่านมีเครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ที่ผลิตจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากแต่ไม่มีอะไหล่ ที่สุดแล้วอิหร่านก็สามารถพึ่งพาตนเองด้วยการผลิตอะไหล่เครื่องบินเหล่านั้นได้เอง จนปัจจุบันกว่า 40 ปีแล้วที่อิหร่านไม่ได้สามารถซื้อหาอะไหล่จากสหรัฐฯ แต่เครื่องบินเหล่านั้นยังคงใช้งานได้ 

อย่างไรก็ตาม นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้น เพื่อกดดันประเทศต่าง ๆ ที่ถูกมองว่า มีพฤติการณ์และพฤติกรรมที่สหรัฐฯ ไม่พึ่งประสงค์นั้นกำลังจะย้อนกลับมาสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ในอนาคต อาทิ การที่ประเทศขั้วตรงข้ามของสหรัฐฯ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS : BRASIL-RUSSIA-IRAN-CHINA-SOUTHAFRICA) ด้วยคาดหวังว่า จะกลายเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ปัจจุบันมีสมาชิก 9 ประเทศ อยู่ระหว่างการสมัครอีก 15 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) 

ด้วยความที่ไทยเราเป็นประเทศเล็กแต่มีที่ตั้งอยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ จึงจำเป็นต้องรักษาความเป็นกลางอย่างสมดุลให้มีความเหมาะสมพอดีที่สุด จากประสบการณ์ที่เคยเลือกข้างเลือกฝั่งในอดีต จนทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรงมาแล้ว

ดังนั้น คนไทยทั้งหมดทั้งมวลควรจะช่วยกันจดจำเรื่องราวตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ ได้เคยทำไว้กับไทยเรา ทั้งในเชิงบวกและลบ เพื่อสรุปเป็นบทเรียนในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ กับประเทศนั้น ๆ ในเวทีโลกอย่างเหมาะสม ไม่เอาเปรียบประเทศใด ๆ แต่ก็ต้องไม่ยอมให้ประเทศใด ๆ ก็ตามที่มาเอาเปรียบได้ ด้วยการยึดถือเอาประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยถือเป็นความสำคัญและจำเป็นสูงสุด

‘Tesla’ ประกาศเรียกคืน ‘Cybertruck’ หลังพบปัญหาที่อาจทำให้ 'คันเร่งค้าง'

Tesla ประกาศเรียกคืน Cybertruck ที่ผลิตออกมาทั้งหมด 3,878 คัน หลังพบปัญหาคันเร่งค้าง

(23 เม.ย.67) BusinessTomorrow รายงานว่า Tesla ได้ประกาศเรียกคืนรถผ่าน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนในสหรัฐ ระบุปัญหาแป้นเหยียบคันเร่ง (pad on the accelerator pedal) อาจไปติดกับตัวรถด้านในที่อยู่เหนือคันเร่ง และอาจทำให้คันเร่งค้างได้

ทั้งนี้ Tesla ระบุว่า ได้รับแจ้งปัญหาจากลูกค้าครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม และครั้งที่สองในวันที่ 3 เมษายน หลังการสอบสวนของวิศวกรก็พบว่ามีปัญหาจริง ๆ จึงตัดสินใจประกาศให้เจ้าของรถนำรถเข้าไปแก้ไขโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ซึ่งเจ้าของรถมีสิทธิจะไปหรือไม่ก็ได้ เป็นไปตามความสมัครใจ)

‘Tesla’ กำไรไตรมาสแรกดิ่งฮวบ 55% ท่ามกลางสงครามรถยนต์อีวีที่เข้มข้น

(24 เม.ย.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เทสลา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าผลกำไรในไตรมาสแรกของปี 2024 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มข้น แต่หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้น หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาได้ประกาศว่าจะเร่งแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง

เทสลาได้เปิดเผยว่า เทสลามีผลกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 40,570 ล้านบาท จากรายได้ของเทสลา 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 785,362 ล้านบาท ถือว่ามีผลกำไรลดลง 55% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 11% ในการซื้อขายหลังตลาดปิด หลังเทสลาให้คำมั่นว่าจะเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลง โดยการประกาศดังกล่าวมีขึ้นขณะที่บรรดานักลงทุนต้องการให้มัสก์ออกมาแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัทมากขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เทสลากำลังลดลง และข่าวการปลดพนักงานเทสลาทั่วโลกราว 14,000 คนเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายของเทสลากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงการเรียกคืนรถยนต์ Cybertruck รุ่นใหม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเร่งเครื่องยนต์

ถึงแม้ว่าเทสลาจะกำลังใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่เทสลายังให้รายละเอียดว่าพวกเขาเตรียมที่จะเร่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่มีราคาถูกลง โดยมัสก์เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ซึ่งรายงานดังกล่าวได้สร้างความพอใจให้แก่นักลงทุนบางส่วนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ชี้แจงถึงแผนการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่บอกว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

‘ม็อบหนุนปาเลสไตน์’ ผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ‘เจ้าหน้าที่’ ปราบดุ!! ใช้สารเคมี-ช็อตไฟฟ้า สลายการชุมนุม

เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการแข็งกร้าวกับผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่ปักหลักชุมนุมกันตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลังการชุมนุมลักษณะนี้แผ่ลามไปตามสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั่วอเมริกามากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลใช้สารระคายเคืองและอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าเข้าควบคุมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในขณะที่บรรดาผู้บริหารของสถาบันการศึกษาที่ทรงเกียรติที่สุดของประเทศบางแห่งกำลังดิ้นรนขัดขวางการปักหลักชุมนุมยึดสถานที่ของผู้ประท้วง

การปักหลักชุมนุมและประท้วงอันครึกโครม ผุดขึ้นมาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ด้วยที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในสงครามระหว่างอิสราเอลกับนักรบฮามาส เช่นเดียวกับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและบริษัทต่าง ๆ ที่พวกเขาบอกว่าโกยกำไรจากความขัดแย้งดังกล่าว

"สำหรับ 201 วัน ที่โลกเฝ้าดูอย่างเงียบ ๆ ปล่อยให้อิสราเอลฆาตกรรมชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 30,000 คน" ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์โดยแกนนำการประท้วงจุดใหม่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส 

"วันนี้ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเข้าร่วมกับนักศึกษาทั่วประเทศ เรียกร้องมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของเราตัดขาดกับบริษัทต่าง ๆ ที่แสวงหาผลกำไรจากการรุกราน การแบ่งแยก และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์"

มีผู้ประท้วงมากกว่า 200 คน ถูกจับกุมในวันพุธ (24 เม.ย.) และวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลอสแอนเจลิส บอสตัน และในเมืองออสติน รัฐเทกซัส บริเวณที่มีผู้คนกว่า 2,000 ราย มารวมตัวกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.)

ที่มหาวิทยาลัยเอโมรี ในแอตแลนตา ปรากฏภาพถ่ายกำลังใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าระหว่างเข้าจัดการกับพวกผู้ประท้วงที่อยู่บริเวณลานหญ้า ขณะที่เว็บไซต์ข่าวของทางมหาวิทยาลัย เผยว่า พวกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากป้องกันแก๊สและใช้สายรัดข้อมือควบคุมตัวผู้ชุมนุม

กรมตำรวจแอตแลนตา อ้างว่าทางมหาวิทยาลัยร้องขอให้ช่วยคุ้มกันมหาวิทยาลัย "พวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเจอกับการใช้ความรุนแรง เราทราบมาว่าเจ้าหน้าที่กรมตำรวจแอตแลนตาใช้สารระคายเคืองระหว่างเหตุการณ์นี้ แต่กรมตำรวจแอตแลนตาไม่ได้ใช้กระสุนยาง"

สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายของการประท้วง เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก หลังจากผ่านพ้นเส้นตายที่พวกนักศึกษาได้รับคำสั่งให้รื้อถอนค่ายชั่วคราวที่พวกเขาใช้ปักหลักชุมนุมและกลายมาเป็นศูนย์กลางของความเคลื่อนไหว

การประท้วงที่ลุกลามกลายมาเป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่พยายามรักษาสมดุลในพันธสัญญาของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพการแสดงออกกับเสียงโวยวายต่าง ๆ เกี่ยวกับการล้ำเส้นของพวกผู้ประท้วง

พวกผู้ประท้วงสนับสนุนอิสราเอลและอื่น ๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย โดยชี้ถึงเหตุการณ์ต่อต้านยิวต่าง ๆ และกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายกำลังสนับสนุนการข่มขู่คุกคามและประทุษวาจา (hate speech)

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาผู้ประท้วงบอกว่าพวกเขาต้องการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา ดินแดนที่มีผู้ถูกสังหารไปแล้วแตะระดับ 34,305 คน โดยผู้ชุมนุมบางส่วน ในนั้นรวมถึงนักศึกษายิวเองจำนวนหนึ่ง ปฏิเสธคำกล่าวหาต่อต้านยิว และวิพากษ์วิจารณ์พวกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับพวกเขาสวนทางกับฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล

อิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ เปิดสงครามในกาซา แก้แค้นกรณีที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,170 ราย และจับตัวประกันไปประมาณ 250 คน คาดหมายว่าเวลานี้ยังเหลือตัวประกันอยู่ในกาซาอีก 129 คน แต่ในนั้น 34 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส ซึ่งมีผู้ประท้วงถูกจับกุมฐานบุกรุก 93 รายในวันพุธ (24 เม.ย.) พวกเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าได้ยกเลิกกิจกรรมพิธีสำเร็จการศึกษาในวันที่ 10 พฤษภาคม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเอเมอร์สัน ในบอสตัน สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าได้มีการยกเลิกการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) หลังจากตำรวจปะทะกับผู้ประท้วงเมื่อคืนที่ผ่านมา รวมถึงเข้ารื้อถอนค่ายของผู้ชุมนุมฝักใฝ่ปาเลสไตน์และจับกุมผู้ประท้วงไปราว 108 คน

ในวอชิงตัน พวกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน จัดตั้งแคมป์ปักหลักชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) โดยที่บรรดานักศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ยังมีแผนประท้วงไม่เข้าเรียนอีกด้วย

การประท้วงและการปักหลักชุมนุมยังผุดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเยล แม้พบเห็นนักศึกษาหลายสิบคนถูกจับกุมไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยบราวน์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน และที่อื่น ๆ

เมื่อวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประณามความเคลื่อนไหวต่อต้านยิวอย่างโจ่งแจ้ง โดยบอกสิ่งแบบนี้ไม่ควรมีที่ว่างตามมหาวิทยาลัยทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวบอกเช่นกันว่าท่านประธานาธิบดีสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก ณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ

‘หวังอี้’ วอน ‘บลิงเคน’ ช่วยแก้ปัญหาขัดแย้ง ‘จีน-สหรัฐฯ’ หวั่น!! ความสัมพันธ์ทั้งสองชาติ จะย่ำแย่เกินการควบคุม

(26 เม.ย. 67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้หารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 เมษายน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้เรียกร้องให้บลิงเคนแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐ มิเช่นนั้นก็อาจมีความเสี่ยงที่ความสัมพันธ์จะย่ำแย่อย่างไร้การควบคุม

นี่ถือเป็นการเดินทางเยือนจีนครั้งที่สองในรอบไม่ถึง 1 ปีของบลิงเคน ขณะที่จีนกำลังไม่พอใจกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ รวมถึงการแบนการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และพยายามที่จะบีบให้บริษัท Bytedance ของจีนขายกิจการ Tiktok แอปพลิเคชันแชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมในสหรัฐ

ทั้งนี้ นายหวัง อี้ ให้การต้อนรับนายบลิงเคน ที่เรือนรับรองเตียวหยูไถ่ ในกรุงปักกิ่ง โดยกล่าวกับบลิงเคนว่า ความสัมพันธ์ของ 2 ชาติมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐเริ่มที่จะมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้พบกันที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นายหวังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ปัจจัยลบต่าง ๆ ในความสัมพันธ์ของสองประเทศยังคงเพิ่มมากขึ้น และจีนสนับสนุนการเคารพในผลประโยชน์หลักของแต่ละฝ่าย พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐไม่เหยียบย่ำขีดจำกัดของจีนในด้านอธิปไตย ความมั่นคง และการพัฒนา

ด้านผู้ช่วยของบลิงเคนระบุก่อนหน้านี้ว่า บลิงเคนจะยกประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อกังวล อาทิ การที่จีนสนับสนุนรัสเซีย นายบลิงเคนได้กล่าวกับนายหวังในช่วงต้นของการหารือว่า ทั้งสหรัฐและจีนควรที่จะแสดงให้เห็นว่าสามารถบริหารความสัมพันธ์อย่างมีความรับผิดชอบ และทั้งสองประเทศควรที่จะมีความชัดเจนที่สุดในประเด็นที่มีความต่างอย่างน้อยที่สุดก็เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดและการคำนวนผิดพลาด ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันไม่ใช่เพื่อประชาชนของสองประเทศ แต่เพื่อผู้คนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยังไม่มีการยืนยันว่าบลิงเคนจะได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนหรือไม่

เที่ยวบิน ‘เดลต้า แอร์’ ต้องบินกลับฉุกเฉิน จากเหตุ สไลด์กางออก หลัง ‘เทกออฟ’

(27 เม.ย. 67) เที่ยวบินของสายการบิน เดลต้า แอร์ไลน์ ต้องบินกลับไปนิวยอร์ก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจาก สไลด์ฉุกเฉินด้านขวาได้กางออก หลังจากเครื่องขึ้น

เครื่องบินโบอิ้งลำดังกล่าว มุ่งหน้าไปยังลอสแอนเจลิส ได้บินกลับมาลงจอดอย่างปลอดภัย ที่สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี เมื่อเวลาประมาณ 8.35 น.

เดลต้า บอกกับอินดิเพนเดนท์ว่า เที่ยวบิน 520 ประกาศเหตุฉุกเฉิน หลังจากลูกเรือสังเกตเห็นสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับทางออกฉุกเฉินทางปีกขวา รวมถึงเสียงที่ไม่คุ้นเคยจากปีกขวา

สายการบินระบุว่า มีผู้โดยสาร 176 คน นักบิน 2 คน และลูกเรือ 5 คน บนเครื่องบินลำนี้ ทั้งนี้ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ระบุว่า หน่วยงานของรัฐบาลกลางกำลังสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว

เดลต้า ยืนยันกับ ดิอินดิเพนเดนท์ว่า เครื่องบินโบอิ้ง 767 -300อีอาร์ ได้ถูกถอดออกจากการให้บริการแล้ว

“เนื่องจากไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความปลอดภัยของลูกค้า และบุคลากรของเรา ลูกเรือของเดลต้า ได้จัดการตามขั้นตอนเพื่อเดินทางกลับไปยังเจเอฟเค ขอบคุณในความเป็นมืออาชีพและความอดทนของลูกค้า ต่อความล่าช้าในการเดินทาง”

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นประเด็นล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินของโบอิ้ง และ การตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้ FAA กำลังตรวจสอบปัญหาของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ ยาง แรงดันในห้องโดยสาร และ ปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์

'Boosie BadAzz' ออกโรงเตือนชาวอเมริกัน สหรัฐฯ กำลังแย่-จนที่สุดที่เคยเห็นมาในชีวิต

ไม่นานมานี้ เพจ 'Rhythm&Poetry' ได้โพสต์เนื้อหาโดยอ้างคำพูดของ Torence Ivy Hatch Jr. หรือที่รู้จักกันดีในชื่อบนเวทีของเขา Boosie BadAzz หรือเรียกง่ายๆว่า Boosie ซึ่งเป็นแร็ปเปอร์ชาวอเมริกัน ระบุว่า...

Boosie BadAzz ออกมาโพสต์เตือนสติชาวอเมริกันว่าในขณะนี้ประเทศของพวกเขาแย่แล้ว และเขาเองก็ไม่เคยเห็นอเมริกาต้องตกอยู่ในสภาพแบบนี้มาก่อน

"มันบ้าตรงที่ทุกบริษัทไม่มีสภาพคล่องทางการเงินเลย แถมยังล้มละลายกันอีก ตอนนี้โลกไม่มีเงินแล้ว, ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเจ็บปวด ประชาชนไม่มีเงิน นอกจากต้องจ่ายบิลค่าใช้จ่ายกันแล้วก็ไม่มีแผนพิเศษสำรองอะไร คุณไม่มีเงินที่จะเอาไปให้บริษัทที่เลิกจ้างพนักงานหลักหมื่นๆ คน คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง นี่มันคืออเมริกาที่จนที่สุดที่ผมเคยเห็นมาในชีวิตเลย"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top