Saturday, 4 May 2024
สหรัฐอเมริกา

‘สิงคโปร์’ ส่งทัพเจ้าหน้าที่สู่เมืองบัลติมอร์ หวังช่วยสอบสวนสาเหตุ ‘สะพานถล่ม’

(27 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักสอบสวนความปลอดภัยทางการขนส่ง และองค์การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่สู่เมืองบัลติมอร์ของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนเหตุเรือตู้คอนเทนเนอร์ติดธงชาติสิงคโปร์ ชนกับสะพานฟรานซิส สก๊อต คีย์ บริดจ์ เมื่อวันอังคาร (26 มี.ค.) จนพังถล่มลงมา

บริษัท ซินเนอร์จี มารีน จำกัด (Synergy Marine) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการการเดินเรือ ระบุว่า เรือลำดังกล่าวสูญเสียแรงขับเคลื่อนก่อนเกิดเหตุ จึงล้มเหลวจะประคับประคองทิศทางหัวเรือตามต้องการจนกระทั่งชนกับสะพานในท้ายที่สุด

องค์การท่าเรือฯ เสริมว่าเรือลำดังกล่าวได้ทิ้งสมอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามขั้นตอนรับมือเหตุฉุกเฉินก่อนพุ่งชนสะพาน โดยเรืออยู่ภายใต้การนำร่อง ณ ตอนเกิดเหตุ ด้านทางการสหรัฐฯ เป็นผู้นำปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือในปัจจุบัน

สตรีในนิวยอร์ก ผวา!! ตกเป็นเป้าชกหน้าแบบไม่รู้เหตุผล ตอกย้ำความกังวลด้านอาชญากรรมในมหานครแห่งนี้ 

ผู้หญิงหลายคนทำวิดีโอลงบน TikTok เล่าว่าพวกเธอโดนทำร้ายร่างกาย ถูกคนร้ายชกใบหน้าโดยไม่เลือก ระหว่างที่กำลังเดินอยู่บนท้องถนนในนิวยอร์ก ซิตี และจนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม เหตุการณ์ต่อเนื่องที่โหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมในมหานครของสหรัฐฯ แห่งนี้

เรื่องราวผู้หญิงถูกชกโดยไม่มีที่มาที่ไปถูกเปิดโปงออกมาเป็นครั้งแรกโดย ‘ฮัลลีย์ เคท’ ติ๊กต็อกสาววัย 23 ปี ที่พักอาศัยอยู่ในนิวยอร์ก โดยเธอโพสต์วิดีโอหนึ่งในวันที่ 25 มีนาคม และตอนนี้กลายเป็นคลิปไวรัล ซึ่งกล่าวอ้างว่าเธอถูกชกที่ใบหน้าขณะเดินอยู่บนท้องถนน "ฉันกำลังเดินอยู่ และผู้ชายคนหนึ่งก็เข้ามาชกเข้าที่ใบหน้าฉัน โอ้พระเจ้า มันเจ็บมาก ฉันไม่สามารถพูดได้เลย"

ในวิดีโอต่อมา เคทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เธอกำลังมัวแต่มองโทรศัพท์ตอนที่ชายคนหนึ่งจูงสุนัขมา แล้วชกหรือไม่ก็ศอกเข้าใบหน้าของเธอ ทำให้เธอล้มฟุบไปกองกับพื้นและศีรษะของเธอกระแทกเข้ากับทางเท้า ทั้งนี้ เคท เล่าว่าเธอต้องการรักษาตัวเป็นการด่วนและเข้าแจ้งความเรื่องนี้กับตำรวจ

กรมตำรวจนิวยอร์ก ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อเหยื่อ ยืนยันกับบิสเนสอินไซเดอร์ ว่า ได้รับแจ้งความเหตุทำร้ายร่างกายจากผู้หญิงวัย 23 ปีรายหนึ่ง ซึ่งถูกทำร้ายบริเวณใบหน้าและศีรษะ จากนั้นก็ร่วงไปกองกับพื้นและได้รับบาดเจ็บ

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยต่อว่า ชายวัย 40 ปีคนหนึ่งชื่อว่า ‘สกีโบกี สโตรา’ ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม และเวลานี้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวน

นับตั้งแต่เรื่องราวของ เคท ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ ได้ปรากฏวิดีโอของสาวติ๊กต็อกอีกคน ที่เผยแพร่ก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเธอเผยว่าเธอถูกชกบนท้องถนนในนิวยอร์ก ซิตี เช่นกัน

โอลิเวีย แบรนด์ เผยว่า ชายคนหนึ่งเดินตรงเข้าหาเธอ ในเขตโนลิตา/โซโหของนิวยอร์ก และกล่าว "ขอโทษ" ก่อนชกเข้าที่ใบหน้าของเธอ พร้อมบอกว่าเธอได้แจ้งความกับตำรวจเรียบร้อยแล้ว

ในเรื่องนี้ กรมตำรวจนิวยอร์กยืนยันเช่นกันว่าได้รับแจ้งความผู้หญิงวัย 25 ปีคนหนึ่งถูกชกในวันที่ 17 มีนาคม บริเวณใกล้เคียงถนนเคนแมร์ตัดกับถนนมัลเบอร์รี และได้รับแจ้งความในฐานะคดีคุกคาม

นอกจากนี้ ผู้หญิงอีกคนใช้ชื่อบนสื่อสังคมออนไลน์ Malous228 เปิดเผยว่าเธอถูกชกเข้าที่ใบหน้าแบบไม่เลือกหน้า โดยชายคนหนึ่ง ในย่านไทม์ส สแควร์ โดยในวิดีโอที่เธอโพสต์นั้นพบเห็นชายคนหนึ่งที่เธออ้างว่าเป็นคนทำร้ายเธอกำลังเดินหนีไป

เธอบอกว่าเธอออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเอง หลังพบเห็นคลิปไวรัลของผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ประสบพบเจอเหตุโจมตีแบบเดียวกัน

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุชกหน้าผู้หญิงนั้น เป็นชายคนเดียวกันหรือเป็นฝีมือของหลายคน ที่ลงมือเล่นงานเหยื่อแบบสุ่ม ๆ

‘มากายลา โตนินาโต’ สาวติ๊กต็อกอีกคนโพสต์วิดีโอภาพที่เธอมีบาดแผลบริเวณใบหน้าอย่างชัดเจน เล่าว่าเธอถูกชกแบบไม่เลือกหน้าเช่นกัน ตอนที่เธอกำลังเดินออกจากมหาวิทยาลัยเดอะนิวสคูล

ส่วนผู้หญิงรายที่ 5 ‘เซเลนา พิกานับ’ เปิดเผยผ่านติ๊กต็อกเช่นกันว่า เธอถูกชายคนหนึ่งถูกชกในย่านโซโห ขณะที่เหยื่อรายที่ 6 ‘ไกเซม เซอร์มาลี’ สาวครีเอตคอนเทนต์วัย 27 ปี ที่พักอาศัยอยู่ในเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน ว่าเธอถูกชกบนท้องถนนในเขตโซโห ระหว่างที่เดินทางมาทำงานที่เมืองแห่งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

โตนินาโต กล่าวว่านับตั้งแต่เธอเผยแพร่เรื่องราวของตนบนสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้หญิงหลายคนได้ติดต่อเข้ามาเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้พวกเธอเองก็ถูกชกโดยไม่เลือกหน้าในนิวยอร์ก ซิตี เช่นกัน

เหตุการณ์ชกหน้าโดยไม่เลือกหน้าเหล่านี้ กำลังสร้างความไม่สบายใจแก่บรรดาผู้หญิงในนิวยอร์ก ซิตี เป็นอย่างมาก โดยหลายคนโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ แสดงความหวาดกลัวว่าจะถูกชกและเตือนคนอื่น ๆ ให้อยู่ในความระแวดระวัง

เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นในมหานครแห่งนี้ ตามหลังมีรายงานเกี่ยวกับเหตุโจมตีไม่เลือกหน้าในระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และหนึ่งในนั้นถึงขั้นทำให้เหยื่อถึงแก่ความตาย

‘Project Azorian’ ปฏิบัติการ ‘ลวง-ลับ-พราง’ ของสหรัฐอเมริกา ใช้ CIA แฝงตัวกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 หวังล้วงข้อมูลขีปนาวุธโซเวียต

Project Azorian (โครงการอะโซเรียน) เป็นโครงการของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) เพื่อการกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ของโซเวียตที่จมจากพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 1975 โดยเรือ Hughes Glomar Explorer ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ เรือดำน้ำ K-129 จมในปี 1968 ที่ประมาณ 1,600 ไมล์ (2,600 กม.) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮาวาย โดย Project Azorian เป็นหนึ่งในปฏิบัติการข่าวกรองที่ซับซ้อน ราคาแพง และเป็นความลับที่สุดในห้วงสงครามเย็น โดยมีมูลค่าราว 800 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน


(เรือดำน้ำ K-129)

เรือดำน้ำ K-129 หรือที่กองทัพเรือโซเวียตเรียกเรือชั้นนี้ว่า Project 629 แต่สหรัฐฯ และกองทัพนาโต้เรียกว่า ‘Golf’ ด้วยระหว่างขับน้ำ 2,700 ตัน ความยาว 100 เมตร ความกว้าง 8.5 เมตร เป็นเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซล 3 เครื่อง และมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 3 เครื่อง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 17 นอต (31 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ปฏิบัติงานในทะเลได้ 70 วัน และมีลูกเรือ 83 นาย เรือดำน้ำชั้นนี้ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี (Ballistic Missile Submarine) โดยมีท่อยิงขีปนาวุธ 3 ท่อ สามารถติดตั้งขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Tactical Ballistic Missiles) แบบ R11 FM หรือ ‘Scud’

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1968 กัปตัน Vladimir I. Kobzar และลูกเรือดำน้ำ K-129 นำเรือดำน้ำ K-129 ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนครั้งที่ 3 ของเรือลำนี้ รายงานจากเรือส่งกลับมาว่า การแล่นตามทิศทางที่กำหนดเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่เมื่อเรือดำน้ำ K-129 ข้ามเส้นรุ้งที่ 180 (180th meridian) ก็ขาดการติดต่อ แม้จะมีความพยายามติดต่อกับเรือจากฐานทัพเรือ Kamchatka แต่ไม่มีการตอบรับใด ๆ จากเรือลำนี้ กระทั่งเวลาล่วงเลยไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม กองทัพเรือโซเวียตจึงประกาศว่าเรือลำนี้สูญหาย การค้นหาและกู้ภัยทางอากาศบนพื้นผิวมหาสมุทรและใต้ทะเล จากทางแปซิฟิกเหนือบริเวณตั้งแต่ Kamchatka ไปจนถึง Vladivostok จึงเริ่มขึ้น เมษายน 1968 กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหภาพโซเวียต และอากาศยานถูกสังเกตว่า มีการเคลื่อนย้ายกำลังไปยังตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการค้นหาที่มีความผิดปกติบางอย่าง สำนักงานข่าวกรองทางเรือสหรัฐอเมริกา (ONI) ประเมินว่า เป็นปฏิกิริยาที่น่าจะเกิดขึ้นจากการสูญเสียเรือดำน้ำของโซเวียต การค้นหาด้วยเรือผิวน้ำของโซเวียตมีศูนย์กลางอยู่บริเวณซึ่งทราบว่า เกี่ยวข้องกับเส้นทางลาดตระเวนเรือดำน้ำดีเซลติดขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ ชั้น ‘Golf’ II (SSB) ของโซเวียต เรือดำน้ำแบบนี้บรรทุกขีปนาวุธนิวเคลียร์ 3 ลูกในเรือ และประจำการในระยะยิงขีปนาวุธไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ หลังจากการค้นหาหลายสัปดาห์โซเวียตก็ยังไม่สามารถค้นหาเรือแม้แต่ร่องรอยหรือซากเรือที่จมได้ และปฏิบัติการของกองเรือแปซิฟิกของโซเวียตก็จึงค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ 

ขณะเดียวกันกองทัพเรืออเมริกันก็ได้เริ่มค้นหาจากเครือข่ายของระบบเฝ้าระวังเสียง ( SOSUS ) ซึ่งเป็นระบบโซนาร์แบบพาสซีฟที่พัฒนาโดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเพื่อติดตามเรือดำน้ำของโซเวียต ระบบดังกล่าวที่อยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำการตรวจสอบการบันทึก โดยหวังว่าจะตรวจพบการระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการสูญหายของเรือดำน้ำ K-129 ลำดังกล่าว กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล Acoustic (คลื่นเสียงที่เดินทางผ่านตัวกลาง

ต่าง ๆ) จากที่ตั้ง AFTAC 4 แห่ง และ Array ณ สถานีทหารเรือ Adak มลรัฐ Alaska ใช้ SOSUS ค้นหาซากเรือดำน้ำภายใน 5 ไมล์ทะเล ซึ่งสถานที่นี้อยู่ห่างจากพื้นที่ค้นหาของกองทัพเรือโซเวียตหลายร้อยไมล์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางเรือ (NAVFAC) Point Sur ทางตอนใต้ของเมือง Monterrey มลรัฐ California สามารถแยกลายเซ็นโซนิคในการบันทึก Array ความถี่ต่ำของเหตุการณ์การระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1968 โดยใช้วันที่และเวลาของเหตุการณ์จาก NavFac Point Sur NavFac Adak และ US West Coast NAVFAC ก็สามารถแยกเหตุการณ์ Acoustic ได้เช่นกัน ด้วย SOSUS 5 เส้น ในที่สุดหน่วยสืบราชการลับของกองทัพเรือสหรัฐฯก็สามารถก็กำหนดพิกัดที่แน่นอนของซากเรือดำน้ำ K-129 โดยระบุตำแหน่งว่า อยู่ใกล้กับละติจูด 40.1 ° N และลองจิจูด 179.9 ° E (ใกล้เคียงกับเส้นวันที่ระหว่างประเทศ) 

(ซากเรือดำน้ำ K-129 ถ่ายด้วยกล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ของเรือ USS Halibut)

ทั้งนี้ กรกฎาคม 1968 กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เริ่ม ‘ปฏิบัติการ Sand Dollar’ ด้วยเรือดำน้ำ USS Halibut จากฐานทัพเรือ Pearl Harbor ไปยังจุดจมของซากเรือดำน้ำ K-129 วัตถุประสงค์ของปฏิบัติการ Sand Dollar คือ การค้นหาและถ่ายภาพซากเรือดำน้ำ K-129 โดย USS Halibut เป็นเรือดำน้ำที่สามารถใช้อุปกรณ์ค้นหาใต้น้ำลึกซึ่ง และเป็นเรือดำน้ำที่มีอุปกรณ์พิเศษเพียงชนิดเดียวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในขณะนั้น โดย USS Halibut พบซากเรือดำน้ำ K-129 หลังจากการค้นหา 3 สัปดาห์ โดยการใช้กล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ (แต่ต้องใช้เวลาค้นหาเกือบห้าเดือนกว่าจะพบซากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ USS Scorpion ในมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 1968 เช่นกัน) USS Halibut ใช้เวลาหลายสัปดาห์ต่อมาในการถ่ายภาพแบบ Closed up กว่า 20,000 ภาพในทุกแง่มุมของซาก K-129 ซึ่งเป็นข้อมูลลับที่ USS Halibut ได้ถูกหน่วยงานพิเศษของประธานาธิบดีใช้อ้างอิง ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ในปี 1968

ต่อมาในปี 1970 จากการถ่ายภาพชุดนี้ Melvin Laird และ Henry Kissinger ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอแผนลับในการกู้ซาก K-129 เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถศึกษาเทคโนโลยีขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต และอาจกู้คืนวัสดุที่ใช้ในการเข้ารหัส ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากประธานาธิบดี Richard Nixon และ CIA ได้รับมอบภารกิจในการกู้ซาก K-129 ด้วยโครงการ Project Azorian อันเป็นชื่อปฏิบัติการกู้เรือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลับสุดยอดที่ปฏิบัติการในช่วงสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา เป็นปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุดตลอดช่วงสงครามเย็น ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ในการเตรียมการ ภายหลังจากการจมของเรือดำน้ำ K-129 ในปี 1968 ฝ่ายสหรัฐฯ จำต้องรอเวลาและวางแผนให้ปฏิบัติการนี้

ต้องทำให้ดูเหมือนเป็นงานของพลเรือนมากกว่าจะเป็นงานด้านการทหาร การจะเคลื่อนสรรพกำลังไปยังจุดที่เรือดำน้ำโซเวียตจมอยู่ก็เป็นความท้าทายแรก และความท้าทายอย่างต่อมาคือการนำเรือดำน้ำขนาด 2,700 ตัน ขึ้นมาจากใต้ทะเลโดยมิให้พวกโซเวียตล่วงรู้ เป็นอีกความท้าทายที่ยากลำบากของฝ่ายอเมริกัน

(เรือ GSF Explorer)

ทั้งนี้ เรือ GSF Explorer เดิมคือ เรือ USNS Hughes Glomar Explorer (T-AG-193) ต่อโดย Global Marine Development Inc. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของ Global Marine Inc. ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการขุดเจาะนอกชายฝั่งน้ำลึกได้รับสัญญาให้ออกแบบและสร้าง Hughes Glomar Explorer เพื่อกู้เรือดำน้ำโซเวียตที่จมอย่างลับ ๆ เรือถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ Sun ใกล้เมือง Chester มลรัฐ Pennsylvania โดย Howard Hughes มหาเศรษฐีนักธุรกิจซึ่งมี บริษัทต่าง ๆ มากมาย และเป็นผู้รับเหมาเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เครื่องบิน และสัญญาดาวเทียมหลายประเภทของสหรัฐฯ ตกลงที่จะให้ชื่อของเขาโดยอ้างว่า เป็นโครงการเรือขุดแมงกานีสจากพื้นมหาสมุทร แต่ Hughes และบริษัทของเขาไม่มีส่วนร่วมในโครงการเลย โดยมีการจัดฉากเซ็นสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นทางการให้บริษัทของเขา ออกแบบสร้างเรือขุดเจาะลำนี้ขึ้นมา ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1972 เรือก็ถูกปล่อยลงน้ำ ด้วยระวางขับน้ำ 57,000 ตัน ยาว 619 ฟุต (189 ม.) ในชื่อ เรือ Hughes Glomar Explorer (HGE) มีความยาว 189 เมตร กว้าง 35 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า โดยมีความเร็วสูงสุด 10 นอต (19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ลูกเรือประจำ 160 นาย 

หากมองเรือลำนี้จากภายนอก จะเห็นเป็นเรือขุดเจาะธรรมดาทั่วไปที่มีแท่นขุดเจาะขนาดใหญ่อยู่กลางลำเรือและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ดูแล้วสมกับงานที่กำลังจะไปทำ แต่ทว่าภายในลำตัวเรือ HGE มีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถนำเรือดำน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่เข้ามาภายในได้ รวมทั้งยังมีปั้นจั่นขนาดใหญ่ที่เหมือนกับแขนมหึมา สามารถดำลงไปหยิบจับสิ่งอยู่ใต้ทะเลเข้ามาตรงช่องเปิดขนาดใหญ่ที่มีอยู่บริเวณกลางลำตัวเรือได้ อุปกรณ์กู้มีลักษณะเป็นกรงเล็บจักรกลขนาดใหญ่ ซึ่ง Lockheed สร้างมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Capture Vehicle’ แต่เรียกกันติดปากว่า Clementine ยานจับได้รับการออกแบบให้ลดระดับลงสู่พื้นมหาสมุทรจับลำตัวเรือดำน้ำเป้าหมาย จากนั้นก็ดึงส่วนนั้นขึ้นในที่ยึด ข้อกำหนดประการหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือ การรักษาฐานลอยน้ำให้มั่นคง และอยู่ในตำแหน่งเหนือจุดคงที่พอดี คือ 16,000 ฟุต (4,900 ม.) ใต้พื้นผิวมหาสมุทร ตัวยานจับจะถูกลดระดับ และยกขึ้นบนท่อร้อยสายแบบเดียวกับที่ใช้กับแท่นขุดเจาะน้ำมัน ท่อเหล็กยาว 30 ฟุต (9.1 ม.) แต่ละส่วนถูกร้อยเข้าด้วยกันเป็นก้ามปูผ่านรูตรงกลางเรือ โครงแบบนี้ออกแบบโดย Western Gear Corp. จากเมือง Everett มลรัฐ Washington เมื่อกรงเล็บจับได้สำเร็จ ‘วัตถุเป้าหมาย’ จะถูกดึงขึ้นเข้าไปในตัวเรือ HGE กระบวนการกู้ซากทั้งหมดเกิดขึ้นใต้น้ำห่างจากการมองเห็นของเรือลำอื่น เครื่องบิน หรือดาวเทียมสอดแนม

จุดเก็บกู้ของ K-129 โดยอาศัยจุดตัดของวงกลมสามวงที่ทำเครื่องหมายระยะทางไปยัง Long Beach, CA, Pearl Harbor, HI และ Petropavlovsk, Kamchatka ซากเรือดำน้ำ K-129 จมที่ความลึกกว่า 16,000 ฟุต (4,900 ม.) และด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการกู้ซากเรือจึงอยู่เลยระดับความลึกของปฏิบัติการกู้เรือใด ๆ ที่เคยพยายามมาก่อน เรือ Hughes Glomar Explorer เดินทาง 3,008 ไมล์ทะเล (5,571 กม.) จากเมือง Long beach มลรัฐ California เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1974 มาถึงสถานที่กู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1974 และใช้เวลากู้ซากเรือดำน้ำ K-129 นานกว่าหนึ่งเดือน ในช่วงเวลานี้มีเรือรบของกองทัพเรือโซเวียตอย่างน้อยสองลำเข้ามาสำรวจตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงานของเรือ Hughes Glomar Explorer ได้แก่เรือลากจูงในมหาสมุทร SB-10 และเรือตรวจวัดระยะขีปนาวุธของโซเวียต Chazma 

เรือดำน้ำขนาดเล็กและนักประดาน้ำในชุดดำน้ำลึกที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เรือดำน้ำขนาดเล็กดำลงไปยังซากเรือมรณะของโซเวียตลำนี้ ทีมกู้ซากเรือติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำเรือดำน้ำลำนี้เข้าไปภายในช่องที่อยู่ภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer ปั้นจั่นขนาดใหญ่ ถูกหย่อนลงไปในน้ำ ดำดิ่งลงไปหาเรือดำน้ำโซเวียตที่จอดสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล มือของมันหยิบเรือดำน้ำโซเวียตราวกับมือของมนุษย์ที่หยิบจับสิ่งของ ค่อย ๆ ดึงขึ้นมาอย่างช้า ๆ แต่ในขณะที่เหลือระยะทางอีกเพียงครึ่งหนึ่งก่อนที่ซากเรือดำน้ำโซเวียตจะไปถึงช่องภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer หนึ่งในแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ล็อกลำตัวเรือดำน้ำ K-129 เอาไว้เกิดขัดข้องขึ้น มันหยุดทำงานและทำให้ลำตัวเรือดำน้ำโซเวียตเอียงตะแคงข้าง ส่งผลให้ประตูท่อยิงขีปนาวุธเปิดออกพร้อมกับขีปนาวุธที่ค่อย ๆ ไหลออกมาจากท่อ โดยโผล่ออกมาจากท่ออย่างช้า ๆ ซึ่งทีมกู้ซากเรือไม่สามารถทำอะไรได้เลย พวกเขาต่างพากันสวดภาวนาไม่ให้เกิดหายนะร้ายแรงขึ้น เพราะขีปนาวุธเหล่านี้เมื่อมันหล่นลงไปกระแทกกับพื้นทะเลอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ และชีวิตทุกคนที่อยู่ในบริเวณนี้จะต้องตายเพราะแรงระเบิด เมื่อขีปนาวุธโผล่พ้นท่อยิงออกมา มันจึงร่วงหล่นลงไปสู่จุดที่เรือดำน้ำ K-129 เคยจมอยู่อย่างรวดเร็ว ทุกคนบนเรือต่างกลั้นหายใจและพากันหาที่ยึดจับบนตัวเรือเอาไว้ เมื่อเสียงของการกระแทกดังขึ้นและเงียบหายไป จึงทำให้ทุกคนโล่งอกหลังจากลุ้นกันจนตัวโก่งกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้

แต่เมื่อซากเรือดำน้ำ K-129 เกิดเอียงตะแคงข้างเช่นนี้ เลยส่งผลให้น้ำหนักของลำตัวเรือกดทับไปที่อีกด้านหนึ่งของแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ล็อกลำตัวเรือเอาไว้ ส่งผลให้รับน้ำหนักไม่ไหว และทำให้หักพร้อมกับลำตัวเรือดำน้ำที่ฉีกขาด วินาทีนั้นทุกคนบนเรือ Hughes Glomar Explorer ต้องลุ้นระทึกอีกครั้ง เพราะลำตัวทั้งลำอาจจะหล่นลงไปกระแทกเข้ากับขีปนาวุธที่หล่นลงไปก่อนหน้านี้ และอาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ เสียงสวดมนต์และร้องเรียกหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของลูกเรือดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ทุกคนต่างคิดว่า ไม่รอดแน่แล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายนาที เมื่อไม่มีการระเบิดเกิดขึ้นหรือมีสัญญาณอันตรายใด ๆ จึงทำให้รู้ว่าปลอดภัยแล้ว แต่ผลก็คือ เรือ HGE ต้องประสบความล้มเหลวขั้นวิกฤตส่งผลให้ส่วนข้างหน้าแตกออกเป็นสองส่วน ชิ้นส่วนที่มีพื้นที่การเดินเรือที่สำคัญและส่วนตรงกลางตกลงสู่พื้นมหาสมุทร ดังนั้นพื้นที่แล่นเรือตรงกลางและส่วนหลังของ K-129 จึงถือว่า การกู้เรือดำน้ำ K-129 ไม่สำเร็จ สิ่งที่ถูกดึงขึ้นมาอย่างแน่นอนจัดอยู่ในประเภท Secret Noforn หรือ Top Secret แต่โซเวียตสันนิษฐานว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ คู่มือปฏิบัติการ สมุดรหัส และเครื่องเข้ารหัสได้

นอกจากนี้ แหล่งข่าว (ไม่เป็นทางการ) อีกราย ระบุว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ส่วนหัวเรือได้ซึ่งบรรจุตอร์ปิโดนิวเคลียร์ 2 ลูก แต่ไม่มีอุปกรณ์เข้ารหัสหรือสมุดรหัส Seymour Hersh จาก The New York Times ได้เปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของ Project Azorian ในปี 1974 แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เพราะด้วยแรงกดดัน William Colby จากผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) หลายเดือนหลังจากปฏิบัติการกอบกู้เสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1975 LA Times ได้ออกข่าวสั้น ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ ทำให้ The New York Times ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ที่เขียนโดย Seymour Hersh และ Jack Anderson เล่นเรื่องนี้ต่อในรายการโทรทัศน์เมื่อเดือนมีนาคม 1975 สื่อเรียกโครงการนี้ว่า Project Jennifer ซึ่งในปี 2010 ได้รับการเปิดเผยว่า ชื่อนี้ไม่ถูกต้องเนื่องจาก Project Jennifer เป็นชื่อเรียกระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล Project Azorian

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า ในส่วนที่กู้ขึ้นมาได้นั้นเป็นศพของลูกเรือหกคน แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ศพจึงถูกฝังในทะเลในตู้เหล็กเมื่อกันยายน 1974 โดยจัดพิธีอย่างสมเกียรติยศทางทหารบริเวณประมาณ 90 ไมล์ทะเล (167 กิโลเมตร) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮาวาย วิดีโอเทปของพิธีนั้นถูกมอบให้กับรัสเซียโดย Robert Gates ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ขณะเยือนกรุงมอสโกในเดือนตุลาคม 1992 และที่สุดแล้วบรรดาญาติของลูกเรือก็ได้ชมวิดีโอนี้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา การกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ถูกระบุว่า ประสบความล้มเหลวโดยสามารถกู้คืนชิ้นส่วนที่ไม่สำคัญของเรือดำน้ำได้เพียงเล็กน้อย แต่ CIA โต้แย้งในคดีเสรีภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารว่า อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวต้องถูกเก็บเป็นความลับเนื่องจาก "การรับทราบอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นการเปิดเผยลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการ" คำตอบนี้ได้เข้าสู่ศัพท์เฉพาะทางกฎหมายอันเป็นคำตอบในลักษณะ Glomar หรือ Glomarization คือ ‘ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธ’

(การจัดพิธีศพลูกเรือประจำเรือดำน้ำ K-129 แบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบและส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง)

ในปี 2018 ไฟล์ภาพถ่ายวิดีโอเทปและหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ยังคงถูกปกปิดต่อสาธารณะ ภาพไม่กี่ภาพปรากฏในสารคดีปี 2010 แสดงให้เห็นซากเรือดำน้ำ K-129 ได้แก่ ส่วนหัวเรือโดยที่ช่องเก็บขีปนาวุธได้รับความเสียหายอย่างหนัก แสดงให้เห็นตัวท่อขีปนาวุธเพียงท่อเดียวที่ติดอยู่กับลำตัว สรุปแล้วเวลาและงบประมาณมหาศาลที่ถูกทุ่มเทเพื่อกู้ซากเรือดำน้ำลำนี้ให้ได้ทั้งลำ กลายเป็นได้มาเพียงส่วนหัวของเรือดำน้ำ ความยาว 11.5 เมตรเท่านั้น ที่สามารถดึงขึ้นไปจนถึงช่องเก็บภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer สิ่งที่หวังว่าจะได้พบทั้ง ขีปนาวุธ เครื่องยนต์ของเรือ และสมุดรหัสของโซเวียต กลายเป็นการคว้าน้ำเหลว แต่ชิ้นส่วนของหัวเรือดำน้ำที่ถูกกู้ขึ้นมาได้ ทีมกู้ซากเรือทำการตรวจสอบภายในพบว่า มีศพของลูกเรืออยู่ภายในนั้นจำนวน 6 ศพที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี แม้ฝ่ายอเมริกันจะเป็นผู้ที่ตั้งใจที่ลักลอบกู้เรือลำนี้กลับไปเพื่อศึกษา แต่ก็ยังให้เกียรติผู้วายชนม์ทุกศพที่พบ ด้วยการจัดพิธีศพแบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบ และส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง

อนึ่งสำหรับจุดที่เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ เองจม กองทัพเรือสหรัฐฯ จะประสานกองทัพเรือหรือรัฐบาลเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้นให้กันเขตเป็นอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรวบกวนหรือเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา เรื่องของการประกาศพื้นที่เป็น อนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave และสามารถใช้ พ.ร.บ.ในการประกาศเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุทางทะเล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรับรู้ โดยเฉพาะชาวเรือทุกประเทศจะรักษา จรรยาบรรณในเรื่องการประกาศเขตอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave เป็นอย่างดี โดยจะไม่มีการเข้าไปรบกวนอย่างเด็ดขาด 

เกิดเหตุ ‘แผ่นดินไหว’ ขนาด 4.8 ในมลรัฐ ‘นิวเจอร์ซีย์’ ความรุนแรงมากที่สุด ในรอบกว่า 200 ปี สะเทือนถึง ‘วอชิงตัน-นิวยอร์ก’

(6 เม.ย.67) จากข้อมูลการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ระบุว่าแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักทางตอนเหนือของมลรัฐ New Jersey เมื่อวันศุกร์ ถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 3 ที่เกิดขึ้นในมลรัฐนี้

แผ่นดินไหวช่วงเช้าวันศุกร์ยังถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1783 หรือกว่า 240 ปีมาแล้ว แผ่นดินไหวขนาด 5.1 สองครั้งเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงเพียงครั้งเดียวในมลรัฐนี้ ครั้งแรกในปี 1755 และอีกครั้งในปี 1783 ทั้งสองเกิดขึ้นก่อนที่ New Jersey จะกลายเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม 1787 แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตแดนของมลรัฐนี้แล้ว

ข้อมูลของ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey : USGS ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงเป็นอันดับ 3 ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในรอบ 50 ปี และรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 10 ในภูมิภาคนี้ แผ่นดินไหวในมลรัฐ New Jersey และภูมิภาคนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก มีแผ่นดินไหวขนาด 2.5 แมกนิจูดหรือมากกว่านั้นเกิดขึ้นเพียง 24 ครั้งในมลรัฐ New Jersey นับตั้งแต่ปี 1700

USGS ระบุว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 4.0 ในมลรัฐ New Jersey ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองแกลดสโตน ของมลรัฐนี้ อาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นเกือบ 8 ชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 เกิดอาฟเตอร์ช็อกมาแล้วอย่างน้อย 10 ครั้ง แม้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 1.8 ถึง 2.2 แมกนิจูด 

USCG ระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 4.8 เขย่าอาคารต่าง ๆ ทั่วทั้งพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เมื่อเช้าวันศุกร์ โดยรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่กรุง Washington, DC ไปจนถึงมหานคร New York และมลรัฐ Maine แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือความเสียหายร้ายแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังแผ่นดินไหวในมลรัฐ New Jersey และการคมนาคมหยุดชะงักเพียงไม่นาน และผู้คนก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

นายกฯ จีนตอบขุนคลังมะกัน หลังถูกโวยส่งออกรถไฟฟ้าแผงโซลาร์เซลล์มากไป

ภายหลังจาก นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐอเมริกา หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่มากเกินไปของจีนขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ (7 เม.ย.67) 

ด้าน นายกรัฐมนตรีหลี่ ก็ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเศรษฐกิจการค้ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรพิจารณาประเด็นด้านกำลังการผลิตอุตสาหกรรมอย่างเป็นกลางตามข้อเท็จจริงและโต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ด้วยมุมมองของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด มุมมองในระดับโลก และบนพื้นฐานของกฎหมายเศรษฐกิจ

“การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีนจะมีส่วนช่วยเหลือสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกสีเขียวและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้อยู่ในระดับต่ำ” นายหลี่ กล่าว

นายกรัฐมนตรีของจีนยังแสดงความหวังว่า สหรัฐฯ จะสามารถทำงานร่วมกับจีนในการปฏิบัติตามบรรทัดฐานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและความร่วมมืออย่างเปิดกว้างเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ก็ละเว้นจากการนำประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าไปเป็นเรื่องการเมือง หรือขยายแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติมากจนเกินไป

ก่อนหน้าการประชุมดังกล่าว ขุนคลังหญิงแกร่งผู้นี้ระบุว่า ชาติทั้งสองไม่ควรหลบเลี่ยง ‘การสนทนาที่ยากลำบาก’ ในการจัดการกับข้อแตกต่างระหว่างกัน

ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ว่า ดำเนินอย่างตรงไปตรงมาและได้ผล โดย รมว.คลังได้แสดงความเห็นต่อฝ่ายจีนว่า ความสัมพันธ์ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะทำให้มีสนามการแข่งขันด้านธุรกิจที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้น ยังได้เน้นย้ำความสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายอื่น ๆ ในโลก เช่น การบรรเทาภาระหนี้สินของชาติด้อยพัฒนา

สหรัฐฯ และจีนพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ท่ามกลางปัญหาขัดแย้งกันหลายเรื่อง รวมถึงความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพิ่งหารือกันทางโทรศัพท์ ก่อนนางเยลเลน จะมาเยือนจีนเมื่อวันพฤหัสฯ (4 เม.ย.) ไม่กี่วัน นางเยลเลนเคยเยือนจีนครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2566 สำหรับการมาเยือนครั้งที่ 2 เป็นเวลา 5 วันนี้ ได้พบปะหารือกับรองนายกรัฐมนตรี เหอ ลี่เฟิง ที่กว่างโจวเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของจีน โดยขุนคลังหญิงมะกันได้หยิบยกประเด็นกำลังการผลิตที่มากเกินไปของจีนมาเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือเช่นกัน

การครอบงำตลาดของจีนในด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์ก่อความวิตกแก่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยอียูมีการสอบสวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จีนส่งเข้ามาขายว่าอาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่งอย่างมากจนไม่เป็นธรรมแก่บริษัทผู้ผลิตในอียู การสอบสวนอาจนำไปสู่การตั้งกำแพงภาษีนำเข้า

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เตือนถึงความเสี่ยงในการเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกเพื่อกดดันปักกิ่ง โดยนายซื่อ อวิ้นหง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในกรุงปักกิ่งระบุว่า การเพิ่มมาตรการเข้มงวดกับสินค้าและเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวของจีนไม่ช่วยให้ชาติตะวันตกได้สนามแข่งขันเพิ่มขึ้นมากนัก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจะยังคงเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของจีน ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากนี้

‘เศรษฐีมะกัน’ แห่ขอสัญชาติที่สอง หวังกระจายความเสี่ยงทางการเงิน

(11 เม.ย. 67) สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานอ้างข้อมูลจาก เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส (Henley & Partners) ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิความเป็นพลเมืองของกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูงว่า ‘ครอบครัวมั่งคั่งในสหรัฐ’ พากันสมัครขอสัญชาติที่สอง เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการเงิน

ถึงแม้ว่าสัญชาติอเมริกัน จะเป็นสัญชาติที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่สำหรับเศรษฐีสหรัฐ พวกเขากลับสะสมสัญชาติที่สอง สาม หรือแม้แต่ที่สี่ เพื่อรับมือกรณีต้องย้ายออกจากประเทศ โดยชาวอเมริกันเป็นสัญชาติที่ขอสัญชาติอื่น ๆ มากที่สุด

ด้าน โดมินิก โวเลค หัวหน้าฝ่ายลูกค้าส่วนบุคคลที่เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส ระบุว่า “แม้สหรัฐยังคงเป็นประเทศยอดเยี่ยม และเป็นเจ้าของหนังสือเดินทางสุดวิเศษ แต่ถ้าผมรวย ผมก็ต้องการกระจายความเสี่ยง และไม่แน่นอนในชีวิตด้วยการมีหลายสัญชาติ”

สำหรับเศรษฐีอเมริกันระดับพันล้านที่มีสัญชาติที่สอง เช่น ปีเตอร์ ธีล นักลงทุนธุรกิจสายเทคโนโลยี เพิ่งได้สัญชาตินิวซีแลนด์ และอีริก ชมิดต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Google ได้ขอสัญชาติไซปรัสแล้ว

รายงานของ เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส ระบุว่า ด้วยสถานการณ์โลกทุกวันนี้ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองระหว่างประเทศ การมีพาสปอร์ตของประเทศที่เป็นกลาง อยู่นอกวงขัดแย้ง จะช่วยเพิ่มความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น อีกเหตุผลสำคัญคือ การถือสัญชาติสหรัฐสุ่มเสี่ยงที่อาจตกเป็นเป้าของการถูกทำร้าย เรียกค่าไถ่ และก่อการร้ายได้

นอกจากนี้ จำนวนสัญชาติที่มากขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจกับประเทศนั้น ช่วยให้การเดินทาง และโยกย้ายทุนเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น โดยสัญชาติที่ชาวอเมริกันต้องการเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ สัญชาติโปรตุเกส มอลตา และอิตาลี

โครงการวีซ่าทองคำของโปรตุเกสให้สิทธิในการพักอาศัย สัญชาติ และวีซ่าฟรีไปยุโรปแก่ชาวต่างชาติ แลกกับการลงทุน 500,000 ยูโร หรือราว 19 ล้านบาท ในกองทุนหรือหุ้นนอกตลาด

ขณะที่ประเทศมอลตา ได้เสนอวีซ่าทองคำแก่ผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 300,000 ยูโร หรือราว 11 ล้านบาท การได้ ‘สัญชาติมอลตา’ เปรียบดั่งการได้เป็นพลเมืองยุโรป เพราะสามารถเดินทาง เรียน และทำงานทั่วทั้งยุโรป

‘Lauren Singer’ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้ชีวิตแบบ ’ไม่ผลิตขยะ‘ มาแล้วกว่าสิบปี

ปัญหาขยะเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งแก้ได้ยากมาก ๆ แต่มีหญิงสาวชาว New York ผู้หนึ่งซึ่งใช้ชีวิตปลอดขยะ (Zero waste) มาแล้วกว่าสิบปี ทั้ง ๆ ที่เธออาศัยอยู่ในมหานครใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ ‘Zero Waste’ หรือ ‘แนวคิดขยะเป็นศูนย์’ เป็นแนวทางในการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยทำให้ขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ ด้วยส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ ‘Zero Waste’ ซึ่งคือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักง่าย ๆ อย่าง 1A3R ซึ่งประกอบด้วย

1A : Avoid การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
R1 : Reduce การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง เช่น การใช้ถุงผ้าไปช็อปปิ้งแทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า
R2 : Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กล่องพัสดุที่ได้รับมา นำไปใส่ของส่งของต่อให้ผู้อื่น
R3 : Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การ Recycle พลาสติก ให้ออกมาเป็นวัสดุตั้งต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

(Lauren Singer ในร้าน Package Free ของเธอ)

อย่างไรก็ตาม Lauren Nicole Singer เกิดที่นคร New York มลรัฐ New York เมื่อ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1991 ปัจจุบันอายุ 33 ปี เรียนจบปริญญาตรี ด้านสิ่งแวดล้อมและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย New York เมื่อปี ค.ศ. 2013 และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Columbia จากนั้นได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืนของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของนคร New York ก่อนที่จะออกมาก่อตั้งธุรกิจสีเขียว The Simply Co. และ Package Free เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอิสระ และบล็อกเกอร์ในการเคลื่อนไหวเพื่อไร้ขยะ โดยเธอเริ่มใช้ชีวิตแบบไร้ขยะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักจากการรวบรวมขยะทั้งหมดจากเว็บบล็อกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยเธอบดขยะในโถบดขนาด 16 ออนซ์ และบล็อกของเธอก็คือ ‘Trash is for Tossers’ (ขยะเป็นของไร้ค่า) ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนโดยปลอดขยะ พร้อมกับบันทึกวิถีชีวิตที่ปราศจากขยะ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเลิกการฝังกลบขยะ และลดละเลิกผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

(น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกและปลอดสารพิษ The Simply Co.)

Lauren Nicole Singer ได้ออกจากงานประจำในปี ค.ศ. 2014 และเปิดตัว The Simply Co. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เช่น น้ำยาซักผ้าปลอดสารพิษออกสู่ตลาด น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกของเธอได้รับการสนับสนุนจาก Kickstarter และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของ Kickstarter และที่ร้านค้าส่งทั่วสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตผลิตภัณฑ์พร้อม ๆ กัน The Simply Co. ในปี ค.ศ. 2017 เธอเปิด Package Free เป็นร้านแบบป๊อปอัพในเมือง Williamsburg และนับตั้งแต่เปิดตัว Package Free สามารถลดขยะจากการฝังกลบได้หลายร้อยล้านชิ้น ในปี ค.ศ. 2023 นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมก่อตั้ง Overall Capital โดยเธอบอกว่า Rachel Carson และ Bea Johnson ในฐานะนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเป็น 2 แรงบันดาลใจให้สนใจเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเธอยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ‘สตรีที่น่าจับตามอง’ ของ Business Insider และ ‘หนึ่งในห้าสิบสตรีเปลี่ยนโลก’ ของ InStyle และ ‘ผู้เปลี่ยนแปลง ปี 2020’ ของ  Well + Good 

อย่างไรก็ตาม เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะคิดเองว่า แค่เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองง่าย ๆ อย่างการเริ่มต้นจากการใช้กล่องข้าว ขวดน้ำ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ร้านค้าทางเลือกอย่าง Refill Station ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการไม่ง้อบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยทุกคนนำภาชนะไม่ว่าจะเป็นขวดแก้วหรือขวดโหล มาเติมผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองนำกลับไปใช้ที่บ้าน และการคัดแยกขยะจะช่วยอะไรได้มากมาย แต่ความจริงแล้วการแยกขยะก่อนทิ้งมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ขยะอันตรายจะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาหรือมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้นหากทุกครอบครัวเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดให้มีปริมาณน้อยลง และเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

‘ผลโพล’ ชี้!! ‘อาเซียน’ เลือกข้าง ‘จีน’ มากกว่า ‘อเมริกา’ ยกเว้นแค่ ‘ผิน-เหงียน’ ที่ยังกังขาข้อพิพาททะเลจีนใต้

เมื่อไม่นานมานี้ ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในชาติอาเซียนเล็งคบหาจีนมากกว่าอเมริกา ถ้าหากถึงเวลาที่จะต้องเลือกข้างกันแล้ว โดยมีเพียงบางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ที่รู้สึกถูกปักกิ่งคุกคามเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ ซึ่งยังปักใจกับอเมริกามากกว่า ขณะเดียวกัน ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งบอกว่าห่วงเรื่องการว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย

นี่เป็นครั้งแรกที่ปักกิ่งได้คะแนนมากกว่าวอชิงตันนับจากที่เริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นประจำปีในประเด็นนี้ในปี 2020 โดยในปีนี้จำนวนคนที่เลือกอเมริกาเหลือแค่ 49.5% ลดลงจาก 61.1% เมื่อปีที่แล้ว

การสำรวจความคิดเห็นนี้จัดทำโดยศูนย์อาเซียนศึกษา (ASEAN Studies Centre) แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา-ยูซอฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) กลุ่มคลังสมองของสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 3 มกราคมถึง 23 กุมภาพันธ์ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,994 คน ซึ่งมาจากทั้งภาควิชาการ ธุรกิจ รัฐบาล ประชาสังคม และสื่อมวลชน ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศที่มีผู้เข้าร่วมการสำรวจมากที่สุดคือสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ผลสำรวจพบว่า จีนได้คะแนนกว่า 50% ในฐานะหุ้นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องสอดคล้องทางยุทธศาสตร์มากที่สุดสำหรับอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงเป็นมหาอำนาจที่ไว้วางใจได้มากที่สุด

ทั้งนี้ จีนและอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันติดต่อกัน 4 ปีซ้อนแล้ว โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าถึง 911,700 ล้านดอลลาร์แล้ว

กระนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งยังคงแสดงความไม่ไว้ใจจีน โดย 45.5% บอกว่า กลัวว่าปักกิ่งจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารคุกคามผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศของตน

พฤติกรรมก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับคนฟิลิปปินส์ (90.2%) และคนเวียดนาม (72.5%) ซึ่งเป็น 2 ประเทศแนวหน้าที่มีกรณีพิพาทด้านดินแดนกับปักกิ่งในน่านน้ำดังกล่าว

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า การที่มะนิลาอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เป็นบางส่วนไม่ควรถูกมองว่า เป็นการยั่วยุจีน ในทางกลับกัน ฟิลิปปินส์ต้องการทำให้สิ่งต่าง ๆ อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ และเดินหน้าเจรจาต่อไม่ว่าในระดับใด อย่างไรก็ดี ในช่วงหลัง ๆ นี้ ฟิลิปปินส์มีนโยบายหันไปร่วมมือด้านความมั่นคงมากขึ้นอย่างชัดเจนทั้งกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค อย่างเช่น ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

สำหรับเวียดนามก็อ้างสิทธิเหนือเกาะหลาย ๆ แห่งในทะเลจีนใต้ ทับซ้อนกับจีนเช่นเดียวกัน โดยที่ปักกิ่งคัดค้านการเรียกร้องเหล่านั้น ทั้งนี้ เวียดนามแสดงท่าทีพยายามมุ่งผูกมิตรกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แม้ยังไม่ได้ไปถึงระดับของฟิลิปปินส์

ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจคราวนี้แสดงให้เห็นว่า อเมริกายังคงได้รับความสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ (83.3%) และเวียดนาม (79%) ซึ่งแสดงความโน้มเอียงที่ต้องการผูกพันธมิตรกับวอชิงตันมากกว่าปักกิ่ง

เคนด์ดริก ชาน แห่ง แอลเอสอี ไอเดียส์ (LSE IDEAS) กลุ่มคลังสมองด้านนโยบายการต่างประเทศของ LSE (ลอนดอน สกูล ออฟ อิโคโนมิกส์ แอนด์ โพลิทิคัล ไซนส์) แสดงความเห็นว่า ถึงแม้จีนได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อมองจากความเข้าใจความรับรู้ของสาธารณชนซึ่งให้ความนิยมชมชื่นเพิ่มขึ้น แต่ควรต้องสังเกตว่า ข้อพิพาทด้านดินแดนที่รุนแรงที่สุดของจีนก็อยู่ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งยังคิดว่าอาเซียนควรเพิ่มความยืดหยุ่นและความเป็นเอกภาพของตน เพื่อเป็นเครื่องปกป้องการถูกบีบคั้นจาก 2 ชาติมหาอำนาจคือ จีนและอเมริกา

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐศาสตร์มหภาคในทั่วโลก ยังคงเป็นข้อกังวลในภูมิภาคนี้ โดยคนส่วนใหญ่ (57.7%) กังวลกับการว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนอาจมีส่วนกระตุ้นความกังวลเหล่านี้

ข้อกังวลอื่น ๆ ยังรวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงของกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งแม้เหตุการณ์เหล่านี้ถึงแม้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นที่ไกลออกไปจากอาเซียน แต่ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักซึ่งอาจมีผลโดยตรงต่อราคาพลังงานและอาหารได้

ชอย ชิง กว็อก ผู้อำนวยการและซีอีโอของ ISEAS ระบุว่า ผลสำรวจปีนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ภูมิภาคนี้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นในเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ และในความเสี่ยงที่ว่าการเป็นปฏิปักษ์กันในทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ที่ไร้การบันยะบันยังอาจส่งผลลบต่อผลประโยชน์ของภูมิภาคในระยะสั้นจนถึงระยะกลาง

“ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า อาเซียนยังคงมีความหวังว่าชาติมหาอำนาจสามารถร่วมมือกันได้ในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และยินดีต้อนรับมหาอำนาจชาติอื่น ๆ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับอาเซียน”

วิเคราะห์ทุนนิยมสไตล์ 'อเมริกัน' VS 'จีน' ฝ่ายหนึ่งละ ฝ่ายหนึ่งแทรกแซงกิจการชาติอื่น

เมื่อพูดถึงเรื่องของ ‘ทุนนิยม’ ผู้คนต่างก็มักจะมองไปยังโลกตะวันตกโดยเฉพาะ ‘สหรัฐอเมริกา’ โดยลืมไปว่า ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ก็มีระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็น ‘ทุนนิยม’ เฉกเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ ‘คอมมิวนิสต์’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองตามติดสหรัฐอเมริกาชนิดหายใจรดต้นคอได้ก็ด้วยเพราะ ระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทุนนิยม’ นับตั้งแต่ท่านเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนในยุค 1980 ได้นำหลักการตามแนวคิด ‘ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ ก็คือแมวที่ดี’ มาใช้ขับเคลื่อนประเทศ

ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทุนนิยม’ นี้เองที่ทำให้จีนใช้เวลาเพียงไม่ถึง 40 ปี ในการเปลี่ยนแปลงประเทศจากความล้าหลังมากมาย จนกลายเป็นความล้ำสุด ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ‘กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลก’ ได้เกือบทุกชนิดในราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ โดยมี ‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจอันดับหนึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ หากนำความหมายของคำว่า ‘ทุนนิยม’ (Capitalism) อันเป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งนายจ้างเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต ควบคุมการค้า อุตสาหกรรม และวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี จะมีลักษณะที่สำคัญดังนี้...

(1) เอกชนสามารถถือครองทรัพย์สินได้มากเท่าที่จะหามาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
(2) การแข่งขันเสรี ซึ่งจะทำให้ผู้ขายเสนอราคาที่เหมาะสมที่สุดด้วยศักยภาพการผลิตที่ดีที่สุด 
(3) ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งอนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนในการผลิตหรือใช้จ่ายเงินเพื่อหาซื้อสินค้าและบริการได้ตามความสามารถและความต้องการ โดยไม่มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับจากรัฐบาล ด้วยเชื่อว่าที่สุดแล้วจะทำให้ราคาของสินค้าและบริการอยู่ในจุดสมดุลที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตเห็นตรงกันว่าราคาอยู่ในช่วงที่เหมาะสม 
(4) มีความอิสระในการบริหาร โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล 

ด้วยบริบทดังกล่าวนี้ที่ว่ามานี้ ทำให้ระบบ ‘ทุนนิยม’ ของจีนและสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย

นับตั้งแต่จีนปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามแนวทาง ‘ทุนนิยม’ ระบบเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็เกื้อหนุนกันมาโดยตลอด ระบบเศรษฐกิจของจีนโดยรวมก็เติบโตและมีความแข็งแกร่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐฯ เองบรรดาผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และนักลงทุนในจีนต่างก็ได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

ทว่า ก็มีความแตกต่างจากประโยชน์ของสองประเทศที่ได้รับ อาทิ จีนเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมกับประชาชนทุกระดับชั้น ในขณะที่สหรัฐฯ กลับอยู่กับเพียงคนกลุ่มเดียว (ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และนักลงทุนในจีน) ในขณะที่ประชาชนชาวอเมริกันได้ประโยชน์เพียงการได้บริโภคสินค้าราคาถูกจากจีน 

อย่างไรก็ตาม ระบบ ‘ทุนนิยม’ ของสองประเทศนี้ต่างก็สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชาวโลก 

ถึงกระนั้น หากดูหากภูมิหลัง ความต่อเนื่อง และบริบท ฯลฯ จะพบบทบาทและลักษณะที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของโลกที่มีความแตกต่างกันจากทั้งสองประเทศ ดังนี้...

ความเป็น ‘ทุนนิยม’ ของสหรัฐฯ มีมาต่อเนื่องยาวนานกว่าร้อยปี จึงมีพัฒนาการและการแผ่ขยายและแพร่กระจายที่เห็นได้ชัดเจนกว่า โดยสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนทวีปอเมริกาเหนือและเชื่อมต่อกับทวีปอเมริกาใต้ การขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการค้าทางภาคพื้นดินจึงทำได้เพียงสองประเทศ 

ในขณะที่จีนตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและประชากรมากที่สุด ทั้งยังสามารถขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการค้าทางภาคพื้นดินได้จนถึงทวีปยุโรปซึ่งอยู่ติดกัน อันเป็นที่มาของนโยบาย ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR))’ เพื่อเชื่อมจีนกับสังคมโลกด้วยระบบเศรษฐกิจเครือข่าย

กลับกัน สหรัฐฯ ซึ่งหากจะเชื่อมต่อกับทวีปอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางน้ำและทางอากาศ สหรัฐฯ จึงยังคงใช้นโยบาย ‘เรือปืน’ (Gunboat Diplomacy) ด้วยการมีฐานทัพทางทหารอยู่ทั่วโลกกว่า 800 แห่ง มีกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศที่สามารถปฏิบัติการได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง 

ดังนั้น หากมองพัฒนาการ ‘ทุนนิยม’ ของสหรัฐฯ ที่มีความต่อเนื่องยาวนานกอปรกับนโยบาย ‘เรือปืน’ ปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ทั่วโลก จึงมีความเป็นระบบมากกว่า และดำเนินการโดยบริษัทการค้าข้ามชาติของสหรัฐฯ ขนาดใหญ่ และได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายที่เอื้อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลอเมริกัน 

จากนั้น บริษัทอเมริกันต่าง ๆ จึงสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายโดยมีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลังพิง (Back-up) ตราบใดที่ยังคงเสียภาษีให้กับรัฐอย่างถูกต้อง ไม่ทำผิดกฎหมายสหรัฐฯ (และให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ของอเมริกันทั้งสองพรรค) 

ทั้งนี้ หากมองปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นไปในระดับบนหรือระดับชาติเป็นส่วนใหญ่นั้น เพราะสหรัฐฯ เองเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มากเกือบเท่ากับจีน แต่กลับมีประชากรเพียงหนึ่งในสี่ของประชากรจีน ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ จึงแทบจะไม่เห็น พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวอเมริกันมาประกอบธุรกิจขนาดเล็กในประเทศต่าง ๆ 

ขณะที่จีน ซึ่งมีพลเมืองกว่า 1.4 พันล้านคน จะพบว่ามีพ่อค้า นักธุรกิจ ชาวจีนออกมาประกอบธุรกิจมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยของเรา

ฉะนั้น ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวจีน จะออกมาประกอบธุรกิจการค้าในต่างแดน โดยไม่มีรัฐบาลจีนเป็นหลังพิง (Back-up) เหมือนกับบรรดาบริษัทอเมริกันทั้งหลาย จึงต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของตามแต่ละประเทศนั้น ๆ 

แน่นอนว่า ในประเทศที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดในการปฏิบัติ ก็จะไม่มีปัญหาในการลักลอบกระทำผิดกฎหมายของคนเหล่านั้น แต่กลับกันในประเทศที่ในประเทศที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ไม่เคร่งครัด ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ละโมบ โลภมาก ก็จะมีปัญหาในการลักลอบกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ดังเช่นเรื่อง 'จีนเทา' ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจากความหย่อนยานในการปฏิบัติ ความละโมบโลภมาก เห็นแก่อามิสสินจ้าง ความเกรงกลัวต่ออิทธิพลของผู้มีอำนาจ ฯลฯ ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเหล่านั้น 

อันที่จริงเรื่องของการกระทำผิดกฎหมาย อาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในสังคม หากเราทราบเรื่อง มีเบาะแส เกี่ยวกับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวง ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที 

...และหากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพิกเฉยละเลย ในปัจจุบันก็มีช่องทางมากมายในการติดตามหรือเร่งรัด ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด, กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.), คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภา, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลปกครอง เป็นต้น

สำหรับบ้านเราแล้ว ปัญหาจาก ‘ทุนนิยม’ จีน สามารถจัดการแก้ไขได้ง่ายกว่าปัญหาจาก ‘ทุนนิยม’ อเมริกัน เพราะในเรื่องของการทำผิดกฎหมายแล้ว รัฐบาลจีนจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงกับกิจการภายในของประเทศที่ชาวจีนหรือบริษัทไปสร้างปัญหาหรือทำผิดกฎหมาย ถ้ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรม 

หากแต่ถ้าเป็นประเทศตะวันตกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลอเมริกันพร้อมที่จะเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศที่ชาวอเมริกันหรือบริษัทอเมริกันไปสร้างปัญหาหรือทำผิดกฎหมายในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรมหรือไม่ก็ตาม 

AI พัฒนาขึ้นมาก แต่ยังด้อยด้าน ‘เหตุผล-สามัญสำนึก’ คาดอีก 3-5 ปี ข้างหน้า อาจเข้ามาแย่งงานคน ในงานวิจัยขั้นสูง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Business Tomorrow รายงานว่า Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) หน่วยงานศึกษาวิจัยด้าน AI ของมหาวิทยาลัย Stanford ออกรายงานประจำปีดัชนีด้าน AI ประจำปี 2024 โดยได้แบ่งการศึกษาออกเป็นดังต่อไปนี้

AI มีความสามารถเหนือมนุษย์ แต่ยังไม่ใช่ทุกอย่าง
ในการทดสอบ 9 หัวข้อ HAI พบว่า AI มีความสามารถที่เหนือกว่าค่ามาตรฐานของมนุษย์แล้วหลายอย่าง (บางอย่างแซงนานแล้ว) เช่น การจำแนกรูปภาพ, การอ่านจับใจความ, การให้เหตุผลจากรูปภาพ, การตีความภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามบางอย่าง AI ยังทำได้แย่กว่ามนุษย์ โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยบริบทที่ซับซ้อนประกอบ เช่น การให้เหตุผลตามสามัญสำนึก หรือคณิตศาสตร์แก้โจทย์ปัญหาระดับแข่งขัน

งานวิจัย AI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
งานวิจัยด้าน AI มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2020 งานวิจัยมีประมาณ 88,000 หัวข้อ ส่วนปี 2022 มีถึง 240,000 หัวข้อ ส่วนโมเดล Machine Learning ที่โดดเด่นนั้น ในปีที่ผ่านมามี 51 โมเดล ที่มาจากภาคเอกชน, 21 โมเดลจากความร่วมมือสถาบันการศึกษาและเอกชน และ 15 โมเดล ที่มาจากภาคการศึกษา ส่วนใหญ่โมเดลเหล่านี้มาจากสหรัฐอเมริกา ตามด้วยจีนในอันดับสอง

AI อาจแย่งงานมนุษย์ แต่ช่วยได้มากในฝั่งวิทยาศาสตร์ 
ผลสำรวจโดย Ipsos ต่อประชาชนทั่วโลกว่ามอง AI จะส่งผลกระทบอย่างไร พบว่าการตระหนักรู้ของผู้คนนั้นมีมากขึ้น 66% (เพิ่มจาก 60%) บอกว่า AI จะกระทบกับชีวิตพวกเขาภายใน 3-5 ปี, 52% กังวลในความสามารถของ AI ที่จะส่งผลกระทบเรื่องต่าง ๆ ถึงแม้ผู้คนจะกังวลกับ AI แต่วงการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้นสูงนั้นได้ประโยชน์จาก AI มาก ในปี 2023 มีงานวิจัยหลายอย่างที่ใช้ AI ช่วยทำให้ได้ผลลัพธ์รวดเร็วมากขึ้น เช่น AlphaDev ที่สามารถเขียนอัลกอริทึม Sort ความเร็วสูงที่เกินกว่าคนทั่วไปเขียนได้, FlexiCubes กระบวนการขึ้นรูป 3D, GraphCast โมเดลพยากรณ์อากาศ, GNoME ที่ช่วยค้นพบวัสดุใหม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ได้ AI มาช่วยเร่งความเร็วในการประมวลผล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top