ใหญ่คับฟ้า!! ‘เรือปืน’ นโยบายการทูตร้อยปีของสหรัฐฯ 'ขจัด-กีดกัน-กดดัน' ทุกชาติที่มีพฤติการณ์แข็งขืนมะกัน

จากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.67) ว่าได้สั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ (SCG Plastics Co) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาสติกสัญชาติไทย เป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 736 ล้านบาท ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ครั้งนั้น

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นตอกย้ำทำให้ทั้งโลกได้เห็นว่า สหรัฐฯ ยังใช้นโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ (Gun Boat Diplomacy) มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1853 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งพลเรือจัตวา Matthew C. Perry พร้อมกับหมู่เรือรบอเมริกันเข้าไปยังอ่าวโตเกียว โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นที่ปิดประเทศมานานกว่า 200 ปี 

Perry ได้ตั้งใจที่จะใช้กำลังทหารกดดันหากญี่ปุ่นปฏิเสธการเปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่ญี่ปุ่นเองก็ได้ตั้งใจที่จะเจรจาเพื่อเปิดความสัมพันธ์และทำสนธิสัญญาต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เกิดการปะทะระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นแต่อย่างใด 

ปฏิบัติการของ Perry ในครั้งนั้นได้วางรากฐานสำหรับข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และการใช้หรือการข่มขู่กำลังทหารเพื่อผลด้านนโยบายต่างประเทศจึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ (Gun Boat Diplomacy) 

นโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ถูก Theodore Roosevelt ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำมาใช้อีกครั้ง ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ไม้ตะบองใหญ่ของ Teddy Roosevelt’ (Teddy Roosevelt's 'Big Stick') ด้วยการส่งกองเรือรบ Great White (The Great White Fleet) ออกเดินทางไปเยือนเมืองท่าต่าง ๆ ทั่วโลกระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 1907 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1909 โดยชื่อกองเรือดังกล่าวมาจากการที่เรือรบในกองเรือดังกล่าวทุกลำทาสีขาวล้วน 

***หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ขึ้น...

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นไม่เคยมีการรบเกิดขึ้นในดินแดนของสหรัฐฯ เลย แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ที่อ่าว Pearl มลรัฐฮาวายถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีจนเสียหายอย่างหนัก ดินแดนอาณานิคมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีและยึดครอง 

หลังจากเป็นแกนนำกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร และเอาชนะฝ่ายอักษะแล้ว ได้มีการนำนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ มาปิดท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ จนทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปกว่าสองแสนคน (ทั้ง ๆ ที่มีชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะในยุโรปแล้ว) จนญี่ปุ่นเองก็คงต้านทานกองกำลังสัมพันธมิตรต่อได้อีกไม่นาน และผลของการทิ้งระเบิดปรมาณู ก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในทันที

มาถึง ยุคสงครามเย็น (Cold War) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่โลกแบ่งออกเป็นสองขั้วค่ายคือ ฝ่ายประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐฯ และฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต นโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ก็เข้มข้นขึ้นตามลำดับ มีการก่อตั้ง NATO ‘องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ’ (North Atlantic Treaty Organization) องค์กรความร่วมมือทางการเมืองและการทหารของประเทศค่ายเสรีประชาธิปไตย และองค์การ SEATO ที่เปรียบเสมือนองค์การ NATO แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นไปตามลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) ในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระดับทวิภาคีและส่วนร่วมในสนธิสัญญาป้องกันระดับภูมิภาค โดยสหรัฐฯ ได้อาศัยความเป็นผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรสร้างฐานทัพบก-เรือ-อากาศ ไว้ทั่วโลกมากมายหลายร้อยแห่ง ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทัพสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ไปในตัวอีกด้วย

กระทั่งสงครามเย็นจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต บริบทในการทำสงครามของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้จึงเปลี่ยนไปจากการรบด้วยกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์มาเป็นการรบด้วยเศรษฐกิจ, การค้า, การเงิน, การลงทุน แต่ในขณะเดียวกันยังคงนโยบายการทูตแบบ ‘เรือปืน’ ด้วยการวางกำลังทหารทั้งบก-เรือ-อากาศ อยู่ทั่วโลกซึ่งพร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมุ่งเน้นในการป้องความมั่นคงของชาติ ตลอดจนผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เองในทุก ๆ มิติ...

....และที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามจนอาจกลายเป็นสงครามบนดินแดนของสหรัฐฯ เอง และมีการใช้วิธีการต่าง ๆ นานาในการปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์และนโยบายทางเมืองของสหรัฐฯ ดังเช่น รัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และจีน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน สหรัฐฯ จึงพยายามออกมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อ กดดัน ปิดล้อม สกัดกั้น หรือคว่ำบาตร ประเทศเหล่านี้ 

อย่างเช่น กรณีที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ สั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ ของไทยเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 736 ล้านบาท) ฐานละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ครั้ง แม้ เอสซีจี พลาสติกส์ จะสามารถทำการอุทธรณ์ได้ แต่โอกาสที่จะชนะนั้นยากมาก ด้วยเพราะต้องต่อสู้เป็นคดีความกับรัฐบาลที่ออกกฎหมายเอง หาก เอสซีจี พลาสติกส์ ไม่ยอมจ่ายค่าปรับดังกล่าวก็อาจจะส่งผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ (Black List) บริษัทในเครือเอสซีจีทั้งหมด ซึ่งย่อมสร้างผลกระทบทางลบต่อธุรกิจของเครือเอสซีจีทั้งหมดในการปฏิสัมพันธ์ทางการค้ากับลูกค้าที่เป็นบริษัทอเมริกันทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แน่นอนว่า ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของไทย ซึ่งรวมถึงทั้งเครือเอสซีจีด้วย เมื่อโดนมาตรการแบบนี้ เราที่เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ จึงไม่สามารถทำอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืน ต่อต้าน ขัดขืน ฯลฯ ประเทศอภิมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯ ได้ 

แม้แต่ประเทศอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของเอเชียอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนเองก็ยังโดนมาตรการต่าง ๆ ของสหรัฐฯ มากมายหลายครั้ง อาทิ กรณี Meng Wanzhou ลูกสาวของผู้ก่อตั้ง Huawei และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสายการเงิน (CFO) ถูกจับกุมที่แคนาดาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2018 ตามหมายจับของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า Huawei ทำธุรกิจในอิหร่าน ทั้ง ๆ ที่อิหร่านยังอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรทางการค้าโดยสหรัฐฯ โดยระหว่างปี 2009-2014 Huawei ได้ตั้ง Skycom บริษัทย่อยเพื่อทำธุรกิจในอิหร่าน อันเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ 

นอกจากนั้น Huawei และ Wanzhou ยังถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในฐานปลอมแปลงข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องระหว่าง Huawei และ Skycom ที่ได้ส่งให้กับธนาคาร HSBC รวมถึงมีความพยายามในการจารกรรมข้อมูลผ่านเทคโนโลยี ฯลฯ ทำให้บริษัท Huawei ถูกจัดเข้าบัญชีดำ (Black List) โดยสหรัฐฯ ในปี 2019 แต่ Wanzhou ก็ต่อสู้คดีจนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน 2021 เกือบ 3 ปี เธอจึงได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศจีน ภายใต้ข้อตกลงที่มีร่วมกันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน, แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างมาก

เมื่อบริษัท Huawei ถูกจัดเข้าบัญชีดำ (Black List) ของสหรัฐฯ ด้วยมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจีนจากเหตุผลความมั่นคง ส่งผลให้ Huawei บริษัทที่ผลิตมือถือเป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ ของโลกต้องร่วงลงมาหลายอันดับ และการปิดกั้นสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ทำให้จีนไม่สามารถเข้าถึง Chip หรือ Semiconductor สมรรถนะสูง แต่ Huawei ก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการทำการพัฒนา Chip หรือ Semiconductor สมรรถนะสูงจนประสบความสำเร็จ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถพัฒนาให้สมรรถนะดีกว่าของสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย 

หรือกรณีชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเกียงซึ่งถูกสื่อตะวันตกประโคมข่าวไปทั่วโลกว่า มีการกักขัง กดขี่ ทรมาน ชาวอุยกูร์ และมีการออกมาตรการห้ามบริษัทอเมริกันซื้อฝ้ายที่ผลิตจากพื้นที่ดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์กับชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza และเขต West Bank ดินแดนของตนเองซึ่งถูกอิสราเอลปิดล้อมแล้วมีความแตกต่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับเหวเลยทีเดียว เพราะเมืองต่าง ๆ ในเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเกียงมีความเจริญรุดหน้าเช่นเดียวกับเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีนเองหรือแม้กระทั่งเมืองต่าง ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์นั้นไม่ได้แตกต่างไปจากการติดคุกที่มีขนาดใหญ่ ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดจนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้วยอิสราเอลได้ทำการปิดกั้นจำกัดในทุก ๆ เรื่องแม้กระทั่งสิ่งที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเช่นน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค แต่สหรัฐฯ ก็ไม่เคยประณามอิสราเอลว่า ได้ทำการ กดขี่ ข่มเห่ง รังแก ชาวปาเลสไตน์อย่างไร้คุณธรรมแต่อย่างใดเลย

ด้าน อิหร่านซึ่งถูกมาตรการของสหรัฐฯ ต่าง ๆ นานานับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเมื่อกว่า 40 ปีก่อน อิหร่านมีเครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ที่ผลิตจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากแต่ไม่มีอะไหล่ ที่สุดแล้วอิหร่านก็สามารถพึ่งพาตนเองด้วยการผลิตอะไหล่เครื่องบินเหล่านั้นได้เอง จนปัจจุบันกว่า 40 ปีแล้วที่อิหร่านไม่ได้สามารถซื้อหาอะไหล่จากสหรัฐฯ แต่เครื่องบินเหล่านั้นยังคงใช้งานได้ 

อย่างไรก็ตาม นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้น เพื่อกดดันประเทศต่าง ๆ ที่ถูกมองว่า มีพฤติการณ์และพฤติกรรมที่สหรัฐฯ ไม่พึ่งประสงค์นั้นกำลังจะย้อนกลับมาสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ในอนาคต อาทิ การที่ประเทศขั้วตรงข้ามของสหรัฐฯ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS : BRASIL-RUSSIA-IRAN-CHINA-SOUTHAFRICA) ด้วยคาดหวังว่า จะกลายเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ปัจจุบันมีสมาชิก 9 ประเทศ อยู่ระหว่างการสมัครอีก 15 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) 

ด้วยความที่ไทยเราเป็นประเทศเล็กแต่มีที่ตั้งอยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ จึงจำเป็นต้องรักษาความเป็นกลางอย่างสมดุลให้มีความเหมาะสมพอดีที่สุด จากประสบการณ์ที่เคยเลือกข้างเลือกฝั่งในอดีต จนทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรงมาแล้ว

ดังนั้น คนไทยทั้งหมดทั้งมวลควรจะช่วยกันจดจำเรื่องราวตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ ได้เคยทำไว้กับไทยเรา ทั้งในเชิงบวกและลบ เพื่อสรุปเป็นบทเรียนในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ กับประเทศนั้น ๆ ในเวทีโลกอย่างเหมาะสม ไม่เอาเปรียบประเทศใด ๆ แต่ก็ต้องไม่ยอมให้ประเทศใด ๆ ก็ตามที่มาเอาเปรียบได้ ด้วยการยึดถือเอาประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยถือเป็นความสำคัญและจำเป็นสูงสุด


เรื่อง : กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES