Friday, 3 May 2024
สงครามยูเครนรัสเซีย

'สหรัฐฯ-ยุโรป' กุมขมับ!! ส่อแตะยุคข้าวยากหมากแพง สารพัดม็อบโผล่ 'ดอลลาร์-ยูโร' แกว่ง แต่รูเบิลรัสเซียแรง

ภายหลังจากยุโรปรับคำสั่งสหรัฐฯ และอังกฤษ ให้แบนรัสเซีย ผลทางจิตวิทยาชั่วคราวระยะสั้นค่าเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนค่าลงเป็นราว 140 รูเบิล/ดอลลาร์

แต่ไม่นานนักเมื่อรัสเซีย โต้กลับสหรัฐฯ-ยุโรป โดยเริ่มแบนกลับพลังงานน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ปุ๋ย ก็ทำให้โลกความจริงกลับมา สิ่งที่คนยุโรปกลัวที่สุดคือ "หุ้นตก" อัตราเงินเฟ้อเกิน 7.0% การใช้จ่ายถดถอย น้ำมัน ก๊าซ สินค้าอุปโภคบริโภคแพงมาก ปุ๋ยที่เป็นต้นธารอาหาร ขาดแคลน ราคาแพง

สารพัดม็อบในยุโรปหลายชาติ เริ่มโผล่มาปิดถนน ปิดเมืองหลวง รัฐบาลยุโรปเริ่มออกอาการร่อแร่

ทันทีทันใด รัสเซีย ก็รีบหวดซ้ำ โดยแบนอาหาร และประกาศขายพลังงานให้ประเทศที่ขึ้นบัญชีดำว่าไม่เป็นมิตรเป็นเงิน "เปรโตรรูเบิล" เท่านั้น ไม่รับชำระเป็นดอลลาร์, ยูโร หรือปอนด์ 

สิ้นคำประกาศของฝั่งรัสเซีย ตลาดหุ้นในยุโรป ร่วงกราว เงินรูเบิลมี Demand ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างไม่อั้น เพื่อแลกไว้เป็นเงินทุนสำรองซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย 

ประเทศต่างๆ ในยุโรปที่เคยทำสัญญากับรัสเซียว่าจะซื้อขายพลังงานกันเป็นดอลลาร์-ยูโร ถึงกับเหวอ ต้องเร่งเทขายทิ้ง วิ่งไปหาซื้อรูเบิล มาสำรองจ่ายค่าพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดพลังงาน 

ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลล่าสุดแข็งค่าขึ้นมาเป็น 89.5 รูเบิล/ดอลลาร์ ส่วนค่าเงินดอลลาร์ ยูโร ต่ำลงไปอีก 10% แถมตลาดหุ้นตื่นตระหนกร่วงซ้ำลงไปอีก  

'ไบเดน' เชื่อ!! จีนรู้อนาคตเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับตะวันตก และอาจต้องเสียใจ หากเลือกเข้าข้างรัสเซีย 

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ เตือนว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนอาจต้องเสียใจหากเข้าข้างรัสเซียในวิกฤตสงครามยูเครน เพราะจีนรู้ดีว่าอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับชาติตะวันตกมากกว่ารัสเซีย

ไบเดนเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงการสนทนาระหว่างตนและผู้นำจีนว่า "ผมไม่ได้ขู่นะ แค่บอกตรงๆ ให้เขาเข้าใจถึงผลที่จะตามมาหากจีนให้ความช่วยเหลือรัสเซีย ผมชี้ให้เห็นถึงจำนวนของบริษัทอเมริกันและต่างชาติที่ถอยออกจากรัสเซีย อันเป็นผลมาจากการกระทำที่ป่าเถื่อนของพวกเขา"

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังคงกดดันให้จีนละเว้นจากการสนับสนุนรัสเซีย ให้ความช่วยเหลือทางทหาร รวมถึงการช่วยรัสเซียหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตก

นอกจากนี้ไบเดนยังกล่าวว่า NATO จะเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกัน และพร้อมที่จะตอบโต้หากรัสเซียใช้อาวุธเคมี ชีวภาพ หรือนิวเคลียร์โจมตียูเครน

สื่อระบุว่าไบเดนชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด เพื่อกันจีนออกจากรัสเซีย หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนที่แล้ว และประกาศว่าทั้งสองประเทศเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ "ที่ไม่มีขีดจำกัด"

'แมเดลิน อาลไบรต์' รัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งสหรัฐฯ สัญลักษณ์แห่งการแผ่อิทธิพลของสหรัฐฯ ผ่าน NATO

ไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกาได้รายงานข่าวการจากไปของ 'แมเดลิน อาลไบรต์' (Madeleine Albright) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 64 ของสหรัฐอเมริกา และนับเป็นครั้งแรกที่สุภาพสตรีสามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ได้ โดยเธอจากไปแล้วด้วยวัย 84 ปี จากโรคมะเร็ง

แมเดลิน อาลไบรต์ นับเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างมากในช่วงปี 1990s โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่เสนอให้เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จนได้รับฉายาว่าเป็น ผู้นำชัยชนะในด้านการส่งผ่านประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้กล่าวคำอาลัยถึงการจากไปของ แมเดลิน อาลไบรต์ ว่า "เมื่อใดก็ตามที่ผมคิดถึงแมเดลิน ภาพจำของผมคือผู้หญิงที่เปี่ยมล้นด้วยแรงศรัทธาต่อความยิ่งใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นประเทศที่โลกจะขาดไม่ได้ เธอเป็นคนที่แข็งแกร่ง เป็นพลังสำคัญของสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งความดีงาม ตามครรลองครองธรรม และเสรีภาพ"

จากประวัติของ แมเดลิน อาลไบรต์ เป็นชาวเช็ก เชื้อสายยิว เกิดในกรุงปราก ประเทศเชโกสโลวาเกีย เมื่อปี 1937 มีบิดาเป็นนักการทูต แต่ต่อมาต้องลี้ภัยหนีกองทัพนาซี-เยอรมัน ที่ยกทัพเข้ายึดครองเชคโกสโลวาเกียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะย้ายเข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาในปี 1948

แมเดลิน อาลไบรต์ มีความเชี่ยวด้านภาษา และการเมืองต่างประเทศอย่างหาตัวจับยาก เธอสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้ง อังกฤษ, เช็ก, รัสเซีย, ฝรั่งเศส และยังสื่อสารภาษาของชาวโปแลนด์, เซิร์บ ได้ด้วย 

อดีต 'รมว.คลัง'​ เผยเอกสารลับสหรัฐฯ ที่เคยรับปากรัสเซีย ระบุ!! จะไม่ขยายเขตนาโตแม้แต่นิ้วเดียว

อดีต รมว.คลัง เผยเอกสาร เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯและยุโรป ร่วมเจรจาให้คำมั่นกับ “มิคาอิล กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำโซเวียต ว่า จะไม่ขยายขอบเขตของนาโต “แม้แต่นิ้วเดียว” แต่กลับเบี้ยว นำไปสู่สงครามยูเครน

ไม่นานมานี้​ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล'​ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่า...

“กอร์บาชอฟบอกว่า: แม้แต่นิ้วเดียว เข้าใจไม่ตรง”

รูป 1 สื่อ Russia Beyond สัมภาษณ์กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต เกี่ยวกับ ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ ปรากฏว่าคำตอบน่าสนใจมาก

สื่อถามว่า: ปัญหาหลักอย่างหนึ่ง เกี่ยวข้องกับยูเครน ก็คือการขยายเขตโดยนาโต้ไปทางตะวันออก คุณคิดว่าประเทศตะวันตกที่วางแผนเกี่ยวกับยุโรปตะวันออกโกหกกับคุณหรือเปล่า?

กรณีที่เจมส์ เบเคอร์สัญญาว่านาโต้จะไม่ขยายไปทางตะวันออก ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ นั้น ทำไมคุณไม่เรียกร้องให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร?

กอร์บาชอฟ: ไม่มีการพูดคุยหัวข้อ ‘การขยายเขตนาโต้’ เลย แม้ในห้วงเวลาต่อจากนั้น (หลังปี 1990) ผมพูดอย่างรับผิดชอบเต็มที่

และไม่มีประเทศยุโรปตะวันออกใดที่ยกประเด็นนี้ขึ้น แม้ภายหลังข้อตกลง Warsaw Pact ยกเลิกไปแล้วในปี 1991 ส่วนผู้นำตะวันตกก็ไม่ได้ยกขึ้นเช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่เรายกขึ้นพูดกัน คือโครงสร้างของนาโต้จะไม่ขยายเข้าไปในเยอรมันตะวันออกหลังรวมประเทศ คำพูดของเบเคอร์เป็นเรื่องนี้ โคลและเกนซเลอร์พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้

(ประเทศตะวันตก) ได้มีการทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ตามข้อตกลงทางการเมืองแล้ว ข้อตกลงสุดท้ายเรื่องเยอรมนีระบุว่าจะไม่มีโครงสร้างทางทหารใหม่ในเยอรมันตะวันออก จะไม่วางอาวุธ weapon of mass destruction ที่นั่น และประเทศตะวันตกก็ยอมปฏิบัติตามนั้น

ดังนั้น โปรดอย่าไปเล่าขานกันว่ากอร์บาชอฟและรัฐบาลสหภาพโซเวียตไม่ทันเกม และถูกตะวันตกหลอกลวง

ถ้าจะมีความไม่ทันเกม ก็คือห้วงเวลาหลังจากสหภาพโซเวียตแตกสลายกลายเป็นรัสเซียแล้ว(คือกอร์บาชอฟพ้นตำแหน่งไปแล้ว) รัฐบาลรัสเซียไม่ได้ประท้วงการขยายเขตนาโต้ตั้งแต่เริ่มต้น(ในปี 1999)

(If there was naïveté, it was later, when the issue arose. Russia at first did not object.)

สหรัฐและนาโต้ตัดสินใจขยายเขตนาโต้ไปทิศตะวันออกในปี 1993 (ในปีนั้น เริ่มเจรจากับโปแลนด์) ผมเห็นว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดตั้งแต่แรก และการขยายเขตดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์และคำมั่นที่ให้กับเราไว้ในปี 1990

(It was definitely a violation of the spirit of the statements and assurances made to us in 1990.)

กรณีเยอรมนีนั้น มีการระบุไว้เป็นเอกสารสัญญาและประเทศตะวันตกก็ปฏิบัติตาม

(With regards to Germany, they were legally enshrined and are being observed.)

สัมภาษณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 .. 2014 เกิดขึ้นหลังจากรัสเซียในสมัยปูติน บุกเข้าไปในแหลมไครเมียในเดือน ก.. 2014 การที่สื่อมาสัมภาษณ์กอร์บาชอฟ ก็คงจะเพื่อเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มาอ้างสนับสนุนการบุกดังกล่าว

แต่เมื่อกอร์บาชอฟสัมภาษณ์เช่นนั้น สื่อสหรัฐก็เอาไปขยายความเพื่อลบล้าง ‘แม้แต่นิ้วเดียว’

ผมวิเคราะห์ว่า ตรงนี้ กอร์บาชอฟพูดตรงกับเหตุการณ์ และการเจรจาเน้นทำเป็นสัญญาเกี่ยวกับเยอรมันตะวันออกเท่านั้น ไม่ได้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออกอื่นด้วยเลย

เป็นเพราะเหตุใด?

รูป 2 แสดงสมาชิกนาโต้ปัจจุบัน โดยประเทศสมาชิกใหม่หลังปี 1990 ที่อยู่ระหว่างสองลูกศรสีน้ำเงิน ก็คือประเทศที่เดิมอยู่ภายใต้ร่มเงาของสหภาพโซเวียต

รูป 3 แสดงการรับสมาชิกใหม่ของนาโต้ โดยก่อนเยอรมนีรวมตัวมี 3 รอบ ในรอบที่หนึ่งปี 1952 รับกรีซกับตุรกี รอบที่สองปี 1955 รับเยอรมันตะวันตก รอบที่สามปี 1982 รับสเปน

ส่วนประเทศยุโรปตะวันออกนั้น เริ่มรับในรอบที่สี่เป็นต้นไป เริ่มด้วยปี 1999 เชค ฮังการี โปแลนด์ ปี 2005 ล๊อตใหญ่ บุลกาเรีย เอสโตเนีย แลตเวีย ฯลฯ

สรุปแล้ว ในการประชุมปี 1990 ที่เบเคอร์กล่าวถึง ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ นั้น มุ่งไปที่เส้นแบ่งเขตอิทธิพลหลักระหว่างนาโต้กับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

ยูเครน ฮึดสู้ ยึดคืนเมือง Irpin จุดวัดใจขวัญทหารรัสเซีย จะถอยหรือไปต่อ

หลังจากที่กองทัพรัสเซียเปิดศึก กดดันที่กรุงเคียฟอย่างหนักมานานถึง 1 เดือน ทั้งทางด้านตะวันออก และตะวันตก จนถึงตอนนี้รัสเซียยังไม่สามารถพิชิตกรุงเคียฟได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ซึ่งจุดที่วิกฤติที่สุดของกองทัพยูเครนในการป้องกันเมืองหลวงที่เป็นศูนย์บัญชาการ เป็นการโจมตีของกองทัพรัสเซียทางด้านตะวันตก ที่มี 3 เขตชานเมืองที่ยันทัพรัสเซียอยู่ คือ Hostomel Bucha และ Irpin และหากรัสเซียสามารถปักธงที่ 3 เมืองนี้ได้ นั่นหมายความว่าระยะห่างระหว่างกองกำลังรัสเซีย กับทำเนียบรัฐบาลยูเครนจะเหลือเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น 

ตอนนี้ทั้ง Hostomel และ Bucha มีกองทหารรัสเซียปักหลักได้แล้ว ดังนั้นเมือง Irpin จึงกลายเป็นกำแพงด่านสุดท้ายของกรุงเคียฟทางตะวันตก 

แล้ว ณ สมรภูมิเมือง Irpin รัสเซียก็บุกหนักจริงๆ ถึงกับส่งเครื่องบินรบ SU-30 เข้ามาทิ้งระเบิดในเมืองด้วย และกองทัพยูเครนก็ยังเคยสอยเครื่องบินรบรัสเซีย 1 ลำได้ในเมืองนี้ 

จนมาวันที่ 6 มีนาคม ทหารรัสเซียได้ยึดเมือง Irpin ไปได้ส่วนหนึ่ง ทางยูเครนจึงต้องรีบอพยพชาวเมืองให้เดินเท้าออกจากเมืองกันจ้าละหวั่น เพราะคงต้องสู้กันแหลกลาญแน่ในเมืองนี้

แต่แล้วเมื่อวันจันทร์ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทางการยูเครนออกมาแถลงว่า ได้ยึดคืนเมือง Irpin ไว้ได้ทั้งหมดแล้ว ทำให้ทหารรัสเซียจะต้องถอยร่นออกจาก Irpin ไปก่อน แต่กองทัพรัสเซียยังครองพื้นที่กดดันล้อมเมืองเคียฟอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออก ก็ค่อยๆ ขยับเข้ามาประชิดมากขึ้นทุกทีแล้ว

แต่การที่กองทัพยูเครนสามารถทวงคืนเมือง Irpin ได้สำเร็จ ก็เรียกขวัญกำลังใจให้กับทหารยูเครนอย่างมาก และยังสามารถทำได้ก่อนที่ ทางปูติน กับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน จะเดินทางไปเปิดอกคุยกันซึ่งๆ หน้าเสียที ที่เมืองอิสตันบูล ในตุรกีวันนี้ ที่น่าจะมีผลต่อการต่อรองของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่พอสมควร

'รัสเซีย' ประกาศลดปฏิบัติการทางทหารรอบกรุงเคียฟ 'สหรัฐฯ' ยังแคลงใจ!! เฝ้าจับตารักษาคำพูดหรือไม่

นายอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมรัสเซีย แถลงผลคืบหน้าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) ว่า... 

เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และสร้างเงื่อนไขเพื่อเจรจาในรอบต่อไป อันจะนำไปสู่เป้าหมายของการเจรจานั้นก็คือ การบรรลุข้อตกลง รัสเซียจึงเห็นควรที่จะปรับลดการปฏิบัติการทางทหารบริเวณรอบๆ กรุงเคียฟ และในเมืองเชอร์นิฮีฟ แต่นายโฟมินไม่ได้กล่าวถึงปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในภาคตะวันออกและภาคใต้ที่กำลังรุกหนักแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันนายวลาดิเมียร์ เมดินสกี้ หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายรัสเซีย กล่าวว่า การปรับลดการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียดังกล่าวเป็นขั้นแรกของการลดระดับความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ดำเนินมาแล้ว 34 วัน เพื่อนำไปสู่ขั้นที่ 2 นั่นคือการพบเจรจาระหว่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่จะมีขึ้นหลังรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย บรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว นายเมดินสกี้ยังได้กล่าวย้ำว่า รัสเซียขอเรียกร้องให้ยูเครนยุติการทรมานเชลยศึกรัสเซียด้วย

ขณะเดียวกันทางด้านยูเครน นายเดวิด อราคราเมีย หัวหน้าคณะเจรจา กล่าวว่า รัสเซียต้องถอนทหารออกจากยูเครนทั้งหมด และให้ทุกตารางนิ้วของยูเครนเกิดความสงบ เพื่อที่ผู้อพยพชาวยูเครนกว่า 3.5 ล้านคน จะได้กลับประเทศ สิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นก่อนรัสเซียกับยูเครนจะบรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาสันติภาพ นายอราคาเมีย ย้ำว่า ท่าทีของยูเครนไม่เคยเปลี่ยน โดยเฉพาะเกี่ยวกับพรมแดนของยูเครน ซึ่งนานาชาติรับรองนั้น ยูเครนจะไม่ประนีประนอมในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน

ทางด้านนายมิไคโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาของประธานาธิบดียูเครน ซึ่งร่วมอยู่ในคณะผู้แทนเจรจา กล่าวว่า ตุรกี เยอรมนี และโปแลนด์ จะต้องอยู่ในกลุ่มประเทศที่ให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่ยูเครน เพื่อยุติสงครามที่ยังดำเนินอยู่ในขณะนี้ และยูเครนจะยอมรับสถานะประเทศเป็นกลางเพื่อแลกกับการรับรองความมั่นคงปลอดภัยของยูเครน ซึ่งหมายถึงว่า ยูเครนจะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับฝ่ายใด และไม่ยอมให้มีการตั้งฐานทัพในยูเครนด้วย

อย่างไรก็ตาม นายโปโดลยักเน้นว่า ยูเครนจะต้องจัดการลงประชามติเกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียเสียก่อน จึงจะมีการลงนามกัน

หลังทราบผล ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ก็ได้ออกมากล่าวว่า มีสัญญาณที่ดีมาจากการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่นครอิสตันบูล

สหรัฐฯ เตือนชาวมะกัน 'เลี่ยงเดินทาง - ออกห่างจากรัสเซีย' หลังพบสัญญาณ ทางการรัสเซียจ้องจับกุมตัว

ไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตือนว่า รัฐบาลรัสเซียอาจควบคุมตัวพลเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ในรัสเซียได้ พร้อมเตือนชาวอเมริกันอย่าเดินทางไปรัสเซียในช่วงนี้

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกประกาศเตือนการเดินทางไปรัสเซียของพลเมืองชาวอเมริกัน โดยชี้ว่า ผลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังรัสเซียส่งทหารไปยังยูเครน ทำให้ทางการรัสเซียเริ่มพุ่งเป้าไปยังพลเมืองชาวอเมริกันมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงย้ำอีกครั้งว่า ขอให้ชาวอเมริกันอย่าพึ่งเดินทางไปยังรัสเซีย ส่วนชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในรัสเซียตอนนี้ ขอให้รีบเดินทางออกนอกประเทศในทันที

'โปแลนด์' โวย 'ฝรั่งเศส-เยอรมนี' ใกล้ชิดรัสเซียเกินไป แถมล้มเหลวหนุนอาวุธยูเครน-ไม่คว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย

สำนักข่าว AFP รายงาน รัฐบาลวอร์ซอได้กล่าวหารัฐบาลปารีส-รัฐบาลเบอร์ลิน ว่าใกล้ชิดกับรัฐบาลมอสโกมากเกินไป

โดยรองนายกรัฐมนตรีของโปแลนด์ กล่าวหาถึงท่าทีของฝรั่งเศสและเยอรมนีว่า มีความใกล้ชิดรัสเซียมากเกินไปในการให้สัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะที่เขาประณามพฤติกรรมของรัฐบาลเบอร์ลินที่มีต่อรัฐบาลมอสโกก่อนการรุกรานยูเครนด้วย

"เยอรมนีก็เหมือนกับฝรั่งเศส ที่มีอคติอย่างแรงกล้าที่จะสนับสนุนมอสโก” ยาโรสลอว์ คาซินสกี้ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคกฎหมายและความยุติธรรม (PiS) บอกกับหนังสือพิมพ์รายวันของเยอรมัน Die Welt ในการให้สัมภาษณ์ โดยเขาบนเข็มต่อว่าไปทางรัฐบาลเบอร์ลินหนักกว่ารัฐบาลปารีสค่อนข้างมากอีกด้วยว่า...

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐบาลเยอรมันจะไม่ต้องการเห็นสิ่งที่รัสเซียกำลังทำสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน แต่เราเห็นผลลัพธ์ที่จริงแล้วในวันนี้” คาซินสกี้ กล่าว

“โปแลนด์ไม่พอใจกับบทบาทของเยอรมนีในยุโรป” เขากล่าวเสริม พร้อมตำหนิเบอร์ลิน ที่พยายามเดินตามรอยสิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีออตโต ฟอน บิสมาร์ก เคยทำมาในศตวรรษที่ 19 นั่นคือ "พลังอำนาจของเยอรมันที่มีรัสเซียคอยเคียงข้าง"

(ทั้งนี้ ในยุคของบิสมาร์กเยอรมนีได้กลายเป็นมหาอำนาจของยุโรปและของโลกและสามารถถ่วงดุลอำนาจในยุโรป ด้วยการไม่ทำตัวเป็นศัตรูกับรัสเซีย เพื่อให้เยอรมนีสามารถต่อกรกับภัยคุกคามจากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรได้) 
 

'ยูเครน' เข้าควบคุม-ยึดพื้นที่ รอบกรุงเคียฟได้ทั้งหมด หลังรัสเซียถอนทหาร พิสูจน์ความจริงใจการเจรจา

กองทัพยูเครนสามารถเข้าควบคุมพื้นที่โดยรอบกรุงเคียฟเอาไว้ได้หมด หลังจากรัสเซียถอนกำลังทหารออกไป โดยสิ่งที่ปรากฎพบหลังยูเครนเข้าเคลียร์พื้นที่ คือ ร่องรอยความเสียหายและผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเมืองเออร์ปิน, เมืองบูชา และฮอสโตเมล รวมถึงซากเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งถูกทำลายลง

เจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครน แถลงว่า กองทัพยูเครนสามารถยึดคืนพื้นที่รอบกรุงเคียฟทั้งหมด หลังจากยิงต่อสู้กันอย่างดุเดือดในหลายเมืองและหลายหมู่บ้านรอบเมืองหลวงของประเทศในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ 

ขณะที่ฟากรัสเซีย ระบุว่า การถอนกำลังใกล้กรุงเคียฟนั้น เป็นการแสดงเจตจำนงในการเจรจาสันติภาพ แต่บรรดานักวิเคราะห์ชาติตะวันตกกล่าวว่า การปฏิบัติการทางทหารของพวกเขาถูกต้านทานจนหยุดชะงัก

หลังเข้าเคลียร์พื้นที่ เจ้าหน้าที่ยูเครน แถลงว่า ในเมืองเออร์ปิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ มีพลเรือนอย่างน้อย 200 คนเสียชีวิต ตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และมีประชาชนมากกว่า 70,000 คน ที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองนี้ พากันหลบหนีเมื่อเดือนที่แล้ว 

ส่วนเมืองบูชา ทหารยูเครนได้เคลื่อนกำลังเข้าไปยังเมืองดังกล่าวในช่วงวันหรือสองวันก่อน หลังจากที่ไม่สามารถเข้าเมืองได้เลยในระยะเวลาเกือบ 1 เดือน 

'รัสเซีย' โต้!! 'ยูเครน' จัดฉากความเสียหายในเมืองบูชา กระตุ้นเสียงประณามจากประชาคมโลก

ไม่นานมานี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมาปฏิเสธภาพความเสียหายและผู้เสียชีวิตในเมืองบูชา นอกกรุงเคียฟ โดยระบุว่า เป็นการจัดฉากของรัฐบาลยูเครน เพื่อปรักปรำรัสเซีย

โดยทางกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของประชาชนชาวยูเครนในเมืองบูชา ตามที่มีภาพปรากฏเกิดตามสื่อต่าง ๆ 

ทั้งนี้ ภาพความเสียหายหนักในเมืองบูชา ซึ่งตั้งอยู่นอกกรุงเคียฟ ปรากฏออกมาหลังกองทัพยูเครนเข้าควบคุมพื้นที่เมืองบูชาได้อีกครั้ง ภายหลังกองทัพรัสเซียถอนกำลังออกไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่กระทรวงกลาโหมรัสเซียยืนกรานว่า ภาพผู้เสียชีวิตที่ปรากฏไม่ใช่ฝีมือทหารรัสเซีย และเป็นการจัดฉากของรัฐบาลยูเครน และสื่อชาติตะวันตก

ด้านประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี กล่าวหารัสเซียว่า “กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวยูเครน หลังพบหลุมฝังศพหมู่ในเมืองบูชา

ไม่เพียงเท่านั้น นานาประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ นาโต ฝรั่งเศส อิตาลี และอีกหลายประเทศ ได้ออกมาประณามรัสเซียต่อภาพที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ดำเนินคดีรัสเซียต่อศาลโลก

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยูเครนได้ยื่นสำนวนต่อศาลโลก หลังรัสเซียเปิดฉากบุกได้ 3 วัน เพื่อดำเนินคดีรัสเซียต่ออาชญากรรมรุนแรงต่อชาวยูเครนไปแล้ว


ที่มา: RT / AFP
https://www.facebook.com/351495409269379/posts/690193752066208/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top